[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒

8.  งานด้านบันเทิง (ฟังเพลงของหลวงสุขุม)

การจัดตั้งวงดนตรีลีลาศ
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ  "พ่อพระ" ของวงดนตราสุนทราภรณ์
     โดยเอื้อ สุนทรสนาน

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ
การประกวดดนตรี
ยอดศิลปินกับแก้วฟ้า
     โดย แก้ว อัจฉริยะกุล


การจัดตั้งวงดนตรีลีลาศ

       เมื่อประดิษฐ สุขุม กลับจากการศึกษา ณ สหรัฐอเมริกาไม่นานก็ได้ตั้งวงดนตรีรับจ้างบรรเลงเป็นประจำที่โฮเต็ลพญาไท เพราะเห็นว่าเมืองไทยยังไม่มีดนตรีที่บรรเลงเพลงสากลที่เล่นเพลงลีลาศดีๆได้ นับเป็นวงดนตรีลีลาศวงแรกของประเทศไทย ต่อมาได้รวบรวมนักดนตรีตั้งเป็นวงดนตรีที่กินเงินเดือนของหลวงสุขุมฯเอง ซึ่งวงดนตรีนี้ได้กลายมาเป็นวงดนตรีของบริษัทไทยฟิล์ม ที่อยู่ในความอำนวยการของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และหลวงสุขุมฯ โดยหลวงสุขุมฯยังเป็นผู้ควบคุมวงเช่นเดิม เมื่อบริษัทไทยฟิล์มเลิกล้มไป หลวงสุขุมฯไม่ต้องการให้วงดนตรีแตกวงจึงสละทุนทรัพย์ส่วนตัวจ่ายเงินเดือนให้นักดนตรีต่อไป จนกระทั่งคุณวิลาสโอสถานนท์มาเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการต้องการให้มีวงดนตรีของกรมขึ้น จึงได้มีการโอนวงดนตรีวงนี้ให้เป็นวงของกรมโฆษณาการโดยหลวงสุขุมฯได้ยกเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงของท่านให้ ใช้ในวงของกรมโฆษณาการจนกว่าจะจัดหาเองได้ นักดนตรีคนสำคัญคนหนึ่งในวงนี้ คือ เอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง "หลวงสุขุมนัยประดิษฐพ่อพระ ของวงดนตรีสุนทราภรณ์" ในหนังสือที่ระลึก ๕ รอบหลวงสุขุมฯ ไว้ว่า

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ
"พ่อพระ" ของวงดนตราสุนทราภรณ์
(จากหนังสือที่ระลึกแจกในงานครบรอบ ๖๐ ปีของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ จัดทำโดยคุณอินสม ชัยชนะ, ๒๕๐๗)
       ครั้งนั้น…
       คำว่า "ทวิสต์" หรือ "ออฟบีท" ยังไม่เป็นที่รู้จักกันเลยในเมืองไทย และการเต้นรำก็ดูจะสันทัดจัดเจนขนาดออกไปวาดลวดลายกลางฟลอร์ได้ก็ต้องเป็นชนชั้นสังคมจริงๆ ขนาดเด็กวัยรุ่นหรือหนุ่มสาววัยเรียนไม่มีทางจะรู้จักการเต้นรำ ซึ่งผิดกับสมัยปัจจุบันลิบลับ แต่ครั้งนั้น ดนตรีสากลก็มีความหมายอยู่ในกลุ่มสังคมไม่น้อย ท่วงทำนองดนตรีเต็มไปด้วยความปราณีตและละเอียดละออจริงๆ
       ผมโชคดีที่เกิดมาคลุกคลีกับวงดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มชีวิตดนตรีด้วยการเข้าฝึกในกรมมหรสพ จนสามารถเข้าร่วมบรรเลงกับเขาได้ เมื่อผมอายุ ๑๔ ขวบ
       ผมถือเป็นโชคถัดมาเมื่อมีโอกาสไปโชว์ฝีมือดนตรีในงาน "แซยิด" ของท่านเจ้าพระยายมราช ที่บ้านศาลาแดง ซึ่งเป็นตึกสมาคมแพทย์ในปัจจุบัน (ปัจจุบันคือ โรงแรมดุสิตธานี) ท่านจัดงานฉลองครบ ๖๐ ปี เป็นรายการเอิกเกริก จนผมออกจะตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นผู้สูงศักดิ์ท่านจัดงานในครั้งนั้น และคงเป็นเพราะความเป็นนักดนตรีเด็กที่สุดของวง จึงกลายเป็นจุดสนใจของผู้มาฟังดนตรีพอสมควร นั่นเอง ส่งผมให้ได้มีโอกาสรู้จักกับบุคคลในครอบครัวของท่านเจ้าคุณ ซึ่งยังจำการเริ่มรู้จักกับคุณประยงค์และคุณประนอม สุขุม มาได้จนกระทั่งบัดนี้ สมาชิกของบ้านนี้คนหนึ่งที่ผมไม่รู้จักเพราะไม่เคยเห็น คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ขณะนั้นอยู่ต่างประเทศผมจึงเพียงรู้จักชื่อท่านเท่านั้น
       ใครจะคิดว่า หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ซึ่งผมได้ยินเพียงชื่อ ยังไม่รู้จักตัวของท่านในวันนั้น จะมากลายเป็นผู้มีความหมายสูงยิ่งสำหรับผมในระยะเวลาต่อมาตราบจนทุกวันนี้…
       พูดถึงการฟังดนตรีในครั้งนั้น เทียบก็คล้ายกับ "สังคีตศาลา" ในปัจจุบันซึ่งมีไว้บรรเลงดนตรีและเปิดการแสดงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจวันสุดสัปดาห์แต่อดีต เรามีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน สำหรับกลุ่มของผู้สนใจเสียงดนตรี คือ "กาแฟนรสิงห์" อยู่ที่มุมสนามเสือป่า ทุกเย็นวันอาทิตย์จะมีนักเพลงนั่งรถยนต์เก๋งมาจอดเรียงรายกันรอบๆ วงดนตรีเพื่อฟังดนตรีที่มีกัน ๒ วง เป็นดนตรีหลวงผลัดกันมาคราวละวง บรรเลงเพลงตั้งแต่เพลงไลท์มิวสิคจนถึงซิมโฟนี ผมเป็นคนหนึ่งที่มีหน้าที่ไปบรรเลงที่ "กาแฟนรสิงห์" นี้ด้วยฝีมือไวโอลิน จำได้ว่าคุณประยงค์กับคุณประนอมแห่งบ้านศาลาแดง มาให้ความสนใจการบรรเลงเพลงที่นี่ สำหรับผมได้รับความสนใจเพราะผิดแผกไปกว่าคนอื่น โดยเป็นนักดนตรีคนเดียวที่นั่งเก้าอี้สีไวโอลินทั้งที่เท้าทั้งสองสูงพ้นพื้น เพราะความเป็นนักดนตรีเด็ก
