สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึง มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ถึง เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล   (๑)

รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (ร.ศ. ๑๒๗) = พ.ศ. ๒๔๕๑
รัตนโกสินทรศก ตั้งต้นจาก ๑ เมษายน

สวนดุสิต
วันที่ ๖ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

เรื่องใบเสร็จปลอมเมืองธัญบุรีนั้น เงินมันมากนัก มันจะเป็นแต่ผู้น้อยไม่ได้ดอกกระมัง เมื่อจะถึงไหนก็ต้องให้ถึงไปจะได้เป็นตัวอย่างเสียบ้าง
สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

วันนี้ฝนลงมือรั่วเวลา ๒ ทุ่ม ห้องที่ชั้นบนแลห้องบรรณาคมรั่วหลายแห่ง ได้ให้หลวงศักดิขึ้นมากำหนดที่ไว้แล้ว ฝนวันนี้ก็ไม่มากเท่าใดเป็นแต่ตกช้ายังรั่วแล้ว ถ้าถึงฝนรดูน่ากลัวจะรั่วใหญ่เสีย ให้นึกบังเกิดเคลือบแคลงกระเบื้องชะนิดนี้ขึ้นมาเสียแล้ว ความคิดนั้นเขาคิดดี ตัวอย่างเขาก็คงทำดี แต่เวลาทำมากเข้าจริง ตาก็คงดูไม่พอ มือมักง่ายลง ซ้ำถูกเร่งเหตุด้วยทำอย่างไทยแฉะไม่แล้วด้วย น่าจะต้องพิจารณาดูถึงการถ้าหากเอาไว้ไม่อยู่จะแก้อย่างไร

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๔ เมษ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

พงษาวดารของเรื่องเครื่องเฟอร์นิเชอร์ห้องนางเอิบ(๑) นางเอื้อน(๒) นั้น มีเรื่องราวดังจะกล่าวต่อไปนี้

เมื่อเวลาจะทำห้อง ๒ ห้องนี้ไม่ได้กะสั่งเฟอร์นิเชอร์ เพราะคิดเห็นว่าเฟอร์นิเชอร์พระที่นั่งภาณุมาศทิ้งอยู่เปล่า จะย้ายมาใช้ไม่ให้เปลืองเงิน แต่ครั้นเวลาจัดเข้าจริงตู้เตียงอะไรไม่พอต้องทำไม้สักทาสีปลอมเอาบ้าง

แต่เฉภาะในเวลานั้นตกลงว่าจะไปยุโรป จึงคิดจะไปหาซื้อเอาใหม่ ได้ให้กรมสรรพสาตร(๓) เอาแผนที่ห้องไป แลพูดกันเป็นที่เข้าใจว่า ที่อยู่ซึ่งเป็นห้องเดียวเช่นนี้ย่อมยัดเยียดไม่มีที่เก็บเข้าของ เราจึ่งจะไม่จัดห้องอย่างฝรั่ง ที่ซึ่งควรจะตั้งตู้ได้แล้วจะตั้งตู้เก็บของให้หมด มีความตกลงกันพูดกันสัก ๑๐๐ หน ในกลางทางเช่นนี้

แต่ครั้นเมื่อเวลาไปอิงค์แลนด์ เมื่ออยู่ในลอนดอนคืนแรกได้ถามดุ๊กถึงเรื่องแผนที่ห้อง ก็บอกว่าได้, อยู่, มี, จะไปเอาแต่แล้วก็เลยหายไปไม่ได้มา ครั้นรุ่งขึ้นก็ต้องไปวินด์เซอร์เสีย ๓ วัน ๒ คืน ได้มาเที่ยวในลอนดอน ๒ วัน เรียกเอาแผนที่ก็ไม่ได้แต่บอกว่าจะได้ ไอ้ที่พูดกันมาตั้งร้อยครั้งดุ๊กยังจำได้เพราะยังไม่ทันที่จะเริ่มทำธุระอะไร จึงได้พากันไปดูที่ห้างเมเปอล ๒ วันเห็นเฟอร์นิเชอร์เหลืองสำรับนี้งาม จึงได้เลือกว่าจะเอาสำรับนี้ แต่ไม่มีเวลาที่จะจัดเข้าเป็นห้องว่าจะต้องการสิ่งใดบ้าง เป็นแต่เลือกเนื้อไม้แลสไตล์ ตู้ล้างหน้าใบเดียวว่าให้เอาเนื้อไม้เช่นนี้สไตล์เช่นนี้ จัดห้องในแผนที่ให้พอ แลให้เหมือนกันทั้ง ๒ ห้องดุ๊กก็รับว่าได้พร้อมกับเครื่องเฟอร์- นิเชอร์อื่นๆ จะกะให้เสร็จทุกแห่ง หมดวันก็ต้องลงเรือข้ามฟากไปเดนมาร์กและนอร์เวย์ ดุ๊กอยู่จัดการข้างอิงค์แลนด์ ให้ข่าวแต่ว่าของพร้อมแล้ว ตลอดเวลาเดือนครึ่ง ครั้นเมื่อไปฮอมเบิกจะขอดูแปลนว่าได้เขียนลงไว้อย่างไร ก็ว่าแปลนอยู่ปารีส ครั้นมาปารีสก็ว่าอยู่ลอนดอนเมเปอลขอไปเลยไม่ได้จนแล้ว ถามก็ว่าพร้อมทุกอย่างมีอะไรบ้าง ก็บอกเอานี่ตำโน่นเอาโน่นตำนี่ยังไงๆก็พร้อม แต่เป็นใจความว่ามีตู้มาก และมีเหมือนกันทั้ง ๒ ห้อง คำนี้ยังยืนเข้ามาจนถึงบางกอก เมื่อเข้าถึงถามว่านี่มีกี่ใบก็บอกว่ามีสองทุกอย่างแต่เห็นของมีอยู่ใบเดียวนาน ถามก็ว่าอีกใบหนึ่งยังไม่มาถึง เป็นความฉุนว่าจะให้มันมาถึงพร้อมกันหมดอย่างไรได้ จึงได้นิ่งไว้จนให้สิ้นซากเสียที ครั้นเมื่อวานนี้คิดเห็นว่าชะรอยของที่จะมาถึงหมดแล้ว แต่ของก็ไม่ครบ ๒ ห้องจึงได้ลองต่อว่าดู แกตอบไม่ได้นิ่ง วันนี้จึงได้ขอเข้ามาดูคิดคำตอบจากห้องนี้เอง ไม่ใช่เพราะความจำว่าจัดไว้เช่นนั้นฤๅหลักถานอื่นเลย คือตอบว่าเพราะเอาตู้ไปไว้ห้องนางเอิบมากเกินไป ตู้ห้องนางเอื้อนจึงได้ขาด จะยกเอาตู้ห้องนางเอิบเฉลี่ยมาไว้ห้องนางเอื้อนก็เป็นอันพอกันได้

