[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒ 

1. งานรับราชการเลขาธิการ ก.พ. (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๕๐๗)

หน้าที่ของ ก.พ. และเลขาธิการ ก.พ
    งานในหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

        เรื่องการกำหนดอัตราเงินเดือน
        เรื่องการเก็บรักษาทะเบียนประวัติ
        เรื่องการจัดการศึกษาของนักเรียนในต่างประเทศ
        เรื่องการประชุม
        เรื่องการสอบเข้ารับราชการ
        เรื่องการสอบเพื่อรับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ
    งานที่ได้รับมอบหมาย
ข้อเขียนของนายสุมน รัชไชยบุญ อดีตรองเลขาธิการ ก.พ

(รูปภาพ ๑), (รูปภาพ ๒)

       การเริ่มรับราชการในตำแหน่งต่างๆของหลวงสุขุมนัยประดิษฐล้วนเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ทำให้หลวงสุขุมฯ มีส่วนในการวางรากฐานงานในหน้าที่เหล่านี้เป็นอย่างมาก
       หลังจากที่กลับมาปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในพระองค์ พระบรมวงศ์เธอกรม พระจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ เลขานุการสภาการฝิ่น สภาการคลังและ ก.ร.พ. จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานของ ก.ร.พ.ต่อไปจนกระทั่ง มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยยกเลิกกฎหมาย กฎข้อบังคับอื่นๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       กฎหมายใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเรียกโดยย่อว่า ก.พ. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกอย่างน้อย ๕ นาย แต่ไม่เกิน ๗ นาย และมีเลขาธิการ ก.พ.อีก ๑ นาย โดยที่หลวงสุขุมฯเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการ ก.ร.พ. จึงได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. อยู่ประมาณ ๒ เดือนเศษ หลังจากนั้น ก.พ. เห็นควรว่าให้แต่งตั้งเลขาธิการ ก.พ.ตัวจริง เพื่อปฏิบัติงานได้เต็มที่ แต่พระราชบัญญัติใหม่กำหนดว่า ตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี ซึ่งจะต้องผ่านการสอบเสียก่อน จึงให้เจ้ากระทรวงเสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่งไปยัง ก.พ. จำนวน ๓ คน เพื่อให้ ก.พ.ทำการสอบคัดเลือกต่อไป สำนักนายกรัฐมนตรีได้เสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. มีหลวงสุขุมนัยประดิษฐ พระบรีรักษ์กฤษฏีกา นายประมวล ปูรณโชติ ก.พ.ได้ทำการสอบสัมภาษณ์ทั้ง ๓ ท่านเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ความคิดริเริ่มในการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ก.พ. ปรากฏว่าหลวงสุขุมฯ ได้รับการคัดเลือกจึงได้เลื่อนเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๗ เป็นต้นมา ขณะนั้น หลวงสุขุมฯ มีอายุได้ ๓๐ ปี ๑ เดือน พอดี
       หลังจากได้รับแต่งตั้ง หลวงสุขุมฯก็ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการทำงานให้ ทันสมัยยิ่งขึ้น เนื่องจากเดิมใช้สถานที่และข้าราชการของสภาการฝิ่น สภาการคลัง และ ก.ร.พ. อยู่
       ใน พ.ศ.๒๔๗๖ นอกจากจะมีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้ว ยังมีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ซึ่งกำหนดให้ "คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน" เป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และได้มี พระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งส่วนราชการทำให้สำนักงานใหม่ของ ก.พ. มีข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน ก.พ. เพียงประมาณ ๔๕ คน ซึ่งมีทั้งรับโอนมาจากหน่วยงานอื่น และบรรจุใหม่ ยังไม่คุ้นเคยกับงาน และมีงานมากจนล้นมือ อย่างไรก็ตามหลวงสุขุมฯได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ข้าราชการทุกคนต่างตั้งใจทำงาน ร่วมมือกันรักใครกลมเกลียวกันจนงานสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
       งานที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนได้บัญญัติไว้ในหน้าที่ของ ก.พ. และเลขาธิการ ก.พ. ต้องรับผิดชอบ แยกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
       ๑. งานในหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
       ๒. งานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี อันเกี่ยวแก่ข้าราชการพลเรือน

งานในหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

       กฎหมายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน แต่หลักใหญ่โดยเฉพาะในยุคสมัยของหลวงสุขุมฯเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ ประกอบด้วย

เรื่องการกำหนดอัตราเงินเดือน
       ก.พ.จะทำความตกลงกับเจ้ากระทรวงทบวงกรม ยกเว้นกระทรวงกลาโหมและกระทรวงยุติธรรม (เฉพาะข้าราชการตุลาการ) เพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นสูงและขั้นต่ำของตำแหน่งทุกตำแหน่งโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบ แล้วนำกราบบังคมทูลเพื่อทรงตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก.พ. ต้องพิจารณากำหนดอัตราเงินเดือนของตำแหน่งต่างๆ และกำหนดหลักสูตรการสอบสำหรับผู้รั้งตำแหน่งนั้นๆภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด (๖ เดือน) จึงเป็นงานที่ยุ่งยาก และเร่งรีบทั้งผลที่ได้รับอาจเป็นความไม่พอใจของผู้ที่ได้รับตำแหน่งหรือไม่เป็นไปตามที่เจ้ากระทรวงต้องการ แต่โดยที่หลวงสุขุมฯ เป็นผู้มีประสพการณ์ด้านนี้รวมทั้ง มีปฏิภาณและบุคลิกภาพที่นิ่มนวล จึงสามารถปฏิบัติงานด้านนี้ได้สำเร็จเป็น ส่วนใหญ่

