ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภาคที่ ๑  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์

ตอนที่ ๑  เรื่องประวัติตอนก่อนรับราชการ. (๒๔๐๕ - ๒๔๒๖)

กำเหนิด ปฐมวัย และการศึกษา
มหาปั้น
ทำบุญอธิษฐาน
ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก



มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุลสุขุม) เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ สกุลเป็นคฤหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลบ้านน้ำตกริมแม่น้ำฟากตวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณฯ ไม่ห่างนัก บิดาของท่านชื่อกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่ร่วมบิดามารดา ๕ คนเรียงกันเป็นลำดับดังนี้

๑. พี่ชายชื่อฉาย ได้เป็นที่หลวงเทพสุภา กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๒. พี่หญิงชื่อนิล เป็นภรรยาหลวงแก้วสัสดี (ดี สุวรรณศร) กรมการเมืองสุพรรณบุรีคน ๑
๓. พี่ชายชื่อหมี ได้เป็นที่พระยาสมบัติภิรมย์ กรมการเมืองสงขลาคน ๑
๔. พี่ชายชื่อคล้ำ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งในตำบลน้ำตกที่ตั้งเคหะสถานของสกุล คน ๑
๕. พี่หญิงชื่อหยา เป็นภรรยาหลวงจ่าเมือง (สังข์ พิชัย) กรมการเมืองสุพรรณบุรี คน ๑
๖. ตัวเจ้าพระยายมราชเป็นลูกสุดท้อง

เรื่องประวัติเจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นเด็กปรากฎว่าเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาพาไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูศาลในเมืองสุพรรณ ฯ แต่เรียนอยู่ไม่ถึงปี พอมีงานทำบุญในสกุลเขานิมนต์พระใบฎีกาอ่วม วัดหงสรัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นที่นับถือกันมาแต่ก่อน ออกไปเทศน์แล้วบิดามารดาเลยถวายเจ้าพระยายมราชให้เป็นศิษย์ พระใบฎีกาอ่วมจึงพามาจากเมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นอายุได้ ๖ ขวบ ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เคยได้ยินกรมการเมืองสุพรรณชั้นผู้ใหญ่ในเครือญาติดูเหมือนจะเป็นหลวงยกรบัตรเล่าความหลังให้ฟัง (ในสมัยเมื่อเจ้าพระยายมราชยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต) ว่าท่านเป็นลูกสุดท้องเกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคนจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อยังเป็นเด็กมิใคร่มีใครเอาใจนำพานัก บิดามารดาจึงใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระเข้ามากรุงเทพฯ ที่ว่านี้ตามโวหารของญาติแสดงความพิศวง ด้วยมิได้มีใครเคยหวังว่าเจ้าพระยายมราชจะมาเป็นคนดีมีบุญล้ำเหล่ากอถึงเพียงนั้น แต่เมื่อคิดดูก็ชอบกล ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปีที่จะเป็นทายาทของสกุลบิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณ จนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชฯ ครอบครองบ้านเรือนบางทีก็จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เหมือนอย่างนายคล้ำพี่ชายเคยเป็นมาแต่ก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเช่นหลวงเทพสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน "ใส่กัณฑ์เทศน์" ถวายพระพาเข้ามากรุงเทพฯ นั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านเข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน

การศึกษาของเจ้าพระยายมราชเมื่อเข้ามาอยู่วัดหงสฯ ปรากฎว่าแรกมาเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ ๖ ปี ตอนนี้มีเค้าที่จะสันนิษฐานว่าพระใบฎีกาอ่วมเห็นจะเอาเป็นธุระระวังสั่งสอนผิดกับลูกศิษย์วัดอย่างสามัญ เพราะท่านเป็นลูกคฤหบดีที่บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรม ตรงกับศัพท์ที่เรียกว่า "ลูกศิษย์" คือเป็นลูกด้วยเป็นศิษย์ด้วย ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่า ท่านได้รับความอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี อีกอย่างหนึ่งความรู้ภาษาไทยท่านก็ได้เรียนแต่ที่วัดหงส ไม่เคยเข้าโรงเรียนอื่นนอกจากไปเรียน ก. ข. นโมที่วัดประตูศาลเมืองสุพรรณหน่อยหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว ที่ท่านมีความรู้ภาษาไทยเชี่ยวชาญถึงเป็นครูผู้อื่นได้แต่ยังหนุ่ม ก็ต้องนับว่าได้ความรู้ภาษาไทยมาแต่สำนักพระใบฎีกาอ่วมด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ อายุท่านถึง ๑๓ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ญาติคงรับออกไปโกนจุกที่เมืองสุพรรณแล้วส่งกลับมาอยู่กับพระใบฎีกาอ่วมที่วัดหงสตามเดิม

