[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๑,   ตอนที่ ๑

2.  สหรัฐอเมริกา,  พ.ศ. ๒๔๖๐

    ๔. การเดินทางไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ (๒๔๖๐)
    ๕. ถึงกรุงวอชิงตัน
    ๖. ไปตากอากาศหน้าร้อนกับสถานทูต ณ เมืองกลอสเตอร์
    ๗. เจ็บเป็น "ฟลู" ทูลกระหม่อมแดงทรงอุปการะ

    ไปที่

    สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ๑
    สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ๒
    สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ๓
    สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ๔

๔. การเดินทางไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ (๒๔๖๐)

       คุณประสบ (พระพิศาลสุขุมวิท) (รูปภาพ) พี่ชายข้าพเจ้าป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบในประเทศอังกฤษเมื่อทำการผ่าตัดแล้วนายแพทย์ได้แนะนำให้กลับมาพักผ่อนในประเทศไทย ครั้นเมื่อหายสนิทดีแล้วจะกลับไปศึกษาต่อ ณ สหรัฐอเมริกา บิดาข้าพเจ้าจึงได้ดำริให้ข้าพเจ้าออกไปศึกษาวิชา ณ สหรัฐอเมริกาพร้อมกับพี่ชายอีกด้วย จึงได้ตระเตรียมตัว การจะไปเมืองนอกสมัยนั้นต้องนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องเตรียมตัวกันนาน การไปสหรัฐอเมริกาต้องกินเวลาเดินทางถึงเดือนครึ่ง เพราะไม่มีเรือบิน นอกจากนั้นยังไม่มีภาพยนตร์สีหรือภาพยนตร์พูดได้มาให้เราเห็นบ้านเมืองของเขา หรือได้เห็นขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขามากนัก ดูรู้สึกว่าประเทศยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาอยู่ห่างไกลกับเรามาก ไม่เหมือนในสมัยหลังๆ ที่มีเรือบินแล้ว ระยะกรุงเทพฯ กับยุโรปเพียงวันเศษๆ และอเมริกาก็เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ใกล้กว่าไปบางจังหวัดในประเทศไทยเสียอีก
        มีประเพณีของคนไทยว่าก่อนจะออกเดินทางไปศึกษา ณ ต่างประเทศผู้ปกครองมักจะพาไปลาเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และญาติผู้ใหญ่ ฉะนั้นสำหรับตัวข้าพเจ้าจึงถูกนำไปลาหลายท่าน และก็เป็นประเพณีที่ท่านเหล่านั้นจะต้องให้คำอวยพรและของขวัญซึ่งอาจจะเป็นเงินทองหรือของก็ได้ ข้าพเจ้าได้รับเงินและของที่ระลึกเป็นจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้นได้มีโอกาสเข้าไปกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่ยืนคอยพระองค์ท่านจนท่านได้เสด็จลงมารับสั่งด้วยนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก ได้ทรงสั่งสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้ทำชื่อเสียงสำหรับประเทศชาติและโรงเรียนเป็นต้น เป็นที่จับใจอย่างยิ่ง
        วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ อายุได้ ๑๓ ปีเศษ ได้ลงเรือ "กัวลา" เพื่อออกเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา การไปครั้งนี้มีผู้คนไปส่งมากมายเพราะมีผู้เดินทางร่วมไปด้วยกันหลายคน สำหรับนักเรียนมหาดเล็กไปส่งทั้งโรงเรียน เพราะมีนักเรียนไปด้วยกันคราวนี้ถึง ๔ คน คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา นายเนิ่น ศิลปี นายเจียม ลิมปิชาติ (หลวงชาติตระการโกศล) และข้าพเจ้า นอกจาก ๔ คนนี้ผู้ที่ออกไปด้วยกันคราวนี้มี พระยาและคุณหญิงชนินทรภักดี หลวงนารถบัญชา (พระยาวิฑูรธรรมพิเนต), คุณประสบ สุขุม (พระพิศาลสุขุมวิท), นายขาว ณ ป้อมเพ็ชร (หลวงวิชิตอัคนี), นายบุญเชย ปิตรชาติ (หลวงประพันธ์ไพรัชชพากย์), นายสิงห์ ไรวา (พระนรราชจำนง), นายนิตย์ เปาวเวทย์ (หลวงนิตย์เวชชวิศิษฐ), นายลิ ศรีพยัต (หลวงลิปิธรรมศรีพยัต), นายอรุณ วิจิตรานนท์, นายศิริ หัศดิเสวี, นายเจริญ หัศดิเสวี (หลวงนฤสารสำแดง), นายเชื้อ คชเสนี, นางสาวสังวาลย์ (สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์), นางสาวอุบล ปาลกวงศ์, หม่อมเจ้า วรพงศ์ (รูปภาพ) เมื่อตอนเรือจะออกรู้สึกใจหายที่จะต้องจากบิดามารดา จากบ้านจากเพื่อนฝูง ข้ามน้ำข้ามทะเลไปตั้งครึ่งรอบโลกไปอยู่ในหมู่คนที่ไม่ใช่ชาติภาษาเดียวกับเรา สำหรับมารดาข้าพเจ้าดูรู้สึกท่านเป็นห่วงมาก เพราะเหตุว่าเป็นลูกของท่านไปศึกษา ณ ต่างประเทศเป็นคนที่ ๓ เมื่อเรือออกจากท่าแล้วท่านก็ขึ้นรถยนต์ไปปลายถนนคลองเตย (ขณะนั้นมีถนนไปได้เพียงนั้น) คอยโบกมือเป็นครั้งสุดท้ายในเมื่อเวลาเรือผ่าน
        การเดินทางคราวนี้เนื่องจากเป็นเวลาระหว่างสงครามโลก (ครั้งที่หนึ่ง) จึงต้องเดินทางไปทางประเทศญี่ปุ่น เรือ "กัวลา" เป็นเรือขนาดเล็กมีน้ำหนักราว ๑,๐๐๐ ตัน เดินระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ ซึ่งมีระยะทาง ๘๐๐ กว่าไมล์ ชีวิตในเรือก็เงียบๆ แต่ที่รู้สึกสนุกเพราะเต็มไปด้วยพวกเรา รู้สึกออกตื่นๆ หน่อยเนื่องจากไม่เคยเดินทางไปไหนไกลๆ
        วันที่ ๒๗ เช้ามืดเรือถึงสิงคโปร์ คืนก่อนวันนี้พวกเราได้นั่งคุยอยู่จนดึกเพราะเข้านอนก็ไม่หลับ ตื่นเต้นเรือจะถึงสิงคโปร์ เมื่อเข้านอนได้สักครู่ก็รีบลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวตั้งแต่ตี ๓ เพื่อคอยดูเรือเข้าอ่าวเมืองสิงคโปร์ ก่อนเช้ามืดก็ได้แลเห็นไฟประภาคารบอกทางเรือเข้าท่า เมื่อเรือจอดเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปพักที่โฮเต็ล "อเดลฟิ" แล้วได้ไปเที่ยวดูตามห้างร้านต่างๆ และเช่ารถยนต์เที่ยวรอบเมือง สิงคโปร์ในเวลานั้นตามความรู้สึกเท่าที่จำได้ก็ไม่วิเศษไปกว่ากรุงเทพฯเท่าใดนัก นอกจากความสะอาดและมีถนนหนทางออกไปไกลๆ และเป็นถนนลาดยาง ตัวเมืองสิงคโปร์ตั้งอยู่บนเกาะปลายแหลมมลายู ซึ่งอยู่เหนือเส้นอีเควเตอร์ไม่ถึงหนึ่งดีกรี มีเนื้อที่ประมาณ ๒๒๐ ตารางไมล์ มีพลเมืองขณะนั้นสองแสนเศษตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญของชาวมลายูในศตวรรษที่ ๑๓ และ ๑๔ แล้วถูกพวกชวารุกรานจึงหมดความสำคัญไป พึ่งจะมาเฟื่องฟูขึ้นอีกเมื่อตอน "เซอร์ สแตมฟอร์ตแรฟเฟิลล์" มาเป็นผู้ว่าราชการในเกาะสุมาตราเมื่อ ค.ศ.๑๘๑๙ และก็เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตลอดมาจนบัดนี้ ประชาชนในเมืองนี้โดยมากเป็นจีนและมลายู
