ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์

ตอนที่ ๒  ประวัติตอนแรกรับราชการ. (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗)

เป็นครูพระเจ้าลูกเธอ๔พระองค
ขุนวิจิตรวรสาส์น

ตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ๔พระองค์
แต่งงาน
หลวงวิจิตรวรสาสน์
พระวิจิตรวรสาสน
เป็นครูของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
คำรำพัน

รูปภาพตอนแรกเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗)

ประเพณีมีมาแต่โบราณ ผู้ได้เคยบวชเป็นพระราชาคณะหรือเป็นเปรียญ ถ้าสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้สึกเมื่ออายุเป็นกลางคนแล้ว ถ้าปรารถนาจะทำราชการก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ เพราะเหตุที่เป็นผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้มากมาแต่เมื่อบวช มักได้เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง หรือกรมอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิตย์ข้าราชการทั้ง ๓ กรมที่กล่าวมาแล้วเป็นพวกเปรียญลาพรต ซึ่งผู้อื่นมักเรียกกันว่า "พวกแก่วัด" หรือว่า "พวกอาราม" ทั้งนั้นก็ว่าได้ เมื่อตั้งโรงเรียนหลวงในรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้เลือกข้าราชการกรมอาลักษณ์มาเป็นครูๆ ในโรงเรียนหลวงก็เป็นแหล่งสำหรับพวกเปรียญลาพรตอีกแห่งหนึ่ง อาศัยประเพณีมีดังกล่าวมาเมื่อข้าพเจ้ากลับลงมารับราชการตามเดิม จึงจัดการให้นายปั้นเปรียญถวายตัวเป็นมหาดเล็ก นับเป็นกำหนดในเรื่องประวัติได้ว่าเจ้าพระยายมราชแรกเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นอายุได้ ๒๒ ปี ส่วนราชการที่จะทำนั้น ในสมัยนั้นข้าพเจ้าสามารถจะหาหน้าที่ให้ท่านได้แต่ ๒ ทาง คือรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กทาง ๑ หรือเป็นครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกทาง ๑ ถามตัวท่านๆ สมัคร์จะรับราชการพลเรือน ข้าพเจ้าจึงส่งให้ไปหัดเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ชั้นแรกได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑๖ บาท แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นครูผู้ช่วย

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปพระราชทานรางวัลนักเรียนในงานประจำปีที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแล้วเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรในโรงเรียนทั่วไป พอพระราชหฤทัยในความเจริญของโรงเรียนนั้นมาก เมื่อเสด็จกลับดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายที่พระชันษาถึงขนาดเข้าโรงเรียนมี ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ (กรมพระจันทนบุรีนฤนาถ) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช) พระองค์ ๑ ให้ข้าพเจ้ารับเอาไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้รับสั่งแล้วมาคิดถึงการที่จะฝึกสอนพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์นั้น เห็นว่าให้นักเรียนรวมกันทั้ง ๔ พระองค์จะดีกว่าให้แยกกันไปเรียนตามชั้นความรู้ในโรงเรียน แต่จะต้องมีครูคน ๑ ต่างหากสำหรับสอนฉะเพาะเจ้านาย ๔ พระองค์นั้น คิดหาตัวผู้ที่จะเป็นครู เห็นว่ามหาปั้น (คือเจ้าพระยายมราช) จะเหมาะกว่าคนอื่น เพราะมีความรู้พอจะเป็นครูได้ ทั้งอัธยาศัยใจคอก็เป็นคนดี ดังได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ขึ้นไปอยู่บางปะอินด้วยกันเมื่อข้าพเจ้าบวช ทั้งในเวลานั้นก็ยังเป็นแต่ครูผู้ช่วย ถึงถอนตัวมาก็ไม่ลำบากแก่การในโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงเลือกมหาปั้นให้มาเป็นครูผู้สอนพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ และจัดห้องเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งต่างหากที่ท้องพระโรงของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งเสด็จประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าพระยายมราชก็ได้เลื่อนที่และได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๔๘ บาท เสมอครูประจำชั้นอื่นๆ ในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งแต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เวลาข้าพเจ้าไปก็แวะไปที่ห้องเรียนของพระเจ้าลูกเธอด้วยเสมอ ในไม่ช้าก็ตระหนักใจว่าคิดถูกทั้งที่ จัดให้พระเจ้าลูกเธอเรียนต่างหากและที่ได้เลือก มหาปั้นมาเป็นครูด้วย สังเกตเห็นเรียนรู้รวดเร็วเพราะเรียนด้วยกันแต่ ๔ พระองค์ ฝ่ายมหาปั้นก็ฉลาดในการสอนทั้งวางตัวต่อพระเจ้าลูกเธอเหมาะดีคือไม่เหลาะแหละอย่างว่า "ประจบลูกศิษย์" แต่ก็ไม่วางตัวข่มเกินไป พระเจ้าลูกเธอทรงเคารพยำเกรงและโปรดมหาปั้นสนิทสนมหมดทุกพระองค์ ต่อมาภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ (กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) เสด็จไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอีกพระองค์ ๑ ก็ได้เรียนต่อเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยเป็นยุติมานานแล้ว ว่าบรรดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายเมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้วจะโปรดฯ ให้ไปเรียนวิชาความรู้ถึงยุโรปทุกพระองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ กรมพระจันทนบุรีฯ กับกรมหลวงราชบุรีฯ พระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่ากรมหลวงปราจีณฯ กับกรมหลวงนครชัยศรีฯ พระชันษาอ่อนกว่าเพียงปีหนึ่งสองปีและได้ทรงเล่าเรียนอยู่ด้วยกันแล้ว จึงโปรดฯ ให้ทำพระราชพิธีโสกันต์และทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๑๕ วันด้วยกันทั้ง ๔ พระองค์ แล้วโปรดฯ ให้พระยาชัยสุรินทร (ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ) เป็นผู้พาไปส่งยังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ (เวลานั้นยังเป็นกรมหมื่น) ซึ่งเป็นอัคราชทูตสยามอยู่ ณ กรุงลอนดอน ให้ทรงจัดการเล่าเรียนต่อไป (แต่กรมหลวงชุมพรเวลานั้นพระชันษาเพียง ๖ ขวบจึงมิได้เสด็จไปด้วย) เมื่อจะส่งพระเจ้าลูกเธอไปยุโรปครั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่าพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมาเพียงปีเดียว ถ้าทิ้งหนังสือไทยก็จะลืมเสีย จึงดำรัสสั่งข้าพเจ้าให้หาครูไปยุโรปกับพระเจ้าลูกเธอสักคน ๑ การเลือกก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องหาใครอื่น เพราะมีเหมาะแต่เจ้าพระยายมราชคนเดียว โดยได้เป็นครูและคุ้นเคยสนิทสนมกับพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์อยู่แล้ว ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิให้ "นายปั้นเปรียญ" เป็นที่ "ขุนวิจิตรวรสาส์น" มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ (แผนกครู) เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยุโรป เรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชตอนนี้คิดดูก็ชอบกลอีก ถ้าหากท่านสมัครรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กก็ดี หรือเมื่อสมัครไปเป็นครูแล้วแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมิได้โปรดส่งพระเจ้าลูกเธอไปเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ดี หรือที่สุดถ้ามิได้ทรงพระราชดำริจะให้มีครูหนังสือไทยไปยุโรปกับพระเจ้าลูกเธอก็ดี เจ้าพระยายมราชก็คงจะมิได้มีโอกาสออกไปหาคุณวิเศษเพิ่มขึ้นที่ในยุโรป พฤตติการชวนให้เห็นว่าผลบุญส่งท่านไปยังโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเหมือนอย่างที่เคยส่งท่านเข้ามาจากเมืองสุพรรณอีกครั้ง ๑ น่าพิศวงอยู่