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ พระใบฎีกาอ่วมจัดการให้บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนวิชาต่อมาอีก ๗ พรรษา ลักษณการเล่าเรียนของสามเณร ในสมัยนั้นมีระเบียบเกือบจะเหมือนกันหมดทุกวัน นอกจากเรียนเสขิยวัตรและท่องจำคำไหว้พระสวดมนต์ ให้เริ่มเรียนหนังสือขอมและหัดเทศน์มหาชาติสำหรับเทศน์โปรดญาติโยม เจ้าพระยายมราชเสียงดี อาจารย์จึงให้หัดเทศน์กัณฑ์มัทรี (เมื่อแรกท่านมาอยู่กับข้าพเจ้าเคยเทศน์ให้ฟังแหล่ ๑ ว่าทำนองดีพอใช้เสียงก็ดีข้อนี้ผู้ที่เคยฟังท่านอ่านถวายชัยมงคลเมื่อเป็นเสนาบดีแล้ว คงจะจำได้ว่าเสียงท่านยังดีแม้เมื่อแก่ตัวแล้ว) สามเณรองค์ไหนจะบวชอยู่นานอาจารย์ก็ให้เรียนภาษามคธ เริ่มด้วยคัมภีร์ "มูล" คือ เวยยากรณ์ภาษามคธ บางทีพระใบฎีกาอ่วมจะสอนให้เอง หรือมิฉะนั้นคงให้เรียนกับพระอาจารย์องค์อื่นในวัดหงสหรือวัดอื่นที่ใกล้เคียงกัน เพราะอาจารย์สอนชั้นมูลมีแทบทุกวัด เมื่อเรียนคัมภีร์มูลตลอดแล้ว ก็ตั้งต้นเรียนคัมภีร์พระธรรมบท ตอนนี้เรียกกันว่า "ขึ้นคัมภีร์" เพราะเรียนภัมภีร์สำหรับจะเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญในสนามหลวง การเรียนถึงชั้นขึ้นคัมภีร์ต้องไปเรียนในสำนักอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษามคธ เจ้าพระยายมราชเริ่มเรียนในสำนักอาจารย์เพ็ญ (ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระวิเชียรกระวีเมื่อบวช) แล้วไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) และ สำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) วัดสุทัศน์ต่อกันมา สมเด็จพระวันรัตน (แดง) และพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์ที่เลื่องลือเกียรติคุณ ศิษย์ของท่านทั้ง ๒ นั้นได้เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะก็หลายองค์ จึงควรนับว่าเจ้าพระยายมราชได้โอกาสเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักดีอย่างยิ่งถึง ๒ แห่ง