เรื่องการเก็บรักษาทะเบียนประวัติ
       งานที่ริเริ่มขึ้นใหม่คือการเก็บรักษาทะเบียนประวัติข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีมากมาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมีน้อยทั้งยังไม่มีแบบหรือวิธีการปฏิบัติที่รัดกุมหรือเหมาะสม หลวงสุขุมฯจึงได้คิดหาวิธีทำงานโดยสร้างแบบฟอร์มเรียกว่า แบบ ก.พ. มีตั้งแต่ ก.พ. ๑ - ก.พ. ๘ เป็นแบบบันทึกข้อมูลข้าราชการแต่ละคน เช่น

- การบรรจุข้าราชการ
- การแต่งตั้ง
- การโยกย้าย
- การโอน
- ประวัติละเอียดของข้าราชการ
- จรรยาบรรณของข้าราชการ เป็นต้น

        หลวงสุขุมฯ ได้เริ่มนำเอาวิธี cardex system ที่นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษมาดัดแปลงใช้ เช่น วิธีเก็บมีดัชนีสีต่างๆบอกอายุข้าราชการ ตำแหน่งเงินเดือน คุณสมบัติ สมรรถภาพของข้าราชการ ฯลฯ แต่เนื่องจากขาดงบประมาณและเจ้าหน้าที่ ไม่เพียงพอกับปริมาณงานงานดังกล่าวจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก

เรื่องการจัดการศึกษาของนักเรียนในต่างประเทศ
       พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๗๑ และ พ.ศ.๒๔๗๖ กำหนดให้ ก.ร.พ. หรือ ก.พ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการศึกษา นักเรียนไทยในต่างประเทศ หลวงสุขุมฯ ในฐานะเลขาธิการ ก.พ. จึงได้วางโครงการเป็นแนวทางในการไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ รวมทั้งด้านงบประมาณการใช้จ่ายและดำเนินการควบคุมให้เป็นไปตามที่กำหนด มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัย ได้แก่
       ๑. แนวทางการศึกษา พิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นของแต่ละสมัยว่าต้องการผู้ที่มีความรู้ด้านใดบ้าง มากน้อยเพียงใดและจัดสรรตามความต้องการของกระทรวงทบวงกรม
       ๒. กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายของนักเรียนไทยในต่างประเทศ เป็นการพิจารณาว่าประเทศใดควรได้รับเงินค่าใช้จ่ายเพียงใด ตามดัชนีค่าครองชีพ สิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมภายในวงเงินงบประมาณของแผ่นดิน
       ๓. การเจรจาขอเทียบหลักสูตร เนื่องจากสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะขั้นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศบางแห่งบางประเทศก็ให้การรับรองหลักสูตรการศึกษาของไทย บางประเทศก็ไม่รับรอง จึงต้องมีการเจรจาติดต่อกับสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเพื่อให้มีการรับรอง ซึ่งหลวงสุขุมฯ ทำหน้าที่นี้ได้ผลดี ทำให้นักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทสามารถเข้าศึกษาต่อได้เลย
       ๔. การจัดตั้งสำนักผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประทศ
การดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศด้านความประพฤติและการศึกษา เมื่อจำนวนของนักเรียนไทยยังมีน้อยได้ฝากไว้กับสถานทูต เมื่อผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษายังต่างประเทศทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานทูตไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง หลวงสุขุมฯจึงได้เสนอขอตั้งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศขึ้น โดยเริ่มในประเทศอังกฤษ สหรัฐ-อเมริกา และต่อมาก็ได้ตั้งเพิ่มในประเทศออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ตามลำดับ และจะได้เปิดสำนักงานในประเทศอื่นตามความเหมาะสม
       หลวงสุขุมฯ มีความเห็นเสมอว่า งานควบคุมดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศมีความสำคัญมากเพราะเป็นงานสร้างคนที่จะมีประสิทธิภาพบริหารประเทศในอนาคตจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษในการวางแนวทางการศึกษาให้นักเรียน ว่าควรเข้าเรียนที่ใดจึงจะเหมาะสมกับความต้องการและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ หลวงสุขุมฯได้รับผิดชอบงานนี้เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี มีนักเรียนที่อยู่ในความดูแลนับหมื่นซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอธิบดีและผู้บริหารระดับสูงทางราชการ มีผู้จบปริญญาเอกนับร้อยๆ และปริญญาโทนับพันๆ ถือเป็นผลงานที่ควรกล่าวถึงในความสำเร็จ