        วันที่ ๒๘ เวลาบ่ายออกจากสิงคโปร์โดยเรือ "วอนเดล" เป็นเรือบริษัทฮอลันดา มีน้ำหนักหมื่นกว่าตัน โดยเหตุที่เรือลำนี้เป็นเรือขนาดใหญ่จึงจอดไกลออกไปจากท่า เราต้องลงเรือเล็กไปไกลทีเดียว เรือลำนี้สะอาดมากแต่รู้สึกโคลงหน่อย เวลาเข้าห้องอาหารรำคาญที่ว่าบัญชีอาหารเป็นภาษาฮอลันดา ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรบ้างได้แต่ชี้มือลงไปในบัญชีอาหารนั้น บ๋อยยกอะไรมาให้ถ้าอร่อยก็ดีไป ถ้าไม่อร่อยก็ทนกินไป ในเรือลำนี้ได้ร่วมห้องกันไปกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ความสนิทสนมกับพระองค์เจ้าอาทิตย์นั้นมีอยู่มาก เพราะแทนที่จะแยกกันนอนคนละเตียง เราก็ได้มารวมนอนอยู่เตียงเดียวกันตลอดเวลา
        วันที่ ๒ กันยายน ถึงฮ่องกง เรือแล่นเข้าไปในอ่าวฮ่องกง สวยมาก เพราะเมืองตั้งอยู่แต่เนินเขาขึ้นไปบนเขา มีบ้านเรือนอยู่บนเขาไม่น้อย ในเวลากลางคืนมองจากในเรือหรือมองจากฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะฮ่องกง คือเมืองเคาลุนจะเป็นเมืองฮ่องกงสวยงามมาก เพราะมีแสงไฟ ตามบ้านเรือนตั้งแต่ริมทะเลขึ้นไปถึงยอดเขาอย่างสว่างไสว พวกเราได้ขึ้นไปพักที่ "โฮเต็ลคิง เอ็ดวาร์ด" เพื่อคอยเปลี่ยนเรือถึง ๕ วัน ในระหว่างพักคอยเรือนี้ได้เที่ยวตลอดทั่ว ตลอดจนได้ขึ้นรถรางลากด้วยสายลวดขึ้นไปบนภูเขา ซึ่งเห็นเป็นของแปลกเพราะไม่เคยเห็น ขึ้นไปจนถึงสถานีสูงสุด อากาศเย็นสบายดี มองลงมาดูเมืองฮ่องกงและอ่าวฮ่องกงสวยมาก เห็นเรือใหญ่ๆจอดอยู่หลายลำในวันหลังๆได้มีโอกาสข้ามไปชมเมืองเคาลุนด้วย รถรางที่วิ่งอยู่ในเมืองฮ่องกงนี้เป็นรถรางสองชั้น รู้สึกโงนเงนน่ากลัวล้มแต่ดูก็แปลกดี
        ฮ่องกงเป็นเกาะมีเนื้อที่ประมาณ ๓๒ ตารางไมล์ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำกวางตุ้ง และห่างจากเมืองกวางตุ้งประมาณ ๖๐ ไมล์ ตกมาเป็นของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.๑๘๔๑
        ระหว่างพักอยู่ที่ฮ่องกงนี้พวกเราได้ถ่ายรูปหมู่ด้วยกันเป็นที่ระลึก สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างหนึ่งในฮ่องกงก็คือต้องให้แพทย์ตรวจตา ผลของการตรวจปรากฏว่าพวกเราผ่านไปได้ทุกคน นอกจากพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายเจียม ลิมปิชาติ ซึ่งจะต้องไปหยุดทำการรักษาในประเทศญี่ปุ่นเสียก่อนจึงจะเดินทางต่อไปได้
        เกร็ดสนุกๆ ในการเดินทางนี้โดยมากก็เห็นจะเป็นด้วยเรื่องไม่รู้ภาษากัน ต้องใช้ภาษากลาง (ภาษาใบ้) เป็นส่วนมาก และต้องคอยระวังคนโกง
        วันที่ ๗ กันยายน ออกจากฮ่องกงโดยเรือ "ชินโยมารู" เป็นเรือบริษัทญี่ปุ่นมีน้ำหนักสองหมื่นกว่าต้น ในห้องเราอยู่ด้วยกัน ๔ คนคือ คุณประสบ นายขาว นายเนิ่น และข้าพเจ้า ในระหว่างทางฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้โดนคลื่นใต้ฝุ่นอย่างแรงถึงกับเรือต้องหยุดเดินหลายชั่วโมง ระหว่างโดนคลื่นนี้ มีคนโดยสารลงไปรับประทานอาหารในห้องรับประทานอาหาร ๒-๓ คนเท่านั้น เมาคลื่นกันหมด ข้าพเจ้าเองไม่รู้สึกเมาเท่าใดนักแต่ไม่ทะนงตัว เมื่อลุกขึ้นแล้วเห็นท่าทางไม่สู้จะดี ก็ผลัดเครื่องแต่ตัวเข้านอนอีก ส่วนนายเนิ่นอวดว่าไม่เมา ตื่นแต่เช้าออกไปเดินข้างนอกแล้วกลับมาคุยให้เราทั้ง ๓ ซึ่งนอนอยู่ว่า คลื่นใหญ่เพียงใดสาดขึ้นถึงบน "เด็ค" ข้างบน แต่เขาก็สามารถเดินรอบ "เด็ค" ได้ คุยอยู่สักครู่หนึ่ง ถ้าจะรู้สึกไม่ค่อยดีก็ผลัดเครื่องแต่งตัวเข้านอน อีกสักครู่เดียวเท่านั้น นายเนิ่นก็ตะโกนร้องเรียกกระโถนลั่นห้องทีเดียว มีอยู่ข้างในเท่าใดก็ปล่อยออกมาหมด เป็นอันว่าเมาก่อนเพื่อน
        เรือถึงเซี่ยงไฮ้วันที่ ๑๐ กลางวันถึงช้าไปหลายชั่วโมงจึงหยุดไม่นาน พวกเราเลยไม่ได้ขึ้นเที่ยว เพราะเรือจอดอยู่ที่ปากแม่น้ำถ้าจะขึ้นเที่ยวในเมืองต้องลงเรือเล็กไปตามแม่น้ำอีกหลายชั่วโมงจึงจะถึงตัวเมือง
        ค่ำวันที่ ๑๐ นั้น เรือออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นต่อไป วันที่ ๑๓ เช้าถึงนากาซากี พอเรือจอดก็มีพวกพ่อค้าแม่ค้านำของขึ้นมาขายบนเรือ โดยมากเป็นของเล่นแปลกๆและผลไม้ ข้าพเจ้าได้ลองชิมลูกสาลี่ญี่ปุ่นซึ่งหอมหวานและนุ่มน่ารับประทาน รู้สึกชอบมาก ตอนเรือถึงญี่ปุ่นนี้แม้ข้าพเจ้าจะยังมีอายุน้อยอยู่ก็ดี แต่ยังจำได้ว่ามีความรู้สึกว่า การที่ได้เดินทางออกมาต่างประเทศและได้เห็นความเป็นไปของประเทศต่างๆ หลายแห่งมาแล้วนี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้รอบตัวขึ้นอีกมาก รู้สึกตัวทีเดียวว่ากว้างขวางขึ้น ได้เห็นขนบธรรมเนียมและประเพณี บ้านเรือน ผู้คนความเป็นอยู่ของแต่ละแห่งซึ่งไม่เหมือนกัน ได้มีเวลาขึ้นเที่ยวในเมืองนากาซากีนี้อย่างสนุกตามประสาเด็กๆได้ไปชมห้างร้านต่างๆหลายสิบแห่ง รู้สึกว่าข้าวของราคาถูกและมีของเล่นมาก ร้านที่ทำของด้วยไม้ไผ่และไม้อื่นมีจำนวนมาก ทำของเล่น ทำหีบกลไกต่างๆ เมืองนากาซากีนี้ใหญ่โตพอดู
        วันที่ ๑๔ ออกเดินทางต่อไป วันที่ ๑๕ ถึงเมืองโกเบซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นเมืองหนึ่ง เรือหยุดที่นี่ ๒ วัน ได้ขึ้นเที่ยวอย่างสนุก โฮเต็ลในเมืองนี้ใหญ่โตและสวยมารก ที่สะดุดนัยน์ตามากที่สุดก็คือเขาใช้ผู้หญิงทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย วันที่ ๑๗ ออกเดินทางต่อไป วันที่ ๑๘ ถึงโยโกฮามา เมืองนี้เป็นเมืองท่าใหญ่ใกล้กับกรุงโตเกียวขึ้นรถยนต์ ๔๕ นาทีก็ถึง ได้ไปเดินเที่ยวเล่นในเมืองทั้งกลางวันและกลางคืนสนุกสนานดีตามถนนสายสำคัญๆมีผู้คนเดินไปมาหนาแน่น ในเวลากลางคืนก็มีแสงไฟอย่างสว่างไสว
