ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๒  พระวรวงศเธอ พระองศ์เจ้าธานีนิวัต ทรงแต่ง

ตอนที่ ๖  สมัยรัชชกาลที่ ๗

ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ท่านผู้หญิงตลับอนิจจกรรม ๒๔๗๔
ท่านผู้หญิงตลับ

รูปภาพ
ในสมัยรัชชกาลที่ ๗  ( พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗)

ในรัชชกาลที่ ๗ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในกิจการเบื้องต้นแห่งพระราชภาระที่ขึ้นเสวยราชย์และพระบรมราชาภิเษกบางอย่างที่ควรจะยกมากล่าวก็มีเช่น ในการประชุมพระบรมวงศ์และเสนาบดีในเวลาดึกต่อจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงนั้น เมื่อที่ประชุมรับทราบพระราชประสงค์ในรัชชกาลที่ ๖ ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงรับราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์แล้ว เจ้าพระยายมราชได้เป็นผู้ที่นำข้าราชการลงจากเก้าอี้ที่นั่งประชุมคุกเข่ากับพื้นถวายบังคม ๓ ครั้งเป็นการรับรองพระราชประสงค์อันนั้นในนามของข้าราชการและประชาชน นอกจากนั้นยังคงมีหน้าที่ถวายน้ำในนามของประชาชนทิศอุดรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฐานเป็นราชบัณฑิตเช่นเดียวกันกับที่ได้เคยฉลองพระเดชพระคุณมาแล้วในรัชชกาลสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
ครั้นต่อมาไม่ช้า (วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๖๘) ท่านได้ปรารพภ์อายุสังขารที่ชราลง ขอพระราชทานกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รวมเวลาที่รับราชการได้ถึง ๔๓ ปี   ใน ๔๓ ปีนี้ท่านรับราชการในตำแหน่งครูและอาจารย์เจ้านายและตำแหน่งผู้ช่วยและเลขานุการสถานทูตสยามกรุงลอนดอนอยู่ ๑๑ ปีในตำแหน่งเลขานุการกระทรวงมหาดไทยตลอดจนถึงข้าหลวงเทศาภิบาล ๑๒ ปี ตำแหน่งเสนาบดี ๒๐ ปี เป็นอันว่าส่วนมากแห่งเวลาราชการของท่านเป็นอยู่ในตำแหน่งเสนาบดี มีน้อยท่านที่จะได้รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีนานถึงเพียงนี้ และแม้ว่าท่านจะได้อยู่ในจำพวกเสนาบดีที่สามารถก็ดี แต่กว่าจะขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้ก็ต้องรับราชการมาแล้วตั้ง ๒๓ ปี เข้าอยู่ในข่ายทรงพิจารณาเลือกเฟ้นอย่างละเอียด เพราะในกาลครั้งนั้นเป็นการยากนักหนาที่ใครๆ จะขึ้นมาถึงตำแหน่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงได้ในเร็ววัน

เมื่อออกจากราชการแล้วก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นผู้ถวายพระพรชัยในเวลาเฉลิมพระชนม์พรรษาแทนข้าราชการและประชาชนต่อมาจนเลิกพิธีนั้น หน้าที่นี้เจ้าพระยายมราชได้รับทำสืบต่อจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นเวลา ๒๑ ปี

อนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขระเบียบการแห่งองคมนตรีสภาโดยคัดเลือกองคมนตรีขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวน ๔๐ ท่าน ทรงเลือกสรรทั้งข้าราชการประจำการและนอกตำแหน่งอีกทั้งองคมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญในอาชีพอื่นจากการทำราชการด้วย ให้มีหน้าที่ออกความเห็นในกิจการบ้านเมือง และสนองพระราชปุจฉาที่พระราชทานลงไปเนืองๆ ที่เกี่ยวด้วยกิจการบ้านเมืองและทุกข์สุขของประชาชน เป็นการทดลองฝึกหัดให้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ที่จะตั้งระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญขึ้นในภายหน้า กิจสำคัญอันหนึ่งซึ่งกรรมการนี้ได้ทำ คือตรวจพิจารณาและแก้ไขส่วนหนึ่งแห่งร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เจ้าหน้าที่ร่างทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไป เจ้าพระยายมราชได้เป็นผู้หนึ่งซึ่งทรงเลือกสรรให้เป็นสมาชิกแห่งสภากรรมการองคมนตรีนี้ ได้ฉลองพระเดชพระคุณอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและสภานั้นถูกยุบไป