ไปที่เริ่มต้น

ตั้งแต่เจ้าพระยายมราชไปยุโรปอยู่ห่างกับตัวข้าพเจ้า ได้แต่มีจดหมายไปมาถึงกัน เรื่องประวัติตอนนี้ต้องเขียนตามความเห็นจดหมายเหตุและได้ยินคนอื่นเล่าโดยมาก เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จไปถึงกรุงลอนดอน กรมพระนเรศทรงหาบ้านแห่งหนึ่งให้ประทับอยู่ด้วยกัน เจ้าพระยายมราชกับนายสิบทหารมหาดเล็ก ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าเลือกไปเป็นพี่เลี้ยงก็อยู่ด้วยกันที่บ้านนั้น ส่วนการเรียนของพระเจ้าลูกเธอนั้นกรมพระนเรศทรงหาครูฝรั่งคน ๑ มาสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลาเสมอทุกวัน เวลาว่างเรียนภาษาอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็สอนภาษาไทยถวาย เล่ากันว่าเจ้าพระยายมราชชักเงินเดือนของตนเองไปจ้างครูสอนภาษาอังกฤษแก่ตัวท่านด้วย ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ด้วยเวลาเมื่อแรกไปยังได้เงินเดือนน้อยนัก น่าจะเรียนต่อตอนเมื่อได้มีตำแหน่งในสถานทูตรับเงินเดือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ข้อที่เจ้าพระยายมราชเรียนภาษาอังกฤษด้วยทุนของท่านเองและพยายามเรียนจนรู้ภาษาอังกฤษ อีกภาษาหนึ่งนั้นเชื่อได้ว่าเป็นความจริง พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์เสด็จอยู่ลอนดอนได้ไม่ช้านัก เห็นจะราวสักปี ๑ กรมพระนเรศก็เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แต่นั้นเจ้าพระยายมราชก็เป็นทั้งครูและเป็นพระอภิบาลเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียจะฉลองรัชชกาลครบ ๕๐ ปี เป็นงานใหญ่ เชิญเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปช่วยงานด้วยกันกับพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ แต่ยังขัดข้องจะเสด็จไปเองไม่ได้ จึงโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรประการ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น แต่เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแล้ว) เสด็จไปแทนพระองค์ ข้าพเจ้าเคยได้ยินจะเป็นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศตรัสเล่า หรือใครบอกก็ลืมไปเสียแล้ว ทรงทราบว่าพระเจ้าลูกเธอไม่สบายพระหฤทัยด้วยคิดถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระญาติวงศ อยากจะกลับมาเยี่ยมบ้านเมืองสักครั้ง ๑ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศสงสาร และทรงพระดำริเห็นว่าการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกเธอในชั้นนั้นก็ยังเป็นแต่ให้ครูไปรเวตมาสอนที่บ้าน ถึงแม้จะกลับมากรุงเทพฯ ถ้าให้ครูมาด้วยก็จะไม่เสียประโยชน์ในการเรียน จึงมีโทรเลขเข้ามากราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ เสด็จกลับมาชั่วคราวตามพระประสงค์ เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศเสร็จราชการในยุโรปแล้ว จึงพาพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์กลับมากรุงเทพฯ ทางทวีปอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น เจ้าพระยายมราชก็ตามเสด็จกลับมาด้วย มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๑ เจ้าพระยายมราชได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ เป็นบำเหน็จครั้งแรก ถึงเวลานั้นหม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนซึ่งได้เคยอุปการะมาแต่ก่อนเห็นจะสิ้นชีพตักไสยแล้ว ยังเหลือแต่หม่อมราชวงศหญิงเขียนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกอกน้อย เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาก็ยังมีความอารีชวนท่านไปพักอยู่ที่บ้าน เจ้าพระยายมราชได้เคยพาหม่อมราชวงศหญิงเขียนมาหาข้าพเจ้า เป็นคนสูงอายุกว่า ๖๐ ปีแล้ว ดูเจ้าพระยายมราชเคารพนับถืออย่างเป็นผู้ใหญ่ ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเป็นเจ้าพระยายมราชอยู่ที่จวนตำบลศาลาแดง ข้าพเจ้าไปหาได้พบหม่อมราชวงศหญิงเขียนอยู่ที่นั่น ไต่ถามได้ความว่าเมื่อหม่อมราชวงศหญิงเขียนแก่ชราลงอยู่ที่บ้านเดิมมีความอัตคัดขัดสน เจ้าพระยายมราชจึงไปรับมาเลี้ยงดูอุปถากสนองคุณให้มีความสุขสบายและต่อมาเมื่อถึงแก่กรรมก็ปลงศพให้ด้วย

