[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๑,  ตอนที่ ๑

4.  มหาวิทยาลัย  Boston University,  พ.ศ. ๒๔๖๕

๕๘. ระเบียบการเข้ามหาวิทยาลัย

       มหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาที่รัฐบาลรับรองฐานะ มีระเบียบการเข้าศึกษาคล้ายคลึงกันทุกแห่ง คือต้องเรียนสำเร็จจาก high School (โรงเรียนของรัฐบาล) หรือ Preparatory School (โรงเรียนเตรียมไปรเวท อย่างโรงเรียน Gunnery) ก่อน แต่ละมหาวิทยาลัยมีระเบียบว่า ผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนเหล่านี้ต้องมี ๑๕ Units ขึ้นไปจึงจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ วิธีนับมีดังนี้ ภาษาอังกฤษให้ ๓-๔Units ภาษาฝรั่งเศส ภาษาลาติน นับให้อย่างละ ๒-๓ Units แล้วแต่เรียนมากน้อยเพียงใด เลข พีชคณิต ตรีโกณมิติ เลขาคณิต (สำหรับพวกเลขให้ตั้งแต่ ๑/๒ Unit ถึง ๒ Units แล้วแต่ความสำคัญของวิชา) ประวัติศาสตร์ ฟิสิค เคมิสตรี ฯลฯ เหล่านี้ก็คิด ๑-๒ Units แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องได้กว่า ๑๕ Units มหาวิทยาลัยจึงจะรับเข้าศึกษาได้ แต่ทั้งนี้เขาจะต้องเชื่อ Credit ของโรงเรียนเตรียมด้วยเหมือนกัน มีอยู่ ๓-๔ มหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา เช่น ฮารวาร์ด เยล ฟรินซ์ตัน เหล่านี้มีระเบียบว่า ต้องสอบ College Board Examination ได้เสียก่อนจึงจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆได้


ปีที่ ๑ (๒๔๖๕)
๕๙. เข้ามหาวิทยาลัยบอสตัน
๖๐. เข้าเล่นอเมริกันฟุตบอลใน Freshman Team ของมหาวิทยาลัย
๖๑. ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทน นักเรียน
๖๒. ได้เข้าแสดงอยู่ใน Musical Club
๖๓. Cosmopolitan Club
๖๔. เช่า Apartment อยู่
๖๕. เข้าเล่นบาสเกตบอลใน Freshman Team ของมหาวิทยาลัย
๖๖. หลายสมาคม Fraternity ได้เชิญให้เป็นสมาชิก
๖๗. นักเรียนไทยและนักเรียนต่าง ประเทศท ี่ต่างผิวในสหรัฐอเมริกา
๖๘. เข้าเรียนหน้าร้อน และการประชุมใหญ่นักเรียนไทย
๖๙. ขับรถยนต์ไปส่งคุณประสบที่ คานาดาเพื่อ ลงเรือกลับประเทศไทย

ปีที่ ๒ (๒๔๖๖)
๗๐. ได้เข้าทีมอเมริกันฟุตบอล ของมหาวิทยาลัย มีรูปและเรื่อง ราวลงหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ อเมริกา
๗๑. เกียรติที่ได้รับปีที่สองใน มหาวิทยาลัย
๗๒. การศึกษา
๗๓. งาน "ปาร์ตี้" ที่กรุงวอชิงตัน และ "วีนัส"
๗๔. Activities ในเทอมฤดูหนาว
๗๕. แฟรนเซส
๗๖. ได้รับเกียรติสูงสุดในมหา วิทยาลัยโดยได้รับเลือกเป็น Editor-in-chief หนังสือพิมพ ์ของมหาวิทยาลัย
๗๗. ละครของมหาวิทยาลัยและ วงดนตรีเต้นรำ
๗๘. การประชุมนักเรียนไทย และ ฤดูร้อน ๒๔๖๗
ปีที่ ๓ (๒๔๖๗)
๗๙. ปีที่สามในมหาวิทยาลัย
๘๐. ทูลกระหม่อมประชาธิปกและ พระชายา
๘๑. งานโรงเรียนคุณไสว
๘๒. Siam Night
๘๓. เรื่องเบ็ดเตล็ด
๘๔. ไปรับจ้างเล่นดนตรีเต้นรำ และบาสเกตบอลอาชีพ
๘๕. คณะละครไทยไปแสดง ในอเมริกา
๘๖. มิวเรียล
๘๗. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
๘๘. หนังสือ Syllabus
๘๙. การแลกรูปและรายงาน ของ Dean
๙๐. ละครและอาหารในอเมริกา
๙๑. หน้าร้อนสุดท้ายในอเมริกา

๕๙. เข้ามหาวิทยาลัยบอสตัน

ปีที่ ๑ (๒๔๖๕)

       เดือนกันยายน (๒๔๖๕) อายุได้ ๑๘ ปี ๔ เดือนเศษ ข้าพเจ้าจำต้องลาบรรดาเพื่อนฝูง ครู อาจารย์ และมิลเดรด ด้วยความอาลัยเพื่อไปเข้ามหาวิทยาลัยบอสตันที่เมืองบอสตัน ข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับคุณประสบที่ ๒๕ ถนนควีนสเบอรี เป็น Apartment House อยู่ใน "เฟนเว ปาร์ก" ปีนี้เป็นสุดท้ายของคุณประสบในมหาวิทยาลัย M.I.T. แต่เป็นปีแรกของข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เข้าศึกษาใน College of Business Administration ได้เข้าเรียนวิชา 1.Accounting 2.Economics 3. Marketing 4.French 5.English 6.Foreign Trade มหาวิทยาลัยบอสตันนี้มีนักเรียนทั้งสิ้นทั้งหญิงชายประมาณ ๑๔,๐๐๐ เป็นมหาวิทยาลัยค่อนข้างใหญ่ เข้าใหม่ๆรู้สึกหงอยเพราะไม่รู้จักกับใคร ระยะทางจากมหาวิทยาลัยไปบ้านที่ข้าพเจ้าพัก ห่างกันอยู่ในราวหนึ่งไมล์ครึ่ง ซึ่งโดยปรกติเดินไปและกลับแทบ ทุกวัน เพราะสตางค์ค่ารถรางไม่ค่อยจะมี
        ในวันที่มหาวิทยาลัยเปิดนั้น ได้มีการชุมนุมนักเรียนเข้าใหม่ทั้งหมด และมีการสอบเชาวน์โดยข้อเขียน ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกตื่นๆ มาก เพราะผิดกันกับเมื่ออยู่โรงเรียนกินนอน มีนักเรียนมากมายเดินไปเดินมาพลุกพล่าน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
        สำหรับวิชาที่เข้าศึกษาที่เป็นวิชาบังคับ เช่นวิชาบัญชีนั้นฟังๆดูก็น่าจะเป็นวิชาที่ง่ายมาก เพราะไม่เห็นมีอะไรนอกจากว่าได้มาเท่าใดก็ลงบัญชีรายรับ รายจ่ายเท่าใดก็ลงบัญชีรายจ่าย แต่ที่ไหนได้วิชานี้ค่อนข้างยากทีเดียว ต้องเรียนให้รู้หลักซาบซึ้งจึงจะทำบัญชีได้ถูกต้อง เพราะรายการรับหรือจ่ายไม่ใช่ลงในบัญชีเล่มเดียว ต้องลงเกี่ยวโยงไปเล่มอื่นๆอีกด้วย ต้องทำ Balance Sheet ได้ ต้องทำ profit and Loss Statement ได้ต้องทำบัญชีห้างหุ้นส่วนบริษัทได้ ฯลฯ
        วิชาเศรษฐศาสตร์นี้ ว่าในหลักการใหญ่แล้วการใหญ่แล้วน่าจะเข้าใจง่าย คือตอนต้นให้รู้หลัก Demand และ Supply ฯลฯ แต่พอต่อๆไปชักพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง อ่านตำราก็จืดๆไม่ค่อยจะเข้าใจด้วยซ้ำ ต้องคอยไปหาครูให้ช่วยอธิบายอยู่เสมอ
        วิชา Marketing คล้ายคลึงกับวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ก็จืดชืดเช่นเดียวกันมิหนำซ้ำโดนอาจารย์ที่สอนพูดเสียงเดียวเสียด้วย คือพอตั้งต้น "เล็คเชอร์" ก็พูดเสียงเดียวตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจฟังแล้วก็หลับเลย
        วิชา Foreign Trade ค่อยสนุกหน่อยเพราะเกี่ยวกับสินค้า ภูมิศาสตร์ และการขนส่ง ฯลฯ
        ส่วนวิชาภาษาต่างๆนั้น ก็เป็นวิชาธรรมดาซึ่งเรียนต่อไปในทางแต่งหนังสือหรือแต่ง จดหมายเกี่ยวกับการค้าขาย ฯลฯ
        นอกจากวิชาต่างๆ ที่ต้องเรียนในห้องเรียนแล้ว ยังมีอีกวิชาหนึ่งเป็นวิชาบังคับคือวิชาการทหาร ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้ส่งนายทหารชั้นสัญญาบัตรมาประจำให้ทำการสอนหลายคน มียศชั้นนายพันตรี และนายร้อยเอก นายร้อยโท ความมุ่งหมายก็คือใคร่จะให้เด็กอเมริกันได้รู้วิชาการทหาร ได้ฝึกหัดแถว ทั้งนี้ถ้ามีการสงครามขึ้นจะได้ใช้พวกเหล่านี้เป็นนายทหารประจำการได้ทีเดียว วิชานี้โดยย่อเรียกว่า R.O.T.C. หมายความว่า Reserve Officer's Training Corps
        การเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ในประเทศอเมริกายกย่องกันว่าเป็นบุคคลชั้นดีชั้นหนึ่งเหมือนกัน คืออย่างน้อยก็นับว่าเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาชั้นสูงแล้ว ฉะนั้นในการแนะนำให้รู้จักใครต่อใครก็มักจะบอกต่อไปว่า เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยด้วยหรือเปล่าหรือในบรรดาผู้หญิงถ้าได้คุ้นเคยกับผู้ชายที่เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยแล้วมักจะพอใจขึ้นอีก
        มหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกามีกำหนดเวลาการศึกษา ๔ ปี (นอกจากพวกแพทย์) ปีหนึ่งเรียกว่า Freshman ปีสองเรียกว่า Sophomore ปีที่สามเรียกว่า Junior และปีที่สี่เรียกว่า Senior ตามประเพณีของเขาแล้ว พวกเข้าปีแรกคือพวก Freshman จะต้องถูกนักเรียนชั้นสูงวางระเบียบข้อบังคับให้พวกเข้าใหม่นี้ปฏิบัติ โดยมากเราก็ถูกรังแกในวิธีต่างๆ และถูกจำกัดสิทธิหลายประการ ขึ้นต้นเขาก็บังคับเรื่องการแต่งกาย สำหรับนักเรียนเข้าใหม่ปีนี้ต้องซื้อผ้าผูกคอชนิดหูกระต่ายที่เขาทำสำเร็จรูปแล้วซึ่งเขามีขาย ทุกคนต้องใส่ทุกวันเวลาไปมหาวิทยาลัย ลักษณะของผ้าผูกคอนี้สีเขียวแปร๊ดมีเลข ๑๙๒๖ แต่ที่ติดเลข ๑๙๒๖ คือจะเป็นปีที่พวกเราจะเรียนสำเร็จ พวกที่เข้าใหม่ปีนี้เขาเรียกว่า Class of 1926) ส่วนในเรื่องสิทธิแล้วต้องตามหลังพวกชั้นสูงทุกๆอย่าง เช่นเข้าคิวสั่งอาหารหรือซื้อของ พอพวกชั้นสูงเขามาเขาก็มาเข้าข้างหน้า เราก็ต้องร่นถอยออกไปดังนี้ เป็นต้น

๖๐. เข้าเล่นอเมริกันฟุตบอลใน Freshman Team ของมหาวิทยาลัย

       ในทางกีฬา พอมหาวิทยาลัยเปิดได้ไม่กี่วัน เขาประกาศเรียก Candidates สำหรับ Freshman Football Team อาศัยที่ข้าพเจ้าเคยเล่นเกมนี้มีความชำนิชำนาญและมีชื่อเสียงมาแล้วพอที่จะเข้าชิงตำแหน่งในทีมกับเขาได้ จึงได้ไปลงชื่อสมัครไว้ โดยไม่ได้นึกถึงว่าตัวเราค่อนข้างเล็กมาก เป็นคนที่เล็กที่สุดที่ออกสนาม ผู้ที่มาลงชื่อสมัครทุกคนเคยเล่นได้ดีมาจากโรงเรียนต่างๆแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่มาหัดใหม่ มาหัดใหม่ก็เห็นจะต้องถูกคัดออกจากสนามตั้งแต่วันแรก เมื่อได้ฝึกซ้อมกันอย่างหนักแล้วข้าพเจ้าก็ได้เข้าอยู่ใน Freshman team โดยได้เป็นคนสำคัญของทีมอีกด้วย บรรดานักเรียนทั้งหลายจึงรู้จักและรักใคร่ชอบพอมากเพราะเล่นฟุตบอลได้ดี โดยปรกติพวกนักเรียนปีแรกมักจะถูกพวกนักเรียนเก่ารังแก แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยถูกรังแกเท่าใดนักเพราะนักเรียนเก่าชอบ เห็นเป็นนักเรียนต่างชาติแต่มี Spirit เป็นอเมริกันและเล่นกีฬาได้ดี
        หนังสือพิมพ์ Alliance Affairs (ออกทุก ๓ เดือน) ของนักเรียนไทยได้ลงข่าวของข้าพเจ้าไว้ดังนี้ Pradit was formerly Captain of The Gunnery eleven. He graduated from The Gunnery Last June and is now in Boston University. Inspite of the change from school to college, he never lost interest in sport. Pradit went out for football and was successful in making the first Freshman Team of the University (ประดิษฐผู้ซึ่งเคยเป็นกัปตันของอเมริกันฟุตบอลทีมของโรงเรียน "กันเนอรี" ได้เรียนสำเร็จจากโรงเรียนนั้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้วมา และบัดนี้ได้เข้ามาเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยบอสตัน การเปลี่ยนจากโรงเรียนมาเข้ามหาวิทยาลัยนั้นมิได้ทำให้เขาท้อถอยในทางกีฬา ประดิษฐได้ออกไปเล่นฟุตบอลและได้ทำความสำเร็จโดยได้เข้าเล่นในทีมหนึ่งของนักเรียนปีแรกในมหาวิทยาลัย)
        ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาที่ต้องมี Freshman Team นั้นก็เพราะถือว่าการแข่งขันกีฬาของมหาวิทยาลัยเป็นของสำคัญ เขาไม่อยากให้มหาวิทยาลัยเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เขาจึงห้ามเป็นอันขาดไม่ให้ผู้ที่เข้ามหาวิทยาลัยในปีแรกออกเล่นกีฬาในทีม Varsity ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจ้างนักกีฬาเก่งๆมาเล่นเพื่อเอาชนะกัน คืออาจมีนักเรียนเก่าที่มีเงินจ้างนักกีฬาให้มาลงชื่อเป็นนักเรียนแล้วก็ออกเล่นกีฬา ไม่ต้องเรียนหนังสือ แต่ถ้ากันพวกปีที่หนึ่งไม่ให้เล่นก็แปลว่าผู้ที่จะเข้าเล่นในทีม Varsity ของมหาวิทยาลัยได้ต้องเข้าเรียนปีที่หนึ่งเต็มปีและสอบไล่ได้เสียก่อน จะจ้างนักกีฬามาเล่นไม่ได้ ต้องเข้ามาเรียนจริงๆ ฉะนั้นสำหรับพวกปีแรกจึงต้องมี Freshman Team เพื่อเข้าแข่งขันกับ Freshman Team ของมหาวิทยาลัยอื่น หรือแข่งขันกับโรงเรียนขนาดใหญ่ๆ และทั้งนี้ก็เพื่อบรรดาครูสอนเล่นฟุตบอลทีมหนึ่งของมหาวิทยาลัยได้ดูตัวและความสามารถของผู้เล่นแต่ละคนใน Freshman Team นี้ว่าใครเล่นได้ดีเพียงใด เพ่อที่จะได้คัดเลือกไว้สำหรับเข้าเล่นในทีมของมหาวิทยาลัยในปีต่อไปด้วย
        ในการแข่งขันฟุตบอลของ Freshman Team กับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอื่นซึ่งมีอยู่ ๔ ครั้ง ข้าพเจ้าได้ทำแต้มให้ฝ่ายเราเป็นอย่างดี หนังสือพิมพ์ได้ลงชมเชยไว้อย่างมาก ในการเลือกกัปตันของทีม ข้าพเจ้าเกือบได้รับตำแหน่ง แพ้คะแนนฝรั่งคนหนึ่งเพียงคะแนนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเพราะเราเป็นคนต่างชาติ เห็นแต่ว่าข้าพเจ้าเล่นได้ดีแต่ไม่รู้จักนิสัยใจคอ เพราะต่างคนก็ต่างจะพึ่งรู้จักกันใหม่ๆ ทั้งนั้น

๖๑. ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน

       การปกครองนักเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ดำเนินการคล้ายๆ กับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา คือมีสภาผู้แทนนักเรียน (ซึ่งเรียกว่า House of Representatives) มีสภาสูง (Senate) และมีคณะมนตรี (Cabinet) สำหรับสภาผู้แทนนักเรียนนั้นมีจำนวนผู้แทนดังนี้ Freshman ๘ คน Sophomore ๘ คน Junior ๑๒ คน และ Senior ๑๒ คน รวมทั้งสิ้นมีสมาชิก ๔๐ คน ทั้งนี้นักเรียนแต่ละชั้นเลือกผู้แทนของตน ส่วนคณะรัฐมนตรีนั้นมีจำนวนเพียง ๕ คน ซึ่งอธิการบดีเป็นผู้เลือกจากบรรดานักเรียน
        ในปีแรกในมหาวิทยาลัยนี้ ข้าพเจ้าได้รับเลือกจากนักเรียนให้เข้าเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนนักเรียน (House of Representatives) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งเกียรติยศสูงในมหาวิทยาลัยตำแหน่งหนึ่ง คนต่างชาติมีข้าพเจ้าคนเดียวผู้เป็นสมาชิกสภานี้ได้ติดเข็ม H.R. เล็กๆ ที่เสื้อ ซึ่งทำให้รู้สึกภูมิใจมาก เพราะแม้ว่าเด็กอเมริกันก็ต้องเป็นผู้กว้างขวางจึงจะได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในสภานี้ โดยที่จำนวนนักเรียนมีมาก แต่จำนวนผู้แทนมีน้อย และการเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งโดย Popular Votes ไม่ต้องมีคุณวุฒิพิเศษอะไร ฉะนั้นสำหรับตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนต่างชาติจึงรู้สึกภูมิใจมาก และที่ภูมิใจมากขึ้นอีกก็คือในจำนวน ๘ คน ที่ได้รับเลือกจากนักเรียนชั้นปีที่หนึ่งนี้ ข้าพเจ้าได้คะแนนสูงเป็นที่สอง ในปีก่อนๆก็ไม่เคยได้มีนักเรียนต่างชาติได้เข้าไปอยู่ในสภานี้เลย ทั้งนักเรียนและอาจารย์และผู้ที่สนิทกับมหาวิทยาลัยที่รู้จักว่าเข็ม H.R. หมายความว่ากระไรแล้ว เมื่อเขาเห็นข้าพเจ้าติดเข็มนี้เขาชอบมอง คงนึกว่าเด็กต่างชาติได้เข้าไปเป็นผู้แทนนักเรียนกับเขาด้วย ไม่เคยเห็นคนต่างผิวได้รับเกียรติอย่างนี้

๖๒. ได้เข้าแสดงอยู่ใน Musical Club

       ในทางดนตรีข้าพเจ้าได้เข้าเล่นใน Musical Club คือเล่นแบนโจอยู่ใน "แบนโจคลับ" ได้เคยไปแสดงหลายหนด้วยกัน โดยปรกติเสร็จจากการแสดงแล้วมีเต้นรำ การเล่นดนตรีของข้าพเจ้านั้นแต่เดิมได้หัดเล่นแมนโดลิน แต่พอเล่นเป็นแล้วรู้สึกว่ามันง่ายเกินไปจึงหัดเล่น Tenor Banjo ซึ่งมีชีวิตจิตใจขึ้นอีก จะเล่นเดี่ยวก็ได้ หรือจะเล่นเข้าวงเต้นรำก็เป็นที่นิยมมาก คือเล่น Chord อยู่ในจำพวก Rythm มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้ายิ่งสนใจในเรื่องดนตรีมากขึ้น ได้รู้หลักของวิชาของดนตรีที่ไพเราะว่ามันมีอะไรบ้าง ได้สนใจไปถึงวงดนตรีชนิดต่างๆ จังหวะต่างๆ เครื่องดนตรีที่เล่นต่างๆ ฯลฯ คงได้ความว่าเสียงดนตรีนี้มีเสียงประสานกันได้หลายเสียง คือในเพลงเดียวกันและในเวลาเดียวกันนั้นเล่นหลายเสียงได้ บางเพลงบางตอนอาจถึง ๔ เสียงก็ได้ โดยที่เสียงต่างๆ นั้นเข้ากันได้อย่างนุ่มนวล นอกจากนั้นบางตอนอาจมีเสียง Obligato เข้าประกอบอีกด้วย เสียงนี้ดำเนินไปนอกทำนองของเพลงทีเดียว แต่ก็เข้ากับทำนองเพลงได้โดยฟังเพราะหูขึ้นอีก สำหรับเครื่องมือเล่นบางชนิดเล่นหลายเสียงได้ในคราวเดียวกัน เช่น เปียโน กีตาร์ หรือ แบนโจเหล่านี้ก็เล่นเสียงประสานพร้อมกันไปทีเดียวได้ เราเรียกเสียงที่เข้ากันได้นี้ว่า Chord ในแบนโจคลับนี้เขาแบ่งผู้เล่นซึ่งมีจำนวนราว ๒๕ คนเป็นพวกๆมีพวกเล่นเสียงหนึ่ง พวกเล่นเสียงสอง พวกเล่นเสียงสาม พวกเล่นเสียง Obligato และพวกเล่น Chord แต่ละพวกก็เล่นไปตามทางของเขา แต่เมื่อรวมกันเข้าแล้วเสียงครึ้มและเพราะขึ้นอีกมาก
        เพลงที่เราเล่นอยู่ในแบนโจคลับนี้ มีเพลงมาร์ช มีเพลงวอลต์ซอย่างเก่า มีเพลงเบาๆ เช่นเพลง O Sole Mio, La Paloma ฯลฯ เป็นต้น
        การที่ข้าพเจ้าได้เข้าเล่นดนตรีใน Musical Club ของมหาวิทยาลัยนี้อีกด้วยนั้นเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ ขึ้นอีกมาก ได้รู้จักชีวิตของเด็กอเมริกันในด้านทางดนตรี แต่ไหนแต่ไรมาข้าพเจ้าเคยรู้จักชีวิตที่อยู่บนสนามฟุตบอล สนามเบสบอล บนพื้นบาสเกตบอล คือชีวิตของนักกีฬา คราวนี้ได้รู้จักชีวิตของนักดนตรี ชีวิตบนเวทีชีวิตของการบันเทิง ซึ่งคบกับเด็กอเมริกันอีกชุดหนึ่งทีเดียว
        Musical Club ของมหาวิทยาลัยได้ไปแสดงหลายครั้ง ทั้งในเมืองบอสตันและเมืองใกล้เคียงบอสตัน ก่อนไปแสดงเราก็ซ้อมเพลงต่างๆ ที่เราจะไปเล่นสำหรับตัวข้าพเจ้าอยู่ในจำพวกเล่นประสานเสียงสอง เวลาเราไปเล่นที่ใดเขาก็ประกาศล่วงหน้าว่า B.U. Musical Club จะมาแสดง ณ ที่นั้น ในวันนั้น ค่าผ่านประตูเท่าใดๆ ก็บอกเสร็จ ภายหลังการแสดงมีการเต้นรำ ถ้าไปแสดงนอกเมืองเราก็ไปโดยรถยนต์สองแถวใกล้เวลาแสดงเราก็แต่งตัวราตรี หยิบเครื่องดนตรีมาขึ้นเสียงให้แน่นอน แล้วทุกคนก็ขึ้นไปบนเวทีดูที่นั่งของตน ถึงฉากที่เราต้องแสดงก็เข้านั่งประจำที่ แล้วคอยดูคนเคาะจังหวะจบเพลงหนึ่งๆ คนดูก็ปรบมือให้เป็นเกียรติยศ เสร็จการแสดงทั้งหมดแล้วการเต้นรำก็ตั้งต้น บางครั้งถ้าข้าพเจ้ามีคนรู้จักที่จะเต้นรำด้วยเราก็อยู่ ถ้าไม่มีใครรู้จักบางทีเราก็หนีกลับบ้านก่อน ใน Musical Club นี้ก็ตามเคย คือมีคนต่างชาติต่างผิวอยู่แต่ข้าพเจ้าคนเดียว

๖๓. Cosmopolitan Club

       ในมหาวิทยาลัยนี้มีสมาคมอยู่หลายสมาคม แต่ที่ข้าพเจ้าสนใจมากก็ คือ CosmopoIitan Club สมาคมนี้เป็นสมาคมของนักเรียนต่างชาติทั้งหมดในมหาวิทยาลัยใครจะสมัครเป็นสมาชิกได้ทั้งสิ้นรวมทั้งพวกอเมริกันด้วย จุดประสงค์ของสมาคมนี้ก็เพื่อต้องการ Social คือได้มีการพบปะกัน แลกเปลี่ยนความรู้ในความเป็นไปและวัฒนธรรมของประเทศต่างๆและจัดให้มีงานรื่นเริงสนุกสนานตามประเพณีของชาติต่างๆ ด้วย โดยปรกติมีเดือนละครั้ง นอกจากนักเรียนต่างชาติแล้วมีพวกนักเรียนอเมริกันสมัครเป็นสมาชิกไม่น้อย มีสมาชิกทั้งสิ้นหลายร้อยคน งานของสมาคมนี้ข้าพเจ้ารู้สึกชอบคือได้ความรู้ในเรื่องความเป็นไปของประเทศต่างๆ และได้รู้จักกับนักเรียนหญิงคนหนึ่งชื่อ Eileen Green เป็นอเมริกัน ได้พาเขาไปเที่ยวและเต้นรำด้วยเสมอ และเขาก็ได้ชวนข้าพเจ้าไปบ้านเขาบ่อยๆ