เรื่องการประชุม
       หน้าที่หลักของงานในหน้าที่เลขาธิการ ก.พ. คือการประชุม โดยเฉพาะการประชุม ก.พ.ทุกครั้งที่จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ชี้แจงความเป็นมาของแต่ละเรื่องให้ที่ประชุม และเนื่องจาก ก.พ. มีงานที่ต้องพิจารณามากจึงต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่แทน เรียกว่า อนุกรรมการวิสามัญ หรือ อ.ก.พ. วิสามัญคณะต่างๆ สำหรับกลั่นกรองเรื่องต่างๆให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วจึงเสนอ ก.พ.พิจารณาต่อไป หลวงสุขุมฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น อ.ก.พ. คณะต่างๆ ๖ คณะคือ
       ๑. อ.ก.พ. วิสามัญ เกี่ยวกับวินัย พิจารณาเรื่องการลงโทษ การสอบสวน การอุทธรณ์ ของข้าราชการ
       ๒. อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งที่แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษที่มีการขอมา
       ๓. อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนพิจารณาการกำหนดอัตราเงินเดือนของตำแหน่ง
       ๔. อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการพิจารณาเรื่องการออกกฎ ก.พ. พระราชกฤษฎีกา และระเบียบต่างๆ
       ๕. อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสอบและทะเบียนประวัติพิจารณาเรื่อง การสอบข้าราชการ การสอบชิงทุนรัฐบาล กำหนดหลักสูตรการสอบ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับทะเบียนประวัติ
       ๖. อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับนักเรียนในต่างประเทศ พิจารณาเรื่องการจัดการศึกษา ควบคุมดูแลนักเรียนในต่างประเทศ
       นอกจากนี้แล้ว หลวงสุขุมฯยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิตามความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ อีกด้วย
       ดังนั้นงานหลักของหลวงสุขุมฯ คืองานประชุมต่างๆทั้งเช้าบ่ายตลอดสัปดาห์ แทบไม่มีเวลาว่าง และเรื่องที่ประชุมปรึกษาพิจารณาหากมีปัญหาทางกฎหมายและทางปฏิบัติก็ต้องใช้วิจารณญาณที่สุขุมรอบคอบเป็นพิเศษจึงเป็นงานที่หนักสมองไม่ใช่น้อย

ยังมีงานอื่นๆนอกเหนือจากหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการอีกประมาณ ๓๐ ตำแหน่ง อาทิเช่น

- กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
- กรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัย
- อ.ก.ม. วิสามัญพิจารณาคุณวุฒิข้าราชการมหาวิทยาลัย
- อ.ก.ม. วิสามัญพิจารณาการเลื่อนขั้นและอันดับของข้าราชการมหาวิทยาลัย
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์
- กรรมการพิจารณาการประสานงานการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กรรมการที่ปรึกษาในการฝึกอบรมข้าราชการ
- ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาของสหรัฐอเมริกาแห่งประเทศไทย
(ฟุลไบรท์)
- กรรมการมูลนิธิการศึกษา จอห์น อี พิวริฟอย
- กรรมการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ (เอ.ยู.เอ) ของสมาคมนักเรียนเก่า
สหรัฐอเมริกา
- กรรมาธิการประจำของสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยวิทยาศาสตร์การปกครอง
- ประธานกรรมการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการบริหารงานตามโครงการสถาปนา
ภราดรภาพ ระหว่างกรุงเทพฯ-วอชิงตัน ดี.ซี.
- นายกสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย
- รองประธานกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- อุปนายกสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย
- คณะมนตรีสหพันธ์กีฬาแห่งทวีปเอเซีย
- คณะมนตรีสหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศภาคพื้นแหลมทอง
- รองประธานกรรมการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ ๕
- ประธานกรรมการต้อนรับและอบรมอาสาสมัครอเมริกัน
- กรรมการพัฒนากำลังคน
- สมาชิกกิติมศักดิ์ของสมาคมแผนโคลัมโบ แห่งประเทศไทย
- รองประธานกรรมการส่งเสริมการกีฬาของชาติ
ฯลฯ

       ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ของหลวงสุขุมฯ จึงเป็นการประชุม ซึ่งเป็นการจัดสรรเวลาเข้าประชุมกรรมการต่างๆให้ได้ครบตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นเนื่องจากหลวงสุขุมฯเป็นผู้ทราบข้อมูลอย่างละเอียดชัดเจนและมีประสพการณ์มานานจึงเป็นผู้ชำนาญการทราบถึงวิธีปฏิบัติ ปัญหา อุปสรรค วิธีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงอย่างดี ทำให้วาระต่างๆของการประชุมลุล่วงไปได้ ดังนั้นการประชุมบางคณะหากขาดหลวงสุขุมฯการพิจารณาเรื่องต่างๆ จึงอาจขัดข้องไม่บรรลุเป้าหมายได้ ในการประชุมทั้งกับชาวไทยและชาวต่างประเทศจึงได้รับคำชมเชยว่าเป็นประธานที่สามารถรู้จักวิธีรวบรัดการประชุมและวิธีเลือกสรรเรื่อง นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการ แก้ไขบรรยากาศของความขัดแย้งในที่ประชุมทำให้การประชุมราบรื่นได้ผลดี