เมื่อพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมากรุงเทพฯ แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ไปเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าอย่างแต่ก่อนการเรียนตอนนี้ ผิดกับแต่ก่อนเพียงแบ่งเวลาให้ครูอังกฤษสอนครึ่งวันเจ้าพระยายมราชสอนครึ่งวัน ส่วนตัวเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าก็กลับใกล้ชิดไปมาหาสู่กันเสมอเหมือนอย่างแต่ก่อน และยังไม่มีกำหนดว่าจะโปรดให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปอีกเมื่อใด การที่เจ้าพระยายมราชได้กลับมากรุงเทพฯ ครั้งนั้นเป็นคุณแก่ตัวท่านโดยมิได้คาดหลายอย่าง จะกล่าวแต่ฉะเพาะที่เป็นข้อสำคัญคือ เมื่อเดินทางมาด้วยกันกับสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศฯ ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยตระหนักพระหฤทัยว่าเป็นผู้มีความรู้และอัธยาศัยดีก็ทรงพระเมตตากรุณา เป็นเหตุให้ทรงเกื้อหนุนดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า แต่ข้อที่เป็นคุณอย่างสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติของท่านนั้น คือที่มาได้ภรรยาดี เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะเล่าได้ด้วยความรู้เห็นของตนเอง

เมื่อเจ้าพระยายมราชกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ราวสัก ๒ เดือนวันหนึ่งท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าใคร่จะมีภรรยาให้เป็นหลักแหล่ง ท่านทราบว่าพระยาชัยวิชิต (นาก ณป้อมเพ็ชร์ เวลานั้นยังเป็นพระยาเพชดา) มีลูกสาว ถ้าข้าพเจ้าไปขอให้ท่านบิดาเห็นจะไม่ขัดเพราะเคยเมตตากรุณาแต่เมื่ออยู่ลอนดอนด้วยกัน (เมื่อพระยาชัยวิชิตยังเป็นหลวงวิเศษสาลีได้ ตามเสด็จกรมพระนเรศไปเป็นเลขานุการในสถานทูต) ข้าพเจ้าแต่งคนไปทาบทามก็ดูเหมือนจะให้ แต่ข้าพเจ้านึกลำบากใจด้วยตัวเองยังเป็นหนุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าบ่าว จะวางตัวเป็นเถ้าแก่ดูกะไรอยู่ จึงแนะให้ไปไหว้วานมารดาของข้าพเจ้าให้เป็นเถ้าแก่ขอสู่ เพราะท่านก็เคยคุ้นกับพระยาชัยวิชิตพอจะพูดกันได้ เจ้าพระยายมราชไปบอกมารดาท่านก็ยินดีรับจะไปขอให้ตามประสงค์ ด้วยท่านเมตตาปราณีเจ้าพระยายมราช มาตั้งแต่ไปอยู่วัดนิเวศด้วยกันกับข้าพเจ้า ท่านจึงชวนข้าพเจ้าไปขอนางสาวตลับ ธิดาคนใหญ่ของพระยาชัยวิชิตให้แก่ขุนวิจิตรวรสาส์น พระยาชัยวิชิตก็ยิ้มแย้มยอมยกให้ด้วยความยินดีว่าได้เคยคุ้นกับขุนวิจิตรวรสาส์น เห็นว่าเป็นคนดีพอจะวางใจให้ลูกสาวได้ แต่เมื่อตกลงกันจนถึงไต้ลงมือปลูกเรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิตที่บางขุนพรหม แล้วมีความลำบากเกิดขึ้นด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงกำหนดเวลาให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับไปยุโรปใกล้ๆ กับวันฤกษ์ที่จะแต่งงาน ข้าพเจ้าทราบก็ตกใจเกรงพระยาชัยวิชิตจะไม่ยอมให้แต่งงาน เพราะแต่งแล้วกลัวขุนวิจิตรวรสาส์นจะต้องทิ้งลูกสาวของท่านไปเสีย จึงรีบไปปรึกษาพระยาชัยวิชิตว่าจะทำอย่างไรดี แต่พระยาชัยวิชิตไม่ตกใจกลับยิ้มแย้มตอบว่า "ถ้าเช่นนั้นให้เขาไป ฮันนีมูน (คือประเพณีฝรั่งพากันไปเที่ยวเมื่อแรกแต่งงาน) ก็แล้วกัน" จึงคงได้แต่งงานตามฤกษ์ที่กำหนดไว้