๖๔. เช่า Apartment อยู่

       ธันวาคม (๒๔๖๕) มหาวิทยาลัยหยุดคริสต์มาส ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในบอสตันนั้นเอง ปีนี้นักเรียนไทยพักอยู่ในเมืองประมาณ ๒๐ คน ได้พบปะและรับประทานอาหารจีนในเวลาต้นเดือนเสมอ แต่พอตกปลายเดือนทุนชักน้อยลงก็ต้องทำอาหารรับประทานเองในบ้าน หุงข้าวทำกับข้าวไทยง่ายๆ พวกเราที่เช่า Apartment อยู่ด้วยกัน มีคุณประสบ คุณถวิลและข้าพเจ้า แต่เวลาโรงเรียนหยุดมีพวกนักเรียนโรงเรียนกินนอนต่างๆ มาพักอยู่ด้วยอีกหลายคน เรื่องขำๆ ที่พอจำได้มีอยู่หลายเรื่องเช่นเวลาปลายเดือนเราจะทำอาหารรับประทานกัน เรี่ยไรกันคนละเล็กละน้อย พอถึงคุณถวิลจะต้องพูดอย่างเดียวกันทุกคราวคือพอเราขอสตางค์เพื่อไปซื้อกับข้าว จะต้องบอกว่า "หยิบเอาในกระเป๋าแน่ะคุณ" เราไปหยิบก็ไม่เคยมีสักสตางค์ แล้วแกจะต้องบอกว่า "ออกไปก่อนซิคุณ" อย่างนี้ทุกคราว จนเราเดาล่วงหน้าถูกทุกครั้ง อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องของคุณถวิลอีก ปลายเดือนเงินในแบงค์ไม่มีเหลือเลย สตางค์ก็ไม่มีกินข้าว พอตกเย็นแบงค์ปิดแล้วเขาก็เขียนเช็คเป็นเงินหนึ่งเหรียญให้เจ้าของร้าน และจะหาเงินไปใส่แบงค์ก่อนเช็คฉบับนั้นจะไปถึงแบงค์ ครั้นรุ่งขึ้นเมื่อไปหาใครก็ไม่มีใครมีกันทั้งนั้นแม้แต่เหรียญเดียว ตกลงยืมใครไม่ได้ เช็คถึงแบงค์เมื่อไม่มีเงินก็กลับมาที่เจ้าของร้านอีก เจ้าของร้านก็ยังเชื่อ Credit คุณถวิลมาก เวลาข้าพเจ้าเดินผ่านเขาเรียกข้าพเจ้าไปปรารถว่าแบงค์คงจะคิดเงินผิด เพราะอย่างไรๆ เสียเขาคงมีดอกน่าสักเหรียญหนึ่งในแบงค์
       Apartment ที่เราเช่าอยู่นี้มีห้อง ๓ ห้อง ซึ่งเราจัดให้เป็นห้องนอน ห้องรับแขกและห้องเขียนหนังสือ นอกนั้นมีครัวและห้องน้ำ สำหรับครัวมีเตาทำอาหาร มีที่ล้างชามและตู้ใส่ถ้วยชาม และห้องน้ำก็มีเครื่องพร้อม แต่ห้องอื่นๆ เราต้องหาเครื่องตบแต่งมาเอง เราต้องการเครื่องตบแต่งอะไรบ้างก็ใช้วิธีซื้อผ่อนส่ง เรียกว่า การเช่าซื้อ ในประเทศอเมริกาใช้วิธีนี้กันมาก จะซื้ออะไรเป็นผ่อนใช้ได้แทบทั้งนั้น ตั้งแต่รถยนต์ส่งไปจนกระทั่งเสื้อผ้านุ่งห่มก็ซื้อโดยวิธีผ่อนใช้ก็ได้ นับว่าสะดวกดีมาก อีกอย่างหนึ่งคือโทรศัพท์ต้องมีกันทุกห้องทุกบ้าน เพราะเขาเห็นเป็นของจำเป็นและได้รับความสะดวกมาก ส่วนราคาค่าเช่าโทรศัพท์ก็กำหนดไว้ถูก สำหรับค่าเช่า Apartment เราเสียเดือนละ ๗๐ เหรียญ ซึ่งเรา ๓ คนแบ่งกันออกคนละเท่าๆกัน
       ข้างห้องเราพักอยู่มีสตรีสาว ๓ คน คือ Celia Hopkins, Martena Sawyer, และ Doris Saxton เขาเป็นเพื่อนดีกับเรามาก สามคนนี้เป็นนักเรียนบ้าง เป็นหญิงทำงานบ้างเวลาว่างเรามักจะไปคุยกับเขาเสมอ เขาทำอะไรรับประทานมักจะเผื่อแผ่เราด้วยเสมอ เช่นทำขนมต่างๆ คุณถวิลกิริยาดีตามเคย ก่อนรับประทานจะต้องบอกเขาเสมอว่าอร่อยมาก

๖๕. เข้าเล่นบาสเกตบอลใน Freshman Team ของมหาวิทยาลัย

       มกราคมมหาวิทยาลัยเปิดการสอน และการกีฬาเป็นฤดูบาสเกตบอลข้าพเจ้าก็อดไม่ได้อีก จึงได้ออกไปพยายามชิงตำแหน่งเพื่อเข้าเล่นในทีมหนึ่งของ Freshman Team ของมหาวิทยาลัย มีนักเรียนจำนวนมากที่เล่นเก่งๆ มาจากโรงเรียนต่างๆ ออกมาพยายามชิงตำแหน่งเข้าทีม ผลที่สุดข้าพเจ้าทำได้สำเร็จอีก คือได้เข้าเล่นในทีมหนึ่ง ทั้งนี้ทำให้เพื่อนนักเรียนรักใคร่และทึ่งมาก เพราะได้เข้าเล่นทีมหนึ่งทั้งฟุตบอลและบาสเกตบอล เป็นคนต่างชาติและตัวเล็กด้วย ในการแข่งขันกับโรงเรียนต่างๆ หลายโรงเรียน ซึ่งโดยมากได้ไปเล่นที่โรงเรียนเขา ข้าพเจ้าก็ได้พยายามเล่นเต็มที่ ในการแข่งขันหลายครั้งนั้น ส่วนมากเราเป็นฝ่ายชนะเพราะได้คนเล่นดีๆ จากโรงเรียนต่างๆ มาอยู่ในทีมทุกคน สำหรับตัวข้าพเจ้าซึ่งตัวเล็กและเป็นคนต่างชาตินั้นผู้ดูสนใจกันมาก เขาโห่ร้องสนับสนุนให้เสมอจะทำอะไรนิดหน่อยที่แสดงความสามารถเช่นทำแต้มได้ หรือส่งหรือรับลูกอย่างเล่น Trick อย่างว่องไวแล้ว เขาจะต้องช่วยกันโห่ร้องชื่อข้าพเจ้า สำหรับหนังสือพิมพ์ต่างๆ นั้นก็ได้ลงชมเชยการเล่นของข้าพเจ้าไว้มาก
        ในระหว่างฤดูหนาวนอกจากต้องเรียนหนังสืออย่างหนักแล้ว ยังต้องซ้อมและเล่นอยู่ใน Freshman Basketball Team และยังได้ไปแสดงดนตรีกับ Musical Club หลายแห่ง ทั้งการแข่งขันบาสเกตบอลและการแสดงดนตรี มีคนมาดูมาฟังกันแน่นๆ เสมอและนอกจากนั้นได้ไปงานรื่นเริงและงานเต้นรำหลายครั้ง
        ที่ว่าต้องเรียนหนังสืออย่างหนัก ก็โดยเหตุที่ทุกมหาวิทยาลัยมีระเบียบอยู่ว่าถ้าผู้ใดเรียนเลวมากก็ต้องเข้าอยู่ Probation List และถ้าผู้ใดต้องมีชื่อขึ้นบัญชีนั้นแล้ว จะเล่นกีฬาใดๆ ให้มหาวิทยาลัยไม่ได้เลย
        ในระหว่างฤดูหนาวนี้อากาศในเมืองบอสตันมันหนาวเสียเหลือเกิน ตอนเช้าเวลาข้าพเจ้าเดินไปโรงเรียน ซึ่งมีระยะทางประมาณไมล์ครึ่งจากที่บ้านนั้น ทั้งๆ ที่สวมเสื้อตั้งหลายๆ ชั้น สวมรองเท้าหลายชั้น สวมถุงมือทำด้วยขนสัตว์อย่างหนา ยกคอเสื้อขึ้นปิดหู มือใส่กระเป๋า เดินอย่างหลังโกงห่อตัว กว่าจะถึงโรงเรียนแทบแย่รู้สึกชาไปหมดทั้งตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หู จมูก มือและเท้า ยิ่งวันไหนลมจัดด้วยยิ่งแล้วใหญ่ ลมนี้ทำให้อากาศหนาวร้ายที่สุด แต่ถ้าวันไหนมีหิมะกำลังตกอยู่แล้ว วันนั้นอากาศค่อยอบอุ่นหน่อยหน้าหนาวก็เบื่อตอนต้องเดินไปไหน เพราะนอกจากความหนาวทำให้ชาไปหมดทั้งตัวแล้วถนนยังลื่นต้องระวังการหกล้มอีกด้วย

๖๖. หลายสมาคม Fraternity ได้เชิญให้เป็นสมาชิก

       ในมหาวิทยาลัยนี้มีสมาคมที่เรียกว่า Fraternity หลายสมาคม และมีสมาคมสำหรับนักเรียนหญิงที่เรียกว่า Sorority อีกหลายสมาคม (สมาคมสำหรับชายและหญิงนี้ความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เพราะคำว่า Fraternity แปลว่า brotherhood และคำว่า Sorority แปลว่า sisterhood) แต่ละสมาคมเข้มแข็งมาก ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้เข้าเล่นอยู่ในทั้งฟุตบอลและบาสเกตบอลทีม ได้เป็นสมาชิก House of Representative ของมหาวิทยาลัยและเป็นนักดนตรีเล่นอยู่ใน Musical club จึงอยู่ในความต้องการของสมาคมหลายสมาคมที่จะเชิญให้เข้าเป็นสมาชิก แต่โดยที่ข้าพเจ้าก็เคยเป็นสมาชิกสมาคมชนิดนี้มาแล้วที่โรงเรียน Gunnery และโดยที่ว่าเมื่อข้าพเจ้าเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะกลับเมืองไทย การที่จะเข้าเป็นสมาชิกนี้ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่นัก และตอนจะเข้าเป็นสมาชิกก็จะต้องถูกทรมานตนอย่างหนักอีก แล้วก็ต้องเสียเงินอีกไม่น้อย ข้าพเจ้าจึงได้ขอตัวบอกและปฏิเสธสมาคมต่างๆ ที่มาทาบทาม

๖๗. นักเรียนไทยและนักเรียนต่างประเทศที่ต่างผิวในสหรัฐอเมริกา

       สำหรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างประเทศที่ต่างผิวมาศึกษาวิชา ในสหรัฐอเมริกานั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่า ส่วนมากไม่คอยได้รับโอกาสสนิทสนมหรือติดต่อเป็นกันเองกับชาวอเมริกันมากนัก ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ หนึ่ง ชาวอเมริกันทั่วๆไปไม่สู้จะยกย่องคนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกต่างผิว เช่นชาวตะวันออกซึ่งเป็นชนชาติผิวเหลือง สำหรับญี่ปุ่นเขาเกลียด เขาว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีกลเม็ดคอยคิดเอาเปรียบเสมอ สำหรับจีนเขาดูถูกเพราะในอเมริกามีชนชาวจีนเป็นจำนวนมาก และได้ไปทำอะไรต่ออะไรไว้อย่างที่จะให้เขาดูถูกได้ สำหรับชาวฟิลิปปินโนก็เป็นเมืองขึ้นของเขา เขาก็ต้องมองอย่างดูถูก ส่วนสำหรับไทยเขาไม่ รู้จัก แต่หน้าตาก็บอกว่าถ้าไม่ใช่จีนก็ญี่ปุ่นหรือฟิลิป-ปินโน เป็นอันก็พลอยถูกดูถูกเต็มที่ไปด้วย สอง นักเรียนต่างชาติเหล่านี้ได้งบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนจำกัด มีพอกินพอใช้ไปเดือนหนึ่งๆเท่านั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เลี้ยงดูเพื่อนฝูงตามสมควร สาม นักเรียนต่างชาติเหล่านี้ส่วนมากไม่สนใจที่จะคบเพื่อนฝูง บางคนก็ชอบอยู่ตามลำพัง บางคนก็ตั้งอกตั้งใจศึกษาจนไม่คิดถึงอะไรหมด ข้อเหล่านี้แหละทำให้ห่างเหิน social life ในประเทศอเมริกามาก แต่อย่างไรก็ดีรู้สึกว่านักเรียนไทยยังดีกว่านักเรียนญี่ปุ่น จีน หรือฟิลิปปินโนมาก

๖๘. เข้าเรียนหน้าร้อน และการประชุมใหญ่นักเรียนไทย

       ต้นเดือนเมษายน (๒๔๖๖) มหาวิทยาลัยหยุด Easter ๑๐ วัน เมื่อเปิดก็เข้าเรียนต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน สอบไล่ใหญ่ ข้าพเจ้าตกเสีย ๑ วิชา คือวิชา Marketing หน้าร้อนนี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าเรียนต่อไปเพื่อ make up วิชานี้ และเรียนบางวิชาของปีที่ ๒ ล่วงหน้าไว้อีกด้วย
        ปลายเดือนมิถุนายนนักเรียนไทยได้มีการประชุมประจำปีที่ Wilbraham Academy ที่เมืองวิลบราแฮม มลรัฐแมสซาชูเชตส์ อยู่ห่างจากบอสตันราว ๑๐๐ ไมล์ การประชุมประจำปีเช่นนี้นักเรียนไทยไปอยู่ร่วมกันราว ๑๐ วัน มีการแข่งขันกีฬา มีแสดงละคร ฯลฯ นับว่าเป็นการได้รวมนักเรียนไทยให้อยู่ร่วมกัน ได้รู้จักสนิทสนม และรู้นิสสัยใจคอซึ่งกันและกัน การประชุมคราวนี้มีนักเรียนไป ๔๐ กว่าคน รวมทั้งนักเรียนหญิงไทยด้วย ข้าพเจ้าต้องเรียนหน้าร้อนอยู่ในบอสตัน จึงไม่มีโอกาสไปร่วมสนุกอยู่ด้วยตลอดเวลา แต่ก็ได้มีโอกาสไปวันเสาร์ อาทิตย์ อยู่สองวัน นับว่าสนุกดีพอใช้ ข่าวที่ได้จากการประชุมคราวนี้มีว่า ในการเล่นฟุตบอลนายถนัดเตะขานายชวนหัก และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ นักเรียนชายบางคนเมาลมนักเรียนหญิง
        หมดเทอมในโรงเรียนหน้าร้อน ข้าพเจ้าสอบได้ทุกวิชา และได้คะแนนดีเสียด้วยทั้งนี้เพราะไม่มี Activities ต้องกังวล

๖๙. ขับรถยนต์ไปส่งคุณประสบที่คานาดาเพื่อลงเรือกลับประเทศไทย

       ต้นเดือนกันยายน ได้รับเงินจากบิดาสำหรับซื้อรถยนต์คันหนึ่งตามที่ขอไป ได้ตกลงเลือกซื้อรถ Willys Knight เก๋ง เป็นรถยนต์คันแรกของข้าพเจ้าเองในชีวิต ได้รถมาแล้วได้ไปเที่ยวขับขี่หลายแห่งทั้งในเมืองบอสตันและเมืองใกล้เคียง ทั้งนี้ทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น คือรู้จักถนนหนทางที่ต่างๆ และรู้จักบ้านเมืองดีขึ้นอีกมาก เพราะได้มีโอกาสไปด้วยตนเองโดยสะดวก
        รถยนต์ในประเทศอเมริกานี้มีมากมายเหลือเกิน ทั้งประเทศมีจำนวนมากกว่า ๒๐ ล้านคัน หรือคิดเฉลี่ยต่อพลเมืองแล้วทุกๆ พลเมือง ๖ คน มีรถยนต์คันหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่า รถยนต์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ยกฐานะจาก Luxury มาเป็นสิ่งจำเป็นและราคาของรถที่ถูกๆก็มีมาก แล้วยังซื้อผ่อนได้อีก น้ำมันก็ถูก และความสะดวกที่ให้กับเจ้าของรถยนต์ก็มีมาก ถนนดีๆมีไปทุกหนทุกแห่งจนกระทั่ง Village เล็กๆ การจราจรในเมืองต้องลำบากมาก เพราะเต็มไปด้วยรถยนต์ ที่จอดรถก็หายาก เวลาไปธุระหรือซื้อของในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนบางสายแล้วอย่าไปรถยนต์เลย ไปรถใต้ดินหรือรถรางสะดวกกว่า ไม่ต้องคอยมองหาที่จอดรถ นอกจากนี้ยังต้องคอยระวังกฎข้อบังคับจราจรต่างๆอีกด้วย มิฉะนั้นตำรวจจราจรก็จะเล่นงาน ตำรวจในประเทศอเมริกานี้แกดุเอาเรื่องทีเดียวถ้าเราปฏิบัติผิดกฎจราจร
        ในการที่คุณประสบจะเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ได้ตกลงจะไปลงเรือที่เมืองมอนทรี-ออล ในประเทศคานาดา และได้ชวนคุณประสาทและข้าพเจ้าให้ไปส่งให้ถึงที่โดยไปรถยนต์ของข้าพเจ้า เราจึงได้ชวนหม่อมเจ้าวรวีรากร วรวรรณ กับนายจรูญ เพียรเขียน ไปด้วยรวม ๕ คนด้วยกัน ออกเดินทางผ่านมลรัฐนิวแฮมพ์เชีย และเวอร์มอนต์แล้วก็เข้าเขตคานาดา รวมเวลาเดินทาง ๒ วันถึงมอนทรีออล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศคานาดาเมืองหนึ่ง เมืองนี้ข้าพเจ้าได้เคยไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ ๓-๔ ปีมาแล้วโดยพายเรือไป ก่อนเข้าเมืองต้องข้ามสะพานยาวข้ามแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ เราพักเที่ยวอยู่ ๒-๓ วัน คุณประสบก็ลงเรือ "ออโซเนีย" ส่วนเรา ๔ คน ก็บ่ายหน้ากลับบอสตัน
        โดยเหตุที่ในสหรัฐอเมริกาห้ามการขายเหล้าอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นจึงมีผู้คนข้ามไปเที่ยวในประเทศคานาดามากเพื่อไปกินเหล้า และเมื่อขากลับได้แอบซ่อนเร้นเอาเข้าไปได้บ้างไม่มากก็น้อยตามความสามารถของตน แต่การกระทำเช่นนั้นเป็นการเสี่ยงมากเพราะถ้าตำรวจจับได้ก็ต้องริบของกลางและอาจถูกปรับอีกด้วย เพราะเวลาข้ามเขตแดนเขาค้นดูในรถทั้งคัน อย่างไรก็ดีสำหรับพวกเราก็อดที่จะเสี่ยงกันไม่ได้ จึงตกลงกันเอาเข้ามาคนละขวดใส่ในกระเป๋าเสื้อคลุม ไม่ซ่อนในรถ เพราะนึกเสียว่า เราไม่ได้เอามาขาย เอามากินต่างหาก และเพียงขวดเดียวเท่านั้น จับได้ก็เอาไปเถอะ ถึงถูกปรับก็คงไม่มากนัก ถึงอย่างนั้นเวลาตำรวจเขามาตรวจเราก็อดใจเต้นไม่ได้ แกก็คงรู้เพราะเห็นกระเป๋าเรามันตุ่ยๆ แต่แกเห็นไม่มากมายจึงทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยไป
        เมืองมอลทรีออลนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ อยู่ใต้เมืองควีเบค ๑๘๐ ไมล์มีพลเมืองร่วมล้านคน เป็น French Canadian เป็นส่วนมาก ใกล้ๆกับเมืองนี้มีน้ำตกและมีล่องแก่งโดยเรือกลไฟขนาดใหญ่ ซึ่งเราได้ไปขึ้นเรือนั้นด้วย ระหว่างอยู่ในเรือเวลาล่องแก่งผ่านก้อนหินใหญ่ๆ และเรือก็เล่นค่อนข้างเร็วน่ากลัวชนหิน แต่กัปตันเห็นจะชำนาญมาก
        ประเทศคานาดานี้ Cabot สองคนพี่น้องเป็นผู้มาพบเมื่อ ค.ศ.๑๖๙๗ แต่พงศาวดารตั้งต้นกล่าวถึงเมื่อ ค.ศ.๑๕๓๔ เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครอง เมืองควีเบคที่ข้าพเจ้าเคยพายเรือไปเมื่อ ๓ ปีมาแล้วนั้น ได้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.๑๖๐๘ ต่อมาเมื่อ ค.ศ.๑๗๕๙ ก็ได้ยอมตกไปเป็นของอังกฤษโดยสัญญาที่ลงนามในปารีสในปีนั้น
ประเทศคานาดาเป็นประเทศที่มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โตมากถึงสามล้านเจ็ดแสนตารางไมล์ แต่จำนวนพลเมืองมีไม่ถึง ๑๖ ล้านคน เป็นป่าเขาเสียเป็นส่วนมากถ้าพูดถึงธรรมชาติแล้วเป็นประเทศที่สวยงามจริง ๆ

กลับที่เรี่มต้น

๗๐. ได้เข้าทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัย มีรูปและเรื่องราวลงหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ
อเมริกา (รูปภาพ ๑), (รูปภาพ ๒)

ปีที่ ๒ (๒๔๖๖)

