[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒

5.  งานด้านการศึกษา, ศิลปและวัฒนธรรม

มูลนิธิฟุลไบรท์
การไปติดต่อขอความช่วยเหลือและทุนการศึกษาเพิ่มเติม
Brookings Institution จัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติ
การส่งเสริมงานด้านศิลปและวัฒนธรรม
การเข้าพบเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและเยี่ยมเยียนนักเรียนไทย
การศึกษาด้านประเทศอังกฤษ
มูลนิธิการศึกษาจอห์น อี พิวริฟอย
การเดินทางไปประชุมองค์การวิทยาศาสตร์การปกครอง

       หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ทำงานเกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษา เช่น การเป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ กรรมการเกี่ยวกับงานของมหาวิทยาลัยหลายชุด แต่ที่สำคัญ คืองานจัดการศึกษา คัดเลือกและจัดสรรทุนให้แก่นักเรียนทุนรัฐบาลไทยเพื่อไปศึกษา ณ ต่างประเทศตามความต้องการของหน่วยราชการต่างๆ การดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศทั้งนักเรียนทุนรัฐบาลและทุนส่วนตัว ซึ่งหลวงสุขุมฯ มีความสนใจในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ ทำให้มีความรู้ทางด้านการศึกษาทั้งของประเทศไทยและประเทศใหญ่ๆทั่วโลก และการที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่สร้างสรรค์ครูอาจารย์ ทำให้มีนักเรียนทุนอยู่ต่างประเทศมากกว่าหน่วยราชการอื่นๆ จึงได้ให้ความร่วมมือส่งเสริมอย่างดียิ่งและช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆทำให้งานด้านนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
       นอกจากนี้เมื่อยูซอมเสนอให้มีการจัดตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์* ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอินเดียนา หลวงสุขุมฯได้ทำงานร่วมกับ ดร.มาลัย หุวะนันท์ ผู้ดำเนินการโครงการ ให้คำปรึกษา และร่วมเดินทางไปกับ ดร.ชุบ กาญจนประกร และดร.มาลัย เพื่อดูงานการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ จนกระทั่งได้ตั้งคณะนี้สำเร็จ และยังได้เป็นกรรมการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อไปศึกษาและดูงานด้านนี้ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
       งานเกี่ยวกับนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
       การเดินทางเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
       หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เลขาธิการ ก.พ. ได้เดินทางไปดูงานและติดต่อกับบุคคลสำคัญๆ ในสหรัฐอเมริกาด้านการศึกษา ๖ ครั้ง คือ ใน พ.ศ.๒๔๙๕, ๒๔๙๘, ๒๔๙๙, ๒๕๐๒, ๒๕๐๓, ๒๕๐๔
      ระหว่างการเดินทางนี้ เมื่อมีโอกาสไปยังกรุงวอชิงตัน หลวงสุขุมฯ ได้ไปพบ U.S.Senator J.W. Fulbright พรรคดีโมแครท จากรัฐอาร์แคนซอ ซึ่งรู้จักชอบพอกันเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว Senator Fulbright เป็นประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์ได้สนทนาไต่ถามถึงปัญหาต่างๆเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นการเพิ่มความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแล้วยังได้เชิญให้รับประทานอาหาร ในห้องอาหารร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาและแขกผู้มีเกียรติด้วย
       นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าพบประธานคณะกรรมการข้ารัฐการพลเรือนแห่งรัฐบาลอเมริกันคือ Mr.John W Macy Jr. (Chairman U.S. Civil Service Commission) ซึ่งท่านประธาน Macy ได้ซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักและระเบียบของงาน ก.พ.ซึ่งหลวงสุขุมสามารถให้ข้อมูลได้อย่างถี่ถ้วน และกว้างขวาง ทำให้ท่านประธาน Macy เฉลียวใจสอบถามว่าทำงาน ก.พ.มานานเท่าใด เมื่อได้ทราบว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ก.พ. ทั้งยังเคยมาเรียนและจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ชั้นมัธยมถึงขั้นมหาวิทยาลัย Mr.Macy ยิ่งชอบใจมากได้เรียกช่างภาพประจำสำนักงานมาถ่ายภาพด้วยกันเป็นที่ระลึก และได้ให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่มาพบและพาไปดูงาน ก.พ.ตามความต้องการ ทำให้มีการวางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่าง ก.พ.ไทยกับสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่บัดนั้น

