[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒

6.  งานด้านกีฬา

หลวงสุขุมฯกับสมาคมบาสเกตบอล
การจัด SEAPGAMES (กีฬาแหลมทอง)
     การแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES)
     งานขั้นที่สองผ่านไปได้อีกขั้นหนึ่ง
     ในวันเปิดงาน
     การแสดงในวันปิดการแข่งขัน

       การทำงานด้านกีฬาของหลวงสุขุมนัยประดิษฐถึงแม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรง แต่เป็นการทำด้วยใจรักโดยตั้งแต่เด็กมาแล้ว หลวงสุขุมฯ เป็นคนที่ชื่นชอบในการกีฬา และเป็นนักกีฬาที่สามารถดังในประวัติชีวิตภาคแรกของท่านได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวท่านเอง และประเทศไทยด้วยการเป็นนักบาสเกตบอล และนักอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่เก่งจนเป็นที่รู้จักในสมัยนั้น กีฬาอื่นๆท่านก็มีความสนใจและเล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเบสบอลว่ายนำพายเรือ สกี กอล์ฟ ฯลฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อมีโอกาส หลวงสุขุมฯได้ใช้ความเชี่ยวชาญของท่านในการพัฒนากีฬาระดับชาติของไทย ในตำแหน่งต่างๆ เช่น รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๕ รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกีฬาแห่งชาติ อุปนายกสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยคนแรกซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้าย เป็นต้น
       นอกจากนี้หลวงสุขุมฯ ยังเป็นผู้นำทีมนักกีฬาไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่เมลเบิร์น กรุงโรม การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่โตเกียว ฯลฯ เป็น ผู้ริเริ่มให้มีการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES หรือ SEA GAMES) ในปัจจุบันริเริ่มให้มีการจัดกีฬาเอเชียนเกมส์โดยไทยเป็นเจ้าภาพที่กรุงเทพฯ (เอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๕) ระหว่างวันที่ ๙-๑๖ ธันวาคม ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยพัฒนากีฬาประเภทต่างๆ โดยส่งเสริมทางด้านสมาคม สถานที่ (ให้มีการสร้างสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส ฯลฯ) อุปกรณ์กีฬา โคช รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ด้วย ให้มีโอกาสได้ไปแข่งขันกับต่างประเทศ ได้แก่ สมาคมกรีฑา แบดมินตัน ว่ายน้ำ เทนนิส จักรยาน มวย วอลเลย์บอล เทเบิลเทนนิส ฟุตบอล และโดยเฉพาะเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมบาสเกตบอล และสมาคมยิงปืน สำหรับสมาคมบาสเกตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่เคยเล่นสมัยเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้ดูแลใกล้ชิดตลอดมา

หลวงสุขุมฯกับสมาคมบาสเกตบอล (พ.ศ.๒๔๙๖ - )
       ในส่วนของกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทย หลวงสุขุมฯ ซึ่งมีใจรักในกีฬาประเภทนี้อยู่แล้วเห็นว่า ถ้าจะให้เจริญทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ เริ่มต้นจากเอเชียเอง เช่น ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเทียบกับสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกอื่นๆ เพราะขนาดรูปร่างความสูงใหญ่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดนั้น เราต้องมีแหล่งกลางที่จะควบคุมประสานงาน หรือวางโครงการส่งเสริมพัฒนา จึงได้วางรากฐานก่อตั้งเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยขึ้น ร่วมกับหลวงชาติตระการโกศล (นักบาสเกตบอลที่สามารถมาก สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา) พ.ต.อ. ชัช ชวางกูร นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ และตัวหลวงสุขุมฯ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ ตลอดมา กิจการของสมาคมฯได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว สมาคมฯ ได้เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ และได้เข้าเป็นสมาชิกของบาสเกตบอลนานาชาติ นอกจากนี้ได้มีการติดต่อให้มีทีมต่างประเทศเก่งๆ เช่น ทีม Harlem Globe Trotters ของสหรัฐอเมริกามาเล่นโชว์กับทีมชาติไทย มีโค้ชชาวอเมริกันมาให้คำแนะนำและสอนนักบาสเกตบอลทีมชาติไทย ฯลฯ
       ในส่วนที่สนับสนุนให้ทีมไทยได้มีโอกาสแข่งกับทีมนานาชาติ (นอกจากการแข่งขันระหว่างทีมภายในประเทศเองเพื่อสร้างและพัฒนานักกีฬา) มีดังนี้
       ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ท่านได้สนับสนุนให้ส่งทีมบาสเกตบอลไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๒ ที่ฟิลลิปปินส์ ในครั้งนี้แม้นว่าจะไม่ชนะเลิศ แต่ก็ทำให้ทีมบาสเกสบอลของเราได้รู้ได้เห็นวิชาการเล่นต่างๆ เพื่อมาปรับปรุงทีมของเราได้มาก
       ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้สนับสนุนส่งเสริมทีมบาสเกตบอลไปแข่งขันโอลิมปิค ที่ออสเตรเลีย โดยท่านเป็นผู้คุมทีมไปเอง ในการเดินทางครั้งนี้ได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก เป็นเหตุให้ประเทศต่างๆ รู้จักประเทศไทยดีขึ้น ผลอันนี้เองทำให้ประเทศต่างๆ ติดต่อเข้ามาแข่งขันกับทีมไทยอยู่ตลอดมา จนกระทั่งบางครั้ง สมาคมไม่สามารถจะต้อนรับได้ แต่ท่านก็ได้สละเงินส่วนตัวออกต้อนรับทีมต่างประเทศเองก็มี
       ใน พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งทีมบาสเกตบอลไปแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๓ ในประเทศญี่ปุ่น ในการเดินทางไปแข่งขันครั้งนี้ ทีมของเราได้เป็นอันดับ ๖ ในจำนวนที่เข้าแข่งขันทั้งหมด ๑๑ ประเทศ นับว่าการกีฬาบาสเกตบอลของเราในระยะนี้ได้ตั้งตัวและก้าวหน้าขึ้นมาก
       ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้ให้การสนับสนุนในการส่งทีมบาสเกตบอลไทย เดินทางไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิคที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในการเดินทางไปแข่งขันครั้งนี้ ท่านได้เดินทางไปควบคุมและเป็นกำลังใจแก่นักกีฬาด้วยจนกระทั่งทีมของประเทศไทย สามารถเอาชนะทีมต่างๆ ในประเทศยุโรป ได้หลายประเทศ จนชนะที่ ๑ ประเภทน๊อกเอาท์ได้
       ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ ได้จัดส่งทีมไปแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๔ ที่อินโดนีเซีย ซึ่งทีมไทยก็ได้ทำชื่อเสียงไว้ไม่น้อย สามารถได้เป็นที่ ๔
       นอกจากนี้ในการแข่งขันกีฬาเซียบเกมส์ครั้งที่ ๑ ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ ๒ ที่กรุงร่างกุ้งประเทศพม่า ทีมของประเทศไทยก็ได้ชนะที่ ๑ ทั้ง ๒ ครั้ง
       ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๖ ท่านได้ให้การสนับสนุนในการจัดส่งทีมบาสเกตบอลไปแข่งขันเพื่อฉลองสหพันธรัฐมาเลเซีย ณ เมืองสิงคโปร์ ซึ่งทีมของเราก็ได้ชนะเป็นที่ ๒
       ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๖ ท่านได้ให้การสนับสนุนในการจัดส่งทีมบาสเกตบอล เดินทางไปแข่งขันเชิงชนะเลิศ แห่งเอเชียครั้งที่ ๒ ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน ทีมไทยได้เป็นอันดับ ๔ อีก
       จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ที่ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมมานั้น การกีฬาบาสเกตบอลได้เจริญรุดหน้าไปอย่างมาก เป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศเป็นอย่างดี นับตั้งแต่การควบคุมการฝึกซ้อมทีมชาติท่านได้ไปควบคุมและให้กำลังใจ และอบรมสั่งสอนนักกีฬาแทบทุกครั้งในการแข่งขันที่สมาคมจัดขึ้น ถ้าท่านว่างแล้วจะต้องไปดูไปชม แทบตลอดเวลา แม้ในบางครั้งเจ็บป่วยอยู่ เมื่อรู้ว่าทีมไทยซึ่งเดินทางไปทำชื่อเสียงในต่างประเทศกลับมา ท่านก็ยังออกจากโรงพยาบาลไปรับ ก็มี
       ในการดำเนินงานในด้านกีฬาบาสเกตบอล แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง ท่านก็พยายามขจัดปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ไปได้ด้วยดี และด้วยความเป็นสุภาพบุรุษของท่านเอง พวกเราเองยังสงสัยกันอยู่ว่า ถ้าหากไม่ได้ท่านเป็นนายกสมาคมบาลเกตบอลแล้ว การกีฬาบาสเกตบอลคงจะไม่ก้าวรุดหน้ามาจนบัดนี้ได้

การจัด SEAPGAMES (กีฬาแหลมทอง), พ.ศ. ๒๕๐๒

       การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๐๒ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม จนได้รับการชมเชยจากบรรดาประเทศภาคีสมาชิกกีฬาแหลมทอง และทำให้วงการกีฬาทั่วโลก ได้รู้จักประเทศไทยดีขึ้น

การแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES) (รูปภาพ)
       เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๐๒ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทยนั้น ได้รับการชมเชยจากบรรดาประเทศภาคีสมาชิกกีฬาแหลมทอง และวงการกีฬาทั่วโลกได้รู้จักเมืองไทย คนไทยดียิ่งขึ้น
       คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้ดำเนินการนี้ ซึ่งกรรมการแต่ละท่าน ตั้งแต่ท่านประธาน รองประธาน และเจ้าหน้าที่อื่นรองๆ ลงไป ทุกท่านต่างก็มีส่วนในการดำเนินการนี้โดยทั่วถึงกัน
       หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองประธานจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ เป็นผู้หนึ่งที่ได้ดำเนินงานนี้ด้วยความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในบรรดาผู้ร่วมงานทุกๆท่าน เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๑ และถือโอกาสเจรจากับบรรดาหัวหน้าผู้แทนนักกีฬาประเทศเพื่อนบ้าน คือ ราชอาณาจักรลาว เขมร เวียตนาม สหพันธ์มาลายา (มาเลเซีย) และสหภาพพม่า เกี่ยวกับการเชิญให้เข้าร่วมการตั้งสหพันธ์การกีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทอง
       เมื่อได้เชิญประเทศต่างๆ ดังกล่าวแล้วเพื่อมาร่วมประชุมพิจารณาก็ปรากฏว่ามีมาร่วมประชุมกันเพียง ๔ ชาติ คือ ไทย มาลายา พม่า ลาว ส่วนผู้แทนกัมพูชามาไม่ทันตามกำหนดเวลา และผู้แทนเวียตนามหาที่ประชุมไม่พบ แต่ในการประชุมครั้งต่อมาก็ได้มาร่วมประชุมกันทุกประเทศ
       ผลจากการประชุมปรึกษาหารือกันนั้น ทุกประเทศเห็นชอบด้วย แต่โดยที่การแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ เขาจะต้องขอรับความเห็นชอบจากรัฐบาลเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมกันนั้น ก็ได้มีการตกลงกันให้จัดตั้งสหพันธ์การกีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทอง (South East Asia Peninsular Games) ขึ้น โดยมีข้อบังคับของสหพันธ์ (Federation Rules) เพื่อควบคุมการแข่งขันให้เป็นที่เรียบร้อย และมีเกียรติเสมอภาค นอกจากนี้ก็ได้ตกลงกันในเรื่องอื่นๆ บางประการ เช่น
       ๑. ชื่อของการแข่งขัน จะเรียกว่า "South East Asia Peninsular Games' เรียกโดยย่อว่า "SEAP GAMES"
       ๒. จะให้มีการแข่งขัน ในระหว่างปีที่มีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และโอลิมปิค สำหรับการแข่งขันคราวแรกจะได้จัดให้มีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ในคราวต่อๆไป จะได้จัดให้มีการแข่งขันในนครหลวงของประเทศต่างๆ หมุนเวียนกันไป
       ๓. ระเบียบข้อบังคับและกติกาการแข่งขัน จะได้ใช้ระเบียบข้อบังคับและกติกาของเอเชียนเกมส์โดยใกล้เคียงที่สุด
       ๔. จะได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ เรียกว่า "SEAP GAMES FEDERATION" โดยจะให้มีผู้แทนของประเทศที่เข้าแข่งขันทั้ง ๖ ประเทศ ไม่เกินประเทศละ ๓ คน และคณะกรรมการชุดนี้จะได้พบปะเพื่อปรึกษาหารือกันก่อนที่จะมีการแข่งขัน
       ๕. การแข่งขัน "กรีฑา" จะถือว่าเป็นการแข่งขันบังคับ ส่วนการแข่งขันอื่นๆ ให้แต่ละประเทศเลือกเอาว่า จะเข้าแข่งขันกีฬาชนิดหรือประเภทใดบ้าง แต่ถ้าจะเปิดการแข่งขันชนิดหรือประเภทใด จะต้องมี ๓ ประเทศเข้าแข่งขัน ทั้งนี้ รวมทั้งการแข่งขันกรีฑา ซึ่งมีอยู่หลายชนิดทั้ง "ลู่" และ "ลาน"
       ๖. ประเทศไทยขอเสนอการแข่งขันกีฬา ๑๒ ชนิด คือ กรีฑา (การแข่งขันบังคับ) ฟุตบอล, บาสเกตบอล, มวยสากล, แบตมินตัน, เทนนิส, ยกน้ำหนัก, วอลเล่ย์บอล, ยิงปืน, แข่งจักรยาน, ว่ายน้ำ, และปิงปอง
       ๗. ทุกประเทศที่เข้าแข่งขัน จะต้องเสียค่าเดินทางจากประเทศของตนไปกรุงเทพฯ และกลับเอง
       ๘. ค่าอาหาร ค่าห้องพัก และค่ายานพาหนะ จากที่พักไปยังสนามกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จะเป็นผู้จัดการให้ โดยคิดราคาประมาณคนละ ๔ เหรียญอเมริกันต่อหนึ่งวัน
       ๙. จะได้จัดให้มีพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน
       ๑๐. ได้กำหนดวันแข่งขันไว้รวม ๔๕ วัน แต่นักกีฬาจะเข้ามาฝึกซ้อมในประเทศไทยก่อนก็ได้ไม่เกินอีก ๕ วัน
       ๑๑. ได้ตกลงออกแบบธง ของกีฬาแหลมทอง
       ๑๒. แต่ละประเทศจะได้นำคบเพลิงของตนเข้ามา และพิธีการแข่งขันผู้แทนแต่ละประเทศทั้ง ๖ คน จะได้วิ่งนำคบเพลิงเข้ามาในสนามแข่งขันไปจุดที่กระถางจุดไฟ
       ๑๓. อาจจัดให้มีการแข่งขันกีฬาพื้นเมือง คือ ตะกร้อ เป็นเกมส์ประกวดขึ้นเป็นพิเศษอีกเกมส์หนึ่ง
       เมื่อกลับจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่กรุงโตเกียวแล้ว ได้รายงานผลการประชุมให้คณะกรรมการโอลิมปิคฯ ทราบ แต่โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับเกียรติและชื่อเสียงของประเทศชาติ และต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิคไม่อาจดำเนินการตามลำพังได้ จำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล สมาคมกีฬา ตลอดถึงส่วนราชการต่างๆ ร่วมมือด้วย จึงได้มีหนังสือเชิญไปยังส่วนราชการและสมาคมกีฬาต่างๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับการจัดงานไปร่วมการประชุม เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ ณ โรงแรมเอราวัณ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาต่างๆ เช่นการคัดเลือกนักกีฬา สนามฝึกซ้อม ผู้ฝึกซ้อม สนามที่จะแข่งขันและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการ แข่งขัน ผู้ตัดสินคณะกรรมการผู้อำนวยการแข่งขัน งบประมาณค่าใช้จ่าย ฯลฯ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องหนักใจทั้งสิ้น อีกประการหนึ่ง เรายังไม่เคยจัดงานใหญ่เช่นนี้มาก่อน ฉะนั้น อุปกรณ์และสิ่งอื่นๆ จึงขาดแคลน เมื่อได้ประชุมพิจารณากันแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิคฯ จึงได้ได้มีหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี แจ้งรายละเอียดทั้งหมาดให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยได้เสนอตั้งคณะกรรมการอำนวยการ แต่ละประเภทรวม ๑๑ ประเภท ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการกลางจัดการแข่งขันฯ และขออนุมัติเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนี้ เป็นจำนวนเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ลงมติอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการต่างๆ ตามที่เสนอไปได้ ส่วนการเงินให้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อจ่ายเป็นเงินหมุนเวียนให้ต่อไป เป็นอันว่าโครงการจัดงานได้สำเร็จไปขั้นหนึ่ง ต่อจากนั้น จึงได้ประชุมกรรมการต่างๆ เพื่อมอบหมายงานให้พิจารณาดำเนินการต่อไป และได้พิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียดในข้อตกลง ๑๓ ข้อ ข้างต้นที่ได้ตกลงไว้กับผู้แทนประเทศต่างๆ ณ กรุงโตเกียว ดังนี้
       ๑. การแข่งขันกีฬาแหลมทอง จะมีการแข่งขันทุกๆ ๒ ปี (เพราะโอลิมปิคและเอเชียนเกมส์นั้น ๔ ปีแข่งขัน ๑ ครั้ง)
       ๒. การแข่งขันครั้งแรก เริ่มพิธีเปิดงานการแข่งขันในวันเสาร์ที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๒ และแข่งขันกันไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขันและวันปิดการแข่งขัน
       ๓. ระเบียบการแข่งขันต่างๆ ใช้ระเบียบข้อบังคับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและเอเชียนเกมส์ โดยประมวลขึ้นใหม่สำหรับใช้กับกีฬาแหลมทอง
       ๔. แต่งตั้งคณะมนตรีผู้แทนประเทศไทยใน SEAP GAMES FEDERATION ๓ ท่าน คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ นายกอง วิสุทธารมณ์ และนายสวัสดิ์ เลขยานนท์
       ๕. ธง SEAP GAMES ลักษณะพื้นธงสีฟ้า ภายในมีห่วงสีเหลือง ๖ ห่วง ไขว้กัน ประเภทใดเป็นผู้จัดการแข่งขัน ประเทศนั้นจะต้องชักธง SEAP GAMES ขึ้นทุกครั้งไป
       ต่อจากนี้ ก็ได้มีหนังสือเชิญผู้แทนประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ทั้ง ๖ ประเทศมาประชุมที่กรุงเทพฯ ณ ศาลาสันติธรรมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๒ และการประชุมได้ดำเนินไปเป็นเวลา ๒ วัน เรียกว่า การประชุมของ "คณะมนตรีกีฬาแหลมทอง" กติกาของสหพันธ์กีฬาแหลมทอง การอนุมัติแบบการแข่งขัน การอนุมัติตัวเจ้าหน้าที่ และกรรมการตัดสินการลงนามในข้อบังคับของสหพันธ์การแข่งขันฯ เป็นต้น
       นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งควรจะกล่าวถึง เพราะเป็นการกระทำที่ทุกชาติเห็นสมควร และยอมรับในเหตุผล ข้อเสนอของประเทศไทยโดยหลวงสุขุมฯ เป็นหัวหน้าผู้แทนมนตรีกีฬาแหลมทองของประเทศไทย เสนอให้สิงคโปร์ได้เข้าร่วมแข่งขันด้วย แต่เดิมไม่ได้เสนอก็เพราะความตั้งใจเดิมนั้นจะเอาแต่ประเทศที่ตั้งอยู่บนแหลมทอง แต่สิงคโปร์เป็นเกาะต่างหาก แต่ก็อยู่ติดกับแหลมทอง บัดนี้ก็มีถนนเชื่อมเกาะสิงคโปร์ถึงมาลายาแล้ว สมควรจะได้เชิญเข้าร่วมด้วย ซึ่งทุกประเทศก็เห็นชอบด้วยทันที ความจริงเรื่องสิงคโปร์นี้ ทุกประเทศก็คงจะคิดอยู่เหมือนกัน หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ก็ได้ลงเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยอาจจะมองข้ามเลยไป หรือลืมไป เมื่อเราไหวทันจึงเสนอเสียก่อนประเทศอื่น ถ้าประเทศอื่นชิงเสนอเสียก่อน เราในฐานะผู้ริเริ่มคงจะเสียหน้าไม่น้อย นับว่าโชคยังเป็นของเราอยู่ ทั้งนี้ก็ด้วยไหวพริบที่ดียิ่งของคุณหลวงสุขุมฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในครั้งนั้น

งานขั้นที่สองผ่านไปได้อีกขั้นหนึ่ง
       งานขั้นต่อไป ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน คือการโฆษณากิจกรรมต่างๆ ในการจัดงาน การจัดสนามแข่งขัน การหาอุปกรณ์ในการแข่งขัน การจัดบ้านพักรับรองนักกีฬา การขนส่ง การให้ความปลอดภัย ในการจราจร การเพาะนักกีฬา และงานอื่นๆ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นงานใหญ่ๆ อุปสรรคสำคัญยิ่งคือเรื่องงบประมาณในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนี้ แต่ก็เป็นโชคดีมหาศาลที่การดำเนินงานเป็นไปโดยเรียบร้อยนั้นเพราะเหตุผลหลายประการ คือ
