ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๒  พระเจ้าวรวงศเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงแต่ง

ตอนที่ ๗  สมัยรัชชกาลที่ ๘

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พระราชทานเครื่องอิสสริยศถาดชาทองคำ
อสัญญกัมม์

รูปภาพในสมัยรัชชกาลที่ ๘   (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๑)

เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่ จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จึ่งสภาผู้แทนราษฎร อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติเมื่อ ณ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง อันมีท่านเจ้าพระยายมราช เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยผู้หนึ่งอันตำแหน่งหน้าที่นี้นับว่าเป็นเกียรติยศสูงและสำคัญมาก ท่านเจ้าพระยายมราชได้ตั้งใจพยายามบริหารราชการมาด้วยความเรียบร้อยเป็นประโยชน์แก่ราชการทั้งในส่วนพระองค์ พระมหากษัตริย์และราชการแผ่นดินเป็นอันมาก

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยที่ได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าการที่ปฏิบัติไปเป็นที่ข้องใจของประชาชนก็ใคร่ขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้นถึงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๐ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นใหม่ ซึ่งประกอบด้วยท่านเจ้าพระยายมราชในคณะนั้นด้วย ท่านเจ้าพระยายมราชได้บริหารราชการสืบต่อมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ท่านได้ ถึงอสัญญกัมม์ในเวลาที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ท่านเจ้าพระยายมราช ได้รับพระราชทานยศทางฝ่ายทหารในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ :-

เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๗๘ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอก นายทหารพิเศษประจำกรมทหารอากาศและ
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๗๙ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายนาวาอากาศเอก แห่งกองทัพทหารอากาศ

ในโอกาศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินจากต่างประเทศกลับเข้ามาเยี่ยมราชอาณาจักร์สยามเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ท่านเจ้าพระยายมราชได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณทั้งในทางส่วนพระองค์และทางราชการแผ่นดินเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๑ ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงเทพพระมหานคร และในวันพระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ โดยที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดมาแล้วโดยมาก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอิสสริยศถาดชาทองคำ เป็นเกียรติยศ อันเคยมีตัวอย่างมาแล้วเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแด่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุรยวงศ์ นับว่าเป็นเกียรติยศอันสูงศักดิ์

ท่านเจ้าพระยายมราชได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาด้วยความอุสสาหะพิริยะอันแรงกล้า แม้จะมีอาการป่วยไข้พอที่จะทำกิจการงานใดได้ ก็ได้พยายามมารับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ด้วยความอดทนมานะ จนกระทั่งมาล้มเจ็บหนักพักใหญ่ครั้งสุดท้ายนี้ ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประทับอยู่ในพระมหานคร

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ท่านเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถึงอสัญญกัมม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบด้วยความเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จไปแทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำอาบศพ ณ ที่บ้านศาลาแดง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลองกุดั่นน้อยประกอบ พร้อมทั้งเครื่องเกียรติยศศพ เทียบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระองค์ก่อนที่สิ้นพระชนม์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่ศพเมื่อวันครบกำหนด ๗ วัน

อนึ่งโดยที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้ถึงอสัญญกัมม์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า ท่านเจ้าพระยายมราชเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ และได้ปฏิบัติราชการกอร์ปด้วยคุณงามความดีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก สมควรจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการศพโดยตลอดในส่วนที่เกี่ยวกับเกณฑ์ของหลวง ตั้งแต่วันพระราชทานน้ำอาบศพตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทางราชการดำเนินการโดยอนุโลมอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์นั้น ทั้งนี้นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในตระกูลสุขุมเป็นล้มเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได

ไปที่เริ่มต้น

รูปภาพในสมัยรัชชกาลที่ ๘   (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๑) (16 รูป)