เรื่องการสอบเข้ารับราชการ
       กฎหมายข้าราชการพลเรือนตราขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ให้มีคณะกรรมการเรียกว่ากรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือ ก.ร.พ. มีหน้าที่กำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ และดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาของ นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษาในต่างประเทศ
       สำหรับการสอบบรรจุ มีการสอบราชบุรุษในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ก.ร.พ. ดำเนินการสอบโดยส่งข้อสอบไปยังหน่วยสอบต่างๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนการสอบสัมภาษณ์ ก.ร.พ. แต่งตั้งให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปทำการสอบร่วมกับสมุหเทศาภิบาลหลวงสุขุมฯได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในจังหวัดภาคใต้
       ปี พ.ศ.๒๔๗๓ มีการเปลี่ยนเกณฑ์การสอบเข้ารับราชการให้สอบเชาว์ก่อนสอบวิชาอื่น เมื่อผ่านแล้วจึงจะพิจารณาการสอบวิชาอื่นๆ ส่วนการสอบสัมภาษณ์ยังมีเช่นเดิม หลวงสุขุมฯได้รับแต่งตั้งจาก ก.ร.พ. ให้ไปสอบสัมภาษณ์ในหน่วยจังหวัดภาคเหนือ แต่ถูกเรียกตัวกลับก่อนเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปยุโรป โดยตามเสด็จในกรมพระจันทบุรีนฤนาถในฐานะเลขานุการ
       ปี พ.ศ.๒๔๗๖ หลวงสุขุมฯ ได้รับแต่งตั้งจาก ก.ร.พ. ให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ทางภาคอิสาน
       ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนใหม่คณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติ (ก.ร.พ.) เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. โดยมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นมาก ก.พ. จึงได้มอบหมายให้ อ.ก.พ. แต่ละกรมดำเนินการสอบบรรจุข้าราชการชั้นจัตวาเอง ส่วนข้าราชการชั้นตรี ก.พ. จัดสอบโดยส่งข้อสอบไปยังหน่วยสอบทั่วประเทศ ผู้ที่ผ่านการสอบข้อเขียนเกิน ๖๐% จะมีสิทธิเข้าสอบสัมภาษณ์ หลวงสุขุมฯในฐานะเลขาธิการ ก.พ. ก็ได้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ทั่วราชอาณาจักร
       กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับ ๒๔๘๕ และ ๒๔๙๗ ยังให้อำนาจในการสอบแข่งขัน หลักสูตรและวิธีการสอบเป็นของ ก.พ. อยู่ โดย ก.พ. มอบอำนาจให้ อ.ก.พ. กระทรวงจัดสอบข้าราชการพลเรือนชั้นตรี อ.ก.พ.กรมและ อ.ก.พ.จังหวัดจัดสอบข้าราชการชั้นจัตวา เป็นต้น ในกรณีที่เกิดปัญหา หลวงสุขุมฯ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถจากประสพการณ์เป็นหลักวินิจฉัย จนส่วนราชการต่างๆ และข้าราชการพลเรือนพอใจทุกฝ่าย นอกจากนี้หลวงสุขุมฯ ยังเป็นผู้เสนอให้ อ.ก.พ. แต่ละกระทรวงกำหนดหลักสูตรการสอบเลื่อนขั้นของข้าราชการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย

เรื่องการสอบเพื่อรับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ
       ก.พ. เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบ แข่งขันและสอบคัดเลือก ตามความต้องการของส่วนราชการฝ่ายพลเรือนเพื่อรับทุนรัฐบาลไปศึกษาในต่างประเทศซึ่งถือเป็นงานราชการลับ มีปริมาณมาก และต้องการคุณภาพสูงในเบื้องต้น หลวงสุขุมฯ ได้เป็นผู้พิจารณาจัดวางหลักสูตรและวิธีการต่างๆเริ่มตั้งแต่การจัดสรรทุน และกำหนดวิชาที่จะไปศึกษา การกำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สมัครสอบ โดยตกลงกับเจ้ากระทรวง การตรวจร่างกาย การประกาศรับสมัคร การแต่งตั้งกรรมการดำเนินการและกรรมการออกข้อสอบแต่ละวิชาการตรวจให้คะแนน การกรอกคะแนน เป็นต้น

งานที่ได้รับมอบหมาย

งานที่เลขาธิการ ก.พ. ได้ทำและไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายคืองานที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีงานในส่วนนี้มี เช่น
- การพิจารณารับบุคคลเข้ารับราชการในช่วงเวลาและสถานการณ์พิเศษ ดังในขณะที่มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รัฐบาลมีนโยบายในกลั่นกรองบุคคลเข้ารับราชการเพิ่มเติม นอกจากความรู้แล้วยังต้องการผู้ที่มีความซื่อสัตย์เป็นพิเศษ
- การกำหนดอัตราเงินเดือนผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพพิเศษหรือการทำสัญญากับ นักเรียนทุนรัฐบาลให้กลับมารับราชการเพื่อป้องกันสมองไหลไปทำงานกับเอกชนซึ่งให้เงินเดือนสูงกว่า
- การพิจารณาหาทางให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้ก้าวหน้า หลวงสุขุมฯ ได้รับมอบหมายให้วางโครงการและวิธีการให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้ก้าวหน้าโดยปรับปรุง แก้ไขในด้านประสิทธิภาพ พบว่า สาเหตุที่ข้าราชการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีมากมาย อาทิเช่น

๑. ขาดการอบรมให้ข้าราชการมีความรู้เหมาะสมกับกาละสมัย
๒. ข้าราชการปฏิบัติงานในหน้าที่ ซึ่งตำแหน่งไม่ตรงตามคุณวุฒิที่ได้ศึกษามา
๓. ขาดอุปกรณ์ในการทำงาน ทำให้เสียเวลาเสียแรงงานและไม่เป็นระเบียบ
๔. ขาดวิธีการทำงานที่ดี งานไม่มีระเบียบ ไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางการทำงาน
ที่แน่นอน
๕. ขาดการร่วมมือประสานงานกัน
๖. ข้าราชการบางนายได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติมากเกินความสามารถ
๗. ข้าราชการบางนายมักจะเก็บ หรือหมกงาน ทำให้งานราชการล่าช้า
๘. สถานที่ทำงานไม่เหมาะสม แสงสว่างไม่เพียงพอ คับแคบ
๙. เกี่ยวกับการปกครองบังคับบัญชา ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา
๑๐. ความเป็นอยู่ด้านการครองชีพ หรือครอบครัวไม่ราบรื่น และอื่นๆ ฯลฯ

