[ กลับไปสารบัญ ]

ภาคที่ ๒  

2.  เสรีไทย (พ.ศ.๒๔๘๘)

การปฏิบัติงานเสรีไทย  เรียบเรียงจากข้อเขียนของ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร และของคุณอินสม ชัยชนะ ในหนังสือที่ระลึกแจกในงานครบรอบ ๖๐ ปีของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (๒๕๐๗)

ญี่ปุ่นยกพลเข้าไทยทำสงครามมหาเอเชียบูรพา
ถูกเรียกตัวให้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย
ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย
การเดินทางอันระหกระเหินยากลำบาก
ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายในอเมริกา

       งานของขบวนการเสรีไทยเป็นปฏิบัติการลับใต้ดินระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา และมีผลทางการเมือง ผู้ที่ปฏิบัติงานนี้ ล้วนเสี่ยงภัยนานาประการ เมื่อเสร็จสิ้นสงครามใหม่ๆจึงยังไม่เป็นที่เปิดเผย ครั้นเมื่อเวลาล่วงมานานพอสมควรจึงมีการเปิดเผยเรื่องราวการปฏิบัติงานของขบวนการกู้ชาติเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศที่มีบุคคลต่างๆเกี่ยวข้องมากมายรวมทั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆของประเทศ ในส่วนของหลวงสุขุมนัยประดิษฐก็ได้ร่วมปฏิบัติงานที่มีความยากลำบากและมีความสำคัญไม่น้อย สมควรจะได้รับการกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้

ญี่ปุ่นยกพลเข้าไทยทำสงครามมหาเอเชียบูรพา
       สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางด้านเอเชีย อุบัติขึ้นเมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.2484 (ค.ศ.๑๙๔๑) ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในประเทศไทยทั้งทางด้านชายฝั่งทะเล ได้แก่ บางปู ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และมาทางชายแดนด้านอินโดจีน ทหารและตำรวจรวมทั้งยุวชนทหาร ลูกเสือไทยร่วมกันต่อสู้อย่างกล้าหาญเสียชีวิตมากมายแต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ สู้อยู่ได้ไม่นานก็มีคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้หยุดสู้รบ และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยพร้อมทั้งประกาศสงครามเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น

ไทยประกาศสงครามกับพันธมิตรและขบวนการลับต่อต้านญี่ปุ่น
       ก่อนหน้านั้นในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔๑  ญี่ปุ่นได้โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทยและมลายู สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ ๑๐ ธันวาคม เยอรมนีและอิตาลีประกาศสงครามกับอเมริกาและสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามตอบ ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม รัฐบาลไทยได้ยินยอมลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่นและวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และออสเตรเลีย โดยที่บริเตนใหญ่ประกาศสงครามกับไทยตอบโต้ แต่สหรัฐอเมริกาใช้วิธียับยั้งยังไม่ตอบโต้ อย่างไรก็ตามกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าเกิดสถานะสงครามเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประกาศสงครามต่ออีกฝ่ายหนึ่งแล้ว
       เมื่อรัฐบาลไทยนำโดยจอมพลป.พิบูลสงครามประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยและได้นำความหารือกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลและดำรงตำแหน่งสมาชิกผู้หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รัชกาลที่ ๘) นายปรีดีเห็นว่าสงครามคราวนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรคงจะเป็นผู้ชนะและไทยจะกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงครามถ้าปล่อยไปเช่นนี้ไทยอาจเสียเอกราชแต่ในภาวะที่เป็นอยู่เนื่องจากถูกเหตุการณ์บีบบังคับ ไทยควรทำให้เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรไทยก็พยายามช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรทุกวิถีทางหลังนั้นไม่นานก็ได้มีกลุ่มกู้ชาติเกิดขึ้นอย่างลับๆทำหน้าที่ต่อต้านญี่ปุ่นและช่วยเหลือสัมพันธมิตร เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับสู่สถานภาพเดิมเหมือนเมื่อก่อน วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ คือเป็นประเทศอิสระมีนายปรีดี เป็นหัวหน้ากลุ่มในประเทศและ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้แทนชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศอันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จักรภพอังกฤษและจีน และเป็นต้น ขบวนการนี้เรียกว่า ขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) และเมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้น ขบวนการเสรีไทยจะหมดหน้าที่และยุบตัวเอง

