ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์

ตอนที่ ๔  ประวัติตอนเป็นเสนาบดีในรัชชกาลที่ ๕. (พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๕๓)

เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
พระราชหัตถ์เลขาและสำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราช
เสนาบดีกระทรวงนครบาล
เจ้าพระยายมราช

ประวัติย่อ
"คนสำคัญคน ๑ ในรัชชกาลที่ ๕"
พระราชทานบ้านศาลาแดง
"เกิดมาคู่บารมี"

รูปภาพตอนเป็นเสนาบดีในรัชชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๕๓

เจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่ ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเข้ามารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เวลานั้นอายุท่านได้ ๔๔ ปี ชั้นแรกโปรดให้เป็นแต่ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีอยู่สักสองสามเดือนเหมือนอย่างทดลองเสียก่อนว่าจะสามารถเป็นเสนาบดีได้หรือไม่แล้วจึงทรงตั้งให้เป็นตัวเสนาบดีเต็มตำแหน่ง แต่ยังคงมีนามว่าพระยาสุขุมนัยวินิตอยู่ตลอดเวลาที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ แต่งเรื่องประวัติตอนนี้ข้าพเจ้าจะต้องขอออกตัวสักหน่อยด้วยตั้งแต่เจ้าพระยายมราชเข้ามาเป็นเสนาบดีอยู่ในกรุงเทพฯ แม้จะได้พบปะกับข้าพเจ้าเสมอ และยังรักใคร่กันสนิทเหมือนอย่างก่อนก็ดี แต่รับราชการต่างกระทรวงกัน ข้าพเจ้าไม่รู้การงานของท่านถ้วนถี่เหมือนเมื่อเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ความที่ข้าพเจ้าแต่งอาจจะบกพร่องหรือผิดไปได้บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องขออภัย

กระทรวงโยธาธิการในสมัยนั้นจัดเป็น ๓ แผนก คือ กรมรถไฟแผนก ๑ กรมไปรษณีย์และโทรเลขแผนก ๑ และกรมโยธาแผนก ๑ การงานแผนกต่างๆ เหล่านั้น เวลาเมื่อเจ้าพระยายมราชไปว่าการกระทรวงโยธาธิการ กรมรถไฟพวกฝรั่งผู้เชี่ยวชาญทำการอยู่เป็นพื้น เสนาบดีเป็นแต่ตรวจตราและช่วยชี้แจงแก้ไขความขัดข้องที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่นมิสู้เป็นการหนักนักกรมไปรษณีย์โทรเลข สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้แก้ไขเป็นระเบียบเรียบร้อยมาไม่ช้านัก แต่การในกรมโยธากำลังยุ่งถึงต้องเอาเจ้ากรมออกจากตำแหน่ง แรกเจ้าพระยายมราชเข้าไปเป็นเสนาบดีต้องแก้ยุ่งของกรมโยธาเป็นการสำคัญ ก็ในเวลานั้นกรมโยธากำลังสร้างพระราชมณเฑียรในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถานที่พระราชวังดุสิตยุ่งอยู่ด้วยแห่ง ๑ เจ้าพระยายมราชเข้าไปแก้ไขระเบียบการงานที่สร้างพระราชมณเฑียร มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเข้าหลวงเพื่อเรียนพระราชปฏิบัติ และรับสั่งมาทำการตามพระราชประสงค์เนืองๆ หรือว่าอีกนัยหนึ่งคือได้เข้าใกล้ชิดสนิทพระองค์ทรงคุ้นยิ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงหยั่งเห็นคุณวิเศษของท่านเพิ่มขึ้นอย่างหนึ่ง คือว่าการงานอันใดที่ดำรัสสั่งเจ้าพระยายมราชมีสติปัญญาสามารถเข้าใจพระราชประสงค์ได้โดยถูกต้อง และพยายามทำการนั้นๆ ให้สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุที่จะพอพระราชหฤทัยใช้สอยเจ้าพระยายมราชมาแต่นั้น ความที่กล่าวนี้มีเค้าเงื่อนที่จะพึงเห็นดังเช่นเมื่อจะเสด็จไปยุโรปครั้งที่ ๒ มีพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์ทรงฝากฝังเจ้าพระยายมราชให้เอาเป็นธุระช่วยดูแลพระราชฐานด้วยคน ๑ มีสำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราชกราบทูลตอบ ส่อให้เห็นทั้งข้อที่ทรงพระเมตตาเจ้าพระยายมราชอย่างสนิทสนมในเวลานั้น และเจ้าพระยายมราชมีความสามิภักดิ์ในน้ำใจเพียงไร จึงให้พิมพ์สำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราชลงในนี้ด้วย