ซึ่งหลวงสุขุมฯ เห็นว่าน่าจะแก้ไขได้ จึงเสนอวิธีการไว้หลายประการ เช่น
๑. ให้มีการอบรมข้าราชการชั้นหัวหน้า และชั้นเสมียน เพื่อให้มีความรู้กว้างขวาง
ทันต่อเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
๒. เสนอให้ทางราชการจัดเงินงบประมาณ เพื่อใช้ในการซื้ออุปกรณ์ช่วยในการ
ทำงานให้สดวกรวดเร็ว
๓. เพื่อเป็นการทุ่นเวลาและแรงงาน และเพื่อความสดวกเรียบร้อยและรวดเร็ว
ควรจะได้มีแบบพิมพ์ไว้ใช้สำหรับหน่วยงานที่มีงานลักษณะเดียวกัน
๔. พิจารณาตัวบุคคลให้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งที่ตรงกับความรู้ ความสามารถ
และความชำนาญงานตามหลักวิชาการที่ว่า "Put the right man in the right place"
ฯลฯ

- สมรรถภาพและวินัยข้าราชการ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการกวดขันวินัยของ ข้าราชการทั้งหมด จึงตั้งกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย
๑. พลเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นประธานกรรมการ
๒. พลเอกหลวงสวัสดิ์รณรงค์ เป็นกรรมการ
๓. หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นกรรมการ
ทั้ง ๓ ท่านจะมีดวงตราเป็นเครื่องหมายให้อำนาจในการที่จะเข้าไปตรวจราชการได้ทุกกระทรวงทบวงกรม รวมทั้งองค์การของรัฐได้ทุกเวลา และมีอำนาจตรวจสอบได้ทุกอย่าง เช่น ตรวจการทำงาน ตรวจบัญชี และสอบสวนเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้าง เกี่ยวกับตัวรัฐมนตรี อธิบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางท่าน ซึ่งต้องสอบสวนด้วยความยากลำบากมีการประชุมที่กระทรวงกลาโหมสัปดาห์ละครั้ง
การปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดนี้เป็นผลดีเพราะกระทรวง ทบวงกรม ตลอดจนข้าราชการต่างระมัดระวังมีระเบียบวินัยดีขึ้น
การทำงานของกรรมการชุดนี้ได้ยุติลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลใหม่

       สรุปได้ว่าชีวิตการรับราชการเกือบทั้งหมดของหลวงสุขุมฯ อยู่ที่ ก.พ. ในตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ตั้งแต่เริ่มแรกจนเกษียณอายุ นับเป็นเวลาถึง ๓๐ กว่าปี ในระยะนั้นแทบจะเรียกได้ว่า หลวงสุขุมฯ คือ ก.พ. และ ก.พ. คือหลวงสุขุมฯ ทีเดียว นายสุมน รัชไชยบุญ อดีตรองเลขาธิการ ก.พ. เขียนเล่าไว้เกี่ยวกับการทำงานของหลวงสุขุมฯ ในโอกาสครบ ๕ รอบ ของหลวงสุขุมฯ ดังนี้

       "ในชีวิตของคนเรานั้นย่อมมีวัน ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษของแต่ละคนอันตรึงแน่นติดอยู่ในความจำไม่ลืม เช่น วันแต่งงาน, วันได้เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ สำหรับตัวข้าพเจ้าเองก็มีวันพิเศษเช่นนั้นอยู่หลายวัน แต่วันที่เป็นวันพิเศษวันหนึ่ง คือ วันที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นครั้งแรก
       ข้าพเจ้าจำได้ว่าในระหว่างนั้น เป็นเวลาที่เพิ่งใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรมที่ดิน แต่เกิดความสนใจเกี่ยวกับการบริหารงาน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น จึงนึกอยากจะไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงาน ก.พ. ว่า ราชการด้านนี้จะมีอย่างไรบ้าง และข้าพเจ้ามีความรู้พอที่จะปฏิบัติราชการในส่วนราชการนี้ได้เพียงใดหรือไม่ โดยข้าพเจ้าได้สอบถามกับเพื่อนข้าราชการซึ่งเดิมเคยรับราชการร่วมกันมากับข้าพเจ้าคนหนึ่ง และขณะนั้นเพื่อนของเพื่อนข้าพเจ้าคนนั้นได้โอนมารับราชการอยู่ในสำนัก ก.พ. แล้ว ครั้นได้ทราบรายละเอียดแล้วก็พอเหมาะกับที่ได้ทราบว่าทางสำนักงาน ก.พ.มีตำแหน่งว่าง ข้าพเจ้าจึงขอเข้าพบคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เลขาธิการ ก.พ. ซึ่งท่านก็ได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าพบทั้งๆ ที่มิได้รู้จักกันมาก่อน จากการที่ได้สนทนากับท่านในชั่วระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนี้เอง ที่ทำให้ข้าพเจ้าตัดใจเด็ดขาดที่จะเข้ารับราชการในสำนักงาน ก.พ. เพราะรู้สึกประทับใจในบุคลิกลักษณะของท่านมาก ซึ่งมีผลทำให้เกิดความสนใจอย่างยิ่งในงานของสำนักงาน ก.พ.
       ข้าพเจ้าจึงได้สมัครขอโอนมารับราชการในสำนักงาน ก.พ. และรอฟังข่าวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้โอนจากกรมที่ดินมาอยู่สำนัก ก.พ. เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ และได้เข้ารับราชการในแผนกระเบียบวาระและรายงานการประชุม สำนักงานเลขานุการ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าข้าพเจ้ามีโอกาสได้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการในสำนักงาน ก.พ. ตลอดมา จนข้าพเจ้าได้พ้นจากราชการโดยเหตุสูงอายุไปเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๕ ถ้าจะให้ข้าพเจ้ากล่าวเพียงประโยคเดียวถึงความรู้สึกที่ข้าพเจ้ามีคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ จากประสพการณ์ที่ได้ทำงานใกล้ชิดท่านมาเป็นเวลานานถึง ๒๗ ปีเศษ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่าคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นผู้บังคับบัญชาที่ข้าพเจ้าเคารพรักอย่างยิ่ง
       คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐนั้นมีบุคลิกลักษณะพิเศษ อุปมาได้เสมือนหนึ่งมีแม่เหล็กอยู่ในตัวท่าน กล่าวได้ว่าผู้มีโอกาสได้พบเห็นและได้สนทนากับท่านจะต้องอยากเข้าอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับท่าน ยิ่งสำหรับข้าพเจ้าเองซึ่งได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดท่านมาเป็นเวลาถึง ๒๗ ปีเศษ ก็ยิ่งรู้สึกประทับใจว่าท่านมีคุณลักษณะพิเศษที่หาพบได้ยากอยู่หลายประการ