ถูกเรียกตัวให้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย
       ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยทำหน้าที่กู้ชาตินี้มีมากมายทั้งในและนอกประเทศ หลวงสุขุมนัยประดิษฐมิได้เป็นสมาชิกของขบวนการตั้งแต่เริ่มแรก เพราะงานของขบวนการนี้เป็นงานลับ หลวงสุขุมฯได้เข้าร่วมเมื่อตอนปลายแล้วคือในตอนต้นปี พ.ศ.๒๔๘๘ (สงครามสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘) หลวงสุขุมนัยประดิษฐ และพระพิศาลสุขุมวิท พี่ชาย ได้รับเลือกจากผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ เนื่องจากมีความคุ้นเคยและไว้วางใจเป็นส่วนตัวในฐานะญาติเกี่ยวดอง (ท่านผู้หญิงพูนศุขภริยานายปรีดี มาจากสกุล ณ ป้อมเพ็ชร โดยเป็นหลานของท่านผู้หญิงตลับ มารดา) และมีคุณสมบัติเหมาะสมเพราะทั้งหลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯเป็นนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา จึงมีเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เป็นชาวอเมริกันอยู่มาก เหมาะสมกับภารกิจที่จะได้มอบหมาย (ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้อ่านประวัติของหลวงสุขุมฯเล่มที่หนึ่งตอนที่หนึ่งเพื่อได้เห็นถึงความสามารถ ความสำเร็จ และความกว้างขวางของท่านเมื่อตอนที่ท่านศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา)
       ในคืนวันหนึ่ง เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เชิญหลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯไปพบ ณ ทำเนียบท่าช้าง ที่ศาลาท่าน้ำ ผู้สำเร็จราชการฯได้บอกกับทั้งสองท่านว่ามีงานสำคัญของชาติให้ทำและถามความสมัครใจว่าจะทำหรือไม่เพราะต้องเสี่ยงชีวิต เมื่อทั้งสองท่านตอบรับ ก็ให้พนมมือปฏิญาณตนว่าจะไม่บอกผู้ใด แม้กระทั่งคนใกล้ชิดที่สุดแล้วจึงเล่าเรื่องใต้ดินของขบวนการเสรีไทยให้ทราบ ทำให้ทั้งหลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯได้ทราบว่า นายปรีดี พนมยงค์ คือหัวหน้าเสรีไทย สำหรับงานที่จะให้ทำนั้นนายปรีดีจะมอบหมายให้ภายหลัง

ปฏิบัติงานเสรีไทย ณ สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.๒๔๘๘)
       ถึงวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ หลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯได้ถูกตามตัวมาที่ทำเนียบท่าช้างของผู้สำเร็จราชการ ที่นั่นนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้ต้อนรับและพาไปพบหัวหน้าเสรีไทยที่เรือนท่าน้ำ ซึ่งท่านได้บอกว่าทั้ง ๒ จะต้องออกเดินทางจากประเทศไทยในวันจันทร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ตอนกลางคืน โดยทางเรือเล็กไปขึ้นเครื่องบินทะเลในอ่าวไทย