จึงได้ขอให้พระยาสุขุมเข้ามาดูเพราะเชื่อว่าจะแลเห็นได้ด้วยความสังเกตคือ
๑. บรรดาเครื่องเฟอร์นิเชอร์ทั้ง ๒ ห้องนี้มีเหมือนกันทุกอย่างๆ ละ ๔ เว้นไว้แต่ตู้ลิ้นชักแลตู้กระจกใหญ่ไม่มีในห้องนางเอื้อนมีแต่ในห้องนางเอิบ
๒. ที่ดุ๊กว่าตู้ห้องนางเอิบมากไปจะถอนมาเสีย ๒ ตู้ ถ้าถอนตู้ลิ้นชักฤๅตู้กระจกมาใบหนึ่ง ก็คงขาดตู้ห้องละใบไม่เหมือนกัน ตู้ ๒ ใบนั้นประโยชน์ที่ใช้ก็ต่างกัน จะเรียกว่าแต่งเหมือนกันทั้ง ๒ ห้องไม่ได้
ส่วนตู้ห้องนางเอื้อนที่ยังขาดอยู่อีกใบหนึ่งจะถอนตู้ใบไหนใบหนึ่งนอกจากถอนตู้ลิ้นชักฤๅตู้กระจกใหญ่ที่ยังเหลืออยู่มาแล้ว คงมาซ้ำกับที่นางเอื้อนมีอยู่แล้วเป็น ๒ ใบขึ้นทั้งนั้น
๓. ถ้าจะจัดตามดุ๊กว่านี้มีคติที่จะเป็นไปได้ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งห้องหนึ่งมีตู้ใหญ่ ๒ ใบห้องหนึ่งมีตู้เล็ก ๒ ใบฤๅ มีตู้ใหญ่ซึ่งต่างประโยชน์กัน ข้างหนึ่งมีแต่ผ้านุ่งผ้าห่มไม่มีเครื่องเงินเครื่องทองเป็นอันขาด ข้างหนึ่งมีแต่เครื่องเงินเครื่องทองเดินแก้ผ้าโทงเทงอยู่เสมอ

เมื่อพิเคราะห์โดยเลอียดแล้วก็จะเห็นได้ว่า ความตั้งใจที่จะสั่งเฟอร์นิเชอร์นี้จะทำให้เหมือนกันทั้ง ๒ ห้องจะให้มีตู้มากที่สุดที่จะตั้งได้ แต่หากเผลอไผลหลงลืมไปสั่งพลาดพลั้งฤๅเขาเข้าใจผิด ถ้ายอมลืมเสียบ้างยอมให้ฝรั่งเข้าใจผิดบ้าง ความก็จะไม่ลำบากยากเย็น แต่กรมสรรพสาตรตั้งแต่เกิดมาไม่เคยลืมอะไรสักครั้งเดียว แลไม่เคยเข้าใจผิดแต่สักครั้งเดียว ใครที่มาทำงานก็ไม่เคยลืมไม่เคยเข้าใจผิด แม่นยำไปด้วยกันหมดทั้งสิ้น จึงหาทางตกลงอย่างไรไม่ได้ วันนี้ว่าเช่นนี้พรุ่งนี้กลายเป็นเถียงอย่างอื่นจับไม่อยู่ แต่อย่างไรอย่างไรก็ไม่ได้ลืม เป็นอันพ้นวิไสยที่จะพูดกันต่อไปอีกได้ เว้นไว้แต่เลิกเสียตั้งหนึ่งเอาใหม่

ใช่ว่าจะขาดแต่ตู้สองใบเท่านี้ เสาตั้งมุมแลอะไรเล็กๆ น้อยๆ ขาดอยู่บ้าง หลวงนายศักดิอาจจะชี้แจงได้

เก้าอี้สำหรับห้องนั้นได้สั่งแต่ต้นมือ ว่าให้มีแต่เก้าอี้นอนแลเก้าอี้อารมแชร์เพียงห้องละสองตัว ๓ ตัว เพราะจะใช้นั่งกับพื้นเก้าอี้อารมแชร์สำหรับนั่งเล่นสบายๆ เก้าอี้เล็กสำหรับนั่งที่แต่งตัวมีแต่เฉภาะเท่านั้น เก้าอี้ที่ไม่เป็นสำรับเช่นนี้ก็มีเข้ามา แต่สีไม่ถูกกับแพรที่บุเตียงนอน ให้ดุ๊กบอก ๓ หนก็กลับไปกลับมาทั้ง ๓ หน ประเดี๋ยวว่านี่แลประเดี๋ยวว่าไม่ใช่ยังไม่มาถึงคอยไปคอยมาก็เลยแหงอยู่จนเดี๋ยวนี้ วันนี้เป็นระดูนี่และ แต่ข้อที่แพรผิดกับเตียงนอนนั้นนิ่ง ถึงโดยจะเอาพร้าไปงัดก็เห็นจะไม่เป็นสวัสดิมงคล ลมที่จะออกมาคงเป็นวจีทุจริตจึงได้เลยนิ่งเสียทนให้แพรมันแปลกสีกันเช่นนั้นก็ได้ ใช่จะรับแขกบ้านค้านเมืองอะไร ขอให้ช่วยวินิจฉัยเสียให้ตลอดด้วย

เรื่องนี้ถ้าสั่งตู้กระจกใหญ่อีกใบหนึ่งสั่งตู้ลิ้นชักใหญ่อีกใบหนึ่งเท่านั้น ก็นับว่าก็เป็นสิ้นถ้อยความหนามเสี้ยนกันหมดไม่ควรจะพากันไปลงนรกจกเปรตชวนกันขึ้นสวรรค์ดีกว่า

สยามินทร์

(๑) เจ้าจอมเอิบ ในรัชชกาลที่ ๕  (๒) เจ้าจอมเอื้อน ในรัชชกาลที่ ๕   (๓) กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ


สวนดุสิต
วันที่ ๖ พฤศภา รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

หวังใจว่าจะไม่เจ็บมาก ................................ ความที่แกแบดเท็สถึงกับบ่นกลัวผู้ร้ายที่ถนนรองเมือง ขยับจะขออารักขาส่งไปนึกออกฉุนๆ ว่าใช่กาละที่แกจะพูด แต่จะนิ่งเสียไม่ดีจึงได้บอกให้รู้ แกไปชุกอยู่แห่งหนตำบลใด พูดภาษากันก็เต็มทีทั้งผัวทั้งเมียขอให้ช่วยไปแลดูเสียสักหน่อย

สยามินทร์
ป.ล. .................................... นั้นออกจะกลัวเปล๊ก


สวนดุสิต
วันที่ ๖ พฤศก รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

ขอให้ไอเดียเป็นอินสตรั๊คชั่นในการที่จะทำสวนตอนนอกสำหรับที่จะได้เขียนแผนที่พอเป็นเลาดังนี้
๑) เขตรสวนขยายออกไปถึงแนวคลอง ๓ วาถนนสามเสน แต่คลอง ๓ วานั้นจะเปลี่ยนเป็น ๖ วาฤๅ ๔ วาเท่าคลองรางเงินที่ซึ่งจะขยายคลองกินฝั่งตวันออกในสวน คลองนี้จะเป็นคูวัง
๒) ฝั่งคลองข้างตวันตกจะต้องมีถนนสายหนึ่งกว้าง ๘ ศอก สำหรับเดินรักษาวัง
๓) ในชั้นต้นกำแพงด้านตวันตกคือกำแพงวังเดี๋ยวนี้ยังไม่รื้อ แต่จะเจาะประตูขนาดเล็กหว่างสวนบัวกับสวนสี่ฤดูเป็นทางตรงออกไปถึงสวนนอก
๔) ที่ซึ่งได้กะไว้ว่าจะเป็นบ้านเรือนข้างในตามแผนที่กะแต่ก่อนคงอยู่ ต่อไปจะกั้นกำแพงเสร็จแล้วจึงจะรื้อกำแพงในออกเสีย กันที่นั้นเข้าไว้เป็นในวัง
๕) คงเหลือที่สวนตั้งแต่ถนนดวงดาวไปจนถึงกำแพงในคลอง ๓ วาประมาณ ๘ เส้น ตั้งแต่กำแพงริมถนนใบพรไปจนถึงกำแพงริมถนนซางฮี้ประมาณ ๑๓ เส้น ที่คงจะกว้างอยู่ใน ๔ เส้น ทั้ง ๒ ด้าน
๖) ในที่สวนนี้จะขุดเป็นแม่น้ำด้วน รูปเป็นกงฉากตามพื้นที่ กว้างบ้างแคบบ้าง ที่กว้างประมาณ ๔๐ เมเตอร์
๗) ที่ตรงข้อศอกของกงฉากเป็นที่จะตั้งพลับพลา น่าจะต้องเป็นหัวแหลมให้แลเห็นลำน้ำได้ทั้งข้างเหนือแลข้างตวันออก
๘) เรือนแพที่จะลงไปนั่งเล่นริมน้ำ ควรจะอยู่ข้างเหนือตรงกับลำน้ำซึ่งจะให้แลเห็นได้ไกล ข้อซึ่งเอาไว้ข้างเหนือเพื่อจะให้บังเงาเรือนในเวลาบ่าย ตั้งแต่วันๆไป
๙) ด้านใต้ของเรือนตามที่สันนิษฐานว่าวังสวนดุสิตหันน่าตวันออก แต่ที่จริงหันน่าตวันออกเฉียงใต้นั้นควรจะวางเขาดินที่ตรงนั้น ซึ่งสำหรับจะปลูกต้นไม้ให้สูงบังแดดตวันตก เพราะตวันตกย่อมอยู่ที่มุมวังข้างใต้
๑๐) ส่วนหลังเรือนตรงออกไปหากำแพงหลังนั้น ควรจะเป็นได้อย่างวัง เบินสตอฟ เมืองเดนมารก์ คือมีลอนอยู่ใกล้เรือนถัดลอนออกไปเป็นลานหญ้าเรียกว่าเมโด ปลูกไม้ครึ้มสองข้างแลไปจากเรือนเป็นเปอสเป๊กติฟวิว ให้เห็นเป็นป่าเงียบมีแต่ถนนเล็กๆ แอบไปตามชายไม้สองข้าง
๑๑) ส่วนฝั่งน้ำที่ยืนเหนือใต้นั้นควรทั้ง ๒ ข้างไม่ใช่ตรงไปห่างน้ำบ้างชิดน้ำบ้างปลูกไม้ครึ้มถึงน้ำบ้างเป็นฝั่งหญ้าบ้าง
๑๒) ที่พ้นจากถนนริมฝั่งน้ำเข้าไปข้างใน ฟากข้างตวันออกควรจะเป็นสวนผลไม้
๑๓) ส่วนที่พ้นจากถนนริมฝั่งน้ำฟากข้างตวันตกเข้าไป ควรจะเป็นป่าต่อกับป่าหลังเรือนที่อยู่ฟากข้างเหนือของเมโด เป็นป่าบ้านนอกลักษณะเป๊ตีตริอานองตอนที่เลี้ยงวัว
๑๔) เมื่อออกจากป่านั้นจึงถึงสวนผัก สวนผักนี้อยู่ในที่ไม้ใหญ่ล้อมรอบเหมือนถางป่าปลูกผักลักษณะปฐมเจดีย์
๑๕) รวมความคิดที่จะทำสวนนี้ จะให้งามเป็นสวนฉากอยู่แต่ที่ใกล้ๆ เรือน คือตั้งแต่น่าเรือนเข้ามาจนถึงถนนดวงดาว สวนตอนต่อไปข้างเหนืออยากจะให้เป็นอย่างบ้านนอก ในเมืองเราแถบข้างดอนๆ เมื่อเวลาไปเดินให้รู้สึกเหมือนเราไปเดินอยู่ตามบ้านนอก คือสร้างบ้านนอกขึ้นในวัง เมื่อนึกจะไปเที่ยวเมื่อใดก็ให้ได้ไปเที่ยวบ้านนอกได้ทันที นี่เป็นข้อสำคัญของความประสงค์ที่จะหาความสงบระงับแลทั้งไม่เปลืองเงินด้วย
ขอให้จำคาถาหลักความคิดเหล่านี้ไว้ให้ชี้แจงช่างที่จะเขียนแผนที่ให้เข้าใจชัดเจน จดหมายนี้หวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยความจำให้มั่นคงและดีขึ้น

