ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๒  พระวรวงศเธอ พระองศ์เจ้าธานีนิวัต ทรงแต่ง

ตอนที่ ๕  สมัยรัชชกาลที่ ๖

พระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลสุขุม
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
"มหาอำมาตย์นายก"
พระราชทานเครื่องราชอิสสริยากรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์
พระราชทานสุพรรณบัฎ

รูปภาพในสมัยรัชชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘)

หมายเหตุ ประวัติภาค ๑ และภาค ๒ แต่งในระยะเวลาเดียวกันผู้ทรงพระนิพนธ์ภาค ๑ ทรงที่เกาะหมาก ส่วนตอน ๕ ตอน ๖ แห่งภาคหลังนี้แต่งในกรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสจะรอดูได้ว่าภาค ๑ จะทรงอย่างไรเพราะกระชั้นอยู่แล้ว เหตุฉนั้นความบางตอนอาจกล่าวซ้ำกันบ้าง.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลานั้นเจ้าพระยายมราชนับว่าย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย แต่สำหรับตำแหน่งราชการได้บรรลุถึงขีดสูงสุด คือตำแหน่งเสนาบดีแล้ว การงานซึ่งท่านทำในระหว่างสมัยนี้ แสดงให้เห็นว่าท่านได้รับความรู้จากความชำนิชำนาญ อันประกอบด้วยสติปัญญาเฉลียบแหลม นิสสัยส่วนตัวของท่านและความประพฤติต่อผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เกี่ยวกับท่านทั่วไป ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นผลแห่งความชำนิชำนาญอันประกอบด้วยปัญญาดั่งกล่าวมาแล้ว ยิ่งท่านเจริญ ขึ้นด้วยอาวุโสและด้วยลาภยศฐานันดร ท่านยิ่งแสดงอุปนิสสัยอ่อนโยนและถ่อมตัวยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ในตอนที่แล้วมาความประจักษ์ว่า ภายในระยะ ๔ ปีที่ดำรงตำแหน่ง เสนาบดี กระทรวงโยธาธิการและกระทรวงนครบาลนั้น ท่านได้ทำตัวให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างรวดเร็ว จนทรงสำแดงพระมหากรุณาธิคุณอุปการะเป็นการส่วนตัว เช่นพระราชทานบ้านศาลาแดงให้อยู่ เจ็บไข้ก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมถึงบ้านเป็นต้น รู้สึกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงคงจะทรงพระกรุณาเจ้าพระยายมราชดุจผู้ใหญ่ที่ได้ชุบเลี้ยงผู้น้อยอย่างที่เรียกว่า ปั้นขึ้นให้เป็นตัวแล้วและผู้น้อยนั้นยังแสดงความสามารถให้เห็นชัด เป็นการรับรองว่าผู้ใหญ่ได้ยกย่องโดยถูกต้องและโดยปราศจากลำเอียงแล้วด้วย ราชการในสมัยนั้นเป็นไปในลักษณะที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงดำรงแต่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเดียวเท่านั้น หากทรงทำหน้าที่อัครมหาเสนาบดี หรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพราะต้องประทับเป็นประธานในเสนาบดีสภา ต้องทรงวางแนวรัฐประศาสโนบายให้แก่เจ้ากระทรวงแล้ว ยังต้องควบคุมให้กิจการเป็นไปตามแนวรัฐประศาสโนบายนั้นด้วย ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัชชกาล วิธีปฏิบัติราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีย่อมเปลี่ยนไปบ้าง ตามส่วนแห่งพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ที่ฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่แล้วมาโดยคล่องแคล่วถูกพระราชอัธยาศัย บางทีอาจไม่สดวกสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ก็เป็นได้ อาการเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเสมอ ไม่แต่ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีเท่านั้น แต่ระหว่างหัวหน้าการงานทุกอย่างทุกชั้นกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนก็มีเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบัญชาราชการโดยอาศัยหลักรัฐประศาสโนบายเดียวกันกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่พระราชอัธยาศัยไม่สู้เหมือนกันทีเดียว ในรัชชกาลที่ ๕ ตอนกลางและตอนหลังเสนาบดีส่วนมากเป็นบุคคลที่ท่านเลี้ยงขึ้นมาแต่ตำแหน่งต่ำๆ ทรงคุ้นเคยมามาก ทรงหัดมาเอง ตรงกับคำที่พูดกันเล่นๆ ว่าเป็น "ลูกศิษย์" ท่านทั้งนั้น ในรัชชกาลที่ ๖ ชั้นต้น เสนาบดีแทบทุกท่านมีพระชัณษาและอายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงคนละรุ่นทีเดียวเพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์เป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพเป็นอย่างอุกฤษฎ์ดั่งรู้กันอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้ทรงเกรงใจท่านเสนาบดีเหล่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเสนาบดีเหล่านั้นจึงต่างกันกับในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุนี้เป็นข้อใหญ่ จึงเป็นผลให้ทรงปล่อยการงานไว้ในมือเจ้ากระทรวงยิ่งขึ้นกว่าในรัชชกาล ก่อนโดยมากทรงวางรัฐประศาสโนบายให้ แต่ไม่สู้จะได้ทรงควบคุมกวดขันเหมือนอย่างในรัชชกาลที่แล้วมา ส่วนเจ้าพระยายมราชนั้น เมื่อลักษณะการเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังคงสนองพระเดชพระคุณให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่อมา ยิ่งได้ทรงใช้มากขึ้น ก็ยิ่งทรงพระเมตตาขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งโปรดเกล้าฯ ให้ยกระทรวงมหาดไทยอันเป็นกระทรวงใหญ่ที่สุดกระทรวงหนึ่งมาสมทบไว้ในความรับผิดชอบของท่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