       ต้นเดือนกันยายน (๒๔๖๖) อายุได้ ๑๙ ปี ๔ เดือนเศษ ก่อนมหาวิทยาลัยเปิดราว ๒-๓ อาทิตย์มหาวิทยาลัยได้ประกาศเรียก Candidates ออกเล่นฟุตบอลสำหรับ Varsity Team โดยเหตุที่ข้าพเจ้าได้เข้าเล่นเป็นคนสำคัญใน Freshman Team มาแล้วจึงมีผู้มาหนุนให้ออกเล่น Varsity และว่ามีหวังจะได้เข้าทีมได้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกขยาดๆเพราะตัวเราเล็กเหลือเกิน ขืนออกเล่นก็คงตายแน่ การเล่นอเมริกันฟุตบอลในทีมของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ของเล่นๆ ผู้ที่เคยเห็นการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันแล้วจึงจะรู้ดี ไม่ต้องถึงชั้นมหาวิทยาลัย เพียงชั้นโรงเรียนธรรมดาถ้าใจคอไม่กล้าหาญหนักแน่นก็เป็นเรื่องหนักเหมือนกัน แต่เมื่อถูกหนุนหนักๆ เข้าและนึกถึงอยากจะทำชื่อเสียงของตนและให้แก่ชาติด้วยก็เลยไปสมัครไว้ จำนวนผู้สมัครทั้งสิ้นหลายร้อยคน ล้วนรูปร่างใหญ่โตยังกับยักษ์และได้เคยเล่นเป็นดารามาจากโรงเรียนต่างๆทั้งนั้น ก่อนมหาวิทยาลัยเปิดเรียนตั้ง ๓ อาทิตย์นั้นการซ้อมตั้งแต่ ๔ โมงเช้าตลอดไปจนค่ำ อาหารกลางวันเขาจัดเลี้ยง พอมืดเข้าก็เข้า Arena มี Indoor Practice เปิดไฟสว่างจนเวลาทุ่มเศษ ถึงสองทุ่มจึงเลิก บางวันซ้ำยังมีการสอน Plays ต่างๆ บนกระดานดำอีกด้วยไปจนตั้ง ๔ ทุ่มก็เคย ซ้อมกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผู้ที่ลงชื่อสมัครต้องทำงานกันอย่างหนักมาก แล้วพวก Coaching Staff ก็ตั้งต้นตัดคนลงเป็นรายวันไปโดยวิธี ๑.สอบประวัติของผู้สมัครเล่นแต่ละคนไปว่าเคยเล่นตำแหน่งใดที่โรงเรียนใดมาแล้ว มีความชำนาญอย่างใดเคยแข่งขันกับใคร ฯลฯ ๒.ทดลองให้วิ่งเร็ว วิ่งหลบ Tackle ขว้าง เตะ รับลูกบอล และทดลองไหวพริบต่างๆ ฯลฯ ภายใน ๒-๓ อาทิตย์จำนวนผู้สมัครเล่นที่มีจำนวนหลายร้อย ก็ถูกตัดลงจนเหลือ ๓๐ คนเท่านั้น ๓๐ คนนี้เรียกว่า Varsity Squad ถ้าจะแข่งขันกับมหาวิทยาลัยใดโดยปรกติตั้ง ๓๐ คนนี้ต้องไปด้วย ข้าพเจ้าได้เหลืออยู่ในจำนวน ๓๐ คนนี้ และเป็นคนเล็กที่สุด ได้เข้าเล่นกับมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายครั้ง เช่น Dartmouth, Brown, Holy Cross, Syracuse, Army, New York University ฯลฯ ในการแข่งขันกับ Dartmouth College ที่ Hanover N.H. นั้นข้าพเจ้าได้ไปพบครูที่เป็นผู้สอนให้ข้าพเจ้าเล่นฟุตบอล คือแกเคยเป็นครูสอนกีฬาอยู่โรงเรียนกันเนอรี แกเป็นผู้สนับสนุนและเป็นผู้ที่เห็นว่าข้าพเจ้ามีความเร็ว ความกล้า อดทน และมีเชาวน์ไหวพริบ ที่จะเป็นนักฟุตบอลได้อย่างดี เมื่อแกได้ทราบว่าข้าพเจ้าได้เข้าเล่นในทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน แกดีใจมากเพราะแกถือว่าเป็นผู้ที่ได้ฝึกสอนมาแต่ต้น ฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปกับทีมพอถึงสถานีรถไฟ Hanover แกได้มาคอยต้อนรับพอข้าพเจ้าลงจากรถไฟแกก็เข้ามากอด เวลานี้แกมาเป็นครูสอนกีฬาของ Dartmouth College การแข่งขันต่างๆ มีในวันเสาร์ ส่วนวันจันทร์ถึงวันศุกร์นั้นเป็นวันซ้อม แต่ถ้าต้องเดินทางไปเล่นไกล คือต้องออกเดินทางตั้งแต่วันศุกร์วันนั้นก็งดซ้อม การซ้อมและการ Training นี้หนักมาก ทุกๆคนใน Squad ความที่ถูกซ้อมและ Training อย่างหนักมีกำลังวังชามากเท่าใดๆ ก็ไม่ค่อยเหนื่อย Muscles ทั้งตัวแข็งราวกับเหล็ก เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดการสอน การซ้อมก็เลื่อนไปตั้งต้นแต่บ่าย ๓ โมง แต่ก็ไปเลิกกลางคืนเช่นกันเพราะฉะนั้นเวลาเรียนหรือท่องหนังสือไม่ค่อยจะมี แต่ฤดูฟุตบอลสั้นมาก ตั้งต้นเดือนกันยายนไปหมดเอาปลายเดือนพฤศจิกายน ชั่วระยะเพียง ๒ เดือนเศษเท่านั้น
        การที่ข้าพเจ้าได้เข้าเล่นฟุตบอลในทีมของมหาวิทยาลัยนี้ มีผู้คนสนใจกันมากเพราะเป็นคนต่างชาติและตัวเล็กมาก หนังสือพิมพ์ในทุกเมืองทั้งสหรัฐอเมริกาได้ลงรูปและเรื่องมากมาย บางฉบับก็ตั้งให้เป็นเจ้าไทยเสียด้วย เฉพาะในบอสตันนั้นรูปและเรื่องราวของข้าพเจ้าลงแทบทุกวัน จะเดินไปไหน จะทำอะไร มีคนรู้จักแทบทั้งเมือง บางทีนั่งรับประทานอาหารในโฮเต็ลหรือโรงอาหารก็มีคนมายืนดู ไปดูละครพอเข้านั่งก็มีคนมองเป็นตาเดียวกัน ทั้งนี้รู้สึกว่าได้ทำชื่อเสียงให้คนไทยและเมืองไทย แต่ข้าพเจ้าก็ต้องฝ่าอันตรายมาก เพราะกีฬาชนิดนี้สำหรับตัวเล็กๆ อย่างข้าพเจ้าในระยะสองเดือนนั้นโดยมากถ้าไม่ตายก็คางเหลือง อันที่จริงก็นับว่าได้รับเกียรติยศอันดีสำหรับผู้ที่ได้เข้าอยู่ใน Varsity Squad เพราะจำนวนนักเรียนทั้งสิ้นหมื่นกว่าคน Squad ต้องการเพียง ๓๐ คน เท่านั้น ผู้ที่ออกมาพยายามชิงตำแหน่งเพื่อเข้าเล่นในทีมตั้งหลายร้อยคน ซึ่งแแต่ละคนก็มีชื่อเสียงและมีความชำนาญในการเล่นมาจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งนั้น เราต้องแสดงให้ปรากฏว่าเราดีกว่าเขาจริงๆ จึงจะเหลืออยู่ใน ๓๐ นี้ได้ เด็กอเมริกันทุกคนก็นิยมการเล่นกีฬากันมากเสียด้วย คือทุกๆคนอยากได้เข้าเล่นอยู่ในทีมเพื่อชื่อเสียงของตน และให้คนนับหน้าถือตา
        หนังสือพิมพ์ Alliance Affairs ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ราย ๓ เดือนของนักเรียนไทยลงข่าวข้าพเจ้าไว้ดังนี้ "It is gratifying to know that the most popular student in the Sophomore class of Boston University is our friend Pradit Sukhum. He was in the Varsity Football Team this fall, and made an excellent showing. The Transcript described him as follows. "Although scanty weight is a considerable handicap in defensive play, he is a speedy ball carrier and has a deceptive shift in his running which sends him weaving in and out and makes him extremely hard to tackle." Besides his activity in Football he is a member of the House of Representatives at college, an assistant manager of Hockey, a member of the University Musical Club, a member of class Executive Committee, Vice-President of University Cosmopolitan Club, Vice-President of Foreign Trade Club. Above all. As the Boston Transcript described, he is a good student. (เป็นที่น่ายินดีที่ทราบว่า ผู้ที่กว้างขวางที่สุดในชั้นปีที่สองในมหาวิทยาลัยบอสตัน คือเพื่อนของเรา ประดิษฐ สุขุม เขาได้เล่นอยู่ในทีมฟุตบอลทีมหนึ่งของมหาวิทยาลัยในฤดูนี้ และได้แสดงความสามารถให้เห็นว่าเล่นได้อยู่ในชั้นเยี่ยม หนังสือ-พิมพ์ "แทรนสคริปต์"* ได้กล่าวถึงเขาดังต่อไปนี้ "แม้ตัวเขาจะมีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นการเสียเปรียบเป็นอย่างมากในเมื่อเป็นฝ่ายรับ แต่เวลาเป็นฝ่ายรุกแล้วเขาเป็นผู้ที่วิ่งพาลูกบอลไปได้อย่างรวดเร็วมากและเขามีวิธีการในการวิ่งของเขา ซึ่งหลบเข้าหลบออกได้อย่างว่องไว ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจับตัวเขาได้ยากมาก" นอกจากเขาได้เล่นฟุตบอลอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของทีม "ฮอกกี้" ของมหาวิทยาลัยแสดงอยู่ในวงดนตรีของมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการบริหารงานของนักเรียนปีที่สองของมหาวิทยาลัย เป็นอุปนายกของสมาคมนักเรียนต่างชาติของมหาวิทยาลัย และเป็นอุปนายกของสมาคมการค้าขายระหว่างชาติของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์บอสตันแทรนสคริปต์ยังได้กล่าวว่าเขาเป็นนักเรียนที่ดีอีกด้วย
        หนังสือพิมพ์บางฉบับลงดังนี้ "A fine Student and as uifty a 125 Pounds Half back as ever darted and bounced on a Boston University Gridiron" etc. (เป็นนักเรียนที่ดี และเป็นฮาฟแบค ที่มีน้ำหนักเพียง ๑๒๕ ปอนด์ที่ดีจริง ซึ่งไม่เคยปรากฏดังนี้บนสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย บอสตัน) ฯลฯ
"Inspite of the fact that he was always very light in weight he made his team and glories in the tear and smash of the game. He is doing a very wonderful stunt up at B.U. and Coach Whelan only wishes he had about 40 more pounds of weight. He is a flash down the field and with a peculiar ability to change his pace weaves in and out among the men like a runaway piece of quicksilver" etc. (ถึงแม้ว่าเขาจะมีน้ำหนักเบามาก แต่ด้วยความบากบั่นและความพยายามในการเล่นเขาก็ได้เข้าอยู่ในทีมและได้รับเกียรติอย่างสูง ในทีมของมหาวิทยาลัยบอสตันนี้เขามีเล่ห์เหลี่ยมในการเล่นดีมากจนกระทั่ง Dr. Whelan ครูผู้ฝึกสอนของทีมใคร่จะให้เขามีน้ำหนักมากขึ้นอีกสัก ๔๐ ปอนด์ บนสนามแล้วเขาเป็นผู้ที่รวดเร็วมาก และมีความสามารถอย่างประหลาดในการเปลี่ยนฝีเท้า หลบเข้าหลบออกระหว่างผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งได้เหมือนกับปรอท ฯลฯ
        บางฉบับก็ลงว่า ข้าพเจ้าเวลาวิ่งแล้วหลบว่องไวเหมือนปลาไหล "as elusive as an eel"
        เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องราวของข้าพเจ้าอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์มากเพียงใดหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงว่า "One thing is certain. If Football players were scored according to the number of inches written about them in the public prints ; if they were credited with a touchdown for every column; a field goal for every picture and a goal from touchdown for the Sunday Supplement, young Pradit Sukhum would be the season's leading point maker. About every newspaper writer who deals with Football in Boston has received, during the past week or two, a request from out of town reading: "Send one thousand words about Siamese Prince on B.U. Team." Interviewers have worn a path across Volkman Field and the young man has come to consider his day's work only half done when Dr. Whelan dismisses the squad for the evening-for the literary men are yet to be encounted" etc. (เป็นที่แน่นอนว่าหากผู้เล่นฟุตบอลในประเทศอเมริกาทั้งหมดทำแต้มได้ ตามที่มีเรื่องของผู้นั้นเขียนลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ คือ ถ้าเขาได้ touchdown (นำลูกบอลฝ่ายไปถึงหลังโกล์อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งนับให้ ๖ แต้ม) สำหรับเรื่องราวที่ลงทุกคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ เตะลูกข้ามโกล์ (ได้ ๓ แต้ม) สำหรับรูปที่ลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทุกรูป และเตะลูกข้ามโกล์ภายหลัง touchdown (ได้ ๑ แต้ม) สำหรับเรื่องราวที่ลงในหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์แล้ว หนุ่มประดิษฐ สุขุม คงจะเป็นผู้ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดในฤดูการแข่งขันนี้ ในระยะหนึ่งหรือสองอาทิตย์ที่แล้วมานี้ ผู้เขียนข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเมืองบอสตันที่เกี่ยวกับฟุตบอล ได้รับคำขอร้องจากหนังสือพิมพ์จากเมืองต่างๆ ว่า "ขอให้ส่งประมาณ ๑,๐๐๐ คำเรื่องเจ้าชายไทยที่เล่นอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัยบอสตัน" ผู้ขอสัมภาษณ์จำนวนมากได้เดินตัดสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยนี้จนเป็นรอยทาง และหนุ่มผู้นี้มีความรู้สึกว่างานของเขาพึ่งเสร็จไปได้ครึ่งเดียวในเมื่อครูผู้ควบคุมทีมสั่งหยุดการซ้อมสำหรับเย็นวันนั้น เพราะยังมีพวกหนังสือพิมพ์จำนวนมากที่จะต้องให้สัมภาษณ์ต่อไปอีก) ฯลฯ
        Newspaper cuttings และรูปที่ส่งมาให้นั้นมีมากมายก่ายกองจนเก็บไม่ไหวส่งมาจากทั่วอเมริกา วิธีการของพวกหากินทางส่งรูปนี้ คือเขาจัดตั้งเป็นคล้ายๆ กับบริษัทขึ้น ดูเหมือนจะมีสาขาในทุกๆ เมืองที่มีหนังสือพิมพ์ ถ้ามีรูปหรือเรื่องราวของใครเขาก็ตัดส่งไปให้เจ้าของเรื่อง แล้วขอให้ส่งเงินไปให้เขาแห่งละหนึ่งเหรียญ ข้าพเจ้าเกือบล้มละลายเพราะต้องส่งเงินไปให้เขาแห่งละหนึ่งเหรียญ ที่เขาตัดส่งมานั้นทั้งจากเมืองใหญ่และเมืองเล็ก โดนเข้าไปหลายสิบ พวกหนังสือพิมพ์ในเมือง บอสตันที่ไปดูการซ้อมที่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยได้ลงเรื่องข้าพเจ้าเสมอ เช่นวันหนึ่งลงว่า He is small fast, scrappy and eager to learn the game" Sukhum featured in the scrimmage held" (เขาตัวเล็ก เร็ว อดทน และสนใจที่จะเรียนเกมนี้ สุขุมได้แสดงเป็นดาราในการฝึกซ้อมวันนี้)
        Line-up ของ Backfield ของทีมมีดังนี้ Quarterback "Waldo" Worcester or Sukhum, Halfbacks "Mickey" Cochrane and "Buster" Williamson Fullback "Spike" Carlson
        หนังสือพิมพ์บางฉบับลงว่า มีผู้หญิงพอใจข้าพเจ้ามากเลยเขียนรูป "การ์ตูน" เป็นรูปข้าพเจ้าแต่งตัวเล่นฟุตบอล ถือลูกบอลอยู่มือหนึ่ง อีกมือหนึ่งยกห้ามไม่ให้ผู้หญิงสัก ๗-๘ คนเข้ามาใกล้ ผู้หญิง ๗-๘ คนนั้นมีผมดำ ผมแดง ผมทอง คุกเข่าอยู่ ต่างยื่นมือขอความรัก ข้าพเจ้ายกมือห้ามและว่า "Please don't interfere" (โปรดอย่าเข้ามายุ่ง) การ์ตูนรูปนี้พิมพ์ใหญ่มาก ครึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์
        ชาวอเมริกันนี้ก็แปลกมาก ชอบบูชาผู้มีชื่อเสียง (Hero) เสียเหลือเกิน โดยปรกติแล้วผู้ที่เป็นคนต่างชาติและมีผิวดำอย่างคนไทยแล้วเขามักดูถูก และไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าเป็น Hero เข้าหน่อยก็บูชาโดยไม่ถือผิวเลย เช่นเวลาที่สมาคมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเขามีงานเต้นรำแล้วโดยมากเขามักจะเชิญข้าพเจ้า ในฐานะเป็นคนสำคัญของมหาวิทยาลัยไปด้วย พอโผล่เข้าไปในสถานที่ใดแล้วพวกผู้หญิงมักจะเข้ามาแย่งกันขอข้าพเจ้าเต้นรำ บางคราวใน Dance หนึ่งพวกผู้หญิงขอเปลี่ยนเต้นรำด้วยตั้ง ๓-๔ คน
        ข้าพเจ้ารู้จักอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อเฮเลน เป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยผู้หญิงแห่งหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนนักเรียนประมาณสองพันคน วันหนึ่งเขาโทรศัพท์มาขอให้ไปรับที่โรงเรียนเขาเวลาบ่าย ๓ โมง ข้าพเจ้าได้ไปตามนัด ครั้นแล้วเขาก็ชวนเข้าไปในตึกใหญ่ซึ่งเป็นห้องโถง เขาจูงข้าพเจ้าเข้าไปในห้องโถงนี้ ซึ่งมีนักเรียนผู้หญิงนับไม่ถ้วน ยืนอยู่สองแถว มีทางเดินเล็กนิดเดียว ข้าพเจ้าประหม่าเต็มที จึงถามเขาว่านักเรียนเหล่านี้เขามายืนทำไมกัน จะมีอะไรกันหรือ เฮเลนตอบว่า เปล่าดอก เขาได้บอกกับเพื่อนนักเรียนของเขาว่าข้าพเจ้าจะไปหาเขา นักเรียนทั้งหลายจึงมายืนรวมกันที่นี้โดยที่เขาอยากดูตัวข้าพเจ้า พอได้ยินเท่านั้นข้าพเจ้าก็ขาสั่นขึ้นมาทันทีรีบฉุดเฮเลนวิ่งหนีจากห้องโถงมาขึ้นรถ
        ในเวลาที่ฟุตบอลทีมเดินทางไปเล่นกับมหาวิทยาลัยในเมืองอื่น โดยปรกติเราเดินทางไปโดยรถไฟ มีรถของเราคันหนึ่ง พอถึงสถานีของเมืองที่เราจะลง มีคนมาคอยดูทีมของเราแน่นสถานี เพราะในเมืองนั้นๆ ลงหนังสือพิมพ์เรื่องและรูปพวกเราไว้พร้อมทั้งวิจารณ์ตัวคนเล่นเป็นคนๆ ไป ครั้นแล้วเราก็ขึ้นรถ "บัส" พิเศษไปพักที่โฮเต็ลที่หรูที่สุดในเมืองนั้น อาหารกลางวันก่อนเล่นพวกเราถูกจำกัดให้รับประทาน เช่นให้รับประทานซุบหนึ่งจาน ขนมปังทาเนยสองชิ้น เนื้อทอดขนาดปานกลาง มันบด และผักเล็กน้อย และของหวานหนึ่งจานเท่านั้นพอ เพราะเขากลัวจะวิ่งไม่ไหว เขาบอกว่าไว้รับประทานหนักเอามือเย็นภายหลังเมื่อเราชนะแล้ว
        เสร็จจากรับประทานอาหารกลางวันแล้วก็ขึ้นรถยนต์ไปยังสนาม ซึ่งมีคนดูนับหมื่นๆ แสนๆ แตรวงของมหาวิทยาลัยทั้งสองต่างก็บรรเลง Cheering Section (การโห่ร้องสนับสนุน) ก็ตั้งต้น Cheer สนั่นหวั่นไหว พวกเล่นเข้าห้องแต่งตัว ก่อนแต่งตัวพวกลูกน้องของเราก็จะนวดและบีบ Muscle ให้ทั้งตัว แล้วเราก็เข้ายูนิฟอร์ม สำหรับตัวข้าพเจ้าสั่นไปหมดทั้งตัว ในระหว่างแต่งตัวนั้นใจคอตื่นเต้นปัสสาวะหลายครั้ง แต่งตัวเสร็จแล้วหัวหน้า Coach ก็เรียกชุมนุมผู้เล่นแล้วตั้งต้นสั่งสอนถึงการที่จะเล่นวันนี้ ทั้งเตือน ทั้งดุ ทั้งเอาใจเสร็จ แล้วกัปตันของทีมก็ถือบอลวิ่งนำพวกเราลงสนาม พอเข้าสนามเสียงพวกคนดู Cheer ให้อย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสซ้อมกันเล็กน้อยราวสัก ๑๐ นาที คือมีการซ้อมเตะลูก รับลูก ขว้างลูก ใครมีหน้าที่อย่างใด ก็ต้องซ้อมเสียให้ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืดขาและให้เส้นประสาทดีขึ้นจากการประหม่า และเพื่อให้คนดูได้เห็นความสามารถของผู้เล่นในการเตะ รับและขว้างอีกด้วยสำหรับตัวข้าพเจ้ามีหน้าที่คอยรับลูก ในเวลาซ้อมนี้ใจไม่ค่อยดี เพราะคนเตะๆมาจากที่ไกลตั้ง ๕๐ หลา ลูกก็ลอยมาสูงมาก ถ้าลมแรงก็กะที่ตกของลูกยากหน่อย เพราะเราต้องวิ่งเข้าไปรับให้ได้ มองดูรอบสนามคนนั่งดูราวกับมดมีจำนวนตั้งหลายหมื่นคน ทุกคนก็มองเราด้วยความสนใจว่า เด็กไทยตัวเล็กๆคนนั้น ซึ่งกำลังวิ่งอยู่กลางสนามจะรับลูกได้หรือไม่ เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ถ้าเรารับได้เขาก็ตบมือให้ แต่ถ้าเรารับไม่ได้เขาก็ร้องเสียง "บู" กันทั้งสนาม เป็นการโห่ความเลวให้เรา แต่อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าแน่ใจเสมอว่าเราจะไม่พลาด และไม่เคยพลาดสักครั้ง สักครู่หนึ่งการแข่งขันก็ตั้งต้น การแข่งขันนี้แบ่งเป็น ๔ Quarters. Quarter ละ ๑๕ นาที คนดูสนุกสนานและ excite มากหมด ๒ Quarters หยุดพักครึ่งเวลา ๑๕ นาที พวกเล่นกลับไปพักที่ห้องแต่งตัว หัวหน้า Coach ก็ด่าพวกเราว่าผิดอะไรบ้าง คราวหนึ่งข้าพเจ้าถูกด่าอย่างเจ็บว่า เขาไม่ทราบว่าพ่อแม่ของข้าพเจ้าจะทำลูกออกมาโง่อย่างนี้ อีกคราวหนึ่งว่า คนโง่ๆอย่างข้าพเจ้ามาเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร การด่านี้เราก็ยอมฟังเพราะคนเล่นอื่น ก็ถูกด่าอย่างแรงๆ ด้วยกันทั้งนั้น
        ในการเดินทางคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินอยู่ในรถไฟมีฝรั่งคนหนึ่งเห็นข้าพเจ้าเดินมาก็ยิ้มด้วย ข้าพเจ้าก็ยิ้มตอบ และนึกในใจว่าผู้นี้เราไม่เคยรู้จักเลยทำไมแกจึงมายิ้มกับเรา แต่พอเดินผ่านที่ๆแกนั่ง ซึ่งแกกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่จึงได้เห็นรูปข้าพเจ้า โตเกือบเท่าครึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ และในหน้านั้นมีเรื่องข้าพเจ้าเกือบทั้งหน้า
การที่ข้าพเจ้าเล่นฟุตบอลให้มหาวิทยาลัยนี้ เนื่องจากเรื่องราวและรูปได้ลงทั่วไปหมดทั้งประเทศอเมริกา รวมทั้งในกรุงวอชิงตันด้วย เจ้าคุณบุรีฯ ซึ่งเป็นราชทูตอยู่ที่กรุงวอชิงตันได้มีหนังสือมาเตือนข้าพเจ้าให้ระวังตัวให้มาก เพราะเกมนี้มีอันตรายมาก ตัวเราเล็กจะตายเสียเปล่าๆ แต่ข้าพเจ้าจะหยุดกลางคันก็ไม่ได้ อย่างไรๆก็ต้องเล่นไปให้หมดฤดูเสียก่อน
        การแข่งขันฟุตบอลระหว่าง Sophomore และ Freshman Class ซึ่งเป็นงานประจำปี และถือว่าเป็นการแข่งขันที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย นักเรียนทั้งหมดจะต้องไปดูข้าพเจ้าได้เล่นให้ Sophomore Class และเป็นผู้ที่ทำให้ฝ่ายข้าพเจ้าเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งเมื่อเสร็จการแข่งขันแล้วนักเรียนจำนวนมากทั้งหญิงชายได้เข้ามาแสดงความยินดี หนังสือพิมพ์ในบอสตันลงเรื่องข้าพเจ้าไว้ดังนี้ "The Football event was the big feature of the afternoon and brought out many indications of talent from the two classes. Pradit Sukhum of the Varsity Squad played a stellar game and his many gain through line and around ends placed the Sophs in scoring distance.
        It was after success rushes up the field that the Siamese lad was finally sent over for the only touchdown etc." (การแข่งขันบอลเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของงานบ่ายวันนี้ และได้เห็นเหลี่ยมในเชิงไหวพริบหลายประการของแต่ละฝ่าย ประดิษฐ สุขุม ซึ่งเล่นอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัยได้แสดงเป็นเยี่ยมในการแข่งขันนี้ และในการบุกรุกของเขาทั้งทางในและทางนอกได้นำลูกบอลผ่านเข้าไปใกล้เส้นชัยชนะ
        ภายหลังการสำเร็จในการบุกรุกเข้าไปเป็นชั้นๆ ผลที่สุดเด็กไทยผู้นี้ก็ได้นำลูกบอลข้ามเส้นชัยชนะไปได้ ซึ่งเป็นผลสำเร็จครั้งเดียวในการแข่งขันคราวนี้ ฯลฯ)
        ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงเรื่องการเล่นกีฬาไว้มาก แต่ทั้งนี้ก็เพราะการเล่นกีฬานี้ได้ทำให้ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดัง ทำให้เพื่อนนักเรียนและคนอื่นๆ ยกย่องข้าพเจ้ามาก เป็นทางนำไปให้ข้าพเจ้าได้ดีในทางอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย เช่นได้รับเลือกตั้งเป็นอะไรต่ออะไรในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ได้ไปรู้จักกับครอบครัวอเมริกันมากมายจนได้รู้จักจิตใจของชาวอเมริกัน แต่การเล่นกีฬาทั้งหมดของข้าพเจ้านี้อยากจะบ่นมากๆ อยู่ตอนเดียวเท่านั้นคือตอนเล่นฟุตบอลอยู่ใน Varsity Squad ของมหาวิทยาลัย คือข้าพเจ้าต้องเหน็ดเหนื่อยและอดทนเหลือเกิน เพราะตัวข้าพเจ้าเล็กมาก การซ้อมทุกๆวัน ข้าพเจ้าต้องซ้อมเล่นกับทีมหนึ่งซึ่งมีตัวดาราหลายคน พวกนี้ตัวใหญ่และเล่นเก่งมาก เวลาข้าพเจ้าถือลูกวิ่งไปโดนพวกนี้ Tackle เข้าทีเดียวตัวข้าพเจ้าก็แทบจะหลุดเป็นชิ้นๆ ไปทีเดียว และเวลาที่เป็นฝ่ายรับก็ต้อง Tackle ดาราของมหาวิทยาลัยที่ถือลูกมาซึ่งเขาเล่นเก่งมาก ตัวข้าพเจ้าก็คลอนไปหมดทั้งตัว แต่ด้วยความมานะอดทนยอมสู้ตายจึงเล่นได้จนตลอดฤดู บางคราวในเวลาชุลมุนกันแล้วเราเป็นผู้ล้มอยู่ข้างล่าง ถูกพวกยักษ์เหล่านั้นทั้งทับทั้งเหยียบด้วยรองเท้าอันมีตะปู ขาของข้าพเจ้าเหวอะแลเห็นกระดูกขาว เลือดไหลโทรม แต่จะทำอย่างไรได้ต้องซ้อมไปจนกว่าเขาจะสั่งเลิก เรื่องนี้จะพูดกับผู้ที่ไม่เคยเล่นฟุตบอลอเมริกันก็คงจะไม่เข้าใจแน่ แต่ถ้าผู้ที่เคยเล่นหรือรู้จักเกมนี้เป็นอย่างดีแล้วจะเข้าใจความหมายของข้าพเจ้าโดยตลอด ในเวลาที่ซ้อมกันนี้มีหลายคราวที่หัวหน้าครูผู้สอนเกมนี้และผู้เล่นรวมทั้งดาราตัวสำคัญได้เข้ามากอดข้าพเจ้า โดยที่เห็นว่าอดทนและทำได้ดีเหลือเกิน ไม่กลัวตาย เช่นดาราตัวสำคัญวิ่งถือลูกมา ได้หลบพ้นฝ่ายข้าพเจ้ามาตลอดแล้วยังเหลือข้าพเจ้าคนเดียวมิฉะนั้นก็จะทำแต้มได้ ข้าพเจ้าก็วิ่งเข้าไปพุ่งตัวเข้า Tackle เขาล้มลงได้ ดังนี้ทุกคนสงสารข้าพเจ้าและรักข้าพเจ้ามาก เห็นว่ากล้าหาญจริง ข้าพเจ้าก็ใจไม่ค่อยดีเหมือนกัน รู้สึกเหมือนวิ่งรี่เข้าใส่รถบดถนน และบางคราวข้าพเจ้าได้ลูกก็วิ่งผ่านพวกดาราไปทำแต้มได้ก็หลายครั้งเหล่านี้แหละที่ทำให้พวกหนังสือพิมพ์ที่ไปดูการซ้อมได้เห็นความกล้าหาญ อดทน และเห็นฝีมือ จึงได้นำไปเขียนชมเชยให้อย่างดีในหนังสือพิมพ์ประจำวันแทบทุกวัน
        การฝึกสอนวิธีการเล่นอเมริกันฟุตบอลในมหาวิทยาลัย และโรงเรียนนั้นผิดกันมากทีเดียว ผิดกันคล้ายๆ กับการศึกษา คือการสอนที่โรงเรียนนั้นสอนให้เล่นอย่างธรรมดา ส่วนการสอนที่มหาวิทยาลัยนั้นสูงมาก สอนให้รู้ถึงความมุ่งหมายของเกมนี้ และสอนพิเศษไปในทางจิตวิทยาในเวลาเล่น ให้รู้และสังเกตการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งโดยตลอด ฯลฯ ผู้ฝึกสอนมีหลายคน สอนให้เล่นเป็นตำแหน่งๆ ไปทีเดียว เทคนิคของการเล่นที่มหาวิทยาลัยผิดกับโรงเรียนสามัญไกลกันมาก ข้าพเจ้ายังได้เคยคิดเสมอว่า ถ้าเมื่อเราอยู่โรงเรียนแล้วมีความรู้เรื่องฟุตบอลเท่ากับที่เราได้มาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัย เราจะเล่นได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นมาแล้วอีกมาก อีกประการหนึ่งก็คือความชำนาญ ถ้าเล่นอยู่ในทีมมาแล้วหลายๆ ปีก็ทำให้เล่นได้ดีขึ้นอีกมากทีเดียว