เมื่อเจ้าพระยายมราช แต่งประวัติท่านผู้หญิงตลับได้พรรณาถึงการพิธีที่ทำเมื่อแต่งงานพิสดาร ว่าเริ่มด้วยพิธีสงฆ์สวดมนต์และฉันที่เรือนหอ (จะเพิ่มอธิบายสักหน่อย ว่าสวดมนต์เลี้ยงพระนั้นเป็นพิธีสำหรับขึ้นอยู่เรือนใหม่ต่างหาก ส่วนการแต่งงานสมรสนั้นพระสงฆ์หาเกี่ยวข้องไม่) ส่วนการพิธีทางฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ท่านเล่าว่าได้เชิญพระยาเจริญราชไมตรี (ชื่น ศรีเพ็ญ) กับคุณหญิงจันทเจริญราชไมตรีเป็นผู้ปูที่นอน ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพิธีปูที่นอนบ่าวสาวแทรกลงตรงนี้สักหน่อย เพราะเกี่ยวถึงเรื่องประวัติของเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเมื่อภายหลัง

อันคู่ผัวเมียซึ่งสมควรจะเป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาวนั้น ต้องทรงคุณสมบัติประกอบกันหลายอย่าง เป็นต้น แต่ต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างเป็นคู่ผัวตัวเมียมาแต่ยังเป็นหนุ่มสาว จนแก่ด้วยกันอย่าง ๑ อยู่เป็นสุขสำราญร่วมใจกันมามิได้ร้าวฉานอย่าง ๑ สามารถตั้งตัวได้เป็นหลักฐานและมีบุตรธิดาที่จะสืบสกุลวงศอย่าง ๑ และเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมด้วยอย่าง ๑ ถ้าว่าโดยย่อคือผู้ซึ่งทรงคุณสมควรจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่บ่าวสาวเมื่ออยู่ด้วยกันต่อไป ผู้ปกครองทั้ง ๒ ฝ่ายจึงปรึกษาหาคู่ผัวเมียซึ่งทรงคุณเช่นว่ามาเป็นผู้ปูที่นอนและประสิทธิพรให้คุณสมบัติของตนแก่บ่าวสาว ก็แต่คู่ผัวเมียซึ่งสมบูรณ์คุณสมบัติเช่นนั้นหายาก บางคู่มีคุณอย่างอื่นบริบูรณ์แต่ผัวกลัวเมียเกินขนาด ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าบ่าวก็มักรังเกียจ ถ้าผู้ผัวมีเมียน้อยผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวก็มักรังเกียจ เมื่อเลือกจึงต้องปรึกษาหารือให้พร้อมใจกันว่าจะเชิญคู่ไหน ส่วนผู้ที่ได้รับเชิญก็ย่อมรับทำให้ด้วยความยินดี เพราะเหมือนกับได้รับความยกย่องของมหาชนว่าเป็นผู้ทรงความดีอันควรเป็นที่นับถือ แต่ก็มีเสี่ยงภัยอยู่บ้าง แม้ผัวเมียคู่นั้นไปเกิดแตกร้าวกันขึ้นเมื่อภายหลังเขาก็ไม่มีเชิญอีกต่อไป คล้ายกับถูกถอด หรือคู่ใดถึงความตายไปคนหนึ่ง คนที่ยังอยู่ก็ไม่ได้รับเชิญอีก เปรียบเหมือนถูกปลดขาดจากหน้าที่ ด้วยเหตุเหล่านี้คู่ผัวเมียซึ่งคนชอบเชิญปูที่นอนบ่าวสาวในสมัยหนึ่งจึงไม่มีมากนัก

อนึ่งการปูที่นอนบ่าวสาวนั้นมีแบบพิธีมาแต่โบราณ ผู้จะปูที่นอนบ่าวสาวต้องเรียนให้รู้ตำราด้วย เมื่อแต่งงานเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นพิธีปูที่นอน เพราะไปรดน้ำเมื่อตอนบ่าย พิธีปูที่นอนเขาทำต่อเวลาค่ำราว ๒๑ นาฬิกา มาได้เห็นพิธีนั้นเป็นครั้งเมื่อแต่งงานหม่อมเจ้าจุลดิศลูกชายใหญ่ของข้าพเจ้ากับนางสาวแช่ม เปาโรหิต (น้องเจ้าพระยามุขมนตรี อวบ) ทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมใจกันเชิญพระยาพฤฒาธิบดี (ปลอด) กับคุณหญิงหนูพฤฒาธิบดี อายุกว่า ๖๐ ปี แล้วทั้ง ๒ คนเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาว เมื่อถึงเวลาจะทำพิธี ข้าพเจ้ากับพวกญาติเข้าไปนั่งคอยดูอยู่ในห้องนอนหลายคน นั่งอยู่กับพื้นด้วยกันทั้งนั้น พอถึงเวลาเริ่มการพิธี พระยาพฤฒาก็ลุกขึ้นยืนร้องถามข้อความต่างๆ และมีทนายคอยตอบ จะเรียงคำตามที่ยังจำได้ดังนี้

พระยาพฤฒา      "ถึงฤกษ์ดีหรือยัง"
ทนาย       "ถึงแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒา       "นายบุญมั่นมาแล้วหรือยัง"
ทนาย       "มาแล้วขอรับ"
พระยาพฤฒา       "ก็นายบุญคงเล่า มาแล้วหรือยัง"
ทนาย       "มาแล้วขอรับ"