ความสัมพันธ์ในระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พอจะแยกออกกล่าวได้เป็น ๓ สถาน คือ

๑. ทรงชุบเลี้ยงเป็นฉันสหายและฉันข้าในราชสกุล
๒. ทรงยกย่องฉันปราชญ์และอาจารย์
๓. ทรงใช้สอยและยกย่องฉันเสนาบดีและมุขมนตรี

จะได้พิจารณาหลักฐานจากเอกสารต่างๆ มาประกอบให้เห็นอาการทั้ง ๓ อย่างดั่งได้กล่าวมาแล้วนี้โดยลำดับ

ในฉันสหายและข้านั้น จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ทรงปรับทุกข์สุขเนืองๆ ตรงมายังเจ้าพระยายมราชตลอดจนกระทั่งทรงฝากฝังข้าไทยส่วนพระองค์ซึ่งทรงเป็นห่วงว่า เมื่อสิ้นพระองค์ลงไปแล้วอาจได้รับความลำบากอดหยากขัดสนเป็นต้นในเวลาทรงทำพระราชพินัยกรรม์ครั้งใดก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชเข้าไปลงนามเป็นพะยาน และเป็นผู้กราบบังคมทูลสอบทานตามธรรมเนียมการทำพินัยกรรม์ นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระมหากรุณาให้ตั้งเครื่องเสวยรับเสด็จที่บ้านเนื่อง ๆ เวลาเสด็จประพาสบางคราวก็โปรดให้ไปตามเสด็จ เมื่อพระราชทานตราวัลภาภรณ์เป็นบำเหน็จความชอบส่วนพระองค์ ก็ได้ทรงร่างคำยกย่องความดีความชอบด้วยพระองค์เองว่า "ได้ปฏิบัติ (พระองค์) เช่นพยาบาลในเวลาประชวรเป็นต้น (เวลาประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ) นับว่าเป็นที่ทรงคุ้นเคยอย่างสนิทสนม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว และต่อมายังได้สนองพระเดชพระคุณในส่วนพระองค์ ทั้งเมื่อก่อนเสวยราชย์และเสวยราชย์แล้ว" ครั้งเมื่อพระราชทานสุพรรณบัฏทรงพระราชนิพนธ์สร้อยนามพระราชทานด้วย่า "นิตยภักดีศรีสุโขปสดัมภก"

ในฉันครูนั้น นอกจากที่ทรงยกย่องอยู่บ่อยๆ โดยทรงเรียกเจ้าพระยายมราชว่า "ครู" แล้ว ควรจะสังเกตด้วยว่าในประกาศพระราชทานตราวัลภาภรณ์ (๒๔๖๒) ซึ่งได้อ้างมาข้างบนนี้แล้วนั้น ยังมีความอีกข้อหนึ่งซึ่งว่า "เจ้าพระยายมราชได้รับราชการถวายพระอักษรเมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ" อีกแห่งหนึ่งได้ทรงไว้ในคำนำพระราชนิพนธ์ "ตามใจท่าน" ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ช่วยงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี ของเจ้าพระยายมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้นว่า "……………เรื่องลคอนนี้…………..ได้สำเร็จเป็นภาษาไทยขึ้นได้โดยอาศัยความพยายามของผู้เป็นศิษย์ของเจ้าพระยายมราชถึง ๒ คน คือข้าพเจ้าผู้แปลและประพันธ์เรื่องคนหนึ่ง กับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี ผู้ทรงช่วยประทานความเห็นในทางแปลศัพท์ และโวหารของเชกสเปียร์อีกองค์หนึ่ง ส่วนข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสตอบแทนบุญคุณที่เจ้าพระยายมราชได้มีมาแก่ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้ายังเยาว์วัยและอยู่ในประเทศห่างไกลจากเมืองบิดร" ในสร้อยชื่อซึ่งทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานด้วยพระองค์เอง เมื่อตอนพระราชทานสุพรรณบัฎนั้น ก็มีอยู่วรรคหนึ่งซึ่งว่า "ฉัฎฐมราชคุรฐานะวโรปการี" ในฐานปราชญ์ ได้ทรงยกย่องสืบมาแต่ข้อที่เจ้าพระยายมราชเคยเป็นเปรียญเมื่อครั้งอุปสมบท จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขาวเป็นอุบาสกเฝ้าทูลอองธุลีพระบาทในเวลาเสด็จลงบูชาพระในงานวิสาขะบูชาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสนดาราม และให้เป็นราชบัณฑิตถวายน้ำที่พระที่นั่งอัฐทิศในเบื้องต้นแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งสองคราว นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพัดเปรียญจำลองยกย่องความรู้ในทางธรรมวินัยอีกด้วย ในหมวดนี้บางทีจะควรกล่าวถึงการที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนาระหว่างที่เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นพระราชวงศ์ จะมาทรงทำหน้าที่พระยาแรกนาไม่ได้นั้น เพราะได้ทราบจากตัวท่านเองว่า ผู้เป็นพระยาแรกนาต้องรักษาศีลและทำการบูชาพระโดยละเอียดลออเป็นพิเศษ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕ จนถึง ๒๔๖๔