       ครั้งนั้นเป็นระยะที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ สู่สวรรคต และไร่เรี่ยกับการกลับสู่เมืองไทยของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ พอท่านมาถึงไม่นานก็ตั้งวงดนตรีบรรเลงเป็นประจำที่โฮเต็ลพญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าขณะนี้) มือแซ๊กของวงนี้มีหลวงสุขุมฯ และหลวงชาติตระการโกศล คุณวุฒิ สุทธิเสถียร เล่นไวโอลิน คุณนารถ ถาวรบุตร เล่นเปียนโน และคุณสาลี่ กล่อมอาภา เป็นมือกลอง ทีมดีดสีตีเป่าวงนี้มาบรรเลงคราใด จะมีผู้มาฟังกันแน่นขนัด โดยเฉพาะผู้สนใจดนตรีประเภทแจ๊ส เฉพาะผมเองสนใจกับดนตรีวงนี้ด้วยเหตุผล ๒ ประการ ประการหนึ่งเพราะเป็นวงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ที่ผมให้ความสนใจตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวท่าน อีกประการหนึ่งอยากฟังเพลงประเภทแจ๊สซึ่งผลต้องยอมรับว่า เมื่อฟังแล้วรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินดี อยากเล่นได้บ้าง
       จากนักดนตรีฝึกในกรมมหรสพ เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงวัง แล้วก็กลายเป็นกรม ศิลปากร ผมคล่องตัวขึ้นมาในเรื่องดนตรี และ… ในที่สุดการบรรเลงเพลงประเภทแจ๊สที่ผมพึงใจเมื่อครั้งไปฟังวงของหลวงสุขุมฯ ก็ประสพผลเพราะหลักสูตรที่ทวีขึ้นในกรมมหรสพ สถานประสิทธิประสาทวิชาดนตรีของผม ผมเรียนวิชานี้ด้วยใจรักจึงได้ให้ความสนใจตลอดมา ซึ่งเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา ความสนใจกับนักดนตรีเด็กอย่างผมก็เป็นผลให้คุณประยงค์ และคุณประนอม สองพี่น้องแห่งตระกูลสุขุม ก็เป็นสื่อเชื่อมโยงให้ผมเป็นจุดสนใจของหลวงสุขุมฯผู้ใฝ่ใจในเรื่องของดนตรีอยู่แล้ว
       ประมาณปี ๒๔๗๗ มีงานของสมาคม เอ.ยู.เอ. ที่สวนมิสกวันกลุ่มดนตรีของ หลวงสุขุมฯ ไปบรรเลง ในวงนี้มีผมร่วมอยู่ด้วย เพราะคุณหลวงใช้วิธีรวมนักดนตรีไปบรรเลงด้วยการเลือกเอาความเหมาะสมแต่ละชิ้นของดนตรีเฉพาะคน การบรรเลงเป็นที่พอใจของผู้ฟังจนคุณหลวงเกิดความคิดที่จะรวบรวมพวกเราไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่าตั้งวงดนตรีคุณหลวงขึ้นเอง
       จากนั้น หลวงสุขุมฯ ก็คว้าตัวพวกเราไปกินเงินเดือนของท่านความเอาใจใส่ในเรื่องดนตรีของคุณหลวงเป็นที่ประจักษ์ชัดในกลุ่มของพวกเราในครั้งกระนั้นอย่างเต็มที่ คุณหลวงสั่งดนตรีเข้ามา สั่งเพลงเพราะๆ จากเมืองนอก ท่านจำการดนตรีจากเมืองนอกมาเล่าและวิจารณ์ให้ฟังเพื่อการศึกษาและปรับปรุงวงให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในฐานะที่คุณหลวงเป็นสหายของนักดนตรีบันลือโลก คือมิสเตอร์ เบนนี่ กู๊ดแมน ก็จำเอาแบบฉบับของนักดนตรีผู้นี้มาดัดแปลงให้ใช้ในวงของเราตามความเหมาะสม
       ผมจึงยอมรับว่า หลวงสุขุมฯ เป็นยอดนักดนตรีโดยแท้ การโอบอุ้มพวกเราไว้เป็นกลุ่มเดียวกันด้วยวิธีที่มีการปรับปรุงเป็นนิจสินเช่นนั้น เป็นการเสริมความแกร่งทางด้านดนตรีให้กับวงของท่าน และเป็นความสามารถของแต่ละคนที่ร่วมวงอยู่ในขณะนั้นอีกด้วย
       ครั้นแล้วข่าวใหม่ก็มาสู่ดนตรี นั่นคือการดำเนินงานของบริษัทไทยฟิล์ม ในความอำนวยการของ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นบริษัทใหญ่ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และดนตรี คุณหลวงจึงยกเอาวงดนตรีของท่านให้เป็นวงดนตรีของบริษัทไทยฟิล์ม พวกเราคึกคักและกระปรี้กระเปร่าเพิ่มขึ้นเมื่อมาสังกัดบริษัทนี้ ซึ่งก็คงอยู่ในความควบคุมวงของปล่อยพวกเรา ยังเอาใจใส่และเป็นห่วงเป็นใยอยู่เสมอ ในที่สุด……โดยสายของงานที่พวกเรามาสังกัดกรมใหม่ จะต้องมีการปกครองและควบคุมกันขึ้นเป็นทางการ คุณหลวงจะมาเป็นหัวหน้าวงก็ไม่ได้ จึงดำริที่จะหาตัวหัวหน้าวงไว้ควบคุมให้เป็นการเป็นงาน ท่านจึงเรียกพวกเราไปพบที่ ก.พ. ทีละคน เพื่อสอบถามความเห็นของแต่ละคนดูว่า จะสมควรมอบหมายให้ใครเป็นหัวหน้าวงดนตรีวงนี้
       ครั้นแล้วไม่นานนักหลวงสุขุมฯ ก็เรียกผมไปที่ ก.พ. ผมยังจำคำพูดของท่านในเบื้องแรกที่เข้าไปในห้องทำงานของท่านได้ดี "เอื้อนี่ดีนะ ถามทุกคน เขาอยากให้เอื้อเป็นกันทั้งนั้น"
       ผมจำคำนี้ได้เท่ากับจำความปลาบปลื้มของผมเอง ใช่จะเป็นเพราะเพื่อนทุกคนให้เกียรติผมเท่านั้น แต่ปลาบปลื้มในความกรุณาของผู้มีคุณ คำว่า "พ่อ" ที่เราใช้เรียกคุณหลวงสุขุมฯ จึงเป็นคำที่ออกมาจากความรู้สึก และลึกเข้าไปในจิตใจของพวกเราโดยแท้
       ใช่ว่าผมจะจาก "ใบบุญ" ของคุณหลวงสุขุมฯ มาแต่บัดนั้นก็หาไม่ หลวงสุขุมฯ ท่านยังเอาใจใส่สอบถามสารทุกสุกดิบพวกเราทั้งในด้านกิจการงานและส่วนตัวเช่นเคย พวกเราชุดแรกที่เข้ามารับราชการในกรมโฆษณาการครั้งนั้น มี-

เอื้อ สุนทรสนาน
เวช สุนทรจามร
สมพงษ์ ทิพยกลิน
สริ ยงยุทธ