มูลนิธิฟุลไบรท์ (รูปภาพ ๑), (รูปภาพ ๒)

ความเป็นมาของมูลนิธิการศึกษาฟุลไบรท์
       หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐอเมริกามีสิ่งของเหลือใช้จากสงครามอยู่ทั่วโลก เช่น ยารักษาโรค เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ฯลฯ หากจะเก็บไว้ก็จะเสื่อมคุณภาพ หรือส่งกลับสหรัฐฯ ก็สิ้นเปลืองค่าขนส่ง วิธีที่ดีที่สุด คือ ขายของเหลือใช้เหล่านี้ให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งนายวิลเลียม เจ ฟุลไบรท์ วุฒิสมาชิกสหรัฐจากรัฐอาร์แคนซอ ได้เสนอว่าควรขายของเหล่านี้ รับเป็นเงินตราของประเทศที่ซื้อและกันไว้เป็นจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศเหล่านั้นกับสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะตัววุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เคยได้รับทุนการศึกษา Rhode's Scholarship อันมีชื่อเสียง ใครได้ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนการศึกษาว่า ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและมิตรภาพระหว่างประชาชาติ ข้อเสนอนี้รัฐสภาอเมริกันได้รับและผ่านกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๙ สหรัฐอเมริกาประกาศใช้บทบัญญัติการศึกษาฟุลไบรท์ ตามบทบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารและกองการแลกเปลี่ยนบุคคลของกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินงาน ประเทศที่ลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนกับสหรัฐ จะต้องจัดตั้งมูลนิธิการศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบเสนอโครงการดำเนินการตาม โครงการแลกเปลี่ยนและจ่ายเงินตามที่บังคับไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว
       ประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนการศึกษากับสหรัฐในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ รัฐบาลไทยและเอกอัคราชทูตสหรัฐเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการฝ่ายละ ๔ คน ฝ่ายไทยโดยคณะ รัฐมนตรีแต่งตั้งมีนายไพโรจน์ ชัยนาม หลวงสุขุมนัยประดิษฐ นายบุญถิ่น อัตถากร และหลวง สิทธิดุริตภาษ กรรมการได้ประชุมกันมอบให้นายไพโรจน์ ชัยนาม เป็นประธานดำเนินงาน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายไพโรจน์ ชัยนาม ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม หลวงสุขุมนัยประดิษฐจึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการแทนและเป็นตัวยืนอยู่ในคณะกรรมการที่มีการเปลี่ยนตัวกรรมการเข้าออกตลอดมา
       มูลนิธิฟุลไบรท์ได้ช่วยเหลือประเทศไทยในด้านการศึกษา เช่น
       - การส่งศาสตราจารย์และอาจารย์จากสหรัฐอเมริกามาสอนในประเทศไทย
       - การให้ทุนแก่นักศึกษา (บัณฑิต) ไทยไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา
       - การให้ทุนนักเรียนพยาบาลเพื่อไปศึกษาที่โรงพยาบาลบางกอกแซนนาตอเรียม และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ เป็นต้น