ในส่วนที่ทรงใช้และยกย่องฉันเสนาบดีและมุขมนตรีนั้นอยู่ข้างจะเป็นเรื่องยาวสักหน่อย เพราะความจริงถ้าจะว่าถึงอัธยาศัยเจ้าพระยายมราชแล้ว แท้จริงเจ้าพระยายมราชมิได้มีนิสสัยเป็นปราชญ์หรือกวีหรือนักประพันธ์แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นผู้รู้จักเอาชนะแก่การ, รู้จักใช้วิธีชนะแก่ความชั่วร้ายของผู้อื่นด้วยความดี แม้แต่ตัวท่านเองท่านก็ชนะอย่างสมบูรณ์จนไม่รู้จักเสียสติด้วยความโกรธ สิ่งที่เหมาะแก่นิสสัยท่านที่สุดก็คือ การทำราชการ การบังคับบัญชา คนไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านเพลิดเพลินยิ่งไปกว่าการทำราชการ และดูเหมือนจะไม่รู้สึกเหน็จเหนื่อยเสียด้วย ผู้ที่ไม่เคยร่วมราชการกับท่านแต่คุ้นเคยกับท่านในส่วนตัว ได้เคยสังเกตว่าเมื่อท่านกลับจากทำงานถึงบ้านแล้วใจก็ยังหมกมุ่นอยู่ในข้อราชการ ถ้าจะคุยกับท่านเรื่องใดๆ ก็ดูไม่จับใจเท่าเรื่องราชการ ในส่วนทรงยกย่องสติปัญญาของท่านเพื่อจะรวมความให้สั้น จึงขอแสดงด้วยหลักฐานพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุล ดังต่อไปนี้

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๖

ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น)

นามสกุลของเจ้าพระยายมราชนั้น ฉันได้ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าตัวเจ้าพระยายมราชเอง นับว่าเป็นผู้ที่ทำให้สกุลได้มีชื่อเสียงในแผ่นดินไทย เจ้าพระยายมราชเองได้ตั้งตนขึ้นได้………ก็ด้วยคุณธรรมในตัว เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและอุสาหวิริยภาพมาก ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ได้รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและในตัวฉันเองสืบมา ราชกิจใดๆ ที่เจ้าพระยายมราชได้ปฏิบัติมาก็ปรากฎว่าได้ใช้ความไตร่ตรองอันสุขุม ทั้งเจ้าพระยายมราชก็ได้มีชื่อเสียงปรากฎแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต จนได้มีคำว่า "สุขุมนัยวินิต" ประกอบอยู่ในสร้อยสมยา

เพราะฉะนั้น ฉันขอให้นามสกุลเจ้าพระยายมราชว่า "สุขุม" เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า "Sukhum" เพื่อให้เป็นเกียรติยศปรากฎนามแห่งเจ้าพระยายมราชในตำนานแห่งชาติไทย
ขอให้สกุลสุขุมเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน

วชิราวุธ ปร

(พระราชหัตถ์เลขา)