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๗ พฤศภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

เมื่อไปเขียนแผนที่ดูกันวันนี้ แล้วกลับขึ้นมานึกได้ทันทีถึงทางที่กะไว้ว่าจะออกจากกำแพงผ่านถนนดวงดาว ทางอ้อมสระมีจำเพาะต้องไปผ่านวิลลาอุรุพงษ์ แลผ่านพระที่นั่งทรงปืน ซึ่งเป็นข้างน่า จึงจะไปถึงพระที่นั่งได้ ถ้าหากว่าเป็นเวลาอยู่ที่นั่นทั้งข้างน่าข้างใน จะเกิดไม่มีทางข้างในเดิน เรื่องนี้น่าจะต้องคิดได้บอกกรมหลวงนริศไว้แล้วเหมือนกัน

สยามินทร์

แกงบวนหม้อหนึ่ง ทรงพระราชอุทิศพระราชทานพระยาสุขุมนัยวินิต เสียแต่รศไม่สู้อิน เป็นรศอย่างที่เคยชอบเช่นนี้ข้อที่คิดถึงส่งมาให้นั้นมีเกี่ยวแก่อินอยู่ในนั้นด้วยเป็นอันมาก แต่ที่จริงเข้าใจว่าคงจะกินเป็น อร่อยก็คิดถึง


สวนดุสิต
วันที่ ๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

เรื่องที่ทางข้างน่าข้างในไม่สดวกนั้น กรมหลวงนริศกำลังเฟื่องสนุกขึ้นมาอย่างไร สเก็ตชพุ่งเข้ามาอีกเป็นการทดลอง ได้ส่งมาให้ดูด้วย

ตามความคิดนี้มีขัดข้องหลายอย่าง เป็นอันได้ดีอย่างเดียวเพียงเห็นทุ่งหญ้าได้ไกลกว่าที่คิดไว้เดิมมาก

ส่วนทัศนวิไสยทิศใต้แลเหนือจากพระที่นั่งสั้นไปเสียหมดทิศตวันตกก็แลไปติดเขาตันไปอีก จึงคิดเห็นว่าจะยังไม่ไหว พระที่นั่งน่ากลัวจะต้องอยู่ฝั่งตวันตกอยู่นั่นเอง ทางข้างในที่จะเดินถ้าจะเป็นเอนเล็กอยุ่ที่มุมพระที่นั่งใต้เรือนแพลงไปก็ควร ถ้าหากว่าจะถือเอาทุ่งหญ้าให้ยาว จะเอาขึ้นไปเหนือเป็นอยู่ฝั่งตวันตกของลำน้ำ ปัดลำน้ำให้กินฝั่งตวันออกเข้าไปให้มากก็จะได้

เรื่องหาทางแลไกลของเราไม่สันทัด เพราะเหตุที่เราไม่ได้เหนตัวอย่าง คนไทยที่ไม่ได้ไปต่างประเทศนึกไม่ออก แต่ข้างฝรั่งทางแลเขาเป็นหลัก เพราะอย่างนั้นปล่อยให้ฝรั่งเขานึกในเรื่องนี้เหนจะดีกว่า ข้างเราถนัดข้างขากันข้างน่าข้างใน เอาไว้คอยทักท้วงเขาในเรื่องนี้จะดี

แต่ช่างเขียนกล่าวคือ มิสเตอร์หรูของแก ถ้าเขียนไม่หรูแล้วไม่เอามาให้ดู ถ้าได้หรูเสียแล้วก็ออกจะชวนร่ม ส่วนผลที่จะเสียหายนั้นมีอย่างเดียวคือช้ามาก ถ้าลากเส้นดินสอมา หาฤๅกันเสียก่อนเช่นเราทำกันนี้ แต่ให้มิสเคล ต่อตกรูปแล้ว จึงไปเขียนหรูได้ดังนี้จะดีมาก

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๘ พฤศภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม
กลับขึ้นมาแล้วจึงได้นึกถนนริมคลองท่อ ได้จดหมายไปให้เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศ ความแจ้งอยู่ในสำเนาที่ได้คัดส่งมาด้วยแล้ว

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

วันนี้ฝนตก ได้ยืนดูจากพระที่นั่งอัมพร มีไอเดียในการที่ถ้าทำสวนขึ้นข้างหลังจะเห็นจากนี่อย่างไร ดูจะเห็นพระที่นั่งบรรยงเท่ากับอนันตสมาคมเท่านั้น
๑. พิจารณาดูที่ตั้งพระที่นั่ง เหนว่าตรงประตูสี่แซ้ไม่เหมาะถ้าตรงหว่างสวนสี่รดู กับสวนบัวเหมาะกว่า ทางพระยาวรพงษ์ตัดแล้ว เจาะประตูช่องกุฎออกไปเดินตรงมุขพระที่นั่งเฉพาะเป็นทางลับสำหรับเสด็จดีกว่าทางอื่น จะเดินไปดูงานได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป ทางถนนบ๋วยประตูสี่แซ้ต้องคอยตพาน ทางข้างสวนสี่รดูต้องคอยย้ายโรงทหาร ไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น ถ้าเช่นนี้ประตูสี่แซ้เป็นทางข้างในเดินทางเสด็จต่างหาก เป็นเชื่อมสวนนอกกับในวังได้สามทางๆหนึ่งข้างหน้าไป ทางหนึ่งเสด็จ ทางหนึ่งข้างในออก
๒. ที่ซึ่งจะเป็นข้างน่าตั้งแต่พระที่นั่งออกไป คงจะราว ๒ เส้นครึ่งไปหาสามเส้น กระชั้นอยู่หน่อย แต่ห่างถนนกว่าวังเบอนสตอบสัก ๓ เท่า ห่างกว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม กับประตูเหล็กด้านใต้ ไม่มาก
๓. พระที่นั่งคงจะอยู่ราวถนนตพานทอง ถ้าอย่าให้ถนนนั้นตกแม่น้ำเสียก็จะดี จะได้ใช้เดินดูงานไปพลาง
ยืนดูอดไม่ได้จึงจดลงดังนี้

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ พฤศภ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