       ประการแรกได้แก่ความสามารถในการปฏิบัติราชการ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ทำหน้าที่ในการบริหารงานของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมาตั้งแต่เริ่มมีคณะกรรมการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยท่านได้รับแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งเลขานุการ ก.ร.พ. หรือเลขานุการกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้ปฏิบัติราชการประสานงานร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ซึ่งในขณะนั้นได้ทรงดำรงตำแหน่งกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ก็ปรากฏว่าคุณหลวงสุขุมฯ สามารถรับใช้เจ้านายในสมัยนั้นได้อย่างสนิทสนมแนบเนียน ครั้นต่อมาก็ได้ตำแหน่งเลขานุการ ก.พ. ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับตำแหน่งเลขานุการ ก.ร.พ. และได้ปฏิบัติราชการประสานงานร่วมกับรัฐบุรุษอาวุโสและ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีฐานันดรศักดิ์สูง ทั้งในและนอกราชการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ก.พ. และ ก.พ. นั้นมิใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำโดยจะต้องมีการเปลี่ยนตัวกรรมการอยู่เรื่อยมาตามวาระ กรรมการแต่ละท่านนั้นก็มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน แต่ละบุคลิกก็ปรากฏว่าคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหลักในงานของ ก.พ. ได้เป็นอย่างดีทุกยุคทุกสมัย จนได้รับคำชมเชยอยู่โดยตลอดมาเป็นผู้ที่มีความสุขุมคัมภีร์ภาพเข้ากับคนได้ทุกชั้น ทำงานได้กับทุกประเภท มีความสามารถทำงานยากให้เป็นง่าย มีความรอบรู้ในหลักราชการจนยากที่จะหาใครเทียบได้
       การที่มีผู้บังคับบัญชาซึ่งยอมรับนับถือกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยมเช่นนี้นับว่าเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่งของผู้ที่อยู่ใตับังคับบัญชาและเป็นตัวอย่างอันดีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าได้พยายามเลียนแบบเอาอย่างท่าน (แต่ก็ทำไม่ได้) พยายามปรับปรุงตัวเองให้มีความรู้ความสามารถก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระอันหนักของท่านมาได้บ้างถ้าสามารถจะช่วยได้