พระราชหัตถ์เลขา

(สำเนาจดหมายเจ้าพระยายมราช)
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุขุมนัยวินิต ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชอาญาไม่พ้นเกล้า

ด้วยเช้าวันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระราชหัตถ์เลขาลงวันวานนี้ ทรงพระราชปรารภถึงจะเสด็จประพาสยุโรป แลโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าหมั่นตรวจตราที่พระที่นั่งอัมพรสถานเสมอ เผื่อว่าจะมีการขัดข้องประการใด ก็ให้สนองพระเดชพระคุณไป แลจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสร์เป็นทางราชการด้วยกับในชั้นนี้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้ารีบติดโทรศัพท์ระหว่างพระที่นั่งอัมพร กับตำหนักสมเด็จกรมหลวงนริศ(๑) ฯ เพื่อจะได้พูดถึงกันได้ในเวลาเมื่อมีการจำเป็น กับมีข้อความอื่นๆ อีกหลายประการนั้น ข้าพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าทุกประการแล้ว พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าหาที่สุดมิได้

ที่ทรงพระมหากรุณาไว้วางพระราชหฤทัยดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกมีความปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ความจริงข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนแก่วัด ได้เล่าเรียนอยู่บ้าง แลเชื่อถือในความกตัญญูกะตะเวที ว่าเป็นสวัสดิมงคลและเป็นราษีแก่ตัว ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯ ถึงเพียงนี้ ก็ตั้งใจจะสนองพระคุณทั้งราชการแผ่นดินแลในส่วนพระองค์ ไม่ถือว่าการหยาบหรือการละเอียดหรือความเหน็จเหนื่อยอย่างใดอย่างหนึ่งเลย

อีกประการหนึ่งข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเสมอว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทย่อมเป็นหลักอันสำคัญแห่งพระราชอาณาจักรสยามอยู่พระองค์เดียว ถ้าจะเปรียบก็ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรป เพราะฉะนั้นการรักษาพระองค์จึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่ต้องสงสัยเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้คงจะกระทำให้ทรงพระเป็นสุขสำราญขึ้นเป็นอันมาก แต่ที่จะทรงพระสำราญนี้ก็ต้องประกอบพร้อมด้วยแพทย์อันวิเศษ แลอากาศทางข้างเมืองนอกประการ ๑ ทั้งราชการแผ่นดินตลอดถึงพระบรมวงศแลพระราชูประถากฝ่ายใน ทางข้างหลังนี้ก็ต้องให้เป็นที่เรียบร้อยปราศจากการขัดข้องด้วยประการ ๑ แม้ว่าการทางข้างหลังนี้ ไม่เรียบร้อยจะนับว่าเป็นที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยนั้นไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเช่นนี้ เพราะฉะนั้นในระหว่างเวลาที่เสด็จไม่อยู่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ตั้งใจอยู่ว่า ส่วนราชการกระทรวงก็จะสนองพระเดชพระคุณมิให้ถอยหลัง ส่วนราชการในพระองค์สิ่งใดที่ได้ทรงมอบหมายไว้ ก็จะสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลัง หรือให้ยิ่งกว่าเสด็จประทับอยู่ในพระนคร

อนึ่งเครื่องโทรศัพท์นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้ลงมือทำในวันพรุ่งนี้แล้ว

ควรมิควรสุดแต่ละทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า (ลงนาม) สุขุมนัยวินิต ขอเดชะ