ภาระกิจที่ได้รับมอบหมาย
        หัวหน้าเสรีไทยได้มอบหมายภาระกิจให้ดังนี้
       ประการแรก ต้องชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนอเมริกันว่าถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศตัวเป็นฝ่ายญี่ปุ่น ทำตนเป็นปฏิปักษ์และประนามฝ่ายสัมพันธมิตรทางหนังสือพิมพ์และทางวิทยุกระจายเสียง ฯลฯ แต่คนไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและได้รวมตัวเป็นคณะกู้ชาติเสรีไทย หน้าที่ของเสรีไทยจึงมิใช่เฉพาะต่อต้านญี่ปุ่นผู้ยึดครองและให้ความร่วมมือช่วยเหลือพันธมิตรแต่ยังต้องทำให้อเมริกาและอังกฤษเข้าใจถูกต้องว่าการกระทำของรัฐบาลไม่ใช่ความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ แต่เป็นการกระทำของนักการเมืองเพื่อเอาตัวรอดเฉพาะหน้าเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ไทยไม่กลายเป็นประเทศผู้แพ้สงครามและได้รับการรับรองเอกราชหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งสำคัญกว่าสิ่งใดทั้งหมด คณะของหลวงสุขุมฯจะต้องแก้ความเข้าใจผิดของชาวอเมริกันที่เชื่อว่าคนไทยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเต็มใจและแก้ไขเรื่องที่ไทยถือโอกาสยึดเอาดินแดน ๔ จังหวัดคืนจากฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตร) พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุกระจายเสียงกล่าวหาฝรั่งเศส อย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น
       ประการที่สอง จะต้องเผยแพร่ให้คนอเมริกันทราบถึงการปฏิบัติงานของคณะกู้ชาติว่าได้ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไรบ้าง และคณะกู้ชาติเสรีไทยทั้งนอกประเทศและในประเทศเป็นคณะเดียวกัน ให้ข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมที่เสรีไทยได้ทำ นอกจากนี้ยังมีภาระกิจอื่นๆอีกได้แก่
       - เผยแพร่วัฒนธรรมไทย
       - ชักชวนให้ชาวอเมริกันมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย
       - ช่วยพระพิศาลสุขุมวิท ทำการติดต่อกับองค์การฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อฟื้นฟูสถานภาพเดิมแก่ประเทศไทย
       - ศึกษาเรื่องการเงินและอื่นๆอันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย
       - ช่วยอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในกิจการต่างๆ