มาคิดเห็นในเวลากลางวันนี้ว่า เรื่องตำหนักแพที่คิดกันเมื่อคืนนี้ เรายังหลงอยู่เป็นอันมาก หลงมาจากเริ่มต้นจะขุดคลองริมวัดสมอราย ย้ายไปแล้วก็ไม่ลืมหลงอยากจะตัดถนนใบพรให้ตรง ตัดไม่ตรงได้แล้วก็ไม่ลืม ยังจะพวักพวนให้ถนนนั้นตรงลงไปแม่น้ำให้ได้ จนถึงคิดถมคลอง

เมื่อมานึกดูว่านี่จะพยายามถมมันทำไมอีก ปล่อยให้มันเป็นคลองอยู่เช่นนั้น เป็นคูสวนเราไม่ดีฤๅ ที่วัดที่ติดข้ามฟากคลองมาห้าวาเราควรจะซื้อเอาเสียแล้วปลูกกอไผ่ลงไปให้แน่นจะบังวัดบังเมรุอะไรหายสูญหมด ฤๅถ้าไผ่มันช้าหาต้นไม้อะไรที่ขึ้นเร็วๆ ทำเป็นป่าให้ทึบให้งาม ถนนเอาตรงใบพร แต่ที่ปากปลายให้โอนคดเคี้ยวอย่างไรมาให้งามจนถึงตำหนักแพ ซีกข้างเหนือเป็นซีกข้างงาม ซีกข้างใต้เป็นซีกตากผ้าอ้อมเท่านั้น ก็จะแล้วกันจะไปนึกทำไมถึงท่าขุนนาง ขุนนางวางน้ำอะไรจะมาขึ้น ถ้าเจ้าพระยาสุรศักดิ แกจะข้ามฟาก แกคงขึ้นถนนซางฮี้ฤๅดวงเดือน ซึ่งรถลงไปจอดคอยอยุ่ได้ ที่เราจะปล่อยให้รถเข้าไปจอดคอยทำสกปรกเป็นนิวเซนอยู่ในที่ของเราทำไม เห็นเป็นง่ายแลไม่เปลืองยิ่งกว่าแต่ก่อน

คลองที่จะผ่านเข้าไปในที่วัดซึ่งเป็นที่จะข้ามสพานอยู่แห่งหนึ่งนั้น เป็นสำคัญกว่าอื่น ที่ตพานจะทำอย่างไรให้งามและไม่ให้เทอะทะให้รถข้ามได้สดวก แลให้เรือลอดได้ คลองจะกินเข้าไปในที่วัด พ้นจากคูวัดขึ้นไปแล้ว สักเท่าใดๆก็ได้ ไม่ควรจะให้ตพานในบ้านริมน้ำ อยู่ใกล้ถนนสามเสนมากนัก คลองที่จะเข้าวังคงไปแนวคลองวัดเดี๋ยวนี้นี่เอง เว้นแต่ไม่ต่อกันกับคลองวัดจะทอดลงมาข้างตวันตกเท่าใดก็ทอดได้ เอาแต่ให้เรือเดินสดวกตกลงเป็นเปลี่ยนเลิกถนนตรงเป็นถนนคด เลิกคลองตรงคลองคดเท่านั้น ทำให้ทางที่จะคิดง่ายขึ้นทุกอย่าง

นั่งๆ ดูบนพระที่นั่งอำภรชั้นสูง แลไปได้ไกลถ้ามีเรือนสูงๆ ถึงจะลึกห่างเข้ามาจากน้ำก็คงแลเห็นแม่น้ำดูก็จะสบายอยู่บ้างไว้สำหรับแปรสถาน ขอให้บอกให้ช่างที่เขาเขียนละวางความพยายามที่จะทำให้ถนนตรงให้ได้เสียอีกอย่างหนึ่งเห็นจะเบาขึ้นมากคดไปให้งามทั้งคลองทั้งถนนเถิด

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ พฤศภ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

ลองนึกดูเรื่องตำหนักแพมีอีกทางหนึ่งที่จะคิดได้ เมื่อปลดเปลื้องความลำบากอื่นได้หมดแล้ว เหลืออยู่สิ่งเดียวแต่สพานซึ่งเป็นสพานสามเสนสพานหนึ่ง สพานต้นถนนใบพรในที่ตำหนักแพสพานหนึ่ง ยังเกะกะอยู่ด้วยสพานหลังนี่และถ้าจะทำสพานสูงก็เปลืองที่ จะเป็นสพานหกก็เปิดปิดลำบาก ถ้าเลิกสพานหลังนี้เสียได้ นับว่าเป็นหมดข้อรังเกียจแท้

ทางที่จะเลิกได้นั้นมีอยู่ทางหนึ่งดังนี้ คือเอาคลองที่จะมีล๊อกกลับมาที่คลองวัดราชาธิวาศอย่างเก่า คราวนี้ไม่ขุดกินเข้าไปข้างวัด ขุดกินฟากข้างเราฟากเดียว ช่วยถมฝั่งของวัดที่แหว่งๆ เว้าๆ ให้เรียบเสียด้วย คลองยืนขึ้นมาจนถึงท้ายคูวัด พ้นนั้นจึงโอนไปข้างเหนือ ให้มาตรงเหมาะกับที่เราจะให้เข้าในวัง ถ้าทำเช่นนี้คลองสั้นลงมาก งดสพานเปิดปิดฤๅสพานสูงได้ ถ้าจะมีคลองฤๅสระในสวน ใช้เป็นท่อสพานรากเปิดแต่น้ำเข้ามา ฤๅเรือเล็ดลอดเข้าออกได้

แต่ส่วนคลองข้างใต้ซึ่งเป็นลำรางอยู่แล้วเดียวนี้ ขุดเข้ามาจนถึงบ้านจางวางฝีภาย เอาโรงเรือไว้ข้างใต้ เพราะจะใช้เข็นลงน้ำอย่างเช่นพระยาวรพงษ์ว่าโรงเรือนั้นกันเขตรโรงไฟฟ้า เป็นที่ไว้เรืออย่างเดียว ไม่มีล๊อกข้างริมแม่น้ำ ถ้าจะให้น้ำเต็มไปเพียงไรใช้เปิดน้ำในคลองล๊อกข้างเหนือลงไป บางที่เช่นนี้จะเป็นที่เรียบร้อยได้ ให้เขาลองร่างอย่างนี้มาอีกแปลนหนึ่งใช้เส้นดินสอ