(๑) เวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง

ไปที่เริ่มต้น

แต่เจ้าพระยายมราช เป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอยู่ไม่เต็ม ๒ ปี ก็เกิดเหตุต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล เหตุที่จะย้ายไปนั้นข้าพเจ้าทราบอยู่ ด้วยเกี่ยวกับเรื่องประวัติของตัวข้าพเจ้าเองอยู่บ้าง เรื่องเป็นดังจะเล่าต่อไปนี้ คือ เมื่อกระทรวงมหาดไทยจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลมาได้สักสองสามปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงปรารภแก่ข้าพเจ้า ว่ากระทรวงมหาดไทยก็ได้จัดวิธีปกครองหัวเมืองวางเป็นระเบียบแล้ว แต่กระทรวงนครบาลเฉยอยู่ไม่ได้จัดอะไรให้ดีขึ้นเลย ที่จริงท้องที่ที่กระทรวงนครบาลปกครองก็เหมือนอย่างมณฑล ๑ โอนเอาไปรวมเข้ากระทรวงมหาดไทยเสียเหมือนอย่างหัวเมืองมณฑลอื่นๆ จะไม่ได้หรือ ข้าพเจ้าคิดดูแล้วกราบบังคมทูลว่าท้องที่ที่กระทรวงนครบาลปกครองเป็นอย่างมณฑลหนึ่งก็จริง แต่เป็นมณฑลราชธานี อันเป็นที่ประชุมทั้งสิ่งที่ดีอย่างยิ่งและที่ร้ายอย่างยิ่งเหมือนกับราชธานีประเทศอื่นๆ ถ้าโปรดให้ข้าพเจ้าต้องบังคับการมณฑลกรุงเทพฯ ด้วย เกรงจะติดกิจการต่างๆ ต้องประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่มีเวลาไปเที่ยวตรวจการตามหัวเมือง การที่จัดขึ้นตามมณฑลต่างๆ ก็จะทรุดโทรมหรือรั้งราไปไม่เจริญ ข้าพเจ้าเห็นว่ามณฑลกรุงเทพฯ อยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณ ถึงผู้บัญชาการจะหย่อนความสามารถก็อาจทรงพิจารณาเร่งรัดตักเตือนได้ อย่าเพิ่งเอาหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ รวมเข้าในกระทรวงมหาดไทยเห็นจะดีกว่า ได้ทรงฟังไม่ตรัสประการใดต่อไปเรื่องก็เป็นอันระงับมาหลายปี จนมีกรณีย์เกิดขึ้นด้วยเรื่องตั้งพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร โปรดให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นทีละมณฑล ๑ หรือ ๒ มณฑล ตามแต่กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมจะปรึกษาตกลงกัน ได้ใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารตามหัวเมืองที่ขึ้นกระทรวงมหาดไทยสำเร็จมาหลายมณฑล แต่กระทรวงนครบาลไม่รับจัดการใช้พระราชบัญญัตินั้นในมณฑลกรุงเทพฯ ด้วยอ้างว่าเป็นการยากเหลือกำลังที่จะจัดได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงขัดเคือง วัน ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปแล้ว มีรับสั่งให้หาข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าในที่ระโหฐาน ดำรัสว่า "ฉันทนกรมเมือง (คือกระทรวงนครบาล) ต่อไปไม่ไหวแล้ว เธอจะรับมณฑลกรุงเทพฯ ไปรวมกับมหาดไทยได้หรือไม่" ใจข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากรับอยู่อย่างเดิม แต่สังเกตดูพระราชอัธยาศัยกำลังทรงขุ่นเคือง จะกราบทูลปฏิเสธซ้ำเหมือนหนหลังก็เกรงจะถูกกริ้วเผอิญนึกขึ้นได้ในขณะนั้นเหมือนอย่างเขาว่า "เทวดาดลใจ" ก็กราบทูลสนองว่า "แก้ด้วยสับเปลี่ยนตัวเสนาบดีจะดีดอกกระมังคือ โปรดให้ย้ายพระยาสุขุมมาว่าการกระทรวงนครบาล เพราะเคยชำนาญการมณฑลเทศาภิบาลมาแล้ว และย้ายเสนาบดีกระทรวงนครบาลไปว่าการกระทรวงโยธาธิการ บางทีจะแก้ไขความขัดข้องได้" มีพระดำรัสตอบว่า "ชอบกล" แล้วก็มิได้ทรงปรารภเรื่องนั้นต่อไป ต่อมาอีกสองสามวันก็มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สับเปลี่ยนตัวเสนาบดีดังกล่าวมา เจ้าพระยายมราชจึงได้ย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล แต่ในชั้นแรกยังคงเป็นพระยาสุขุมนัยวินิตอยู่อย่างเดิม