ลักษณการที่พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรมนั้น เบื้องต้นชีต้นอาจารย์ที่เลี้ยงดูผู้เป็นนักเรียนต้องพาไปฝากต่อท่านผู้จะเป็นอาจารย์ ต่อท่านเชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจจะเรียนจริงๆ จึงรับเข้าไปเป็นศิษย์ในสำนัก หนังสือเรียนในสมัยนั้นยังใช้คัมภีร์ใบลานก็ต้องหาเอาไปเอง ถ้าผู้จะเรียนไม่สามารถหยิบยืมหนังสือของผู้อื่นได้ ก็ต้องเที่ยวขอคัดลอกสำเนาจากฉะบับของผู้อื่น และพยายามจารหนังสือด้วยฝีมือของตนเองไปให้ทันกับที่เรียน การจารหนังสือจึงเป็นความรู้อย่างหนึ่งซึ่งผู้จะเรียนพระปริยัติธรรมต้องฝึกหัดตั้งแต่ยังเรียนคำภีร์มูล ข้อนี้เป็นเหตุให้เปรียญแต่ก่อนเขียนหนังสืองามโดยมาก การเรียนนั้นถ้านักเรียนเป็นผู้อยู่ในวัดที่เป็นสำนักเรียนก็มักไปเรียนตอนเช้า ถ้าเป็นผู้อยู่ต่างวัดต้องฉันเพลเสียก่อนแล้วจึงไปเรียนในตอนบ่าย เวลาเดินไปใครเห็นก็รู้ว่าพระเณรนักเรียนเพราะแบกห่อคัมภีร์หนังสือไปบนบ่าเหมือนกันทุกองค์ ถึงเวลาเรียนท่านผู้เป็นอาจารย์ออกมานั่งอาศนะที่ปูไว้มีกาคะเยียสำหรับวางคัมภีร์ลานตั้งอยู่ข้างๆ พวกศิษย์นั่งรายกันอยู่ตรงหน้าและปันเวรกันเข้าไปแปลหนังสือให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถือคัมภีร์ที่แปลนั้นอีกฉะบับหนึ่งคอยสอบแปลผิดศัพท์ใดหรือประโยคใด หรือแห่งใดมีกัลเมตในกระบวรแปลอย่างไร อาจารย์ก็ทักท้วงสั่งสอนไปจนสิ้นระยะการเรียนของศิษย์องค์นั้น แล้วก็ให้องค์อื่นเข้าไปแปลต่อไป วันหนึ่งสอนราว ๔ ชั่วโมง สำนักไหนมีนักเรียนมากเวลาไม่พอจะเข้าแปลต่ออาจารย์ได้หมดก็ต้องกำหนดวันเป็นเวรเปลี่ยนกันเข้าแปลต่ออาจารย์ พวกศิษย์ที่ไม่ต้องเข้าแปลก็นั่งฟังได้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ไปเปล่า เหตุใดเจ้าพระยายมราชจึงเรียนพระปริยัติธรรมต่ออาจารย์ถึง ๓ สำนัก ข้อนี้เป็นด้วยอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมความรู้ยิ่งหย่อนผิดกัน ถึงแม้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญถึงชั้นสูงด้วยกันเล่ห์เหลี่ยมในการแปลก็มีต่างกัน แต่มีข้อสำคัญแก่นักเรียนอย่างหนึ่ง คือถ้าไปเรียนต่ออาจารย์ที่ไม่สู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเวลาเรียนต่ออาจารย์มากเพราะศิษย์มีน้อย ถ้าเรียนในสำนักที่คนนับถือมาก เวลาที่ได้เรียนต่ออาจารย์น้อยลงเพราะมีศิษย์มากถึงต้องผลัดเวรกันเรียน เจ้าพระยายมราชคงไปเรียนต่ออาจารย์เพ็ญเมื่อตอนแรกขึ้นคำภีร์เวลาความรู้ยังอ่อนได้มีเวลาเรียนมาก ครั้นมีความรู้พอเป็นพื้นแล้ว อยากจะมีความรู้ให้สูงขึ้นไปจึงย้ายไปเรียนในสำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เมื่อมีความรู้ยิ่งขึ้นจนถึงเกิดประสงค์จะเข้าแปลหนังสือในสนามหลวงจึงไปเรียนในสำนักสมเด็จพระวันรัตน (แดง) ด้วยท่านเป็นผู้สอบความรู้องค์หนึ่งที่ในสนามหลวงเพื่อจะให้ตระหนักใจในวิธีแปลตามนิยมของพระมหาเถรผู้สอบความรู้ในสนามหลวง เห็นจะไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (แดง) ในเวลาเมื่อก่อนอุปสมบทไม่นานนัก