๗๑. เกียรติที่ได้รับปีที่สองในมหาวิทยาลัย

       นอกจากได้เข้าเล่นอเมริกันฟุตบอลในทีมหนึ่งของมหาวิทยาลัยแล้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน (House of Representatives) สำหรับปีที่สองเลือกโดยนักเรียนชั้น Sophomore ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสภานี้อีก โดยได้คะแนนสูงมาก ทั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกได้รับเกียรติยศเป็นอย่างสูง เพราะได้เป็นสองปีติดๆกัน และคนต่างชาติก็ยังมีแต่เพียงตัวข้าพเจ้าคนเดียว
        นอกจากนั้นได้รับเลือกให้เป็น Vice-President ของ Cosmopolitan Club โดยสมาชิกของสมาคมนี้อันเป็นตำแหน่งมีเกียรติ กิจการของสมาคมนี้ก็คงดำเนินอย่างปีที่แล้วมา คือมีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และมีอะไรสนุกๆ ตามประเพณีของประเทศต่างๆ โดยปรกติเดือนละครั้ง นานๆก็มีงานเต้นรำบ้าง เนื่องจากข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นอุปนายกก็มีส่วนเป็นต้นคิดว่าเราจะมีอะไรกันบ้าง สังเกตดูสมาชิกสมาคมนี้ติดอกติดใจสมาคมนี้มากกว่าสนุกสนานเบิกบานใจดี แต่พวกที่เป็นเจ้าหน้าที่ต้องวิ่งเต้นเหนื่อยหน่อย สำหรับงานของสมาคมโดยมากข้าพเจ้าต้องเป็นผู้จัดขึ้นว่าจะมีอะไรบ้าง และถ้าเป็นงานเต้นรำแล้ว โดยมากข้าพเจ้าได้จัดให้มีในห้องเต้นรำในโฮเต็ลที่หรูๆ ทั้งนี้เพื่อมิให้คนอเมริกันดูถูกคนต่างชาติ ไหนๆ เราจะมีงานทั้งทีแล้วต้องมีให้ดีที่สุดเลย ไม่อย่างนั้นอย่ามี ดีกว่า
        ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็น Vice-President ของ Foreign Trade Club ซึ่งเป็นสมาคมที่มีความมุ่งหมายไปในทางการค้า นักเรียนที่สนใจในทางนี้สมัครเป็นสมาชิกแล้วมีการเชิญบุคคลสำคัญๆ ในทางการค้ามาสนทนาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เพื่อเป็นความรู้ เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สมาชิกสมาคมนี้ส่วนมากเป็นอเมริกัน และมีจำนวนร้อยกว่าคน
        สำหรับบริหารกิจการของนักเรียนในชั้นหนึ่งๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นเขามี Class Executive Committee ซึ่งมีจำนวน ๕ คน เลือกตั้งโดยนักเรียนในชั้นนั้น ข้าพเจ้ายังได้รับเลือกโดยนักเรียน Sophomore Class ให้อยู่ในคณะกรรมการนี้ นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังได้รับเลือกให้อยู่ใน Freshman Initiation Committee ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่จะต้องวางกฎข้อบังคับและระเบียบการให้นักเรียนที่เข้า-มหาวิทยาลัยปีแรกปฏิบัติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมาเราเป็นนักเรียนเข้าใหม่ก็โดนนักเรียนชั้นสูงแกล้ง โดยมีกฎข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติร้อยแปดประการ ปีนี้เราก็แก้ตัวกับพวกเข้าใหม่ต่อไป
        ในระหว่างนี้โดยที่เป็น hero ของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้รับจดหมายโดยเฉพาะจากผู้หญิงวันละไม่ต่ำกว่า ๒๐ ฉบับทุกวัน ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก ที่รู้จักเราก็ตอบไป ส่วนที่ไม่รู้จักโดยมากแกก็เขียนชมมาบ้าง ขอรูปมาบ้าง นัดพบมาบ้าง ในเรื่องนัดพบข้าพเจ้าไม่กล้าลองเลย เพราะเวลานั้นไม่ค่อยมีเวลาว่าง และการไปพบคนไม่รู้จักและไม่เคยเห็นกันเลยเกรงไปหลายประการ เช่นเราอาจไม่พอใจเขาด้วยประการใดประการหนึ่งก็ได้ เดี๋ยวไปโดนคนไม่ดีหรือขี้ริ้วน่าเกลียดเข้า เราเป็นคน ขี้เกรงใจก็ต้องพาเข้าไปเที่ยว ถ้าหากใครเห็นเข้าเราก็อายเขา หรือไม่ทางเขาเมื่อเห็นตัวเราเข้าแล้วอาจไม่ชอบก็ได้ดังนี้ ฉะนั้น ให้รู้จักแต่ชื่อกับรูปในหนังสือพิมพ์ไว้เท่านั้นดีกว่า

๗๒. การศึกษา

       การศึกษาได้ Take Course ปีที่ ๒ ของมหาวิทยาลัย คือเรียนการบัญชีต่อจากปีที่ ๑ เพราะวิชานี้ยาวมากต้องเรียน ๒ ปีเต็มๆ การเรียนปีนี้สมมุติว่าเราเป็นสมุห์บัญชี ห้างร้านหรือบริษัท ต้องทำบัญชีให้ถูกต้องตามข้อความที่เขาตั้งมา เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการค้า ฝรั่งเศสและสแปนนิช เรียนกฎหมายพาณิชย์ และการแจ้งความ สำหรับกฎหมายพาณิชย์และการแจ้งความ อาจารย์ที่สอนชมเชยว่าทำได้ดี
        เวลาเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าออกจะซนไปสักหน่อยคือชอบนั่งแถวหลังๆ แล้วก็เล่นอะไรตลกๆ กับพวกเพื่อน แต่รู้สึกว่าอาจารย์ทุกคนรักและเอ็นดูข้าพเจ้ามาก ไม่เคยดุ พอเข้าชั้นแกจะต้องยิ้มด้วยแล้วก็กวักมือเรียกให้ไปนั่งแถวหน้าๆ เพื่อจะได้ไม่ซน ที่อาจารย์รักและเอ็นดูข้าพเจ้าก็เห็นจะเป็นด้วยเพราะเป็นนักกีฬา Popular กับนักเรียน และมี Spirit เป็นเด็กอเมริกัน
        นักเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องหางานทำเพื่อได้รายได้มาเลี้ยงชีพ และเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนนั้น ในประเทศอเมริกาไม่มีการดูถูกกันเลย เขากลับยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะศึกษาไปจนถึงที่สุด ทั้งที่ไม่มีทุน ต้องทำงานกลางคืนหรืองานพิเศษนอกเวลาเรียนเพื่อได้เงินมาจ่ายในการศึกษา ฉะนั้นในมหาวิทยาลัยต่างๆจึงมีนักเรียนประเภทนี้อยู่แห่งละไม่น้อย และอาชีพชั่วคราวของนักเรียนเหล่านี้ก็มีต่างๆกัน เช่นไปขายอินชัวรันซ์หรือขายของตามบ้าน เป็นนักสื่อข่าว หรือเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ ตลอดจนเดินโต๊ะอาหารในที่ต่างๆ ฯลฯ การอินชัวรันซ์ในประเทศอเมริกานั้นมีมากมาย คือมีบริษัทอินชัวรันซ์มาก รับอินชัวรันซ์ทุกอย่างที่เราประสงค์จะอินชัว จนถึงกับว่าการอินชัวรันซ์ บางอย่างเป็นสิ่งที่ขบขันก็มี เช่นดาราภาพยนตร์ที่มีขาสวยเขาก็อินชัวเขาว่าจะสวยอยู่อย่างนี้เป็นเวลาเท่านั้นๆ ปีด้วยราคาเงินนับแสน หรือผู้เล่นซอไวโอลินเก่ง อินชัวนิ้วมือของเขาด้วยราคาตั้งล้านเหรียญ ดังนี้เป็นต้น

๗๓. งาน "ปาร์ตี้" ที่กรุงวอชิงตัน และ "วีนัส"

       ธันวาคม (๒๔๖๖) มหาวิทยาลัยปิดเทอมคริสต์มาส ได้เดินทางลงไปเที่ยวกรุงวอชิงตันโดยรถยต์ ได้ไปพบเพื่อนเก่าๆ เช่นมากาเร็ตลูกสาวยายไก่ซึ่งเป็นสาวและสวยพอใช้ Dorothy Pattison, Allan Duffy ซึ่งเคยรู้จักมาจากที่โรงเรียน "กันเนอรี" ได้ไปเที่ยวขี่รถเล่นและไปเต้นรำกันบ้าง
        การเดินทางไกลโดยรถยนต์ในฤดูหนาวในเวลาที่มีหิมะตกเต็มไปหมดนั้น ค่อนข้างจะมีอันตรายอยู่บ้าง คือถนนหนทางลื่นมาก ยางรถยนต์เราก็ต้องหุ้มโซ่ แม้กระนั้นเวลาขึ้นเขาหรือลงเขาและต้องเลี้ยวด้วยแล้ว ท้ายรถชักจะปัดๆ ทำท่าทางจะตกเขาเอาด้วย เล่นเอาบางทีทำให้ผู้นั่งในรถใจหายไม่น้อย บางคราวเวลาที่หิมะกำลังตกจัด ลมพายุก็แรงการขับรถลำบากมาก มองไม่เห็นทางและถนนเลย ต้องค่อยๆคลานไป
        ระหว่างพักอยู่กรุงวอชิงตันนี้เพื่อนชายข้าพเจ้าคนหนึ่งชื่อเจมส์ โนแลน เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้เชิญข้าพเจ้าไป "ปาร์ตี้" เต้นรำแห่งหนึ่งสนุกสนานดีมาก ได้ไปรู้จักกับหญิงคนหนึ่งชื่อ "วีนัส" กำลังสาวรุ่น หน้าตาสวยทีเดียว พูดจาช้าๆ และมีสำเนียงอย่างชาวเมืองใต้ของเมริกา บ้านอยู่อเล็กแซนเดรีย ระยะทางราว ๗ ไมล์จากกรุงวิชิงตัน เราถูกใจกันมาก พอได้รับการแนะนำก็นั่งเกาะกันอยู่ตลอดเวลา คืนวันนั้นข้าพเจ้าได้เต้นรำกับเขาแทบทุกครั้ง เพลงแรกที่เต้นด้วยกันคือเพลง "Dirty Hands Dirty Face" ข้าพเจ้ายังจำเพลงนี้ได้ดีและถ้าได้ยินเข้าทีใดก็ต้องนึกถึงเขาทุกที ต่อจากวันนั้นเราก็ได้ติดต่อกันตลอดมา คือได้ไปมาหาสู่กัน ได้เขียนจดหมายถึงกันเป็นเวลานาน
        โดยปรกติ "ปาร์ตี้" ตามบ้านของชาวอเมริกันนี้สนุกสนานกันมาก เพราะหญิงชายเข้ากันได้อย่างสนิทสนม และชาวอเมริกันชอบสนุกจึงมีการเล่นอย่างกันเองสนุกๆหลายอย่าง ทุกๆคนที่ไป ทำหน้าที่ของเขาอย่างดี คือเมื่อเราไปสนุกแล้วก็ต้องสนุกให้เต็มที่ ใครขอร้องใครให้ทำอะไรก็ต้องทำกัน จะมามัวนั่งอายกันอยู่ไม่ได้ เวลาเต้นรำก็หรี่ไฟจนเกือบมืด แล้วเต้นรำพลางคุยกันพลาง พูดจากันหวานๆ ถึงเวลาเลิกแล้วก็ไม่อยากกลับบ้านเสียเลย

๗๔. Activities ในเทอมฤดูหนาว

       มกราคม มหาวิทยาลัยเปิดการสอน ข้าพเจ้าต้องเหน็ดเหนื่อยใน Activities หลายอย่าง คือ ๑. เล่นอยู่ในบาสเกตบอลทีม (รูปภาพ) ซึ่งมีการฝึกซ้อมและการแข่งขันอยู่เสมอ ๒. เล่นดนตรีอยู่ใน Musical club ซึ่งต้องมีการฝึกซ้อมและไปแสดงในที่ต่างๆ เสมอ ๓. ได้ถูกเลือกตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของ ฮ็อกกี้ทีมของมหาวิทยาลัย จึงต้องไปจัดการในเรื่องนี้อีกด้วย คือต้องไปประจำอยู่ที่ Boston Arena (สถานที่แข่งขันกีฬาต่างๆ เป็นอาคารใหญ่มาก สำหรับฤดูหนาวแล้วก็เป็นที่แข่งขันฮ็อกกี้บนน้ำแข็ง) ในเวลาที่ทีมเขามีการซ้อมและมีการแข่งขัน ๔. อยู่ใน Committee สำหรับจัดงาน Social ต่างๆของมหาวิทยาลัย ๕. เป็นสมาชิกสภานักเรียนของมหาวิทยาลัย ๖. เป็นอุปนายก Cosmopolitan club ๗. เป็นอุปนายก Foreign Trade Club ฯลฯ
        เกมฮ็อกกี้บนน้ำแข็งเป็นเกมที่รวดเร็วเหมือนกัน มีข้างละ ๗ คนทุกๆคนต้องเล่นสเกตน้ำแข็งเก่งมากๆ ต้องวิ่งเร็ว ต้องหยุด ต้องเลี้ยวได้ให้ดีเท่าๆ กับเท้าเปล่า การดูเกมนี้รู้สึกว่าสนุกน้อยกว่าฟุตบอลหรือบาสเกตบอล มหาวิทยาลัยมีการแข่งขันฮอกกีตลอดฤดูประมาณ ๘ เกม ซึ่งถ้าเกมใดแข่งขันในเมืองบอสตันก็ได้แข่งขันในบอสตันอารีนา และมักจะแข่งขันเวลากลางคืน มีคนซื้อตั๋วเข้ามาดูเกมหนึ่งๆ หลายพันคน
        ในมหาวิทยาลัยบอสตันนี้มีสมาคมอยู่สมาคมหนึ่งเรียกว่า Devil's Den Sporting Club
สมาคมนี้แปลกมาก มีความมุ่งหมายให้เป็นของแปลกไม่มีอย่างนี้ที่ไหนๆ กิจการของสมาคมนี้ก็เพื่อความสามัคคีเป็นส่วนใหญ่ ผู้เป็นสมาชิกต้องมีชื่อใหม่ในเวลาไปร่วมประชุมด้วยกัน ชื่อประจำตัวนั้นคล้ายๆ กับว่าพวกเราอยู่ในนรก เวลาประชุมต้องใส่หน้ากากหัวกะโหลก แล้วต้องมีกองไฟคล้ายๆ กับอยู่ในนรกจริงๆ พวกสมาชิกต้องเรียนคำพูดต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาพบปะกัน จะเห็นได้ว่าพวกนักเรียนมหาวิทยาลัยอเมริกันต้องคิดให้มีอะไรแปลกๆ เสมอ การเข้าสมาคมนี้พวกสมาชิกเก่าเป็นผู้เลือกสมาชิกใหม่ เมื่อข้าพเจ้าได้รับเชิญ เขาก็กระซิบบอกว่าให้รับเถิด สมาคมนี้สนุกและแปลกมาก ข้าพเจ้าจึงรับเชิญเป็นสมาชิก การเป็นสมาชิกสมาคมนี้เขาออกหนังสือสำคัญรับรองด้วย ทำรูปร่างคล้ายประกาศนียบัตร สีแดง มีรูปหัวกะโหลกรอบด้าน คนต่างชาติก็คงมีตัวข้าพเจ้าคนเดียวอีกที่พลัดเข้าไปอยู่ในสมาคมนี้

๗๕. แฟรนเซส

       เจมส์ โนแลน เพื่อนนักเรียนที่มหาวิทยาลัยได้แนะนำให้รู้จักกับพี่สาวของเขาชื่อ แฟรนเซส ซึ่งมาเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยในบอสตัน เป็นหญิงผมสีแดงหน้าตาน่าเอ็นดูมาก พูดจาอ่อนหวานและช้าๆ แฟรนเซสได้เช่า Apartment อยู่กับเพื่อนหญิงอีก ๒ คน แฟรนเซสกับข้าพเจ้าสนิทสนมกันมาก ได้พบปะและไปเที่ยวด้วยกันเสมอจนเพื่อนๆ แฟรนเซสนึกว่าเขาคงจะแต่งงานกับข้าพเจ้าเป็นแน่
เมษายน (๒๔๖๗) มหาวิทยาลัยปิดอีสเตอร์ ๑๐ วัน แฟรนเซสได้เชิญข้าพเจ้าไปพักที่บ้านเขาที่เมืองพิสคเดลในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบอสตันประมาณ ๘๐ ไมล์ ได้ไปพักอยู่ที่นั้น ๓-๔ วัน ได้ไปรู้จักกับบิดามารดาของเขา บ้านเขาตั้งอยู่บนเนินเขานอกเมืองออกไปหน่อย ทั้งครอบครัวเขานอกจากบิดามารดาแฟรนเซส, เจมส์ แล้วยังมีน้องสาวอีกคนหนึ่ง ทุกๆคนดีต่อข้าพเจ้ามาก หนังสือพิมพ์ในเมืองนั้นได้ลงข่าวเกรียวกราวในการมาที่เมืองนั้นของข้าพเจ้า แฟรนเซสได้พาไปเที่ยวในที่ต่างๆ รวมทั้งพาไปเต้นรำในเมืองด้วย
        การไปเต้นรำใน public Dance Hall ในสหรัฐอเมริกานั้น สำหรับคนไทยถ้าจะเข้าไปคนเดียวโดยไม่มีผู้หญิงไปด้วยแล้วเป็นไม่เหมาะอย่างยิ่ง เพราะจะหาคู่เต้นรำด้วยยากเต็มที แม้พวกผู้หญิงประจำที่จะเป็นคู่เต้นรำก็รังเกียจที่จะเต้นรำกับคนต่างผิว แต่ถ้าเรามีผู้หญิงของเราไปด้วยแล้ว เราไปกันหลายๆคนก็ค่อยยังชั่วหน่อย คือแปลว่าแม้เราจะเป็นคนต่างผิวเราก็ยังมีเพื่อนฝูงสมาคมด้วย และสำหรับคนอเมริกันนี้ก็มีดีอย่างหนึ่งคือถ้าเป็นเพื่อนรักใคร่กันกับเรามากแล้วเขาไม่ถือผิว เขาสนิทสนมเป็นกันเองดุจพี่น้องท้องเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคนอเมริกันคนอื่นมาดูถูกเราแล้ว เขาเป็นเดือดเป็นแค้นแทนให้ทีเดียว เขาจะต้องเข้าข้างเราแล้วก็ด่าพวกอเมริกันของเขาเองนั้น

๗๖. ได้รับเกียรติสูงสุดในมหาวิทยาลัยโดยได้รับเลือกเป็น Editor-in-chief หนังสือพิมพ์ของ
มหาวิทยาลัย
(รูปภาพ)