คีติ คีตากร (นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่หลวงสุขุมฯ ชวนมาอยู่ที่เมืองไทย เดิมชื่อ บิลลี่)
ภิญโญ สุรวาท
สาลี่ กล่อมอาภา
สมบุญ ดวงสวัสดิ์
ปิยะ วาทิตาคม
บุญช่วย วรรณชาญเวทย์
สมบุญ ศิริภาพ

        เราได้ร่วมดำเนินงานภายใต้ความอุ้มชูของหลวงสุขุมฯ และเกิดเป็นวงสุนทราภรณ์ขึ้นเวลาต่อมา สิ่งพิสูจน์ถึงความไม่ทอดทิ้งของท่าน ไม่เพียงแต่การคอยเอาใจสอบถามทุกข์สุขและเรื่องการเรื่องงานเท่านั้น ท่านยังได้กรุณาแต่งเพลงมอบให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ อีกถึง ๗ เพลง แต่ละเพลงล้วนมีความไพเราะและเป็นเพลง "ฮิท" นับแต่บัดนี้เรื่อยมา ออกชื่อเพลงคงจะมีผู้สนใจเพลงนึกได้คือ ไม่อยากจากเธอ - เมื่อไหร่จะให้พบ - ชายไร้เชิง - เกาะสวาท - พี่ไม่ลืม - คนึงครวญ - สิ้นรัก สิ้นสุข เป็นต้น วงดนตรีสุนทราภรณ์จึงถือว่าอยู่ในอุ้งอุปการะของคุณหลวง "พ่อพระ" ผู้นี้อยู่เสมอ
       จากปีหนึ่ง - - ไปอีกหนึ่ง .. อีกปีหนึ่ง .. และต่อๆ มาอีกหลายปี จนกระทั่งเมื่อพวกเราจัดงานเลี้ยงฉลองครบรอบ ๑๙ และ ๒๐ ปีของวงดนตรีสุนทราภรณ์ขึ้นเมื่อ ๕ และ ๖ ปีมาแล้ว ผมไม่ลืมจะเชิญ "พ่อพระ" มาเป็นมิ่งขวัญ และกล่าวปราศัยในฐานะผู้อุปการะดนตรีวงนี้
       ยังไม่มีใครที่จะรักษาชื่อเสียงของวงและสามัคคีกันได้ยืนนานเหมือนอย่างวงนี้ ซึ่งไม่ผิดไปจากความมุ่งหวังแต่แรก ขอให้ทำต่อไปให้ยั่งยืนนานยิ่งขึ้น
       ผมและผู้ร่วมงานไม่มีใครลืมคำนี้ของท่าน

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ
       เมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เป็นต้นมานั้น ทางราชการจึงได้ถือเอาวันที่ ๑๐ ธันวาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติ และได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญเป็นประจำปี วัตถุประสงค์ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นนั้นเพื่อจะให้ประชาชนได้มีความรู้สึกเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ในการ จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญแต่ละปีนั้น ทางราชการได้จัดงานให้มีการออกร้านแสดงสินค้า การแสดงมหรสพต่างๆ การประกวดนางงาม และให้มีการลีลาศอีกด้วย นับว่าเป็นงานมหกรรมมโหฬารงานหนึ่งของเมืองไทยทีเดียว
       ฉะนั้นในการจัดงานดังกล่าวนี้จึงได้แบ่งแยก และอาศัยความร่วมมือจากหน่วยราชการ องค์การร้านค้าหลายฝ่าย มีคณะกรรมการรับผิดชอบเป็นสัดส่วนไป งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นประเพณีสืบต่อมาเป็นเวลานาน
       ได้กล่าวแต่ต้นมาแล้วว่า งานรัฐธรรมนูญได้แบ่งออกเป็นหลายฝ่ายด้วยกัน เช่น ฝ่ายออกร้าน-ฝ่ายแสดงสินค้า-ฝ่ายประกวดนางงาม-ฝ่ายลีลาศ เป็นต้น หลวงสุขุมฯ เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนสำคัญในการจัดงานฉลอง รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ก็โดยเหตุที่หลวงสุขุมฯ เป็นผู้ที่มีความสามารถในทางดนตรีสากลผู้หนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้ที่มีความสนใจในการจัดงานต่างๆ และมีความคิดความริเริ่มเป็นอย่างดีอีกด้วย ประกอบกับที่หลวงสุขุมฯ เป็นผู้มีประสบการณ์ทั้งทางดนตรีและการจัดงาน การแสดงบนเวทีมาจากต่างประเทศเมื่อครั้งศึกษาอยู่ ณ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเป็นพิเศษหลายประการ ฉะนั้น เมื่อทางราชการได้ดำริจัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นนั้น หลวงสุขุมฯ จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็น พลโท มังกร พรหมโยธี หรือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี หรือท่านผู้ใดก็ตามที่ได้เป็นประธานจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ มักจะเลือกงานด้านการจัดลีลาศให้หลวงสุขุมฯ เป็นผู้ดำเนินงานเสมอมาแทบทุกปี ทั้งนี้และทั้งนั้น นอกจากเหตุผลที่กล่าวข้างต้นแล้วนี้ หลวงสุขุมฯ ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏชัดแจ้งว่า ในการจัดงานลีลาศในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีที่แล้วๆ มานั้น คุณหลวงสุขุมฯ ได้แสดงความสามารถเป็นอย่างดีจนหาตัวจับได้ยากสำหรับงานฝ่ายการลีลาศนี้ เพราะได้จัดงานของฝ่ายนี้เป็นไปด้วยดี เป็นที่นิยมของประชาชนผู้มาเที่ยวชม เช่น การจัดการแสดงบนเวที การจัดการแข่งขันลีลาศสเตปต่างๆ การแสดงอื่นๆ ตลอดถึงวงดนตรีที่มาบรรเลงนั้นก็ได้จัดสรรวงดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นเด่นในสมัยนั้น เช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีดุริยโยธินฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการประกวดดนตรีสากลสำหรับลีลาศระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้นอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นหนทางที่สนับสนุนส่งเสริมดนตรีลีลาศมีมาตรฐานดี ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย เพื่อที่จะให้ผลของการจัดลีลาศงานฉลองรัฐธรรมนูญดีเด่นเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ประชาชนผู้มาเที่ยวในงานได้มีโอกาสผลัดเปลี่ยน หรือเพิ่มความสนุกสนาน หลวงสุขุมฯ ได้สั่งดนตรีจากฟิลิปปินส์มาเล่นดนตรีลีลาศเพิ่มขึ้นอีก