การเดินทางอันระหกระเหินยากลำบาก
       หลวงสุขุมฯและคณะได้ออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ มีผู้ร่วมเดินทางไปถึงอเมริกา คือ พระพิศาลสุขุมวิท นายกุมุท จันทร์เรือง นายแผน วรรณเมธีและนายลักขี วาสิกสิริ การเดินทางเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๒๐ น. โดยเรือยนต์ขนาดเล็กจากท่าวาสุกรีไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองพระโขนงแล้วออกทะเลที่ปากแม่น้ำบางปะกง ผู้โดยสารทั้งหมดต้องนั่งเบียดกันไป ใช้เวลา ๒ วัน ๒ คืน อยู่ในเรือเล็กท่ามกลางคลื่นลมมรสุม ภัยธรรมชาติ และยังต้องคอยหลบทุ่นระเบิดและเรือของญี่ปุ่นด้วย
       การไปทำงานคราวนี้ หลวงสุขุมฯมีนามแฝงไทยว่า นายน้อย อาจหาญ และชื่อรหัสว่า เจน (Jane) ส่วนพระพิศาลฯมีนามแฝงว่า นายวิทูร สมศักดิ์ และชื่อรหัสว่า แม็ค (Mac) ในขณะที่หัวหน้าเสรีไทยมีรหัสว่า รูธ (Ruth) การที่ต้องมีชื่อรหัสเพราะต้องทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการลับของสหรัฐอเมริกาคือหน่วย โอ เอส เอส (O.S.S. Office of Strategic Services) ช่องทางแรกของการติดต่อกับฝ่ายพันธมิตรนั้น รูธให้เริ่มผ่านทางประเทศจีน (ขณะนั้นยังไม่ได้แยกเป็น ๒ จีน) แล้วทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่จีนและอเมริกันในจีนว่ามีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในไทย จนกระทั่งถึงกรุงวอชิงตัน โดยได้ปรึกษาหารือกับอัครราชทูตไทย คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
       หลังจากรอนแรมอยู่กลางทะเลท่ามกลางคลื่นลมมรสุม ก็ได้ขึ้นเรือบินทะเลแบบแคทาลินาของโอ เอส เอส ซึ่งบินมารับจำนวน ๒ ลำ การขึ้นเครื่องบินจากเรือเป็นไปโดยยากลำบากเพราะคลื่นแรงเรือเทียบไม่ได้ ในที่สุดต้องลงเรือยางเพื่อไปขึ้นเครื่องบินเสียเวลาถึง ๒ ชั่วโมง เครื่องบินไปที่จุดหมายแรก คือ เมืองมัดราส ประเทศอินเดีย ซึ่งมีค่ายโอ เอส เอส อยู่
       ที่มัดราส หน่วยโอ เอส เอส ของอเมริกันเป็นผู้มารับหลังจากได้พักผ่อนและรับทราบสถานการณ์ข้อมูลที่นั่น ๒ วัน ก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาปัจจุบันโดยทางเครื่องบิน ตลอดเวลาได้ใช้ชื่อรหัสเท่านั้น ที่โคลัมโบได้พบกับเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันอีกและให้ข้อมูลเมื่อเขาซักถามเกี่ยวกับเมืองไทย อยู่ที่นั่น ๒ วันจึงได้เดินทางไปยังเมืองแคนดีของเกาะลังกาได้พบกับพันเอกคอฟลิน หัวหน้าหน่วย โอ เอส เอส ของเขตตะวันออกใต้ เขาให้การต้อนรับอย่างดีในขณะที่ทั้ง ๒ เป็นผู้แทนของรูธ หัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย ที่แคนดีนี้ได้พบปะเจรจากับพันเอกคอฟลินหลายครั้ง นอกจากนั้นได้ตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเมืองเศรษฐกิจการทหารและบุคคลในคณะกู้ชาติบางคน ได้พบหัวหน้าแผนก โอ เอส เอส ทั้ง ๓ แผนก ได้แก่ แผนก Secret Intelligence แผนก Secret Operation และแผนก Research and Analysis ต้องตอบคำถามมากมายจนเขาพอใจ หัวหน้าทางฝ่ายอเมริกันมีเรื่องแจ้งให้ทราบอาทิเช่น
       ๑. อเมริกาและอังกฤษยอมรับว่าหัวหน้าเสรีไทยในประเทศเป็นหัวหน้าของคนไทย
       ๒. ทางอเมริกากลัวว่าญี่ปุ่นจะยึด (ปลดอาวุธ) ประเทศไทยเร็วกว่าที่จะช่วยเหลือได้ทัน
       ๓. เดิมอเมริกาคิดว่าไทยมีคณะกู้ชาติหลายคณะทำให้ทางเขาหนักใจแต่เมื่อทราบว่าเป็นคณะเดียวก็สบายใจ
       ๔. ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเขตควบคุมของอเมริกา แต่อยู่ในเขตอังกฤษ การขออาวุธจากอเมริกาจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย
       ๕. รัฐบาลอเมริกันยอมรับฐานะของประเทศไทย เหมือนก่อนสงคราม
       หลวงสุขุมฯและคณะออกเดินทางจากแคนดี กลับโคลัมโบในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ หลังจากนั้นในวันที่ ๗ มิถุนายน จึงได้ออกเดินทางไปยังนิวเดลฮี ที่นิวเดลฮีนี้ได้พบเสรีไทยฝ่ายอังกฤษหลายคน เช่น ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ หลวงอาจพิศาลกิจ (อาจ พิศลยบุตร) นายวิวัฒน์ ณ ป้อมเพ็ชร ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร ฯลฯ ซึ่งก็ได้แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกัน จนวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘ จึงได้เดินทางออกจากนิวเดลฮีไปสหรัฐอเมริกาโดยเครื่องบิน เอ.ที.ซี. ผ่านอัฟริกา ไปทางคาซาบลังก้า แล้วผ่านเกาะอาซอเรส เบอร์มิวดา จนถึงนิวยอร์ค เมื่อแวะที่ใดจะพบเจ้าหน้าที่ โอ เอส เอส เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมซึ่งจะซักถามเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยและคณะกู้ชาติของไทย

ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายในอเมริกา
        จนกระทั่งถึงนครนิวยอร์คและกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้เข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยและเป็นหัวหน้าหน่วยเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา ม.ล.ขาบ กุญชร ผู้ช่วยทูตทหารบก หลวงดิษฐการภักดีและนายอนันต์ จินตกานนท์ เลขานุการและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย
หลวงสุขุมฯได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือ
๑. การโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยให้ชาวอเมริกันได้รู้จัก ซึ่งหลวงสุขุมฯได้ดำเนินการ ดังนี้
       ๑.๑ ขอสถานทูตไทยจัดตั้งสำนักงานข่าวสาร (Office of Information) โดยให้นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในอเมริกาเป็นเจ้าหน้าที่ มีนายกุมุท จันทร์เรือง เป็นหัวหน้า นายฉุน ประภาวิวัฒน์และนางจินตนา ยศสุนทร เป็นผู้ช่วย หน่วยงานนี้แบ่งงานเป็น ๓ แผนก คือ
       - แผนกการเมืองและประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม
       - แผนกข่าวสารปัจจุบันทั่วโลก
       - แผนกรายงานข่าวของคณะกู้ชาติไทยหรือเสรีไทย
       สำนักงานนี้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับสถานทูตแต่ใช้สถานที่ของสถานทูตไทย ทำหน้าที่เผยแพร่ กระจายข่าวและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อได้ตั้งสำนักงานนี้แล้วมีผู้สนใจมาสอบถามขอข้อมูลเรื่องราวต่างๆมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       ๑.๒ หลวงสุขุมฯได้พยายามติดต่อเพื่อนฝูงเก่าๆสมัยอยู่มหาวิทยาลัยบอสตัน เนื่องจากเคยทำหน้าที่บรรณาธิการ (Editor-in-chief) ของหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าเพื่อนหลายคนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเมืองต่างๆ คนหนึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Boston Globe ซึ่งมีอิทธิพลและมีเครือข่ายกว้างขวาง เพื่อนฝูงเหล่านี้ยินดีช่วยเหลือลงบทความเกี่ยวกับประเทศไทยให้โดยทางไทยให้นายกุมุท จันทร์เรือง ซึ่งมีความรู้ทางภาษาดีมาก เป็นผู้เขียนบทความ นอกจากนี้เพื่อนยังพาไปรู้จักกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ New York Post และหัวหน้าแผนกตะวันออกไกลของ United Press (UP) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกด้วย ทำให้ ต่อมา หลวงสุขุมฯ ใช้ United Press เป็นแหล่งแถลงข่าวต่างๆ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะข่าวนี้ส่งเผยแพร่ทั่วโลก
       นอกจากนี้ยังได้ติดต่อกับบรรณาธิการหนังสือ Life Magazine และ Look Magazine ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญอยู่จึงได้รับการช่วยเหลืออย่างดีทั้ง ๒ ฉบับ
งานประชาสัมพันธ์นี้ สถานอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตันเคยคิดจ้างฝรั่งผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ มาทำเป็นมูลค่าถึง ๕ หมื่นดอลล่าร์ แต่เขายังไม่รับเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จ ปรากฏว่าการดำเนินงานออกมาสำเร็จได้อย่างดี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากมิตรภาพเก่าแก่นี้
       หลังจากการประกาศยุติภาวะสงคราม เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เพียง ๒ วัน หนังสือพิมพ์อเมริกันทั่วประเทศได้ลงข่าวจาก UP และ AP ซึ่งเป็นถ้อยแถลงของหลวงสุขุมฯ และที่มาลงเผยแพร่ในเวลานี้ เพราะก่อนหน้านั้นเกรงว่าจะกระทบงานของเสรีไทยในประเทศหากญี่ปุ่นรู้ข่าวนี้ แสดงถึงความสำเร็จของการทำงานด้านนี้
๒. การโฆษณาให้ชาวอเมริกันทราบถึงการทำงานของขบวนการเสรีไทย