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงหยั่งเห็นสติปัญญาสามารถของเจ้าพระยายมราชและได้เคยทรงใช้ชิดติดพระองค์ไว้วางพระราชหฤทัยอยู่แล้ว เมื่อย้ายตำแหน่งไปเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลก็โปรดให้คงอำนวยการก่อสร้างในพระราชวังดุสิตอยู่อย่างเดิม และโปรดให้โอนกรมสุขาภิบาลซึ่งพ่วงอยู่กับกระทรวงเกษตราธิการ ในเวลานั้นมาขึ้นในกระทรวงนครบาลด้วย ตรงนี้เห็นควรจะย้อนความถอยหลังขึ้นไปเล่าถึงกำเนิดของกรมสุขาภิบาลด้วย ราวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไป กราบทูลว่าพวกชาวต่างประเทศมักติเตียนว่ากรุงเทพมหานครยังโสโครก และไม่มีถนนหนทางสำหรับมหาชนไปมาตามสมควรแก่เป็นราชธานี ทูลแนะนำให้คิดจัดมุนินสิเปอล (เดี๋ยวนี้เรียกว่า "เทศบาล" ) เหมือนเช่นเขาจัดกันในเมืองต่างประเทศ ทรงปรึกษาความเห็นของเจ้าพระยาอภัยราชาในที่ประชุมเสนาบดี เห็นว่าที่จะจัดเทศบาลในกรุงเทพฯ อย่างเมืองต่างประเทศในสมัยนั้นยังไม่ได้ เพราะหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยได้ทำไว้กับต่างประเทศมีอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลไทยจะตั้งกฎหมายอันใดที่บังคับถึงชาวต่างประเทศ ต้องบอกให้รัฐบาล (คือกงซุล) ต่างประเทศทราบก่อน ต่อเขายินยอมจึงจะตั้งกฎหมายเช่นนั้นได้ แม้ตั้งกฎหมายได้แล้วถ้าชาวต่างประเทศละเมิดกฎหมายก็ต้องไปร้องฟ้องต่อศาลกงซุล ความในหนังสือสัญญามีอยู่ดังนี้ และชาวต่างประเทศในเมืองไทยก็อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นพื้น จะจัดเทศบาลคงติดขัดด้วยพวกกงซุลต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องป้องกันคนในบังคับของตนโต้แย้งให้ขัดข้องต่างๆ ยากที่จะจัดให้สำเร็จได้ เจ้าพระยาอภัยราชาก็ยอม แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่า ที่เขาติเตียนนั้นเป็นความจริงโดยมาก เราจะมัวใส่โทษหนังสือสัญญาไม่ทำอะไรแก้ไขให้ดีเสียเลยหาควรไม่ จึงดำรัสสั่งให้ตั้ง "กรมสุขาภิบาล" ขึ้นสำหรับบำรุงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ด้วยบำบัดความโสโครกและทำถนนหนทางเป็นต้น ทรงตั้งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) เมื่อยังเป็นพระยาจางวางมหาดเล็กเป็นอธิบดี กรมสุขาภิบาลได้ทำการงานบำรุงพระนครมาหลายอย่าง ครั้นทรงตั้งเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ยังโปรดฯ จะให้เจ้าพระยาเทเวศร์อำนวยการสุขาภิบาลอยู่ด้วย กรมสุขาภิบาลจึงไปพ่วงอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลนั้นประจวบเวลาเจ้าพระยาเทเวศร์มีอาการเจ็บป่วยทุพลภาพถึงต้องออกจากตำแหน่งเสนาบดี ทั้งประจวบเวลากำลังทรงพระราชดำริจะสร้างสิ่งสำคัญ คือ "ประปา" ชักน้ำจืดมาให้บริโภคในกรุงเทพฯ และสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ในพระราชวังดุสิต จึงโปรดให้โอนกรมสุขาภิบาลมาขึ้นในกระทรวงนครบาล เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล หรือถ้าว่าอีกอย่าง ๑ รวมหน้าที่กับทั้งพนักงานก่อสร้างซึ่งเคยอยู่ในกระทรวงโยธาธิการกับพนักงานก่อสร้างในกรมสุขาภิบาลให้มาอยู่ในบังคับบัญชา เจ้าพระยายมราชด้วยกัน