       ๑. ได้ประธานจัดงาน คือ พลเอก ประภาส จารุเสถียรประธานคณะกรรมการ โอลิมปิค ซึ่งเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวางเป็นที่น่ารักและนับถืออย่างยิ่ง และขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านมีภาระกิจในการปฏิบัติงานประจำอยู่มากมายจนแทบจะไม่มีเวลาปลีกตัวมาร่วมประชุมกับคณะกรรมการได้บ่อยครั้งนักก็ตามท่านก็ได้มอบหมายให้หลวงสุขุมฯ ดำเนินการได้เองอย่างเต็มที่ และท่านก็พร้อมที่จะรับผิดชอบด้วย ซึ่งความมีใจกว้างอันน่าสรรเสริญของ ฯพณฯ ท่านนี้เป็นกำลังใจอย่างดีที่หนุนเนื่องให้หลวงสุขุมฯ ได้ดำเนินงานอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าหลวงสุขุมฯ เองก็มีงานอื่นๆ โดยเฉพาะงานในหน้าที่เลขาธิการ ก.พ. มากมายมัดตัวอยู่แล้วก็ตาม ก็พยายามหาเวลามาจัดงานนี้แม้จะเป็นเวลาค่ำคืนดึกดื่น
       ๒. คณะกรรมการ ดำเนินงานและเจ้าหน้าที่ทุกท่านได้ยอมเสียสละทั้งกำลังใจและกำลังกายในการดำเนินงานอย่างดีเยี่ยม
       ๓. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกๆ ส่วนได้ให้ความเอื้อเฟื้อและร่วมมือด้วยอย่างดียิ่ง
       ทั้ง ๓ ประการนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้งานจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ ณ กรุงเทพฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีทุกประการจนชาวต่างประเทศที่มาชม และมนตรีกีฬาแหลมทองทุกชาติต่างก็ชมเชยการจัดงานครั้งนี้โดยทั่วถึงกัน
       นี่คือความเป็นมาของการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง

       การแข่งขันกีฬาแหลมทองได้ผ่านพ้นไป ผลที่ได้สำหรับประเทศไทยนั้นมีมากมายหลายประการ คือ
       ๑. ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านต่างเห็นความสามารถของการจัดงานของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
       ๒. ผลจากการแข่งขันปรากฏว่าประเทศไทยเราได้รับเหรียญทองมากเป็นที่ ๑ ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงดีขึ้น (ได้ ๓๕ เหรียญ จาก ๖๗ เหรียญ)
       ๓. ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพของนักกีฬาไทยเราให้สูงขึ้น
       ๔. เป็นการส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
       อันนี้ เป็นผลโดยตรงต่อประเทศชาติ คุ้มค่าที่ได้ลงทุนจัดงานไป แต่ยังมีผลดีทางอ้อมอีกประการหนึ่งจะเรียกว่าผลพลอยได้ก็ได้ สิ่งนั้นคือ ทำให้ประเทศเรามีสนามและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันทันสมัยหลายอย่าง เช่น
       ๑. ไฟฟ้าประจำสนาม
       ๒. สกอร์บอร์ดไฟฟ้า
       ๓. ได้มีโอกาสปรับปรุงสนามแข่งขัน และลานวิ่งให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
       ๔. ได้ปรับปรุงสนามเทนนิสและสร้างที่นั่งอัฒจันทร์สำหรับคนดูจุได้ ๒,๐๐๐ คน
       ๕. ได้ทำการก่อสร้างโรงยิมเนเซียมได้แล้วเสร็จใช้การได้
       ๖. จัดสร้างสนามแข่งขันยิงปืนขนาด ๕๐ เมตร และสนามยิงปืนเร็ว พร้อมด้วยเป้าขนาด ๒๕ เมตร ขึ้นรวม ๑๖ ช่อง
       ๗. ได้สร้างที่นั่งอัฒจันทร์เหล็กในสนามศุภชลาศัยในที่ว่างอยู่นั้น จุดคนดูเพิ่มขึ้นได้ประมาณ ๔,๐๐๐ คน
       ๘. ได้จัดการก่อตั้งสมาคมกีฬาสมัครเล่นขึ้นอีกหลายสมาคม เช่น สมาคมน้ำหนัก สมาคมว่ายน้ำ สมาคมจักรยาน สมาคมวอลเลย์บอลล์ และสมาคมเทเบิลเทนนิส เป็นต้น
       ๙. ได้ปรับปรุงถนนหนทางและไฟฟ้าในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติให้ดีขึ้น
       ฯลฯ

       สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มาอย่างไร และกว่าจะได้มานั้นมีอุปสรรคประการใดควรจะได้กล่าวถึงไว้เพื่อเป็นความรู้ ในอันที่จะได้นำไปพิจารณาและปฏิบัติในโอกาสต่อไป และเพื่อเป็นการแสดงผลงานอันดีของคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ ดังนี้:-
       ได้กล่าวมาแล้วว่า ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ นี้ ได้มอบหมายงานให้หลวงสุขุมฯ ดำเนินการทุกอย่างและท่านพร้อมที่จะรับผิดชอบร่วมด้วย และได้ให้ข้อคิดหลายประการในการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งนี้ ซึ่งเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานของหลวงสุขุมฯ เป็นอย่างดียิ่งนั้น เราท่านอาจจะไม่ทราบว่าในการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ นี้ ได้รับเงินงบประมาณในจำนวนจำกัด แต่สิ่งที่จะต้องใช้จ่ายนั้นมีมากมายเกินกว่าที่ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าซื้อสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาดังกล่าวข้างต้นนั้น มีราคาแพงมาก แม้จะได้พายามจ่ายอย่างประหยัดแล้วก็ตาม ก็ยังเกินกว่าเงินงบประมาณที่ได้รับอยู่นั้นเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องมี นี่เป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมาก หลวงสุขุมฯ ได้พยายามหาวิธีการต่างๆ ในอันที่จะได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นดังนี้:-
