[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒

4.  การเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ (พ.ศ. ๒๔๘๙)

ประเทศจีน
ประเทศฟิลิปปินส์
สหรัฐอเมริกา
เรือ ควีน เอลิซาเบธ
ลอนดอน
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนี
ประเทศ เดนมาร์ค
ประเทศสวีเดน
ประเทศนอรเวย์

       หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงและสถานะการณ์ระหว่างประเทศดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว ราวกลางเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ เอกอัครราชทูตจีน เอกอัครราชทูตอังกฤษ เอกอัครราชทูตอเมริกัน ที่ประจำในประเทศไทย ได้ทาบทามเชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสให้ไปเยี่ยมประเทศของตน ในฐานะที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ทำความดีความชอบไว้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่แล้วมานี้ โดยที่เป็นหัวหน้าคณะกู้ชาติ (เสรีไทย) ซึ่งได้ปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนบรรลุผลสำเร็จ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ยินดีตอบรับ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศทั้งสามให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น กับทั้งจะได้มีโอกาสปรับความเข้าใจอันเกี่ยวกับสถานะการณ์ของประเทศไทยระหว่างสงครามให้เขาได้ข้อเท็จจริงและเจตนารมย์อันแท้จริงของประเทศไทย ให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นด้วย จึงได้เสนอเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงอนุมัติให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเดินทางไปต่างประเทศตามคำเชิญของประเทศเหล่านั้น ในฐานะเป็นทูตพิเศษเชื่มความสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในการนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ผู้ติดตามร่วมเป็นคณะไปด้วย คือ
       ๑. หลวงสุขุมนัยประดิษฐ อธิบดีกรมโฆษณาการ และเลขาธิการ ก.พ. (ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้อ่านประวัติของหลวงสุขุมฯเล่มที่หนึ่งตอนที่สองเมื่อท่านมีประสบการในการท่องเที่ยวหลายประเทศในยุโรป, และเล่มที่สองตอนการปฏิบัติงานเสรีไทย)
       ๒. นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ
       ๓. นายวิทย์ ศิวะศริยานนท์ ข้าราชการในกรมโฆษณาการ
       นอกจากคณะทูตสันถวไมตรี ที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณานี้แล้ว ยังมีผู้ติดตามท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นการส่วนตัวอีก ๒-๓ คน
       ก่อนออกเดินทาง ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ขอร้องให้คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐรวบรวมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่เชิญมา ให้เอาติดตัวไปด้วยเพื่อถือโอกาสเจรจาและทำความ
เข้าใจ