แล้วถามถึงคนที่ชื่อเป็นสวัสดิ์มงคลอย่างอื่นต่อไปอีกสักสามสี่คน ทนายก็รับว่ามาแล้วทุกครั้ง เมื่อถามเสร็จแล้วพระยาพฤฒาลงนั่งหันหน้าไปพูดกับคุณหญิงหนู ว่า "ถึงฤกษ์ดีแล้วผู้จะมาช่วยอำนวยพรก็มาพร้อมกันแล้ว เรามาช่วยกันปูที่นอนให้เถิดแม่หนู" ว่าแล้วก็ช่วยกันปูที่นอนจนเรียบร้อย แล้วพระยาพฤฒากับคุณหญิงหนูก็ขึ้นไปนั่งเคียงกันบนที่นอนหันหน้าไปทางข้างหัวนอน ไหว้พระสวดมนต์ด้วยกันสักครู่หนึ่ง พอจบแล้วก็ลงนอนเคียงกันบนที่นอน ให้พรบ่าวสาวเป็นคำสนทนากันและกันเป็นทำนองดังนี้

พระยาพฤฒา       ที่นอนน่านอน ใครนอนเห็นจะอยู่เย็นเป็นสุขสบายอายุยืนนะแม่หนู
คุณหญิงหนู        สบายนักคะ ถ้าใครนอนที่นอนนี้คงจะเกิดทรัพย์สินมากมูลพูนเขา มีลูกเต้าน่ารักน่าชม

ให้พรโดยกระบวรสนทนาเช่นนี้อีกหลายอย่างจนจบบทให้พรแล้ว นอนหลับตานิ่งเหมือนกับหลับอยู่สักครู่หนึ่งก็ลุกลงจากเตียงเป็นเสร็จการพิธี

ต่อมาอีกหลายปี เมื่อเจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีแล้วข้าพเจ้าจะแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพบุตรข้าพเจ้ากับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ ในพระองค์เจ้าพร้อมพงศอธิราช ข้าพเจ้าได้ยินว่าในสมัยนั้นมีผู้เชิญเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับปูที่นอนบ่าวสาวอยู่บ้างแล้ว จึงเชิญท่านๆ ก็รับ ครั้นถึงวันแต่งงานเวลาจะปูที่นอน ข้าพเจ้าอยากดูการพิธีเหมือนเมื่อครั้งชายใหญ่แต่งงาน ก็เข้าไปนั่งคอยดูอยู่ด้วยกันกับพวกญาติที่ในห้องนอนเจ้าพระยายมราชเข้าไปตรวจตราเครื่องที่นอนด้วยกันกับท่านผู้หญิงตลับแล้ว มาพูดแก่ข้าพเจ้าว่าการที่ทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวท่านอยากทำให้เป็นศิริมงคลด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ ถ้ามีคนคอยดูทำให้ใจคอฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิ เห็นว่าคล้ายกับเล่นละคอนหาเป็นมงคลจริงๆ ไม่ ข้าพเจ้าเกรงใจท่านก็ชวนกันออกมาเสียจากห้อง พอคนออกหมดแล้วท่านก็ปิดประตูลงกลอน เหลืออยู่ในห้องแต่ตัวท่านกับท่านผู้หญิงตลับ ๒ คนเท่านั้น จนเสร็จการพิธีจึงเปิดประตูออกมาข้างนอก การทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวในชั้นหลังมาได้ยินว่าผู้ปูที่นอนไม่ยอมให้ใครดูเหมือนอย่างครั้งนั้น จะได้แบบของเจ้าพระยายมราชไป หรือท่านจะได้แบบมาจากใคร ข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับได้มีเกียรติในการรับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวสืบมาช้านาน

พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์เสด็จกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ ๑๐ เดือน ถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๑ ประจวบกับเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ซึ่งในเวลานั้นเป็นตำแหน่งผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือเสด็จตรวจการในยุโรปจึงโปรดให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์พาพระเจ้าลูกเธอกลับไปส่งยังประเทศอังกฤษด้วย เสด็จไปครั้งนี้เดินทางตามระยะที่พระองค์เจ้าสายฯ ได้กะไว้สำหรับพระองค์ท่านเอง ไปทางเมืองพม่าและอินเดียก่อนแล้วจึงไปลงเรือเมล์ที่เมืองบอมเบไปยุโรป เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกเธอได้ทอดพระเนตรเห็นบ้านเมืองของชนชาติต่างๆ หลายเมือง กระบวรส่วนพระองค์พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปครั้งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงไปเหมือนครั้งก่อน มีแต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับเท่านั้น แต่เจ้าพระยายมราชได้รับพระกรุณาของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ทรงอุดหนุนด้วยกราบบังคมทูลขอให้เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตที่กรุงลอนดอนได้เงินเดือนมากขึ้น เมื่อไปถึงลอนดอนจึงสามารถหาบ้านที่อยู่ต่างหาก เพราะมีภรรยาไปด้วยจะอยู่บ้านเดียวกับพระเจ้าลูกเธออย่างแต่ก่อนไม่สมควร ถึงสมัยนี้เจ้าพระยายมราชอาจทำราชการได้ทั้งที่สถานทูตและที่พระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ เพราะทรงชำนิชำนาญหนังสือไทยมากแล้ว เป็นแต่ต้องแนะนำให้ทรงหนังสือเรื่องต่างๆ แต่เมื่อเจ้านายไม่มีพี่เลี้ยงไทยอยู่ด้วยดังแต่ก่อนเจ้าพระยายมราชก็ต้องเอาเป็นธุระในการส่วนพระองค์มากขึ้นแม้เวลาพระองค์ใดประชวรก็ไปอยู่ดูและรักษาพยาบาลจนกว่าจะหาย ฝ่ายท่านผู้หญิงตลับก็ไปด้วยช่วยทำการต่างๆ ถวายพระเจ้าลูกเธอ เช่น ทำเครื่องอย่างไทยให้เสวยเป็นต้น ความรักใคร่ในระหว่างพระเจ้าลูกเธอกับเจ้าพระยายมราชจึงสนิทสนมอยู่ตามเคยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด เจ้าพระยายมราชเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานทูตอยู่ไม่ช้านักก็ได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๒ เต็มตำแหน่ง