       ประการที่สอง คือ ลักษณะการปกครองบังคับบัญชาของท่านข้าราชการทุกคนในสำนักงาน ก.พ. ย่อมตระหนักดีว่า "นาย" หรือ "คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ" นั้นท่านมีความตั้งใจมั่นที่จะให้ลูกน้องมีความร่มเย็นเป็นสุข ท่านเป็นทั้ง "ปก" คือให้ความร่มเย็นแก่พวกเรา และทั้ง "ครอง" คือผูกจิตใจให้พวกเรา พยายามหาทางก้าวหน้าในราชการ และประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบที่ควร วิธีการปกครองของท่านทำให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชามีความสุขความสบายใจและพอใจที่จะปฏิบัติราชการอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ผลของการปกครองแบบนี้ทำให้ราชการของสำนักงาน ก.พ. ดำเนินไปด้วยดีทั้งๆ ที่ปริมาณและคุณภาพของงานมีอยู่มากกว่าจำนวนข้าราชการอย่างที่เรียกกันว่า งานล้นคนอยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย
       คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ใช้วิธีปกครองด้วยทางสายกลาง ไม่เคร่งเครียดก้าวร้าว แต่ก็ไม่อ่อนแอถึงกับไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย ในระยะตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าได้รับราชการอยู่ ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ว่ากล่าวผู้ใดที่เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรงเลย ท่านได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ เช่น เมื่อ กฎ ก.พ. ออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนได้ให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาตำแหน่งอธิบดีหรือ เทียบเท่าเป็นผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีแก่ข้าราชการในใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้นเอกลงมาได้ แต่คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐไม่เคยใช้อำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนโดยพลการเลย ก่อนที่จะถึงคราวพิจารณาความดีความชอบข้าราชการทั่วไป ท่านได้ขอให้แต่ละกองรวบรวมหลักฐานเพื่อเสนอว่า ผู้ที่ควรจะได้เลื่อนชั้นเงินเดือน ในกองนั้นๆ มีใครบ้าง โดยให้แสดงถึงความอุตสาหะ ความสามารถ และการปฏิบัติตามวินัย ตลอดจนคุณภาพและปริมาณงานของตำแหน่งนั้นๆ ว่าผู้ใดควรจะได้เลื่อนหรือไม่ควรได้เลื่อนเพราะเหตุใด และการเลื่อนชั้นเงินเดือนในสมัยก่อนๆนั้น กระทรวงการคลังไม่มีงบประมาณพอที่จะให้เลื่อนได้ทั่วถึงกันทุกคน บางทีก็ให้เงินสำหรับเลื่อนชั้นเงินเดือน ๓ ใน ๔ ของจำนวนเงินเลื่อนนั้น และเดิมกระทรวงการคลังก็ไม่ได้มีเงินสำหรับอัตราเงินเดือนให้เป็นอันดับสูงขึ้นด้วย ในกรณีเช่นนี้ข้าราชการจะไม่ได้เลื่อนเงินเดือนทั่วถึงกันทุกคน ฉะนั้น การที่จะเลื่อนชั้นหรืออันดับเงินเดือนจึงได้เลื่อนเพียงบางคน คุณหลวงสุขุมนัย ประดิษฐก็มิได้ดูแลบัญชีรายชื่อข้าราชการในบังคับบัญชาของท่านแล้วสั่งเลื่อนให้ตามใจชอบ ท่านได้ขอให้มีการประชุมข้าราชการตั้งแต่หัวหน้ากองขึ้นไปในสำนักงานเพื่อฟังเหตุผล และคำชี้แจงของของผู้บังคับบัญชาซึ่งบางกรณีต้องมีการเปรียบเทียบกัน ระหว่างข้าราชการอีกกองหนึ่ง ซึ่งบางรายต้องยกไปพิจารณาในคราวต่อไป เพราะยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ในที่สุดถ้าที่ประชุมเป็นว่า ใครมีเหตุผลดีกว่าก็ให้เลื่อนผู้ที่ดีกว่านี่จะเห็นได้ว่าคุณหลวงสุขุมประดิษฐได้พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาโดยทั่วถึงกันอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วน ข้าราชการผู้ใดที่ไม่ได้เลื่อนเงินเดือนก็ขอให้หัวหน้ากองเรียกตัวมาอบรมสั่งสอน หรือแนะนำให้หาทางแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อปฏิบัติให้ดีกว่าที่เป็นมาแล้ว ซึ่งมีข้าราชการบางคนผู้บังคับบัญชาจะพยายามอบรมอย่างใดก็ไม่ได้ผลดีขึ้น ข้าราชการผู้นั้นก็ไม่ได้เลื่อนเงินเดือนอยู่หลายปีก็มี มิใช่ถือว่าใครทำดีหรือไม่ดีก็จะได้รับการปูนบำเหน็จความชอบเสมอไปดังเช่นในหมู่ข้าราชการมักจะพูดเป็นเชิงว่าความผิดไม่มี ความดีไม่ปรากฏเอาไป ๑ ขั้น อะไรทำนองนี้
       สำหรับผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งมีความดีความชอบสมควรได้รับการพิจารณาปูนบำเหน็จความชอบให้เป็นกรณีพิเศษก็ย่อมได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษในเรื่องนี้คุณหลางสุขุมนัยประดิษฐก็ได้ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากองในสำนักงานร่วมพิจารณาด้วยความรอบคอบ และได้ถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมาจนข้าพเจ้าได้พ้นจากราชการไป
       คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นผู้บังคับบัญชาที่ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา จึงปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าการปกครองบุคคลในส่วนราชการหรือในหน่วยงานใดๆก็ตามจะเป็นส่วนเล็กก็ดีหรือส่วนใหญ่ก็ตาม ถ้าปกครองด้วยความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ย่อมจะได้รับความสบายใจและมีจิตใจที่จะยอมรับใช้ด้วยความเต็มใจและเคารพรักใคร่

       ประการที่สาม คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ มีความสามารถเป็นพิเศษในการเป็นผู้ดำเนินงานในการประชุม และในการโน้มน้าวใจคน กล่าวคือในฐานะที่ท่านเป็นเลขาธิการ ก.พ.ตลอดมา ท่านย่อมมีความรอบรู้และประสพการณ์เกี่ยวกับราชการ โดยเฉพาะราชการฝ่ายพลเรือนอย่างดีที่สุด ในการประชุม ก.พ.ก็ดี หรือในการประชุมอื่นๆ ที่ท่านมีส่วนร่วมด้วยก็ดี ท่านตกอยู่ในฐานะที่จำเป็นต้องเป็นผู้รับผิดชอบในที่ประชุมโดยปริยายอยู่เสมอ ในการประชุม ก.พ. หรือ อ.ก.พ. นั้นแต่ละเรื่องมีบันทึกของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความยืดยาวทั้งข้อเท็จจริงที่กระทรวงทบวงกรมต่างๆ เสนอขออนุมัติต่อ ก.พ. ข้อกฎหมาย กรณีตัวอย่างที่ ก.พ.เคยวินิจฉัยไปแล้ว ตลอดจนความเห็นของเจ้าหน้าที่และอื่นๆ โดยปกติคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐจะเป็นผู้เสนอเรื่องด้วยวาจาต่อที่ประชุม โดยสรุปข้อสำคัญของเรื่องและคอยหาทางให้ที่ประชุมพิจารณาให้ถูกประเด็นรวมทั้งให้ขอคิดเห็นอื่นๆ อีกด้วยซึ่งท่านก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีตลอดมา
       ยิ่งกว่านั้น ในบรรดาเรื่องต่างๆที่เสนอให้ ก.พ. พิจารณาอนุมัตินั้นมีอยู่เสมอที่ ก.พ.เห็นว่าไม่ควรอนุมัติ โดยเฉพาะเรื่องที่ผิดเพี้ยนไปจากระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ หรือการขออนุมัติกรณีพิเศษอันเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเหตุผลโดยใช้ดุลยพินิจด้วยความรอบคอบ เพื่อมิให้ผิดระดับทั่วไปของราชการฝ่ายพลเรือน การไม่อนุมัติในกรณีเช่นนี้ส่วนมากตกเป็นหน้าที่ของเลขาธิการ ก.พ. ที่จะต้องชี้แจงด้วยวาจาต่อผู้แทนของส่วนราชการที่เข้าไปชี้แจงในที่ประชุม ก.พ. และตอบเป็นหนังสือราชการไปยังส่วนราชการที่ขออนุมัติมา คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้รับคำชมเชยอยุ่โดยตลอดว่าสามารถพูดและเขียนอย่างที่เรียกว่า "บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น" สามารถตอบปฏิเสธสิ่งที่คนอื่นขอมาได้อย่างนุ่มนวล และเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ราชการของ ก.พ. นั้นกล่าวกันว่าเป็นราชการแบบ "พายเรือทวนน้ำ" ใครเขาขออะไรมาถ้าให้ก็เสมอตัว ถ้าไม่ให้ก็ย่อมจะมีผู้ไม่พอใจ การที่มีผู้สามารถตอบปฏิเสธคำขอให้โดยมีหลักเกณฑ์และนุ่มนวลอย่างบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย จึงมีความสำคัญเป็นอันมาก