       ในด้านความคิดริเริ่มสิ่งที่แปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศหรือเพื่อเปลี่ยนให้เป็นไปตามรสนิยมของผู้มาเที่ยวในงาน บนสถานลีลาศหรือฟลอร์ลีลาศนั้น หลวงสุขุมฯ ได้หา วิธีการที่จะชักจูงใจผู้มาเที่ยว โดยการจัดสร้างเวทีเล่นดนตรีแต่ละคืนให้แตกต่างกัน ในรูป และลักษณะบรรยากาศต่างๆกัน เช่นราตรีต้อนรับ-ราตรีอเมริกาใต้-ราตรีฮาวาย-ราตรีสวิง-ราตรี น.ส. ไทย-ราตรีอำลา เป็นต้น ซึ่งสร้างบรรยากาศเป็นที่เพลิดเพลินใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีการแสดงรีวิว และฟลอร์โชว์อื่นๆ อีกตามความเหมาะสม นอกจากมีความคิดริเริ่มในการสร้างสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ แล้วยังจะต้องมีความรอบคอบเป็นพิเศษอีกด้วยเพราะงานแต่ละคืนๆ นั้นมีผู้มาเที่ยวชมมากน้อยต่างกัน การจัดให้มีการแสดงหรือมีการแข่งขันอะไรก็จะต้องคำนึงการลงทุนที่จะใช้จ่ายเพื่อการแสดง หรือการแข่งขันนั้นๆ ด้วย
       งานฉลองรัฐธรรมนูญได้เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วประเทศสำหรับในกรุงเทพฯ นั้น แต่เดิมได้จัดงานให้มีขึ้นในบริเวณวังสราญรมย์ ต่อมาปรากฏว่าประชาชนสนใจได้มาเที่ยวชมงานนี้อย่างมากจนวังสราญรมย์นั้นคับแคบไปจึงได้ย้ายไปจัดงานที่สวนอัมพร ณ แห่งนี้กองการลีลาศได้ขยายงานขึ้นเพราะได้สถานที่ดีกว้างขวางกว่าเก่า จึงสามารถตกแต่งเวทีให้สวยงามยิ่งขึ้นได้เต็มที่ งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้คงเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่และเพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดงาน ก็ได้วิวัฒนาการขยายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งต่อๆมาอีกหลายปี ทางราชการเห็นว่างานฉลอง รัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นที่สวนอัมพรนั้นคับแคบไม่เพียงพอเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปรากฏว่าประชาชนในกรุงเทพฯ ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น และโดยที่ ประชาชนต้องคร่ำเครียดกับการสงครามมานานเมื่อได้มีงานใหญ่อย่างเช่นงานฉลองรัฐธรรมนูญ ก็จึงพากันสนใจมาเที่ยวเตร่มากขึ้นทางราชการจึงได้ขยับขยายที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญไปที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวางกว่าสวนอัมพร และเป็นทำเลสะดวกแก่การไปมา
       การลีลาศของประเทศไทยได้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง กรุงเทพฯ ได้มีการเปิดบาร์ คาบาเรต์ขึ้นมากมายเพื่อต้อนรับทหารสัมพันธมิตรที่มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย เมื่อมีบาร์คาบาเรต์ เพิ่มมากขึ้นการลีลาศก็เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แต่การลีลาศตามสถานที่ดังกล่าวนี้หาได้เป็นไปตามแบบฉบับวัฒนธรรมดีงามไม่
       ต่อมาสถานที่เรียกกันว่าบาร์-ไนต์คลับ-คาบาเรต์ ได้ซบเซาลงแต่ประชาชนยังนิยมการลีลาศอยู่ ได้มีโรงเรียนเปิดการสอนลีลาศขึ้นหลายแห่งและได้รับการต้อนรับจากประชาชนพอใช้ ทางราชการเห็นว่า การจัดงานลีลาศในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นได้เป็นที่สนใจของประชาชน และเป็นส่วนที่ช่วยเผยแพร่การลีลาศที่มีมาตรฐาน ประกอบกับการลีลาศเป็นส่วนสำคัญในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วย สมควรจะได้จัดสร้างสถานที่ลีลาศให้ถาวรและใหญ่โตสวยงาม จึงได้เริ่มจัดสร้างขึ้นที่สวนลุมพินีโดยมอบให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นเจ้าของดูแลรักษา ซึ่งครั้งหนึ่งเทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้เคยสนับสนุนการลีลาศ โดยได้จัดให้มีการลีลาศในตอนเย็น ทุกวันเสาร์อาทิตย์ และก็ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชนอยู่ไม่น้อย