       กลางเดือนเมษายน (๒๔๖๗) มหาวิทยาลัยเปิด ข้าพเจ้าได้ถูกเลือกโดยนักเรียนให้อยู่ใน Syllabus Appointing Board เพื่อไปเรียนงานการทำหนังสือ Syllabus ซึ่งเป็นหนังสือออกประจำปี (Year Book) ของมหาวิทยาลัย หนังสือนี้เป็นหนังสือใหญ่ประมาณ ๕๐๐ หน้า มีรูปและเรื่องราวของนักเรียน ของสมาคมต่างๆ การกีฬาต่างๆ ฯลฯ คือ รวบรวมเรื่องราวทั้งปีของมหาวิทยาลัย หนังสือเช่นนี้มีความมุ่งหมายให้เป็น Memory book ที่ดีที่สุดในเวลาที่เรากำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย คือเป็นหนังสือที่ระลึกเมื่อเวลาล่วงไปแล้วหลายๆปี เอาออกมาดูก็จะได้คิดถึงชีวิตเมื่อเราเป็นนักเรียน คิดถึงเพื่อนฝูงและให้ความจำถึงความสนุกเพลิดเพลินที่เราได้รับเมื่อครั้งกระนั้น หนังสือนี้ออกปีละเพียงหนึ่งเล่มเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นปีที่ ๓ ต้องจัดทำสำหรับทั้งมหาวิทยาลัย คือเป็นหน้าที่ของพวกชั้นเราที่จะทำในปีต่อไป การไปเรียนงานนี้ได้ความรู้ในเรื่องการจัดทำหนังสือพิมพ์ดีขึ้นมาก รู้วิธีการปฏิบัติและการดำเนินการของการตรวจปรู๊ฟเข้าหน้า ฯลฯ ในชั้นเดิมข้าพเจ้าได้ไปเรียนทางแผนกจัดการ (Business) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนงานทาง Editorial
        ปลายเดือนพฤษภาคมมีการเลือกตั้ง Syllabus Staff สำหรับปีต่อไป ข้าพเจ้าได้ถูกเสนอชื่อเป็น Editor-in-chief คู่กับฝรั่งคนหนึ่ง พอโหวตกันก็ปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันพอดี ครั้นแล้วพวกสนับสนุนก็ลุกขึ้นกล่าวว่าข้าพเจ้าดีกว่าอีกคนหนึ่งอย่างไร และพวกสนับสนุนอีกข้างหนึ่งก็ลุกขึ้นกล่าวสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็โหวตกันใหม่ก็คงได้คะแนนเท่ากันอีก ทำอย่างนี้อยู่ตั้ง ๑๐ ครั้ง เสียเวลาไปหลายชั่วโมงก็ยังคงยืนอยู่ตามเดิมนั่นเอง President ของ class จึงขอเปลี่ยนวิธีการเลือก เพราะถ้าเลือกเช่นนี้ไม่มีวันแล้ว การเลือกใหม่นี้ขอให้เป็นวิธีให้คะแนน คะแนนเต็มให้ ๕ คะแนน และให้ตั้งหัวข้อขึ้น ๑๒ ข้อ เช่น 1. Experience 2. Character 3. Fitness 4. Personality 5. General knowledge 6. Initiative 7. Popularity etc. (๑. ความชำนิชำนาญ ๒. นิสัยใจคอ ๓. ความเหมาะสม ๔. บุคลิกลักษณะ ๕. ความรู้รอบตัว ๖. ความริเริ่ม ๗. ความกว้างขวาง ฯลฯ) เมื่อเปลี่ยนเป็นวิธีนี้แล้ว ในการคัดเลือกปรากฏว่าข้าพเจ้าได้คะแนนสูงกว่าฝรั่งคู่แข่งขันนั้นถึง ๓๐๐ คะแนนเศษ เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็น Editor-in-Chief of the Syllabus อันเป็นเกียรติสูงสุดตำแหน่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย และยิ่งมาได้กับคนต่างชาติและต่างผิว ทำให้ประชาชนแปลกใจกันมาก เพราะที่แล้วๆมาไม่เคยปรากฏว่ามีชาวต่างชาติได้รับตำแหน่งนี้ รุ่งขึ้นเช้าหนังสือพิมพ์ในบอสตันก็ลงรูปและเรื่องราวข้าพเจ้าแทบทุกฉบับ ทำให้คนไทยมีชื่อเสียงขึ้นอีก ส่วนนักเรียนและเพื่อนฝูงต่างก็มาแสดงความยินดีกันโดยตลอด
        หนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวดังนี้ "Honours aplenty have been the lot of one student from a foreign land, who has come to study at Boston University, College of Business Administration. Pradit Sukhum of Bangkok, Siam, a sophomore at the college, has since his entrance two years ago, been a strong candidate for the quarterback's position on the Varsity football team, has held the office of Vice-President of the University Cosmopolitan Club, is a member of the House of Representatives, student governing body at the college of Business Administration and it was announced yesterday, has just been made editor-in-chief of the 1926 "Syllabus" a year book published by the junior class" "(เกียรติยศอันยิ่งใหญ่ได้ตกแก่นักเรียนต่างชาติผู้หนึ่ง ซึ่งได้มาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยบอสตัน แผนก Business Administration ประดิษฐ สุขุม แห่งกรุงเทพฯ ประเทศสยาม นักเรียนปีที่สองในมหาวิทยาลัย ซึ่งจำเดิมแต่เข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ ๒ ปีที่แล้วมา ได้เป็นตัวนำสำหรับตำแหน่ง Quarter back ในทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เป็นอุปนายกของสมาคม นักเรียนต่างชาติแห่งมหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียนซึ่งเป็นองค์การปกครองนักเรียนของมหาวิทยาลัย และได้ประกาศเมื่อวานนี้อีกว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือ "1926 Syllabus ซึ่งเป็นหนังสือออกประจำปี จัดพิมพ์ขึ้นโดยนักเรียนปีที่ ๓)"
        อีกฉบับหนึ่งว่า "Pradit Sukhum of Bangkok who achieved renown and yards of "Copy" when he became a member of the Boston University football squad last September, again is "justled into the limelight" through his election as editor-in-chief of the Syllabus, the junior year book of the Boston University, College of Business Administration." "(ประดิษฐ สุขุม แห่งกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้กล่าวขวัญถึงอย่างมากมาย เมื่อเขาได้เล่นฟุตบอลอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัยบอสตันเมื่อเดือนกันยายนที่แล้วมา มาบัดนี้ "เขาได้มีชื่อรุ่งโรจน์ขึ้นมาอีก" โดยได้รับเลือกตั้งเป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือ "The Syllabus" เป็นหนังสือออกประจำปีของนักเรียนชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยบอสตัน แผนก Business Administration.")
        ตอนนี้มาคิดๆก็แปลกอีก มหาวิทยาลัยนี้มีจำนวนนักเรียนมากมายก่ายกองตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศสูงสุดในมหาวิทยาลัยตำแหน่งหนึ่ง ทำไมนักเรียนจึงมาเลือกให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างผิวรับตำแหน่ง เพราะโดยปรกติแล้วแม้ว่าคนต่างชาติต่างผิวที่เป็นคนเก่งในทางภาษา หรือเป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงก็จะไม่ได้รับตำแหน่งเช่นี้ เพราะคนอเมริกันที่เก่งก็มีเยอะแยะไป ทำไมเขาจึงมาเลือกตั้งคนต่างชาติ ยิ่งสำหรับตัวข้าพเจ้าแล้วไม่เคยเขียน Article ลงหนังสือพิมพ์เลยแม้แต่นิ้วเดียว ลองคิดเปรียบเทียบดูว่าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยของเรามีนักเรียนเพียงพันคน ถ้ามีคนต่างชาติมาเป็นนักเรียน แม้จะเก่งในภาษาไทยและเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง จะได้รับเลือกเป็นบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ คงจะไม่ได้แน่ๆ ข้าพเจ้าฉงนในข้อที่ข้าพเจ้าได้รับเลือกเข้ารับตำแหน่งนี้ตลอดมาจนบัดนี้ เมื่อมาย้อนคิดดูอีกที่ว่าเมื่ออยู่โรงเรียน "กันเนอรี" ก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ขณะนั้นก็คิดไปเสียว่าเป็นโรงเรียนขนาดย่อมเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็คงจะไม่เด่นขึ้นมาได้ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่มากและเราเป็นคนต่างชาติต่างผิว ฉะนั้นเมื่อเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้อีกในมหาวิทยาลัยเช่นนี้ก็เห็นจะไม่มีอะไรกล่าวได้นอกจากจะบอกว่า ชะตาและความเป็นไปของข้าพเจ้าเป็นที่ถูกใจชาวอเมริกันเท่านั้น
        เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้ take part ในทุกๆทางในมหาวิทยาลัย คือ ๑. ในทางกีฬาได้เข้าเล่นในทีมฟุตบอลและบาสเกตบอล ๒. ในทางดนตรีได้เข้าเล่นใน Musical Club ๓. ในทางปกครองนักเรียน ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียนและเป็นกรรมการบริหารงานของชั้น ๔. ในทางสังคมได้เป็นอุปนายกของ Cosmopolitan Club และ Foreign Trade Club ๕. ในทางหนังสือพิมพ์ได้เป็น Editor-in Chief ของ 'The Syllabus" Boston University Year Book

๗๗. ละครของมหาวิทยาลัยและวงดนตรีเต้นรำ

       ในปลายเดือนพฤษภาคม (๒๔๖๗) นี้ มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีละครประจำปีเป็น Musical Comedy เรื่อง Bounding Billows มีนักเรียนเข้าร่วมแสดงมาก ผู้ที่เป็น Chorus ทั้งหญิงชายซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเป็นนักเรียนทั้งนั้น มีวงดนตรีเต้นรำของนักเรียนแสดงบนเวที และแสดงได้ดีมาก ผู้ที่แสดงเป็นนางเอกในเรื่องละครคือนักเรียนหญิงผู้หนึ่งชื่อ Muriel Archung มีเชื้อจีนอยู่ ๑/๔ สวย รูปร่างดี เต้นรำเก่ง และร้องเพลงเสียงดี มีนักเรียนติดกันมาก ภายหลังการแสดงละครได้มีเต้นรำต่อไปอีกด้วย
        ในระหว่างนี้ข้าพเจ้าสนใจในวงดนตรีเต้นรำเป็นอันมาก เมื่อเล่น Tenor Banjo จนเข้าวงเต้นรำได้แล้วจึงได้ตั้งต้นหัดเล่นเครื่องดนตรีอื่นต่อไปอีก คือได้ซื้อ Tenor Saxophone มาลองหัดจนเล่นเข้าวงได้ ได้ซื้อแผ่นเสียงมาฟังวิธีเล่นของวงที่มีชื่อเสียงต่างๆ ซึ่งแต่ละวงเขาก็มี style ของเขา นอกจากนั้นพอวงมีชื่อเสียงมาเล่นในเมืองที่ข้าพเจ้าอยู่แล้วเป็นต้องไปฟังให้ได้ แม้จะต้องเสียเงินค่าผ่านประตูค่อนข้างแพง ได้เคยฟังวงดีๆ หลายวง เช่นวงของ Paul Whiteman, วงของ Isham Jones ฯลฯ ฟังพวกนี้เล่นแล้วเราไม่อยากหัดเล่นอะไรต่อไป อยากเก็บเครื่องดนตรีเข้าหีบเพราะมันเก่งจนกระทั่งทำให้เราท้อถอย วงดนตรีเช่นนี้มีคนเล่นประมาณ ๑๒ ถึง ๑๖ คน แบ่งออกเป็น Sections ดังนี้ 1. Rhythm Section มี Piano, Drum, Banjo, Bass 2. Saxophone Section มี Alto Sax ๒ อัน คือเสียง ๑ และ ๓ Tenor Sax ๒ อันคือเสียง ๒ และ ๔ ส่วน Baritone Sax, Soprano Sax และ Bass Sax รวมทั้ง Clarinets เขาใช้เป็นเครื่องประกอบ คือในเพลงบางเพลงในบางตอนก็ใช้เครื่องมือประกอบนี้ 3. Brass Section ได้แก่ Trumpets ๓ อัน เสียง ๑,๒ และ ๓ และ Slide Trombone อีก ๓ อันสำหรับ ๓ เสียง 4. สำหรับ Violin Section มีเฉพาะบางวงมี ๓-๔ คน
        สำหรับผู้เล่นในวงมีชื่อเสียงเหล่านี้มีรายได้กันคนละมากๆ นอกจากเงินเดือนประจำตัวแล้วยังได้ส่วนแบ่งจากค่าผ่านประตู และจากค่าขายแผ่นเสียงได้อีกเดือนหนึ่งๆ ตกหลายพันบาท แต่ผู้เล่นเหล่านี้ต้องเก่งถึงขนาด เพราะดนตรีเต้นรำนี่สำคัญอยู่ที่คนเล่นคือต้องเล่นกลเม็ดพิเศษเดินนอกทำนองเพลงได้ ไม่ใช่ดูแต่โน้ตที่เขาเขียนมาให้ การทำเช่นนี้ต้องเก่งจริง วงใดหัวหน้าวงเก่งทางเครื่องมืออะไรแล้ววงนั้นก็มักจะมีการแสดงเดี่ยวในเครื่องมือนั้นโดยหัวหน้าวงเสมอ

๗๘. การประชุมนักเรียนไทย และ ฤดูร้อน ๒๔๖๗

       เดือนมิถุนายน (๒๔๖๗) อายุได้ ๒๐ ปีกับหนึ่งเดือนเศษ มหาวิทยาลัยปิดหน้าร้อน นักเรียนไทยได้มีการประชุมกันที่ Williston Academy เมืองอีสตแฮมพ์ตัน มลรัฐแมซซาชูเซตส์ อยู่ด้วยกัน ๑๐ วัน ข้าพเจ้าได้ไปในการประชุมนี้ด้วย มีนักเรียนไทยไปทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ คนรวมทั้งนักเรียนหญิง ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นอุปนายกของสมาคมนักเรียนไทย และในการคัดเลือกระหว่างนักเรียนไทยว่าใครเป็นอย่างใดนั้น ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็นที่หนึ่งคือ 1. Most Popular 2. Best Athlete 3. Best Dancer (๑. กว้างขวางที่สุด ๒. เล่นกีฬาเก่งที่สุด ๓. เต้นรำดีที่สุด) และเป็นที่สองคือ 1. Done most for Alliance 2. Best all-round man (ทำประโยชน์ให้แก่สมาคมนักเรียนไทยมากที่สุด ๒. รอบตัวดีที่สุด)
        การประชุมนักเรียนประจำปีเช่นนี้อันที่จริงดีมากทีเดียว คือได้มีโอกาสให้นักเรียนไทยทุกคนมาร่วมสามัคคีกัน มาสนิทสนมกัน มาสนุกด้วยกัน ใครถนัดอะไรก็ได้มาแสดงให้ดูกันด้วย รู้สึกว่าทุกๆคนพอใจ พวกถูกๆ คอกันมักจะคุยกันตลอดรุ่งก็มี เสร็จจากการประชุมแล้วข้าพเจ้าได้กลับไปพักที่บอสตัน
        สำหรับหนังสือพิมพ์ Alliance Affairs ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ราย ๓ เดือนของนักเรียนไทยนั้น ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็น Business Manager ตลอดมา คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ มีหน้าที่จัดการเรื่องพิมพ์ เก็บเงินจากสมาชิก ส่งหนังสือให้สมาชิก ฯลฯ
        ตลอดหน้าร้อนนี้โดยมากอยู่บอสตันในเดือนกรกฎาคมได้เดินทางไปกรุงวอชิงตันครั้งหนึ่งโดยรถยนต์ ไปพักอยู่หลายอาทิตย์ ได้พบและเที่ยวกับเพื่อนเก่าๆ รวมทั้งได้พบคุณไสว ซึ่งเขาไปพักอยู่กับพระสันธิฯ ผู้ดูแลนักเรียน
        ระยะทางระหว่างบอสตันกับกรุงวอชิงตันนั้นประมาณ ๕๐๐ ไมล์ ต้องผ่านกรุงนิวยอร์ค ซึ่งอยู่ครึ่งทางพอดี เวลาเราถึงกรุงนิวยอร์คเรามักจะไปรับประทานอาหารแขก คือได้รับประทานแกงกะหรี่อร่อยมาก เรื่องอาหารแขกนี้เกือบจะเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในบรรดาผู้ที่เดินทางมาในรถคือทุกๆ คนก็อยากจะรับประทานอาหารแขก แต่การเดินทางของเราบางแห่งก็ติด traffic คือรถยนต์มันมากมายเสียเหลือเกิน เมื่อติดรถดังนี้แล้วกว่าเราจะเข้าชานเมืองนิวยอร์คก็ช้าไปหลาย ชั่วโมง ความหิวโหยก็เกิดขึ้นเป็นเวลานานก่อนเข้าชานเมือง แต่ต่างก็ไม่อยากหยุดรถรับประทานอะไรรองท้องเพราะเกรงจะอิ่มไป จะรับประทานอาหารแขกไม่ได้เต็มที่ เมื่อผิดเวลารับประทานไปตั้งหลายชั่วโมง ทุกๆคนก็เกิดโมโหหิว ในเวลาที่รถวิ่งนั้นทุกคนนั่งนิ่งกันไปหมด ไม่มีใครพูดอะไรเลย ถ้าใครเอ่ยอะไรขึ้นมาสักคำหนึ่งคนอื่นๆ ก็หมั่นไส้และอยากชกปาก บางคนถึงกับร้องตะโกนออกมาดังๆ ว่าให้หยุดพูด ข้าพเจ้าพึ่งจะรู้รสของการโมโหหิวคราวนี้เอง
        เดือนสิงหาคม เบตตี แกมเมจ ซึ่งเป็นพี่สาวของเนลสัน แกมเมจเพื่อนนักเรียนข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัย ได้เชิญข้าพเจ้าขึ้นไปพักที่บ้านเขา ซึ่งอยู่ริมทะเลในมลรัฐเมนอยู่เหนือบอสตันราว ๒๐๐ ไมล์ เราได้ไปด้วยกัน ๕ คน คือเบตตี, คลารา (พี่สาวเบตตี), เนลสัน (น้องชาย), แฟรนเซส, และตัวข้าพเจ้า ได้ไปพักอยู่ ๓-๔ วัน ได้ไปเที่ยวเรือยนต์ไปตามเกาะเล็กต่างๆ ไปเผาหอยและทำอาหารรับประทานสนุกมาก กลางคืนเราก็ไปเต้นรำชายทะเลเพลิดเพลินดี บิดามารดาของเบตตีเขาดีต่อข้าพเจ้ามาก
        เดือนกันยายน ได้ลงไปกรุงวอชิงตันโดยรถยนต์อีกครั้งหนึ่ง อยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ก็กลับบอสตัน

กลับที่เรี่มต้น

๗๙. ปีที่สามในมหาวิทยาลัย

ปีที่ ๓ (๒๔๖๗)

       กลางเดือนกันยายน (๒๔๖๗) มหาวิทยาลัยเปิด ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็น President ของ Cosmoplitan Club ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนนักเรียนอีก เป็นปีที่ ๓ ติดๆกัน และก็ยังเป็นนักเรียนต่างชาติคนเดียวในสภานี้ นอกจากนั้นยังรับตำแหน่งอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยอีกหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่สำคัญและที่ข้าพเจ้าต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยอดหลับอดนอนมากก็คือตำแหน่ง Editor-in-Chief ของ The Syllabus จนไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวหรือเรียนหนังสือได้เต็มที่ สำหรับฟุตบอลนั้น เจ้าคุณบุรีห้ามไม่ให้เล่น ท่านกลัวจะตายเสียก่อนได้กลับประเทศไทย ถึงแม้ท่านไม่ห้ามข้าพเจ้าก็คิดว่า สู้ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะมันเจ็บและชอกช้ำไปหมดทั้งตัว เอาชีวิตเราไว้ดีกว่า ชื่อเสียงก็ได้ทำไว้มากแล้ว
        Office ของ Syllabus Staff ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้ามีห้องพิเศษ และมีเลขานุการินีหนึ่งคนชื่อ Marie Barry เป็นนักเรียนชั้นเดียวกัน พวก Staff ใครว่างจากการเรียนก็ต้องมาทำงานในสำนักงาน และคอยฟังคำสั่งข้าพเจ้าว่าจะให้เขาทำอะไรบ้าง ทางฝ่าย Editorial Department (ฝ่ายเขียน) มี Managing Editor 1, Literary Editor 1, Associate Editors 3, พวก Section Editors มี Photograph, Organization, Art, Fraternities, Sports, Faculty, Snapshots, Classes, Publications, Grinds. ทางฝ่าย Business-Department (ฝ่ายธุรการ) มี Business Manager, Circulation Manager, Advertising Manager และ Publicity Manager ทั้งสิ้นอยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้า

๘๐. ทูลกระหม่อมประชาธิปกและพระชายา

       ตุลาคม ได้รับโทรเลขจากเจ้าคุณบุรี ซึ่งเป็นราชทูตอยู่ที่กรุงวอชิงตันว่า ทูลกระหม่อมเอียดน้อยประชาธิปก (สมเด็จพระปกเกล้าฯ) พร้อมด้วยพระชายา (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี) จะเสด็จมาเมืองบอสตัน ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการรับเสด็จเมื่อท่านเสด็จมาถึงโดยรถไฟ ข้าพเจ้าไปคอยต้อนรับที่สถานีแล้วได้พาท่านไปพักที่ Hotel Copley Plaza ซึ่งเป็นโฮเต็ลที่หรูที่สุดในเมืองนี้ ข้าพเจ้านัดนักเรียนไทยทั้งหลายไปเฝ้าสำหรับข้าพเจ้าเองได้รับใช้ท่านตลอดเวลา คือตั้งแต่เช้าจนดึกทุกวัน เป็นผู้พาท่านไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ พาไปหานายแพทย์ Specialist ในโรคต่างๆ เพราะท่านมีโรคประจำพระองค์หลายอย่าง ระหว่างอยู่กับนายแพทย์บางครั้งนานๆ ข้าพเจ้าก็ต้องนั่งคุยอยู่กับท่านหญิงพระชายาของท่าน คืนหนึ่งได้ไปดูละคร Musical Comedy เรื่อง Little Jesse James ด้วยกัน ละครเรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยดูมาแล้วครั้งหนึ่งชอบมาก จึงได้แนะนำและพาท่านไปทอดพระเนตร คือ เนื้อเรื่องสนุกดี มีการเข้าใจผิดกันอย่างขบขันและมีเพลงเพราะๆ หลายเพลง แต่ที่มีคนชอบมากก็คือ I Love you ทำนองก็เพราะ และคำก็ดี นอกจากดูละครและชมสถานที่ต่างๆ ในเมืองบอสตันนี้แล้ว ยังได้พาท่านไปเที่ยว "รีเวีย บีช" ซึ่งเป็นที่ Amusement ใหญ่และสำคัญอีกด้วย ห่างจากบอสตันราว ๑๒ ไมล์ การไปที่นี้จำได้ว่ารถไปติด Traffic คือรถยนต์ไปกันมากเหลือเกิน ต้องค่อยคลานไป เสียเวลาตั้งหลายชั่วโมง
        อีกคราวหนึ่งได้พาท่านไปดู Harvard Stadium (สนามอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) บังเอิญทีมมหาวิทยาลัยนั้นเขากำลังซ้อมลับอยู่ (Secret Practice) เมื่อเขาเห็นข้าพเจ้าซึ่งเคยเล่นอยู่ในทีมของมหาวิทยาลัยบอสตันโผล่เข้ามา เขาก็เลยมาขอร้อง ขอให้ออกไปก่อน ข้าพเจ้าก็เลยต้องขอโทษไม่ทราบว่าเขากำลังซ้อมอยู่ เพราะเรื่องเช่นนี้เรารู้ดีอยู่แล้วว่า เขาต้องการปิดบังมาก การเล่นอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นต้องเปลี่ยนวิธีเล่นทุกอาทิตย์ เพราะในเวลาแข่งขันในคราวที่แล้วมาก็มีพวก Scout ของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าแข่งขันด้วยในคราวต่อๆไปมาดูว่ามหาวิทยาลัยนี้มีวิธีเล่นอะไรบ้าง ใครเก่งอย่างไรบ้าง เพื่อเขาได้คิดแก้ไขมิให้ทำอะไรได้สะดวก
        การรับใช้ของข้าพเจ้าเป็นที่พอพระทัยทูลกระหม่อมประชาธิปกมาก นอกจากที่จะชมตัวข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวแล้วยังได้ชมเชยว่านักเรียนไทยที่มาศึกษาในอเมริกานั้นดีต่างๆนานา คือทำอะไรทำได้ไม่ถือเนื้อถือตัว และคล่องแคล่ว เมื่อเวลาที่ท่านจะเสด็จขึ้นรถไฟจากบอสตันภายหลังที่ได้มาพักอยู่ประมาณ ๗ วัน ท่านได้กอดข้าพเจ้า ขอบอกขอบใจมากว่าคล่องแคล่วดี แล้วรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษว่า "Very useful man"

๘๑. งานโรงเรียนคุณไสว

       ในระหว่างนี้ข้าพเจ้าได้คุ้นเคยชอบพอกับคุณไสวมาก ถึงวันอาทิตย์เย็นๆ ข้าพเจ้าได้ขับรถไปที่ใกล้ๆ โรงเรียนวอลแซม ได้มีโอกาสพบคุยกัน บางวันเวลาโรงเรียนหยุดก็ได้เชิญไปขึ้นรถเล่นเสมอ จนครั้งหนึ่งถูกตำรวจจับจะเอาไปโรงพัก ข้าพเจ้าต้องไปอ้อนวอนตำรวจอยู่นาน แสดงว่าเราทั้งคู่เป็นจีน คุณไสวนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พึ่งมาจากเมืองจีน ลงท้ายตำรวจก็ปล่อยให้ไป
        ในเวลาที่โรงเรียนคุณไสวมีงานเต้นรำ ก็ได้เชิญข้าพเจ้าไป รู้สึกดีใจและสนุกสนานมาก เป็นธรรมเนียมของโรงเรียนอเมริกันว่าในปีหนึ่งจะต้องมีงานเต้นรำอย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง ในงานเต้นรำนี้นักเรียนแต่ละคนก็เชิญ "เพื่อนผู้ชาย" หรือ "คนชอบพอ" ของเขามาสนุกสนานได้หนึ่งคน และแนะนำให้รู้จักเพื่อนๆของเขา ผู้ที่ได้รับเชิญนั้นมีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็น "คู่รัก" หรือ "คนชอบพอ" หรือ "เพื่อนผู้ชาย" และอีกประเภทหนึ่งก็คือนักเรียนบางคนยังไม่มี "คู่รัก" หรือมีแต่ติดขัดมาไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ก็ขอให้ "คู่รัก" ของคนอื่นพาเพื่อนมาด้วย เพื่อมาเป็น partner ของเพื่อนของตน คุณไสวได้โทรศัพท์บอกข้าพเจ้าว่าให้พาเพื่อนไปคนหนึ่งสำหรับเพื่อนของเธอ ข้าพเจ้าจึงได้ชวนพระเอกของมหาวิทยาลัยไป หนุ่มหน้าตาสวย และเป็นคนสำคัญในมหาวิทยาลัย คือเป็นเหรัญญิกของ Senior Class และเป็น manager ของฟุตบอลทีมของมหาวิทยาลัย เราได้ไปสนุกสนานกันมาก คืนวันนั้นคุณไสวแต่งตัวสีฟ้าซึ่งเป็นสีที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด บนผมก็ปักพวงดอกไม้สีฟ้า
        ในเวลาที่มหาวิทยาลัยข้าพเจ้ามีงานเต้นรำ ข้าพเจ้าก็ได้เชิญคุณไสวมา แต่การเชิญคุณไสวมานี้ค่อนข้างลำบากเพราะต้องมี Chaperone เป็นครูมาด้วย แต่เคราะห์ดีที่มีแม่ครูสาวและหน้าตาดีคนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปอ้อนวอนเพื่อนผู้ชายซึ่งเป็นเพื่อนรักกันมากของข้าพเจ้าขอให้เขามาด้วย เพื่อเป็น Partner ของครู Chaperone ในชั้นแรกเพื่อนคนนี้ก็ชักไม่สบายใจเพราะรู้ว่าเป็นครูคงจะแก่แล้วและคงไม่สวย แต่เสียข้าพเจ้าไม่ได้จึงรับที่จะไปด้วย แต่เขาบอกว่า I'm doing it just for you แต่เมื่อได้พบตัวและแนะนำให้รู้จักแล้วก็ดูเขาพอใจและสนุกสนานมาก เห็นเขาเต้นรำด้วยกันตลอดเวลา สำหรับคุณไสวนั้นรู้สึกว่าพวกเพื่อนนักเรียนมหาวิทยาลัยของข้าพเจ้าทึ่งกันมาก ชมว่าน่าเอ็นดู