ประเทศจีน

       คณะทูตพิเศษสันถวไมตรี ได้เดินทางโดยเครื่องบิน พี. โอ. เอ. เอส ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ประเทศแรกที่ไปเยือนนั้น คือ ประเทศจีน
       เครื่องบินถึงกรุงนานกิง เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกาเศษ นับว่าเป็นประวัติการบินครั้งแรกระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน โดยไม่หยุดพักเลยที่สนามบินนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และบุคคลสำคัญๆ อื่นๆ อีกมากมายคอยต้อนรับเมื่อได้มีการแนะนำตัวให้รู้จักกับบุคคลสำคัญๆ แล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจึงได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพำนัก ณ ทำเนียบของกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นที่รับแขกเมืองชั้นสูง ตั้งอยู่ในบริเวณกระทรวงการต่างประเทศ
       ในวันรุ่งขึ้น ท่านประธานาธิบดีเจียงไคเช็คได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสและภรรยากับหลวงสุขุมฯไปรับประทานน้ำชา ณ ทำเนียบของท่าน โดยเชิญนายกรัฐมนตรีทั้งคณะมารวมด้วย ในการสนทนาหรือจะเรียกว่าการเจรจาในวันนี้ประเทศไทยได้รับผลเป็นอย่างดียิ่ง ท่านประธานาธิบดีได้ยินยอมตกลงตามคำขอร้องของท่านรัฐบุรุษอาวุโสทุกประการ โดยเกือบจะว่าไม่มีเงื่อนไขเพื่อความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเราทั้งสองต่อไปภายหน้า ซึ่งปัญหาที่มีขึ้นในเวลานั้นมีอยู่มากมาย เมื่อเสร็จสงครามใหม่ๆ ประเทศจีนได้ตั้งเอกอัคราชทูตมาประจำประเทศไทยเป็นครั้งแรก และประเทศจีนเป็นฝ่ายชนะสงคราม และอยู่ใน ๕ ประเทศมหาอำนาจยิ่งใหญ่ ชาวจีนในประเทศไทยก็ได้ตื่นตัวขึ้นมามาก ฉะนั้นเรื่องตื่นตัวและเรียกสิทธิต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เราได้ถูกเรียกร้องทุกสิ่งทุกประการซึ่งไม่อาจกล่าวได้ในที่นี้ รวมทั้งค่าเสียหายในการสงครามเป็นจำนวนเงินมากมายก่ายกอง แต่การเจรจาในวันนี้ได้รับความเห็นใจจากท่านประธานาธิบดีจึงได้ยอมทุกประการ และยังรับจะช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทยและชาวเอเชียด้วยกัน ท่านประธานาธิบดียังได้กล่าวชมเชยท่านรัฐบุรุษอาวุโสว่า "ท่านเป็นคนสำคัญของทวีปเอเชียผู้หนึ่ง การกระทำของท่านที่แล้วๆมานั้น ได้กระทำให้ฐานะของประเทศไทยดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่ได้จัดตั้งขบวนเสรีไทยขี้นต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย เป็นการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรให้ได้มีชัยในสงครามที่แล้วมา นอกจากนี้ก็ได้กล่าวชมเชยความปรีชาสามารถของผู้เป็นหัวหน้า และประชาชนชาวไทยที่มีน้ำใจอันดีมีความสมัครสมานสามัคคีกัน..."
       ในวันต่อมาท่านประธานาธิบดีเชิญไปชมละคร Opera เรื่อง The Great Wall โดยนั่งชมใน Box ของท่าน และในคืนสุดท้าย ท่านได้เชิญเลี้ยงอาหารค่ำเป็นกันเองในทำเนียบ
       ตลอดเวลาที่คณะทูตพิเศษพำนักอยู่ในกรุงนานกิง นอกจากจะมีงานเลี้ยงรับรองต่างๆ อย่างมากมายจนไม่มีเวลาว่างเลย แต่อย่างไรก็ดี คณะทูตพิเศษฯ ได้ถือโอกาศไปชมสถานที่สำคัญๆ ของประเทศจีน และได้ไปเคารพศพ ดร.ซุนยัดเซน ที่สุสาน "จุงชางลิง" ด้วย
       วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ได้ออกเดินทางไปชมกรุงปักกิ่งซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ในขณะนั้นเป็นเวลาที่สงครามกลางเมืองระหว่างคณะพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายเมาเซตุงผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ กำลังดำเนินอยู่ ในการเดินทางไปกรุงปักกิ่งนั้น เครื่องบินที่นำคณะทูตพิเศษฯ ไปนั้น ท่านประธานาบดีเจียงไคเช็ค ได้ให้เกียรติโดยให้เครื่องบินพิเศษสำหรับท่านประธานาธิบดีเป็นพาหนะ ฉะนั้นจึงค่อนข้างจะมีอันตรายอยู่บ้าง
       เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา เครื่องบินก็ถึงสนามบินกรุงปักกิ่ง ที่สนามบิน นายกเทศมนตรีและภริยา คณะเทศมนตรีนายพลไท้หมิง รองผู้บัญชาการภาคเหนือ ได้มาคอยต้อนรับ แล้วนำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม Wagon Lits ต่อจากนั้นเมื่อรับประทานน้ำชาเสร็จแล้ว ก็ได้นั่งรถยนต์ไปชมกรุงปักกิ่งโดยรอบๆ กรุงปักกิ่งเป็นกรุงที่สวยงามมาก มีโบราณสถานที่น่าชมหลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะในวันนี้ได้ไปชม Winter Palace ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยราชวงศ์มิง ประมาณ ค.ศ.๑๔๒๐ ตอนเย็นนายกเทศมนตรีได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปรับประทานอาหารค่ำที่ทำเนียบฯ ซึ่งในการเลี้ยงครั้งนี้ได้มีคนสำคัญของนครปักกิ่งมาร่วมหลายท่านเป็นที่น่าสังเกตว่า นายกเทศมนตรีเจ้าภาพผู้จัดงานเลี้ยงรับรองในค่ำวันนี้เคยเป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นเดียวกันกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส และอีกคนหนึ่งคือ รองนายกเทศมนตรีก็ปรากฏว่าเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับหลวงสุขุมฯ มาก่อนเมื่อครั้งที่หลวงสุขุมฯ ปฏิบัติงานเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมเดินทางกลับมาพร้อมกันโดยเครื่องบินลำเดียวกันแต่ได้มาแยกกันที่อินเดีย
       รุ่งขึ้น วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ได้ไปชมพระราชวัง Forbidden City เป็นโบราณสถานที่สร้างในสมัยมิง เช่นเดียวกันกับ Winter Palace ตอนเย็นนายพลเอก หลีจงเหยิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในภาคเหนือของจีน ได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปรับประทานอาหาร ณ ที่ทำเนียบที่พักของท่าน ซึ่งเดิมเป็นพระราชวังที่ยวนซีไข เคยมาอยู่ก่อน จนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ์ นายพลเอกหลีจงเหยิน เป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในประเทศจีน ได้ทำการติดต่อกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นมาก่อนอย่างใกล้ชิด ในการกล่าวต้อนรับนั้น นายพลผู้นี้ได้สรรเสริญเกียรติคุณความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโสอย่างมากมาย ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้กล่าวตอบขอบใจในการให้การต้อนรับ และหวังว่าสัมพันธภาพอันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน จะมีความสนิทสนมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น...
       ตอนเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก่อนที่จะไปสนามบินได้แวะเยี่ยม Temple of Heaven ซึ่งเป็นสถานที่กษัตริย์จีนแต่โบราณมากระทำการสักการะพระเจ้าในสรวงสวรรค์ เพื่อความสวัสดิมงคลของประเทศชาติ เมื่อได้อยู่ชมพอสมควรแล้วก็ไปยังสนามบินเพื่อเดินทางต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ โดยเครื่องบินพิเศษของท่านประธานาธิบดีจอมพลเจียง- ไคเช็ค ตอนเครื่องบินออกจากปักกิ่งได้บินขึ้นไปทางเหนือก่อน ทั้งนี้เพื่อให้คณะของเราได้ชม "กำแพงเมืองจีน" อันกว้างใหญ่และยาวยืดสุดสายตา กำแพงเมืองจีนนี้มีประวัติอย่างยืดยาว เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เศษ เครื่องบินก็นำคณะทูตพิเศษฯ ถึงนครเซี่ยงไฮ้ ได้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนสมาคมชาวจีนในประเทศไทย รัฐมนตรีเซียวจีนซาน ก็ได้เดินทางมาจากกรุงนานกิงคอยต้อนรับอยู่ด้วย เมื่อได้มีการปฏิสันฐานกันตามสมควรแล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจึงได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม New Royal ณ ที่พักนี้ปรากฏว่าได้มีบุคคลสำคัญๆ มาคอยเยี่ยมคำนับอยู่ก่อนแล้วหลายท่าน
       เวลาค่ำ เจ้ากรมการต่างประเทศประจำเซี่ยงไฮ้ ได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารต้อนรับคณะทูตพิเศษ ณ ที่ทำการของกรมการต่างประเทศ ในงานเลี้ยงรับรองครั้งนี้ปรากฏว่าได้มีบุคคลสำคัญของนครเซี่ยงไฮ้มาร่วมด้วยอย่างคับคั่ง
       เสร็จจากการเลี้ยงรับรองแล้ว คณะพ่อค้าไทยในเซี่ยงไฮ้ได้นำคุณหลวงสุขุมฯ เที่ยวนครเซี่ยงไฮ้ยามราตรี หลวงสุขุมฯ ได้ถือโอกาสนี้ชมนครเซี่ยงไฮ้ ดูความสนุกสนาน ตลอดถึงความเจริญรุ่งเรืองของนครนี้ ตามคำเล่าลือว่า เป็นปารีสของตะวันออกไกล
       ตอนเช้าวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน หลวงสุขุมฯได้ไปติดต่อกับกงสุลใหญ่อเมริกัน เพื่อจัดการในเรื่องการเดินทางของคณะทูตพิเศษต่อไปยัง Manila และ สหรัฐอเมริกา
       ขณะที่อยู่พักอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้นี้ สมาคมแต้จิ๋วได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารรับรอง นอกจากนี้คณะทูตพิเศษฯ ได้ไปชมกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานทอผ้ายุงไฟเป็นต้น พักอยู่ในนคร เซี่ยงไฮ้ ๒ วัน ก็เตรียมตัวเพื่อเดินทางต่อไป...
       จากการที่คณะทูตพิเศษฯ ได้ไปเยี่ยมประเทศจีนครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก ทั้งในทางการฟื้นฟูสัมพันธไมตรี การเจรจาทางการเมืองและเรื่องอื่น ซึ่งเป็นผลดีมีความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น ตามความมุ่งหมายที่พึงประสงค์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้แล้วยังมีผลพลอยได้ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้มีโอกาสโฆษณาประเทศชาติ ทั้งทางวิทยุกระจายเสียงและทางหนังสือพิมพ์ให้ประชาชนชาวจีนได้ทราบอีกด้วย
       ในการได้ร่วมเดินทางไปกับคณะทูตพิเศษฯ ครั้งนี้ หลวงสุขุมฯ ได้ถือโอกาสศึกษาความเจริญของกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกิจการของราชการ ในฐานะที่หลวงสุขุมฯ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. อยู่ด้วย จึงได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานของ Examination Yuan แห่งประเทศจีน โดยเชิญเลี้ยงใหญ่ และเชิญชมกิจการขององค์การนี้
       ข้อสังเกตโดยทั่วๆไป ที่หลวงสุขุมฯ ได้พบเห็นมานั้นทำให้มีความคิดเห็น ดังนี้
       ๑. เกี่ยวกับการส่งนักเรียนไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เห็นว่านักเรียนที่จะไปนั้นควรได้รับการพิจารณาคัดเลือกดูตัวบุคคล ว่ามีความรู้ มีบุคลิกลักษณะ และมีความเฉลียวฉลาด เพราะเท่าที่ได้สังเกตเห็นนั้น ปรากฏว่าบุคคลสำคัญๆ ในวงราชการของจีนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามากจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น
       ๒. ในด้านวัฒนธรรมและศิลปกรรมของชาติ ควรจะได้ทำนุบำรุง และทำการเผยแพร่ให้ปรากฏเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลายทั่วโลก
       ๓. เพื่อให้การปฏิบัติงานดังกล่าวได้ผล ควรจะได้มีการชักจูงใจให้ชาวต่างประเทศได้มีโอกาสมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้มากขึ้น และรักษาทำนุบำรุง โบราณวัตถุให้คงอยู่ เพื่อเป็นการจูงใจให้ชาวต่างประเทศได้มาศึกษา
       ก่อนที่คณะทูตพิเศษฯ จะออกเดินทางจากประเทศจีนไปยังสหรัฐอเมริกานั้น ก็ได้รับ โทรเลขจากกรุงเทพฯ ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ ขอเชิญคณะทูตพิเศษฯ เป็นแขกของประเทศในระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา

ประเทศฟิลิปปินส์

       วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ นาฬิกาเศษ เครื่องบินได้นำคณะทูตพิเศษฯ ออกจากสนามบินนครเซี่ยงไฮ้ถึงกรุงมนิลาเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกาเศษ ที่สนามบินได้มีกงสุลใหญ่ของไทย คือ Mr. E.A. Perkins และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์พร้อมด้วยทหารซึ่ง ทางการฟิลิปปินส์ส่งมาเป็นทหารองครักษ์ท่านรัฐบุรุษอาวุโส นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพัก ณ โรงแรมมนิลา ซึ่งได้มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยสัมภาษณ์อยู่ก่อนแล้ว ในชั้นต้นประธานาธิบดีโรฮัสแห่งประเทศฟิลิปปินส์ได้เตรียมจัด State Banquet ในค่ำวันนั้น แต่โดยเหตุที่เรือบินต้องช้าไป จึง ต้องงด
       วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน คณะทูตพิเศษฯ และกงสุลใหญ่ไทยประจำกรุงมนิลาได้พาไปเยี่ยมรองประธานาธิบดี ดีรีโน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ณ ที่วังมาลากันยัง ซึ่งเป็นแห่งเดียวกับที่ทำงานของประธานาธิบดี เมื่อได้มีการพบปะสนทนากันพอสมควรแล้ว รองประธานาธิบดีจึงได้พาคณะทูตพิเศษฯ ไปพบกับประธานาธิบดี โรฮัส ซึ่งในการพบปะครั้งนี้ ประธานาธิบดี โรฮัส ได้แสดงความยินดี และกล่าวว่าเคยได้ยินกิติศัพท์ชื่อเสียงของท่านรัฐบุรุษอาวุโสมาก่อนแล้ว มีความหวัง ในไม่ช้าประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์คงจะได้เปิดทางสัมพันธไมตรีต่อกันและมีความสนิทสนมกันดียิ่งขึ้น...
       หลังจากที่ได้พบปะสนทนากับท่านประธานาธิบดีโรฮัส พอสมควรแล้ว คณะทูตพิเศษจึงได้ไปพบกับ Mr. Paul Mc. Nutt เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งท่านผู้นี้ได้รู้จักสนิทสนมกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสมาก่อนแล้ว
       ในตอนเย็น ท่านประธานธิบดี โรฮัส และภริยา ได้จัดให้มีงานเลี้ยงน้ำชา ณ ทำเนียบมาลากันยัง เป็นการต้อนรับคณะทูตพิเศษฯ งานเลี้ยงนี้ได้มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลฟิลิปปินส์ คณะทูตานุทูต และกงสุล รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากมาร่วมด้วย
       เวลา ๑๙.๔๕ นาฬิกา ท่านเอกอัครราชทูตอเมริกา และภริยาได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโส กับคณะทูตพิเศษฯ ไปรับประทานอาหาร ณ สถานทูตในงานเลี้ยงนี้ ได้มีรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของสหรัฐ ที่ประจำอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งทหารบก เรือ รวมอยู่ด้วย ประมาณ ๒๐ ท่าน
       อนึ่ง ในการเลี้ยงรับรองค่ำวันนี้ ท่านรองประธานาธิบดี กับท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เจรจาและมีความเห็นเกี่ยวกับการทำสัญญาสัมพันธไมตรี และการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างประเทศไทย กับประเทศฟิลิปปินส์ ในเร็ววันนี้ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เจรจาขอของเหลือใช้จากสงครามที่มีอยู่ในฟิลิปปินส์และที่เรากำลังต้องการอย่างมาก คือ ยา เสื้อผ้า วัสดุ ก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งทางฟิลิปปินส์จะขอแลกกับข้าวของเรา ส่วนข้าวของเราเราก็อยากจะให้แลกแต่ไปติดอยู่ที่สัญญาสมบูรณ์แบบที่เราจะเอาไปให้ใครไม่ได้ เราจะต้องไปเจรจาขออนุมัติกับรัฐบาลอังกฤษก่อน ฯลฯ
       แต่เดิมกำหนดว่าจะออกเดินทางจากประเทศฟิลิปปินส์ไปยังสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ แต่ต้องคอยเครื่องบินอีก ๒ วัน ขณะที่รอคอยเครื่องบินอยู่นี้ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ถือโอกาสไปชมเมืองเกซอน ซึ่งอยู่ห่างมนิลาเล็กน้อย เมืองนี้ประธานาธิบดีคนก่อนตั้งใจจะสร้างให้เป็นเมืองใหม่และเป็น Residential District เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยโดยการเช่าซื้อ แต่โครงการนี้ไม่ทันที่จะสำเร็จก็เกิดสงครามเสียก่อน
       วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ คณะทูตพิเศษฯ ได้เดินทางจากประเทศฟิลิปปินส์ต่อไปยังสหรัฐอเมริกา
       ตลอดเวลาที่รัฐบุรุษอาวุโสและคณะทูตพิเศษฯ ได้พำนักอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และในโอกาสนี้ก็ได้ทำความเข้าใจต่อกันซึ่งเป็นผลดีทางการเมืองอย่างยิ่ง โดยที่ประเทศฟิลิปปินส์เองก็ได้ตกลงอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับเรา คือ ต่างก็ทำการต่อต้านกับญี่ปุ่นเหมือนกัน จึงมีความเห็นอกเห็นใจกัน โดยเฉพาะประธานาธิบดีโรฮัส เป็นหัวหน้าคณะต่อต้านญี่ปุ่นของฟิลิปปินส์