ไปที่เริ่มต้น

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมตอบแกรนยุ๊กซาเรวิช รัชชทายาทประเทศรุสเซีย (ซึ่งต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าซานิโคลาสที่ ๒) ที่ได้เสด็จมากรุงเทพฯ เมื่อปีก่อน และโปรดให้ข้าพเจ้าไปยังราชสำนักประเทศอื่นๆ เพื่อถวายเครื่องราชอิศริยาภรณ์บ้าง เพื่อกิจการอย่างอื่นบ้างอีกหลายอย่าง เมื่อไปครั้งนั้นโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าเชิญสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนวิจิตรวรสาสน์ (คือเจ้าพระยายมราช) ขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาสน์ไปพระราชทานด้วย นอกจากนั้นยังมีกิจที่เกี่ยวกับพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ คือ กรมหลวงราชบุรีสอบความรู้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว โปรดให้ข้าพเจ้าพาไปส่งยังวิทยาลัยไคลสต์เชิชในมหาวิทยาลัยออกสฟอดด้วย ส่วนกรมหลวงนครชัยศรีนั้น มีพระราชประสงค์จะให้ไปเรียนวิชาทหารบกในประเทศเดนมาร์ก ด้วยสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนที่ ๙ (พระอัยกาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ ตรัสรับว่าจะทรงอุปการะให้ได้เรียนดังพระราชประสงค์ จึงโปรดให้ข้าพเจ้าพากรมหลวงนครชัยศรีไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กด้วย เมื่อข้าพเจ้าไปถึงลอนดอนยินดีอย่างยิ่งด้วยไปได้พบกับพระเจ้าลูกเธอและเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ เวลานั้นท่านผู้หญิงตลับมีลูกแล้ว ๒ คน บุตรคนหัวปีชื่อ สวาท (คือพระยาสุขุมนัยวินิตเดี๋ยวนี้) คน ๑ ธิดาชื่อไสว (แต่เมื่อกลับมากรุงเทพฯ มาถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเด็ก) คน ๑ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สถานทูต พระเจ้าลูกเธอเสด็จมาหาและพาไปเที่ยวเนืองๆ ทั้งเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับก็หมั่นไปมาหาสู่ ข้างฝ่ายข้าพเจ้ามักไปที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอและที่บ้านเจ้าพระยายมราชเนืองๆ เป็นเริ่มแรกที่ข้าพเจ้าจะได้คุ้นกับท่านผู้หญิงตลับมาแต่ครั้งนั้น