       การลีลาศในประเทศไทยได้วิวัฒนาการเป็นลำดับมาด้วยดีนั้น นับว่าการลีลาศในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นส่วนสำคัญที่ได้ริเริ่มให้มีการเผยแพร่และได้สนับสนุนการบันเทิงในด้านนี้ตลอดมา หลวงสุขุมฯ น่าจะได้รับการสรรเสริญอยู่ไม่น้อย เพราะปรากฏว่าความเป็นมาของชีวิตท่านนั้น ท่านได้สนใจการดนตรีมาแต่เมื่ออายุยังน้อย นอกจากนี้เมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาในต่างประเทศก็ได้ใช้เวลาว่างฝึกดนตรีสากลจนสามารถเล่นได้ดีหลายอย่าง ครั้นเมื่อได้กลับมาประเทศไทยแล้วก็ได้มีโอกาสเผยแพร่วิธีการเล่นดนตรีสากล โดยเฉพาะการเล่นดนตรีลีลาศ กล่าวคือ ได้รวบรวมนักดนตรีที่มีฝีมือดีไปเล่นที่โฮเต็ลพญาไทซึ่งเป็นสถานลีลาศหย่อนใจที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยหนึ่ง
       สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการจัดงานลีลาศที่คุณหลวงสุขุมฯ ได้อำนวยการมาอีกอย่างหนึ่งที่สมควรจะได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ ก็คือ การจัดหาเก้าอี้นั่งสำหรับผู้ที่เข้ามาชม หรือเข้ามาลีลาศให้พอเพียงกับจำนวนและสถานที่ตั้ง ซึ่งแต่เดิมมานั้นต้องวิ่งเต้นขอยืมเก้าอี้จากที่ต่างๆ หลายๆ แห่งรวมกัน เป็นภาระยุ่งยากลำบากมาก ด้วยเหตุนี้ หลวงสุขุมฯ จึงได้ริเริ่มจัดซื้อเก้าอี้ โดยใช้เงินจากรายได้ในการจัดงานลีลาศนั้นเอง ชั้นแรกก็ซื้อครั้งละเล็กละน้อยค่อยสะสมเพิ่มมากขึ้นให้เป็นสมบัติของสถานลีลาศไม่ต้องไปหยิบยืมจากที่แห่งอื่นอีกต่อไป นับว่าได้ตัดภาระความยุ่งยากเรื่องความสะดวกสบายสำหรับผู้มาเที่ยวมาลีลาศเสร็จสิ้นไป
       หลวงสุขุมฯ เป็นที่มีบุคลิกภาพดีหลายประการดังที่กล่าวข้างต้นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เป็นผู้ที่ทำอะไรด้วยความตั้งใจดี ด้วยความคิดความริเริ่มที่เด่น คุณสมบัติอันนี้หาได้ยากมากในการจัดงานลีลาศ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายจัดงานลีลาศงานฉลองรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ใช้ความสามารถ และอดทนต้องเหน็จเหนื่อยตั้งแต่ก่อนวันงานจนกระทั่งงานเสร็จสิ้นไป เพราะสถานลีลาศในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั้น โดยปกติจะมีผู้มาเที่ยวมาลีลาศก็ต่อเมื่อเวลาล่วงเลย ๒๑.๐๐ นาฬิกาไปแล้ว หลวงสุขุมฯ จึงต้องมาคอยตรวจตราดูความเรียบร้อยตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไปจนกระทั่งเลิก ก็ประมาณ ๐๒-๐๓ นาฬิกาของวันใหม่ ต้องอดตาหลับขับตานอนเช่นนี้ตลอดวันงาน ๗ วัน หรือมากกว่านั้น ถ้างานมีต่อ ด้วยเหตุนี้ หลวงสุขุมฯจึงมักจะได้รับเลือกให้เป็นประธานจัดงานฝ่ายกองลีลาศทุกปีมา เว้นแต่ไปราชการต่างประเทศในบางปีเท่านั้น นับว่าผลงานของท่านเป็นที่เชื่อถือ และได้รับความชมเชยไว้ใจจากท่านผู้ใหญ่เป็นอย่างดี…

การประกวดดนตรี
       นายนัติ นิยมวานิช นายห้างไนติงเกล-โอลิมปิค ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับการจัดประกวดดนตรีไว้ว่า
       เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ บริษัทในติงเกล - โอลิมปิค จำกัด ร่วมกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ได้จัดให้มีการประกวดดนตรีชิงรางวัลกลองทริกซันชั้นนำ ๑ ชุด ทรัมเป๊ต ๑ คัน แอคคอร์เดี่ยนเอ็กเซลเซอร์ กลองบองโก และเงินสด ๔,๐๐๐ บาท ๓,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดนตรีในประเทศเรา เปิดโอกาสให้วงดนตรีที่ไม่มีโอกาสแสดงตัว ได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้ประชาชนชม ผ่านทางโทรทัศน์กองทัพบก โดยจัดผู้เล่นดนตรีและนักร้องที่จะเข้าประกวดได้ไม่เกินวงละ ๑๐ คน ผู้เข้าประกวดจะต้องนำเครื่องมือเครื่องใช้ของตนมาเล่นเอง ผู้ที่มีสิทธิเข้าประกวดไม่จำกัดว่าจะเป็นอาชีพหรือสมัครเล่น (เพราะเป็นการยากที่จะแยกให้ได้รับความยุติธรรมแท้จริง) แต่ผู้เล่นดนตรีที่มีชื่อเสียงเด่นอยู่แล้วย่อมเปิดทางให้โอกาสรุ่นน้องๆ การเล่นใช้เวลาประมาณเครื่องชั่วโมง ในรายการออกภาพและเสียงทางอากาศ วันศุกร์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๑ ทางโทรทัศน์กองทัพบก เพลงที่เข้าประกวดเป็นเพลงบังคับ ๒ เพลง คือ เพลงไทยสากล ได้แก่เพลง ไทยควรคำนึง และเพลงสากล ไนติงเกล (ซัมบา) นอกจากนั้น ผู้เข้าประกวดจัดหามาอีก ๓ เพลง จะต้องเป็นเพลงไทยสากล ๒ เพลง และสากล ๑ เพลง ในการนี้มีผู้สมัครเข้าแข่งขันประกวดรวม ๒๑ คณะด้วยกัน และพันเอกการุณ เก่งระดมยิง ได้ตกลงเชิญหลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นประธานกรรมการ ร่วมกับ นายนารถ ถาวรบุตร นายเสงี่ยม เผ่าทองสุข แห่งวิทยุ ๑ ป.ณ. และ พ.อ. สนอง บุญญนิตย์ เป็นกรรมการ การแข่งขันประกวดดนตรีนี้ ได้แบ่งออกเป็นรอบแรก รอบสอง รอบสาม และรอบชนะเลิศ ใช้เวลาออกอากาศหลายร้อยชั่วโมง กินเวลาหลายร้อยวันด้วยกัน
       ในการประกวดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรอบแรก จนกระทั่งรอบชนะเลิศ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้มาเป็นประธานในการแข่งขัน ซึ่งเริ่มประมาณ ๒๑.๓๐ น. จนเกือบ ๒๒.๐๐ น. บางวันถึง ๒๔.๐๐ น. ก็มี ท่านขาดไปครั้งเดียวด้วยกิจธุระจำเป็นจริงๆ อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการมาเป็นประธานครั้งนี้ไม่มีค่ารถ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง หรือรางวัลสมนาคุณใดๆ ทั้งๆที่ท่านมีงานประจำจนเหลือมือ แต่ก็ยังสละเวลาอันมีค่ามาร่วมมือช่วยเหลือการประกวด ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะยกมาตรฐานการเล่นดนตรีในประเทศเรา
       มีคนเป็นจำนวนมาก มีความสงสัยว่า การตัดสินการประกวดนี้ จะทำกันให้ได้ผลดีได้อย่างใด แต่ความสงสัยนี้หมดไปทันที เมื่อท่านประธาน หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้วางหลักเกณฑ์ในการตัดสินด้วยความรอบรู้ และรอบคอบให้ปรากฏดังนี้ คือ
       ดนตรี การเรียบเรียงเพลง Arrangement ความพร้อมเพรียงของนักดนตรี Team Work ความสามารถของนักดนตรี และจังหวะ
       นักร้อง ท่าทาง และบุคลิกลักษณะ เสียงขับร้อง จังหวะ ความชัดเจนของคำขับร้องและความรู้สึก
       โฆษก ท่าทางและบุคลิกลักษณะ การให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม (Showmanship)
       การตกแต่ง การตกแต่งสถานที่ การตกแต่งวงดนตรี การแต่งกายของนักดนตรี และมีคะแนนเบ็ดเตล็ดรวมอยู่ด้วย
       ในการตัดสินรอบแรก รอบสอง และรอบสามได้เป็นไปด้วยดี แต่สำหรับรอบชนะเลิศนั้น ได้นำความลำบากใจมาสู่กรรมการเป็นอย่างมากเพราะคะแนนดนตรีที่เข้าประกวดในรอบชนะเลิศนี้มีฝีมือทัดเทียมกัน และเพลงที่นำเข้าประกวดนั้นมีความดีเด่น เรียกความสนใจของประชาชนผู้ชมและผู้ฟังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย กรรมการผู้ตัดสินได้ขอบมอบให้เป็นหน้าที่ของท่านประธานหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นผู้ติดสินชี้ขาดในตำแหน่งชนะเลิศ ที่ ๑ และที่ ๒ ระหว่างวงดนตรีมิตรสังคมและเจือ รังแรงจิตร ซึ่งมีเพลงลาวดวงเดือน และ Two O'clock Jump ประชันกัน ในที่สุดท่านประธานได้เลือกวงดนตรีมิตรสังคมเป็นที่ ๑ เจือ รังแรงจิตร เป็นที่ ๒ และ Top Pop เป็นที่ ๓ และการตัดสินนี้ก็ถูกต้องกับเสียงประชาชนที่ส่งบัตรออกเสียงมา ทำให้ผู้ที่จัดให้มีการประกวดการแข่งขันดนตรีทางโทรทัศน์โล่งอก สบายใจไปตามๆกัน หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับได้ชมเชยการตัดสินครั้งนี้ว่า ยุติธรรม น่าสรรเสริญ ผู้เขียนเชื่อมั่นมาจนกระทั่งบัดนี้ และไม่มีวันเปลี่ยนแปลงว่า การประกวดดนตรีทางโทรทัศน์ ในปี ๒๕๐๑ ซึ่งเป็นปีเดียวและปีสุดท้ายที่ได้จัดขึ้น ถ้าไม่ได้รับความกรุณาจากหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ผู้ทำงานด้วยใจรัก เสี่ยงต่อการถูกตำหนิมากกว่าชม และไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ แล้ว การประกวดดนตรีครั้งนั้น คงจะไม่ประสบผลเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย และเรียบร้อยสมตามวัตถุประสงค์ เป็นอันขาด

ยอดศิลปินกับแก้วฟ้า (แก้ว อัจฉริยะกุล)
ครูแก้วเขียนไว้ในหนังสือ สิ่งสันทัด ว่า

       ตีหนึ่งแล้ว…..
       เมื่องานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี ๒๔๙๖ คงจำกันได้ว่า มียอดศิลปินลือโลกชาวต่างประเทศผู้หนึ่งนำวงดนตรีข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงให้เราชมในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นด้วย ศิลปินผู้นั้นคือ "ซาเวียร์ คูกัต" ผมได้เข้าไปชมการแสดงดนตรีของ ซาเวียร์ คูกัต นี้สองครั้ง และทั้งสองครั้งผมได้พบบุรุษผู้หนึ่งสู้อุตส่าห์เสียสละเวลาและสละเงินซื้อบัตรเข้าไปดู บุรุษนี้มีสัมพันธภาพอยู่กับวงการศิลปินมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผมเอง ซึ่งผมได้รู้จักมาก่อนวันงานฉลองรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นสัก ๒๕ ปีเห็นจะได้
       ตีหนึ่งแล้ว……
       ออกจากโรง ซาเวียร์ คูกัต ผมก็ได้ขึ้นไปบนฟลอร์ลีลาศ และได้พบกับ "บุรุษผู้นี้" อีก ท่านกวักมือเรียกผม และผมก็ได้เดินเข้าไปหาท่าน เราได้นั่งสนทนากันถึงเรื่องการแสดงของ ซาเวียร์ คูกัต ผมจึงได้ทราบว่าท่านบุรุษผู้นี้ซื้อบัตรเข้าไปดูการแสดงของ ซาเวียร์ คูกัต ทุกคืนตลอดงาน บางคืนถึงซื้อบัตรต่อดูสองรอบเลย ผมเคยถามท่านว่า ที่ท่านเสียสตางค์ซื้อตั๋วเข้าไปดู ซาเวียร์ คูกัต ทุกคืนนั้น ท่านติดใจที่ตรงไหน ? ท่านยิ้มแล้วตอบว่าท่านเองขึ้นเรือบินไปอเมริกาบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน เหมือนผมไปบางแสนและไปครั้งหนึ่งๆ ก็อยู่นานๆ ท่านพยายามจองบัตรดูการแสดงของ ซาเวียร์ คูกัต เสียจนระอาก็ยังไม่มีบุญได้ดู เมื่อท่านไปถึงที่ของเขายังไม่ได้ดู ทั้งๆที่ยอมเสียสตางค์ตั้งแพง แต่จู่ๆ เขาก็มาแสดงให้เราชมเองโดยเสียสตางค์ก็ไม่แพงอย่างนี้ ท่านก็ต้องดูเสียให้ช่ำ และจะพยายามดูให้ขึ้นใจให้ได้