ไปที่เริ่มต้น

พิเคราะห์ดูราชการของท่านในสมัยรัชชกาลที่ ๖ นี้เห็นจะแยกได้เป็น ๒ ตอนคือ ตอนเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล ๑ ตอนที่รวมกระทรวงนครบาลกับมหาดไทย ท่านดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ๑ ในตอนต้นนั้นจำจะต้องย้อนไปกล่าวถึงความเบื้องหลังเล็กน้อย ตัวท่านเองเคยเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชปรารภกับท่านว่า การที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลนั้น โดยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการที่เป็นชิ้นใหญ่ ๒-๓ อย่าง ซึ่งยังไม่ได้ทำหรือทำแล้วยังไม่สู้จะสำเร็จทีเดียวคือการกำหนดให้ประชาชนมีเวลาเข้ารับราชการทหาร ๑ การจัดระเบียบที่ประชาชนจะออกเงินอุดหนุนราชการเป็นรายตัว ๑ การประปาสำหรับพระนคร ๑ สองอย่างข้างต้นนั้นได้สำเร็จไปแล้วในรัชชกาลที่ ๕ แต่การประปายังค้างอยู่ ปัญหาเรื่องการประปานี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะเวลานั้นมีโรคระบาด เช่นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ในเวลาหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำเค็มหรือกร่อยเมื่อมีโรคระบาดลุกลามขึ้นครั้งใด ก็ย่อมเสียชีวิตประชาชนและเสียความไว้วางใจแห่งนานาประเทศบรรดาที่ติดต่อ ดังจะเห็นได้จากวิธีที่พวกฝรั่งในสหรัฐมลายูชอบกล่าวทับถมว่า ถ้าใครจะมาเที่ยวกรุงเทพฯ ก็ขอให้ระวังอย่ามาตายลงเป็นต้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั้นก็คือถูกกักด่านสำหรับสินค้าใหญ่ๆ เช่นสุกร โค กระบือ ซึ่งเป็นโรคระบาดบางอย่างอีกด้วยจึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีน้ำที่สอาดใช้บริโภคให้แพร่หลาย แต่การตั้งประปาไม่สำเร็จได้เพียงซื้อเครื่องจักรมากรองน้ำให้บริสุทธิ์หรือเพียงก่อสร้างบริเวณประปาที่พญาไทขึ้นเท่านั้น ยังต้องทำการขุดคลองลำเลียงน้ำขึ้นไปจนถึงเชียงราก ซึ่งต้องจัดการติดต่อหาซื้อที่ดินตลอดทางขึ้นไป แล้วยังมีปัญหาเรื่องกำลังไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องจักรอีกด้วย แปลว่าตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นอีกโรงหนึ่ง ซึ่งไม่สู้จะง่ายนัก เพราะเป็นการขัดกับสัมปทานที่บริษัทไฟฟ้าสยามได้ไว้ในสมัยก่อนจะคิดทำประปานั้นด้วย การทั้งนี้เจ้าพระยายมราชได้จัดไปจนสำเร็จเป็นชิ้นที่ควรยกขึ้นกล่าวอันหนึ่ง ส่วนกิจการโดยปกติของกระทรงนครบาลนั้น งานที่สำคัญที่สุดย่อมอยู่ในหมวดปกครองท้องที่ แต่ท้องที่กรุงเทพฯ นั้นผิดกับภายนอกเพราะมีผู้คนสำส่อน ทั้งต่างชาติต่างภาษาเป็นอันมาก ทั้งในเวลานั้นลำบากด้วยเรื่องนานาประเทศยังสงวนอำนาจกระทรวงศาลด้วยหลักสภาพนอกอาณาเขตต์ อันเป็นเหตุติดขัดในเรื่องจับกุมชำระผู้ร้าย และผู้หลีกเลี่ยงพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ นานาเข้าใจว่าผู้ปกครองท้องที่คงจะต้องใช้ความอดทนระมัดระวังมิใช่น้อย ครั้ง พ.ศ.๒๔๕๘ ได้โอนราชการเรือนจำทั่วประเทศสยามเข้ามาไว้ในบังคับบัญชาเสนาบดีกระทรวงนครบาลตั้งเป็นกรมใหญ่เรียกว่า กรมราชทัณฑ์และได้โอนกรมตำรวจภูธรเข้ามารวมกับตำรวจนครบาลเป็นกรมใหญ่อีกกรมหนึ่งเรียกว่า กรมตำรวจภูธรและนครบาล เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบขึ้นอีกเป็นอันมาก ได้แก้ไขขยายกิจการอื่นๆ ในหน้าที่ เช่น งานเจ้าท่า งานสุขาภิบาลเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานต่างกระทรวงซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลต้องรับทำให้ในฐานที่เป็นเทศาภิบาลมณฑลกรุงเทพฯ อีกด้วยเป็นต้นว่า งานสัสดี งานศึกษาประชาชนและงานสรรพากร

ในระหว่างนี้เจ้าพระยายมราชได้ริเริ่มตั้งบริษัททำปูนสิเมนต์ขึ้นโดยได้ตรวจพบดินขาวใกล้ทางรถไฟสายเหนือ ในตำบลที่เคยได้ชื่อว่าเมืองเสนาราชนครหรือเมืองขีดขินใกล้สถานีบ้านหมอระหว่างสระบุรี กับลพบุรี เป็นบริษัทใหญ่มีทุนหนึ่งล้านบาทและอยู่ในจำพวกบริษัทไทยแรกๆ ที่มีทุนส่วนมากเป็นของไทยและจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย แม้ว่าบริษัทไทยโดยมากจะตั้งไม่ใคร่ติดในเวลานั้นก็ดี แต่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยนี้ดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ในขั้นต้นทำปูนซิเมนต์ขึ้นได้วันละ ๔๐๐ ถัง ได้ขยายการงานจนบัดนี้ทำปูนได้ถึงวันละ ๑๒๐๐ ถัง และสามารถแบ่งกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้น

ในระยะแรกแห่งรัชชกาลที่ ๖ เมื่อได้ทราบพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มตั้งกองเสือป่าขึ้น ท่านก็ได้อาษาสมัครเป็นเป็นพลเสือป่าอยู่ในกองหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบังคับการด้วยพระองค์เอง ครั้นเมื่อขยายการเสือป่าออกไปให้มีเสือป่ารักษาดินแดน คือพลเรือนที่มิใช่นักรบอาษาทำหน้าที่ป้องกันท้องที่ตามแบบ Territorial Army ของอังกฤษระหว่างมหาสงครามนั้น ท่านได้เป็นผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ซึ่งจัดเป็นกองพลใหญ่ เป็นตำแหน่งซึ่งได้รับคำยกย่องว่า "ยากมาก เพราะต้องบังคับบุคคลต่างกระทรวงทะบวงการมากหลาย" คัดจากคำปรึกษาความชอบต่างกระทรวงบัญญัติเครื่องราชอิศศริยาภรณ์อันมีศักดิ์ รามาธิบดี พ.ศ. ๒๔๖๐) ในหน้าที่นี้ท่านได้โดยเสร็จไปฝึกซ้อมกลางสนามในเขตต์ระหว่างนครปฐมกับราชบุรีในหน้าที่แม่ทัพต่อสู้กับพระองค์หลายครั้ง ได้เป็นราชองครักษ์พิเศษ จนกระทั่งในที่สุดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้เป็นนายพลเสือป่าเป็นบำเหน็จ ในเวลาเดียวกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นทั่วพระราชอาณาเขตต์และให้เจ้าพระยายมราชเป็นสภานายกจัดการลูกเสือกรุงเทพพระมหานครตลอดมาจนท่านพ้นจากหน้าที่ราชการ