อนึ่งในระหว่างรัชชกาลที่ ๖ เจ้าพระยายมราชได้สมัครเป็นสมาชิกกิติมศักดิ์แห่งสภากาชาดสยาม ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบเปลี่ยนแปลงใหม่ ได้มีส่วนช่วยเหลือสภานั้นด้วยกำลังแรง โดยรับเป็นกรรมการแห่งสภานั้นหลายปี และด้วยกำลังแรง โดยรับเป็นกรรมการแห่งสภานั้นหลายปี และด้วยกำลังทรัพย์ คือได้บริจาคเงิน ๒,๑๐๐ บาทร่วมกับท่านผู้หญิงตลับสร้างประตูเข้าออกและรั้วหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๖๓ ได้ร่วมกันบริจาคเงินอีก ๑๐,๐๐๐ บาทอุทิศถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยเสร็จพระราชกุศลสร้างสถานเสาวภา ครั้นอายุครบ ๖๐ ปีในพ.ศ. ๒๔๖๕ ได้บริจาคเงินอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๘๐,๐๐๐ บาท สร้างตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ขึ้น ๒ หลังให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งมาเสร็จในระยะเวลาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดตึกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และพระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)" ตึกนี้ใช้สำหรับเป็นที่พักรักษาคนป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคสตรีและสำหรับคนคลอดบุตร โดยเหตุที่มีคุณูปการดั่งกล่าวมาแล้ว สภากาชาดได้ลงมติให้เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ ๑ เพื่อเชิดชูเกียรติยศท่านไว้ด้วย

ใน พ.ศ.๒๔๖๙ นั้น โรงพยาบาลที่ท่านบริจาคเงินสร้างอีก ๔๐,๐๐๐ บาท ที่เมืองสุพรรณบุรีก็เสร็จลงเหมือนกัน ได้เปิดใช้และขนานนามว่า "โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

หลังจากที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญใน พ.ศ.๒๔๗๕ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่พิเศษบ้าง เช่น เป็นกรรมการข้าราชกรพลเรือน และกรรมการกฤษฎีกาในสำนักนายกรัฐมนตรี

เจ้าพระยายมราชเป็นบุคคลที่ไม่สามารถจะอยู่เฉยๆ ได้โดยไม่ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหตุนั้นในระหว่างที่ว่างราชการตอนนี้ จึงปรากฎว่าท่านมิได้อยู่ว่างๆ กี่มากน้อย ธุระที่ท่านพอใจถัดจากทำราชการมาเห็นจะเป็นการก่อสร้าง ระหว่างนี้ท่านก็ได้มีโอกาสควบคุมการสร้างตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตริปชาในที่สวนนอกเหนือพระราชวังดุสิต ควรจะกล่าวความแซกในที่นี้สักหน่อยหนึ่งว่า แต่รัชชกาลที่ ๕ มาแล้ว ดูเหมือนจะได้ทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราชเป็นธุระช่วยเหลือกิจการผลประโยชน์ของเจ้าจอมมารดาแส ในเวลาต่อมาท่านได้เป็นธุระวิ่งเต้นในกิจการทั้งปวงของท่านเจ้าจอมมารดาผู้นี้กับพระธิดาทั้งสองพระองค์ในเมื่อท่านว่างราชการลงตอนนี้ประจวบเวลาที่เจ้าจอมมารดาแสป่วยถึงอสัญญกรรมลง เจ้าพระยายมราชจึ่งได้ไปฉลองพระเดชพระคุณวิ่งเต้นในการรักษาพยาบาลตลอดจนช่วยเจ้าภาพทำศพท่านแต่ต้นจนถึงเวลาพระราชทานเพลิงและงานอัฎฐิในที่สุด แล้วยังได้อาษาดูแลพระธุระทั้งปวงของเจ้านายพระธิดาทั้งสองพระองค์ทุกสถานเป็นการที่ตัวท่านเองเคยพูดด้วยความภูมิใจว่า ได้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผู้เป็นพระบรมชนกนาถแท้จริงขึ้นชื่อว่า พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๕ แล้ว เจ้าพระยายมราชเป็นยินดีที่จะรับพระภาระทรงใช้สอยทุกสถาน ด้วยความกตัญญูกตเวทีอันมีอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นแต่ที่ท่านรักใคร่สวามิภักดิเป็นพิเศษนั้น ก็คือพระองค์ที่เคยเป็นศิษย์ (กรมพระจันทบุรี, กรมหลวงราชบุรี, กรมหลวง ปราจีณ, กรมหลวงนครชัยศรี กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และความสนิทสนมอันนี้ได้ช่วยให้ราชการของท่านสะดวกขึ้นมากเหมือนกัน เพราะท่านได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีร่วมคณะกับเจ้านายผู้ทรงเป็นศิษยนั้นทุกพระองค์ อนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านผู้หญิงตลับก็ป่วยกลับไปกลับมาจนอนิจจกรรมลง ท่านก็ได้มีเวลารักษาพยาบาลและทำศพจนตลอด

