[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒

7.  งานสลากกินแบ่งฯ (พ.ศ.๒๔๗๖)

       แต่เดิมมาสลากกินแบ่งรัฐบาลนี้ ได้เคยมีมาก่อนแล้ว แต่ได้เลิกล้มไปเป็นเวลาถึง ๑๐ ปีเต็มๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากได้เกิดมีการโกงกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ เพราะขณะนั้นวิธีการและระเบียบวิธีการปฏิบัติยังหละหลวมอยู่มาก ทำให้รัฐบาลเสียชื่อเสียง ประชาชนเสื่อมความเชื่อถือในเรื่องการออกสลากกินแบ่ง กิจการออกสลากจึงได้ระงับไป
       ต่อมาราวต้นปี พ.ศ.๒๔๗๖ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงหลวงสุขุมฯ ฉบับหนึ่งว่า คณะรัฐมนตรีดำริจะให้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นใหม่ เพื่อหารายได้บำรุงการศึกษา โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยเจ้าพระยามุขมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่านเป็นกรรมการ หลวงสุขุมฯเป็นกรรมการและเลขานุการ
       การริเริ่มดำเนินการเรื่องออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นใหม่นี้ นับว่าเป็นการก่อร่างสร้างตัวใหม่เลยทีเดียว เพราะการปลูกฝังความนิยมให้เกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นของที่กระทำได้ยากมาก ในการประชุมคณะกรรมการจึงได้หยิบยกเอาปัญหาต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาหลายประการ เช่น
       ๑. ปัญหาเรื่องการจำหน่าย ควรจะออกกี่ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก เพราะแต่ก่อนๆ นั้นเคยออกปีละครั้ง ครั้งละ ๑ ล้านฉบับจำหน่ายฉบับละหนึ่งบาท ก็เข็นเสียแทยแย่อยู่แล้ว บัดนี้ประชาชนเสื่อมความเลื่อมใสศรัทธาไปมาก ถ้าจะออกจำหน่ายจำนวนเท่าเดิมเกรงว่าจำหน่ายไม่หมด
       เรื่องนี้ หลวงสุขุมฯ ได้ให้ความคิดเห็นว่า ควรจะออกเท่าเดิมเพราะขณะนี้ความ เป็นไปของบ้านเมืองได้คลี่คลายเจริญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนก็ดี ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนมาก จำนวนพลเมืองก็มากขึ้น ฉะนั้น ในเรื่องความเสื่อมศรัทธาสมัยก่อนอาจจะทำให้หมดไปกลับกลายเป็นอยากจะลองอีกครั้งก็ได้ เมื่อได้อภิปรายถกเถียงกันแล้ว ที่ประชุมก็เห็นตามข้อเสนอของคุณหลวงสุขุมฯ คือ พิมพ์สลากออกจำนวนเท่าจำนวนเดิม คือ ๑ ล้านฉบับต่อไป
       ๒. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการออกสลาก ในเรื่องวิธีการนี้ได้พิจารณาถึงวิธีการที่ใช้ครั้งก่อนและที่นิยมใช้กันในต่างประเทศ ซึ่งเขาใช้กลไกหมุน ให้ความยุติธรรมดีกว่าการหยิบขึ้นมาเหมือนแบบก่อนที่มีการโกงกัน ที่ประชุมเห็นควรให้ใช้กลไกหมุน และมอบหมายให้หลวงสุขุมฯ เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
       ๓. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการ ระเบียบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประชุมเห็นควรให้มีสำนักงานขึ้นโดยเฉพาะและจ้างเจ้าหน้าที่พอสมควร โดยให้หลวงสุขุมฯ กรรมการและเลขานุการเป็นฝ่ายธุรการ ฝ่ายการเงินมอบให้ปลัดทูลฉลองกระทรวงคลังฯ เป็นหัวหน้า