ครั้นพุทธศักราช ๒๔๖๐ โดยที่รูปการณ์ในมหาสงครามเปลี่ยนแปลงไป คือการรบไม่ได้จำกัดอยู่ในระหว่างนักรบเท่านั้นเรือดำน้ำเยอรมันออกทำร้ายแก่เรือค้าขายเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาเสนาบดีสภาเห็นชอบพร้อมกัน ในการที่จะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร์เพื่อค้านการกระทำของฝ่ายเยอรมันดังได้กล่าวมาแล้ว หน้าที่ตระเตรียมตกอยู่ในระหว่างทหารตำรวจและผู้ปกครองท้องที่เป็นส่วนมาก เจ้าพระยายมราชเกี่ยวด้วยหน้าที่รักษาความสงบในพระนครตลอดจนการจับกุมชนชาติที่เวลานั้นเป็นศัตรู ต้องกำกับงานกวดขันถึงไปอยู่ที่กระทรวงนครบาลตลอดคืน ในคืนก่อนที่จะประกาศสงคราม เมื่อรุ่งขึ้นกิจการดำเนินสำเร็จไปแล้ว เสนาธิการทหารบก (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) ซึ่งเสด็จมาประทับอยู่ด้วยตลอดคืนนั้นออกพระโอษฐว่า "ฉันเป็นห่วงเจ้าคุณมาก เพราะงานใหญ่และใหม่ไม่คิดเลยว่าจะเรียบร้อยถึงเพียงนี้" เมื่อสงครามถึงที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานฐานันดรมหาโยธิน แห่งเครื่องราชอิศศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องแสดงความชอบ ปรากฎคำปรึกษาความชอบดังนี้

"คณะที่ปรึกษาประชุมกันตามความในพระราชบัญญัติมาตรา ๒๐ เห็นพร้อมกันว่า มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราชซึ่งในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้อำนวยการเรื่องเกณฑ์พลเมืองในกรุงเทพมหานครเข้ารับราชการตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร แต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติในเขตต์นี้มาจนบัดนี้นับว่าเป็นราชการซึ่งยากยิ่งกว่าในเขตต์อื่นๆ เพราะมีคนสำส่อนมากในทางเสือป่าก็ได้รับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ แต่ต้นมาอันเป็นตำแหน่งยากมาก เพราะต้องบังคับบุคคลต่างกระทรวงทะบวงการมากหลาย นับว่ามีความชอบตามพระราชบัญญัติเครื่องราชอิศศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีมาตรา ๑๖ ตอนท้ายนั้น"

"อนึ่งเนื่องในการประกาศสงครามเยอรมันนี แลเอาสเตรียฮุงการี ได้เป็นผู้อำนวยการจับกุมชนชาติสัตรู ทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร การอันนั้นสำเร็จเรียบร้อยดียิ่ง นับว่ามีความชอบตามพระราชบัญญัติมาตรา ๑๕ ตอนท้ายหมายอักษร จ. จึงเห็นว่าสมควรได้รับพระราชทานฐานันดรชั้นมหาโยธิน"

ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดอุกทกภัยทั้งในประเทศสยาม และประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส ประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งเข้าใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสามประเทศ เป็นเหตุที่จะพึงวิตกว่า ราษฎรจะอดเข้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการกำกับตรวจตราการค้าเข้าขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อผ่อนผันมิให้เกิดทุพภิกขภัย แต่ให้โอกาสให้ได้ผ่อนขายบ้างตามกำลังและจำนวนพอมิให้การค้าขายต้องหยุดชงักเสียทีเดียว ได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราชเข้าร่วมอยู่ในคณะนั้นด้วย ท่านได้เป็นกรรมการที่ "เป็นราชการ" ยิ่งผู้หนึ่งในคณะนั้น ในที่สุดก็สามารถป้องกันทุพภิกขภัยมิให้เกิดขึ้นได้

ก่อนที่จะผ่านไปสู่ยุคหลังแห่งรัชชกาลที่ ๖ คือตอนที่รวมกระทรวงมหาดไทยนั้นจะต้องกล่าวเติมด้วยว่า ในระหว่างยุคแรกนี้ได้ทรงพระราชดำริตั้งยศสูงสุดฝ่ายพลเรือนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า "มหาอำมาตย์นายก" ให้เทียบเท่าจอมพลทหาร และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ) และเสนาบดีกระทรวงนครบาลรับพระราชทานยศชั้นนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็มิได้พระราชทานยศนี้แก่ผู้ใดอีก