กิจธุระของท่านอีกอย่างหนึ่งในระหว่างนี้ คือเรื่องโรงเรียนเบ็ญจมะราชูทิศ โรงเรียนนี้ในชั้นเดิมได้มีพระราชเสาวนีในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถให้ท่านช่วยในการจัดตั้งขึ้นด้วยทุนที่ท่านผู้หญิงตลับเป็นหัวหน้าเรี่ยไรมาได้ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต ได้จัดเป็นโรงเรียนสำหรับเลี้ยงเด็กหญิงอนาถา และท่านผู้หญิงตลับได้เป็นผู้อำนวยการ เด็กในโรงเรียนนั้นได้รับการศึกษาทั้งสามัญวิสามัญชั้นต่ำๆ พอควรแก่อัตตะภาพ เด็กเรียนสำเร็จออกจากโรงเรียนมาแล้วหลายชุดโดยลำดับ การใช้จ่ายได้อาศัยดอกเบี้ยของทุนนั้น ซึ่งเจ้าพระยายมราชช่วยมอบหมายให้ข้าราชการผู้ใหญ่บางนาย เช่นนายพลตำรวจตรีพระยาอธิกรณประกาศควบคุมหาผลประโยชน์ และบางทีก็มีผู้ใจบุญบริจาคเพิ่มเติมบ้าง ครั้นท่านผู้หญิงตลับถึงอนิจกรรม งานบังคับบัญชาโรงเรียนนี้จึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพระยายมราชและได้ดำเนินสืบมาโดยดี จนถึงเวลาที่ตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ ขึ้นจึงได้มอบให้รับไปดูแลตามหน้าที่

เป็นความเห็นของคนโดยมากกว่า นอกจากมีสติปัญญาเฉียบแหลมและสามารถดังกล่าวมาแล้ว เจ้าพระยายมราชยังได้มีเคราะห์ดีเป็นอย่างยิ่งที่มีภรรยาเป็นนารีรัตน คือท่านผู้หญิงตลับเพราะท่านผู้หญิงตลับนี้เกิดมาในสกุลข้าราชการผู้ใหญ่สืบต่อกันมาหลายชั้น ย่อมเป็นโอกาสที่จะได้รับความอบรมมาก่อนแล้วเป็นอย่างดี ครั้นเมื่อสามีได้เป็นใหญ่เป็นโต มีหน้าที่ต้องปกครองคนหลายชั้นหลายชะนิด ท่านผู้หญิงตลับได้เป็นกำลังสำคัญทางบ้านทั้งในทางดูแลปกครองบ้านช่องมิให้สามีต้องร้อนใจหรือกังวลทั้งในทางที่จะเชื่อมความสามัคคีกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของสามีและประชาชนพลเมืองทั่วไป ทั้งในทางที่จะรับปรับทุกข์สุข ทั้งเป็นผู้ไว้วางตัวสมแก่ฐานะที่ได้เป็นท่านผู้หญิงแห่งเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่งด้วย เมื่อท่านผู้หญิงตลับมีอายุ ๕ รอบ เจ้าพระยายมราชได้บำเพ็ญการกุศลฉลองอายุให้ ณ วัดปทุมวนาราม และได้สร้างกุฎิถวายไว้ในวัดเป็นที่ระลึก มีผู้คนไปช่วยมากแสดงให้เห็นความนิยมรักใคร่ในตัวท่านและท่านผู้หญิงของท่านอย่างชัดเจน

เมื่อกล่าวถึงท่านผู้หญิงตลับแล้วก็น่าจะเลยกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยในครอบครัวและเป็นบิดาและกุลเชฐที่ดีแท้ เพราะได้รวบรวมเลี้ยงญาติไว้ในบ้านทุกชั้น ตั้งแต่พระยาสมบัติภิรมย์พี่ชาย ซึ่งท่านประคับประคองดูแลเป็นนักหนานั้นลงไป สำหรับบุตรธิดาก็มีความกรุณายิ่งนัก ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วถึงพรหมวิหารธรรมของท่าน และอยากจะย้ำความนั้นในที่นี้อีกเกือบทุกข้อ และยังเลยไปถึงหลานด้วยซ้ำ เช่นบุตรข้าพเจ้าเองถ้าคนใดเจ็บลง แม้ท่านจะอยู่ในหรือนอกราชการ ถ้าเดินไหวเป็นต้องมาเยี่ยมถึงบ้านทุกครั้ง ทราบว่าหลานทุกคนทุกสกุลก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้นถึงความสามารถของท่านที่จะกุมสติไว้อยู่โดยสมบูรณ์ ในที่นี้อยากจะย้ำความนั้นอีกทีหนึ่งว่า ในกิจการครอบครัวก็เช่นกันกับในการทำราชการ แม้เวลาจวนจะถึงอสัญญกรรม หมอต้องฉีดยาบรรเทาทุกขเวทนาอันเกิดแต่ปอดอักเสบ เมื่อเวลาส่างความอึดอัดยังยิ้มพูดได้สติดีว่า "ลูกมากหมอมากก็ยังไม่ยอมให้ตาย" แม้แต่หมอที่เคยชินกับความตาย เมื่อได้ยินดังนี้แล้วก็ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้


รูปภาพในสมัยรัชชกาลที่ ๗  ( พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗)
(5 รูป)

ไปที่เริ่มต้น