       สาระสำคัญที่จะเผยแพร่ให้ชาวอเมริกันได้ทราบคือ การมีคณะกู้ชาติไทยและบทบาทของคณะกู้ชาติในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การช่วยเหลือชาวอเมริกันที่เป็นพ่อค้า เจ้าหน้าที่สถานทูตและที่ถูกจับเป็นเชลยที่มีจำนวนไม่น้อย ในด้านนี้ หลวงสุขุมฯเห็นว่าการตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ไม่เพียงพอ จึงพยายามจะให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงของ National Network เมื่อได้ไปชี้แจงขอความร่วมมือจากเขา ก็ได้รับอนุญาตและความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทางสถานีได้แนะนำตัวหลวงสุขุมฯว่าเป็นราชการชั้นผู้ใหญ่จากประเทศไทย เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติและเป็นนักเรียนเก่าสหรัฐระหว่าง ค.ศ.๑๙๑๗-๑๙๒๕ โดยระหว่างนั้นได้เป็นดาราฟุตบอล (อเมริกันฟุตบอล) ของทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้เล็ดรอดหนีแนวรบของญี่ปุ่น มาเมื่อหลวงสุขุมฯได้เล่าถึงการผจญภัยและการดำเนินงานของคณะกู้ชาติในประเทศไทยออกอากาศ ปรากฏว่าชาวอเมริกันมีความสนใจมาก เพราะหลังจากนั้นเพียง ๒ วัน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงได้มีหนังสือมาชมเชยหลวงสุขุมฯ และขอเชิญไปพูดอีกในโอกาสต่อไป
๓. การชี้แจงบทบาทของประเทศไทยต่อรัฐบาลอเมริกัน
       เนื่องจากไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและฝ่ายพันธมิตร ทางอเมริกาจึงมีความกินแหนงแคลงใจอยู่เป็นอุปสรรค เมื่อมีการเจรจาใดๆ ทั้งหลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯเห็นว่าควรหาโอกาสชี้แจงต่อรัฐบาลอเมริกันถึงสภาพความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังของประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้หลวงสุขุมฯและพระพิศาลฯได้ปรึกษาหารือกับนาย Scholtz เพื่อนผู้เป็นเจ้าของบริษัท International Engineering Co. Ltd (I.E.C.) ในกรุงเทพฯ นาย Scholtz เป็นเพื่อนสนิทกับนายเอ็มเม็ต โอนีล ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐเคนตักกี้ และยังเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการงบประมาณที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐ นาย Scholtz ได้แนะนำบุคคลทั้งสองต่อนายโอนีลว่า โดยชาติตระกูลแล้วทั้งสองท่านเป็นบุตรของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ตัวท่านทั้งสองเองก็ดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีทั้งคู่ การที่เสียสละตำแหน่งหน้าที่และเสี่ยงชีวิตมาทำงานคราวนี้ ทำให้นายโอนีล ศรัทธาเชื่อถือจึงจัดให้หลวงสุขุมฯ และพระพิศาลฯ รับประทานอาหารกลางวันที่รัฐสภาเพื่อพบกับสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ แบบไม่เป็นทางการก่อน หลังจากนั้น นายโอนีลก็ได้จัดให้มีการแถลงอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศมีนาย ซอล บลูม (Sol Bloom) เป็นประธาน ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับฐานะของประเทศไทย ซึ่งดูภายนอกเป็นฝ่ายญี่ปุ่น แต่ภายในมีการต่อต้านญี่ปุ่นทั่วไป โดยคนไทยทั้งที่เป็นขบวนการเสรีไทยและไม่ใช่มีการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา สำหรับคณะกู้ชาติเสรีไทยยังขาดแต่อาวุธ ซึ่งถ้าได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐจะสามารถขับไล่ญี่ปุ่นได้ จึงประสงค์จะขอความช่วยเหลือในด้านนี้รวมทั้งเรื่องการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงครามด้วย
       ผู้แทนไทยทั้งสอง ได้แถลงต่อหน้ากรรมาธิการต่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาอเมริกันทั้งหมด ๒๐ ท่านใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ทำให้เรื่องราวของไทย ได้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน
๔. การเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย
      