การไปติดต่อขอความช่วยเหลือและทุนการศึกษาเพิ่มเติม
       ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฟุลไบรท์ในประเทศไทย U.S.Board of Foreign Scholarship ได้เชิญหลวงสุขุมฯไปประชุมที่กรุงวอชิงตันเนื่องจากมีนโยบายจะตัดจำนวนทุนการศึกษาสำหรับประเทศไทย ทำให้หลวงสุขุมฯได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆที่ไม่ควรถูกตัดอยู่นาน จนในที่สุดไทยไม่ถูกตัดทุนนอกจากนี้ฝ่ายอเมริกันยังรับปากว่าในปีต่อๆไปจะจัดสรรทุนเพิ่มให้อีก ต่อจากนั้น ในวันรุ่งขึ้นคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดให้หลวงสุขุมฯไปพบกับนาย Joseph Slator รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม หลวงสุขุมฯได้อธิบายถึงความต้องการของประเทศไทยที่จะได้เพิ่มครูพละศึกษาไปสอนกีฬาประเภทต่างๆให้เด็กไทย นาย Slator ได้ทราบถึงประวัติหลวงสุขุมฯว่าเคยเป็นนักกีฬาดีเด่นในทีมโรงเรียนกันเนอรี และมหาวิทยาลัยบอสตัน เคยนำทีมนักกีฬาไทยไปโอลิมปิคถึง ๒ ครั้งที่ออสเตรเลียและกรุงโรม จึงได้แสดงความสนใจและรับรองจะเพิ่มจำนวนครูพละศึกษาให้ประเทศไทยด้วยในปีต่อๆไป

Brookings Institution จัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติ
       สถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน เป็นสถาบันอิสระตั้งขึ้น เพื่อทำการค้นคว้าในด้านการศึกษาและการปกครองประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำทั้ง ๒ ด้าน ได้จัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสุขุมฯ ที่ประชุมได้เชิญหลวงสุขุมฯ ขึ้นพูดเรื่องเมืองไทยและ ก.พ. ซึ่งหลวงสุขุมฯ มีวิธีพูดที่ทำให้เรื่องน่าสนใจ จูงใจให้เห็นความสำคัญและยังแทรกอารมณ์ขัน ทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นอยากเห็นเมืองไทย เมื่อจบแล้วได้มีการซักถาม ผู้เชี่ยวชาญได้ยกปัญหาเกี่ยวกับเมืองไทยขึ้นมาถาม และได้รับคำตอบที่พวกเขาพอใจมาก ต่างแสดงความชมเชย ท่านหนึ่งได้มาจับมือกับผู้ติดตามและกล่าวว่า "I'm not surprised that your Boss is an intellectual"

การส่งเสริมงานด้านศิลปและวัฒนธรรม

       เพื่อนที่หลวงสุขุมฯ รู้จักในระยะ ๑๐ กว่าปี มานี้คือ Benny Goodman (รูปภาพ) นักดนตรีชั้นเยี่ยมของสหรัฐอเมริกา แต่มีความสนิทสนมรักใคร่ประดุจรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่ไปสหรัฐอเมริกา Benny Goodman จะมาพาไปที่บ้านและพาไปเที่ยวตามสถานบันเทิงที่หรูหราในนครนิวยอร์คและ ชิคาโก อีกท่านหนึ่ง คือ Martha Graham เป็นสตรีอเมริกันสูงอายุ ผู้มีชื่อเสียงทางด้านนาฏศิลปสมัยใหม่มีความนิยมชมชอบในตัวหลวงสุขุมฯ มาก เนื่องจากมีรสนิยมทางด้านดนตรีและศิลปคล้ายคลึงกัน ทั้ง ๒ ท่านนี้ได้มาเปิดการแสดงที่ประเทศไทยให้คนไทยได้ชมด้วย

       Martha Graham ได้เขียนจดหมายถึงหลวงสุขุมฯ หลังจากเดินทางกลับไปแล้วว่า
"You meant, for me, an entry into Asia that no one has ever been able to surpass, I remember vividly the moment when you greeted me at the airport. And I remember with such delight our evenings when, with my dancers, you took me to the nightclub and they played your hit song. You made Thailand a vivid and glorious place where I hope one day to return."