แรกเจ้าพระยายมราช (เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต) เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล พอท่านศึกษาหน้าที่ราชการต่างๆ ในตำแหน่ง และได้สมาคมคุ้นกับข้าราชการในกระทรวงแล้ว ก็เริ่มจัดการปกครองท้องที่ ให้ใช้วิธีปกครองเมืองต่างๆ ในมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเดียวกันกับหัวเมืองขึ้นมหาดไทย ตัวเสนาบดีรับหน้าที่ผู้บัญชาการมณฑล กำหนดท้องที่ในจังหวัดกรุงเทพฯ เป็น "อำเภอชั้นนอก" และ "อำเภอชั้นใน" อำเภอชั้นนอกให้มีกรมการอำเภอและกำนัลผู้ใหญ่บ้านปกครองเหมือนอย่างหัวเมืองขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่อำเภอชั้นใน คือ ตัวพระนครและจังหวัดธนบุรี มีแต่กรมการอำเภอขึ้นตรงต่อกระทรวง หามีกำนัลผู้ใหญ่บ้านไม่ เมื่อวางระเบียบปกครองที่มีพนักงานสำหรับปกครองติดต่อกับราษฎรทุกถิ่นแล้วก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนตัวเสนาบดีดังกล่าวมาแล้ว ที่ในมณฑลกรุงเทพฯ แต่พอตั้งต้นก็เกิดความด้วยพวกจีนในกรุงเทพฯ ตื่น พากันปิดร้านไม่ขายของ เวลานั้นข้าพเจ้ายังอยู่ที่บ้านเก่าริมเชิงสะพานดำรงสถิตย์ มีจีนเช่าร้านที่หน้าบ้านขายของอยู่ ๒ ร้าน ข้าพเจ้าเห็นปิดร้านก็ให้ไปเรียกจีนผู้เช่ามาถาม ว่ามีความเดือดร้อนอย่างไรหรือจึงปิดร้าน ได้รับคำตอบว่าไม่มีความเดือดร้อนอย่างไร แต่พวกจีนเขาทิ้งใบปลิวสั่งให้ปิดร้าน ว่าถ้าไม่ทำตามสั่งพวกเขาจะมาปล้นทำลายของในร้านให้หมดต้องปิดร้านข้อนี้ภายหลังมาข้าพเจ้าอ่านหนังสือฝรั่งแต่งว่าด้วยประเพณีในเมืองจีน จึงได้รู้มูลเหตุของการปิดร้านเขาเล่าว่าเมืองจีนใช้วิธีปกครองอย่าง "กินเมือง" (ดังพรรณนามาในที่อื่นแล้ว) แต่อาณาเขตต์เมืองจีนกว้างใหญ่ไปมาถึงกันยาก ถ้าราษฎรเมืองไหนถูกเจ้าเมือง "บีบคั้น" (เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "สะควีส") เหลือทน จะไปร้องเรียนต่อจ๋งต๊ก (อุปราช) ก็ไม่ถึง จึงมักนัดกันปิดร้านไม่ค้าขาย เพื่อให้ข่าวระบือไปถึงจ๋งต๊กจะได้ให้มาช่วยระงับทุกข์ร้อน พวกราษฎรจีนรู้และใช้ประเพณีนี้มาช้านาน คงมีจีนบางพวกแนะนำให้จีนในกรุงเทพฯ ทำอย่างนั้น แต่พวกจีนที่ค้าขายหาเลี้ยงชีพไม่พอใจจะปิดร้านจึงต้องขู่เข็ญให้กลัว ครั้งนั้นเจ้าพระยายมราชท่านไปปรึกษากับกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช (ศิษย์เก่าของท่าน) เมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ตกลงกันใช้อุบายให้ทหารม้าสัก ๒ กองร้อยแยกกันเป็นหลายหมวด เดินแถวผ่านไปตามถนนเจริญกรุงจนถึงบางรัก และที่อื่นซึ่งมีจีนอยู่มากในเวลาบ่ายคล้ายกับไปตรวจตรา ไม่มีใครรู้ว่าทหารม้าจะลงไปทำอะไร พอรุ่งขึ้นเจ้าพระยายมราชให้นายพลตระเวรลงไปสั่งให้จีนเปิดร้านขายค้าเหมือนอย่างเดิมก็ยอม (และยินดี) เปิดด้วยกันหมด ยกเรื่องมากล่าวเป็นตัวอย่างพอให้รู้วิธีทำการของเจ้าพระยายมราช ซึ่งชอบและสามารถจะทำการงานกลมเกลียวกับกระทรวงอื่น ไม่ถือเป็นเขาเป็นเรา จึงทำการให้สำเร็จประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองมาก

ไปที่เริ่มต้น

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อปรากฎเกียรติคุณว่าสมควรเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นเจ้าพระยายมราชเต็มตามตำแหน่ง เมื่อทรงตั้งมีประกาศดังนี้