       ท่านบุรุษผู้นี้ชอบดนตรีนักหรือ ? คุณครับ ท่านผู้นี้พิสมัยดนตรียิ่งกว่าชอบ เกินกว่ารักเสียอีก ถ้าจะใช้คำว่า "หลง" เห็นจะถูกต้องที่สุด ท่านผู้นี้หลงดนตรีขนาดนั่งฟังได้ทั้งคืน ตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง โดยไม่ยอมลุกไปไหนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีลีลาศ ท่านว่า "มันสนุกและ ทำให้เบิกบานดี" และแล้ว….พอ ซาเวียร์ คูกัต กลับไปอเมริกาแล้วไม่นานเท่าใด ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอเมริกัน ประจำปี ๒๔๙๗ ท่านผู้นี้จี้เส้นคนดูทั้งหลายด้วยการตั้งวงดนตรีแสดงล้อ ซาเวียร์ คูกัต ว่า "ซาเวียร์ งูกัด" ตัวท่านเองเป็นหัวหน้าวง
       …. ที่จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม เด็กชายผู้หนึ่งเกิดมาในตระกูลมีชื่อ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า "ประดิษฐ" สิ่งที่เด็กชายประดิาฐ์ผู้นี้รักมากที่สุดในชีวิตมีอยู่สองอย่างคือ กีฬา และดนตรี เมื่อประมาณ ๖-๗ ขวบ ประดิษฐเรียนดนตรีไทย เล่นฆ้องวงใหญ่ เพราะบิดาผู้เป็นขุนนางสมัยนั้นมีมโหรีและพิณพาทย์อยู่กับบ้าน ประดิษฐชอบมานั่งฟังอยู่เสมอๆ พออายุได้ ๑๑-๑๒ ขวบ ก็อยากหัดเล่นบ้าง ครูก็สอนให้ตีฆ้องวงใหญ่ ได้ขึ้นครูด้วยเพลง "สาธุการ" ซึ่งครูบอกว่าเป็นเพลงยากที่สุดเพลงหนึ่ง และบางทีก็เข้าวงกับบิดา เป็นการเล่นกันตามประสาลูกๆ พ่อๆ เป็นประจำ
       ครั้นตกปีมะเส็งน้ำท่วมใหญ่ คือ ปี พ.ศ.๒๔๖๐ บิดาก็ส่งเด็กชายประดิษฐ ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๓ ขวบ ไปเรียนหนังสือยังสหรัฐอเมริกา เป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนกันเนอรี (Gunnery School) เด็กชายประดิษฐก็เกิดมาพิสมัยในดนตรีฝรั่งเข้าอีก คราวนี้พิสมัยอย่างจับใจทีเดียว เริ่มหัดเครื่องมือแมนโดลินกับแบนโจก่อน แล้วต่อมาก็เล่นเป็นอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "Jack of all trade" คือเป็นทุกอย่าง จนเพื่อนๆเด็กฝรั่งตั้งฉายาให้ว่า "ประดิษฐ Jack of all trade" ที่โรงเรียนกันเนอรี่นี้ เด็กชายประดิษฐมีความเด่นอยู่สองอย่าง คือ การกีฬากับการดนตรี จนถึงกับฝรั่งทั้งโรงเรียนตั้งให้เป็นหัวหน้าทีมกีฬาซึ่งหายากนัก
       จากนิสัยนี้ติดตัวไปจนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยบอสตัน ตอนนี้เป็นมิสเตอร์ประดิษฐแล้ว ที่มหาวิทยาลัย ทางดนตรีก็เล่นแบนโจ (แทนกีตาร์ซึ่งไม่ใช้ในสมัยนั้น) ทางกีฬาก็เล่น บาสเก็ตบอล และอเมริกันฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่หนักมาก ต้องใช้ไหวพริบและกำลังใจรวมทั้งกำลังกาย ประดิษฐเป็นนักเรียนไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรติอย่างไม่มีเรียนต่างชาติคนใดในโลก ได้รับ ซึ่งถ้าไม่สามารถจริงๆฝรั่งคงไม่ยอมถึงเพียงนั้น เพราะปรากฏว่าทุกครั้งที่ประดิษฐลงสู่สนาม ชัยชนะต้องเป็นของทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน จนเป็นที่ยกย่องว่าเป็นดาราตัวเด่นของมหาวิทยาลัย บรรดานักศึกษาไม่ว่ามหาวิทยาลัยใด ยามพูดก็ต้องพูดถึงประดิษฐ เรียกกันในสมัยนี้ก็ว่ามีแฟนแยะนั่นเอง
       ครั้นนายประดิษฐกลับถึงเมืองไทยนั้น ยังหนุ่มฉกรรจ์ปราดเปรียวและพิสมัยในการดนตรียิ่งขึ้น ถ้านายประดิษฐเป็นนายประดิษฐที่ไม่มีวิญญาณศิลปินสิงอยู่ ผมอาจจะพูดได้ว่า ดนตรีลีลาศในเมืองไทยคงไม่เจริญถึงเพียงนี้และคุณทั้งหลายก็คงไม่รู้จักวงดนตรี "สุนทราภรณ์" หรือวงดนตรีการโฆษณาการ หรือวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์เลย
       วงดนตรีลีลาศสมัยเมื่อนายประดิษฐกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ นั้น ไม่ค่อยจะมี ถึงมีก็ล้าสมัยเต็มที จึงคิดดัดแปลงให้เทียมวงลีลาศของอเมริกา-เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๖๙ โดยไปเที่ยวฟังตามวงดนตรีลีลาศในที่ต่างๆ พยายามอธิบายถึงการเล่นที่ล้าสมัยแล้ว และลงมือเล่นวิธีที่ทันสมัยให้ดูเป็นแบบฉบับต่อมาประดิษฐนักเรียนนอกก็ปลีกเวลาจากราชการมารับจ้างบรรเลงดนตรีลีลาศ Sport Club ร่วมกับ เรือโท มานิต เสนะวีณิน (ผู้แต่เพลงเลือดทหารไทยและตะวันยอแสง) ผู้ถึงแก่กรรมไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว โดยค่าจ้างดูเหมือนอยู่ในราว ๕ บาทในสมัยนั้น ต่อมาความพิศมัยในการดนตรีก็กำเริบหนักมือขึ้น ถึงกับตั้งวงดนตรีเอง ชื่อ Rainbow Club โดยเลือกนักดนตรีมาจากที่ต่างๆ ได้ นารถ ถาวรบุตร ดีดเปียโน เจียม ลิมปิชาติ (หรือที่เรารู้จักกันในนาม พล ต.