       ๑. สกอร์บอร์ดไฟฟ้า สำหรับใช้ประกาศผลการแข่งขันและอื่นๆ หลวงสุขุมฯ ได้เคยเห็นสกอร์บอร์ดไฟฟ้าในสนามกีฬาต่างประเทศมาแล้วและเห็นว่าเราจำเป็นจะต้องมี แต่ถ้าจะสั่งจากต่างประเทศก็จะมีราคาแพงมากจนจดไม่ติด หลวงสุขุมฯขบคิดปัญหานี้อยู่หลายวันก็เห็นว่า คนไทยเราคงจะมีความสามารถทำได้แน่ๆ แม้จะมีคุณภาพไม่ดีเท่าของต่างประเทศ แต่ก็คงมีคุณภาพดีพอที่จะใช้การได้ และราคาค่าก่อสร้างก็คงจะถูกกว่าของต่างประเทศมาก เรื่องนี้ได้เชิญ คุณสนั่น สุมิตร อธิบดีกรมอาชีวะศึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคในขณะนั้นมาพบและแจ้งความประสงค์ให้ทราบ เมื่อคุณสนั่นฯ ได้ติดต่อกับนายช่างไฟฟ้าแล้ว ก็ปรากฏว่าจะทำได้มีคุณภาพดีพอใช้ ส่วนราคาค่าก่อสร้างนั้นประมาณว่าจะถูกกว่าของต่างประเทศหลายเท่า อย่างไรก็ดีการก่อสร้างนี้ก็ยังคงต้องใช้เงินเป็นจำนวนสูงอยู่นั่นเอง หลวงสุขุมฯได้ตกลงให้จัดสร้างทันที ทั้งนี้เพราะความจำเป็นและได้คำนึงถึงเกียรติของประเทศชาติด้วย และเมื่อได้จัดให้มีขึ้นแล้วก็จะเป็นประโยชน์ในโอกาสต่อไปอีกนาน
       ๒. การจัดสร้างเสาไฟฟ้าสูงใหญ่ในสนามเพื่อให้แสงสว่างในการแข่งขันกีฬาเวลากลางคืน ซึ่งในต่างประเทศส่วนมากมีกันแล้วเป็นส่วนมาก ฉะนั้นเป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะจัดให้มีขึ้นในโอกาสนี้ แม้ว่าราคาจะสูงเพราะการแข่งขันกีฬาในเวลากลางคืนเป็นที่นิยมกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศร้อนเช่นประเทศไทย เหมาะสมทุกอย่างสะดวกสบายทั้งผู้เล่นและผู้ดู อีกประการหนึ่ง การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีนักกีฬาจากต่างประเทศหลายประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเราในฐานะเจ้าภาพจะต้องให้ความสะดวกสบาย ให้การต้อนรับของเราเป็นที่ประทับใจเขาและเมื่อคำนึงถึงเกียรติของประเทศชาติด้วยแล้วก็เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง จะขาดเสียมิได้จึงเสนอเรื่องนี้ต่อประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งท่านก็เห็นชอบด้วย จึงได้ตกลงกับบริษัทรับเหมาติดตั้งทันที โดยขอใช้เงินผ่อนชำระ เพราะเป็นจำนวนเงินมากและติดว่าต่อไป ในโอกาสหน้าก็จะได้เงินจากการเก็บค่าผ่านประตูในการแข่งขันกีฬาต่างๆ มาชดเชยได้
       ๓. เรื่องอัฒจันทร์ที่นั่งชมการแข่งขัน โดยที่ขณะนั้นสนามศุภชลาศัยด้านตรงข้ามกับอัฒจันทร์ที่นั่งใหญ่ยังว่างเปล่าอยู่ คณะกรรมการจึงได้พิจารณาเห็นว่าสมควรจะสร้างอัฒจันทร์ที่นั่งชั่วคราวขึ้นใช้ก่อน โดยจะสร้างด้วยไม้มีจำนวน ๑๒ ชั้น ยาว ๑๐๐ เมตร ราคาค่าก่อสร้างประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเท่ากับเงินงบประมาณที่มีอยู่ แต่หลวงสุขุมฯ มีความเห็นว่า เมื่อจะลงทุนกันแล้วก็ควรจะได้วัตถุที่มีความคงทนถาวร และสวยงามเรียบร้อย คือ สร้างด้วยเหล็ก ซึ่งจะเพิ่มจำนวนชั้นขึ้นเป็น ๑๖ ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๕ แสนบาทเพราะเรามีโครงการที่จะก่อสร้างที่นั่งถาวรแทนในอนาคต เราก็จะรื้อที่นั่งอัฒจันทร์เหล็กนี้ไปตั้งในสนามอื่นต่อไปได้ แต่ถ้าสร้างด้วยไม้นั้นนอกจากจะไม่แข็งแรงทนทานแล้วเวลาจะรื้อก็จะเสียเปล่าใช้การต่อไปไม่ได้ ท่านประธานกรรมการก็เห็นพ้องด้วย แต่วิตกเรื่องเงินว่าจะได้เงินจากไหนมาเป็นค่าก่อสร้างเพิ่มอีกตั้ง ๒๕๐,๐๐๐ บาท หลวงสุขุมฯ ก็รับว่าจะหาทางแก้ไขต่อไปไม่ยากนัก ในชั้นต้นก็ได้เชิญผู้แทนบริษัทรับเหมามาทำความตกลงกันว่าจะขอจ่ายเงินสด จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท ก่อนตามงบประมาณที่มีอยู่ ส่วนที่เหลือนั้นจะขอจ่ายให้ภายหลังการแข่งขันกีฬาแหลมทองเสร็จแล้ว โดยหวังว่าคงจะได้รับเงินจากการเก็บค่าผ่านประตู และบริษัทก็ตกลงจึงได้ทำการก่อสร้างทันที เป็นอันว่าเราได้มีที่นั่งชมการแข่งขันซึ่งจุคนได้ถึง ๔,๐๐๐ คนเศษ เพิ่มขึ้นอีก