สหรัฐอเมริกา

       หลังจากที่ได้เดินทางมาได้ ๘ ชั่วโมงเศษ ก็ถึงเกาะกวมตอนเช้ามืด เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วเครื่องบินก็ออกเดินทางต่อไปถึงเกาะไกวจาลิน เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ นาฬิกาเศษ ได้มีนายทหารชั้นนายพล ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารในเกาะนี้ชื่อ Wyatt ได้มาต้อนรับคณะทูตพิเศษฯ ได้พักรับประทานน้ำชา ณ เกาะนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังเกาะโฮโนลูลู ถึงเกาะโฮโนลูลู ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ที่สนามบินรองผู้บัญชาการทหารอเมริกันประจำเกาะโฮโนลูลู มาต้อนรับแล้วได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักชั่วคราวที่โรงแรม โมนา ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล
       เมื่อได้รับประทานอาหารกลางวันแล้ว นายทหารผู้นั้นได้พาคณะทูตพิเศษฯ ไปชมรอบๆเกาะ และแวะเยี่ยมกองทหารแล้วก็เลยไปสนามบินเพื่อเดินทางต่อไป
       วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ นาฬิกา เครื่องบินก็นำคณะพิเศษฯ ถึงมลรัฐแคลิฟอร์เนียร์ และบินผ่าน Los Angeles ซึ่งไฟฟ้ายังสว่างไสวอยู่ แล้วจึงไปร่อนลงที่สนามบินเมือง Ontario ห่างจาก Los Angeles ประมาณ ๔๐ ไมล์ ที่สนามบินได้มีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายวิลเลียม ฮัสกี้ เดินทางมาจากกรุงวอชิงตัน นอกจากนี้ก็ยังมีนายพันเอก ริชาร์ด เฮปเนอร์ ผู้แทนของนายพลโดโนแวน ส่วนคนไทยก็มี พันเอก ม.ล. ขาบ กุญชร นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล จากสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน กับนักเรียนไทยใน Los Angeles
       นายวิลเลียม ฮัสกี้ ได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักอยู่ที่โรงแรม Beverley Hills เนื่องจากได้ตรากตรำในการเดินทางมาเป็นเวลาหลายสิบชั่วโมงคณะทูตพิเศษฯ จึงรู้สึกเหน็ดเหนื่อยไปตามๆกัน
       ความมุ่งหมายเดิมที่ตั้งใจว่า ขณะที่พักอยู่ในมลรัฐนี้ก็คือ อยากจะไปดูการเกษตรกรรมที่ Imperial Valley ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ทางการอเมริกันกำหนดให้ไปดูการปลูกข้าวที่เมือง New Orleans มลรัฐหลุยซิอานาและไปดูการชลประทานที่เมือง Knoxville มลรัฐ Tennessee ฉะนั้นจึงได้งดความตั้งใจที่จะไป Imperial Valley
       ตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย บรรดาหนังสือพิมพ์ในมลรัฐนี้แทบทุกฉบับได้มาขอสัมภาษณ์คณะทูตพิเศษฯ โดยเฉพาะท่านรัฐบุรุษอาวุโสหลายต่อหลายครั้ง
       เรื่องที่รัฐบุรุษอาวุโสสนใจก็คือ การเกษตรกรรม เพราะท่านเคยได้ยินคนเล่าให้ฟังว่า ในสหรัฐฯ สามารถปลูกข้าวได้สำเร็จภายใน ๖ อาทิตย์ ซึ่งท่านสงสัยว่าจะมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงเขาได้ใช้อะไรเป็นสิ่งช่วยเหลือ ก็อยากจะไปดู แต่เมื่อได้สอบสวนแล้วก็ปรากฏว่าไม่มีความจริงเลย
       บริษัทสร้างภาพยนตร์ อาร์เคโอเรดิโอ บริษัททะเวนตี้เซนจูรี่ฟอกซ์ได้เชิญคณะทูต พิเศษฯ ไปในงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นในโรงถ่ายภาพยนตร์หลังจากการเลี้ยงแล้ว ทางบริษัทก็ได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปชมกิจการของบริษัทการถ่ายภาพยนตร์ ตลอดถึงอุปกรณ์ในการสร้างภาพยนตร์ด้วย ต่อมาบริษัทสร้างภาพยนตร์ เมโทรโกลวินด์ เมเยอร์ ก็ได้เชิญไปอีก แต่คณะทูตพิเศษฯ มีเวลาเหลืออยู่น้อย จึงได้ตอบขอบใจและปฏิเสธไป
       ตลอดเวลาที่คณะทูตพิเศษฯ พำนักอยู่ในมลรัฐนี้ บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างได้ลงเรื่องราว และภาพโฆษณาเกี่ยวกับ ท่านรัฐบุรุษ อาวุโส หัวหน้า คณะทูตพิเศษฯ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และในยามสงครามโลกครั้งที่แล้วมาได้มีบทบาทสำคัญซึ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่กองทัพสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนอเมริกันได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เรื่องนี้ทำความชื่นชมให้แก่คนอเมริกันโดยทั่วหน้ากัน ทำให้คนอเมริกันรู้จักคนไทยและเข้าใจคนไทยดียิ่งขึ้น
       วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ คณะทูตพิเศษฯ ได้เดินทางจากนคร Los Angeles โดยรถไฟถึงสถานีเมือง El Paso ในมลรัฐ Texas เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกา มีผู้เทนหนังสือพิมพ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองมาคอยต้อนรับแล้วพาคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม Paso Del Nort ต่อจากนั้นกงสุลอเมริกันประจำเมือง Jurez ประเทศเม็กซิโก ซึ่งอยู่ติดกับเมือง El Paso มาเยี่ยมคำนับแล้วพาคณะทูตพิเศษฯ ข้ามสะพานไปประเทศเม็กซิโกไปชมเมือง Jurez และรับประทานอาหารกลางวันที่นั่นแล้วจึงกลับ El Paso และได้แวะดูการทำไร่ฝ่ายของเมือง El Paso ซึ่งมีความเจริญมาก
       วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ถึงเมือง San Antonio เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ นาฬิกา ที่สถานีรถไฟได้มีผู้แทนหนังสือพิมพ์ของเมืองนี้มาคอยต้อนรับพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง แล้วเจ้าหน้าที่ได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม St. Anthony
       ตอนบ่ายเจ้าหน้าที่เกษตรกรรมประจำเมืองนี้ได้พาคณะทูตพิเศษฯ ไปชมคอกปศุสัตว์ใหญ่หลายแห่งด้วยกัน ซึ่งทำให้มีความรู้ เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม โคเนื้อ นอกจากจะได้ดูการเลี้ยงโคแล้วยังได้ดูการเลี้ยงหมูและไก่อีกด้วย ซึ่งเขาทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจริงจัง และได้ผลดีมาก
       วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ วันนี้เป็นวัน Thanksgiving Day ทั่วสหรัฐฯ หยุดงานรวมทั้งร้านรวงต่างๆ ด้วย เจ้าหน้าที่เกษตรกรรมได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปชมคอกปศุสัตว์อีกหลายแห่งต่อจากวันก่อน ตอนเย็นได้นั่งรถยนตร์ชมเมืองรอบๆ แล้วกลับที่พัก ซึ่งเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้มาขออัดเสียงคำปราศัยต่อชาวเมืองในมลรัฐเท็กซัส
       เวลา ๒๓.๔๕ นาฬิกา ได้เดินทางโดยรถไฟ ถึงสถานีเมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส ตอนเช้ามืดมีผู้แทนหนังสือพิมพ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองมาคอยรับเช่นเคย แล้วนำไปพักที่โรงแรม Rice Hotel ที่เมืองนี้หอการค้าได้จัดให้มีงานเลี้ยงต้อนรับ หลังจากการรับประทานอาหารแล้ว นายกหอ การค้า ได้กล่าวคำปราศัยต้อนรับคณะทูตพิเศษฯ โดยเฉพาะได้กล่าวยกย่อง รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งมี บทบาทช่วยเหลือชาวอเมริกันในคราวสงครามครั้งที่แล้ว ต่อจากนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโส-หลวงสุขุมนัยประดิษฐ-พ.อ. ม.ล. ขาบ กุญชร ได้กล่าวคำปราศัยคนละเล็กละน้อยตอบแทน ต่อจากนี้ก็ได้รับเชิญให้ไปเมืองเท็กซัสซิตี้ เพื่อชมโรงงานถลุงแร่ดีบุก ซึ่งผู้อำนวยการโรงงานกล่าวว่า ดีบุกส่วนมากที่นำมาถลุงนี้เป็นดีบุกที่มีคุณภาพต่ำทางสหรัฐฯ มีความยินดีที่จะได้ดีบุกจากประเทศไทยทุกประเภท
       เวลา ๒๑.๔๐ นาฬิกา ได้ขึ้นรถไฟเดินทางต่อไปถึงสถานีรถไฟ เมือง นิวออร์ลีนส์ เวลาประมาณ ๗.๓๐ นาฬิกา เมืองนิวออร์ลีนส์ อยู่ในมลรัฐหลุยส์ซิอาน่า ได้มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้แทนหนังสือพิมพ์มาคอยต้อนรับที่สถานี แล้วเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม St. Charles ตอนเช้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายท่าเรือ ได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปลงเรือยอร์ชชมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ในบริเวณเมืองนิวออร์ลีนส์ ตอนบ่ายไปดูการจับและสัตว์น้ำ แล้วนำไปเก็บในห้องเย็น
       ตลอดเวลาที่พักอยู่ในเมืองนิวออร์ลีนส์ คณะทูตพิเศษฯ ได้มีโอกาสไปชมการเกษตรกรรมหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว ซึ่งคณะทูตพิเศษฯ ได้พยายามดูเครื่องมือเครื่องใช้ที่เหมาะกับชาวนาในประเทศไทย แต่ก็ปรากฏว่าเป็นเครื่องจักรชนิดใหญ่ทั้งนั้น เกินกำลังที่ชาวนาของเราจะใช้ นอกจากนี้แล้วคณะทูตพิเศษฯ ได้ไป ชม. Southern Regional Research ได้เห็น การทำไหมเทียมจากถั่วลิสง-วิธีการเก็บมันเทศให้อยู่ได้นานๆ เป็นต้น เจ้าหน้าที่แห่งนี้ได้ชี้แจงว่า ถ้าประเทศไทยประสงค์จะส่งคนไปดูงานฝึกงาน ณ ศูนย์แห่งนี้แล้วก็ให้แจ้งไปยังนายจอห์นสันแห่งศูนย์ทดลองแห่งนี้
       คณะทูตพิเศษฯ ได้เดินทางออกจากเมืองนิวออร์ลีนส์ เมื่อเวลา ๒๐.๑๕ นาฬิกาโดยรถไฟถึงสถานีเมืองนอกช์วีล มลรัฐเทนเนสซี เวลา ๑๖.๑๕ นาฬิกาวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๙ ที่สถานีได้มีเจ้าหน้าที่ T.V.A. ผู้แทนหนังสือพิมพ์มาคอยต้อนรับ เจ้าหน้าที่ T.V.A. ได้พาคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่โรงแรม Andrew Johnson
       เช้าวันที่ ๕ ธันวาคม เจ้าหน้าที่ T.V.A. ได้มารับคณะทูตพิเศษฯ ไปยังสำนักงานของ T.V.A. ได้พบกับนาย Blee ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่ได้อธิบายถึงโครงการและความมุ่งหมายของการสร้างเขื่อนใหญ่ของ T.V.A. ว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม - เพื่อเปลี่ยนระดับน้ำให้เรือแล่นได้โดยสะดวก-ผลจากการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าฯ เป็นต้น ต่อจากนั้นได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน เสร็จแล้วก็พาไปดูการชลประทาน ซึ่งชาวนาต่างได้รับประโยชน์จากไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนใหญ่
       วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๙ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ T.V.A. พาคณะทูตพิเศษฯ ไปดูเขื่อน นอรีส ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่แห่งหนึ่งตามโครงการของ T.V.A.
       เวลา ๑๕.๔๕ นาฬิกาได้เดินทางต่อไปโดยรถไฟ ถึงสถานีรถไฟในกรุงวอชิงตัน เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกาได้มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยข้าราชการสถานทูตไทย นักเรียนไทยและผู้แทนหนังสือพิมพ์มากมายมาคอยต้อนรับ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพำนักที่ Blair House อันเป็นที่พักสำหรับแขกเมืองชั้นสูง
       ตอนกลางวันท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้จัดให้มีงานเลี้ยงอาหารแก่คนไทยในกรุงวอชิงตันที่ภัตตาคารจีน เวลาบ่าย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไป Mount Vernon บ้านเกิดและที่ฝังศพของประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ George Washington ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้คำนับอนุสาวรีย์ที่ไว้ศพของท่านประธานาธิบดีด้วย
       วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๙ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้นำพวงมาลาไปวางเคารพอนุสาวรีย์ทหารที่ไม่ปรากฏนาม ที่อาร์ลิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งทางอเมริกันได้จัดให้มีแถวทหารกองเกียรติยศมาร่วมพิธีนี้ด้วย
       วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๙ ได้มีผู้แทนสำนักงานและบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทมาเยี่ยมคำนับท่านรัฐบุรุษอาวุโสในตอนสาย
       เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เข้าพบประธานาธิบดีทรูแมน ได้อยู่สนทนากันด้วยสันถวไมตรีอันดีเป็นเวลาพอสมควร
       ตอนบ่าย เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน ได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสรับประทานอาหารกลางวันที่สถานเอกอัครราชทูต
       เวลา ๑๖.๐๐ น. ทางการอเมริกันได้เชิญผู้แทน Export Import Bank และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยมาร่วมรับประทานน้ำชาที่ Blair House เพื่อได้พบปะเจรจากับท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะ ในการพบปะครั้งนี้ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เจรจากับผู้แทน Export Import Bank เป็นเวลานานเกี่ยวกับหลักการในการขอกู้เงินเพื่อนำไปทำนุบำรุงประเทศ และในการเจรจากับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรนั้น ก็ได้ถือโอกาสให้เขาช่วยเหลือในด้านการเกษตรตลอดทั้งด้านวิชาการด้วย
       ในการที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะ ได้มีโอกาสพบปะเจรจากับบุคคลต่างๆ ในวันนี้ ได้เป็นไปโดยเรียบร้อย ได้รับการตอบปัญหาต่างๆ ที่คณะทูตพิเศษๆ สงสัยเป็นที่แจ่มแจ้ง เพราะบุคคลเหล่านี้ต่างก็มีเจตนาดีต่อคณะทูตพิเศษฯ โดยเฉพาะท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งได้เคยช่วยเหลือเขามาก่อน ซึ่งเขาถือว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศสหรัฐฯ เป็นอันมาก
       วันที่ ๑๐ ธันวาคม เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะพร้อมด้วยข้าราชการ ทหารและพลเรือนในสถานทูตไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ไปที่กระทรวงกลาโหมอเมริกัน นายแพทเตอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะได้ทำพิธีประดับเหรียญสูงสุด Medal of Freedom (Gold palm) ที่อเมริกาจะให้แก่ชาวต่างประเทศ โอกาสนี้นายแพตเตอร์สันได้อ่านคำสดุดีเกียรติของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเป็นประโยชน์แก่กองทัพพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง
       ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ตอบขอบใจรัฐมนตรี ว่ารู้สึกมีความยินดีและจะได้นำเหรียญที่ได้รับนี้ไปแสดงต่อชนชาวไทย ให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกามีความชื่นชมยินดีในการกระทำของชนชาวไทย ที่ได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตร หวังว่าในอนาคตประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาจะรักษามิตรภาพต่อกันอย่างแน่นแฟ้น
       ตามข่าวเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ไปพบอุปทูตไทยประจำกรุง วอชิงตัน เพื่อเจรจาเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลได้มอบหมายไป คือ
       ๑. การตั้ง Office of Information เพื่อให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์และวิทยุอเมริกันได้ทราบความเป็นไปและได้เข้าใจประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
           ก) สำหรับตัวบุคคลให้ใช้นักเรียนที่เรียนสำเร็จได้รับปริญญาแล้วและเป็นผู้ที่เคยได้ร่วมงานมาก่อนแล้ว
           ข) ค่าใช้สอย ให้ใช้ในงบประมาณของสถานทูต
       ๒. เรื่องนักเรียนที่กำลังศึกษาและดูงานว่า ผู้ใดควรจะให้กลับหรืออยู่ศึกษาต่อ
       ๓. สอบถามเรื่องค่าขนส่งของที่รัฐบาลสั่งไปว่าเหตุใดจึงมีราคาแพงนัก
       ต่อจากนั้น ได้พาหลวงประพันธไพรัชพากย์ไปพบกับนายฮันเดอชอต เจ้าหน้าที่ในเรื่อง Cultural Relations ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้เคยเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศในเรื่องแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขณะนั้นด็อกเตอร์โบลส์เป็นหัวหน้ากอง ตกลงในหลักการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับไทยโดยให้ทุน ๒ แสนเหรียญจัดส่งนักเรียนมาศึกษา ณ สหรัฐอเมริกา และจัดส่งอาจารย์จากสหรัฐอเมริกามาสอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย วันนี้จึงได้มาทบทวนเรื่องที่ได้เจรจากันไว้แต่เดินได้มอบหมายให้หลวงประพันธไพรัชพากย์เป็นผู้ติด ต่อไป
       วันที่ ๑๑ ธันวาคม เวลา ๙.๐๐ นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะขึ้นรถยนต์จาก Blair House ไปยังสถานีรถไฟ เพื่อเดินทางไปยังกรุงนิวยอร์ค
       ถึงนิวยอร์คเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา นายพลโดโนแวน นายพันเอกเฮปเนอร์ และบุคคลอื่นอีกหลายคนได้มาคอยต้อนรับ ได้พาไปพักโฮเต็ลวอลดอฟ แอสโทเรีย
       เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้มาสัมภาษณ์ท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่โฮเต็ล ได้สอบถามเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นและนโยบายของประเทศไทยภายหน้า ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เล่าถึงการต่อต้านและชี้แจงในเรื่องนโยบายมีความสำคัญว่า ประเทศไทยต้องการเป็นมิตรกับประเทศต่างๆ ทุกประเทศ ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง นอกจากนั้นได้มีนโยบายที่จะช่วยพลโลกที่อดอยากโดยหาทางที่จะผลิตข้าวให้ได้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือพลโลกที่อดอยากอยู่
       ตอนค่ำ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรได้เสด็จมาพบกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสเพื่อปรึกษาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ
       วันที่ ๑๒ ธันวาคม เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสสำคัญในทางการค้าหลายคนตามที่นายพลโดโนแวนนัด เช่น นายเอกเซล จอนสันยูเนียร์ นายเพ็ปเปอร์ คนสำคัญในวงการค้าของอเมริกันและอังกฤษ เพื่อได้พิจารณาหาทางให้ขยายการค้าในส่วนที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น
       เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา นายเฮอร์แมน โชลส์และผู้แทนบริษัทเวสติงเฮาส์ได้มาพบท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่โฮเต็ลเพื่อเจรจาในเรื่องเขื่อนทดน้ำและการตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากกำลังแรงน้ำ พร้อมทั้งประมาณราคาค่าใช้จ่าย และวิธีการที่จะได้เงินมาจ่ายในการนี้
       ส่วนวิธีการที่จะได้เงินมานั้น ผู้แทนบริษัทได้เสนอให้เราทำโครงการโดยละเอียดแล้ว ขอกู้เงินต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งอเมริกานั้นพร้อมที่จะช่วยซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์หลายอย่าง คือ
       (๑) จะช่วยให้ผลิตข้าวได้มากขึ้น
       (๒) เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ที่อดอยาก
       (๓) ได้กำลังไฟฟ้ามาใช้ในการอุตสหกรรมและการอื่นๆ
       ตอนเย็น นายพันเอก เดอร์ริง ได้พาหลวงสุขุมนัยประดิษฐไปพบ ประธานแห่งบริษัท อาร์. ซี. เอ. (Radio Corporation of America) เจ้าหน้าที่ก็ได้พาไปปรึกษาเรื่องเครื่องส่งวิทยุ เครื่องประกอบและราคาพร้อมด้วยข้อความอื่นๆ ซึ่งรายการละเอียดในเรื่องนี้ ได้มอบให้กรมโฆษณาการ ไปแล้ว
       ตอนค่ำ นายพลโดโนแวนกับคณะนายทหาร โอ.เอส.เอส. ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารท่านรัฐบุรุษอาวุโส หลวงสุขุมนัยประดิษฐ นายพันเอก ม.ล.ขาบ กุญชร นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโส แสดงว่าเป็นนายทหารอเมริกันหน่วย โอ.เอส.เอส. แล้ว มีสิทธิทุกอย่างทุกประการ
       ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้กล่าวตอบขอบใจ และหวังว่าความสัมพันธ์ซึ่งมีมาแล้วระหว่างเสรีไทยและ โอ.เอส.เอส. จะได้ดำเนินกันต่อไปโดยใกล้ชิดเหมือนอย่างกับเวลาสงคราม ฯลฯ คำกล่าวนี้บรรดานายทหาร โอ.เอส.เอส. ได้มีความพอใจเป็นอันมาก งานวันนี้มีผู้คนมาร่วมประมาณ ๑๕๐ คนเศษ และได้มีความสนิทสนมเป็นกันเองอย่างดียิ่ง