เมื่อข้าพเจ้าได้เฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้ส่งกรมหลวงราชบุรีเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็พากรมหลวงนครชัยศรีออกจากประเทศอังกฤษ และให้เจ้าพระยายมราชไปในตำแหน่งเป็นเลขานุการของข้าพเจ้าเพื่อจะได้เป็นเพื่อนกรมหลวงนครชัยศรีด้วยไปพักอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสหน่อยหนึ่งแล้วชวนพระยาสุริยานุวัติ (เกิด บุนนาค) เวลานั้นยังมียศเป็นพระและเป็นอุปทูตอยู่ประเทศฝรั่งเศสคน ๑ กับมิสเตอร์ไวก ที่ปฤกษาในสถานทูตที่ปารีสอีกคน ๑ ไปด้วย ไปยังกรุงโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์กก่อน เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนเสด็จไม่อยู่เจ้ารัชชทายาท (คือสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริค พระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้) เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ทรงรับรองเลี้ยงดู ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าเมื่อสมเด็จพระราชบิดาจะเสด็จไปประเทศรุสเซียได้ดำรัสสั่งไว้ให้บอกข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าก็จะไปสู่ราชสำนักในรุสเซียจะได้พบพระองค์ ณ ที่นั้น ถ้าพากรมหลวงนครชัยศรีไปถวายที่นั่นก็จะทรงยินดี เพราะฉะนั้นกรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชจึงได้ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าอีกหลายประเทศออกจากรุงโคเปนเฮเกนไปยังกรุงเบอรลิน แต่ที่กรุงเบอรลินกรมหลวงนครชัยศรีเสด็จไปเป็นอย่างไปรเวต ข้าพเจ้าถวายเครื่องราชอิศริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าไกเซอวิลเฮมที่ ๒ แล้วขึ้นรถไฟออกจากกรุงเบอรลินไปยังประเทศรุสเซีย ลงจากรถไฟที่เมืองโอเดสซาริมทะเลดำแล้วลงเรือกำปั่นไฟของหลวงไปยังพระราชวังลิวาเดียอันเป็นที่ประทับในระดูร้อน โปรดให้ไปอยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เวลานั้นมีเจ้านายไปประชุมกันอยู่ที่ลิวาเดียมากในพระราชวงศ์รุสเซียมีสมเด็จพระเจ้าซาอเล็กซานเดอที่ ๒ กับสมเด็จพระราชินีมารีเป็นประมุข ลูกก็เสด็จอยู่ที่นั่นทุกพระองค์คือ ซาเรวิช แครนดยุกยอช แครนดัชเชสเซเนีย แครนดยุกไมเคล แครนดัชเชสออลคา และแครนดยุก อเล็กซาเดอซึ่งจะเป็นราชบุตรเขย เจ้านายในวงศ์เดนมาร์กคือ สมเด็จพระเจ้าคฤศเตียนและสมเด็จพระราชินีหลุยส์ เจ้านายราชวงศ์อังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา (เวลานั้นยังเป็นปรินเซสออฟเวลส์) เจ้าหญิงวิกตอเรีย เจ้าหญิงหมอด (ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระราชินีประเทศนรเว) เวลาเสวยกลางวันเสวยด้วยกันแต่เจ้านาย วันหนึ่งพอเวลาเสวยแล้วสมเด็จพระเจ้าซาร์ดำรัสให้แครนดยุกไมเคลราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งยังเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับกรมหลวงนครชัยศรียังทรงเครื่องกลาสีอยู่ ให้พากรมหลวงนครชัยศรีลงไปเล่นด้วยกันที่ในสวน พอลงไปถึงแครนดยุกไมเคลก็กรากเข้าเล่นปล้ำตามประสาเด็ก กรมหลวงนครชัยศรีของเราก็แววดีใจหาย แทนที่จะกระดากกระเดื่อง เขาปล้ำก็ปล้ำกับเขาบ้าง เล่นกันสนุกสนานอยู่ในสวน สมเด็จพระชนกชนนียืนทรงพระสรวลทอดพระเนตรอยู่ทั้ง ๒ พระองค์ เวลาค่ำเสวยพร้อมกันทั้งเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ รวมเบ็ดเสร็จทั้งพวกกว่า ๕๐ คน เมื่อกลับจากลิวาเดียสมเด็จพระเจ้าซาร์โปรดให้เรือไฟพระที่นั่งลำใหญ่รับข้ามทะเลดำมาส่งที่กรุงคอนสะแตนติโนปัล (เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอิสตัมบูล) ราชธานีของประเทศเตอรกี ชรอยสมเด็จพระเจ้าอับดุลฮามิดสุลต่านเตอรกีจะได้ทรงทราบถึงการรับรองพวกเราในประเทศรุสเซียจึงโปรดให้รับเข้าไปอยู่ในพระราชวังยิลดิส อันเป็นที่เสด็จประทับด้วยกันทั้งนั้น และทรงแสดงพระเมตตาปราณีมาก เมื่อจะมาจากเตอรกีก็ตรัสห้ามมิให้มาเรือเมล์ โปรดให้เรือกำปั่นไฟหลวงมาส่งจนถึงกรุงแอเธนราชธานีประเทศครีซ สมเด็จพระเจ้ายอชที่ ๑ (องค์พระอัยกาของสมเด็จพระเจ้ายอชที่ ๒ ซึ่งเสวยราชย์อยู่บัดนี้) ก็โปรดรับให้อยู่ในพระราชวังด้วยกันทั้งหมด เห็นจะเป็นด้วยมีพระราชประสงค์จะตอบแทนพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงรับเจ้ายอชราชโอรสซึ่งเข้ามากรุงเทพฯ ด้วยกันกับแครนยุกซารวิชออกจากประเทศครีซมายังกรุงโรมในประเทศอิตาลี ตอนนี้กรมหลวงนครชัยศรีเสด็จเป็นอย่างไปรเวตเหมือนอย่างไปกรุงเบอรลินเมื่อข้าพเจ้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอุมเบิต และไปเที่ยวชมเมืองฟลอเรนศ์กลับมาถึงเมืองเนเปอล์ เป็นอันเสร็จราชการที่ข้าพเจ้าไปยุโรปแล้วก็ต้องแยกกัน กรมหลวงนครชัยศรีกับเจ้าพระยายมราชกลับไปกรุงลอนดอน พระยาสุริยานุวัติ กับมิสเตอร ไวก กลับไปกรุงปารีส ฝ่ายข้าพเจ้าก็ลงเรือกลับมาจากยุโรป มาแวะดูประเทศอียิปต์และอินเดียราว ๒ เดือนตามได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่เจ้าพระยายมราชได้ไปประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยกันกับข้าพเจ้าครั้งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านมาก นอกจากได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ในประเทศที่ไป ท่านได้ความคุ้นเคยเข้าสมาคนชั้นสูงในยุโรปทั้งได้เห็นขนบธรรมเนียมในราชสำนักต่างๆ ได้ประโยชน์เหล่านั้นเหมาะกับเวลา พอท่านกลับไปถึงกรุงลอนดอนไม่ช้า สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ก็กราบบังคมทูลขอให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเลขานุการชั้นที่ ๑ ในสถานทูต ต่อมาได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่พระวิจิตรวรสาสน์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ด้วย ถึงตอนนี้ทั้งตัวท่านและท่านผู้หญิงตลับได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียและได้รับเชิญเข้ากับหมู่ทูตต่างประเทศเวลามีงานต่างๆ เนืองนิจ

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จออกไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ เจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นพระครูสอนหนังสือไทยถวายเมื่อตอนแรกเสด็จออกไปถึง จนเจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากูล) แต่ยังเป็นที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ออกไปเปลี่ยน