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๕ เจ้าพระยายมราชอายุได้ ๒๑ ปีครบอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุที่วัดหงส์ สมเด็จพระวันรัตน์ (แดง) เป็นพระอุปปัชฌาย์ แต่เวลานั้นบิดามารดาจะยังมีชีวิตอยู่ หรือสิ้นชีพไปเสียแล้วข้าพเจ้าหาทราบไม่ พอบวชเป็นพระภิกษุแล้วในปลายปีนั้นเองก็เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เมื่อเจ้าพระยายมราชเข้าแปลหนังสือก็ได้รับความสรรเสริญเป็นอย่าง ปลาดควรจะเล่าไว้ด้วย แต่ก่อนมาการตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมไม่มีกำหนดปี เมื่อใดเปรียญซึ่งสำหรับทรงเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะมีน้อยตัวลงก็โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อหาพระภิกษุซึ่งทรงพระไตรปิฎกตั้งเป็นเปรียญสำรองไว้สำหรับเลือกตั้งเป็นพระราชาคณะ เป็นประเพณีเดิมมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วก็ว่างมาถึง ๑๔ ปี พระมหาเถรพากันวิตกว่าการสอบพระปริยัติธรรมเริดร้างมาช้านาน ความรู้พระภิกษุสามเณรที่เรียนพระไตรปิฎกจะเสื่อมลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ คราวเจ้าพระยายมราชเข้าแปลนั้น ตั้งสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พอเปิดสนามก็เห็นสมจริงดังพระมหาเถรท่านวิตกด้วยพระภิกษุสามเณรซึ่งเข้าแปลวันละ ๔ องค์ แต่วันแรกมาแปลตกหมด ไม่มีใครได้เป็นเปรียญเลยสักองค์เดียว เป็นเช่นนั้นมาหลายวันจึงถึงกำหนดพระปั้นวัดหงส์ (คือเจ้าพระยายมราช) เข้าแปล เมื่อแปลวันแรกได้ประโยคที่ ๑ ก็ไม่มีใครเห็นแปลกปลาดเพราะพระภิกษุสามเณรที่แปลตกมาก่อนแปลได้ประโยคที่ ๑ แล้วไปตกเมื่อแปลประโยคที่ ๒ ก็มี ต่อเมื่อเจ้าพระยายมราชแปลได้ประโยคที่ ๒ จึงเริ่มมีเสียงกล่าวกันว่าบางที "คุณปั้น" จะได้เป็นเปรียญ ถึงวันท่านเข้าแปลประโยคที่ ๓ อันเป็นวันตัดสินว่าจะได้เป็นเปรียญหรือไม่ จึงมีคนพากันไปฟังมาก ทั้งพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียน และคฤหัสถ์ที่เอาใจใส่ในการเรียนพระปริยัติธรรมข้าพเจ้าก็ได้ไปฟังกับเขาด้วยในวันนั้น พอท่านแปลได้ประโยคที่ ๓ สังเกตดูพระมหาเถรพากันยิ้มแย้มยินดี เพราะเพิ่งได้เปรียญองค์แรก ในการสอบพระปริยัติธรรมครั้งนั้น ผู้อื่นที่ไปฟังนั่งคอยเอาใจช่วยอยู่ก็พากันแสดงความยินดีทั่วหน้า แต่วันนั้นก็เรียกกันว่า "มหาปั้น" สืบมา