การเข้าพบเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและเยี่ยมเยียนนักเรียนไทย
       ในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาทั้ง ๖ ครั้ง หลวงสุขุมฯ ได้พบอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอินเดียนา เซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย คณบดีของมหาวิทยาลัยพิทส์เบอร์ก และเฟลทเชอร์ และที่อื่นๆ อีกกว่า ๒๐ แห่ง ทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้รู้จักนักศึกษาไทยดีขึ้น รับปากว่าจะดูแลอย่างใกล้ชิด บางแห่งเอื้อเฟื้อให้ทุนการศึกษาทันที ทุกแห่งให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ
       ส่วนการเยี่ยมเยียนพบปะตรวจตราด้านความเป็นอยู่ของนักเรียนไทย ได้พูดคุย ตอบปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา การเทียบคุณวุฒิ การบรรจุเข้ารับราชการ ฯลฯ ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจ และมีกำลังใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

การศึกษาด้านประเทศอังกฤษ
       ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลไทยได้เช่าตึกเลขที่ ๑๕ Barkston, Gardens, London, S.W.๕ เป็นสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนเป็นเวลานาน และได้หยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนกระทั่งสงครามสงบลงและไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษขึ้นใหม่ใน พ.ศ.๒๔๘๙ การดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษขึ้นอยู่กับสถานเอกอัครราชทูตไทย จนกระทั่งมี นักเรียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับพันคนเกิดปัญหาเร่งด่วนในการควบคุมดูแล ใน พ.ศ.๒๔๙๙ งานชิ้นสำคัญของหลวงสุขุมฯ คือการพยายามของบประมาณให้มีการจัดตั้งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยขึ้นใหม่จนประสพผลสำเร็จ ได้รับงบประมาณจัดซื้อตึก ๕ ชั้น เลขที่ ๒๘ Princes Gate, London S.W.7 เพื่อใช้เป็นสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน เป็นกรรมสิทธิของรัฐบาลไทยโดยสมบูรณ์และเด็ดขาด (ไม่ใช่การเช่าระยะยาว) มีห้องทำงานหลายห้อง ห้องรับแขก ห้องพักนักเรียน ฯลฯ
       ในระหว่างการตรวจราชการสำนักงานผู้ดูแลและรับฟังสารทุกข์สุขดิบของนักเรียนไทย พบว่าการไม่ได้รับเทียบคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เป็นอุปสรรคต่อการมาศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ หลวงสุขุมฯ ได้ปรารภเรื่องนี้กับ Sir Paul Sinker ผู้อำนวยการบริติชเคานซิล เวอร์พอลซิงเคอร์ จึงได้เชิญให้เป็นแขกของบริติชเคานซิลเพื่อไปพบปะกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มด้วย Sir Patrick Winstead อธิการบดี Imperial College และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ ของมหาวิทยาลัยลอนดอน และได้เดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัย Exeter, Reading, Glasgow, Durham Leeds, Sheffield เป็นการปูทางความสัมพันธ์กับวงการอุดมศึกษาของอังกฤษ ในการเจรจากับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ทำให้ได้รับทราบว่า มหาวิทยาลัยของอังกฤษเองมีปัญหาเรื่องที่เรียนไม่พอ เพราะในปีหนึ่งๆ ผู้สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมีจำนวนเกินกว่าที่นั่งที่มหาวิทยาลัยจะรับได้มากจึงต้องมีการคัดเลือกอย่างเข้มงวด ซึ่งหลวงสุขุมฯได้เจรจาต่อรองขอให้ทางอังกฤษพิจารณาบัณฑิตปริญญาตรีจากไทยที่ผ่านการสอบคัดเลือกกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว พร้อมกับมีหลักฐานรับรองภาษาอังกฤษให้ศึกษาต่อตามหลักสูตรปริญญาขั้นสูงต่อไปด้วย ซึ่งต่อมาสำนักงาน ก.พ.ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานบริติชเคาน์ซิลอบรมภาษาอังกฤษและสอบคัดเลือกทางภาษาให้เมื่อมีข้อเสนอเป็นวิถีทางดังกล่าวทางอังกฤษก็ได้รับปากว่าจะพิจารณาให้เป็นกรณีๆไป เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนไทยเข้าศึกษาต่อในประเทศอังกฤษได้ต่อไป