เรือ ควีน เอลิซาเบธ

       วันที่ ๑๔ ธันวาคม เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับภรรยาและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้ออกจากโฮเต็ลไปลงเรือ ควีน เอลิซาเบธ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ นายทหาร โอ.เอส.เอส. คนไทยในนิวยอร์ค ได้มาส่งเป็นจำนวนมาก
       การมาของคณะทูตพิเศษฯ ครั้งนี้นับว่าเป็นผลดียิ่งกับประเทศไทยหลายประการ คือ
       (๑) ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจ ซาบซึ้งถึงฐานะในทางการเมืองของประเทศไทยในระหว่างสงคราม มีการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศ ได้ช่วยเหลือพันธมิตรตลอดมา
       (๒) ประเทศไทยได้รับการโฆษณาเป็นอย่างดีในหนังสือ พิมพ์ภาพยนตร์และวิทยุกระจายเสียง
       (๓) ได้มีโอกาสดูกิจการที่เราสนใจเกี่ยวกับการปลูกข้าว การเกษตรกรรมอื่นๆ
       (๔) ได้เจรจาทาบทามหลักการในการกู้เงิน เพื่อนำมาบูรณะประเทศไทยต่อไป
       (๕) ได้พบปะกับบุคคลสำคัญๆ ในองค์การต่างๆ อันเป็นโอกาสที่จะนำความสำเร็จให้แก่ประเทศไทยในอันที่จะได้ติดต่อๆ ไปภายหน้าโดยสะดวก
       ในเรือควีน เอลิซาเบธ เที่ยวนี้ได้มีบุคคลสำคัญของโลกเดินทางร่วมมาด้วยเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุว่า สหประชาชาติได้ปิดประชุม บุคคลสำคัญควรกล่าวก็คือ นายเบวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ นายโมโลต๊อฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้มีโอกาสพบและสนทนากับนายเบวินเป็นเวลานาน
       ก่อนถึงเซาท์แฮมตัน ได้รับโทรเลขจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษแจ้งว่า รถไฟพิเศษจะได้นำท่านไปลอนดอนในคืนวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคมออกจากเซาท์แฮมตันประมาณ ๒๒.๔๕ นาฬิกา ถึงสถานีวอเตอร์ลู ๐.๓๐ นาฬิกา โปรดเตรียมหีบและกระเป๋าให้เรียบร้อย ได้จัดโฮเต็ล Claridges เป็นที่พักของท่าน ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ๒ คน จะได้มาคอยต้อนรับที่เรือพร้อมอัครราชทูตไทย นายพลเรือเอกเมาท์แบตเท็นขอเชิญท่านรับประทานอาหารกลางวัน วันที่ ๒๐ สภาผู้แทนราษฎรขอเชิญท่านเลี้ยงน้ำชาในวันเดียวกันนั้นเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา
       วันที่ ๑๙ ธันวาคม ประมาณ ๒๑.๐๐ นาฬิกา เรือควีนอาลิซาเบธได้เข้าเทียบเท่า ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ นายพลกรียฟิลด์ พร้อมด้วยอัครราชทูตไทย พลตรีเนตร เขมะโยธิน คณะของท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่ข้ามมาก่อนโดยเครื่องบิน คือ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช นายวิทย์ ศิวศริยานนท์ มาคอยต้อนรับอยู่ที่ท่าเรือ

ลอนดอน

       รถไฟขบวนพิเศษถึงลอนดอน ๑.๐๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำไปพักที่โรงแรม Claridges สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษได้ทรงพระกรุณาต้อนรับคณะทูตพิเศษฯ ด้วยความสนิทสนมเป็นอย่างดี และไม่ทรงถือพระองค์ ทรงเป็นกันเองกับคณะทูตพิเศษฯ โดยเฉพาะกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสหัวหน้าคณะทูตพิเศษฯ ในระหว่างการเลี้ยงนั้นได้กล่าวถึงเรื่องของประเทศไทย การต่อต้านกับกองทัพญี่ปุ่น ตลอดถึงการพัฒนาประเทศไทยหลังสงคราม ฯลฯ และเรื่องอื่นๆ ในวันต่อมา เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปรับประทานอาหารกลางวันที่สถานเอกอัครราชทูตจีน ซึ่งเป็นไปด้วยสันถวไมตรีอันดียิ่ง
       ตลอดเวลาที่พักอยู่ในประเทศอังกฤษนี้ คณะทูตพิเศษ ได้รับเชิญเป็นทางการจากรัฐบาลประเทศต่างๆ คือ ฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์-เดนมาร์ก และสวีเดน ให้เป็นแขกของรัฐบาล ไปเยี่ยมประเทศนั้นๆ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส เห็นว่าเมื่อรัฐบาลต่างๆ ให้เกียรติเช่นนี้ก็ไม่น่าจะปฏิเสธ จึงได้รับเชิญประเทศต่างๆ เหล่านั้น
       วันที่ ๒ มกราคม ๒๔๘๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคุณหลวงสุขุมฯ ได้ไปเยี่ยมคำนับนายแอตลี นายกรัฐมนตรี ณ ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ๑๐ Downing Street ท่านนายกรัฐมนตรีแอตลี ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ต่างได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในปัญหาต่างๆทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งนายแอตลีได้ให้ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจประเทศไทยเป็นอย่างดี เมื่อได้สนทนากันพอสมควรแล้วจึงได้อำลากลับ ต่อจากนั้นได้ไปพบไวซ์เคาน์เมาท์แบตเต็น เพื่ออำลาในการที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นๆ ที่เชิญมา
       วันที่ ๓ มกราคม คณะทูตพิเศษๆ ได้ออกเดินทางจากกรุงลอนดอนโดยรถไฟเวลา ๐๘.๒๐ น. เพื่อไปยังกรุงปรารีส ที่สถานีรถไฟได้มีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ อัครราชทูตไทย และหม่อม ข้าราชการ สถานทูตไทย นักเรียนและบุคคลอื่นๆ ได้มาส่งเป็นจำนวนมาก สำหรับนายนาวาอากาศตรี มอตัน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ส่งมาประจำตัวท่านรัฐบุรุษอาวุโสนั้นได้เดินทางไปส่งถึงเมืองโดเวอร์ แล้วลงเรือต่อไปยังเมืองคาเล เมื่อเรือถึงเมืองคาเลแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจมาคอยต้อนรับให้ความสะดวกและติดตามประจำท่านรัฐบุรุษอาวุโส แล้วขึ้นรถไฟต่อไปยังปารีส รถไฟถึงกรุงปารีส เวลา ๑๗.๕๐ นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะทูตพิเศษฯ ไปพักที่ ริตช์โฮเต็ล ซึ่งเป็นโรงแรมที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง
       การที่รัฐบาลอังกฤษได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะทูตพิเศษฯ เป็นแขกมาเยี่ยมประเทศอังกฤษครั้งนี้ นับว่าได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะได้มีโอกาสทำความเข้าใจในฐานะของประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษในปัญหาเรื่องต่างๆ และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าองค์พระประมุขแห่งชาติอังกฤษได้พบนายกรัฐมนตรีซึ่งได้มีโอกาสสนทนาเกี่ยวกับฐานะของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ประเทศไทยได้รับการโฆษณา ทั้งทางภาพยนต์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ได้พบปะกับบรรดาพ่อค้า คนสำคัญที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นหนทางที่จะยังความสำเร็จให้แก่ประเทศไทยในการติดต่อในภายหน้า นอกจากนี้ยังได้ชมกิจการต่างๆ ซึ่งอาจนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ใช้ได้กับประเทศไทยอีกด้วย
       วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๐ นายเลอองบลุม ประธานาธิบดีรัฐบาลฝรั่งเศสชั่วคราว ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะไปรับประทานอาหารกลางวันที่ Palais D'Orsay มีแขกที่ได้รับเชิญหลายท่าน เช่น นายพลเอกจูแอง เสนาธิการทหารบก นายลาบี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายลอรองเดย์ อธิบดีกรม การเมืองพ้นทะเล นายดูแมง อธิบดีกรมพิธีการและนายบอเอย์ อธิบดีกรมการเมืองเอเซีย ในงานนี้ได้มีการสนทนาเรื่องต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
       วันที่ ๕ มกราคม คณะทูตพิเศษฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางไปเยี่ยมเมืองกังโดยทางรถยนต์ เมืองนี้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เคยมาศึกษาอยู่ก่อน จึงได้ถือโอกาสไปแวะเยี่ยมมหาวิทยาลัยเก่าและอาจารย์ผู้สอนด้วย ซึ่งท่านอธิการบดีพร้อมด้วยคณะอาจารย์มาคอยต้อนรับอยู่หน้ามหาวิทยาลัย เมื่อได้พบประสนทนากันพอสมควรแล้ว อธิการบดีได้เชิญคณะทูตและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศรับประทานอาหารกลางวัน ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พาคณะทูตพิเศษฯ ไปชมชายฝั่งทะเล ที่กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก ยังปรากฏซากของเรือบรรทุกทหาร ซากปืน รังปืนของฝ่ายเยอรมันอยู่หลายแห่ง เมื่อได้ชมพอสมควรแล้วก็ได้เดินทางกลับกรุงปารีส
       วันที่ ๖ มกราคม เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงปารีส เชิญคณะทูตพิเศษฯ รับประทานอาหารกลางวันที่สถานเอกอัครราชทูต เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกประเทศที่ผ่านมานั้น ทางประเทศจีนคงจะได้มีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศที่คณะทูตพิเศษฯ ผ่านไปนั้น ทำการต้อนรับเลี้ยงรับรอง สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะรับประทานน้ำชา ซึ่งมีสมาชิกสภามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก และประธานสภาได้กล่าวต้อนรับและแนะนำให้สมาชิกสภาผู้แทนที่มาร่วมในวันนั้นได้รู้จักกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส และได้ยกย่องคุณความดีที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ปฏิบัติมา
       วันที่ ๗ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศฝรั่งเศสได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสไปอัดเสียงเพื่อส่งกระจายเสียงที่ Radio Diffusion Fran?aise คำปราศรัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสครั้งนี้ได้ทำเป็น ๒ ภาษา คือสำหรับชาวฝรั่งเศส กับสำหรับชาวสวิตเซอร์แลนด์ ใจความที่ท่านได้กล่าวปราศรัยในวันนั้นเกี่ยวกับตัวของท่านว่าเคยได้มาศึกษาในฝรั่งเศส และเมื่อกลับไปแล้วก็ได้ไปจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งมีแนวคล้ายกับคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสและโรงเรียน Sciences Politiques นอกจากนั้นก็ได้ปราศรัยว่ามีความยินดีที่ฝรั่งเศสกับประเทศไทยได้ตกลงกันได้ในเรื่องเกี่ยวกับชายแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สำหรับคำปราศรัยที่ส่งไปสวิตเซอร์แลนด์นั้น ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญในทางการพาณิชย์ และวัฒนธรรมที่ประเทศไทยกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีต่อกัน และได้กล่าวขอบใจสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้ความสะดวกต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ในระหว่างที่คณะทูตพิเศษฯ พักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ได้รับเชิญเป็นทางการจากรัฐบาลนอรเวย์ ให้เป็นแขกของรัฐบาลไปเยี่ยมประเทศนอรเวย์

ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

       วันที่ ๘ มกราคม ออกเดินทางจากประเทศฝรั่งเศสเพื่อไปกรุงเบอร์น ที่สถานีได้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและผู้ที่เคยรู้จักท่านรัฐบุรุษอาวุโสมาก่อนเป็นจำนวนมาก มาส่งรถไฟถึงกรุงเบอร์น เวลา ๙.๔๐ นาฬิกา เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่กระทรวงการต่างประเทศสวิส อัครราชทูตไทยข้าราชการสถานทูตและนักเรียนมาคอยต้อนรับที่สถานี พร้อมด้วยผู้แทนหนังสือพิมพ์ครั้นแล้วอธิบดีกรมพิธีการได้นำท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะ ไปพักที่โฮเต็ลเบลวิว รัฐบาลแห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเจ้าภาพเชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสและภริยา หลวงสุขุมนัยประดิษฐและนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ทำเนียบวัตเต็นวีล อันเป็นที่เลี้ยงแขกเมืองชั้นสูง งานนี้มีรองประธานาธิบดี รัฐมนตรีหลายท่าน ผู้บัญชาการทหาร และคนสำคัญแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มาร่วมด้วย หลังอาหาร รองประธานาธิบดีได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับท่านรัฐบุรุษอาวุโส มีใจความว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้รับเกียรติอันสูง ในการที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้สละเวลามาเยี่ยมเยียนสวิตเซอร์แลนด์ แม้เป็นเวลาเพียงสองสามวัน เราทราบว่าท่านมิใช่มีความสำคัญแต่เฉพาะในทางที่ได้ปฏิบัติกิจการในรัฐบาลในฐานะที่เป็นนักการเมืองเท่านั้น แต่ท่านยังได้กระทำกิจอันสำคัญในการต่อต้านเพื่อความเป็นเอกราชของประเทศของท่านในสงครามที่แล้วมาอีกด้วย
       เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา มีการเลี้ยงรับรองที่ศาลาแห่งกรุงเบอร์นโอกาสนี้ ได้มีคณะรัฐมนตรีคณะเทศมนตรีและคนสำคัญของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มาร่วมด้วย ภายหลังที่ได้พาท่านรัฐบุรุษอาวุโสชมสถานที่นี้โดยตลอดแล้ว ก็ได้มีการเลี้ยงน้ำชาและมีการร้องเพลงหมู่แบบสวิส ต่อจากนั้นนายเซมัตเตอร์ นายกคณะมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ยกย่องความสามารถของท่านรัฐบุรุษอาวุโสว่า เป็นผู้ที่ได้ประกอบกรณีกิจอันกล้าหาญในการจัดขบวนต่อต้านญี่ปุ่น และเป็นผู้ที่กู้ประเทศไทยให้รอดพ้นจากเงื้อมมือศัตรู ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้กล่าวตอบขอบใจในการต้อนรับ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนี

       วันที่ ๑๐ มกราคม เวลาเช้าขึ้นรถไฟพิเศษซึ่งรัฐบาลสวิสได้จัดมาให้เพื่อเดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองดาโวล์ ที่โฮเต็ลลีฮอพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีได้ทรงต้อนรับและได้ทรงสนทนาปราศรัยด้วยเป็นกันเอง ได้ทรงพระราชทานเลี้ยงน้ำชาคณะของเราได้ร่วมเฝ้าเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษ จึงได้กราบบังคมลากลับ

ประเทศ เดนมาร์ค

       วันที่ ๑๒ มกราคม เดินทางกลับไปกรุงปารีสเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงโคเปนเฮเก็น รถไฟได้เดินทางผ่านประเทศเบลเยี่ยมแล้วเข้าเขตประเทศเยอรมนี ตอนค่ำรถไฟได้เข้าเขตแดนประเทศ เดนมาร์ค
       เวลา ๕.๒๐ นาฬิกา รถไฟถึงกรุงโคเปนเฮเก็น มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เดนมาร์คและกงสุลไทยมาคอยต้อนรับ ได้นำรัฐบุรุษอาวุโสและคณะไปพักที่โฮเต็ลอังเกลแตร์
       เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เจ้าชายเอ๊กเชล แห่งประเทศเดนมาร์คได้เสด็จมาเยี่ยมคำนับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ณ ที่โฮเต็ล ได้สนทนาอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงได้เสด็จกลับ ต่อจากนั้นผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้เข้าสัมภาษณ์ หลังจากนั้นท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้เข้าไปเซ็นชื่อ ในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังของมงกุฎราชกุมาร ต่อจากนั้นได้ไปเยี่ยมคำนับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
       เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา H.R.H Prince Axel and Princess Magarita ได้เชิญคณะทูตพิเศษพร้อมด้วยบุคคลสำคัญในประเทศเดนมาร์ก ข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนัก และผู้ที่คุ้นเคยกับประเทศไทยมารับประทานอาหารกลางวันที่วังนอกเมืองของ Prince Axel
       วันที่ ๑๖ มกราคม ท่านรัฐบุรุษอาวุโสและหลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ไปเยี่ยมคำนับท่านนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศเดนมาร์ก ตอนบ่ายรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ พร้อมด้วยบุคคลสำคัญของประเทศเดนมาร์ก รวมทั้งเจ้าชายเอ็กเชลและเจ้าหญิงมาการิตาด้วย ไปรับประทานอาหารกลางวัน ณ กระทรวงการต่างประเทศ หลังอาหารท่านรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศเดนมาร์กมีฐานะคล้ายคลึงกันคือทั้ง ๒ ประเทศได้มีข้าศึกเข้ามายึดครอง ได้กล่าวต่อไปถึงความสนิทสนมระหว่างราชวงศ์ของไทยกับราชวงศ์ของเดนมาร์ก จบคำปราศรัยของท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้กล่าวตอบขอบใจในการต้อนรับอันดีของรัฐบาลเดนมาร์ก ได้ย้ำถึงสถานะการณ์และความลำบากระหว่างสงคราม และขอแสดงความยินดีที่ประเทศเดนมาร์กได้รอดปลอดโปร่งมา ความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์ทั้ง ๒ ประเทศนั้นคงจะได้ยั่งยืนต่อไป