ตรงนี้ถึงที่จะเล่าเรื่องเจ้าพระยายมราชมาอยู่กับข้าพเจ้าสมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้รับกรม แต่เป็นนายพันตรีราชองครักษ์ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รับราชการประจำอยู่ในพระบรมราชวังอยู่ที่ห้องมุมตึกยาวทางข้างฝ่ายตะวันตกประตูพิมานชัยศรี และกำลังจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบอยู่ด้วย เวลาเช้าพอหัดทหารแล้ว ข้าพเจ้าก็ออกจากโรงทหารเดินผ่านทางในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปดูงานที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทุกวันก็ที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสนารามเวลานั้นมีสำนักของหลวงตั้งสำหรับสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร ๔ แห่ง แห่งใหญ่กว่าเพื่อนพระยาธรรมปรีชา (บุญ) เป็นอาจารย์สอนที่ในพระพุทธปรางค์ปราสาท (คือปราสาทพระเทพบิดรบัดนี้) นอกจากนั้นสอนตามเก๋งซึ่งสร้างไว้บนกำแพงข้างหน้าวัดอีก ๓ แห่ง หน้าที่อุดหนุนสำนักเรียนทั้ง ๔ แห่ง เช่น จัดอาหารเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนเป็นต้น โปรดให้ข้าพเจ้าเอาเป็นธุระอุดหนุน เพราะโรงครัวของทหารมหาดเล็กอยู่ใกล้ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองเวลาเดินผ่านไปในวัดก็มักแวะฟังพระภิกษุสามเณรหัดแปลพระไตรปิฎกที่แห่งนั้นบ้างแห่งนี้บ้างเป็นเนืองนิจ เจ้าพระยายมราชเมื่อยังเป็นสามเณรมาเรียนอยู่ที่พระพุทธปรางค์จึงเริ่มรู้จักกันกับข้าพเจ้า แต่ก็เพียงสนทนาปราสัยเหมือนอย่างเพื่อนนักเรียนองค์อื่นๆ เมื่อท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมถึงวันแปลประโยคที่ ๓ ข้าพเจ้าไปฟังได้พูดปลอบท่านอย่าให้หวาดหวั่น และได้แสดงความยินดีต่อท่านเมื่อแปลสำเร็จ ตั้งแต่วันนั้นก็มิได้พบกับท่านมากว่าเดือน คืนวันหนึ่งเวลาราว ๒๐ นาฬิกาท่านมาหาข้าพเจ้าที่โรงทหารมหาดเล็ก มีต้นไม้ดัดปลูกในกระถางมาให้ด้วยต้น ๑ เมื่อข้าพเจ้าถามถึงกิจธุระที่ท่านมา ท่านบอกว่าจะมาลาสึกและเมื่อสึกแล้วจะขอถวายตัวอยู่กับข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้ฟังก็ปลาดใจ ถามท่านว่าเมื่อได้อุส่าห์พากเพียรเรียนพระไตรปิฎกมาจนได้เป็นเปรียญมีชื่อเสียงแล้วเป็นไฉนจะสึกเสียแต่ยังมิได้รับพระราชทานพัดยศ อนึ่งตัวท่านก็ยังเป็นหนุ่ม ถ้าเรียนพระไตรปิฎกต่อไปคงได้เป็นเปรียญประโยคสูงแล้วได้เป็นพระราชาคณะตั้งตนเป็นหลักแหล่งได้ตลอดชีวิตจะมาทิ้งทางความเจริญของตัวเองเสียด้วยเหตุใด ท่านตอบว่าท่านสิ้นอาลัยในการเป็นสมณะ ได้ปลงใจตั้งแต่ก่อนเข้าแปลพระปริยัติธรรมว่าจะสึก ที่เข้าแปลนั้นด้วยประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอุทิศสนองคุณท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์มาแต่หนหลัง นึกไว้ว่าพอแปลแล้วจะตกหรือได้เป็นเปรียญก็จะสึกอยู่นั่นเอง เมื่อข้าพเจ้าห้ามไม่ไหวแล้วก็คิดเห็นว่าสึกเสียดีกว่าจำใจบวชอยู่ต่อไป จึงตอบว่าเมื่อสึกแล้วถ้าสมัคร์มาอยู่กับข้าพเจ้าก็จะรับด้วยความยินดี เหตุที่ท่านเอาต้นไม้ดัดมาให้ด้วยในวันนั้น ข้าพเจ้ามานึกได้ต่อภายหลังว่าคงเป็นเพราะท่านยังเป็นพระภิกษุ จะถวายตัวด้วยให้ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นถวายต้นไม้ดัดแทน มาหวลรำลึกขึ้นในเวลาเมื่อเขียนเรื่องประวัตินี้ดูก็ชอบกล การที่ท่านให้ต้นไม้ดัดแทนดอกไม้ธูปเทียนนั้น ราวกับเป็นนิมิตรสังหรณ์ว่าท่านถวายตัวแก่ข้าพเจ้าเพียงให้เป็นมัคคุเทศชี้ทางที่ท่านจะไปได้ดี มิใช่มาเป็นข้ากับเจ้า หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งก็เหมือนเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้เคยทำบุญอธิษฐานร่วมใจกันมาแต่ชาติก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเกิดรุ่นราวคราวเดียวกันและได้มาช่วยกันทำราชการงานเมืองในชาตินี้
เมื่อเจ้าพระยายมราชจะสึกได้มีจดหมายไปลาญาติฉะบับ ๑ ถ้านับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๕๔ ปีแล้ว พวกลูกเขาค้นพบจดหมายฉะบับนั้นที่เมืองสุพรรณ คัดสำเนาส่งมาให้ข้าพเจ้าเมื่อจะเขียนเรื่องประวัตินี้ จึงให้พิมพ์ไว้ด้วยต่อไปนี้