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

มาคิดครอบครัวเรามันมีแต่จะน้อยลงไปทุกที นานเข้าคงแยกย้ายกันไป

กำแพงที่คิดจะกั้นย่อออกไปที่สวนสุนันทาเลิกเสียดีกว่า ถ้าไปเลิกภายหลังจะเข้าแปลนกันยาก ด้านเหนือจะเป็นซอกเขาที่ทิ้งร้างเปล่า แก้ขยายเสียเวลานี้ยังมีเวลาที่จะขยับขยายได้ เพราะลงมือปักทางข้างใต้ไปก่อน

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

นายนิ่มนั้นเคยเรียกว่าสายนาฬิกาทอง เป็นคนจงรักภักดีมากอยู่ ข้อที่เกิดคุ้นเคยกันขึ้นนั้น เป็นผู้รักษาสพานถนนตกเดิมไปเที่ยวแกก็ไม่รู้จัก ได้พูดทักทายกัน แกเหนท่วงทีเข้าเค้าขุนนางแกก็ย่อๆ ไม่ช้าคนที่อยู่ที่นั่นรู้จัก ไปกระซิบแกเข้าอย่างไรแกก็เลยแป้นตั้งแต่นั้นมา เพราะได้เคยคุยกันเป็นอย่างคนๆ เสียก่อนจึงทำให้สนิทสนม แกเลยจงรักภักดีจนออกสงสาร ซึ่งจะพามาหานั้นดีแล้ว คิดจะให้เหรียญราชรุจิเสียอย่างเดียวกับนายบุตรเมืองนนท

หนังสือพิมพ์ที่ตัดมานั้นดีนัก ที่ไซ่ง่อนฝรั่งเศสก็คงร่มเช่นนี้นี่เอง

ขอเติมเรื่องอื่นอีกนิดหนึ่ง เรื่องที่ให้ไปไกล่เกลี่ยลูกหลานยายทรัพย์เรื่องแบ่งปันเงินค่าซื้อที่บ้านนั้น มีข้อรำคาญอยู่อีกนิดหนึ่ง ที่ยายทรัพย์มารดาสมเด็จพระพุฒาจาริย์คนนี้ เป็นอุบาสิกาเก่าแต่ครั้งทูลหม่อม(๑) ยังทรงพระผนวชอยู่ ทรงคุ้นเคยมา เพราะบ้านแกอยู่ใกล้ ครั้นเมื่อเสวยราชแล้ว กลายออกจะเป็นข้าหลวงเดิม แต่ที่แท้ไม่ได้เป็นๆ คนเคยเฝ้าถวายของ เวลาเสด็จกฐินที่วัด และเฝ้าในวังปีหนึ่งสักครั้งหนึ่ง แต่ทรงทักทายปราไสยด้วยความคุ้นเคย เชื้ออันนั้นติดต่อมาเลยเป็นเข้าหลวงเดิมกันกับแผ่นดินประจุบันนี้อีก ตลอดจนเวลาแกตาย เข้าใจว่าจะเผาจี่กันเสร็จแล้ว พึ่งจะรู้วันนี้เองว่า ยังไม่ได้เผา แลจะต้องย้ายศพจากที่บ้านซึ่งจะต้องรื้อให้เกิดความตขิดตขวงใจดูเป็นไม่ปรานีแก่ความดีของแก จะต้องให้ศพต้องรเหรหน ทำไมจะจัดการยุยงอย่างไรให้เผาเสียได้ ถ้าท่านพุฒาจาริย์แกเป็นคนๆ ก็ไม่ยากอะไร นี่แกเสร็จโสฬศกิจเสียแล้วเช่นนี้ การศพมันก็จะตกอยู่กับลูกแลหลาน ซึ่งจะชิงเงินกันนัวอยู่รายนี้ ที่ไหนจะมีใครคิดเผา นึกว่าถ้าได้เงินไปแล้วศพยายทรัพย์เป็นจะไม่ได้เผา จะเกี่ยงกันไม่มีใครออก มันน่าจะทาบทามดูในเรื่องศพนี้เสียด้วย จะมีท่วงทีอย่างไรซึ่งจะจัดการเผาศพเสียก่อนได้บ้างถ้าหากว่าพอจะจัดการเผาได้แล้ว เรือนที่ไว้ศพจะรอไว้ก่อนก็ได้เพราะไม่ได้ถูกถนนรนแคมอันใด ขอให้คิดอ่านฟังลาดเลาให้ สักหน่อย

สยามินทร์

(๑) สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


สวนดุสิต
วันที่ ๒๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

เรื่องที่จะทำงานกระทุงรากเวลากลางคืนนั้น ไม่มีที่ขัดข้องอะไรเลย เวลากลางคืนเสียงคงดังกว่ากลางวันหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ดังกว่าปืนอาฎานา แลไม่มากเหมือนไม่เดือดร้อนอะไร อย่าให้วิตกเลย ยิ่งเร็วได้ยิ่งดี

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

พระที่นั่งในสวนสุนันทานั้น ตามความคิดที่กะเดิมเห็นจะโตนัก จะทำไม่แล้วได้ ควรจะคิดใหม่เลีกแดอรีเสีย คงแต่ปราสาทหลังหนึ่ง จัตุรมุขหลังหนึ่ง กับท้องพระโรง ถ้าจะให้ดีให้พานายหรูมาคิดกันอีกสักเวลาหนึ่ง ถ้านิ่งๆ ไปกรมหลวงนริศจะช้าอีก จนไม่ได้ลงมือ

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๒ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุมนัยวินิต

คิดเห็นว่าที่สพานข้ามคูหลังวัด มีประตูใหญ่เต็มถนนจะแลดูงามทั้งข้างถนนและข้างแม่น้ำ แต่รากประตูจำจะต้องทำพร้อมกับสพาน จึงจะหมั้นคง เวลานี้กำลังลงมือทำรากสพานจึงต้องรีบร้อนบอก ขอให้ขยายรากด้านข้างในวัดให้กว้างออกไปสำหรับที่จะรับเสาประตู จะเขียนรูปประตูโดยด่วนทันทีไม่สำเร็จได้ จึงขอบอกเป็นเค้าเงื่อนพอเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อนดังนี้ ประตูนั้นจะทำสามช่อง เป็นเสาอิฐปูนสี่เสา กว้างรวมทั้งสามช่อง ๖ วาเท่าถนนแลสพาน ซุ้มของประตูจะทำด้วยไม้ เพื่อจะให้เบา โดยสูง ๕ วาไปหา ๖ วา ที่ซึ่งจะตั้งประตูนั้น ควรจะสังเกตุได้ดังนี้ คลองหลังวัดฟากข้างในจะลงเขื่อนอิฐห่างจากเขื่อนเข้าไปศอกหนึ่ง จะปักหลักอินทขีลเป็นรั้ววัด ประตูนี้จะตั้งสูญกลางได้หลักอินทขีล รากที่จะต้องการสำหรับรับประตูกว้าง ๕ ศอกยาวเต็มตามกว้างของถนน ได้ส่งรูปสเกชพอให้เป็นที่เข้าใจเค้าเงื่อนมาด้วย ขอให้ช่วยทำรากสำหรับประตูนี้ติดต่อเป็นแท่งเดียวกันกับสพาน ค่ารากประตูแลตัวซุ้มประตู จะใช้เงินในการปฏิสังขรณ์ ไม่ต้องเกี่ยวแก่เงินศุขาภิบาล
สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๔ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุมนัยวินิต

ประตูใหญ่วัดราชาธิวาศนั้น เขียนรูปขึ้นแล้ว มีข้อขัดข้องถ้าจะทำเต็มถนน ๖ วา ต้นไม้จะบัง จึงคิดเห็นว่าน่าจะต้องลดให้แคบเข้า ถ้าประตูแคบเข้าแล้ว ตพานกว้างถึง ๖ วาจะไม่งาม บางทีจะต้องลดตพานให้แคบเข้ามาเพียง ๔ วา ในการที่จะขุดรากตีเข็มตอนใน ๔ วาทำได้ไม่ขัดข้อง แต่นอกออกไปอีกข้างละวา ขอให้รอไว้ฟังตัวอย่างประตูให้สำเร็จก่อน คงจะรู้ได้ในวันสองวันนี้ ที่รีบบอกมาเสีย เพื่อจะกันไม่ให้ลงเข็มในที่ซึ่งบางทีจะไม่ต้องก่อ แต่ถ้าเห็นว่างานยังไม่ถึงเวลาที่จะเสียหาย อย่าเพ่อบอกมองซิเออเดอลามโฮเตีย(๑) เลย ไว้เมื่อได้แบบประตูจะลดตพานแคบเข้ามาเท่าใด จึงบอกเมื่อนั้นครั้งเดียวแล้ว

สยามินทร์

(๑) นายช่างใหญ่ กรมศุขาภิบาล


สวนดุสิต
วันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

วันนี้พระยาบริบูรณ(๑) มาหา ได้ไต่ถามด้วยการงานต่างๆ ไปได้ความรู้ที่เราควรรู้อย่างหนึ่ง หวังว่าเข้ามาจะเล่าให้ฟัง แต่รู้ข่าวจากลูกโต(๒) ว่าเปียกฝน ขอให้รวังตัวอย่าให้เจ็บ เรื่องราวนั้นดังนี้

คำที่เรียกว่าเชมเบอร์ออฟคอมเมิสของพวกจีน ไม่ใช่อย่างยุโรเปียนเซ็นสเขาเรียกว่าหลงกงเซียง คือคำสี่แซ้ยกสือออกเสีย เพราะสือนั้นเป็นฝ่ายข้างนักเรียน หลงเป็นฝ่ายข้างเพาะปลูก กงเป็นฝ่ายข้างหัตถกรรม เซียงเป็นฝ่ายข้างพานิชกรรม กงสีนี้บำรุง ๓ อย่างข้างหลัง ยกที่ ๑ เสีย จึงได้ยี่ห้อว่าหลงกงเซียง

กงสีหลงกงเซียงนี้ได้จดบาญชีต่อรัฐบาลสเตรตเป็นคอมเมอเชียลโซไซเอตี แลได้รับดีกรีฤๅชาเตอร์จากรัฐบาลจีน เป็นปับลิกกงสีขึ้นต่อกรมค้าขาย อันตั้งตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลจีนกงสีอาจจะเลือกไดเรคเตอร์ กรรมการเปลี่ยนแชร์แมนแลกอมมิตีทุกปี ลูกค้ายี่ห้อต่างๆ จะไปจดชื่อเข้าบาญชีกงสีนี้ต้องลงเงินตั้งแต่ ๓๐ เหรียญขึ้นไป ถ้าเป็นกงสีใหญ่ๆ ให้ตั้งพันเหรียญก็มีกงสีนี้มีที่แผ่นดินตึกรามเป็นสมบัติของกงสี ตั้งออฟิศใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ในสเตรตแลยวาเข้ารวมในกงสีสิงคโปร์ แต่ไซ่ง่อนจะเป็นอย่างไรพระยาบริบูรณไม่ทราบ

ประโยชน์ในการเข้ากงสีนี้ ถ้ามีข้อขัดขวางในการค้าขายของกงสีเดียวกัน แชร์แมนแลกอมมิตีของกงสีว่ากล่าวไกล่เกลี่ยเป็นความเถ้าแก่สำเร็จได้มาก สดวกขึ้นแก่การค้าขาย ส่วนประโยชน์ที่สำคัญแท้จริงนั้นกงสีนี้บอกส่งยี่ห้อแลตำบล จำนวนทุนทรัพย์แลการค้าขายที่ทำไปยังบอดออฟเทรดในเมืองจีน บอดออฟเทรดจดบาญชีนั้นไว้ ถ้าเมื่อจะเข้าไปค้าขายฤๅไปมาในเมืองจีน มีความขัดข้องอย่างใด ฤๅถูกเจ้าเมืองกรมการกดขี่ประการใดกงสีหลงกงเซียงแจ้งความไปยังบอดออฟเทรดๆ เอาเป็นธุระออกท้องบัดใบตรามายังจ๋งต๊กตามหัวเมืองต่างๆ ให้ช่วยทนุบำรุง พวกจีนรู้สึกกันว่ากงสีนี้มีประโยชน์มากดังนี้