๘๒. Siam Night

       ธันวาคม (๒๔๖๗) สมาคมนักเรียนไทยได้จัดให้มีงานขึ้น เรียกว่า "Siam Night" มีที่ Bates Hall ในบอสตัน เชิญแขกประมาณ ๒๐๐ เศษ งานนี้เราได้จัดให้มีภาพยนตร์เมืองไทย (เช่าเขามา) มี Speech เรื่องเมืองไทย และมีละครเรื่อง "ล่ามดี" เสร็จแล้วมีเต้นรำ
        ละครเรื่อง "ล่ามดี" นั้น ข้าพเจ้าได้ถูกเลือกให้แสดงเป็นพระเอกเป็นตัวริชาร์ดดิคสัน ไสวเป็นนางเอก เบตตี สมิท บุญเชยเป็นพ่อนางเอก คุณประสาทเป็นล่ามสุดจิตต์เป็นเจ๊กบ๋อย เชิดเป็นเสมียนโฮเต็ล หลงเป็นนายตำรวจ อันที่จริงข้าพเจ้าไม่เคยเป็นนักเล่นละครเลย ตามที่เคยแสดงมาแล้วแม้แต่จะมีบทเพียงแต่น้อยๆ ก็รู้สึกประหม่าแต่โดยเฉพาะคราวนี้มิได้ประหม่าสะทกสะท้านเลย ออกมาบนเวทีก็เหมือนกับอยู่ในห้องในบ้านตามธรรมดา เห็นจะเป็นด้วยได้นางเอกดี งานวันนี้ได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดียิ่งทุกคนที่ไปได้สนุกสนานกันมาก ข้าพเจ้าได้เชิญบรรดาครู อาจารย์และเพื่อนๆ ทั้งหญิงชายในมหาวิทยาลัยไปหลายคนรวมทั้ง Muriel Archung ผู้ที่เล่นเป็นนางเอกของละครของมหาวิทยาลัยไปด้วย ได้เต้นรำกับเขาเป็นครั้งแรก และพึ่งจะรู้สึกสนิทสนมกันวันนี้ได้นัดพบกับเขาเพื่อไปเที่ยวด้วยกันในโอกาสต่อไป เขาก็ตอบรับอย่างยินดี

๘๓. เรื่องเบ็ดเตล็ด

       ในระหว่างฤดูหนาวนี้มีเรื่องแปลกๆ อยู่ ๒-๓ เรื่อง เช่นข้าพเจ้าเดินไปในปาร์กมีผู้หญิงสาวคนหนึ่งมาทักโดยเรียกชื่ออย่างถูกต้อง ครั้นข้าพเจ้าถามว่าทำไมจึงรู้จักชื่อเขาก็บอกว่าใครๆ ก็รู้จักท่านทั้งนั้น ก็รูปท่านลงหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน แล้วเขาก็ชวนข้าพเจ้าไปบ้าน เขาหยิบเหล้าออกมาเลี้ยง (ซึ่งเป็นเวลาที่ทั้งประเทศอเมริกาห้ามดื่มสุรา) ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวมากเพราะในประเทศอเมริกามีการ Blackmail กันมาก กลัวจะถูกต้ม แต่ก็เคราะห์ดีไม่มีอะไรเกิดขึ้น รู้สึกว่าเขาเป็นผู้หญิงที่ซื่อๆ เขาเล่าว่าเขามีเพื่อนผู้ชายเหมือนกัน แต่บางเวลาเขารู้สึกเหงามาก เขาอยากได้ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนเขาด้วย แล้วเขาก็นัดพบข้าพเจ้าในโอกาสต่อๆมาอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่งวันหนึ่งข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงผู้หญิงถามว่าจำเขาได้ไหม เขาเคยอยู่บ้านใกล้ๆ ข้าพเจ้า แล้วเขาก็บอกลักษณะและว่าเคยสวนกับข้าพเจ้าตอนไหน เวลาใดบ้าง ข้าพเจ้าก็จำไม่ค่อยได้ แล้วเขาก็นัดให้ไปหาข้าพเจ้าสองจิตสองใจ แต่ในที่สุดก็คิดว่าลองดูสักที ดูทีหรือจะเป็นอย่างใด จึงได้ไปพบกับเขาตามที่นัดหมาย เมื่อพบกันแล้วก็ไปขี่รถเล่นด้วยกัน เขาก็เล่าว่าเขาแต่งงานแล้วและหย่ากันแล้ว มีบุตรคนหนึ่งไปฝากเขาเลี้ยงไว้ เขาเหงามากอยากไปเที่ยวด้วย อยากได้ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนของเขา นี่แหละแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงอเมริกันนี้ฟรีและกล้ามาก แล้วแต่ละคนโดยมากพูดจาอ่อนหวานน่าเอ็นดูเสียด้วย
        ขอกล่าวถึงเรื่องสุรา ในประเทศอเมริกาได้ห้ามการขายสุรามาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๑๘ ฉะนั้น ผู้คนในอเมริกาที่ติดสุราก็ค่อนข้างจะเดือดร้อน เพราะหาซื้อไม่ได้มีแต่สุราเถื่อนซึ่งดีหรือไม่ดีก็ไม่ทราบ ดื่มเข้าไปแล้วอาจเป็นพิษถึงตายก็ได้ และราคาก็แพงลิบทีเดียวและก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ถ้าเขาห้ามสิ่งใด แล้วก็ทำให้อยากในสิ่งนั้น การห้ามขายสุรานี้จึงทำให้เด็กนักเรียน เด็กมหาวิทยาลัยทั้งหญิงและชายชอบดื่มเห็นเป็นของโก้เก๋ โดยมากมีเหล้าติดกระเป๋ากันทั้งนั้น แม้ไม่มีเหล้าแท้ก็ไปเที่ยวหาแอลกอฮอล์เปล่าๆ แล้วผสมกับน้ำส้มหรือน้ำองุ่นก็เอาดี มีคนเคยเล่าเปรียบเทียบกันว่าสมัยก่อนห้ามขายเหล้าชายใดต้องการรู้จักหญิงให้เอาผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำมันเบนซิน แล้วเดินผ่านผู้หญิงที่อยาก รู้จักแสดงให้ทราบว่าฉันมีรถยนต์ยากไปเที่ยวกันไหม ? แต่มาสมัยการห้ามขายเหล้าพวกมีรถยนต์ตกต่ำไป ชายต้องเอาผ้าเช็ดหน้าชุบเหล้า เพื่อให้ผู้หญิงได้กลิ่นแสดงว่าฉันมีเหล้าอยากมาดื่มกันไหม ? เรื่องนี้ข้าพเจ้าออกจะเห็นจริงด้วย สำหรับตัวข้าพเจ้าเกลียดเหล้าเป็นที่สุด แต่ในสมัยนั้นถ้าได้มีโอกาสดื่มเหล้าก็เป็นของโก้เก๋ที่สุดเหมือนกัน
        มีอีกเรื่องหนึ่ง มาคิดๆ ดูก็ใจหาย ข้าพเจ้าได้รู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งโดยบังเอิญชื่อ "จาร์ดีน" สวยมาก แต่งตัวดี กิริยามารยาทเรียบร้อย เมื่อได้รู้จักกันแล้วต่างคนต่างทึ่งกันมาก เพราะแกน่าเอ็นดูทีเดียว ได้พบปะกันหลายครั้ง ซึ่งโดยมากก็มักจะไปขี่รถยนต์เที่ยวเล่นด้วยกันในเวลากลางคืน วันหนึ่งเขาบอกลาข้าพเจ้าว่าจะไปธุระจังหวะอื่นระหว่างเขาไปอยู่จังหวัดอื่นก็ได้มีจดหมายถึงข้าพเจ้าแทบทุกวัน แต่บังเอิญข้าพเจ้าก็ไม่เคยตอบเขา วันหนึ่งข้าพเจ้าอ่านหนังสือพิมพ์เห็นรูปผู้หญิงคนนี้เข้า จึงได้อ่านเรื่องละเอียดของเขาปรากฏว่าเป็นพวก Criminal ตำรวจกำลังต้องการตัว ไม่นึกเลยว่าคนสวย เรียบร้อยน่าเอ็นดูอย่างนี้จะเป็นไปได้ แต่ก็เคราะห์ดีว่าระหว่างพบปะกับข้าพเจ้าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย
        ระหว่างฤดูหนาวนี้ได้ไปเที่ยว Night club กับเพื่อนนักเรียนเสมอ เรามักจะไปกันปาร์ตี้ใหญ่ คือ ตั้ง ๘ หรือ ๑๐ คน คือชาย ๔ หรือ ๕ แล้วมี partner ไปคนละคน พวกผู้หญิงโดยมากก็เป็นเพื่อนนักเรียนหญิงในมหาวิทยาลัย ที่แห่งหนึ่งที่เราไปลึกลับมากต้องเดินเข้าตรอกไปขึ้นบันไดเล็ก ถึงประตูก็ต้องเคาะเป็นจังหวะ แล้วคนเฝ้าประตูเปิดช่องเล็กนิดเดียวเฉพาะลูกตามองออกมาดูว่าเป็นใคร ถ้าเป็นคนรู้จักกันแล้วจึงจะเข้าได้แล้วต้องเดินอ้อมไปเข้าประตูอีกแห่งหนึ่ง สถานที่นี้เปิดดึกมากตั้งเกือบสองยาม แล้วเล่นไปจนสว่าง มีเหล้าเถื่อนมากมาย เป็นสถานที่ของพวกผิวดำ แต่ฝรั่งชอบไปเที่ยวกันมาก มี Cabaret (ระบำ) ของคนผิวดำ วงดนตรีก็คนผิวดำเล่น พอเพลงตั้งต้นบรรเลงแล้วพวกเล่นดนตรีก็เดินไปตามโต๊ะต่างๆ ที่นี่สนุกสนานมาก ข้าพเจ้าได้ไปหลายครั้ง ยิ่งทำเป็นสถานที่ลึกลับ เข้าไปภายในได้โดยยากเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้พวกเราชอบและตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นอีก
        มีอาจารย์หลายคนในมหาวิทยาลัยนี้ที่ชอบข้าพเจ้ามาก คือ ได้เชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านเขาเสมอๆ และแนะนำให้รู้จักกับครอบครัวของเขาเป็นกันเอง สำหรับเพื่อนนักเรียนก็มีหลายคนที่ชอบเชิญไปรับประทานอาหารที่บ้านเขา แล้วแนะนำให้รู้จักครอบครัวของเขา ฉะนั้นจึงทำให้ข้าพเจ้ารู้จักชีวิตของชาวอเมริกันเป็นอย่างดี อาจารย์คนหนึ่งเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ กับที่ข้าพเจ้าอยู่ และมีรถยนต์ด้วย บางวันข้าพเจ้าได้ขอยืมรถยนต์พาเพื่อนผู้หญิงไปเต้นรำตามโรงเต้นรำนอกเมือง
        มีอยู่ครอบครัวหนึ่งซึ่งหัวหน้าครอบครัวเป็นชั้นนายพันเอกทหารอเมริกัน ลูกชายเขาสองคนเป็นเพื่อนนักเรียนของข้าพเจ้า เขามีลูกสาวคนเดียวอายุประมาณ ๑๖ ปี สวยมากทีเดียว ครอบครัวนี้เขาดีต่อข้าพเจ้ามาก ได้เชิญข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารที่บ้านเขาเสมอ เสร็จแล้วก็คุยกันบ้าง เล่นไพ่บริดจ์กันบ้าง ครอบครัวนี้หวงลูกสาวคนสวยคนเดียวของเขานี้เป็นที่สุด ไม่เคยปล่อยให้ไปไหนสองต่อสองกับใครเลยแม้เป็นชายหนุ่มอเมริกัน แต่เขาให้เกียรติยศกับข้าพเจ้ามาก ทั้งพ่อและแม่ไว้ใจให้ข้าพเจ้าพาลูกสาวไปเที่ยวดูหนัง ดูละครหลายครั้ง
        ปลายฤดูหนาวทุกๆปีเป็นฤดูคอนเสิร์ต คือ Boston Symphony Orchestra ได้มาแสดงใน Auditorium ใหญ่แห่งหนึ่งในบอสตัน ข้าพเจ้าได้ซื้อตั๋วเข้าไปฟังเสมอ เพราะมาในตอนหลังๆ นี้ข้าพเจ้าสนใจและชอบฟังคอนเสิร์ตเหมือนกัน ไม่ใช่ชอบดนตรีเต้นรำแต่อย่างเดียว วงซิมโฟนี่ใช้คนเล่นกว่า ๑๐๐ คน เล่นไวโอลินเสียงต่างๆ เสียกว่า ๔๐ คน สำหรับตัวข้าพเจ้าเวลาไปฟังคอนเสิร์ตชอบไปนั่งฝันถึงเรื่องอะไรต่ออะไร สบายใจดีเหมือนกัน รู้สึกว่าดนตรีนี้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดอย่างหนึ่งในโลก ในเวลาที่มีทุกข์ดนตรีจะระงับทุกข์นั้นได้มากทีเดียว นอกจากนั้นยังให้ความรู้สึกต่างๆ อีก ข้าพเจ้ายอมรับสารภาพว่าเวลาข้าพเจ้าฟังดนตรีเพลงที่ถูกอกถูกใจแล้ว ใครจะมาพูดอะไรด้วยก็ไม่เข้าใจ บางทีถึงกับเสียมารยาททีเดียว

๘๔. ไปรับจ้างเล่นดนตรีเต้นรำ และบาสเกตบอลอาชีพ

       การคบเพื่อนฝูง มีรถยนต์ มี Apartment อยู่เองนั้น เงินที่ได้รับไม่ค่อยจะพอใช้ เพราะทางการเขาจ่ายให้ตามหลักเกณฑ์เป็นรายเดือนดังนี้ ค่าเช่าห้อง ๒๕ เหรียญ ค่ารับประทาน ๔๕ เหรียญ ค่าเงินกระเป๋าและเสื้อผ้า ๓๐ เหรียญ เดือนหนึ่ง ๑๐๐ เหรียญพอดี ไม่พอใช้แน่ ข้าพเจ้าจึงต้องออกหารายได้บ้าง วิชาพิเศษที่พอจะแสดงเป็นอาชีพได้มีอยู่เพียงสองอย่างคือ เล่น Tenor Banjo ใน Dance Orchestra อย่างหนึ่ง และเล่นบาสเกตบอลอาชีพอีกอย่างหนึ่ง
        สำหรับการเล่นอยู่ในวงดนตรีเต้นรำนั้น โดยมากพวกที่เล่นเป็นเพื่อนนักเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน เราไปเล่นตาม Private Parties คือตามบ้านหรือตามสมาคมต่างๆ คืนหนึ่งๆ ก็ได้ระหว่าง ๕ ถึง ๘ เหรียญ นับว่าไม่เลว สนุกด้วย ได้เห็นอะไรแปลกๆ เพราะพวกอเมริกันชอบเล่นของแปลกๆ ได้ดูคนต่างๆ ทั้งสวย โก้เก๋ น่าเอ็นดู และขี้ริ้ว เขาสนุกกัน อันที่จริงข้าพเจ้าชอบเล่นดนตรีให้เขาเต้นรำมากกว่าที่จะไปเต้นรำด้วยตนเองเพราะไม่ต้องกังวลคิดว่าหญิงใดเขาจะรังเกียจที่จะเต้นรำกับเราโดยที่เราเป็นคนต่างผิว การที่ไปเล่นอยู่ในวงดนตรีกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เขากลับชมเชยเราว่าดนตรีเก่ง เขาอยากรู้จักกับเรา บางคนก็ขอร้องให้เราสอนให้เขาเล่นบ้างดังนี้ คือกลายเป็น hero ย่อมๆอาชีพทางนี้สบาย แต่เราก็ต้องแสดงได้ดีพอใช้ และต้องมีผู้สนับสนุน
        ส่วนการเล่นบาสเกตบอลอาชีพนั้นขอเล่าดังนี้ ในประเทศอเมริกาชอบดูการแข่งขันกีฬามาก ฉะนั้นตามสถานที่เต้นรำบางแห่งแทนที่จะมี Cabaret และเต้นรำ กลับมีบาสเกตบอลและเต้นรำ และก็มีคนนิยมเสียด้วย เจ้าของสถานที่ก็มักจะไปหาผู้แสดงดีๆ มาเล่น เพื่อการแข่งขันจะได้ว่องไวและสนุกแก่คนดู ให้คนดูติดจะได้มาบ่อยๆ ผู้จัดการได้มาเชิญข้าพเจ้าไปเล่นหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้ตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๑๕ เหรียญ การไปเล่นอาชีพเช่นนี้ต้องปิดไม่ให้มหาวิทยาลัยทราบ เพราะถ้าเขาทราบว่าไปเล่นเป็นอาชีพแล้วจะเข้าเล่นในทีมของมหาวิทยาลัยไม่ได้ การเล่นอะไรต่ออะไรเป็นอาชีพได้ในประเทศอเมริกานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายดายนัก เพราะเป็นการแข่งขันกัน คนเก่งๆของเขามีมาก เราต้องดีถึงขนาดจริงๆ ยิ่งการเล่นกีฬาด้วยแล้วต้องดีแน่ เพราะคนดูทุกคนนัยน์ตาสูง ได้เคยเห็นแต่ของดีๆ ถ้าเราเล่นอ่อนแล้วเขาก็เห็นได้ชัด และเขาก็ด่าด้วยว่า เขาเสียเงินเข้ามาดูแล้วเอาคนเล่นอ่อนๆมาเล่น อาจร้องตะโกนด่าว่าเรา ซึ่งทำให้เราต้องอับอายขายหน้า ฉะนั้นผู้จ้างต้องเลือกแล้วเลือกอีก

๘๕. คณะละครไทยไปแสดงในอเมริกา

       ปลายเดือนมกราคม คณะละครที่ไปจากเมืองไทยไปแสดงในสหรัฐอเมริกานั้นได้ไปถึงเมืองบอสตัน คณะละครนี้มีหญิงสาวไปรำละครราว ๘ คน มีผู้ชายราว ๗-๘ คน ไปเตะตะกร้อและเล่นพิณพาทย์ ก่อนละครคณะนี้จะมาถึงได้แลเห็นแจ้งความหน้าโรงละคร Keith ในเมืองบอสตันว่าจะมีคณะละครไทยมา และมีเจ้าหญิงไทยแสดงด้วย คืนวันแรกที่มาแสดงที่บอสตันข้าพเจ้าได้ซื้อตั๋วเข้าไปดู โรงละคร Keith นี้มีการแสดง Varieties คือมีละครเบ็ดเตล็ดอย่างละ ๑๕ นาทีบ้าง โปรแกรมหนึ่งๆก็แสดงอยู่ ๗ วัน สำหรับโปรแกรมนี้พอจะถึงฉากละครไทยก็มีชายไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ควบคุมคณะนี้มา คือนายแฟรงค์ฮิกส์ได้ออกมาหน้าเวทีแล้วกล่าวถึงเรื่องละครนี้เป็น Introduction สักสองสามนาที แล้วก็เปิดฉาก พวกเล่นพิณพาทย์แต่งตัวนุ่งผ้าสวมเสื้อนอกแต่ไม่สวมรองเท้า นั่งอยู่บนพื้นเวทีแสดงเพลงละครรำก็ออกมา ที่ว่าเป็นเจ้าหญิงก็คือหม่อมหลวงสุดจิตต์ (อเมริกันตั้งให้เป็นเจ้าเพื่อการแจ้งความ) ต่อจากนั้นก็มีการเตะตะกร้อซึ่งฝรั่งทึ่งกันมากเห็นเป็นของแปลก เตะกันอย่างไรลูกจึงไม่ตกพื้น อย่างนี้ฝรั่งทำไม่ได้ แล้วมีรำพม่าเดี่ยว แล้วหม่องปาหยินติดลูกตะกร้อ ซึ่งแกเก่งมาก แกเลี้ยงลูกตะกร้อบนตัวแกตั้งสิบกว่าลูก บนหัว บนไหล่ บนแขน บนเท้า ต่อจากนั้นมีละครรำเป็นฉากสุดท้าย ดูก็เป็นที่พอใจคนดู ละครเลิกข้าพเจ้าได้ไปที่หลังโรงเพื่อทำความรู้จักกับพวกนี้ เขาดีใจมากที่พบคนไทย ในวันต่อๆไปได้ไปเยี่ยมเขาที่ๆ พัก และได้พาไปเที่ยวและพาไปเล่นหิมะ เพราะเวลานั้นอากาศกำลังหนาวและมีหิมะมาก
        ขนบธรรมเนียมของอเมริกันกับคนไทยนั้นต่างกันมากเกือบจะว่าต่างกันทุกสิ่งทุกอย่าง จึงเห็นว่าในต่อๆไปถ้าจะส่งคนไทยหมู่ใหญ่ๆอย่างนี้ไปต่างประเทศแล้ว เพื่อจะไม่ให้เคอะเขิน เป็นที่ขายหน้าคนทั่วๆไปแล้วควรให้คนที่รู้ขนบธรรมเนียมของประเทศนั้นๆ คุมไปด้วย ผู้ที่ไปในคณะละครนี้ไม่มีใครทราบขนบธรรมเนียมอเมริกันเลย ทำอะไรตามความพอใจของตนซึ่งผิดขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขา
        ข้าพเจ้าได้เคยไปข้างหลังโรงละคร และไปในห้องแต่งตัวพวกละครของเราหลายครั้ง พอเข้าไปใกล้ห้องพวกเราได้กลิ่นยานัดฉุนทีเดียว เขาบอกข้าพเจ้าว่าเป่ายานัดเพื่อแก้หนาว ไม่อย่างนั้นทนอากาศหนาวไม่ไหว อนึ่งการแต่งเนื้อแต่งตัวของพวกเราก็ไม่สู้จะดีนัก เพราะแต่งตัวกันไม่ค่อยเป็น และไม่มีใครช่วยแนะนำ การเข้าไปหลังโรงละครนี้ ข้าพเจ้าเลยได้มีโอกาสพบและทำความรู้จักกับพวกดาราละครอเมริกันทั้งหญิงชายหลายคนบางคนก็ได้เชิญไปรับประทานอาหาร และไปเที่ยวด้วยกัน

๘๖. มิวเรียล

       ขอกล่าวถึงมิวเรียล ปู่ของเขาเป็นจีนมาอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ตัวเล็กๆได้ภรรยาเป็นอเมริกัน แล้วบิดาของเขาก็ได้ภรรยาเป็นอเมริกันอีก ตัวของเขาเองเกือบจะว่าได้ว่าเป็นอเมริกันก็ว่าได้ มี Oriental touch อยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น บิดาของเขาเป็นดาราละครอยู่ทางมลรัฐตะวันตกของประเทศอเมริกา ตัวเขามาเรียนมหาวิทยาลัยบอสตัน จึงต้องมาอยู่ Apartment กับอาเขาชื่อ เฮเลน
       ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวกับมิวเรียลเสมอ ความสนิทสนมของเรามากขึ้นทุกวัน ได้ทราบต่อมาว่าเขามีจดหมายไปถึงบิดาเขา เล่าถึงความสนิทสนมกับข้าพเจ้า และบิดาก็คงจะตอบมาว่าอย่าให้สนิทสนมมากนัก ถ้าตัดเสียได้เวลานี้ก็ควรตัดเพราะข้าพเจ้าเป็นคนต่างชาติ เมื่อเสร็จการศึกษาแล้วก็คงจะต้องกลับเมืองไทย ถ้าชอบกันมากแล้วเขาก็จะต้องจากพ่อแม่ไป และตัวบิดาเองก็ไม่เคยรู้จักกับข้าพเจ้าว่าเป็นคนอย่างใด มิวเรียลเป็นคนอยู่ในโอวาทของบิดา วันหนึ่งเขาชวนข้าพเจ้าไปเที่ยวและว่าเขามีธุระจะต้องพูดกับข้าพเจ้า เมื่อไปด้วยกันแล้ว เขาก็เล่าเรื่องให้ฟัง และว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะพบกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เขาว่าสุดท้ายก็สุดท้าย แล้วเขาก็ร้องไห้มากมาย
       ต่อมาอีก ๓ วัน ข้าพเจ้ากำลังนั่งทำงานอยู่ใน Syllabus Office ในมหาวิทยาลัย มีโทรศัพท์มา เฮเลนอาของเขาเป็นผู้พูดมา เชิญข้าพเจ้าให้ไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านเขา แล้วบอกว่ามิวเรียลร้องไห้วันยังค่ำ ๓ วันแล้ว ไม่กินไม่นอน ขอให้ข้าพเจ้าไปให้ได้ ข้าพเจ้าก็ไป พอโผล่เข้าประตูบ้านเขาก็โผเข้ากอด แล้วเขาก็บอกข้าพเจ้าว่า จะไม่ปล่อยให้ไปอีกแล้ว
       มิวเรียลผู้นี้ตามที่เล่ามาแล้วว่า เคยแสดงเป็นนางเอกของละคร Musical Comedy ของมหาวิทยาลัย ว่าถึงรูปสมบัติและคุณสมบัติแล้วกล่าวได้ทีเดียวว่างามมาก นักเรียนมหาวิทยาลัยติดกันมาก เพราะเป็นคนมีชื่อเสียงและสวย แต่ไม่เห็นเขาทึ่งใครเลย กลับมาชอบข้าพเจ้า ตอนนี้ข้าพเจ้าก็แปลกใจอย่างมากอีก แปลกใจอย่างที่เคยกล่าวมาหลายครั้งแล้วว่าชาวอเมริกันถือผิว ข้าพเจ้าเป็นคนต่างชาติ และอยู่ในจำพวกชาติผิวเหลืองและไม่ใช่เป็นคนสวย แต่ทำไมมิวเรียลจึงชอบข้าพเจ้าอย่างมาก เวลาเราไปเที่ยวในที่ Public ต่างๆ เช่นไปดูภาพยนตร์ ไปดูละคร หรือไปเต้นรำ เขาจะต้องเกาะแขนข้าพเจ้าอย่างแน่นทีเดียวโดยไม่ care เลยที่ใครจะมองเขาว่าเขาไปเที่ยวกับคนผิวเหลือง ทำให้ข้าพเจ้าสบายใจ ปลื้มใจ และภูมิใจมาก ไม่มีใครกล้าดูถูก เข้าไปในที่ไหนหรือของเราไม่แพ้ใครทั้งนั้น ทั้งรูปร่างหน้าตา ท่าทาง ความสง่า และแน่ใจทีเดียวว่าชาวอเมริกันต้องอิจฉาเป็นแน่ ยิ่งเวลาเราไปงานของมหาวิทยาลัยแล้วก็ยิ่งเด่นขึ้นมาก เพราะนักเรียนส่วนมากนับถือเราทั้งสองคน ว่าเป็นคนสำคัญของมหาวิทยาลัย
        ในประเทศอเมริกานั้นสำหรับชายกับหญิงค่อนข้างจะฟรีมาก การไปมาหาสู่กันการเชิญไปเที่ยว ไปดูภาพยนตร์ ละคร หรือเต้นรำ ก็ไปกันได้สะดวกไม่ต้องมีผู้ควบคุมไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเด็กอเมริกันยังนิยมที่เรียกว่า blind dates อีก คือนัดพบหรือนัดไปเที่ยวไหนด้วยกันโดยที่ไม่รู้จักกันเลย มีคนกลางจัดการให้แล้วไปรู้จักกันตอนไปรับกันที่บ้าน เพื่อนนักเรียนหาว่าข้าพเจ้ามีเพื่อนผู้หญิงสวยๆมาก เวลาเขาจะไปเต้นรำมักมาหาข้าพเจ้าให้ช่วยแนะนำผู้หญิงให้ ข้าพเจ้าต้องถามว่าต้องการอย่างไร ผมสีทอง สีดำ หรือสีแดง ขนาดท้วมหรือเล็ก สูงหรือต่ำ เมื่อเขาบอกความประสงค์แล้วเราก็เปิดบัญชีรายชื่อพร้อมด้วยเบอร์โทรศัพท์แล้วก็จัดการให้เขา ได้เคยเป็นพ่อสื่อเป็นที่พอใจเพื่อนหลายครั้งหลายคราว และถ้าเพื่อนของเราทำดีต่อผู้หญิงที่เราแนะนำให้รู้จัก ในวันหลังผู้หญิงคนนั้นมักจะบอกชมเชย และขอบใจข้าพเจ้าด้วย ถ้าเพื่อนเราไปทำไม่ดีข้าพเจ้าก็ถูกต่อว่า