ลิขิตพระมหาปั้นลาญาติสึก

ขอคำนับมายังพี่

พี่ ฉาย  พี่ ดี (พี่เขย)  พี่ นิล  พี่ หมี  พี่ คล้ำ  พี่ หยา

ได้ทราบ

ว่าฉันเห็นจะบวชไปไม่ตลอดเสีย ฉันจะลาสึกแล้ว ฉันทูลลา (ทางกรมธรรมการตามธรรมเนียม) แล้ว กำหนดวันสึก ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ สึกแล้วฉันจะตามเสด็จ (พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร) ขึ้นไปอยู่บางปะอินสักสามเดือน นายท่านจะทรงผนวชตัวฉันนั้นท่านพระองค์ดิศวรกุมารท่านทูลขอไว้ เห็นจะพอเอาตัวรอดได้ไม่เป็นไรดอก ถ้าทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓๐ บาท ถ้าไม่ได้ทำการจะพระราชทานเดือนละ ๓ ตำลึง นี่แล พี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย เป็นกรรมของฉันแล้ว เคยรักน้องเพียงไหนก็ขอให้รักน้องเพียงนั้น เทอญ

ฉันเล่าตั้งแต่รู้ความมาก็ไม่ได้ประพฤติการชั่วให้พี่น้องมีความร้อนใจเลยสักอย่างเดียว ก็ครั้งนี้เห็นว่าพี่จะมีความเสียใจมากฉันอยากจะให้พี่นิลลงมาสักน้อย ให้ถึงบางกอก ณ วันเดือนแปด ขึ้น ๑๐ ค่ำ ขอให้มาให้ได้ทีเดียว พวกใน (กรุงเทพฯ) นี้เล่าใครๆ ก็ลาไม่ได้เขาไม่ยอมให้สึก ฉันคิดการครั้งนี้ก็คิดคนเดียวครั้นฉันจะขึ้นมา (เมืองสุพรรณ) เล่าก็มาไม่ได้ การก็จวนอยู่แล้วขอพี่ทั้งปวงอย่ามีความเสียใจเลย นึกเสียว่าสมเด็จเจ้ายังต้องสึกลิขิต มา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะแม เบ็ญจศก (พ.ศ. ๒๔๒๖)

 

เจ้าพระยายมราชเกิดปีเดียวกันกับข้าพเจ้าๆ แก่กว่าท่านไม่ถึงเดือน โดยปกติข้าพเจ้าควรจะบวชเป็นพระภิกษุในพรรษาเดียวกันกับเจ้าพระยายมราช แต่ข้าพเจ้าต้องรอมาบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสชวนให้ไปจำวัสสา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน แต่ในปีที่อายุข้าพเจ้าครบอุปสมบทพระอมราภิรักขิต (อ่อน) เจ้าอาวาสมีพรรษายังไม่ถึงเขตต์ที่จะเป็นอาจารย์ให้นิสสัยได้จึงต้องรอมาปี ๑ เจ้าพระยายมราชสึกแล้วก็มาขออาสาไปอยู่เป็นเพื่อนที่บางปะอินจึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัดนิเวศฯ ด้วยกันกับข้าพเจ้าตลอดพรรษา ในเวลาเมื่ออยู่บางปะอินนั้นเจ้าพระยายมราชกับข้าพเจ้าได้พบปะพูดจากันทุกวัน ได้รู้วิสัยใจคอกันและกันก็เริ่มรักใคร่กันแต่นั้นมา เมื่อท่านอยู่วัดนิเวศฯ ไม่ได้อยู่เปล่า ใช้โอกาสที่มีเวลาว่างตลอดพรรษา ขวนขวายเรียนความรู้ภาษาไทยทั้งหัดเขียนหนังสือไทยจนลายมืองาม นอกจากนั้นท่านตั้งใจศึกษาหาความรู้ประเพณีทางฝ่ายคฤหัสถ์จนสามารถเข้าสมาคมได้ ครั้นออกพรรษาข้าพเจ้าสึกก็กลับลงมากรุงเทพฯ ด้วยกัน

เมื่อเจ้าพระยายมราชบวชเป็นสามเณรอยู่วัดหงส หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ กับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนหลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาแต่ก่อน ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมวัดหงส เคยไปทำบุญที่วัดนั้นเนืองๆ เมื่อรู้จักสามเณรปั้น มีความเอนดูก็รับเป็นโยมอุปถากตลอดมาจนจัดการให้อุปสมบทด้วย เมื่อเจ้าพระยายมราชแรกสึกยังไม่มีบ้านในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยนกับหม่อมราชวงศ์หญิงเขียนจึงชวนให้ไปพักอยู่ที่บ้าน

ไปที่เริ่มต้น