ศุภมัศดุ พระพุทธสาสนกาล เป็นอดิตภาคล่วงแล้ว ๒๔๕๑ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มักกฎสังวัจฉระ กติกมาศ กาฬปักษ์ จันทวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ พฤศจิกายนมาศ โสภสมาสาหคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราช รวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตพบรม มหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปริมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาสุขุมนัยวินิต ได้เริ่มต้นรับราชการมาในกรมศึกษาธิการ ด้วยเหตุเป็นผู้ได้เรียนภาษาบาฬีมีความรู้เข้าแปลในสนามมีประโยคได้เป็นเปรียญ ภายหลังได้เป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ออกไปทรงเล่าเรียนในประเทศยุโรปเป็นครั้งแรก เพราะเหตุที่ได้ถวายพระอักษรภาษาไทยมาแต่ยังเสด็จอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าลูกเธอผู้เป็นศิษย์โดยสนิททุกพระองค์ ครั้นเมื่อพระเจ้าลูกเธอเสด็จเข้าเรียนภาษาอังกฤษมีเวลาว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยในสถานทูตสยามกรุงลอนดอนอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ถือเอาโอกาสอันออกไปอยู่ในประเทศยุโรปนั้นด้วยดี เรียนภาษาอังกฤษในระหว่าง ๗ ปีที่ได้รับราชการอยู่นั้นด้วยความเพียรและทุนของตนเอง มีความรู้กว้างขวาง ทั้งเป็นผู้ที่ได้เข้าตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงศวโรประการ แลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จไปยังราชสำนักนิ์ต่างๆ ในประเทศยุโรปแลอเมริกา ในชั้นหลังที่สุดได้เป็นเลขานุการและทำการแทนราชทูตสยามในประเทศอังกฤษชั่วคราว ครั้นเมื่อกลับเข้ามายังกรุงเทพพระมหานคร ได้เริ่มต้นรับราชการเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แล้วไปเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการเมืองสงขลาแลเมืองพัทลุง ซึ่งภายหลังรวมขึ้นเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช แล้วแลขยายออกไปถึงเมืองมลายู ๗ เมือง ได้เริ่มต้นตั้งการปกครองมณฑลด้วยความสามารถเป็นอันมาก วางแบบอย่างการปกครองการสรรพากรแลคลัง เริ่มตั้งการยุติธรรม วางระเบียบแบบอย่างก่อนที่จะส่งยังกระทรวง ส่วนการโยธาในกระทรวงนั้นก็ได้ขุดคลองแลทำทาง เป็นที่สัญจรไปมาทั้งทางบกทางเรือเป็นอันมาก ส่วนการปกครองเมืองมลายูซึ่งเป็นการยากด้วยเกี่ยวแก่สาสนา ก็ได้จัดวิธีพิจารณาอนุโลมตามให้เป็นการสำเร็จลงเป็นแบบอย่างเรียบร้อยได้ ส่วนการในระหว่างที่รับราชการนั้นก็มีหลายคราว คือไปประเทศอินเดียแลยวาแลไปรักษาราชการทำสัญญาเมืองกลันตัน อันเป็นข้อราชการสำคัญที่ต้องใช้สติปัญญาเป็นอันมาก ได้รับราชการในมณฑลนอกกรุงเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี มีความรู้แลชำนาญกว้างขวางในทางปกครองพระราชอาณาเขตร ครั้งเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้เริ่มจัดการในกระทรวงนั้น ทั้งเป็นผู้ได้รับฉลองพระเดชพระคุณการส่วนพระองค์ในการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน แลดำริห์เริ่มการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเวลาได้ออกไปตรวจการมณฑลไทรบุรีแลมลายูประเทศซึ่งเข้ากันในการปกครอง ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประเทศยุโรปครั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลเพื่อจะได้ตรวจตราจัดการปกครองมณฑลกรุงเทพฯ แลบัญชาการกรมสุขาภิบาล ส่วนการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณฉะเพาะพระองค์ มีการก่อสร้างพระที่นั่งเป็นต้น ก็ยังคงติดอยู่เป็นการฉะเพาะตนอีกแผนกหนึ่ง