        วันที่ ๑๙ เรือออกจากโยโกฮามาข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินทางในเรือใหญ่ๆนี้สนุกสนานเพลิดเพลินดี ในเวลากลางคืนทุกคืนมีภาพยนตร์และ เต้นรำ เวลารับประทานอาหารทั้งกลางวันกลางคืนมีดนตรีบรรเลงให้ฟัง เวลากลางวันมีเกมส์ต่างๆ เช่น เด็คเทนนิส, อินดอร์เบสบอล, ซัฟเฟิลบอร์ด เป็นต้น วันหนึ่งได้มีการแข่งขันกีฬาซึ่งข้าพเจ้าได้เข้าแข่งขันกับเขาด้วย แม้จะเป็นการแข่งขันของผู้ใหญ่ แต่ข้าพเจ้าก็ยังได้ชนะผู้ใหญ่และได้รับรางวัล ๒ อย่าง สำหรับอาหารการกินในเรือเช่นนี้นับว่าดีมากทีเดียว อาหารเช้ามีให้เลือกรับประทานหลายอย่าง ล้วนแล้วแต่ของที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ตอนสายหน่อยประมาณ ๕ โมงเช้าก็มีซุปและบิสกิตเซิฟรอบๆ "เด็ค" อาหารกลางวันเป็นอาหารที่หนักและมีให้เลือกรับประทานมากอย่างเช่นกัน บ่าย ๔ โมงรับประทานน้ำชา ถึงเวลาอาหารค่ำก็มีอาหารที่หนัก และให้เลือกได้เช่นอาหารกลางวัน การรับประทานอาหารค่ำนั้นพวกผู้ใหญ่มักจะแต่งเครื่องราตรี อนึ่ง การเดินทางข้ามหาสมุทรแปซิฟิคนี้มีสิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออก คือจากญี่ปุ่นไปอเมริกา หรือที่เรากำลังเดินทางอยู่บัดนี้ เวลาข้ามเส้นแวง ๑๘๐ องศา (Longtitude) จะต้องมีวันซ้ำกันวันหนึ่ง เช่นวันนี้เป็นวันอังคาร พรุ่งนี้เป็นวันอังคารอีกวันหนึ่ง ถ้าเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก (คือจากอเมริกามาญี่ปุ่น) วันจะหายไปวันหนึ่ง คือวันนี้เป็นวันอังคาร พรุ่งนี้เป็นพฤหัสบดี
        เรือเดินมหาสมุทรทุกลำจะต้องมีเครื่องวัดว่า วันหนึ่งๆ เดินทางไปได้กี่ไมล์แล้วทุกๆ วันเวลาเที่ยงที่ๆติดแผนที่ทางเดินเรือ เจ้าหน้าที่จะได้มาขีดกาไว้ว่าเรือถึงตรงไหนแล้ว และในวันที่แล้วมาเดินทางมาได้กี่ไมล์ ฉะนั้น ผู้โดยสารทุกคนจึงรู้ทุกวันว่าเราถึงไหนแล้ว
        ในห้องเขียนหนังสือของเรือ มีกระดาษเขียนจดหมายและซองวางไว้ให้อย่างพร้อมเพรียงจะใช้เท่าใดก็ได้ นอกจากนั้นยังมีโปสการ์ดรูปเรือและรูปห้องต่างๆ ของเรือไว้ให้อย่างมากมาย จะเขียนถึงใครสักเท่าใดหรือจะเก็บไปเป็นที่ระลึกบ้างก็ได้
        วันที่ ๒๙ กันยายน เช้า เรือถึงเมืองโฮโนลูลูซึ่งเป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะฮาวาย รวมเดินทาง ๑๐ วัน ไม่เห็นฝั่งเลย แต่เคราะห์ดีที่คลื่นลมสงบจึงสนุกสนานกันมาก เมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วพวกเราก็ได้ขึ้นไปเที่ยวในเมืองทั้งกลางวันและกลางคืน บ้านเมืองของเขาใหญ่โตสวยงามและน่าดูน่าเที่ยวพอใช้ ในโฮเต็ลใหญ่ๆ มีดนตรีพื้นเมือง (ฮาวาย) บรรเลงให้ฟัง ข้าพเจ้าชอบดนตรีของเขามากเพราะเสียงหวานเย็นฟังแล้วจับใจยิ่ง สำหรับอากาศในเมืองนี้สบายมากเพราะไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดตลอดปี
        วันที่ ๓๐ เช้า เรือออกจากโฮโนลูลู เพื่อเดินทางไปซานฟรานซิสโกในสหรัฐอเมริกาต่อไป เป็นขนบธรรมเนียมของท่าเรือเมืองโฮโนลูลูนี้ว่า เมื่อเรือจะเข้าหรือออกจากท่าคณะดนตรีฮาวายประจำท่าเรือจะต้องบรรเลง "อโลฮา" ซึ่งเป็นเพลงทั้งพบและลา (คือทั้ง Hello และ Good bye) ของชาวพื้นเมืองนี้ เพลงนี้ไพเราะมาก ฉะนั้น จึงทำให้ผู้โดยสารส่วนมากมีความรู้สึกอาลัยที่จะจากเกาะนี้ และเมื่อจากไปแล้วก็ยังนึกถึงเพลงนี้ซาบซึ้งอยู่เสมอ
        เกาะฮาวายนี้นายทหารเรืออังกฤษชื่อ กัปตันเจมส์ กุ๊ก ได้มาพบเมื่อ ค.ศ.๑๗๗๘ และได้จัดตั้งเป็น Kingdom เล็กๆ โดยชาวพื้นเมืองเป็นเจ้าแผ่นดิน (แล้วนายทหารเรืออังกฤษผู้นั้นได้ถูกฆ่าตายที่นั่น ค.ศ.๑๗๗๙) ตลอดมาจนถึง ค.ศ.๑๘๙๓ ซึ่งขณะนั้นมีพระนางชาวพื้นเมืองเป็นเจ้าแผ่นดินได้ถูกถอด แล้วตั้งเป็นประเทศรีปับลิค ต่อมา ค.ศ.๑๘๙๘ จึงได้มารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
        เกาะนี้มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกก็เพราะ ๑. ดนตรี มีทำนองเพลงที่ไพเราะ และเครื่องดนตรีที่เล่น ที่เรียกว่า กีตาร์ฮาวาย ก็มีเสียงเหมาะสมกับทำนองเพลง เป็นที่นิยมกันทั่วโลกจนกระทั่งทุกวันนี้ ๒.ระบำ วิธีการเต้นระบำเป็นที่นิยมของคนส่วนมาก คือเขาว่าความเคลื่อนไหวของมือ เท้า และสะเอว เป็นศิลปที่งามมาก และเครื่องแต่งกายที่ออกมาเต้นระบำก็น่าดู คือส่วนบนมีเสื้อผ้าน้อย และส่วนล่างนุ่งกระโปรงหญ้า ๓.สับปะรด เป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมกันมาก ๔.ไม้กระดานเล่นคลื่น เป็นกีฬาของเขาชนิดหนึ่ง คือยืนบนไม้กระดานแล้วคลื่นก็พาเข้ามาถึงฝั่งได้
        วันที่ ๕ ตุลาคม ถึงซานฟรานซิสโกซึ่งอยู่มลรัฐคาลิฟอร์เนีย เมืองนี้เป็นเมืองท่าใหญ่ทางด้านตะวันตก คือทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐอเมริกา คืนก่อนถึงได้มีงานเต้นรำแต่งแฟนซีในเรือสนุกสนานกันมาก เรือแล่นมาเที่ยวนี้เป็นเที่ยวสุดท้ายที่จะใช้กัปตันชาวอเมริกัน ซึ่งในเที่ยวต่อไปจะใช้กัปตันญี่ปุ่น กัปตันชาวอเมริกันคนี้มีลูกชายคนหนึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า ได้มาสนิทสนมเป็นเพื่อนกันดีมาก เสียแต่พูดกันไม่ค่อยจะเข้าใจเรื่อง เขาได้ชวนข้าพเจ้าขึ้นไปเล่นของเล่นกับเขาในห้องกัปตันเสมอ ตำแหน่งกัปตันในเรือเดินมหาสมุทรเช่นนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะต้องรับผิดชอบในเรือทั้งสิ้น ชีวิตผู้โดยสารและคนเรือก็มอบไว้แก่กัปตัน และเมื่อเรืออยู่ในทะเล กัปตันก็คือ King ของเรือลำนั้น มีอำนาจเด็ดขาด ผู้โดยสารหรือคนเรือก็ดีต้องเคารพยำเกรง ผู้โดยสารคนใดได้รับเชิญให้ไปร่วมโต๊ะรับประทานอาหารก็ดี หรือเชิญไปรับประทานน้ำชาที่ห้องเขาก็ดี ต้องนับว่าผู้นั้นได้รับเกียรติเป็นอย่างสูง
        ระหว่างเดินทางมาในเรือ ตามภาษาเด็กได้เคยไปเล่นแกล้งผู้หญิงไทย ๒ คนที่มาด้วย คือนางสาวสังวาลย์ และนางสาวอุบล ซึ่งเดินทางร่วมห้องไปกับผู้หญิงจีนอีก ๔ คน ความซนที่ได้ทำไปก็คือได้ไปที่หน้าห้องของเขา เคาะประตูแล้ววิ่งหนีไปแอบเสีย สองคนเปิดประตูบ่นอุบอิบว่าใครมาเคาะ เที่ยวมองหา เมื่อไม่พบก็ปิดประตู เราก็ตั้งต้นไปเคาะใหม่แล้ววิ่งหนีอีก ไปทำเช่นนี้บ่อยๆ ซึ่งคงทำความรำคาญให้แก่เขาไม่น้อย ถ้าในขณะนั้นจะได้ทราบเหตุการณ์ภายหน้าว่า นางสาวสังวาลย์จะได้เป็นสมเด็จพระราชชนนีแล้วก็คงจะไม่กล้าไปทำเช่นนั้นเป็นอันขาด