       ๔. ปัญหาเกี่ยวกับการจำหน่ายสลาก ที่ประชุมได้ตกลงกันว่า
           ๑) ให้ขายเงินสดแก่ประชาชนได้
           ๒) การจำหน่ายให้ส่วนราชการช่วยรับไปจำหน่าย
           ๓) ให้บุคคลที่ไว้วางใจรับไปจำหน่าย โดยคิดส่วนลดให้
           ๔) การจำหน่ายในส่วนภูมิภาค ขอร้องให้กระทรวบมหาดไทยช่วยเหลือ
           ๕) เกี่ยวกับการเงินรายได้ ให้แบ่งเป็น ดังนี้
               เป็นเงินรางวัล ๕๐ %
               ให้ส่วนลดแก่ผู้รับไปจำหน่าย ๕ %
               ค่าใช้จ่าย ๕ %
               ค่าภาษี ๑๐ %
               บำรุงการศึกษา ๓๐ %
       สำนักงานสลากกินแบ่งนี้ได้ตั้งขึ้นในกระทรวงการคลัง ผู้ที่ดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่การประชุม การจัดพิมพ์สลาก การตั้งระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับต่างๆ การจ้างเจ้าหน้าที่และงานอื่นๆ แทบจะกล่าวได้ว่าหลวงสุขุมฯ ได้เป็นผู้ดำเนินการแทบทั้งสิ้น ก่อนที่สลากกินแบ่งรัฐบาลรุ่นใหม่จะออกนั้น ปรากฏว่าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ (และปีต่อๆมา) ที่สวนสราญรมย์ หลวงสุขุมฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการดำเนินการออกสลากกินแบ่งสำหรับงานนี้ด้วย โดยใช้เจ้าหน้าที่ของกองสลาก การกำหนดจำนวนสลากที่จะออกการปันเงินรางวัล และวิธีการขาย หลวงสุขุมฯ เป็นผู้ดำเนินการวางแผนเสนอการออกสลากงานฉลองรัฐธรรมนูญ บางปีได้เสนอให้ออกสลาก ๑๕๐,๐๐๐ ฉบับ แทนหนึ่งแสนฉบับ เพราะหนึ่งแสนฉบับไม่พอจำหน่ายและได้เงินน้อย แต่ก็เกิดเป็นปัญหาว่าจะใช้หน่วยวงล้ออย่างใด ซึ่งหลวงสุขุมฯ ได้แก้ปัญหาข้อนี้โดยเสนอว่า วงล้อแรกก็ใช้ ๑๕ เฟือง เฟืองแรกมีเลข ๑ ถึง ๑๕ นอกนั้นมีเลข ๑ ถึง ๐ วิธีการนี้ตัดปัญหาจำนวนสลากที่จะออก ๑๕๐,๐๐๐ ฉบับนั้นได้ ปรากฏว่าเป็นที่พอใจของคณะกรรมการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นอันมาก จากความชำนาญและความคล่องแคล่วในงานดำเนินการสลากกินแบ่งนี้ มีผู้ใหญ่บางท่านล้อหลวงสุขุมฯ ทีเล่นทีจริงว่า ถ้ามีกระทรวงสลากกินแบ่งก็เห็นจะให้หลวงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่ๆ
       งานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่ โดยการดำเนินการของคณะกรรมการ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นซึ่งมีคุณหลวงสุขุมฯ เป็นเลขานุการและกรรมการดำเนินการนั้น ได้เริ่มออกวางจำหน่ายก่อนเดือน เมษายน ๒๔๗๗ หลายเดือน และกำหนดวันออกสลากในต้นเดือนเมษายน ๒๔๗๗ ก่อนจะถึงวันกำหนดออกสลากไม่กี่วันพระยามุขมนตรี ประธานกรรมการก็อนิจกรรมเสียก่อนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เชิญหลวงสุขุมฯ ไปพบและหารือว่าผู้ที่สมควรจะได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการควรจะเป็นผู้ใด หลวงสุขุมฯ ได้เสนอพระยาศรีเสนา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงดีและเป็นคนละมุนละม่อมเหมาะสมกับตำแหน่ง