       ๔. กระถางจุดไฟ โดยปกติการแข่งขันกีฬาใดๆ ซึ่งเป็นการแข่งขันใหญ่ระหว่างชาติต่างๆ หลายประเทศนั้น มักจะต้องมีการจุดไฟ เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์อันเป็นประเพณีการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเสมอ จึงได้ติดต่อสอบถามเรื่องการติดตั้งก็ไม่มีผู้ใดทราบ แม้แต่วิศวกรชาวต่างประเทศก็ได้แต่ให้คำแนะนำว่า ควรจะไปติดต่อกับใครที่ใดเท่านั้นเอง เรื่องนี้จึงได้ไปติดต่อกับคณะกรรมการโอลิมปิคที่กรุงเฮลซิงกิ เพื่อขอทราบรายละเอียดและวิธีการก่อสร้าง ซึ่งเขาก็อนุเคราะห์ให้ด้วยดี โดยได้จัดส่งแบบและวิธีการก่อสร้างมาให้ และก็ปรากฏว่าค่าก่อสร้างไม่สู้จะแพงนัก แต่วิธีการก่อสร้างนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ เลย ต้องทำตามหลักวิชาการทั้งสิ้น แม้แต่น้ำมันที่ใช้จุด ก็ต้องใช้น้ำมันพิเศษ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดน้ำมันให้โดยไม่คิดมูลค่าเลย เป็นเงินถึง ๓๕,๐๐๐ บาท สำหรับค่าก่อสร้างกระถางนั้นสิ้นเงินไป ๒๕,๐๐๐ บาท
       สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นผลพลอยได้จากการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ ซึ่งกว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มานั้น คณะกรรมการโดยเฉพาะหลวงสุขุมฯ ต้องหาวิธีการที่จะได้มาอย่างคร่ำเคร่งทั้งสิ้น
       เรื่องที่ควรจะได้กล่าวถึงอย่างยิ่งในการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ ในวันเปิดและในวันปิดงานนั้น ท่านที่ไปในงานครั้งนั้นคงจะได้เห็นประจักษ์พยานอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นที่สดุดหูสดุดตาแก่ผู้มาชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมากนั้น คือ การแสดงต่างๆ ในวันเปิดและวันปิดการแข่งขัน
       เรื่องนี้เท่าที่ผู้เขียนทราบ เป็นความคิดริเริ่มของคุณหลวงสุขุมฯเป็นส่วนใหญ่ โดยที่หลวงสุขุมฯ เป็นคนที่มีนิสัยรักสวยรักงาม มีความคิดริเริ่มที่แปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ เมื่อทำอะไรก็มักจะให้ใหญ่โตมโหฬารเสมอ อันเป็นอุปนิสัยอย่างหนึ่งของท่านแต่ไหนแต่ไรมา ดังเช่นในการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ นี้ จะเห็นได้ว่าหลวงสุขุมฯ ได้ใช้ความคิดริเริ่มจากประสพการณ์ที่ได้เคยพบเห็นมาก่อน เพราะเคยได้ไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและเอเชี่ยนเกมส์ในต่างประเทศมาก่อน และในโอกาสต่อมาก็ได้เป็นผู้ควบคุมนำนักกีฬาไทยไปแข่งขันกีฬาในต่างประเทศในฐานะรองประธานคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จากประสพการณ์นั้นทำให้หลวงสุขุมฯ เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ จึงได้นำมาดัดแปลงแก้ไขไม่ให้ซ้ำแบบของใครและเป็นสิ่งที่สวยงามแปลกหูแปลกตาน่าชม เช่น

ในวันเปิดงาน
       ๑. การแสดงการฟ้อนรำของนักเรียนหญิง จำนวน ๑,๐๐๐ คน แต่งกายตามแบบไทยเหนือด้วยเสื้อผ้ายกสีสวยสด แบ่งเป็นสีละพวก มีถึง ๖ สี แสดงการฟ้อนรำตามจังหวะดนตรีไทยและแปรขบวนเป็นรูป ๖ ห่วง อันเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาแหลมทอง การร่ายรำตามจังหวะดนตรีด้วยความอ่อนช้อยสวยงามมีความพร้อมเพรียง ประกอบกับแสงสีของเครื่องแต่งกายอันแพรวพราว ทำความตื่นเต้นแก่ผู้ได้เห็นได้ชมในวันนั้นไม่น้อย ผู้แสดงทุกคนต่างใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง เป็นผลสำเร็จได้รับความชื่นชมจากผู้ดูรอบๆ สนาม และมีเสียงปรบมือกึกก้องเป็นเวลานานด้วยความพอใจ
       ๒. การแสดงของนักเรียนชาย จำนวน ๑,๐๐๐ คน แสดงกายบริหาร และใช้ธงสีแดง ขาว น้ำเงิน แปรขบวนเป็นตัวอักษรเป็นการต้อนรับว่า Welcome Seap Games นอกจากนี้ยังได้แปรขบวนเป็นรูปธงชาติไทย และทำให้ธงชาติไทยกำลังปลิวสบัดเมื่อได้รับกระแสลมพัด ซึ่ง นับว่าแปลกตาดีไม่น้อย ได้รับความชมเชยจากผู้ดูเป็นอย่างดี และเป็นที่ประทับใจผู้เข้าชมไปนานทีเดียว
       ๓. การแสดงแตรวง ซึ่งเดิมทีนั้นหลวงสุขุมฯ คิดจะให้มีผู้บรรเลงประมาณ ๕๐๐ คน โดยรวมเอานักดนตรีจากกองทัพทั้งสาม และจากกรมตำรวจ มาร่วมการแสดงแตรวง แต่เมื่อได้ประชุมกันแล้ว เจ้าหน้าที่ของกองทัพทั้งสามและกรมตำรวจจัดหาผู้แสดงได้เพียง ๓๔๐ คนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่พอใจเพราะในการแข่งขันกีฬาในต่างประเทศเท่าที่เคยมีมานั้น เขาใช้ผู้แสดงเพียง ๖๐-๘๐ คนเป็นอย่างมาก ฉะนั้น เมื่อเทียบกับของเราแล้ว จึงนับว่าของเราจัดได้ดีกว่าและใหญ่กว่ามาก
       การแสดงแตรวงนี้ นอกจากจะบรรเลงเพลงต่างๆ แล้วยังจะต้องทำการแปรขบวนในขณะที่บรรเลงเพลงอยู่ให้เป็นรูปต่างๆ เช่น หกห่วง สามห่วง รูปธงชาติไทยเป็นต้น ซึ่งกว่าจะทำได้ดังนี้ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคความยากลำบากกันมากแล้ว เพราะได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผู้บรรเลงทุกท่านต่างก็ได้แสดงความสามารถเป็นอย่างดี สร้างความหรรษาตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมโดยทั่วถึงกัน ไม่แต่ชาวไทย แม้แต่ชาวต่างประเทศหลายชาติหลายภาษาต่างก็ออกปากชมเชยการแสดงครั้งนี้ว่าแสดงได้ดี การแต่งกายสวยงาม เพราะวันนั้นแต่งด้วยกางเกงสีขาว แต่เสื้อนั้นมีสามสี คือ ขาว น้ำเงิน แดง โดยแบ่งออกเป็น ๓ พวกเท่าๆกัน เมื่อแปรขบวนแล้วจึงแลดูสวยงามมาก