        เรือแล่นผ่านเข้ามาในอ่าวเรียกว่า "โกลเดน เกท" คือประตูทองของเมืองซานฟรานซิสโกสวยงามมาก ไม่ช้าเรือก็เทียบท่า ตอนนี้โกลาหลกันหน่อยเพราะต้องให้เจ้าพนักงานด่านภาษีตรวจข้าวของ เมื่อเสร็จการตรวจแล้วพวกเราทั้งหมดก็ต่างแยกกันไปอยู่โฮเต็ลต่างๆ เรา ๔ คนคือ คุณประสบ นายขาว นายเนิ่น และข้าพเจ้าได้ไปพักที่ "แพเลซโฮเต็ล" ซึ่งเป็นโฮเต็ลที่หรูที่สุดในเมืองนี้และแพงเหลือเกิน เมื่อโผล่เข้าไปในโฮเต็ลความงามนั้นยังกับได้เข้าไปในพระ- บรมมหาราชวัง มีห้องโถงใหญ่มีห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องเต้นรำ ห้องเขียนหนังสือ ห้องสูบบุหรี่ ห้องตัดผม ห้องขัดรองเท้า ห้องขายหนังสือพิมพ์ และ "แม็กกาซีน" ต่างๆมีร้านขายของเบ็ดเตล็ด ฯลฯ ผู้คนแต่งตัวสุภาพทั้งหญิงชายเดินเข้าออกอย่างพลุกพล่าน คนรับใช้ในโฮเต็ลทุกคนได้รับการฝึกหัด และอบรมให้เป็นคนสะอาดและมีกิริยาดีที่สุด เอาใจใส่และอ่อนน้อมต่อผู้มาพักทุกคน ถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน อาหารค่ำ มีดนตรีบรรเลงตลอดเวลา การที่เข้าไปพักในโฮเต็ลหรูๆ เช่นนี้ได้ประโยชน์มากทีเดียว คือ ได้รู้ได้เห็นของดีๆ ของเขา เสียอย่างเดียวที่มันแพงสตางค์เท่านั้น
        แพเลซโฮเต็ลตั้งอยู่บนมาร์เก็ตสตรีท ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่สุดในเมืองนี้ ห้องที่พักอยู่ชั้นที่ ๖ มองดูลงมาสวยมาก เห็นถนนกว้างใหญ่ ผู้คนเดินไปเดินมาราวกับมดรางรถรางขนาดใหญ่สองสายอยู่กลางถนน สายหนึ่งสำหรับรถขาขึ้น อีกสายหนึ่งสำหรับรถขาล่อง มีรถรางเดินโดยไม่ขาดระยะ มีรถยนต์มากมายวิ่งไปวิ่งมา การขับรถยนต์ในประเทศอเมริกานี้ขับทางด้านขวา ไม่เหมือนกับประเทศไทยซึ่งขับทางด้านซ้าย เมืองซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่ใหญ่ สนุกและสวยมากที่สุดเมืองหนึ่ง มีตึกรามใหญ่โต มีร้านขายของขนาดต่างๆ มีโรงละคร โรงภาพยนตร์ โรงเต้นรำมากมาย และโดยเหตุที่เมืองนี้ตั้งอยู่บนเขา ฉะนั้นบ้านบางแห่งก็อยู่บนลูกเขาสูงๆ ต่ำๆ ถนนในเมืองนี้มีขึ้นเขาลงเขา ระหว่างที่พักอยู่เมืองนี้ ๕ วันได้ไปชมสถานที่สำคัญหลายแห่ง ชมร้านขายของต่างๆ และได้ขึ้นรถเที่ยวตามถนนชายทะเลซึ่งสวยมาก นักเรียนไทยในเมืองนี้มีจำนวนน้อย และที่ได้มาพาเราไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ก็คือคุณพระเจริญวิศวกรรม ซึ่งในขณะนั้นกำลังเป็นนักเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียนี้ตั้งอยู่ในเมืองเบอร์กเลย์ อยู่ตรงข้ามอ่าวกับเมืองซานฟรานซิสโก คุณพระเจริญได้พาเราลงเรือ "เฟอรี" ไปชมเมืองเบอร์กเลย์และเมืองโอ๊กแลนด์อีกด้วย
        การไปจากตะวันออกไม่เคยเห็นบ้านเมืองใหญ่โตและมีตึกสวยงาม เช่น ซานฟรานซิสโกนี้ รู้สึกตื่นเต้นมาก
        วันหนึ่งนั่งอยู่ในโฮเต็ลมีโทรศัพท์มา นึกว่าเป็นคนไทยด้วยกัน รีบยกหูขึ้นฟังที่ไหนได้ ได้ยินเสียงภาษาฝรั่งฟุดฟิตมา ฟังไม่เข้าใจเลย ข้าพเจ้าก็ค่อยๆ วางสาย มาภายหลังจึงได้ทราบว่าคุณประสบแกล้งลองให้ฝรั่งคนหนึ่งพูดมา ดูทีว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง
        ขนบธรรมเนียมการแต่งตัวของเด็กขนาดข้าพเจ้าในอเมริกานี้ เขานุ่งกางเกงขาสั้นหุ้มเข่าและสวมถุงยาง แต่เครื่องแต่งตัวที่ข้าพเจ้าตัดไปจากเมืองไทยนั้นมี ชุดกางเกงขายาว แล้วยังมีคอลล่าร์แบบอีตัน คือเป็นคอลล่าร์แข็งออกมาคลุมคอเสื้อชั้นนอก ซึ่งในอเมริกาเขาไม่แต่งกัน ฉะนั้นในวันแรกที่ข้าพเจ้าขึ้นเมืองซานฟรานซิสโกนี้รู้สึกว่าแต่งตัวเป็นเด็กอังกฤษจ๋าไปหน่อย แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีใครเขาแต่งกันอย่างนี้ก็รีบเปลี่ยนทันที
        ในอเมริกานี้ถือสุภาษิตอยู่อย่างหนึ่งว่า "It pays to advertise"* ฉะนั้นเรื่องการแจ้งความของเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเรามาในเรือเราจะได้รู้ได้เห็นแล้วว่าโฮเต็ลในเมืองต่างๆ มีโฮเต็ลอะไรบ้าง รูปร่างเป็นอย่างไร และดีอย่างไร รถไฟสายไหนเดินทางใดและมีอะไรพิเศษบ้าง รูปร่างเป็นอย่างไร และดีอย่างไร รถไฟสายไหนเดินทางใดและมีอะไรพิเศษบ้าง โรงภาพยนตร์และโรงเต้นรำที่ไหนเป็นอย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้เพราะแต่ละแห่งเขาทำสมุดพิมพ์รูปงามๆ ของสถานที่ต่างๆ พร้อมด้วยคำอธิบายวางไว้ในเรือเพื่อผู้โดยสารจะหยิบดู และเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยก็ได้ เป็นการให้ความรู้อย่างหนึ่งแก่เราเหมือนกัน
        วันที่ ๑๐ ตุลาคม ออกเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปกรุงวอชิงตันโดยรถไฟ ระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์เศษ ต้องอยู่ในรถไฟ ๕ วัน ๕ คืน เบื่อหน่ายมากเพราะสกปรกละอองถ่านซึ่งปลิวจากรถจักรจับหน้าและเครื่องแต่งตัวดำไปหมด ที่อาบน้ำก็ไม่สะดวกอาหารก็แพง คนใช้ในรถไฟนี้เป็นแขกดำ (นิโกร) ทั้งสิ้น รถไฟผ่านมลรัฐคาลิฟอร์เนีย เนวาดา ยูตาห์ ในมลรัฐยูตาห์นี้ทางรถไฟได้ผ่านข้ามทะเลสาบ Salt Lake ทะเลสาบนี้สมกับชื่อคือน้ำเค็มเป็นเกลือทีเดียว ใครอยู่ แถวนี้ ไม่ต้องซื้อเกลือรับประทาน ตักน้ำทะเลขึ้นมาก็เป็นเกลือแล้ว ต่อจากนั้นก็ผ่านมลรัฐ ไวโอมิง เนบราสกา ไอโอวา อิลลินอยส์ เมืองชิคาโกตั้งอยู่ในมลรัฐอิลลินอยส์ เมืองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่โตที่สองรองจากกรุงนิวยอร์ค มีพลเมืองหลายล้านคน เราต้องหยุดเปลี่ยนรถไฟที่นี่ แต่โดยเหตุที่รถไม่หยุดนานนักจึงไม่กล้าออกไปเที่ยวที่ไหนที่ไกลสถานี เกรงจะหลงทาง ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปในมลรัฐอินเดียนนา โอไฮโอ เพนซิลวาเนีย แมรี่แลนด์ จนถึงกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ใน District of Columbia ไม่ขึ้นอยู่ในมลรัฐใด เมื่อตอนออกจากซานฟรานซิสโก รถไฟทั้งขบวนได้ลงเรือ "เฟอรี" ข้ามฟากแห่งหนึ่ง

กลับที่เรี่มต้น

๕. ถึงกรุงวอชิงตัน
       วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๖๐ รถไฟได้แล่นเข้าสู่สถานีรถไฟกรุงวอชิงตัน มีข้าราชการ สถานทูตหลายคนมาคอยต้อนรับ แล้วเขาได้จัดให้เรา ๔ คน คือ คุณประสบ นายขาว นายเนิ่น และตัวข้าพเจ้าไปพักที่ชอร์แฮมโฮเต็ล ซึ่งเป็นโฮเต็ลที่ดีที่สุดในกรุงนี้ มีความหรูหราเกือบไม่แพ้แพเลซโฮเต็ลที่เมืองซานฟรานซิสโก ในวันนั้นเองพวกเราได้ถูกนำไปพบพระยาประภากรวงศ์ (ว่อง บุนนาค) อัครราชทูตที่สถานทูต ซึ่งตั้งอยู่บน 16 th Street N.W.