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นสิ้นเขตต์ที่เจ้าพระยายมราชเป็นครูและเป็นพระอภิบาลพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์ ด้วยทรงพระเจริญวัยเสด็จแยกย้ายกันไปเรียนฉะเพาะอย่างตามต่างประเทศมิได้อยู่รวมกันเหมือนแต่ก่อน กรมพระจันทบุรีเสร็จการเล่าเรียนจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก่อนพระองค์อื่น จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช เมื่อยังเป็นที่พระวิจิตรวรสาสน์กลับมาพร้อมกันกับกรมพระจันทบุรี ท่านผู้หญิงตลับกับบุตรธิดา ๒ คนก็กลับมาด้วยมาอยู่ที่เรือนหอในบ้านพระยาชัยวิชิต ณ ตำบลบางขุนพรหม ต่อมาเมื่อพระยาชัยวิชิตถึงอนิจกรรมท่านผู้หญิงตลับได้รับมรดกบ้านนั้นก็อยู่ด้วยกันเป็นหลักแหล่งต่อมาจนถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๕ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านศาลาแดงด้วยเหตุดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เจ้าพระยายมราชได้เป็นครูพระเจ้าลูกเธอ ๔ พระองค์อยู่ในกรุงเทพฯ ปี ๑ อยู่ในยุโรป ๙ ปี รวมเป็น ๑๐ ปี ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความรักใคร่กันสนิทสนมยิ่งขึ้นโดยลำดับมา แม้เมื่อพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์เสด็จกลับเข้ามารับราชการได้เป็นต่างกรมถึงชั้นกรมพระและกรมหลวงและเจ้าพระยายมราชก็ได้เป็นเสนาบดีแล้วเวลาเจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับท่านยังเรียกว่า "ครู" ติดพระโอษฐอยู่อย่างเดิมหาเปลี่ยนเรียกว่า "เจ้าคุณ" ไม่ ผู้ที่เคยได้ยินก็เห็นจะยังมีอยู่มาก ฝ่ายข้างเจ้าพระยายมราชก็รักใคร่อยู่อย่างเดิมไม่เสื่อมคลาย เมื่อท่านเขียนคำไว้อาลัยพิมพ์ในงานศพท่านผู้หญิงตลับในรัชชการที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ยังหวนพิไรรำพันถึงพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๔ พระองค์ แล้วรำพันต่อไปถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่านจับใจน่าสงสาร จึงคัดตอนที่กล่าวนั้นมาพิมพ์ด้วย

คำรำพันของเจ้าพระยายมราช

ข้าพเจ้าเคยถวายพระอักษรพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถฯ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิติบดี และกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช แต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระตำหนักเดิมสวนกุหลาบ เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศยุโรป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าตามเสด็จไปอยู่ด้วยถึง ๙ ปี แม่ตลับไปทีหลังอยู่ ๖ ปี ท่านทั้ง ๔ พระองค์ทรงพระเมตตาสัญญากับข้าพเจ้าไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าตายท่านจะช่วยกันทรงเผาผี จะมิให้บุตรภรรยาต้องวุ่นวาย ข้าพเจ้านึกดีใจมาก และหวังเต็มที่ว่าอย่างไรๆ ก็คงไม่พลาด เพราะถึง ๔ พระองค์ด้วยกัน และบางพระองค์ก็เท่ากับว่าได้ทรงเริ่มต้นบ้างแล้วคือเวลาข้าพเจ้าป่วยทรงพระอุสาหะเสด็จมาพยาบาล แต่อนิจจายังไม่ทันไรท่านมาสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนข้าพเจ้าหมดแล้ว โดยพระชนพรรษายังน้อยอยู่ทั้งนั้น แทนที่ท่านจะทรงเผาผีข้าพเจ้าๆ กลับต้องถวายพระเพลิงพระศพท่าน และรับอัฏฐิท่านด้วยความเศร้าสลดใจเสียอีก ในกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นพระองค์สุดท้าย ยังซ้ำทรงไว้อาลัยให้คิดถึงมากขึ้น คือ ทั้งในกรมหลวงราชบุรีและในกรมพระจันทบุรี เมื่อจะเสด็จไปรักษาพระองค์ยังเมืองนอก ข้าพเจ้าไปส่งเวลาจะทรงอำลา รับสั่งแก่ข้าพเจ้าเป็นลางว่า "บางทีครูจะไม่ได้เห็นฉันอีก" รับสั่งอย่างเดียวกันทั้ง ๒ พระองค์ เวลาก็ห่างไกลกันหลายปี แล้วก็ไม่ได้กลับมาเห็นกันอีกจริงๆ ดังนี้ ใช่แต่เท่านั้นยังมีเครื่องปลงอีก คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ได้เคยมีพระราชกระแสร์รับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า "ฉันก็เคยเป็นศิษย์เจ้าพระยายมราชเหมือนกัน ฉันยังได้เติมสร้อยสมญาเจ้าพระยายมราช ลงในสุพรรณบัตรว่า ฉัฏฐราชคุรุฐานวโรปการี ให้เป็นหลักฐานถ้าเจ้าพระยายมราชตาย ฉันจะต้องนุ่งขาวให้" เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ที่ยังทรงพระมหากรุณาระลึกถึงความหลังมีพระราชกระแสร์รับสั่งเช่นนี้ เป็นที่ปิติยินดีของข้าพเจ้าอย่างเหลือเกิน แต่ลงปลายก็เปล่าอีกเหมือนกัน ยังมิทันที่จะได้ทรงพระภูษาขาวพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ศพข้าพเจ้า ก็มาเสด็จสวรรคตเสียก่อน ข้าพเจ้ากลับต้องนุ่งขาวถวายพระบรมศพฉลองพระเดชพระคุณด้วยความเศร้าโศกาลัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นการไม่เที่ยงแท้อยู่ดังนี้ เมื่อเอาธรรมเรื่องนี้เข้ามาหักก็ทำให้ข้าพเจ้าค่อยคลายความเศร้าใจคิดถึงแม่ตลับ ซึ่งดับศูนย์ไปเมื่อมีอายุ ๖๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๔) แล้วนั้นลงได้มาก.

ไปที่เริ่มต้น

รูปภาพตอนแรกเข้ารับราชการ (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๓๗) (6 รูป)