มูลนิธิการศึกษาจอห์น อี พิวริฟอย
       มูลนิธิ จอห์น อี พิวริฟอย ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ หลังจากที่นายจอห์น อี พิวริฟอย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยท่านหนึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างเดินทางจากหัวหินเข้ากรุงเทพฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เห็นว่าท่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ผู้นี้ได้ประกอบคุณงามความดีและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก จึงมอบเงินจำนวน ๔๘๐,๐๐๐ บาท แก่นางพิวริฟอย เป็นการตอบแทนในนามรัฐบาลไทย เพื่อใช้จ่ายตามแต่จะเห็นควร นางพิวริฟอย ได้มอบให้เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกัน และข้าราชการในสำนักงาน ก.พ.และกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกัน ตกลงว่าจะนำเงินจำนวนนี้ ตั้งเป็นมูลนิธิให้เป็นทุนการศึกษามีการสอบคัดเลือกบัณฑิตปริญญาตรี สาขาอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ไปศึกษาต่อปริญญาโทในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Fletcher School of Law and Diplomacy แห่งรัฐแมสซาชูเซท สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่า หลวงสุขุมนัยประดิษฐมีคุณวุฒิเหมาะสมจะเป็นประธานกรรมการสอบคัดเลือก ซึ่งงานก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙

การเดินทางไปประชุมองค์การวิทยาศาสตร์การปกครอง
(รูปภาพ)
       เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้มีศาสตราจารย์อเมริกันชื่อ Dr. Walter Johnson แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการให้ทุนแก่นักศึกษาชาวต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อทำการสำรวจกิจการงานเกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย ที่จะไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนั้นประเทศไทยได้ลงนามในสัญญากับสหรัฐอเมริกาเรื่องทุนการศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า มูลนิธิฟุลไบรท์ขึ้นในประเทศไทย
       Dr. Walter Johnson ได้ทราบมาแต่แรกว่า คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐเคยเป็นนักศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลจัดการศึกษาของนักเรียนไทยในต่างประเทศ และเป็นกรรมการมูลนิธิฟุลไบรท์ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับการศึกษาและการบริหารงานราชการฝ่ายพลเรือนในประเทศไทยดีผู้หนึ่ง จึงได้มาพบปะสนทนาด้วย
        จากการที่ได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน นั้น Dr. Walter Johnson จึงได้ทราบถึงความเป็นมาของนักเรียนไทยในต่างประเทศตลอดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบการบริหารงานราชการฝ่ายพลเรือนของไทย ซึ่ง Dr.Johnson ได้สนใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ซักถามเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนและกฏหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานราชการตลอดถึงวิธีการและปัญหาต่างๆ อีกด้วย
       เมื่อ Dr. Walter Johnson ได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ได้ยื่นบันทึกเสนอต่อองค์การ ไอ. ซี. เอ. ในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นยูซอม) ว่าในการประชุม International Institute of Administrative Science (IIAS) ประจำปี ค.ศ.๑๙๕๑ (พ.ศ.๒๔๙๔) ซึ่งจะได้มีขึ้นที่ประเทศ ฝรั่งเศสนั้นเห็นสมควรจะได้เชิญผู้แทนจากประเทศไทยให้เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยได้แสดงเหตุผลต่อองค์การ ไอ.ซี.เอ. ไว้หลายประการ และได้กำหนดไว้ด้วยว่า ควรจะให้ผู้แทนประเทศไทยเป็น Leading Speaker โดยกำหนดตัวบุคคลผู้ที่จะเป็นผู้แทนจากประเทศไทยว่า ขอให้เป็นหลวงสุขุมนัยประดิษฐ โดยเขาให้เหตุผลว่าเท่าที่เขาได้พบปะเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหลวงสุขุมนัยประดิษฐนั้น เขารู้สึกว่าหลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการศึกษาและเกี่ยวกับการบริหารราชการฝ่ายพลเรือนเป็นอย่างดียิ่งผู้หนึ่ง โดยเหตุนี้จึงเห็นควรจะให้พูดเกี่ยวกับความรู้ ความชำนาญงานตลอดจนประสบการณ์ที่เขาได้พบมาในหน้าที่ของเขา
       ฉะนั้น ทางองค์การ ไอ.ซี.เอ. จึงได้โทรเลขมายังรัฐบาลไทยขอเชิญหลวงสุขุมฯ ไปเป็น Leading Speaker ในการประชุม International Institute of Administrative Science ประจำปี ค.ศ.๑๙๔๑ ที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติ
       การประชุม IIAS ครั้งนี้ได้จัดให้มีขึ้นที่เมืองนีซทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในการประชุมมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ กว่า ๓๐ ประเทศในการแสดงสุนทรพจน์ของหลวงสุขุมฯ ต่อที่ประชุมครั้งนั้น ปรากฏว่าเป็นที่พออกพอใจและสบอารมณ์ของผู้แทนที่มาร่วมการประชุมอย่างกว้างขวาง
       เรื่องราวต่างๆ ที่หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้พูดถึงในวันนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักทางวิชาการเกี่ยวกับ Civil Service เท่านั้น แต่ได้กล่าวถึงเกล็ดของปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบการบริหารราชการ และแทรกเรื่องเบาสมองเข้าไปด้วย คำพูดบางคำก็ชวนให้เป็นเรื่องขบขันได้ไม่น้อย จึงทำให้ผู้แทนต่างก็สนใจฟังและทำให้ที่ประชุมครื้นเครงมีบรรยากาศดีเป็นอันมาก ทุกคนพอใจเมื่อจบแล้วก็ได้รับการปรบมือแสดงความพอใจ
       เรื่องที่คุณหลวงสุขุมฯ ได้พูดในที่ประชุมในวันนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกที่ส่งผู้แทนมาร่วมการประชุมได้ทราบว่าประเทศไทยเรามีระบอบการปกครอง และมีระเบียบวิธีการบริหารราชการของประเทศที่เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศ ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยเรายังมีบางสิ่งบางอย่างดีกว่าของบางประเทศเสียอีก ซึ่งเขาผู้แทนจากประเทศต่างๆ เองก็ยอมรับ
       ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่หลวงสุขุมฯ ได้ไปร่วมการประชุมเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และเรื่องการบริหารงานราชการฝ่ายพลเรือนระหว่างประเทศและก็ได้รับความสำเร็จสร้างความนิยมเชื่อถือให้แก่บรรดาประเทศต่างๆ ที่ได้มาร่วมการประชุมในครั้งนั้นอย่างมาก นับว่าเป็น Goodwill อันดีไม่แต่จะเป็นของหลวงสุขุมฯ แต่เพียงผู้เดียว หากเป็นของประเทศชาติด้วย ปีต่อมา ค.ศ.๑๙๕๒ (พ.ศ.๒๔๙๕) ทางองค์การ ไอ.ซี.เอ. ได้มีหนังสือมาเชิญผู้แทนประเทศไทยให้ไปร่วมการประชุม IIAS และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้หลวงสุขุมฯเป็นผู้แทนประเทศไทยไปร่วมการประชุมครั้งนี้อีก
       การประชุมครั้งนี้มีที่ประเทศเบลเยี่ยม ในการประชุมนั้น หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยกวับระเบียบงานบริหารราชการฝ่ายพลเรือนอีกเช่นเคย ซึ่งก็ยังปรากฏว่าเป็นที่นิยมของบรรดาผู้แทนประเทศต่างๆ อยู่
       ในปี พ.ศ.๑๙๕๓ (พ.ศ.๒๔๙๖) ได้มีการประชุม IIAS ณ เมืองอิสตันบุลประเทศ เตอรกี ประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเช่นเดิม การประชุมครั้งนี้ หลวงสุขุมฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ประชุมหัวข้อที่ยกขึ้นมาพิจารณาในการปะชุมนั้น คือเรื่อง "มาตรฐานของพื้นความรู้ของผู้ที่จะเข้ารับราชการ และมาตรฐานของมารยาทในการที่จะเข้าเป็นข้าราชการ"
       โดยที่หลวงสุขุมฯ ได้รับเกียรติให้เป็นประธานของที่ประชุมจึงได้เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งถ้อยคำที่คุณหลวงสุขุมฯ ได้กล่าวในคราวนั้นเป็นที่จับใจของบรรดาผู้แทนของประเทศต่างๆ ที่มาร่วมการประชุม ๕๕ ประเทศ จำนวนกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งในจำนวนผู้แทนประเทศต่างๆ ดังกล่าวนั้นจะต้องมีประเทศมหาอำนาจที่มีความเจริญแล้วรวมอยู่ด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น ครั้นเมื่อหลวงสุขุมฯ ได้กล่าวเปิดการประชุมจบแล้ว ทันใดนั้นเอง ผู้แทนจากประเทศอังกฤษก็ได้ยกมือขึ้นแสดงความจำนงค์ขอพูดเป็นคนแรก เขากล่าวว่า "ได้ฟังสุนทรพจน์ของท่านประธานที่ประชุมแห่งประเทศไทยแล้ว มีสาระและจะเป็นประโยชน์หลายประการซึ่งเขาเข้าใจว่าคงจะเป็นที่สนใจของผู้แทนประเทศต่างๆ ที่ได้มาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ฉะนั้น ถ้าท่านประธานฯ มีต้นฉบับแล้ว ก็ใคร่จะเสนอขอให้คัดสำเนาแจกให้แก่บรรดาสมาชิกที่มาร่วมการประชุมในวันนั้นด้วย และได้กล่าวชมเชยหลวงสุขุมฯ ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันนั้นอย่างไพเราะมีเหตุผลเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
       เมื่อผู้แทนจากประเทศอังกฤษกล่าวจบแล้ว ก็ได้มีเสียงปรบมือของผู้แทนประเทศต่างๆ เป็นเวลานานพอสมควร แสดงความพอใจและสนับสนุนซึ่งเกียรติอันนี้ทำให้บรรดาผู้แทนประเทศต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานราชการฝ่ายพลเรือนของประเทศแต่ละประเทศทั้งสิ้นให้ความเชื่อถือ เป็นอย่างดี
       ในการที่หลวงสุขุมฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานในที่ประชุมครั้งนี้ หลวงสุขุมฯมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมเป็นอย่างดีแต่อย่างเดียวเท่านั้น ในงานสังคมอื่นๆ เช่นการนำผู้แทนฯ เข้าพบกับประธานาธิบดี หรือในงานเลี้ยงรับรองที่ได้จัดให้มีขึ้นในการประชุมครั้งนั้นก็ตาม คุณหลวงสุขุมฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นประธานของที่ประชุม ซึ่งหมายถึงว่าต้องเป็นผู้นำในงานสังคมอีกด้วย นับว่าได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติไม่น้อยเลย
       ปีต่อมา พ.ศ.๒๔๙๗ ได้มีการประชุม IIAS ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์อีก การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้แบ่งอนุกรรมการออกเป็น ๔ ชุด แต่ละชุดมอบหมายเรื่องต่างๆ ให้อภิปรายกัน แล้วทำรายงานเสนอที่ประชุมใหญ่ หลวงสุขุมฯ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมาธิการในทางวิชาการแขนงหนึ่งเมื่อการประชุมได้เสร็จสิ้นสุดลงแล้ว ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณารายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการ แต่ละชุดๆ ซึ่งปรากฏว่ารายงานการประชุมของชุดที่ ๔ ซึ่งหลวงสุขุมฯ เป็นประธานอยู่นั้น ได้รับคำชมเชยว่ารายงานได้ผลละเอียดและเรียบร้อยดีที่สุด จึงได้รับการปรบมือให้เกียรติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้หลวงสุขุมฯอดที่จะปราบปลื้มใจในความสำเร็จไม่ได้ เพราะเป็นโอกาสอันดีที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ว่าคนไทยมีความรู้ความสามารถไม่แพ้ประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้ชาวต่างประเทศได้รู้จัก และเข้าใจดีว่าประเทศไทยเรามีการบริหารงานบุคคลและการบริหารงานราชการที่เจริญทัดเทียมกับอารยะประเทศทั้งหลาย
       เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วทุกครั้ง หลวงสุขุมฯ ก็มักจะถือโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนดูแลความเป็นอยู่ และการศึกษาของนักเรียนในประเทศต่างๆ และตรวจสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศต่างๆ ด้วยเสมอ
       หลังจากเสร็จจากการประชุมที่กรุงเฮกแล้ว ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมนักเรียนหลายประเทศ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศอิตาลี ก็เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมืองตูริน ๓ อาทิตย์ จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย
       ในปี ค.ศ.๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) ได้มีการประชุมที่ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ที่ประชุมได้เลือกให้หลวงสุขุมฯ เป็นประธานอนุกรรมการ แต่หลวงสุขุมฯ ได้ขอถอนตัวเพราะเห็นว่าร่างกายยังไม่แข็งแรง สุขภาพไม่เป็นปกติเกรงว่าจะปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้ไม่ดีถึงขนาด แต่อย่างไรก็ดีหลวงสุขุมฯ ก็คงรับเลือกให้เป็น Committee of Administrative Practices (CAP) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการประจำของกรรมการคณะนี้ตลอดมา ซึ่งการทำงานของกรรมการคณะนี้ จะต้องเข้าประชุมพิเศษเพื่อชี้แจงให้ความเห็นว่าแต่ละประเทศมีการปกครองและจัดการบริหารงานราชการเป็นประการใดบ้าง ผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้นมีประโยชน์หรือได้ผลดีเพียงไร นับว่ากรรมการคณะนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งวิชาการและข้อเท็จจริงอื่นๆ หลายประการ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย
       ปี ค.ศ.๑๙๕๖ (พ.ศ.๒๔๙๙) ได้มีการประชุม IIAS ที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน หลวงสุขุมฯ ยังคงทำในหน้าที่คณะกรรมาธิการของ CAP เช่นเดิม
       ปี ค.ศ.๑๙๕๙ (พ.ศ.๒๕๐๒) มีการประชุมที่เยอรมนีตะวันตกในการประชุมครั้งนี้ หลวงสุขุมฯ คงเป็นกรรรมาธิการในคณะกรรมการ CAP เช่นเคย
       ปี ค.ศ.๑๙๖๑ (พ.ศ.๒๕๐๙) ได้มีการประชุม IIAS ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส หลวงสุขุมฯ ก็คงยังเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมการ CAP
       ในปี ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) ได้มีการประชุม IIAS ที่กรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย หลวงสุขุมฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการของ CAP เช่นเคย
       ในการไปร่วมการประชุม International Institute of Administrative Science ดังกล่าวมานี้ หลวงสุขุมฯ ได้สร้างชื่อเสียงความเชื่อถือแก่บรรดาประเทศต่างๆ เป็นอันมาก ทั้งนี้ เพราะหลวงสุขุมฯ ได้มีประสบการณ์ในชีวิตราชการซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับการบริหารงานบุคคล และการบริหารงานราชการฝ่ายพลเรือนตลอดมา จึงรอบรู้และมีความชำนิชำนาญงานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าวเป็นอย่างดี ได้รู้ข้อเท็จจริงแล้วนำไปประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไข ซึ่งข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นบางอย่างก็เป็นปัญหาทางวิชาการ และบางอย่างก็ไม่อาจจะแก้ไขด้วยทฤษฎี หากต้อง แก้ไขด้วยความชำนาญงานในทางปฏิบัติเท่านั้น คุณหลวงสุขุมฯได้นำปัญหาข้อขัดข้อง และวิธีการแก้ไขตามที่ได้พบเห็นในชีวิตราชการไปกล่าวในประชุม IIAS เสมอทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยเรามีระเบียบการบริหารงานที่ทันสมัย ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ปาริชาติ สุขุม ผู้เรียบเรียง จาก หนังสืองานครบรอบ ๖๐ ปี ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ๒๕๐๗ เขียนโดย อินสม ไชยชนะ

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