ไปที่เริ่มต้น

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์มีอาการป่วยกราบถวายบังคับคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ทรงพระราชดำริว่าแต่ก่อนนั้นการปกครองท้องที่แยกย้ายกันอยู่เป็นหลายกระทรวง คือพระนครอยู่ในหน้าที่นครบาล หัวเมืองอยู่ในกลาโหมมหาดไทยและกรมท่า ครั้น พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รวมหน้าที่ปกครองหัวเมืองมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่แห่งเดียว บัดนั้นราชการได้ดำเนินมาถึงขีดขั้นอันสมควรที่จะรวมหน้าที่ปกครองท้องที่ไว้แห่งเดียวได้แล้ว ทรงเห็นว่าเจ้าพระยายมราช "เป็นผู้ชำนาญในการปกครองท้องที่มานานแล้วทั้งในกรุงและหัวเมือง และอยู่ในฐานะแห่งมุขมนตรีเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก สมควรจะรับพระราชภาระตามโครงการณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ได้" (คัดจากประกาศตั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕) จึงโปรดให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตามรูปใหม่นี้ ในที่นี้น่าจะกล่าวแซกสักหน่อยหนึ่งถึงลักษณะงานปกครองท้องที่ ใครๆ ก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่ากระทรวงมหาดไทยที่จัดขึ้นใหม่เพื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เพื่อให้เข้ารูปงานสมัยใหม่นั้น ปลดหน้าที่ตุลาการไปไว้ยุติธรรม แต่รวมการปกครองท้องที่หัวเมืองทั้งหมดเข้ามาไว้ และมีกรมอัยยการ (หัวเมือง) กรมป่าไม้ กรมสรรพากรนอก เป็นกรมขึ้นใหญ่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามระยะเวลาต่อนั้นบ้าง จัดขึ้นแต่เดิมบ้าง ผู้ทรงริเริ่มจัดการทั้งนี้คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความนิยมแห่งประชาชนหรือข้าราชการทั่วๆ ไป ตั้งแต่นั้นมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ มีอยู่ว่าเป็นกระทรวงที่ก้าวหน้าและบริบูรณ์ด้วยสมรรถภาพเป็นอย่างเยี่ยม เพราะฝีพระหัตถ์เสนาบดีพระองค์นั้นเป็นข้อใหญ่และด้วยเหตุนี้เองงานที่ริเริ่มขึ้นใหม่หลายอย่างจึงมักเกิดขึ้นโดยอาศัยพระองค์ท่าน ยิ่งเวลาล่วงไปงานก็หนักยิ่งขึ้นทุกทีจนกระทรวงนั้นขยายตัวใหญ่กว่ากระทรวงใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประชวร และกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพยายามที่จะผ่อนผันโอนงานที่พอจะโอนได้ไปไว้กระทรวงอื่นเสียบ้าง เพราะผู้ที่จะมีความอุตสาหะด้วยมีสติปัญญาด้วยให้เท่าเทียมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้นก็หายากอยู่ ทั้งตอนนี้มีงานใหม่เกิดขึ้นเป็นงานใหญ่ คืองานกรมสาธารณสุข เหตุฉะนั้นจึงได้โอนงานเรือนจำและตำรวจไปไว้ในนครบาล (ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น) และโอนงานสรรพากรนอกไปรวมกับสรรพากรในขึ้นอยู่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โอนงานอัยยการไปไว้กระทรวงยุตติธรรม ครั้งต่อมาได้มีอุปสัคเกิดขึ้นบางอย่างในทางดำเนินงานระหว่างกรมใหญ่ต่างๆ ซึ่งยังก้าวก่ายกันอยู่บ้าง เช่น แผนกอัยยการเมื่อไปเสียจากสังกัดผู้ปกครองท้องที่ทำให้ความร่วมมือในระหว่างสองหน้าที่นั้นอ่อนลง ในโอกาสที่รวมหน้าที่ปกครองอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ. ๒๔๖๕ นี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนหน้าที่อัยยการมาไว้ในกระทรวงมหาดไทยใหม่ แต่ยกกรมราชทัณฑ์จากกระทรวงนครบาล ไปขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรมเพื่อแบ่งปันภาระแก่กัน

เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าเป็นเสนาบดีมหาดไทยตามรูปใหม่นี้แล้ว ได้ตั้งใจจัดการอย่างเข้มแข็ง เป็นที่สังเกตว่าการงานเดินคล่องแคล่วขึ้นมาใหม่จนมีเสียง (หนังสือพิมพ์) เรียกท่านว่า "The New Bloom" (ไม้กวาดอันใหม่ซึ่งสะสางกิจการที่ค้างๆ) ในตอนนี้ได้ออกกฎเสนาบดีจัดระเบียบการอยู่ชุดหนึ่ง บางกฎน่าจะยกมากล่าวในที่นี้เพื่อแสดงอนุสนธิแห่งประวัติการปกครองท้องที่ คือ :-