       ประการที่สี่ คือความมีใจเป็นนักกีฬา เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ท่านเป็นนักกีฬาชั้นยอดเยี่ยม แม้แต่ในกีฬาอเมริกันซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังเป็นที่เลื่องลือกันว่าท่านเป็นดาราชั้นนำในกีฬาหลายประเภทน่าจะเนื่องจากความเป็นนักกีฬานี้เอง ที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านจึงได้รับการตักเตือนกวดขันอยู่เป็นประจำให้ทำงานด้วยความสามัคคี มีความกลมเกลียวรักใคร่กันฉันท์พี่น้อง คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐท่านมีความอุตสาหะอดทนเข้มแข็งในการทำงาน เห็นได้จากการที่ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการต่างๆนับเป็นสิบๆคณะ และท่านต้องเสียสละเวลานอกราชการ เพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับแต่งตั้งให้บรรลุผลสำเร็จด้วยความเหน็ดเหนื่อยตรากตรำ โดยมิได้เห็นแก่ความสุขส่วนตัว ท่านเป็นสุภาพบุรุษมีใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่เรื่องหนึ่ง คือมีบุคคลผู้หนึ่งมาสมัครงานอยู่ในหน่วยงานซึ่งข้าพเจ้าบังคับบัญชาอยู่ คนผู้นั้นเป็นหลานโดยตรงของ "ผู้ใหญ่" คนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะกินเส้นกับคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ตัวท่านเองก็ทราบว่าผู้สมัครนั้นเป็นใคร แต่ท่านก็สั่งให้ความเป็นธรรมในการบรรจุ และเมื่อผู้นั้นสอบคัดเลือกได้และรับราชการเป็นผลดี ท่านก็ส่งเสริมให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอย่างมิได้มีใจลำเอียงหรืออาฆาตอย่างใดเลย
       ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นนักกีฬา ความอดทนเข้มแข็งในการงานเช่นนี้ มีตัวอย่างที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก
       คุณลักษณะสำคัญทั้งสี่ประการดังกล่าวข้างต้น นี้ประกอบกับคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ส่งเสริมให้คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นนายที่ดีเยี่ยม เป็นบุคคลที่มีผู้เคารพรักใคร่เชื่อถือมากที่สุดคนหนึ่ง ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมายหลายตำแหน่ง ทำให้มีผู้มาขอความช่วยเหลือ ขอความกรุณาวันหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก มีอยู่หลายครั้งที่ท่านเรียกข้าพเจ้าไปปรึกษาราชการ แต่ข้าพเจ้าต้องกลายเป็นผู้นั่งฟังท่านพูดโทรศัพท์เพราะมีโทรศัพท์ถึงท่านติดต่อกันอยู่จนหมดเวลาที่จะปรึกษาข้อราชการอะไรกันได้นอกจากโทรศัพท์แล้ว วันหนึ่งจะมีผู้ขอเข้าพบท่านเป็นจำนวนมาก นั่งรอเรียกกันอยู่จนข้าพเจ้ารู้สึกเหน็ดเหนื่อยใจแทน แต่สำหรับตัวท่านดูเหมือนตัวท่านไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และยินดีด้วยความจริงใจที่จะช่วยเหลือทุกๆคนที่ต้องการความช่วยเท่าที่ท่านจะช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านแล้ว ท่านได้เสียสละให้มากที่สุด ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้เคยมีผู้เรียนถามท่านว่าท่านมีเคล็ดลับอย่างใดที่ทำให้มีผู้เลื่อมใสนับถือและสามารถฟันฝ่ามรสุมต่างๆ รอดปลอดภัยมาได้อย่างสง่าผ่าเผยเช่นนี้ ท่านตอบว่าท่านไม่มีเคล็ดลับหรอก แต่ท่านมีคาถาที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำอยู่บทหนึ่ง คาถานั้นว่า "คนอื่นก่อน"

ปาริชาติ สุขุม ผู้เรียบเรียง จาก หนังสืองานครบรอบ ๖๐ ปี ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ๒๕๐๗ เขียนโดย อินสม ไชยชนะ

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