อ. หลวง ชาติตระการโกศล อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) เป่าแซ็กโซโฟน สาลี่ กล่อมอาภา (ปัจจุบันคือ สภา กล่อมอาภา มือกลองของสุนทราภรณ์ในสมัยหนึ่งและเลิกลาไปแล้ว) ตีกลอง จำปา เล้มสำราญ (ขณะนั้นอายุเพียง ๑๗ เท่านั้น และถึงแก่กรรมไปแล้วราว ๑๐ กว่าปี) เป่าทรัมเป็ต วุฒิ สุทธิเสถียร สีซอ วงเรนโบว์คลับตระเวนหากินไปตามโฮเต็ลและสโมสรต่างๆ เช่น โฮเต็ลพญาไท สปอร์ตคลับ นับเป็นวงดนตรีลีลาศวงแรกสำหรับแบบนี้ในประเทศไทย และเป็นการปฏิวัติดนตรีลีลาศจนรุ่งเรืองมาทุกวันนี้…. ต่อมาก็ตั้งวงไทยฟิล์มขึ้น หรือที่เราเรียกและรู้จักกันมาจนทุกวันนี้ว่า วงดนตรี "สุนทราภรณ์" นั่นเอง แม้ท่านจะมีราชการมาก ท่านก็เป็นผู้อุปการะวงดนตรีสุนทราภรณ์มาจนทุกวันนี้ และยังได้เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี "กรรณเกษม" อีกด้วย ท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้ริเริ่มให้คณะแสดงวิทยุ ไปหาเอื้อเฟื้อโฆษณาสินค้าจากห้างร้านต่างๆได้ โดยสถานีวิทยุไม่ต้องจ่ายเงินค่าแสดงให้แก่คณะ ทั้งไม่หักค่าโฆษณาเป็นรายได้ของสถานีด้วย เมื่อท่านมารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการอยู่พักหนึ่ง วิธีให้ห้างร้านเอื้อเฟื้อยังแพร่หลายและใช้กันมาจนทุกวันนี้ ที่เราเรียกกันว่า "สปอนเซ่อร์"
       เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ หัวหน้าเสรีไทยก็ส่งท่านไปทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นร่วมกับเสรีไทยที่สหรัฐอเมริกา และได้ผลดีมากเพราะเพื่อนๆ ฝรั่งของท่านที่เคยยกย่องท่าน ในสมัยที่ท่านอยู่มหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในวงการเมือง และรัฐบาลอเมริกันในเวลานั้นได้ต้อนรับท่านและช่วยเหลือประเทศไทยเป็นอย่างดี และแม้ท่านจะทำงานเพื่อชาติ ท่านก็ไม่ทิ้งวิสัยของศิลปินเพลงให้ประจักษ์ โดยใช้เพลงส่งวิทยุคลื่นสั้นเป็นระหัสลับกับเสรีไทยในประเทศ
       คุณที่รัก ผมอยากจะพูดว่าท่านผู้นี้นอกจากจะมีสมรรถภาพดังกล่าวแล้ว ยังเป็นศิลปินแต่งเพลงด้วย แต่เป็นศิลปินที่แต่งเพลงน้อยที่สุดในสมัยนี้ เพียง ๗ เพลงเท่านั้น (ฟังเพลงของหลวงสุขุม) แต่ทว่าแต่ละเพลงฮิทและโด่งดังไปเกือบทั่วโลก ท่านผู้นี้ได้รับเกียรติให้ส่งกระจายเสียงที่สถานี N.B.C. ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อท่านไปอเมริกาคราวหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยความไพเราะของเพลง ถึงกับท่านเองได้รับโทรศัพท์ชมเชยอย่างจริงใจ เพลงที่ท่านแต่งก็มี เช่น เพลง "สิ้นรักสิ้นสุข" "คนึงครวญ" "รักไม่ลืม" "ไม่อยากจากเธอ" "เกาะสวาท" "เมื่อไหร่จะให้พบ" และ "ชายไร้เชิง" เป็นต้น ซึ่งท่านผู้นี้ได้ส่งมาให้ผมแต่งเนื้อร้องและครั้งหนึ่งฝรั่งเคยขอซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ขาย ซึ่งท่านก็ได้ส่งมาให้ผมแปลเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียน
ผมเล่าให้คุณทั้งหลายฟังมาถึงเพียงนี้แล้ว คุณพอจะนึกออกไหมว่าท่านผู้นี้คือใคร?… ท่านผู้นี้มีชื่อและสกุลว่า "ประดิษฐ สุขุม"
       ฝรั่งอเมริกันรู้จักท่านในนามของ "ประดิษฐ Jack of all trade" แต่เราทั้งหลาย และข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ภารโรงจนถึงอธิบดีทุกกรม และรัฐมนตรีทุกกระทรวง รู้จักท่านในนามของ "หลวงสุขุมนัยประดิษฐ" เลขาธิการ ก.พ. บรรดานักกีฬาและผู้สนใจในวงการกีฬา รู้จักท่านในนามของประธานกรรมการ และกรรมการกีฬาต่างๆ ของประเทศไทย
       เมื่อในวงการดนตรีของเราดำริที่จะก่อตั้งสมาคมเพื่อความเป็นปึกแผ่นของศิลปินในด้านเพลงนั้น ท่านผู้นี้ก็ได้เป็นผู้ริเริ่ม และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่แข็งขัน ทั้งๆ ที่ในระยะนี้ (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙) ท่านเริ่มป่วยหนักและเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลไม่รู้กี่ครั้ง …จากชมรมดนตรีแห่งประเทศ ซึ่งเมื่อแรกก็มี เอื้อ สุนทรสนาน, สง่า อารัมภีร์, มนตรี ตราโมท, ท่านผู้นี้ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมฯ จนกระทั่งชมรมได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสมาคมได้แล้ว และท่านก็ได้เป็น นายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ได้ชื่นชมกับผลงานชิ้นสุดท้ายที่ท่านปลุกปล้ำจนสำเร็จเพียง ๑๓ วันเท่านั้นเอง….

ปาริชาติ สุขุม ผู้เรียบเรียง จาก
   ๑. หนังสืองานครบรอบ ๖๐ ปี ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ๒๕๐๗ เขียนโดย เอื้อ สุนทรสนาน
   ๒.
หนังสือสิ่งสันทัด

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