        ในระหว่างพักอยู่ในโฮเต็ลประมาณ ๖-๗ วัน เพื่อทางสถานทูตได้จัดหาครอบครัวที่จะให้ไปอยู่ด้วยนั้น ได้มีโอกาสชมกรุงวอชิงตันโดยตลอด
        กรุงวอชิงตันนี้เป็นเมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโปโตแม็กและแม่น้ำอนาคอสเตีย และอยู่ระหว่างมลรัฐแมรี่แลนด์และเวอร์ยิเนีย ยอร์ชวอชิงตันประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนแรกเป็นผู้เลือกที่ตั้งกรุงนี้ เมื่อ ค.ศ.๑๗๙๐ นายช่างฝรั่งเศสคนหนึ่งเป็นผู้ออกแผนผังของเมือง จึงมีความสวยงามอย่างแบบฝรั่งเศสมีถนนกว้างใหญ่ มีต้นไม้สองข้างถนน และมีวงเวียนต่างๆ ตั้งอนุสาวรีย์ แต่ก็มีถนนตัดกันเป็นสี่เหลี่ยมแบบอเมริกันเหมือนกัน บรรดาอาคารใหญ่ๆที่สำคัญก็มี Capitol (รัฐสภา) ทำเนียบประธานาธิบดี White House ติดกับทำเนียบนี้ข้างหนึ่งเป็นกระทรวงการคลัง อีกข้างหนึ่งเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กลาโหม และทหารเรือ เป็นอาคารใหญ่มากทั้งสองข้าง มีกระทรวงและสถานที่ทำงานของรัฐบาลอีกหลายสิบแห่ง นอกจากนี้ยังมีอาคารที่ใหญ่โตและสำคัญอีกมากมาย เช่นที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข มิวเซียมและหอสมุด ฯลฯ เป็นต้น สำหรับอนุสาวรีย์สำคัญที่ควรกล่าวก็คืออนุสาวรีย์ของท่านยอร์ช วอชิงตัน ทำเป็นเสาสูงแบบเสา Obelisk สูงขึ้นไป ๕๕๐ ฟุต ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปถึงยอดคือขึ้น "ลิฟต์" (ภาษาอเมริกันเรียกว่า "เอเลเวเตอร์") มองลงมาดูกรุงวอชิงตันสวยงามมาก ขาลงลองลงบันใดกว่าจะถึงชั้นล่างเมื่อยแล้วเมื่อยอีก
        กรุงวอชิงตันเป็นกรุงที่สวยงามและสะอาดสะอ้านมาก จนกระทั่งสายไฟฟ้าสำหรับรถรางเดินก็อยู่ใต้ดิน ทั้งนี้เพื่อมิให้มีสายไฟฟ้ารุงรังอยู่บนถนน มีสวนสัตว์ สวนดอกไม้และสวนสำหรับรถยนต์เข้าไปเที่ยว ทำเป็นป่ามีลำธารเล็กน้อย ทำทางรถยนต์ข้ามลำธารฯ ในกรุงนี้มีคนผิวดำอยู่เป็นจำนวนมาก พวกผิวดำได้ถูกขนมาจากแอฟริกาเป็นจำนวนมาก เมื่อสมัยมีการค้าทาสคือเมื่อก่อนสมัยประธานาธิบดีลินคอล์น เรื่องของการค้าทาสในประเทศอเมริกามีอยู่ว่าประเทศอเมริกาเป็นประเทศใหม่ มีเนื้อที่มากมาย ชาวยุโรปที่มาตั้งเนื้อตั้งตัวล้วนแต่ต้องการคนทำงาน ฉะนั้น จึงได้มีการค้าทาสโดยไปจัดหานิโกรมาจากทวีปแอฟริกา เกร็ดของการค้าทาสที่แปลกๆก็มี เช่น ผู้ที่หากินทางค้าทาสบางคนเห็นว่าการไปหาแขกดำมาจากแอฟริกาต้องทำการขนส่งด้วยความลำบาก และบางคราวก็หาได้จำนวนน้อยมากไม่เพียงพอกับเที่ยวเรือ และยังมีอุปสรรคอื่นๆอีก จึงคิดเพาะคนขึ้นโดยได้จัดหาผู้หญิงนิโกรมาเป็นจำนวนมากกว่าชายแล้วจัดที่อยู่ให้เป็นห้องๆ แล้วพาพวกผู้ชายที่แข็งแรงซึ่งเป็นนิโกรด้วยกันมาสืบพันธุ์ไว้สำหรับค้าต่อไปอีก โดยมิต้องทำการขนส่งมาจากแอฟริกาดังนี้เป็นต้น นึกๆดูก็น่าอนาถใจ ไม่ดีไปกว่าสัตว์เท่าใดนัก การค้าทาสนี้ได้ยกเลิกในสมัยประธานาธิบดีลินคอล์นราว ค.ศ.๑๘๖๕ ชาวอเมริกันรังเกียจพวกนิโกรมาก แม้ว่าโรงภาพยนตร์ โรงละครและโรงแรมก็ต้องแยกกัน จะเข้าดูหรืออยู่ร่วมกันไม่ได้ ยิ่งลงไปทางเมืองใต้กรุงวอชิงตันด้วยแล้ว แม้ว่ารถรางก็ต้องแยกกันนั่งคนละคัน สถานีรถไฟก็มีห้องพักผู้โดยสารคนละด้านนี่แหละเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เมื่อคนไทยไปอยู่อเมริกา ถ้าลักษณะของบางคนมีรูปร่างคล้ายนิโกรแล้วก็จะได้รับความเดือดร้อนไม่น้อย พวกนิโกรมีจำนวนมากในทางภาคใต้ของประเทศอเมริกา ส่วนทางภาคเหนือตั้งแต่กรุงนิวยอร์คขึ้นไปมีจำนวนน้อย
       พวกนิโกรเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษทั้งนั้น แต่พูดช้าๆ และลากเสียงมีสำเนียงแปร่ง เล็กน้อย ถ้าได้ยินเสียงก็พอบอกได้ว่านิโกรพูด สำหรับชื่อของเขานั้นเขาชอบเอาชื่อคนสำคัญๆ มาประสม เช่นชื่อประธานาธิบดีที่เด่นๆ ของอเมริกา ดัง ยอร์ชวอชิงตัน หรือเอบราแฮมลินคอล์น แล้วเขาก็ชื่อยอร์ชแอบราแฮมหรือเอบราแฮมวอชิงตัน หรือยอร์ชลินคอล์น สลับไปสลับมาดังนี้ บางคนก็เอาชื่อตรงเลยทีเดียวก็มี
        สำหรับชาวตะวันออก เช่นจีน ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินโน ชาวอเมริกันก็เห็นเป็นชาวต่างผิว ไม่สู้จะยกย่องนัก นอกจากจะได้รู้จักกันเป็นส่วนตัว คนจีนในอเมริกามีจำนวนมาก การแต่งกายของเขาส่วนมากไม่ค่อยเรียบร้อยที่อยู่มักสกปรกแล้วมีอาชีพที่ใช้แรงงาน พูดอังกฤษก็ไม่ค่อยชัด ฯลฯ สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้นชาวอเมริกันหาว่าเป็นพวกเอาเปรียบและมีลับลมคมใน ไม่เปิดเผยหรือตรงไปตรงมา ชาวอเมริกันจึงไม่ชอบ ส่วนฟิลิปปินโนเป็นเมืองขึ้นของเขา เขาก็ต้องดูไปในทางเหยียดๆ สำหรับไทยนั้นชาวอเมริกันส่วนมากไม่รู้จักเลย ไม่รู้ว่าเมืองไทยอยู่ที่ไหน บางคนก็คิดว่าอยู่ในอเมริกาใต้ หรือบางคนก็คิดว่าอยู่ในอินเดีย แต่ผลที่สุดไทยเราก็เป็นพวกผิวเหลือง จึงอยู่ในข่ายที่เขาไม่ยกย่องอยู่นั่นเอง
        สำหรับห้างร้านขายของในกรุงวอชิงตันนี้มีจำนวนมากมายทั้งใหญ่และเล็ก แต่ที่ติดใจข้าพเจ้าคือร้านขายของ ๕ เซ็นต์ ๑๐ เซ็นต์ เป็นร้านใหญ่มีของเบ็ดเตล็ดที่เราต้องการใช้แทบทุกอย่าง ขายด้วยราคา ๕ เซ็นต์และ ๑๐ เซ็นต์ เท่านั้น เราเข้าไปเดินในร้านนี้แล้วดูอยากได้เสียทุกอย่างเพราะราคาถูกและก็เป็นของที่ใช้ได้ดีพอใช้
        ครั้นแล้วพวกนักเรียนที่ไปด้วยกันก็แยกกันไปเข้าโรงเรียนต่างๆ ออกจากกรุง วอชิงตันไป ที่ยังคงอยู่ในกรุงวอชิงตันก็เฉพาะรุ่นเล็ก ๔ คน คือนายขาว นายเนิ่น นายเจียม และข้าพเจ้า
        ขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทยและของฝรั่งนั้นผิดกันไกลทีเดียว ในการนั่งโต๊ะอาหารก็ดี การสนทนาหรือการแต่งกายก็ดี ฉะนั้น คนไทยที่ไปต่างประเทศควรได้รับการอบรมอย่างดีเสียก่อน เพราะถ้าเราไปเสียมารยาทในเรื่องเหล่านี้แล้วทำให้ฝรั่งดูถูก เราทำผิดพลาดคนเดียวแต่เขาก็รู้จักคนไทย คือเราคนเดียว เขาก็ต้องเห็นเราเป็นตัวอย่างคนไทยทั้งหมด เราทำดีเขาก็คิดว่าคนไทยดีทั้งนั้น เราทำเลวเขาก็คิดว่าคนไทยเลวทั้งนั้น การนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเราจะต้องรู้ว่าถ้วยแก้วน้ำของเราอยู่ทางไหน จานขนมปังอยู่ทางไหน ผ้าเช็ดมือให้ใช้อย่างใด มีดส้อมชนิดใดสำหรับอาหารอย่างใด วิธีตักซุปตักอย่างใด ฯลฯ การสนทนานั้นถ้ารู้จักกันไม่ค่อยสนิทแล้วฝรั่งเขาถือมากในเรื่องที่จะไปถามเรื่องส่วนตัวของเขาจนเกินไป สำหรับฝรั่งเขาเกือบจะมีบททีเดียวว่าควรสนทนาเรื่องอะไรในโอกาสอะไรบ้าง ฯลฯ แต่ในเรื่องเหล่านี้ข้าพเจ้าเอาตัวรอดไปได้เพราะเรื่องโต๊ะอาหารก็รู้ขนบธรรมเนียมไปดีแล้ว เนื่องจากอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ ก็ปฏิบัติอย่างฝรั่งอยู่แล้ว ส่วนการสนทนานั้นในขณะนั้นยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้จึงไม่มีโอกาสได้สนทนากับใคร