๑) ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมืองชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งกำหนดหน้าที่อำนาจและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ตามลำดับชั้น น่าจะอธิบายลงในระยะนี้ด้วยว่า การกำหนดหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบนั้น เดิมมาก็เคยมี โดยพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ เป็นต้น แต่เทศา,เจ้าเมือง,และนายอำเภอมิได้ทำงานฉะเพาะแต่งานของกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว หากต้องทำงาน "ฝาก" จากกระทรวงอื่นอีกด้วย เพื่อจะอาศัยใช้อำนาจของผู้ปกครองท้องที่ เช่น ในการภาษีอากรก็ต้องใช้อำนาจผู้ปกครองท้องที่บางอย่าง ในการศึกษาก็ต้องใช้อำนาจที่จะเกณฑ์เด็กมาเรียนเป็นต้น ในเวลาต่อมาเมื่อการงานของรัฐบาลขยายตัวขึ้น งานฝากเหล่านี้ทวีขึ้นทุกที จนกระทั่งผู้ปกครองท้องที่โดยฉะเพาะชั้นนายอำเภอ ไม่มีเวลาและกำลังจะทำให้ได้ผลดีทุกอย่างไป เหตุฉะนั้นข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมืองชั่วคราวอันนี้จึงต้องเกิดขึ้น และพึงสังเกตความแห่งหนึ่งซึ่งกล่าวว่า

"มาตรา ๑๖ ถ้ามีราชการแผนกอื่นซึ่งเป็นระเบียบการประจำหรือระเบียบใหม่ที่เสนาบดีเจ้ากระทรวงนั้นๆ ได้ทำความตกลงเห็นชอบพร้อมกันกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว และมอบการอย่างใดแพนกใดให้อยู่ในความบังคับบัญชาของผู้ปกครองท้องที่แล้ว ก็ให้ผู้บังบัญชาของผู้ปกครองท้องที่แล้ว ก็ให้ผู้บังคับบัญชาท้องที่นั้นๆ มีอำนาจเหนือพนักงานแพนกนั้นๆ ในการที่จะให้คุณให้โทษเหมือนดังข้าราชการในแพนกปกครองตามข้อบังคับนี้" (พึงสังเกตว่าแต่นี้ไป เสนาบดีต่างกระทรวงสั่งสมุหเทศาภิบาลเอาเองตามชอบใจอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ต้องตกลงกับเสนาบดีมหาดไทยก่อน)

๒) กฎระเบียบการ (ที่ ๑) ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปสืบสวนผู้ร้ายด้วยตนเอง สาระแห่งกฎอันนี้มีอยู่ว่า
"การจับผู้ร้ายนั้นจะไม่ถือเป็นความชอบเป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น แต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นอยู่เย็นเป็นปกติสุขพอสมควร…"
"และจะถือเป็นความผิดความบกพร่อง เมื่อการปกครองยุ่งยิ่งไม่เรียบร้อย เพราะปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่ราบคาบก็ตามหรือเพราะแตกความสามัคคีในฝ่ายเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ไม่กลมเกลียวกันด้วยการแย่งยื้อถืออำนาจไม่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย…ก็ตาม"
๓) นอกจากนี้ยังมีกฎอื่นๆ อีก ๘ กฎ ระบุหน้าที่หรือตักเตือนกำชับเจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยมากเพ่งเล็งในเรื่องปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างจะกำเริบ

เจ้าพระยายมราชฉลองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระมหากษัตริย์เพียงไร จะพึงหยั่งรู้ได้ด้วยบำเหน็จที่สูง และที่ไม่ใคร่มีใครจะได้เคยรับ เช่นยศมหาอำมาตย์นายก ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว อีกบำเหน็จหนึ่งที่พึงสังเกตก็คือได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยากรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งข้าราชการน้อยคนนักที่จะได้รับพระราชทานเคยมีอยู่ก็แต่ (๑) สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ (๒) เจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒนพิพัฒนศักดิ์ (วอน บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ (๓) จอมพลเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์อรุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ เท่านั้น แต่ท่านทั้งสามนี้ยังว่าเป็นราชินิกูลและราชสกุล ผู้ที่มิได้มีวุฒิทางกำเนิดเข้าช่วยด้วยนั้นเห็นจะมีแต่เจ้าพระยายมราชแต่ผู้เดียว

ลุพุทธศักราช ๒๔๖๗ ทรงพระราชปรารภว่า ตามราชประเพณีที่เคยมีมา เสนาบดีที่ได้ราชการดี ย่อมทรงยกย่องให้เป็นเจ้าพระยาชั้นหิรัญบัฎ หากเป็นราชสกุลหรือราชินิกูลก็พระราชทานสุพรรณบัฎเป็นพิเศษ ดุจทรงสถาปนาพระยศเจ้านายเจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานหิรัญบัฎมาแต่รัชชกาลก่อน ทรงเห็นว่ามีความชอบและความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง จึ่งมีพระบรมราชโองการให้จาฤกนามใหม่ลงในสุพรรณบัฎ มีพิธีอ่านประกาศในงานเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่เคยรับพระราชทานเลื่อนจากหิรัญบัฎขึ้นมาเช่นนี้ แต่ก่อนก็มิได้มีพิธีเช่นนี้ (ความชอบที่อ้างในประกาศก็ทำนองดังได้พรรณนามาแล้ว และปรากฎอยู่แล้วในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ "เรื่องตั้งเจ้าพระยา" จึ่งมิได้คัดมาลงไว้ในที่นี้อีก) (พระราชทานสุพรรณบัฎ)