พระยาสุขุมนัยวินิตเป็นผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง มั่นคงต่อความคิดอันได้กำหนดไว้ว่าจะทำแล้วมิได้ละเลยให้จืดจางเคลื่อนคลาย มีความรู้แลสติปัญญาพอที่จะใช้ความตั้งใจนั้นให้ดำเนินไปได้ด้วยแยบคาย แลอุบายอันชอบประกอบด้วยความกตัญญูแลกตเวที ทั้งเมตตาปราณีเป็นเบื้องน่า มีความอุสาหะแลความเพียรเป็นกำลัง จึงอาจจะยังราชกิจทั้งปวงในน่าที่ให้สำเร็จได้โดยสะดวกดีควรจะชม เป็นที่นิยมทั่วไปในหมู่ชนเป็นอันมาก ปรากฎมาโดยลำดับ ทรงพระราชดำริห์ว่าผู้ซึ่งมีอัธยาศัยแลความสามารถเช่นนี้ คงจะได้รับราชการในตำแหน่งน่าที่ที่ยืนยาวสืบไป เป็นผู้สมควรจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องขึ้นไว้ในตำแหน่งเจ้าพระยาให้เป็นตัวอย่างของข้าราชการทั้งปวงสืบไปภายน่า

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งใหสถาปนาพระยาสุขุมนัยวินิตขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจาฤกในหิรัญบัตรว่า เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร มิหินทราธิบดีศรีวิชัย ราช มไหสวรรยบริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกาธิกรณ์ สิงหพาหเทพยมุรธาธรราชธานี มหาสมุหประธาน สุขุมนัยบริหารอเนกนรสมาคม สรรโพดมมสุทธิศุขวัฒณาการ มหานคราภิบาลอรรคมาตยาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุคชนาม ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ จงเจริญทฤฆชนมายุพรรณศุขศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ์ทุกประการ เทอญ.

เจ้าพระยายมราชอื่น หรือผู้อื่นซึ่งได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลแต่ก่อนมา ไม่มีท่านใดเคยทำราชการในกระทรวงนั้นมากและใหญ่ยากยิ่งกว่าเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ข้อนี้อาจอ้างได้ด้วยไม่เกรงคำคัดค้าน เพราะเสนาบดีกระทรวงนครบาลแต่ก่อน มีแต่หน้าที่ในการปกครองรักษาสันติสุขในราชธานีเป็นสำคัญ จนถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต้องรับราชการเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เมื่อแต่งประวัตินี้มีเวลาแต่พอจะจาระไนได้แต่โดยย่อคือ อำนวยการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างประปาและสร้างโรงทำไฟฟ้าหลวงสำหรับใช้ทางฝ่ายเหนือพระนครเป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อขยายภูมิพระนครให้กว้างขวางออกไปในตอนปลายรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้เจ้าพระยายมราชเป็นผู้อำนวยการสร้างถนนและสพานแทบทุกแห่ง ส่วนการปกครองรักษาสันติสุขของพระนครในหน้าที่กระทรวงนครบาลก็ยากยิ่งขึ้นโดยลำดับมาตั้งแต่ก่อนเจ้าพระยายมราชมาเป็นเจ้ากระทรวง เมื่อถึงสมัยของท่านๆ เอาคุณสมบัติที่รู้จักผูกใจคนอันมีประจำตัวมาแต่ก่อนแล้วมาใช้เป็นกำลังได้มาก คือว่าไม่ถือตัวทำภูมิเข้าคนได้ทุกชั้น เป็นต้นแต่ชาวพระนครทุกชาติทุกภาษาใครมีกิจธุระที่จะให้ท่านช่วย ก็ยอมให้ไปหาถึงตัวได้ทั่วหน้าเป็นนิจ การอันใดที่พอจะช่วยได้ก็ช่วยด้วยความเต็มใจและไม่เบียดเบียฬผู้ใด อันเป็นเหตุที่ท่านได้รับไมตรีจิตต์ของคนทั้งหลายพากันนับถือโดยมาก แต่ถ้าว่าโดยทั่วไปเจ้าพระยายมราชได้อาศัยพระเมตตากรุณาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงอุดหนุนโดยไว้วางพระราชหฤทัย เป็นปัจจัยประกอบกับคุณวุฒิของท่าน จึงได้มีเกียรติระบือชื่อเสียงว่าเป็นคนสำคัญคน ๑ ในรัชชกาลที่ ๕