๘๗. พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ

       ต้นเดือนเมษายน (๒๔๖๘) ได้รับหนังสือจากเจ้าคุณบุรี ว่าให้ลงไปกรุงวอชิงตันทันที เพื่อไปเฝ้ากรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ข้าพเจ้าสังกัดอยู่ ท่านกำลังจะเสด็จกลับเมืองไทยจากยุโรปผ่านอเมริกา ข้าพเจ้าได้รีบไปเฝ้าตามคำสั่งนั้น ไปโดยรถยนต์ขับรวดเดียวจากบอสตัน ออกเดินทาง ๓ ทุ่ม ข้าพเจ้าขับตลอดคืนถึงกรุงนิวยอร์คเช้ามืด ต่อจากกรุงนิวยอร์คคุณประสาทเป็นผู้ขับต่อไปถึงกรุงวอชิงตันบ่าย ๓ โมง รุ่งขึ้นได้เข้าเฝ้าที่สถานทูต ท่านเรียกไปสัมภาษณ์สักชั่วโมงหนึ่งเห็นจะได้ รับสั่งถามถึงความเป็นไปทุกๆอย่าง เสร็จแล้วข้าพเจ้าก็กลับบอสตัน
       ราวสัก ๒ อาทิตย์ ต่อมาเสด็จในกรมพระจันทบุรีฯ ได้เสด็จมาบอสตัน ได้ไปพักที่ Hotel Copley Plaza มีผู้ติดตามคือท่านหญิงกมล ปราโมช และหลวงโทณวณิก มนตรี* ข้าพเจ้าต้องเป็นผู้คอยรับใช้อย่างเช่นเคยกับเจ้านายอื่นๆ ที่เสด็จผ่านมา วันหนึ่งท่านได้เสด็จไปดูบ่อเพาะพันธุ์ปลาแห่งหนึ่ง ระยะทางประมาณ ๑๐๐ ไมล์ จากบอสตัน ข้าพเจ้าได้เป็นผู้นำไปโดยรถยนต์ของข้าพเจ้า ที่นี่เป็นสถานีทดลองการเพาะพันธุ์ปลาของรัฐบาลอเมริกัน น่าดูมากมีการแสดงให้ดูพันธุ์ปลาต่างๆ วิธีเลี้ยง วิธีเพาะ ได้ทราบว่ารัฐบาลเราได้จ้างผู้ชำนาญจากที่นี่ไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องการประมงในเมืองไทยคนหนึ่ง ขากลับบอสตันซึ่งเป็นเวลาค่ำแล้ว เกิดแอกซิเดนต์เล็กน้อย คือมีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งออกมาจากถนนซอยเล็กและไม่มีไฟจึงได้เกิดชนกัน บังโคลนรถเราบุบไปมาก แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเป็นอันตราย และเราก็ได้เดินทางกลับมาถึงบอสตันได้
        การรับใช้ท่านนี้เป็นที่พอพระทัยท่านมาก รับสั่งว่าคล่องแคล่วดี เวลานี้ท่านกำลังต้องพระประสงค์เลขานุการอยู่ด้วย จึงชวนข้าพเจ้าให้กลับไปทำงานกับท่าน รับสั่งว่าเสด็จกลับถึงเมืองไทยจะโทรเลขเรียกตัว ในระหว่างที่ทรงพักอยู่บอสตันข้าพเจ้าได้พาไปชมสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งไปดูโรงงานทำนาฬิกาที่เมือง Waltham ด้วย แล้วก็เลยไปแวะเยี่ยมคุณไสวที่โรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Waltham นั้น นอกจากนั้นได้ตามเสด็จไปดูละคร Musical Comedy หลายเรื่อง เช่น Rose Marie และ No No Nanette เป็นต้น
        ละครเรื่อง Rose Marie มีผู้คนนิยมกันมาก ไม่ว่าจะไปเล่นที่เมืองใดมีคนดูแน่นๆ โรงเสมอ และต้องเล่นอยู่แห่งละตั้งหลายๆ เดือน จนถึงกับต้องมีหลายชุดเพื่อได้เล่นในเมืองต่างๆ พร้อมกันได้ ผู้แต่งเรื่องนี้ได้เอาประเทศคานาดาและตำรวจม้าของคานาดาเป็นเนื้อเรื่อง พี่นางเอกถูกสงสัยเป็นคนฆ่าคนตายต้องหนีไป พระเอกเป็นตำรวจม้าไปตามจับ ฯลฯ เพลงในเรื่องนี้มีดีมากๆ สองเพลง คือ Rose Marie และ Indian Love Call ฟังไปอีกตั้งหลายๆ ปีก็ยังไม่จืด โดยเฉพาะเพลงหลังทำนองเพลงจะยกเป็นเพลง Light Classic ก็ได้ สำหรับระบำในเรื่องนี้ดีมาก ได้ คิด step ใหม่ๆหลายตอน และมีระบำอเมริกันอินเดียนอีกด้วย
        ส่วนละครเรื่อง No No Nanette ก็ดีมากเหมือนกัน เกือบจะว่าดีเท่า Rose Marie เป็นเรื่องขบขันตลอดเรื่อง ชายแก่ไปตากอากาศชายทะเลพบหญิงสาวๆ จนเกือบลืมเมีย แล้วเมียก็มา เลยสนุกกันใหญ่ ได้หัวเราะกันเกือบตลอดเวลา สำหรับเพลงในเรื่องนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Tea for two และ I want to be happy สองเพลงนี้เป็นที่นิยมต่อมาอีกครั้งหลายปี

๘๘. หนังสือ Syllabus

       พฤษภาคม (๒๔๖๘) หนังสือ Syllabus ที่ข้าพเจ้าเป็น Editor-in-chief สำเร็จออกจำหน่ายได้แล้ว นับว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดที่ได้เคยมีมาและนับว่าเป็น Most Successful Work ข้าพเจ้าดีใจมาก เพราะเหน็ดเหนื่อยมา ตลอดปี ข้าพเจ้าได้รับ Congratulations ทั่วมหาวิทยาลัย ในวันที่หนังสือนี้สำเร็จและจะออกจำหน่ายนั้นได้มีการประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย อธิการบดีได้ลุกขึ้น Speech ชมเชยข้าพเจ้า และ Staff อยู่นาน ครั้นแล้วก็เชิญข้าพเจ้าขึ้นไปบนเวที ยื่นหนังสือให้ข้าพเจ้าหนึ่งเล่ม นักเรียนทั้งมหาวิทยาลัยปรบมือให้เป็นเกียรติยศ
        หนังสือ Syllabus นี้ ตามที่เคยเล่ามาแล้ว เป็นหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัยออกปีละหนึ่งเล่ม เป็นหนังสือขนาดใหญ่ประมาณไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ หน้า ใช้กระดาษอาร์ตทั้งเล่ม มีรูปนับพันๆรูป มีเรื่องราวและรูปของทุกๆอย่างของมหาวิทยาลัย เช่นเรื่องและรูปของครูและอาจารย์แต่ละคน เรื่องและรูปของนักเรียน Junior Class ทุกคน (ใครเข้าอยู่ใน Junior Class ปีใดก็มีเรื่องและรูปลงในเล่มที่ทำขึ้นในปีนั้น) เรื่องและรูปของการกีฬาและการแข่งขันกีฬาทุกชนิดของมหาวิทยาลัย เรื่องและรูปของสมาคมทุกสมาคม เรื่องและรูปของกิจการอื่นๆ ทุกอย่าง ฯลฯ หน้าที่ของบรรณาธิการใหญ่นั้นลำบากมาก คือต้องเป็นคนกว้างขวางรู้จักนักเรียนโดยมาก และรู้จักนิสัยใจคอ ต้องรู้เรื่องของแต่ละคนโดยละเอียด เพื่อได้ลงเรื่องของทุกๆคนให้ถูกต้อง และต้องให้เป็นที่พอใจของนักเรียนทุกๆคนรวมทั้งอาจารย์ด้วย ต้องระวังข้อความที่ลงไม่ให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้น ในเรื่องรูปก็ต้องระวังอย่าไปสับเข้า เพราะรูปทั้งหมดหลายพันรูปและมีเรื่องประกอบ ถ้าไปสับรูปกับเรื่องแม้เพียงหนึ่งก็คงจะต้องถูกตำหนิแน่ๆ แต่เคราะห์ดีที่ทุกสิ่งทุกอย่างออกมาอย่างเรียบร้อยทุกประการ หนังสือเช่นนี้มีประจำทุกมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในประเทศอเมริกา และเป็น Memory Book ที่ดีที่สุด

นักเรียนตัวสำคัญๆ ในมหาวิทยาลัยได้เซ็น Autograph ในหนังสือเล่มนี้ให้แก่ข้าพเจ้าไว้มากมาย ขอคัดมาลงของบางคนดังต่อไปนี้

1. George F. Grandi, President Junior Class - "To our Editor-in-Chief deserving of praise for the publishing of the best Syllabus ever"
(ยอร์ช เอฟ แกรนดี นายกของนักเรียนชั้นปีที่สาม "แด่บรรณาธิการผู้ควรได้รับความชมเชยในการที่ได้จัดพิมพ์หนังสือ Syllabus ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา")
2. Albert W. Richards, Vice President Senior Class- "To the man who is responsible for this damn nice Book"
(แอลเบิร์ต ดับลิว ริชชาร์ดส อุปนายกของนักเรียนชั้นปีที่สี่ "แด่ผู้ซึ่งรับผิดชอบในหนังสือที่ดียิ่งเล่มนี้")
3. George F. Thomas, House of Representatives "This book is so far ahead of all the rest here is no comparison good going Sukie."
(ยอร์ชเอฟ. ทอมัส สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "หนังสือเล่มนี้ดีเกินหน้าหนังสือที่ได้ทำมาแล้วทั้งหมดจะหาเปรียบอีกมิได้ ท่านทำดีมาก สุขี)
4. Ralph A. Palladino, House of Representatives - "Sukie boy, you deserve all the credit that the class can give you. You have done a wonderful job in putting out what we believed to be the best Syllabus ever put out congratulations Sukie and then some keep up your good Work.
(แรลฟ เอ แพลลาดิโน สมาชิกผู้แทนนักเรียน "สุขี ควรแล้วที่ท่านจะได้รับความสรรเสริญทุกประการที่ชั้นนี้จะให้แก่ท่านได้ ท่านได้ทำงานชิ้นนี้สำเร็จได้อย่างประหลาด ในการที่ท่านได้จัดพิมพ์หนังสือ Syllabus ซึ่งเราเชื่อแน่ว่า เป็นเล่มที่ดีที่สุดที่เคยออกมา ขอแสดงความยินดี หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก จงปฏิบัติงานอื่นๆ ของท่านให้ดียิ่งขึ้นไปเถิด")
5. Paul E. Haynes, Vice President Sophomore class "Congratulations for your skill as Editor of this book.
(พอล อี เฮนส์ วอุปนายกของนักเรียนชั้นปีที่สอง "ขอแสดงความยินดีในความสามารถของท่านในหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือนี้")
6. Harold G. Carlson, Captain Football Team - "To "Sukie" the best Editor of the best Syllabus ever put out"
(ฮาโรลด์ ยี คาลสัน กัปตันฟุตบอลทีมของมหาวิทยาลัย "แด่ "สุขี" บรรณาธิการที่ดีที่สุดของหนังสือ Syllabus ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา")
7. Paul Ayers, House of Representatives - "To the brains of the best Syllabus."
(พอล แอรส์ สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "แด่ "มันสมอง" ของหนังสือ Syllabus ที่ดี ที่สุด")
8. Arthur P. Tillinghast, Treasurer Junior Class "Best of Luck to one of the finest friend ever you sure put it over and proved to the old world your ability as Editor - in - chief of the Syllabus."
(อาร์เธอร์ พี ทิลลิงแฮสต์ เหรัญญิกของนักเรียนชั้นปีที่สาม "โชคดีจงมีแด่เพื่อนที่ดียิ่ง ท่านได้ทำความสำเร็จแล้ว และพิสูจน็ให้โลกเห็นความสามารถของท่านในตำแหน่งบรรณธิการของหนังสือ Syllabus")
9. William P. Ayers, House of Representatives - "To the greatest of Editors a man of his word a man of good nature a good sport and my best friend good luck Sukie"
(วิลเลียม พี แอร์ส สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "แด่บรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่กว่าบรรณาธิการทั้งหลาย ผู้ซึ่งรักษาวาจา ผู้ซึ่งมีอารมณ์ดี ผู้ซึ่งมีน้ำใจเป็นนักกีฬา และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน โชคดีเถิด สุขี")
10. Harold T. Young, Vice President Junior Class - "To the hard working, faithful Editor-in-chief."
(ฮาโรลด์ ที ยัง อุปนายกของนำเรียนชั้นปีที่สม "แด่บรรณาธิการที่ขยันขันแข็งและซื่อสัตย์สุจริต")
11. Frederick W.Klebahn, Captain Swimming Team- "To Sukie the Editor who put out a wonderful book; Best of luck."
(เฟรดเดอริค ดับลิว เคลบาน กัปตันทีมว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย "แด่สุขีบรรณาธิการ ผู้ซึ่งได้จัดพิมพ์หนังสือที่วิเศษยิ่ง ขอจงประสบแด่โชคดียิ่ง")
12. William B. Barnett, Track Team "To "Sukie" the best editor of the best Syllabus ever published. Good luck"
(วิลเลียม บี บารเนต นักกีฬาในทีมแข่งขันกีฬาต่างๆ "แด่ สุขี บรรณาธิการที่ดีที่สุดของหนังสือ Syllabus ที่ดีที่สุดที่เคยจัดพิมพ์มา ขอให้มีโชคดีเถิด")
13. Granville H. Beever, Track Team - "May everything you engage in be as successful as the Syllabus, Sukie."
(แกรนวิลล เอช บีเวอร์ นักกีฬาในทีมแข่งขันกีฬาต่างๆ "ขอให้ทุกอย่างๆ ที่ท่านจัดทำได้รับความสำเร็จด้วยดี เช่นหนังสือ Syllabus นี้ สีขี")
14. John L. Copeland, House of Representatives "To "Sukie" producer of the best Syllabus and a true friend.
(จอน แอล โคปแลนด์ สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "แด่ "สุขี" ผู้จัดทำหนังสือ Syllabus ที่ดีที่สุด และเป็นเพื่อนที่แท้จริงๆ")
15. Henry R. De Forest, B.U. News "Congratulations on a Successful Editorship."
(เฮนรี อาร์ เดอ ฟอเรสต์ ผู้จัดการหนังสือพิมพ์ B.U. News "ของแสดงความยินดีในความสำเร็จในหน้าที่บรรณาธิการ")
16. Max R. Grossman, Editor B.U. News "To "Sukie" a pal with a winning emile the Editor of the best year book ever and an honest to goodness man despite his size"
(แมกซ์ อาร์ กรอสสแมน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ B.U. News "แด่ "สุขี" เพื่อนรักที่ชนะจิตใจคนด้วยการยิ้มของเขา และเป็นบรรณาธิการของหนังสือประจำปีที่ดีที่สุดที่เคยมีมา กับเป็นผู้ที่ดีตลอดทุกๆ อย่าง ถึงแม้ว่าร่างเขาจะเล็ก")
17. Sidney K. Horton, R.O.T.C. Corporal "Here's hoping you succeed in everything as in this Syllabus Sukie"
(ซิดนีย์ เค ฮอร์ตัน นายสิบในกองทหารของมหาวิทยาลัย "ขอให้ความหวังไว้ในที่นี้ว่าท่านจะต้องได้รับความสำเร็จทุกๆ อย่างเช่นเดียวกับความสำเร็จในหนังสือ Syllabus เล่มนี้ สุขี")
18. Clifton W. Rand, Manager Musical Club "To the great Editor-in-chief,"
(คลีนฟตัน ดับลิว แรนด์ ผู้จัดการของสมาคมดนตรีของมหาวิทยาลัย "แด่บรรณาธิการใหญ่ยิ่ง")
19. Willber F. Senter, R.O.T.C. Sergeant- "To the Editor-in-chief who was responsible for the best junior year book ever put out."
(วิลเบอร์ เอฟ เซนเตอร์ นายสิบในกองทหารของมหาวิทยาลัย "แด่บรรณาธิการผู้รับผิดชอบสำหรับหนังสือประจำปีที่ดีที่สุดที่เคยออกมา")
20. Merfill A. Watson, Circulation Manager Syllabus "Here's to Editor well Sukie you sure put it over and you' ve been a great boss a long life and a happy one"
(เมอริลล์ เอ วิตซัน ผู้จัดการขายของหนังสือ Syllabus "แด่บรรณาธิการสุขี ท่านได้ทำความสำเร็จแล้ว และท่านได้เป็นนายที่ดีจริง ขอให้ท่านมีอายุยืนและมีความสุขตลอดไป")
21. Charles Withers, President Sophomore Class. "To Sukie you better go in the Publishing business if this Syllabus is an example, good luck Sukie."
(ชาลส์วิตเธอร์ นายกของนักเรียนชั้นปีที่สอง "แด่สุขี ทางที่ดีท่านควรจะไปทำงานเกี่ยวกับการทำหนังสือเถิด ถ้าจะถือเอาหนังสือ Syllabus เล่มนี้เป็นตัวอย่าง ขอโชคดีจงมีแด่ท่าน สุขี")
22. Summer S. Bryant, President Kappa Phi alpha- "To the most efficient "Syllabus Editor"
(ซัมเมอร์ เอส ไบรแยนต์ นายกสมาคม แคปปา ไฟ แอลฟา "แด่บรรณาธิการที่สามารถที่สุดของหนังสือ Syllabus")
23. Lester O. Gatchell, Evening Devision Editor "Congratulations to "Sukie" on publishing the finest Syllabus ever."
(เลสเตอร์ โอ แกตเซล บรรณาธิการแผนกโรงเรียนกลางคืน "ขอแสดงความยินดีแด่ สุขี ในการจัดพิมพ์หนังสือ Syllabus ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา")
24. Gordon Reilly, Captain Cross-country Team "A wonderful book "Sukie" greater praise praise to you"
(กอร์ดอน ไรลี กัปตันที่วิ่งทางไกลของมหาวิทยาลัย "เป็นหนังสือที่ดีอย่างประหลาด สุขี สำหรับท่านควรได้รับความชมเชยยิ่งขึ้นไปอีก")
25. Charles B. Horton, Basketball Team- "To the best editor the Syllabus ever had."
(ชาลส์ บี ฮอร์ตัน นักกีฬาเล่นอยู่ในทีมบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัย "แด่บรรณาธิการที่ดีที่สุดที่หนังสือ Syllabus ได้เคยมี")
26. Richard K. Gould, "Lock' Honorary Society- "May you have the same success in life as with-1926 Syllabus"
(ริชาร์ด เค กูลด์ "ลอค" เกียรติสมาคม "ขอท่านจงมีความสำเร็จอันดียิ่งในชีวิตเช่นเดียวกับหนังสือ 1926 Syllabus นี้")
27. Donald White, House of Representatives- "To Sukie you did a fine job this year. Keep it up."
(โดแนลด์ ไวท์ สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "แด่ สุขี ท่านได้ทำงานได้เป็นเลิศในปีนี้ จงพยายามต่อไปเถิด")
28. Fairfield E. Mc. Cann. House of Representatives- "You put out a darn good book Sukie may everything you do be as successful."
(แฟร์ฟิลด์ อี แมคแคน สมาชิกสภาผู้แทนนักเรียน "ท่านได้จัดทำหนังสือที่ดีมาก สุขี ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำจงเกิดผลดีเช่นกัน")
29. Lillian E. Alexander, Gamma, Beta Alpha- "This is the best Syllabus ever and you did much to make it so."
(ลิเลียน อี อเล็กซานเดอร์ สมาชิกสมาคมแกมมา เบตา แอลฟา "หนังสือ Syllabus เล่มนี้เป็นดีที่สุดที่เคยมีมา และท่านได้มีส่วนอยู่เป็นอย่างมากที่ได้ทำให้มันดีถึงเพียงนี้")
30. Genevieve F. Hamilton, Gamma Beta Alpha- 'we've beat them all with your Syllabus. Best wishes."
(เยเนวีฟ เอฟ แฮมมิลตัน สมาชิกสมาคมแกมมา เบตา แอลฟา "เราได้ชนะบรรดาหนังสืออื่นๆด้วยหนังสือ Syllabus ของท่านขอให้ท่านจงมีแต่โชคดี")
31. John R. Hall, "Lock" Honorary Society "To Sukie an damn good editor and a Prince of good fellows."
(จอน อาร์ ฮอล "ลอค" เกียรติสมาคม แด่ สุขี บรรณาธิการที่ดีอย่างยิ่งและเป็นคนที่ดีที่สุดของคนดี")
32. Walter J. Lyons, Track Team- "May you succeed in all as you have with the Syllabus.
(วอลเตอร์ เจ ไลออนส์ นักกีฬาในทีมแข่งขันกีฬา ต่างๆ "ขอท่านจงสำเร็จด้วยดี ในทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนอย่างกับที่ท่านได้ทำความสำเร็จในหนังสือ Syllabus1 นี้")
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

       โดยที่ข้าพเจ้าอยู่ในชั้น Junior Class จึงมีเรื่องและรูปของข้าพเจ้าลงในหนังสือนี้ เรื่องที่ลงใน Personal write up มีดังนี้
"Sukie" is just about the smallest man in our class but has done some of the biggest things in the college. The Syllabus is his greatest achievement and believe us now, he deserves all the credit in the world for the masterful way in which he handles his job as Editor-in chief. By reason of democratic good fellowship and his willingness to help at all times, he has won our respect and affection. May you bring more of your kind to B.U. Sukie. We look forward to the day when our Sukie will be instrumental in bringing together more closely the ties of United States and his Siam.
("สุขี" ดูเหมือนจะเป็นคนที่เล็กที่สุดในชั้นของเรา แต่ได้ทำงานชิ้นใหญ่ๆ ในมหาวิทยาลัย หนังสือ Syllabus นี้เป็นความสำเร็จอันใหญ่ยิ่งของเขา และขอให้เชื่อเราเถิดว่าเขาสมควรแล้วที่จะได้รับความยกย่องทุกประการในโลก สำหรับวิธีการอันฉลาดในการดำเนินงานในหน้าที่บรรณาธิการโดยเหตุผลด้วยความสม่ำเสมอไม่ถือตัว และความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกๆขณะ เขาได้รับความนับถือและรักใคร่จากเรา ขอให้ท่านจงนำคนอย่างท่านมาสู่มหาวิทยาลัยนี้อีกเถิดสุขี เราจะคอยวันที่สุขีของเราจะเป็นสื่อที่จะผูกความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสยามของเขาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น)

ในช่อง Activities ของข้าพเจ้าซึ่งแสดงว่าข้าพเจ้าได้ทำอะไร หรือรับตำแหน่งอะไรบ้างในมหาวิทยาลัย มีข้อความดังนี้

House of Representatives (1,2,3) Musical Club (1,2) Cosmopolitan Club (1) Vice President (2) President (3) Foreign Trade Club (1) Vice President (2) Class Football (1,2) Class Basket Ball (1,2) Syllabus Appointing Board (2) Freshman Initiation Committee (2) Class Executive Committee (2) Assistant Manager of Hockey (2) Devil's Den Sporting Club (2,3) Varsity Football (2) Editor-in-chief of the Syllabus (3)
(ตัวเลขในวงเล็บแสดงถึงปีที่อยู่ในมหาวิทยาลัย (๑) หมายถึงปีที่หนึ่งหรือ (๑,๒,๓) หมายถึงปีที่หนึ่ง ปีที่สอง และปี่ที่สอง)

       ตำแหน่งและหน้าที่เหล่านี้ ส่วนมากต้องได้รับเลือกโดย Vote จากนักเรียน ส่วนการเข้าเล่นในทีมของฟุตบอล หรือบาสเกตบอลนั้นก็ต้องแสดงความสามารถให้เด่นกว่าคนอื่น เพราะเป็นการชิงตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นของง่ายนัก ผู้ที่เคยไปศึกษาในประเทศอเมริกาเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า การเล่นกีฬาในทีมมหาวิทยาลัยมีความสำคัญอย่างใด และมีความยากลำบากเท่าใด กว่าจะได้เข้าอยู่ในทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างชาติและคนตัวเล็กๆ ส่วนตำแหน่งที่ต้องรับเลือกโดย Vote แล้วผู้ที่เคยไปศึกษา ในอเมริกาก็ทราบดีอีกว่า พวกเราผิวเหลืองถูกดูถูกและกันท่าอย่างใด การที่ข้าพเจ้าได้ผ่านการดูถูกและการกันท่าของนักเรียน เข้าไปอยู่ในชั้นที่นักเรียนยกย่องนับถือนี้ก็เป็นของแปลกสำหรับตัวข้าพเจ้าและผู้ที่รู้เรื่องข้าพเจ้าเป็นอันมาก เท่าที่ทราบไม่มีนักเรียนต่างชาติคนใดในมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาที่มีตำแหน่งที่มากกว่านี้