ในลำดับนี้ เจ้าพระยายมราชได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่การก่อสร้างพระราชฐานชิ้นใหญ่ๆ และสำคัญอีกหลายแห่งทั้งในกรุงและหัวเมือง จะยกขึ้นกล่าวแต่เพียงบางชิ้น เช่นพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเริ่มแต่รัชชกาลที่ ๕ มาสำเร็จลงในรัชชกาลนี้เป็นงานใหญ่ที่สุดของท่านในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน, สวนสุนันทา, วังปารุสกวัน, พระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นต้น นอกจากการก่อสร้างยังได้ฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่พิเศษอื่นอีกหลายอย่าง เช่น เป็นกรรมการราชนาวีสมาคม (ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อชักชวนราษฎรบริจาคทุนช่วยราชนาวีหาซื้อเรือรบมาเพิ่มกำลัง จนในที่สุดได้เรือ "พระร่วง" มาลำหนึ่ง เป็นกรรมการปกครองวชิรพยาบาล ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นสถานพยาบาลสำหรับภาคเหนือแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นมรรคนายกวัดหงษรัตนาราม ซึ่งเป็นสำนักอุปสมบทของท่านและวัดสามพระยาซึ่งอยู่ใกล้บ้านเดิมของท่าน และเมื่อจวนจะถึงกาลที่สุดแห่งรัชชกาลที่ ๖ ทรงพระราชปรารภจะให้มีพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าและหัตถกรรม กสิกรรม อุตสาหกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ ของบ้าน บ้านเมือง เนื่องในโอกาสที่จะได้เสวยราชย์มาครบ ๑๕ ปีนั้น ก็ได้ทรงมอบให้ท่านเป็นผู้อำนวยการตระเตรียมงาน พระราชทานที่ส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดงให้จัดเป็นสถานพิพิธภัณฑ์และให้สร้างเป็นวนาสำหรับพระนคร โดยพระราชประสงค์ที่จะให้ได้เป็นที่หย่อนใจของประชาชน ท่านก็ได้เป็นผู้คิดการสร้างสวนนี้ ได้โปรดพระราชทานนามสวนนี้ว่าสวนลุมพินี แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่ทันจะถึงกำหนดที่จะได้ฉลองสิริราชสมบัติก็พลันเสด็จสวรรคต งานพิพิธภัณฑ์จึงเป็นอันงด คงมีแต่สวนลุมพินีอยู่ทุกวันนี้

องค์แห่งความสำเร็จในหน้าที่ราชการของเจ้าพระยายมราชที่สำคัญนอกจากในข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เห็นจะมีอยู่อีกสัก ๒ อย่างซึ่งจะเว้นกล่าวถึงไม่ได้ คือรู้จักรวบรวมหาคนดีมาใช้ประการหนึ่ง และพรหมวิหารธรรมของตัวท่านเองอีกประการหนึ่ง ในข้อต้นนั้นควรจะสังเกตท่านรู้จักใช้คนทุกอย่าง ใช่แต่จะได้ชุบเลี้ยงคนมีสติมีหลักธรรมในใจมั่นคงขึ้นจนถึงได้เป็นอธิบดีเป็นหลายคนเท่านั้น คน ใช้ยาก" ด้วยมีพยศท่านก็รู้จักกล่อมเกลาจนสามารถเป็นได้ถึงชั้นนั้นอีกไม่น้อยคน คนเก่าที่มีอยู่แล้วได้พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งจนถึงได้ดีเป็นตำแหน่งสูงรองตัวท่านเอง เช่นพระยาศรีธรรมาธิราช (เจิม บุณยรัตพันธ์) ก็มีและที่น่าอัศจรรย์อยู่บ้าง คือไปเที่ยวหยิบเอาคนที่ไม่เคยใช้มาใช้ได้เป็นผลสำเร็จอีกหลายคน เช่นพระยาจ่าแสนยบดี (ชิต สุนทรวร) ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก็มี ในส่วนข้อหลัง (พรหมวิหาร) นั้นเล่า เห็นจะรวมใจความพูดได้สั้นๆ ว่าน่าจะเป็นการยากที่จะหาคนที่จะบรรดาลให้งานใหญ่โต เช่นงานบัญชาการกระทรวงสำเร็จไปได้โดยดี แต่คงตั้งอยู่ในความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังเช่นเจ้าพระยายมราชนี้ เชื่อว่าผู้ใดที่รู้จักท่านดีพอคงจะรับรองคำกล่าวอันนี้ได้ด้วยความเต็มเป็นแน่จริงอยู่เมื่อชมแล้วก็ต้องติถ้ามีเรื่องจะติ หากจะติท่านแล้วก็เห็นจะต้องติว่ามีธรรมะหมวดนี้ค่อนข้างจะมากเกินไปสักหน่อยในบางโอกาส แต่เมื่อติดังนี้แล้วก็ต้องไม่ลืมว่าแม้เช่นนั้นงานใหญ่ของท่านก็สำเร็จไปได้ทุกชิ้น


รูปภาพในสมัยรัชชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘) (20 รูป)

ไปที่เริ่มต้น