พอจะทำงานร่วมกับท่านได้ ซึ่งหลวงสุขุมธำรงฯ ก็เห็นชอบด้วย จึงมอบหมายให้หลวงสุขุมฯ ไปเจรจาทาบทามต่อไป ตอนแรกๆ ที่หลวงสุขุมฯ ไปพบและแจ้งเรื่องนี้ให้พระยาศรีเสนาทราบนั้น ท่านไม่ค่อยจะรับต่อเมื่อหลวงสุขุมฯ ได้เรียนชี้แจงถึงความจำเป็นและความสำคัญที่ะต้องดำเนินงานสลากกินแบ่งต่อไปแล้ว ท่านจึงได้ยอมรับตำแหน่ง จึงได้แจ้งให้หลวงธำรงฯ ทราบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต่อไป
       วันกำหนดออกสลากกินแบ่งนั้น ปรากฏว่าจำหน่ายได้หมด นับว่าเป็นกู๊ดวิลล์เลย ทีเดียว วันออกสลากนั้นหลวงสุขุมฯ เป็นผู้อำนวยการออกสลากโดยใช้วิธีการล้อหมุน ใช้ล้อ จักรยาน ๖ ล้อ แต่ละล้อมีเลข ๑ ถึง ๐ ตั้งเป็นเลข หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน การหมุนใช้แรงคนโดยให้นางพยาบาล ๖ คนเป็นผู้หมุนล้อ และอีก ๓ คนจับหมายเลขรางวัล วิธีการนี้ประชาชนนิยมและเห็นว่าเป็นวิธีการที่ให้ความยุติธรรมดี ไม่มีการโกงได้ ผลปรากฏว่าการออกสลากกินแบ่งครั้งต่อไปเป็นที่นิยมแพร่หลายต้องเพิ่มจำนวนสลากและเพิ่มการออกบ่อยขึ้น
       เงินสุทธิที่ได้นำมาบำรุงการศึกษาเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงดำเนินการออกสลากกินแบ่งต่อไปเพราะเป็นผลดี การดำเนินการที่ได้ผลดีนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้มีหนังสือชมเชยหลวงสุขุมฯ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ผลดีเป็นที่เรียบร้อย
       การดำเนินการออกสลากกินแบ่งได้เริ่มเป็นที่สนใจ และเป็นที่นิยมของประชาชนโดยแพร่หลายทั่วอาณาจักร จึงปรากฏว่าต่อมาคณะกรรมการจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาคได้ขออนุญาตจัดการออกสลากกินแบ่งโดยให้เหตุผลว่าเพื่อหาเงินบำรุงท้องถิ่น หรือเพื่อหาเงินรายได้ในการกุศลอื่นๆ การออกสลากกินแบ่งจึงออกกันแทบทุกจังหวัดบางจังหวัดก็ถือโอกาสออกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ บางจังหวัดก็จัดการออกเป็นรายเดือน สรุปแล้วการออกสลากชักจะเละเทะกันใหญ่ ควบคุมไม่ค่อยจะได้ จังหวัดที่อยู่ใกล้พระนครออกจะมีโอกาสดีกว่า เพราะมีความคิดแหลมคมเป็นพิเศษ โดยเชิญหลวงสุขุมฯ ไปเป็นผู้อำนวยการออกในวันออกสลากเพื่อเพิ่มเครดิตและชักจูงใจประชาชนมากขึ้น ซึ่งได้ผลดังคาด ฉะนั้นจังหวัดที่อยู่ใกล้พระนครจึงเอาอย่างกัน วันใดที่บังเอิญเกิดออกสลากพร้อมๆ กัน หลวงสุขุมฯ เลยขายดีต่างก็เชิญไปเป็นผู้อำนวยการออกสลาก เลยใช้วิธีวิ่งรอกไปๆ มาๆ นี่คือผลการออกสลากกินแบ่งในยุคที่ฟื้นฟู ต่อมารัฐบาลเห็นว่าการออกสลากกินแบ่งในท้องถิ่นนั้นออกจะเฟ้อมากไปอาจมีการโกงกันขึ้นได้ เพราะการโกงทำขึ้นได้โดยง่ายและราษฎรก็ไม่เป็นอันจะทำมาหากิน จึงได้สั่งให้ระงับเสีย คงมีแต่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างเดียวซึ่งปรากฏว่ายังเป็นที่นิยมอยู่จนตราบทุกวันนี้

อินสม ไชยชนะ ผู้รวบรวมและเรียบเรียง

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