ประเทศสวีเดน

       เวลา ๒๐.๓๐ นาฬิกา ท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะก็ได้ขึ้นรถไฟเดินทางไปยังกรุงสต๊อกโฮมต่อไป รถพ่วงทั้งขบวนก็ได้ลงเรือ Ferry ข้ามฟากไปยังฝั่งสวีเดน ได้มีผู้แทนกงสุลใหญ่แห่งกรุง สต๊อกโฮล์มาคอยต้อนรับ
       รถไฟถึงกรุงสต๊อกโฮล์ม เวลา ๘.๐๐ นาฬิกาเศษ ได้มีรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมพิธีการ อัครราชทูตไทยและภรรยา ข้าราชการสถานทูต มาคอยต้อนรับที่สถานี เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำท่านรัฐบุรุษอาวุโสไปพักที่เลขที่ ๑๓ ถนนอริคก้า
       เวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา ได้เข้าไปเผ้าสมเด็จพระเจ้ากุสตาฟ พระเจ้าแผ่นดินแห่งประเทศ สวีเดน ได้ทรงรับสั่งเป็นกันเองกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้ไปเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรี ณ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สนทนาถึงความเป็นอยู่ในประเทศไทยภายหลังสงคราม ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้แสดงความยินดีที่ประเทศสวีเดนได้รักษาความเป็นกลางไว้ได้ตลอดสงคราม ได้เวลาพอสมควรก็ทูลลากลับ ตอนบ่ายรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารโอเปร่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงการต่างประเทศ อัครราชทูตไทย กงสุลใหญ่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาร่วมด้วยต่อจากนั้นก็ขึ้นรถยนต์ชมเมืองสต๊อกโฮล์ม
       เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา อัครราชทูตไทยได้จัดให้มีการเลี้ยงต้อนรับคณะทูตพิเศษฯ โดยเชิญรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คณะทูต ผู้แทนหนังสือพิมพ์ พ่อค้าที่มีชื่อเสียงประมาณ ๒๐๐ คน มารับประทานน้ำชา ณ ที่สถานทูตไทย ในโอกาสนี้อัครราชทูตรัสเซีย อัครราชทูตอียิปต์ อัครราชทูต อิหร่าน ประจำประเทศสวีเดนได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสไปเยี่ยมประเทศนั้นๆ ซึ่งถ้าท่านรัฐบุรุษอาวุโสไม่ขัดข้อง เขาจะได้แจ้งไปยังรัฐบาลของเขา
       วันที่ ๒๐ มกราคม ผู้จัดการแห่งบริษัทอีเล็กตรอลลักส์ได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปชมกิจการของบริษัทโดยตลอด เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา มงกุฎราชกุมารแห่งประเทศสวีเดนและพระชายาได้ประทานเลี้ยงอาหารกลางวัน แก่คณะทูตพิเศษฯ ได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชสำนัก รวมทั้งอัครราชทูตไทยและภรรยา และกงสุลใหญ่ไทยกับภรรรยามาร่วมด้วย
       เวลา ๑๙.๓๐ นาฬิกา อัครราชทูตอังกฤษได้เชิญคณะทูตพิเศษฯ ไปรับประทานอาหารที่สถานทูตอังกฤษ ได้เชิญทูตประเทศอื่นๆ อีกหลายชาติ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน กงสุลใหญ่ไทยมาร่วมด้วย
       วันที่ ๒๒ มกราคม ได้ไปชมโรงงานทำกระดาษใหญ่ที่ฮอลสตาตอนค่ำ International Club แห่งประเทศสวีเดนได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารค่ำและราตรีสโมสรโดยเรียกว่า "ราตรีแห่งประเทศไทย" ท่านรัฐบุรุษอาวุโสและคณะเป็นแขกเกียรติยศผู้ที่มาในงานค่ำวันนี้มีจำนวนประมาณ ๓๐๐ คน เป็นคณะทูตานุทูตและครอบครัวถึง ๑๗ ชาติ นอกจากนั้นก็มีคนสำคัญแห่งประเทศสวีเดนทั้งสิ้น ภายหลังอาหารท่านประธานแห่งสมาคมนี้ได้ลุกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ยกย่องเกียรติคุณของท่านรัฐบุรุษอาวุโสอย่างยืดยาว
       ต่อจากนั้นหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ได้แสดงปาฐกถาเรื่องเมืองไทยเป็นเวลาประมาณ ๒๐ นาที โดยได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทยในด้านต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา การปกครอง การศึกษา การคมนาคม วัฒนธรรม การกสิกรรม การเศรษฐกิจ และจบลงด้วยความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศซึ่งผู้ที่มาในงานวันนี้ได้มีความพอใจเป็นอันมาก

ประเทศนอรเวย์

       วันที่ ๒๓ มกราคม คณะทูตพิเศษฯ ได้ออกเดินทางไปกรุงออสโลโดยรถไฟ รถไฟถึงกรุงออสโลเวลาเช้าประมาณ ๙.๐๐ นาฬิกาเศษ ได้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศนอรเวย์ และกงสุลใหญ่ไทย ได้มาคอยต้อนรับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้นำไปพักที่แกรนต์โฮเต็ล แล้วได้ไปเยี่ยมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
       เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา สมเด็จพระเจ้าฮาคอน แห่งประเทศนอรเวย์ได้พระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่มาร่วมโต๊ะในวันนี้มีมกุฎราชกุมารเจ้าชายโอลาฟ และพระชายา รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศนอรเวย์ ได้ทรงเล่าถึงพระองค์ท่านและการต่อต้านเยอรมันของชนชาวนอรเวย์
       วันที่ ๒๕ มกราคม หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้ต้อนรับพ่อค้าใหญ่แห่งประเทศนอรเวย์หลายราย เพื่อได้สอบถามถึงการที่จะให้ส่งกระดาษ ตะปู เครื่องเหล็ก เครื่องเคลือบทำครัว กระจกต่างๆ ที่เป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศนอรเวย์มายังประเทศไทย จากนั้นยังได้มีพ่อค้าเดินเรือทะเลมาพบเพื่อสอบถามในเรื่องการเดินเรือในแถบตะวันออกไกลนี้ ตอนค่ำกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเย็นที่บ้านของกระทรวงการต่างประเทศ ต่อจากนั้นคณะทูตพิเศษก็ไปยังสถานีรถไฟ เพื่อเดินทางกลับไปยังกรุงสต๊อกโฮล์ม

       เนื่องจากความตรากตรำในการเดินทางและการต้อนรับโดยมิได้มีเวลาหยุดหย่อน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ล้มเจ็บลง ฉะนั้นตามที่จะได้เดินทางไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ต่อไปอีกตามคำเชิญของรัฐบาล รัสเซีย อียิปต์ อิหร่าน อินเดีย และพม่า จึงเป็นต้องงด และได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยตรง

สรุปการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ

        การที่ประเทศต่างๆ ได้เชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับคณะทูตพิเศษไปเป็นแขกนี้ เป็นการให้เกียรติยศอย่างสูง เป็นเกียรติของประเทศชาติด้วย นอกจากนี้แล้วประเทศไทยยังได้รับผลดีมากมายหลายประการ คือ
       ๑. ได้มีโอกาสปรับความเข้าใจในเรื่องสถานะการณ์ บ้านเมืองของประเทศไทยระหว่างสงครามกับต่างประเทศให้มีความเข้าใจถูกต้องดีตามความเป็นจริง เพราะการโฆษณาประเทศไทยในต่างประเทศไม่มีเลย ฉะนั้น เมื่อประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น จึงเป็นที่เข้าใจกันทั่วโลกว่า ประเทศไทยเป็นฝ่ายอักษะ เป็นลูกน้องญี่ปุ่น และเป็นประเทศรุกราน การไปเชื่อมสัมพันธไมตรีของคณะทูตพิเศษคราวนี้ ได้ไปทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่า เราได้ร่วมกันพันธมิตรตลอดมา แม้เหตุการณ์จะได้เป็นอย่างอื่น แต่เราได้มีคณะต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศ ได้ช่วยเหลือพันธมิตรตลอดเวลา ทั้งนี้รัฐบาลทุกประเทศต่างก็ได้ยกย่อง และยอมรับว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือพันธมิตรในการสงครามคราวที่แล้วมานี้เป็นอันมาก ผลดีจึงย่อมได้กับประเทศไทย
       ๒. เมื่อได้ปรับความเข้าใจกับต่างประเทศเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ก็ได้ทำความสนิทสนมเพื่อเพิ่มความสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
       ๓. ได้มีโอกาสไปดูกิจการหลายแห่งด้วยกัน เพื่อที่จะได้มาแนะนำในการปรับปรุงหรือขยายกิจการงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยยิ่งขึ้น มีอาทิเช่น กิจการที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว การเกษตรกรรมอื่นๆ การชลประทาน และการอุตสาหกรรม ฯลฯ
       ๔. ได้เจรจาทาบทามและขอทราบหลักการในการที่จะกู้เงินเพื่อที่จะได้นำมาบูรณะประเทศไทย
       ๕. ได้พบปะทำความคุ้นเคยสนิทสนมกับบุคคลสำคัญๆ ของประเทศต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ที่จะหาความสำเร็จในการติดต่อเพื่อดำเนินการเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยต่อไปภายหน้า
       ๖. ประเทศไทยได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ และวิทยุกระจายเสียงของประเทศต่างๆ ได้นำไปเผยแพร่เป็นอย่างดีตลอดเวลาที่คณะทูตพิเศษได้เดินทางไปยังประเทศนั้นๆ

อินสม ไชยชนะ ผู้รวบรวมและเรียบเรียง

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