       นอกจากการแสดงต่างๆ ในวันเปิดงานดังกล่าวมานี้แล้ว ยังมีสิ่งที่สร้างความพอใจตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ดูก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชองค์อุปถัมภ์ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดงาน และทรงปล่อยนกพิราบส่วนพระองค์จำนวน ๕๐ ตัว นำนำพิราบของคณะกรรมการอีก ๒๕๐๒ ตัว
       ต่อจากนั้นก็มีการเดินพาเหรดของนักกีฬาชาติต่างๆ ในสหพันธ์กีฬาแหลมทอง ๖ ประเทศ ซึ่งในการเดินพาเหรดของนักกีฬาชาติต่างๆนี้ คุณหลวงสุขุมฯ ได้จัดให้มีผู้เดินนำนักกีฬาชาติต่างๆ เหล่านั้น โดยใช้นิสิตและนักศึกษาหญิง จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งกายตามประเพณีของชาติต่างๆ นั้นถือแผ่นป้ายมีตัวอักษรบอกชื่อประเทศเดินนำหน้านักกีฬาซึ่งเครื่องแต่งกายนั้นได้ขอความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก สหพันธ์กีฬาแหลมทองเป็นผู้จัดให้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าจะมีการประกวดประขันกันเพียงใด ซึ่งความคิดนี้ หลวงสุขุมฯได้รับการชมเชยจากมนตรีกีใาแหลมทองทุกชาติโดยทั่วถึงกัน เพราะเห็นว่ามีความสวยงามและมีความหมายดีมาก พึ่งจะได้เห็นในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก เพราะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค หรือเอเชียนเกมส์ก็ดี เขาใช้ลูกเสือหรือเด็กนักเรียนเป็นผู้เดินถือป้ายนำขบวนกีฬา ซึ่งการเดินนำนักกีฬาโดยใช้สุภาพสตรีแต่งกายตามประเพณีของชาตินั้นๆ เป็นของใหม่ คิดว่าอีกไม่ช้าต่างประเทศคงจะนำแบบอย่างไปใช้ในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศบ้างเป็นแน่
       เมื่อนักกีฬาได้เดินพาเหรดและทำความเคารพและปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้ว ก็ได้มีการยิงพลุสรุต แตกออกเป็นธงชาติต่างๆ ของสมาชิกสหพันธ์กีฬาแหลมทอง ชาติละ ๓ พลุ นี่ก็เป็นอีกวาระหนึ่งที่นักกีฬา หรือแม้ชาวต่างประเทศที่เป็นชาติสหพันธ์กีฬาแหลมทองของทุกชาติที่มาชมในวันนั้นต่างก็ดีอก ดีใจ ในขณะที่ได้เห็นธงชาติของเขาปลิวสบัดอยู่ในท้องฟ้า โดยเฉพาะทำความตื่นเต้นให้แก่บรรดานักกีฬาชาติต่างๆ ที่มาแข่งขันครั้งนั้นเป็นอันมาก จนถึงกับตบมือแสดงความดีใจ ความคิดของหลวงสุขุมฯ อันนี้ได้สั่งทำพลุมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสียเงินเพียงเล็กน้อย แต่ได้ผลดีดังคาดหมายคุ้มค่าทีเดียว เมื่อเสร็จพิธีเปิดการแข่งขันในวันนั้นแล้ว มนตรีสหพันธ์กีฬาแหลมทองทุกชาติได้มาแสดงความปรีดาปราโมทย์ และยอมรับนับถือในความคิดของคณะผู้จัดงานว่า "วิเศษจริงๆ"

การแสดงในวันปิดการแข่งขัน
       ในวันปิดงานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับทรงเป็นประธานอีกวาระหนึ่ง การแสดงในวันนี้ได้จัดให้มีขึ้นภายหลังเมื่อการแข่งขันฟุตบอลได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ในพิธีปิดการแข่งขันนี้ได้มีการยิงพลุไฟสีต่างๆมีดอกไม้ไฟ ซึ่งสว่างไสวไปทั่วบริเวณในสนามใหญ่ และได้มีการแสดงรำโคมไฟของนักเรียนชายจำนวน ๕๐๐ คน จากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน ซึ่งผู้แสดงทุกคนได้ใช้ความสามารถในการรำแปรขบวน เป็นรูป เรือยานนาวา อย่างน่าดู รำได้งดงามพร้อมเพรียงกัน นอกจากนี้แสงไฟจากโคมไฟยังเป็นประกายวับๆ แวมๆ ในความมืดย่ำสนธยา เป็นภาพที่น่าดูและประทับใจแก่ผู้ได้พบเห็นในวันนั้นอย่างยิ่ง และจะคงอยู่ในความทรงจำไปนานทีเดียว…
       การจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๑ ได้เสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นผลสำเร็จอันดียิ่ง สมควรจะได้สรรเสริญคณะกรรมการจัดการแข่งขันและเจ้าหน้าที่ทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงสุขุมนัยประดิษฐ รองประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ซึ่งได้ใช้ความสามารถและได้เสียสละทั้งกำลังกายและกำลังความคิดจนเป็นผลสำเร็จดียิ่ง ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และบรรดาผู้แทนมนตรีกีฬาแหลมทองทุกท่าน ทุกชาติ ต่างได้แสดงความพอใจและชมเชยผลงานนี้…

ปาริชาติ สุขุม ผู้เรียบเรียง จาก หนังสืองานครบรอบ ๖๐ ปี ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ๒๕๐๗ เขียนโดย อินสม ไชยชนะ

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