        บ้านที่สถานทูตจัดหาให้ข้าพเจ้านั้น เลขที่ ๒๕๐๕ ถนนแชมเพลน เจ้าของบ้านชื่อ Mrs. Mary R. Dickens ซึ่งพวกเราได้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ยายไก่" ยายไก่นี้เคยเป็นดาราภาพยนตร์เมื่อสมัยกระโน้น (ค.ศ.๑๙๐๐ เศษ) เก็บฟิล์มตนเองไว้ไม่น้อยแล้วนำมาอวดพวกเราหลายครั้ง หลายคราว สามียายไก่เป็นคนหงิมๆ ไม่ค่อยพูดจาอะไรๆ ก็แล้วแต่ยายเมีย มีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อมากาเร็ต อายุประมาณ ๑๑-๑๒ ปี หน้าตาน่าเอ็นดู การพักอยู่ที่นี้เขาคิดเดือนละ ๔๕ เหรียญ รวมทั้งค่าอาหารด้วย ยายไก่เป็นคนถือศาสนาจัด วันอาทิตย์จึงขอให้ข้าพเจ้าไปวัดทุกอาทิตย์
        ศาสนาที่ยายไก่นับถือนี้เป็นศาสนาประเภท Christian Science คือจะต้องการอะไรก็ใช้วิธีสวด เจ็บไข้ไม่สบายก็ไม่ต้องตามหมอ ใช้สวดให้หายแทน เคราะห์ดีที่ข้าพเจ้าไม่ได้ป่วยในระหว่างที่พักอยู่นี้ มิฉะนั้นพระเจ้าก็คงจะต้องเดือดร้อนต้องลงมารักษา
        บ้านที่พักอยู่นี้ไม่ไกลจากสถานทูตนัก ระยะเดินอยู่ในราว ๑๕ นาที ระหว่างเป็นนักเรียนรุ่นเล็กนี้สถานทูตจ่ายเงินติดกระเป๋าให้เดือนละ ๖ เหรียญซึ่งเป็นค่ากินขนม ถ้าเรากินขนมมากไปหน่อยก็แปลว่าต้องเดินไปโรงเรียน เพราะไม่มีสตางค์เหลือเป็นค่ารถราง ฉะนั้นเวลาที่มีสตางค์เหลือน้อยๆ ต้องคิดเสมอว่ากินขนมดีหรือเอาไว้เป็นค่ารถรางดี
        การที่ได้เข้าไปอยู่ในครอบครัวของชาวอเมริกันเช่นนี้ก็นับว่าดีเหมือนกัน เพราะทำให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีและนิสัยใจคอของชาวอเมริกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีรู้สึกว่าครอบครัวนี้มีความเอ็นดูรักใคร่ข้าพเจ้ามากทั้งๆที่ข้าพเจ้ามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับแม่มากาเร็ดบ่อยๆตามภาษาเด็ก
        ทางสถานทูตได้จัดให้ข้าพเจ้าไปเข้าโรงเรียนชื่อ Washington Collegiate School ซึ่งเป็นโรงเรียนไปรเวตเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากบ้านที่พักราวไมล์เศษ โดยปกติ เดินไปและกลับทุกวัน โรงเรียนมีครูอยู่สองคน คือ Mr. Paul N.Pack และภรรยาของเขา มีนักเรียนราว 15 คนเท่านั้น แต่นักเรียนเหล่านี้เป็นคนพอมีอันจะกิน เพราะค่าเล่าเรียนค่อนข้างแพง มิสเตอร์เป๊กเป็นคนคิดเลขเก่งมาก มีวิธีพิเศษอย่างใดไม่ทราบ สามารถทำการบวกและลบเลขได้ยังกับเครื่องจักร ตอนเข้าเรียนแรกๆลำบากหน่อยเพราะฟังครูพูดไม่ค่อยเข้าใจแต่ต่อมาก็ค่อยๆเข้าใจดีขึ้น เวลาผ่านไปหลายเดือนจึงรู้สึกว่าฟังเข้าใจดีและพอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง
        ข้าราชการสถานทูตไทยเวลานั้น นอกจากท่านอัครราชทูตก็มีมิสเตอร์ลอฟตัส (พระยานิเทศ) เป็นชาวอังกฤษแต่พูดภาษาไทยได้เป็นน้ำทีเดียว ๒.คุณวิสุทธิ โทณวนิก (พระยาโทณวนิกมนตรี) ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม รัฐบาลได้ส่งคุณตาบ โทณวนิก (หลวงวิมลโทณวนิก) น้องชายไปแทน ๓.คุณชัชวาลย์ บุรณศิริ (หลวงติโรรัฐกิจ) มีภรรยาเป็นชาวอเมริกันชื่อ Nina ท่านอัครราชทูตมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อวิลาศ บุนนาค อายุราว ๖-๗ ขวบ เรียกกันว่าอ้ายบี๋
        มิสเตอร์ลอฟตัสกับภรรยาได้แสดงความยินดีและดีใจมากที่ได้มาพบปะกับข้าพเจ้าเพราะแกเล่าให้ฟังว่าแกรู้จักและคุ้นเคยกับบิดาข้าพเจ้าดี เมื่อครั้งบิดาข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรุงลอนดอน และยังเล่าต่อไปอีกว่าเมื่อคราวมารดาข้าพเจ้าคลอดพี่ชายใหญ่ (พระยาสุขุมนัยวินิจ) ที่กรุงลอนดอนแกกับภรรยายังได้ไปคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา
        บรรดานักเรียนที่พักอยู่ในกรุงวอชิงตัน ๔ คน นั้นนายเจียมพักอยู่บ้านเดียวกับข้าพเจ้า นายเนิ่นอยู่กับ Mr. & Mrs. Arms นายขาวอยู่กับ Mr. Mc Neil โดยปรกติเราทั้ง ๔ คนพบกันทุกวันเพราะบ้านที่อยู่ไม่สู้จะไกลกันนัก
        เจ้าคุณทูตเชิญพวกเราไปรับประทานอาหารไทยที่สถานทูตเสมอ วันไหนได้รับเชิญเราก็ดีใจกันมาก เพราะเวลาอยู่ในต่างประเทศเช่นนี้อยากรับประทานแต่อาหารไทยเบื่ออาหารฝรั่งเต็มที แม้บางวันความที่เราอยากรับประทานอาหารไทย ถึงแม้ว่าเจ้าคุณทูตจะไม่เชิญบางคราวเราก็แอบไปประจบคนทำอาหารขอแบ่งเขากินก็หลายครั้ง
        ในวันเสาร์หรือวันโรงเรียนหยุด ข้าพเจ้าได้ไปช่วยเขาทำงานที่สถานทูตเสมอ ทำบัญชีบ้าง พิมพ์หนังสือบ้าง เข้าโค๊ดหรือถอดโค๊ดโทรเลขบ้าง ฯลฯ เจ้าคุณทูตเคยชมเชยเสมอว่า คล่องแคล่วดี ทำงานได้เหมือนผู้ใหญ่
        ถึงเดือนธันวาคมเข้าฤดูหนาว อากาศหนาวมาก หิมะตกขาวไปหมดทั้งเมือง ถนนหนทางเต็มไปด้วยหิมะ ถ้าวันไหนหนาวจัดๆ หิมะก็กลายเป็นน้ำแข็ง เวลาเดินต้องระวังหกล้ม เราต้องสวมรองเท้ายางอย่างหนานอกรองเท้าธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สามประการคือ .ไม่ให้เท้าเปียกแฉะเนื่องจากหิมะซึมเข้าไป .เพื่อให้เท้าอบอุ่น .ช่วยกันในเวลาเดินไม่ให้ ลื่นจัด
        ในฤดูหนาวนี้น้ำในบ่อในสระ หรือในแม่น้ำบางแห่งก็กลายเป็นน้ำแข็งมีผู้คนไปเล่นสเก็ตกันมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเราก็ได้ไปหัดเหมือนกัน ก็สนุกเพลิดเพลินดี นอกจากนั้นยังได้ซื้อ Sled ไปเล่นในปาร์กอีกด้วย รูปร่างของสเลดนี้ก็คือแผ่นไม้บางๆ เบาๆมีความกว้างเท่าๆกับตัวเรา วางอยู่บนรางเหล็ก มีที่ถือท้ายให้เลี้ยวได้ การเล่นก็คือเวลาหิมะตกเราก็นำสเลดนี้ไปในที่เนินสูงแล้วก็นั่งหรือนอนบนสเลดนี้ ปล่อยให้ไหลลงมาในที่ต่ำ พวกเด็กๆชอบเล่นกันมาก
        ระยะนี้ได้รับข่าวจากกรุงเทพฯ ว่าน้ำท่วมมาก (๒๔๖๐) ในรูปที่ส่งไปให้ดูปรากฏว่าหน้าพระลานพระบรมรูปทรงม้า มีผู้คนพายเรือเล่นอย่างหนาแน่น ทั้งนี้เขาได้บอกบุญเรี่ยไรให้ผู้ที่ต้องประสพภัยเนื่องจากการน้ำท่วมนี้ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้อุทิศส่งไปช่วยห้าเหรียญทอง
        ข้าพเจ้าชอบประเพณีของฝรั่งอยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องวันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ ๒๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซู ทุกๆปีในวันนี้ต้องเป็นวันหยุดงาน ส่งของขวัญให้กันและกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องส่งคริสต์มาสการ์ดถึงคนที่รู้จักกัน ในระหว่างนี้บุรุษไปรษณีย์เหน็ดเหนื่อยมาก ต้องส่งของ ส่งหนังสือเป็นหอบๆใหญ่ๆวันละหลายๆเที่ยว แต่บุรุษไปรษณีย์เหล่านี้ก็ดีใจ เพราะตนก็ได้รับเงินหรือของขวัญจากบ้านต่างๆ บางบ้านที่ตนไปส่งของหรือส่งหนังสือเหมือนกัน