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อัครราชทูตไทยได้ให้หลวง สุขุมฯ ไปพบกับ Mr.Peck ซึ่งเคยเป็นอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยมาก่อน ขณะนั้นเป็นหัวหน้าของ Cultural Co-operation Division ในกระทรวงการต่างๆประเทศอยู่และ Mr.Peck ได้แนะนำให้รู้จักกับ Dr.Bowles ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยตะวันออกและในเวลาต่อมาก็ได้ติดต่อเจรจากันในเรื่องต่างๆในอันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กันทางด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ต่อไปในอนาคตด้วย
๕. การดำเนินงานเกี่ยวกับการชักชวนให้ชาวอเมริกัน มาลงทุน ทำการค้าและอุต-สาหกรรมในประเทศไทย
        เรื่องนี้ได้อาศัยสำนักงาน Office of Information ที่ตั้งขึ้นเป็นที่ทำการโฆษณาให้ชาวอเมริกัน ได้ทราบว่าเมืองไทยมีวัตถุดิบหรือทรัพยากรธรรมชาติอะไรบ้าง และมีฐานะทางเศรษฐกิจและการเงิน ตลอดจนสังคมและแรงงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อชักชวนและจูงใจชาวอเมริกันให้ไปลงทุนทำการค้า หรือทำการอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว และให้การรับรองแก่เขาว่า จะได้รับความสะดวกเป็นอย่างดี ทั้งยินดีให้การต้อนรับเสมอ
๖. การติดต่อกับองค์การประชาชาติสัมพันธมิตรให้ช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ ให้เข้าสู่สถานะเดิม
        เรื่องนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผล เมื่อสงครามสงบแล้ว พระพิศาลฯ ได้เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะมีเพื่อนฝูงเก่าแก่หลายคนคอยให้ความช่วยเหลือการเจรจาจึงได้ผลดีโดยไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะประเทศ
๗. การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเงิน การธนาคาร และอื่นๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขสถานะการณ์ภายหลังสงคราม
        เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลวงสุขุมฯ ได้ปรึกษาหารือกับอัครราชทูตแล้วก็ได้มอบหมายให้นายจินตมัย อมาตยกุล ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปริญญาโททางการเงินอยู่ เป็นผู้รวบรวมเรื่องราวข้อเท็จจริงของการเงินต่างประเทศแต่ละประเทศเพื่อจะนำมาวิจัยและพิจารณาในการแก้ไขปัญหาทางการเงินและการคลังของประเทศ ต่อไป
๘. เรื่องการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และการศึกษาเรื่องประเทศไทย
        เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงสุขุมฯ ได้ศึกษาหลักสูตรการจัดการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในชั้นประถมศึกษาแล้วเห็นว่า อุปกรณ์การศึกษาที่ใช้ในการศึกษาแก่เด็กๆ รุ่นเล็ก ขณะนั้นได้เพิ่มสื่อการศึกษาขึ้น เช่น การฉายภาพยนตร์ การฉายภาพนิ่ง (slide) โดยใช้ฟิล์มสตริป หลวงสุขุมฯเห็นว่าการเผยแพร่ประเทศไทยให้คนอเมริกันได้รู้จักแพร่หลายนั้น ควรจะเริ่มจากเด็กก่อนโดยการใช้ฟิล์มสตริป รูปภาพที่เกี่ยวกับเมืองไทย เพื่อให้เด็กอเมริกันได้ศึกษาจากสิ่งที่เป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ Dr.Arndt ซึ่งเป็น Senior Specialist in Far Eastern Education แห่ง U.S. Office of Education รับรองว่ายินดีจะให้ความช่วยเหลือร่วมมือด้วยดี ฉะนั้นในการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ถ้าทางเราจะทำฟิล์มสตริปเรื่องเมืองไทย พร้อมด้วยคำอธิบายให้เขา ๑ ชุด เขาก็จะนำฟิล์มสำเนาภาพเหล่านั้นจัดส่งให้โรงเรียนของรัฐบาลทั่วสหรัฐของอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้หลวงสุขุมฯ ได้เริ่มจัดทำเมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ แต่ยังไม่ทันจะเสร็จเรียบร้อยก็ได้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการเสียก่อน
๙. เรื่องเกี่ยวกับอาชญากรสงคราม ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐแจ้งกับหลวงสุขุมฯ ว่าผู้ที่เขาต้องการก็คือ พวกที่ทำทารุณกรรมต่อเชลยศึก โดยการใช้อำนาจ ซึ่งหลวงสุขุมฯ ก็ได้ชี้แจงว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยุ่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาลไทยถูกทารุณกรรมแต่อย่างใด เพียงแต่ได้จัดให้อยู่ในเขตจำกัด มีความเป็นอยู่อย่างสบายไม่เดือดร้อนอะไร และเรื่องที่ผู้นำประเทศเข้าร่วมสงครามนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยหลังสงครามจะได้พิจารณา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะดำเนินตามประเทศอื่นๆ
๑๐. เรื่องทาง โอ.เอส.เอส. ขอให้นายดอลแบร์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย เพื่อตีพิมพ์ภายหลังสงคราม โดยนายดอลแบร์ ได้เคยอยู่ในประเทศไทยมาก่อนและได้ออกจากเมืองไทยก่อนที่จะเกิดสงคราม หลวงสุขุมฯ จึงถือโอกาสชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ของประเทศไทยภายหลังว่ามีอยู่อย่างไร เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจและเขียนได้ถูกต้องตรงความเป็นจริง
๑๑. ทางสำนักงาน Office of War Information ได้ขอให้ หลวงสุขุมฯ ทำ statement ที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งหลวงสุขุมฯ ก็ได้เขียนให้ โดยได้คำนึงถึงผลประโยชน์อันพึงจะได้ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และเขาก็พอใจ จนถึงกับได้นำไปโฆษณาเผยแพร่ทั่วโลกอีกด้วย ซึ่ง statement อันนี้เองที่ทำให้ชาวโลกได้ทราบถึงความเป็นจริงตลอดถึงการดำเนินงานของคณะกู้ชาติไทยในประเทศไทย ว่ามีมาอย่างไร ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่สัมพันธมิตรบ้าง
๑๒. การทำการโฆษณาภายหลังสงครามสิ้นสุดลงแล้ว หลวงสุขุมฯ ได้ใช้ความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในเรื่องเกี่ยวกับการหาข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ ซึ่งความริเริ่มและการกระทำของหลวงสุขุมฯ นั้น ทำให้พวกหนังสือพิมพ์พากันพอใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ การให้ข่าวอื่นๆ อันจะเป็นผลดีแก่ประเทศทั้งสิ้น ซึ่งเขาก็ยอมรับและพอใจ
๑๓. การให้สัมภาษณ์แก่เจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐ ที่กระทรวงกลาโหมโดยที่คณะนายทหารและหัวหน้าแผนกต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคตะวันออกไกล ได้เชิญหลวงสุขุมฯ ไปเพื่อขอสัมภาษณ์ เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมืองไทยทุกๆ ด้าน ซึ่งความสามารถในการให้คำตอบของ หลวงสุขุมฯ นับว่าเป็นผลดียิ่ง เพราะคำถามของเจ้าหน้าที่ทางด้านสหรัฐเหมือนกับคำถามของหน่วย โอ.เอส.เอส โดยมากเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร
๑๔. อังกฤษได้ยื่น Ultimatum บางประการแก่ประเทศไทย เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงนั้น อาทิเช่น อังกฤษจะไม่ยอมเลิกสถานะสงครามกับไทยและอาจถือว่าไทยเป็นผู้แพ้สงคราม หลวงสุขุมฯ ได้มีโอกาสพบนายโอนีลก็ได้ปรารภเรื่องนี้ให้ฟัง และปรึกษากันว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะบรรเทาข้อเสนอนั้นได้บ้าง ซึ่งนายโอนีลก็ได้แจ้งว่า เขาเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งอาจจะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง เขายินดีจะเจรจาให้ เพราะสงครามครั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มทุนทั้งเงินและคนตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ มากกว่าประเทศใดๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด ประเทศอื่นๆ คงจะให้ความเห็นใจสหรัฐอเมริกา จึงได้พาไปพบ Mr. Byrnes รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ บังเอิญไม่พบ เพราะท่านเดินทางไปยุโรปเสียก่อน นายโอนีล จึงได้พาไปพบกับนายแอดจิสัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แล้ว เล่าเรื่องให้ฟัง ซึ่งนายแอดจิสัน ก็บอกว่าสหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือ ประเทศไทยอยู่แล้ว และเขาจะได้โทรเลขไปให้ Mr. Byrnes ทราบต่อไป
๑๕. ก่อนที่จะได้เดินทางกลับประเทศไทย หลวงสุขุมฯ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อทำการกู้ชาติ ต้องละทิ้งการเล่าเรียนไปปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายซึ่งบางคนก็ถึงกับเสียชีวิต และทำด้วยรักชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน จึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ปูนบำเหน็จแก่ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่โดยให้เขาได้ศึกษาต่อจนสำเร็จ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบด้วย และให้ดำเนินการได้
       ผลงานอันเกิดจากการปฏิบัติงานเสรีไทย ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐดังได้สรุปย่อมานี้ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า งานที่ได้รับมอบหมายนั้นแม้จะต้องเสี่ยงชีวิต หลวงสุขุมฯ ก็มีความกล้าหาญและยอมเสียสละโดยมิย่อท้อ หรือเห็นแก่ความสุขส่วนตัว จนกระทั่งได้รับผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย

ปาริชาติ สุขุม ผู้เรียบเรียง จาก หนังสืองานครบรอบ ๖๐ ปี ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ๒๕๐๗ เขียนโดย

     ๑. ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร
     ๒. อินสม ไชยชนะ

กลับที่เรี่มต้น
กลับไปสารบัญ