ไปที่เริ่มต้น

การที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตาเจ้าพระยายมราชถึงเพียงใด มีกรณีย์ที่เป็นอุทาหรณ์ จะนำมาแสดงไว้ด้วยครั้งหนึ่งเจ้าพระยายมราชป่วยเป็นไข้ถึงต้องล้มหมอนนอนเสื่อขาดเฝ้าไปหลายวัน โปรดให้มหาดเล็กไปฟังอาการกราบทูลเสมอ พอเจ้าพระยายมราชค่อยคลายป่วยเดินได้เป็นแต่ยังอ่อนเพลีย วัน ๑ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเรือพระที่นั่งยนต์เสด็จไปเยี่ยมเจ้าพระยายมราชถึงบ้านที่บางขุนพรหม ดำรัสว่าอยากจะเสด็จไปเยี่ยมแต่เมื่อแรกเจ็บแต่ขัดอยู่ด้วยราชประเพณี แต่ก่อนมาถ้าเสนาบดีคนใดป่วยจนอาการถึงจะไม่รอดแล้วพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จไปเยี่ยม เสด็จไปเยี่ยมใครคนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่าเสนาบดีคนนั้นจะตาย จะเสด็จเยี่ยมแต่แรกป่วยทรงเกรงจะลือกันว่าเจ้าพระยายมราชจะถึงอสัญกรรมจึงรอมาจนอาการฟื้นแล้วจึงเสด็จไปเยี่ยม แต่การที่เสด็จไปเยี่ยมครั้งนั้นมาเป็นคุณข้อสำคัญแก่เจ้าพระยายมราชเมื่อภายหลัง ด้วยทอดพระเนตรเห็นบ้านเรือนของท่านที่บางขุนพรหมซอมซ่อไม่สมกับเกียรติยศเสนาบดีผู้มีความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานบ้าน ณ ศาลาแดงซึ่งเดิมเป็นบ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แล้วตกเป็นของหลวงและยังว่างอยู่นั้น ให้เป็นสิทธิแก่เจ้าพระยายมราชเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ท่านได้อยู่ต่อมาจนตลอดอายุต่อมาในปีนั้นเองถึงเดือนกรกฎาคม เจ้าพระยายมราชทำบุญฉลองอายุครบ ๔ รอบปี เวลานั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประทับอยู่เมืองเพ็ชร์บุรี ทรงพระกรุณามีลายพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานพรกับของขวัญมายังเจ้าพระยายมราช ดังพิมพ์ไว้ต่อนี้ไป

บ้านปืน เพ็ชรบุรี
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

เจ้าพระยายมราช

พรุ่งนี้จะเป็นวันทำบุญอายุครบ ๔ รอบ อันเป็นที่ผูกใจจำมั่นอยู่นั้น จึงขอจดหมายฉบับนี้ให้พร

ขอให้มีอายุยืนนานปราศจากโรคภัยอันเป็นที่ตั้งแห่งกำลังกายแลกำลังปัญญา ที่จะได้ทำการอันหนักสำหรับน่าที่ ให้สำเร็จตลอดได้

แท้จริงราชการที่เราทำอยู่ด้วยกันบัดนี้ เป็นการที่คนเกิดมาคู่บารมีกันจึ่งจะทำได้เพราะเป็นการยากการหนัก ซึ่งคนสามัญจะเห็นตามให้ตลอดได้ยาก ขอเสี่ยงบารมีของตัวเองให้พรเจ้าพระยายมราช ด้วยเดชความสัตยสุจริตปราถนาดีต่อประชาชนแลชาติภูม ขอให้พรทั้งปวงประสิทธิ์แก่เจ้าพระยายมราชด้วยความสัจอันกล่าวอ้างนี้

ได้ส่งซองบุหรี่มาเป็นของขวัญ ขอให้ไว้เป็นที่หมายน้ำใจแลเป็นสวัสดิมงคลด้วย เทิญ

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(พระราชหัตถ์เลขา)


เจ้าพระยายมราชได้รับพรกับของขวัญที่พระราชทานครั้งนั้นจะมีความชื่นชมยินดีและรู้สึกพระเมตตา กรุณา สักเพียงใดพอจะคาดได้ แต่ไม่มีผู้ใดแม้ตัวเจ้าพระยายมราชเอง ที่จะคาดว่าต่อมาอีกเพียง ๔ เดือนสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าจะประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น เป็นเหตุให้เกิดโศกาลัยทั่วไปทั้งประเทศ

เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีอยู่ ๔ ปีก็สิ้นรัชชกาลที่ ๕ เวลานั้นอายุท่านได้ ๔๘ ปี

ไปที่เริ่มต้น

รูปภาพตอนเป็นเสนาบดีในรัชชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๕๓ (7 รูป)