        โดยปรกติในคืนวันที่ ๒๔ ธันวาคม ซึ่งเราเรียกกันว่า Christmas Eve นั้นเป็นคืนที่เขาจะต้องออกเที่ยวไปรับประทานอาหารข้างนอก ไปดูหนังดูละครและไปเต้นรำเป็นคืนที่ครึกครื้นมาก ส่วนวันที่ ๒๕ ก็ไปวัดแล้วกลับมาอยู่บ้าน ถ้าจะมี "ปาร์ตี้" ก็มีกันที่บ้าน มี Christmas Tree ประดับด้วยไฟหรือแก้วเงาสีต่างๆ อย่างงามตั้งอยู่ในห้องรับแขก ห้อยของเล่นหรือของขวัญสำหรับแจกผู้ที่ไปในงาน เป็นประเพณีที่ดีมาก คือในทางจิตใจก็ทำให้รู้สึกชื่นบานสนุกสนาน ได้รับของขวัญหรือการ์ดอวยพร มีโอกาสได้ส่งของขวัญให้แก่ผู้ที่เราพอใจ ส่งการ์ดอวยพรให้แก่เพื่อนฝูงซึ่งต่างฝ่ายก็ปลาบปลื้มกันในระหว่างเทศกาลคริสต์มาสนี้ความครึกครื้นทำให้คนแก่ๆ รู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกด้วย ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นจะเห็นได้ชัดทีเดียวว่าก่อนถึงวันคริสต์มาสราว ๒ อาทิตย์ ผู้คนก็ตั้งต้นออกซื้อของขวัญกัน ตามห้างร้านต่างๆขายดิบขายดีเป็นเทน้ำ บางร้านต้องเปิดขายจนเวลากลางคืน เงินออกหมุนเวียนเนื่องจากการนี้นับเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญ สำหรับความสามัคคีนั้นเล่า ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่สนิทสนมต่างก็เชิญให้มาพักเที่ยวด้วยกัน ฉลองงานที่บ้านด้วยกัน ในปีหนึ่งๆ รู้สึกว่ามีผู้คนจำนวนมากคอยวาระนี้
        ระหว่างศึกษาอยู่ในกรุงวอชิงตันนี้ ถึงวันหยุดโรงเรียนได้ไปดูภาพยนตร์เสมอ บางวันดูตั้งแต่เช้าจนกลางคืน ดูเสียตั้ง ๖-๗ โรง เพราะภาพยนตร์เขาตั้งต้นแต่ ๓ โมงเช้า ฉายตลอดไปจนถึง ๒ ยาม ฉายเวียนรอบพอครบรอบแล้วก็ตั้งต้นใหม่ โรงภาพยนตร์ในกรุงวอชิงตันนี้มีนับร้อยๆโรง มีตั้งแต่โรงเล็กๆ สำหรับคนดูร้อยกว่าคนจนถึงโรงใหญ่ๆ จุคนดูได้ตั้งหลายพันคน ภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมมักจะมาฉายในโรงใหญ่ๆ ซึ่งมีอัตราค่าดูค่อนข้างสูงหน่อย ส่วนโรงเล็กๆ ก็มีภาพยนตร์ชั้นเลวลงมาหรือภาพยนตร์ที่ฉายในโรงใหญ่มาแล้วฉายเป็นรอบสอง อัตราค่าดูถูกมากบางโรงเพียง ๑๐ เซ็นต์ก็มี
        วันหนึ่งคุณชัชวาลย์และภรรยาได้รับเชิญไปในงานเต้นรำแห่งหนึ่ง จึงมาชวนเราทั้ง ๔ คนไปด้วย ก่อนไปต้องสอนกันว่า เวลาแนะนำให้รู้จักใครต้องทำกิริยาอย่างไร กล่าวอย่างใด ฯลฯ เช่นสอนว่า เมื่อแนะนำกับใครแล้วให้ยื่นมือขวาเข้าไปจับกับเขาแล้วให้พูดว่า I am very glad to meet you ซึ่งข้าพเจ้าต้องท่องให้ขึ้นใจ เพราะเกรงจะลืมเดี๋ยวถึงเวลาเอาจริงเอาจังยื่นมือไปจับกับเขาแล้วไม่รู้จะพูดว่าอะไร พวกเราเต้นรำไม่เป็นและงาน social อย่างนี้ไม่เคยไปเลยออกจะตื่นๆ เมื่อไปถึงที่แล้ว แทนที่จะพยายามไปขอเข้าเต้นรำหรือไปคุยกับเขา กลับไปยืนเป็นเสากระโดงตลอดเวลา อย่างนั้นก็ดียังรู้สึกสนุกไปด้วย คือ ดูเขาเต้นรำเจี๊ยวจ๊าวกันน่าสนุก ใจนึกอยากหัดให้เป็นทันที เสร็จงานแล้วเวลากลับบ้านคุณชัชวาลย์บ่นว่า ไม่ไหวเด็กพวกนี้เต็มที ทีหลังไม่พาไปไหนอีกละไปยืนเป็นเสากระโดงอยู่ได้
        เรื่องขันๆ ระหว่างอยู่กรุงวอชิงตัน เท่าที่จำได้ในเวลาเขียนนี้มีอยู่ ๒ เรื่อง คือ ๑.เรื่องพวกเราอยากสวยกัน ไปเห็นแจ้งความในหนังสือพิมพ์ว่ามีเครื่องอัดจมูกทำให้จมูกโด่งได้ พวกเรามาคิดๆดูว่าจมูกของเรามันบานใหญ่อยู่ทุกคน ถ้าต่างคนต่างจมูกโด่งขึ้นแล้วจะสวยไม่น้อย ของนายขาวออกจะบานใหญ่อยู่กว่าเพื่อน จึงถึงกับเก็บเล็กผสมน้อยสั่งเครื่องวิเศษนี้มา ๑ อัน เป็นราคาหลายเหรียญอยู่ ฝ่ายนายเจียมนั้นเห็นว่าการสั่งซื้อนั้นเปลืองเงินเปล่าๆ เห็นรูปร่างแล้วว่ามันเป็นอย่างไร คิดทำขึ้นเองก็ได้ เขาจึงตัดปกแข็งหนังสือ ภายในเอาผ้ากำมะหยี่ติดไว้เพื่อมิให้จมูกเจ็บ วิธีใส่ก็คือ เอาปกแข็งที่ตัดไว้นี้หนีบจมูกเข้า แล้วเอาเหล็กที่เสียบที่อัดกางเกงมาเสียบปกแข็งที่รัดจมูกไว้ พอกลับจากโรงเรียนถึงบ้านเขาก็สวมเครื่องอัดนี้ทันที อุตส่าห์ทนไม่พูดจากับใคร กลางคืนนอนก็ใส่ไว้ ทรมานตนอยู่ได้ทุกๆวัน ส่วนนายขาวพอได้รับเครื่อง คืนแรกเวลาจะนอนก็เข้าเครื่อง รุ่งเช้าวิ่งมาหาข้าพเจ้าว่า เมื่อคืนนี้เขาใส่เครื่องอัดจมูก เข้าวันนี้ก็เห็นโด่งขึ้นทันใจทีเดียว ข้าพเจ้ามองดูก็เห็นจริง เห็นโด่งขึ้นมากออกจะเลื่อมใสในเครื่องวิเศษนี้ ครั้นแล้วนายขาวก็ไปมองดูในกระจกอีก ความดีใจของเขาจึงทำให้เขายิ้มและหัวเราะขึ้น ที่ไหนได้พอยิ้มและหัวเราะขึ้นจมูกของเขาก็แบนแฟบบานใหญ่เป็นอย่างเก่าอีก ตกลงที่ทรมานอัดอยู่นั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะถ้ายิ้มหรือหัวเราะทีใดมันก็บานเป็นอย่างเดิมอีก ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องนี้ทีใดอดหัวเราะจนเสียดท้องไม่ได้สักครั้ง
        เรื่องที่ ๒ คือวันหนึ่งท่านเจ้าคุณทูตเชิญแขกไปรับประทานอาหาร ที่สถานทูตและได้เชิญเราทั้ง 4 ไปร่วมกับประทานอาหารด้วย การก็ดำเนินไปโดยเรียบร้อยจนถึง Course สุดท้าย คือผลไม้ ซึ่งเขาจัดใส่พานไว้สวย มีองุ่น ส้ม แอปเปิล ฯลฯ และมีใบไม้ประดับเสียงาม พอบ๋อยเซิฟนายขาวก็แสดงตนเป็นคนที่มีกิริยาดีที่สุด ค่อยๆ หยิบลงไปที่พานผลไม้โดยที่ไม่ได้มอง ครั้นแล้วก็หยิบใบไม้มาวางไว้บนจานโดยจะคิดว่า เป็นองุ่นหรืออะไรก็ไม่ทราบ แล้วเขาก็โบกมือให้บ๋อยเดินเซิฟต่อไป พอเซิฟทั่วแล้วจะตั้งต้นรับประทานเขามองดูจานของเขากลายเป็นใบไม้ไป พวกเราเห็นเข้าก็อดหัวเราะกันไม่ได้ เจ้าคุณทูตไม่ทราบเรื่องหันมามองพวกเราตาเขียว ครั้นเสร็จการเลี้ยงแขกกลับแล้ว เจ้าคุณทูต ซึ่งไม่ทราบเรื่องก็เทศน์พวกเราว่าไม่มีสมบัติผู้ดี ซึ่งพวกเราก็ทราบอยู่ดีแล้วแต่ช่วยไม่ได้จริงๆ
        เดือนเมษายนเข้าฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่นสบายมาก ในเวลาว่างเราได้ไปชมสถานที่ต่างๆ ไปชมสวนดอกไม้ สวนสัตว์ ไปถ่ายรูปกันเล่นในที่ต่างๆ วันหนึ่งเราได้ไปเที่ยว Mount Vernon ซึ่งอยู่ในมลรัฐเวอร์ยิเนียใต้กรุงวอชิงตันลงไปประมาณ ๑๕ ไมล์ ที่นี้เป็นบ้านของยอร์ชวอชิงตันประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโปโตแม็ก เป็นเรือนสองชั้นสีขาว ทางการเขาบำรุงรักษาบ้านนี้เป็นสถานที่ในทางประวัติศาสตร์สำหรับผู้คนไปชม ได้เข้าไปดูห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารของท่านยอร์ชวอชิงตัน คนสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยเครื่องตบแต่งสมัยกระโน้น และใกล้ๆ กับเรือนนี้ก็ได้มีอนุสาวรีย์ที่ฝังศพของท่านเจ้าของบ้านนี้ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบใน สหรัฐอเมริกานี้คือว่าบ้านของบุคคลที่สำคัญหรือมีชื่อเสียง หรือสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์แล้ว เขามักจะบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่เคยเป็นอยู่ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนชมได้ บางแห่งก็เก็บสตางค์ค่าเข้าชมเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษา บางแห่งที่เขามีเงินทุนอุดหนุนอยู่แล้วก็ชมได้ฟรี ทั้งนี้ทำให้ประชาชนที่สนใจได้รับความรู้กว้างขวางขึ้นได้ โดยเห็นสภาพเมื่อครั้งกระโน้นว่าเป็นอย่างใดบ้าง