ในข้อเขียนในเรื่องทำหนังสือ ได้มีข้อความลงไว้ดังนี้
ฯลฯ Immediately after the election of the present staff last year our Editor-in-chief Pradit Sukhum gathered the staff to him and laid plans for our book. To be sure, we should strive to have a better, more comprehensive, more interesting Syllabus than those which have been created in the past. In these respects we feel we have succeeded. No better man could be chosen to head this important work than our friend from Siam "Sukie." By courage, ability, preseverance and tact, he has guided the staff through a year of high tension and hardwork. ฯลฯ
(ฯลฯ ทันทีทันใดภายหลังการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปัจจุบันเมื่อปีที่แล้วมา บรรณาธิการของเรา-ประดิษฐ สุขุม ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่วางแผนการสำหรับหนังสือของเรา มันเป็นที่แน่นอนว่าเราจะต้องพยายามที่จะทำหนังสือ Syllabus ให้ดี ให้ละเอียดลออ และน่าทึ่งยิ่งขึ้นกว่าที่ได้จัดทำกันมาแล้ว ความดีเท่าที่กล่าวนี้ เรารู้สึกว่าเราได้ทำสำเร็จไม่มีผู้ใดจะทำให้เหมาะสำหรับเป็นหัวหน้างานสำคัญชิ้นนี้ ยิ่งไปกว่าเพื่อนของเราจากประเทศสยาม "สุขี" ด้วยความมานะ ความสามารถ ความอดทน และความรอบคอบเขาได้นำเจ้าหน้าที่ชุดนี้ผ่านความเหน็จเหนื่อยและงานหนักไปตลอดปี ฯลฯ)

นี่ก็เป็นข้อความที่เขาชมเชย

๘๙. การแลกรูปและรายงานของ Dean

ก่อนมหาวิทยาลัยปิด ตามธรรมเนียมได้มีการแลกเปลี่ยนรูปนักเรียนด้วยกันในบรรดารูปนักเรียนตัวสำคัญๆได้เซ็นให้ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ามีข้อความที่จับใจและซาบซึ้งมาก จึงขอคัดลงเฉพาะบางคน ดังนี้

1. Russel Norton "To Sukie, the best that B.U. can give."
(รัสเซล นอร์ตัน "แด่สุขี ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยบอสตันจะผลิตได้".)
2. Douglas Lakey "To Sukie, one of the best at C.B.A."
(ดักกลาส เลคี "แด่สุขี ดีที่สุดคนหนึ่งในมหาวิทยาลัย")
3. Chesley Hammond "To Sukie, a man I'm proud to call my friend."
(เชสลี แฮมมอนด์ "แด่สุขี ผู้ซึ่งฉันภูมิใจที่สุดที่จะเรียกว่าเพื่อนของฉัน")
4. Thomas Hill "To Sukie a real friend and future leader in Siam."
(ทอมัส ฮิล "แด่สุขี ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนที่แท้ และผู้นำภายหน้าในประเทศสยาม")
5. Nelson Bishop "Sukie we are all proud of you."
(เนลสัน บิชอป "สุขี เราทั้งหลายภูมิใจในตัวท่าน")
6. George Grandi "To Sukie, a friend tried and true."
(ยอร์ช แกรนดิ "แด่สุขี ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนที่แท้จริง")
7. Gordon Greer "To Sukie, one of our best classmates and darn good friend."
(กอร์ดอน เกรีย "แด่สุขีเพื่อนประจำชั้นที่ดีที่สุดคนหนึ่ง"ป
8. Grace Sullivan "May you be as successful at 'home" as you have been here at C.B.A."
(เกรซ ซัลลิแวน "ขอท่านจงได้รับความสำเร็จที่ "บ้าน" เหมือนอย่างที่ท่านได้รับที่ในมหาวิทยาลัยนี้)
9. Marie Barry "I knew you'd come through O.K. my faith in you has been justified."
(มารี บารี "ฉันรู้แน่ว่าท่านจะผ่านมาได้โดยเรียบร้อย ความเชื่อถือของฉันในตัวท่านได้สมบูรณ์แล้ว")
10. Thomas Sheehan "To a gentleman who certainly is a credit to B.U."
(ทอมัส ชีแฮน "แด่สุภาพบุรุษผู้ซึ่งทำเกียรติให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน")
11. George Smith "To Sukie, the best pal there ever was."
(ยอร์ช สมิท "แด่สุขีสหายที่ดีที่สุดที่เคยปรากฏ")
12. Stanley Hirtle "To my best pal and a Football Star."
(สแตนลี เฮอเติล "แด่สหายที่ดีที่สุดของฉันและดาราฟุตบอล")
13. Helen Robinson "To the best Pal and friend any one could wish for."
(เฮเลน โรบินซัน "แด่สหายและเพื่อนที่ดีที่สุดซึ่งใครๆก็ต้องอยากได้")
14. Adolph Johnson "To Sukie who proved his success."
(อดอลฟ จอนซัน "แด่ สุขี ผู้ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของเขาแล้ว")
15. Laura "Sukie you are one of the finest friend one could have"
(ลอรา "สุขี ท่านเป็นเพื่อนวิเศษที่ใครจะมีได้")
16. Arthur Tillinghast 'May success ever be yours as it has so far."
(อารเธอร์ ทิลลิงแฮสต์ "ความสำเร็จจงเป็นของท่าตลอดไปดังที่ได้เป็นมาแล้ว")
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

       Dean ของมหาวิทยาลัยได้มีรายงานถึงผู้ดูแลนักเรียนไทย มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้ "He played basketball, football, was a member of several clubs and committees, and in his second year was elected editor-in-chief of "The Syllabus", which is considered quite an achievement for a foreign student, and proof of great popularity among the students."
"เขาเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล เป็นสมาชิกของหลายสมาคมและหลายกรรมการ และในปีที่สองของเขา เขาได้รับเลือกเป็นบรรณาธิการของหนังสือ Syllabus ซึ่งถือเป็นประวัติการณ์สำหรับนักเรียนต่างชาติ และเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นความกว้างขวางอย่างมากของเขาระหว่างนักเรียน

๙๐. ละครและอาหารในอเมริกา

       ต่อไปนี้ขอกล่าวถึงเรื่องละคร ข้าพเจ้าเป็นคนชอบดูละครเป็นที่สุด ชอบดูละครทุกชนิด ชอบแต่งตัวโก้ๆ แล้วพาผู้หญิงสวยๆ ไปนั่งที่ๆแพงที่สุดในเมื่อมีเงิน รู้สึกมันสบายใจ ละครก็สนุกแล้วยังได้ดูคนดูแต่งตัวสวยๆ อีกด้วย เสร็จจากการดูละครแล้วก็ชอบไปสถานที่เต้นรำที่หรูๆ หน่อย เช่นที่ Checker Inn เป็นต้น สำหรับละครที่แสดงตามโรงต่างๆ ในประเทศอเมริกา มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทเช่น 1. Opera 2. Musical Comedy 3. Farce 4. Mystery Play 5. Play 6. Varieties 7. Burlesque ฯลฯ
        สำหรับโอเปร่านั้นข้าพ่เจ้าชอบน้อยหน่อย เพราะเรื่องยืดยาวมาก จริงอยู่โอเปร่านี้เป็นเพลงตลอดเรื่อง ตั้งแต่เปิดฉากจนปิดฉาก ไม่มีบทเจรจาเลย จะเดิน กิน นั่ง นอน ทุกข์ โศก รัก ขบขัน เป็นเพลงไปทั้งนั้น และเป็นเพลงชนิดหนักมาก ฟังไม่ค่อยออกอะไรเป็นอะไร แล้วบางทีแกก็ร้องเป็นภาษาที่เราไม่เข้าใจเสียด้วยอีก แต่การไปดูโอเปร่านั้นสำคัญอยู่ที่ไปฟังเพลง ไม่ต้องเอาเรื่อง ถ้าอยากรู้เรื่องด้วยก็ควรอ่านเรื่องเสียก่อนไปฟัง พระเอกนางเอกไม่เลือกคนสวย เลือกเอาเสียงดีเป็นสำคัญ บางทีนางเอกอายุตั้ง ๔๐ กว่าแล้ว และอ้วนอย่างน่าเกลียด
        สำหรับ Musical Comedy ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด ได้เคยดูนับสิบๆเรื่อง ละครชนิดนี้เมื่อเข้าไปดูแล้วเย็นหู เย็นตา เย็นใจ และได้หัวเราะ คือเพลงก็เพราะ ผู้หญิงแสดงก็เลือกสวยๆมาทั้งนั้น ฉากก็สวย เรื่องก็ขบขัน ความพร้อมเพรียงของผู้หญิงสวยๆ นับสิบๆ คนเต้นรำน่าดูมาก
        สำหรับ Farce นั้น คือละครพูดที่มีเนื้อเรื่องขบขัน ละครชนิดนี้ข้าพเจ้าชอบมากเหมือนกัน ที่ติดอกติดใจไม่ลืมก็คือเรื่อง "Charley's Aunt" ได้หัวเราะและเพลิดเพลินตลอดเรื่อง
        สำหรับ Mystery Play นี้หวาดเสียวมาก คือต้องมีการฆ่ากันตายและตามเรื่องเราต้องสงสัยคนเล่นเกือบทุกคนว่าเป็น ฆาตกร พอใครออกมาเราก็สงสัยว่าอ้ายหมอนี่แน่ แล้วผลที่สุดอาจเป็นคนที่เราไม่นึกเลย แสดงว่าเขาแต่งเรื่องดีมาก คนเล่นก็แสดงได้ดี ดูละครชนิดนี้บางตอนใจเต้นพอใช้ ข้าพเจ้าได้เคยดูหลายเรื่อง แต่ขอบมากคืนเรื่อง "The Bat"
        สำหรับ play เป็นละครพูดธรรมดา แต่ก็มีคนนิยมกันมาก ละครชนิดนี้มักจะเล่นในโรงขนาดเล็กหน่อย ไม่ค่อยอึกทึกครึกโครมเหมือนละครอย่างอื่น
        สำหรับ Varieties คือการแสดงเบ็ดเตล็ด อาจมีละครสั้นๆ มีเต้นรำ มีเพลง มีเล่นกล มีห้อยโหนกายกรรม และสิ่งแปลกๆ อื่นๆ การแสดงชนิดนี้ก็มีมาก
        สำหรับ Burlesque นั้น คือละครดนตรีและเต้นรำ ผู้ดูส่วนมากเป็นผู้ชาย ผู้หญิงดีๆ ดูเหมือนจะไม่เข้าดูละครนี้เลย เพราะการแต่งกายของผู้หญิงผู้แสดงค่อนข้าง "โป๊" และคำพูดขบขันก็มักจะโลน โรงละครชนิดนี้เขาอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ เข้าไปดูแล้วเวลาออกมาเสื้อผ้าเหม็นบุหรี่หมด
        ร้านขายอาหารในประเทศอเมริกานั้นมีมากมายก่ายกอง นอกจากในสถานที่หรูๆ เช่นในโฮเต็ลหรือโรงเต้นรำดีๆ แล้วก็ร้านย่อยอยู่ทุกถนนหนทาง ร้านเหล่านี้บางร้านเปิดวันละ ๒๔ ชั่วโมง แต่โดยมากเปิดจนดึกดื่น ฉะนั้นเวลาที่เราไปเที่ยวไหนกลับดึกๆ ไม่ต้องกลัวหิว มีที่กินทุกหนทุกแห่ง เรื่องการกินแล้วนับว่าสะดวกมาก มีร้านอยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า Automatic Lunch ร้านชนิดนี้พอเข้าไปเราก็เข้าไปหยิบถาด ผ้าเช็ดมือและช้อนซ่อมเท่านั้น แล้วก็เดินไปเที่ยวหาอาหารซึ่งเขาแยกไว้เป็นประเภทๆ เช่นซุปพวกหนึ่ง ไก่พวกหนึ่ง เนื้ออีกพวกหนึ่ง ฯลฯ เป็นตู้กระจกเล็กๆ เราอยากรับประทานอะไร เราก็หยอดสตางค์ตามราคาของเขาลงไป แล้วตู้กระจกนั้นก็เปิด เราก็หยิบอาหารจากนั้นมาใส่ถาด ต้องการดื่มน้ำชา กาแฟ หรือโกโก้ ก็หยิบถ้วยมาวางไว้ที่ก๊อกซึ่งเขามีป้ายบอกว่าเป็นอะไร หยอดสตางค์ลงไป ชาหรือกาแฟนั้นก็ไหลออกมาพอดีเต็มถ้วย ดังนี้ เป็นต้น ร้านชนิดนี้ไม่ต้องมีคนเซิฟอาหาร เราไปสั่งอาหารแล้วเราก็ยกไปนั่งรับประทานของเราเอง ทั้งนี้เป็นการประหยัดคนทำงานของเจ้าของร้าน และเป็นการประหยัดการให้รางวัลคนใช้ของผู้เข้าไปรับประทาน ใกล้ๆกับมหาวิทยาลัยมีร้านจำพวกนี้มาก เพราะพวกนักเรียนมีสตางค์น้อยจะได้ไม่ต้องสิ้นเปลือง แบบในร้านที่หรูๆ แล้วมีผู้หญิงแต่งฟอร์มสวยๆ เป็นคนเซิฟ และบางแห่งก็มีดนตรีบรรเลงเวลารับประทานอีกด้วย
        สำหรับผลไม้ในประเทศอเมริกา ที่ไม่มีในประเทศไทย ก็มีลูกพีช ลูกแพร์ ลูกเชอรี่ ลูกพลัม พวกเบอรี่ก็มี สตรอเบอรี่ แรสเบอรี่ แบลคเบอรี่ บลู เบอรี่เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุดเห็นจะเป็นลูกเชอรี่
        ขนมต่างๆ เขาก็ทำน่ารับประทานมาก คือทั้งหอมหวานและมัน ที่ข้าพเจ้าชอบมากก็คือ French Pastry, Strawberry Short Cakes และ Pan Cakes เหล่านี้

๙๑. หน้าร้อนสุดท้ายในอเมริกา

       หน้าร้อนปีนี้ (๒๔๖๘) อยู่บอสตันเกือบตลอดเวลา เที่ยวกับเพื่อนนักเรียนไทยบ้าง พามิวเรียลและคนรู้จักอื่นๆ ไปเที่ยวในสถานที่สุกสนานต่างๆ เช่นไปดูหนังบ้างไปสนุกกันที่ "รีเวียบีช" บ้าง
       หน้าร้อนนี้ได้เดินทางลงไปกรุงวอชิงตันโดยรถยนต์สองครั้ง ครั้งที่หนึ่งพวกเพื่อนนักเรียนไทยชวนลงไปเที่ยว ไปอยู่ ๑๐ กว่าวัน ได้พบปะเที่ยวกับเพื่อนฝูงเก่าๆ และได้เลยลงไปเที่ยวเมืองริชมอนด์ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำเจมส์ในมลรัฐเวอร์ยิเนียไปโดยรถยนต์ เมืองนี้อยู่ใต้กรุง วอชิงตันประมาณ ๑๑๕ ไมล์ เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง มีความสำคัญคือ มีไร่ยาสูบพันธุ์เวอรยิเนียมาก และเป็นเมืองอุตสาหกรรมกับเป็นเมืองท่าเรือด้วยเมืองที่อยู่ใต้กรุงวอชิงตัน เช่นเมืองนี้ เต็มไปด้วยคนผิวดำ และพวกผิวดำนี้ถูกฝรั่งดูถูกมาก ในรถไฟก็ต้องนั่งแยกกันคนละคัน สถานีรถไฟก็มีห้องพักคนละด้าน มีป้ายบอกหน้าห้องฝรั่งว่า "White" และป้ายสำหรับผิวดำว่า "Black" รถรางมีรถพ่วงหนึ่งคัน คันหน้าสำหรับฝรั่ง และคันหลังสำหรับพวกผิวดำ โรงหนัง โรงละครหรือโรงแรมแยกกันเด็ดขาดทีเดียว เป็นที่น่าสงสารคนผิวดำมากจะร่วมทางกับฝรั่งไม่ได้เลย เมืองริชมอนด์นี้สวยงามพอดู ถนนสายหนึ่งซึ่งเป็น Residential quarters นั้นมีบ้านงามๆ โดยมากเป็นแบบสเปนนิช
        ครั้งที่สองไปพบคุณพระสันธิผู้ดูแลนักเรียน เพื่อจัดการเรื่องซื้อตั๋วเรือที่จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยที่กรมพระจันทบุรีฯได้โทรเลขมาขอให้กลับมาเป็นเลขานุการของพระองค์ท่าน และอนุญาติให้กลับผ่านทางยุโรป ในการที่จะเดินทางกลับนี้ได้ขายรถยนต์ได้เงินสดมา ๔๕๐ เหรียญ รัฐบาลให้ ๘๐๐ เหรียญ และบิดาได้ส่งมาให้ ๗๐๐ เหรียญ รวมเป็นเงินได้ ๑,๘๕๐ เหรียญ ต้องจัดซื้อหีบและของจำเป็นสำหรับเดินทาง โดยเฉพาะค่าเรือจากอเมริกาถึงกรุงเทพฯ ต้องจ่ายราว ๖๐๐ เหรียญ
       ในเรื่องการลาเพื่อนฝูงเพื่อกลับเมืองไทยนั้น มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งขำดีมาก ข้าพเจ้าต้องขอจดไว้เพื่อความจำ ในกรุงวอชิงตันนี้ข้าพเจ้ารู้จักผู้หญิงรุ่นสาวและสวยอยู่หลายคน ข้าพเจ้าได้ไปลาทุกคน สำหรับคนหนึ่งได้ชวนเขาไปขี่รถออกไปนอกเมือง คุยถึงเรื่องเก่า ๆ บ้าง ฯลฯ แล้วข้าพเจ้าก็บอกว่าจะกลับเมืองไทยแล้ว อย่าลืมกัน ข้าพเจ้าก็ไม่ได้นึกอะไรมาก ถามเขาว่าอยากไปเมืองไทยไหม? ถามเท่านี้แกเข้าใจว่าข้าพเจ้าขอแต่งงานด้วย แล้วไปอยู่เมืองไทยด้วยกัน คำตอบของแกจึงกลายเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตแก แกขอตรึกตรองดูอีกวันสองวันก่อน ข้าพเจ้าตกใจ ครั้นจะบอกว่าข้าพเจ้าไม่ได้หมายความอย่างนั้น ก็เกรงแกจะเสียอกเสียใจและเกรงใจแก เลยต้องนำแกพูดนอกเรื่อง วันนั้นใจหายเอามาก
       ระหว่างฤดูร้อนเวลาอยู่ในเมืองบอสตันนั้นได้ไปดูเบสบอลเกมเสมอ ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวแล้วว่า เกมนี้เป็นเกมที่มีการเล่นอาชีพกันมาก ให้เงินเดือนคนเล่นกันแพงๆและระหว่างทีมต่างๆมีการซื้อขายคนเล่นดีๆ กันด้วยราคาสูงมาก เบสบอลสเตเดียมขนาดใหญ่จุคนได้หลายหมื่นคน สำหรับทีมอาชีพมีในทุกเมืองใหญ่ ระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนกันยายนทุกๆปี มีการแข่งขันแทบทุกวันในเมืองใหญ่ๆ เพราะมีทีมอาชีพชั้นที่หนึ่งมีด้วยกันถึง ๑๖ ทีม แบ่งเป็นสอง League เรียกว่า American League มีอยู่ ๘ ทีม และ National League อีก ๘ ทีม คนอเมริกันชอบชีวิตสนุกสนานมาก ชอบดูทุกสิ่งทุกอย่างแม้ต้องเสียค่าผ่านประตูสูงๆ การแข่งขันกีฬาต่างๆ ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ ฉะนั้นในประเทศอเมริกาถ้าเล่นกีฬาเก่งก็รวยเหมือนกัน เพราะได้รับค่าจ้างเล่นแพงๆ มาก ดาราละครและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงก็ร่ำรวยมาก แต่พวกนี้ได้มากก็ใช้มากเหมือนกัน
        ต้องขอกล่าวถึงมิวเรียลอีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ได้ติดต่อกับเขาตลอดมารู้สึกว่าเป็นหญิงที่ดีเหลือเกิน ข้าพเจ้าจะจากเขาไปไหนจะเป็นกี่วันก็ตาม เขาต้องเขียนจดหมายถึงข้าพเจ้าทุกวัน บางวันตั้งสองฉบับ ในระหว่างหน้าร้อนเขาไม่อยากอยู่เปล่าได้ไปสมัครทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือนอาทิตย์ละ ๑๕ เหรียญ พอเงินเดือนออกเขาก็จัดการซื้อผ้าผูกคอบ้าง ผ้าเช็ดหน้าบ้างและขอใช้อื่นๆบ้างให้ข้าพเจ้า เขาทำอาหารเย็นให้ข้าพเจ้ารับประทานแทบทุกเย็น เมื่อตอนข้าพเจ้าจะกลับประเทศไทยเขาไปทำแหวนให้วงหนึ่ง ใส่ Blood Stone ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง ตอนไปลงเรือที่กรุงนิวยอร์คเขาเขียนหนังสือไปคอยดักที่เรือตั้ง ๔-๕ ฉบับและโทรเลขตามไปอีก คืนก่อนเรือออกเขาสั่งให้โทรศัพท์ถึงเขา ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ทางไกลจากกรุงนิวยอร์คไปบอสตัน เกือบจะว่าไม่ได้พูดอะไรกันเลยเพราะแกร้องไห้ตลอดเวลา เมื่อข้าพเจ้าออกมาจากอเมริกาแล้ว เพื่อนสนิทที่ข้าพเจ้าได้ฝากฝังมิวเรียลไว้ได้เขียนเล่ามาให้ฟังว่าแกกินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องไปเจ็บอยู่ในโรงพยาบาลเดือนเศษ ตลอดการเดินทางในยุโรป ในเรือจากยุโรปจนกระทั่งถึงเมืองไทย หนังสือของเขาได้ไปคอยอยู่ทุกแห่ง รู้สึกว่าเขารักข้าพเจ้ามาก
        ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองบอสตันนี้ ๓ ปีเต็มๆ รู้สึกชอบมาก คือมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการในทุกๆทาง และในเวลาเดียวกันก็เป็นเมืองที่ไม่ใหญ่โตเกินไปหรือพลุกพล่าน เช่น นิวยอร์คหรือชิกาโก ข้าพเจ้าได้เพื่อนฝูงที่รักใคร่กันมาก บางครอบครัวก็เชิญไปรับประทานอาหารและคุยด้วยกันเสมอ และทุกแห่งเขายกย่องไว้วางใจข้าพเจ้ามาก ดังที่ได้เล่ามาแล้ว
        ก่อนออกจากบอสตันเพื่อไปลงเรือที่กรุงนิวยอร์ค มีเรื่องขำๆ และน่าจดไว้เพื่อความจำอยู่เรื่องหนึ่ง คือข้าพเจ้าเป็นคนขับรถเร็ว จึงถูกตำรวจจับหลายครั้ง ทุกครั้งที่ถูกจับก็ได้รับตั๋วจากตำรวจจราจรให้ไปรายงานตัว เพราะไปคิดเสียว่าอีกไม่นานเราก็จะจากบอสตันและจากประเทศอเมริกาไปแล้ว ช่างเถิดคงหาตัวเราไม่พบ แต่บังเอิญเคราะห์ของข้าพเจ้ายังไม่ดีถึงเพียงนั้น คือ เช้าวันหนึ่งก่อนข้าพเจ้าออกเดินทางจากบอสตันเพียงวันเดียวเท่านั้น ตำรวจสักครึ่งโหลได้ขึ้นมาในห้องปลุกข้าพเจ้าลุกขึ้นจากเตียง คุมตัวไปขึ้นรถตำรวจและให้นั่งไปหน้ารถกับเขาแล้วรถก็เปิดแตรไซเรนดังลั่นผ่านไปในเมืองไปที่ศาล ระหว่างทางคนดูสองข้างทาง เพราะบังเอิญเช้าวันนั้นมีหนังสือพิมพ์ลงตัวเป้งว่า หัวหน้าของอั้งยี่จีนถูกจับตัวได้แล้ว ประชาชนทั้งหลายคงคิดว่าข้าพเจ้านี่แหละคือหัวหน้าอั้งยี่จีน พอถึงศาลใจคอไม่ดี ไม่รู้ว่าเขาจะตัดสินอย่างใด ถ้าโดนเข้ากรงขังสัก ๗ วัน ก็คงไม่ได้กลับเมืองไทยแน่ พอถึงเรื่องข้าพเจ้าเขาก็เรียกชื่อข้าพเจ้า เราก็ยิ้มแป้นเข้าไปหาผู้พิพากษา แกเห็นข้าพเจ้าเป็นคนต่างชาติจึงถามว่ามาจากไหน ข้าพเจ้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใสตอบว่าจากประเทศไทย มาเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน แกก็เลยทึ่งเรื่องประเทศไทย หันไปบอกเจ้าหน้าที่ว่า "ยกฟ้อง" แล้วก็ถามเรื่องประเทศไทยต่างๆ ราวสัก ๕ นาที แล้วก็ปล่อยตัวข้าพเจ้า เป็นอันว่าสิ้นทุกข์ไปที วิธียิ้มเข้าหานี้ไม่เลวเลย สำเร็จมาหลายเรื่องแล้ว

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