        ปลายเดือนพฤษภาคมอากาศชักร้อนจัด ยายไก่จึงย้ายบ้านไปพักอยู่ที่บ้านญาติของแกนอกเมืองซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ อากาศเย็นสบายดี ข้าพเจ้าจึงต้องย้ายตามไปอยู่กับแกด้วย ค่อนข้างจะเงียบเหงาสักหน่อย หนทางจากในเมืองโดยรถรางครึ่งชั่วโมงกลางคืนเงียบมาก ในประเทศอเมริกานี้อากาศค่อนข้างวิปริต คือหน้าหนาวก็หนาวเสียเหลือเกินปรอทลงต่ำกว่า Zero จะออกจากบ้านไปไหนรู้สึกว่าหูกับจมูกนั้นหลุดจากหน้าเราไปแล้ว มือทั้งๆที่สวมถุงมืออย่างหนาก็ยังรู้สึกเย็นชา นิ้วก็แข็งจนจับอะไรไม่ได้ ส่วนหน้าร้อนก็ร้อนจัดปรอทขึ้นสูงลิบยังกับเมืองไทยในหน้าร้อนกลางแดด

๖. ไปตากอากาศหน้าร้อนกับสถานทูต ณ เมืองกลอสเตอร์

       เดือนมิถุนายน (๒๔๖๑) เข้าฤดูร้อน พอราวกลางเดือนโรงเรียนก็ปิดเทอมสำหรับหน้าร้อนราว ๓ เดือน เป็นธรรมเนียมของชาวอเมริกันที่ว่าพอถึงฤดูร้อนซึ่งในเมื่อร้อนจัดนั้นผู้ที่พอมีฐานะที่จะไปตากอากาศหรือพอหางานทำในที่ๆเย็นหน่อย เช่น ตามสถานที่ตากอากาศชายทะเลตอนเหนือๆ หรือตามโฮเต็ลบนภูเขาสูง ฯลฯ ได้แล้วเขาจะต้องออกจากในเมืองไปให้ได้ สำหรับสถานทูตของเรานั้นทุกๆปีที่แล้วมาเคยย้ายไปตากอากาศ ณ เมืองกลอสเตอร์ในมลรัฐ แมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลและมีชื่อเสียงเป็นเมืองจับปลาอยู่เหนือกรุงวอชิงตันขึ้นไป ๕๐๐ กว่าไมล์ ในปีนี้ก็ได้ตกลงจะไปที่เดิมอีก เจ้าคุณทูตได้สั่งให้ข้าพเจ้าไปด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ลาครอบครัวยายไก่ ลาครู ลาเพื่อนฝูง และลากรุงวอชิงตันเดินทางไปยังกลอสเตอร์ ซึ่งต้องผ่านเมืองบอสตันและเปลี่ยนรถไฟที่นั่น
        เมืองกลอสเตอร์นี้อยู่เหนือบอสตันราว ๔๐ ไมล์ เป็นเมืองตากอากาศหน้าร้อนที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่ง มีคนมาพักฤดูร้อนเต็มๆอยู่เสมอ มีหาดทรายให้เล่นน้ำทะเลยืดยาว มีโฮเต็ลใหญ่ๆ หรูๆ หลายโฮเต็ล มีบ้านเช่ามากมาย สำหรับตัวข้าพเจ้าสถานทูตได้จัดให้ไปพักอยู่กับ Mr. & Mrs. Silva ตำบล ๙ ถนนเดวีส บ้านี้มีบุตรสาวสองคน คนพี่ชื่อเอเวลินอายุราว ๑๘ ปี เป็นครูสอนหนังสือ คนน้องชื่อเกอทรูต อายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า
        คนไทยที่พักอยู่บ้านเดียวกันมี ม.ล.จิ๋ว สนิทวงศ์ และนายบุญเลี้ยง (หลวงบุณยปาลิต) ระหว่างพักหน้าร้อนนี้สำหรับตัวข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากไปช่วยเขาทำงานที่ สถานทูต ซึ่งเช่าบ้านใหญ่อยู่หลังหนึ่ง เล่นเทนนิส และอาบน้ำทะเล
        คืนวันหนึ่ง ม.ล.จิ๋ว กับข้าพเจ้าคบคิดกันแกล้งนายบุญเลี้ยง คือ ได้หานาฬิกาปลุกมาสัก ๕ เรือน ตั้งเวลาให้ปลุกไว้ต่างๆกัน ตั้งต้นแต่สองยามเป็นต้นไป และซ่อนไว้ในตู้บ้าง ใต้เตียงบ้าง ในลิ้นชักบ้าง คืนวันนั้นเป็นอันว่านายบุญเลี้ยงไม่ค่อยได้นอนเท่าใด รุ่งขึ้นเช้าด่ากลุ้มทีเดียว
        เมืองในประเทศอเมริกาขนาดเมืองกลอสเตอร์ ซึ่งมีพลเมืองประจำไม่ถึงหมื่นคนนี้ ฝรั่งเขาอยู่กันได้อย่างสบาย เพราะบ้านเมืองสะอาด มีไฟฟ้า มีน้ำประปา มีถนนหนทางดีๆ ตลอดทั่วทั้งเมือง และติดต่อกับเมืองอื่นๆ ได้สะดวกทั้งรถยนต์และรถไฟ มีโรงภาพยนตร์ มีโฮเต็ลที่สะอาด มีสถานที่หย่อนใจอื่นๆ รวมทั้งสถานที่เต้นรำ มีตลาด มีร้านขายของซึ่งพอหาของจำเป็นต้องใช้ได้ทุกอย่าง มีร้านอาหารดีๆ ฯลฯ ประเทศที่ศิวิไลซ์แล้วเขาเป็นกันอย่างนี้

๗. เจ็บเป็น "ฟลู" ทูลกระหม่อมแดงทรงอุปการะ

       ต้นเดือนกันยายนคณะสถานทูตกลับวอชิงตัน นักเรียนไทยกลับไปโรงเรียนกันหมด แต่ข้าพเจ้าเจ็บเป็นไข้หวัดต้องอยู่พักรักษาตัวที่บ้านนั้นต่อมาอีกราว ๒ อาทิตย์ เหงาเหลือเกินเพราะไม่มีคนไทยอยู่เลย คิดถึงบ้านถึงกับน้ำตาไหล ไม่เคยเลยในชีวิตเพราะเวลาที่เจ็บไข้ในเมืองไทย มีผู้คนคอยเอาอกเอาใจเยอะแยะ ไม่ต้องหงอยอย่างนี้ อายุก็เพียง ๑๔ ปี เท่านั้น ถูกปล่อยให้นอนเจ็บโดดเดี่ยวในต่างประเทศ ต้องการรับประทานอะไรก็ไม่รู้จะบอกกับใคร จะพูดจะคุยหรือปรารภเรื่องอะไรก็ไม่มีใครอยู่ด้วยเลย ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นตอนที่เศร้าใจและคิดถึงบ้านที่สุด พอค่อยยังชั่วทูลกระหม่อมแดง (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์) ได้เสด็จขึ้นไปจากเมืองบอสตันโดยรถไฟไปรับตัวข้าพเจ้าให้มาพักอยู่กับท่านที่ ๓๒๙ ถนนลองวูดในเมืองบอสตัน ในระหว่างที่พักอยู่กับท่านๆได้ทรงพระกรุณาเป็นที่สุด ได้ทรงเป็นพระธุระในเรื่องการกินอยู่หลับนอน พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพเจ้าได้พักนอนอยู่ห้องเดียวกับท่าน เวลากลางคืนท่านคอยห่มผ้าห่มให้เช้ากลางวันเย็นทรงจัดหาอาหารด้วยพระองค์เองให้ข้าพเจ้ารับประทาน เมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็ทรงเก็บและล้างชามให้ต่อไปโดยมิได้ถือพระองค์เลย
        ทูลกระหม่อมแดงเป็นเจ้านายที่น่าเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ถือพระองค์แล้วยังเป็นเจ้านายที่ไม่เห็นแก่พระองค์อีกด้วย เช่นว่าท่านเป็นผู้ที่มีเงินมีทองมากมายก่ายกอง แต่ท่านดำรงความเป็นอยู่ของท่านเหมือนกับพวกนักเรียนอื่นๆ จะว่าท่านเหนียวหรือเปล่าเลย ท่านคิดถึงประเทศชาติมาก ท่านเห็นว่าการแพทย์นี้สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย ท่านจึงออกทุนให้นักเรียนแพทย์หลายคนไปศึกษาวิชาในประเทศต่างๆ คิดเป็นจำนวนเงินที่ท่านต้องจ่ายแล้วตกปีละตั้งหลายๆหมื่น ยิ่งไปกว่านั้นแม้จะเป็นชาวต่างชาติอื่นที่กำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ถ้าขัดสนทุนทรัพย์ที่จะศึกษาต่อไป ถ้ากราบทูลท่านว่าศึกษาสำเร็จแล้วจะกลับไปรับราชการในประเทศไทย ท่านก็จะออกค่าเล่าเรียนให้ดังที่ท่านได้ออกทุนให้ชาวเม็กซิกันคนหนึ่ง
        ในระหว่างที่พักอยู่กับทูลกระหม่อมนี้ คืนวันหนึ่งเป็นคืนที่คุณสังวาลย์ และคุณอุบลซึ่งออกเดินทางไปเรือเดียวกันกับข้าพเจ้า และพักอยู่ที่มลรัฐคาลิฟอร์เนียก่อน ๑ ปี จะเดินทางมาถึงบอสตัน รถไฟจะมาถึงราว ๒ ยาม ทูลกระหม่อมเตรียมพระองค์จะไปรับเพราะสองคนนี้เป็นนักเรียนของท่าน ข้าพเจ้าขอร้องขอไปรับด้วยแต่รับสั่งว่าข้าพเจ้ายังไม่สบายและดึกดื่นนัก อย่าไปเลย ประมาณสักตี ๒ เศษ คือรถมาถึงแล้วและทรงพาไปพักโฮเต็ลแล้ว พระองค์ท่านเสด็จกลับมาถึงบ้านปลุกข้าพเจ้าทันที แล้วรับสั่งว่า "ผู้หญิง ๒ คน มาถึงแล้ว แม่สังวาลย์สวยเช้งเชียวแกเอ๋ย" ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัยทูลกระหม่อมทันทีว่าคงจะพอพระทัยในคุณสังวาลย์มาก ถึงกับปลุกข้าพเจ้าขึ้นในเวลากลางดึกดื่นเพื่อชมให้ฟังต่อนั้นมาก็ได้จัดส่งคุณสังวาลย์และคุณอุบลไปอยู่เมืองฮาตฟอร์ดในมลรัฐคอนเนคติกัต หนทางโดยรถไฟจากบอสตันราว ๕ ชั่วโมง ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้นำจดหมายและข้าวของส่งไปส่งมาระหว่างทูลกระหม่อมกับคุณสังวาลย์

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