ส่วนในเมืองเรากงสีเช่นนี้ยังไม่มี พิเคราะห์ดูก็เห็นจะไม่ใคร่มีขึ้นได้เร็วนัก ด้วยการค้าขายของจีนเมืองเราไม่ได้ตรงต่อเมืองจีน เป็นค้าสิงคโปร์และฮ่องกงโดยมาก ข้อที่ขุนนางจีนเข้ามาตรวจตราในเรื่องการค้าขาย ที่ว่าจะตั้งเชมเบอร์ออฟคอมมัสนั้นคือเช่นนี้ ถ้าหากว่าเมืองเรามีกงสีเช่นนี้จะได้ประโยชน์แต่ที่ว่าความเถ้าแก่ให้สำเร็จกันไปได้ แต่ยังไม่เห็นว่าจีนจะเข้ากันได้ถึงเช่นนั้น เราควรจะรู้เรื่องนี้ไว้สำหรับสกดรอยฟังดู ถ้าหากว่าจะมีขึ้นจริงในบางกอกดูน่าจะแก้ยาก เพราะเหตุที่ทางดำเนินก็ดูเป็นธรรมดีอยู่ เว้นไว้แต่จีนเมื่อรู้สึกมีกำลังขึ้นแล้ว จะใช้กำลังแต่โดยทางธรรมฤๅไม่ เป็นข้อที่เราจะต้องรวังต่อไป แต่ในเร็วๆ นี้หวังใจว่าจะยังไม่มี

สยามินทร์

(๑) พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (มิ้น เหลาหเศรษฐี)
(๒) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


ที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์
วันที่ ๑๕ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗

พระยาสุขุม

ด้วยเมื่อวันก่อนจะขึ้นมาได้อ่านหนังสือพิมพ์ เห็นกล่าวว่าตั้งโซไซเอตีจีนขึ้นใหม่ ................................... นึกจะพูดด้วยในวันที่จะมาแต่เห็นคนอยู่มาก คิดเห็นว่า ............................
................................................................................................ จะต้องคิดอ่านระวัง ถ้ามันจดบาญชียังดีกว่าไม่จด ถ้าฟุ้งซ่านอย่างไรมาเราอาจจะขับไล่เสียได้ เว้นไว้แต่ต้องไม่เผลอ

วันนี้ได้ไปเที่ยวปากน้ำเชียงไกรด้วยเรือครุธเหิรเห็จ แล่นทวนน้ำน่าชื่นใจเต็มที เข้าไปถึงวัดพะหลวง ๒ ชั่วโมง หยุดพักกินเข้าชั่วโมงเศษ ล่องกลับตั้งแต่วัดพะหลวงมาเขาบวชนาคชั่วโมงหนึ่งหย่อนๆ ครั้นเวลาจะออกเรือหมุนไม่ไป อะไรๆก็ดีอยู่หมด จึงสงไสยว่าจะเป็นในสูบ เวลาเรือแล่นน้ำมันที่หยอดในสูบต้องไหลจ้ออยู่เสมอ ครั้นเมื่อขากลับดุ๊กไปนั่งมองๆ ทักว่า น้ำมันไหลมากไปให้บิดเข้าเสียบ้าง ด้วยเข้าใจว่าจะเหมือนโมเตอร์คาร์ น้ำมันไหลมากไปจะไปเต็มในสูบ แต่การกลับตรงกันข้ามคือน้ำมันน้อยไปไม่พอเครื่องร้อน เวลาเรือเดินอยู่ก็เดินมาได้ พอเวลาหยุดเข้าเหล็กก็ติดกัน เดี๋ยวนี้ต้องรื้อเครื่องขึ้นหมด ตรวจว่าจะเป็นด้วยอะไรแน่ ยังรู้ไม่ได้จนเดี๋ยวนี้ เพราะพึ่งจะยกเครื่องขึ้นได้ ถ้าต้องลากกลับลงไปบางกอก จะเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติยศมาก เสียดายที่เที่ยวสนุกจริงๆ ด้วย แต่หวังใจว่ายังจะแก้ได้

สยามินทร์


เมื่อวันเสด็จถึงสุพรรณบุรี วันที่ ๒๐ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗
ได้รับพระราชโทรเลข ดังนี้:-
ถึง พระยาสุขุม
กรุงเทพฯ

มาถึงเวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ยังไม่พบใคร ได้รับโทรเลขขอบใจ ชื่อบ้านที่กรมหลวงดำรงเรียกสุขุมมาลัย ต้องกับโรงเรียนวัดพิไชยญาติ จึงเรียกใหม่ว่า ยะมะรัทโช(๑) สบายดีหมด กินเข้าได้ ฝนตกไม่มาก

สยามินทร์

(๑) บ้านของท่านเจ้าพระยายมราชที่จังหวัดสุพรรณบุรี


เมืองสุพรรณบุรี
วันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗

พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือจากนิล(๑) นำมาให้ข้อความในนั้นจะไว้พูดกันเมื่อกลับไปกรุงเทพฯ จะขอบอกข่าวการที่มาสุพรรณครั้งนี้ ที่บ้านนี้ช่างแปลกกับคราวก่อนเสียจริงๆ ถึงน้ำไม่ท่วมก็ขึ้นทีเดียว นิลเลี้ยงแขงแรงมาก วันแรกได้กินแกงบวนอะร่อยดี วันนี้ได้กินขนมจีนน้ำยา อยู่ข้างจะแจกทั่วถึงมาก

เรือครุธเหิรเห็จนั้นตั้งแต่วันหมุนไม่ไปครั้งก่อน แก้แล้วก็เดินไม่สนิท กะแทกเป็นคราวๆ ครั้นมาในคลองมะขามเฒ่าใบจักรไปฟันขอนไม้ที่ลอยมาในน้ำๆ ท้ายเรือขึ้นเป็นฝอย แต่แล่นมาได้ ครั้นเมื่อถึง เดิมบาง ยกขึ้นดู ใบจักรฉีกไปสักเกือบ ๒ นิ้ว แลพึ่งมาได้ความว่า เมื่อเปลี่ยนจักรที่นครสวรรค์ รพี(๒) เอาจักรขวาไปใส่จักรซ้าย บิดผิดกันไปจึงได้กระเทือน บัดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แบบบางเต็มที ถูลู่ถูกังไม่ได้

ชาวสุพรรณดูนับถือเจ้านายมาก ลักษณอาการกิริยาที่ไหว้กราบออกจะใกล้ข้างพระมากกว่าเจ้า มีอธิฐานขอพรเชิงบนๆ ต่อไป ยากที่จะมีเมืองไหนอ่อนน้อมเรียบร้อยเหมือน การที่จะแปลงปลอมเที่ยวนั้นเป็นไม่สำเร็จ เพราะรู้แลเตรียมเสียทั่วหน้าแล้ว ได้ลองเอาแตรเป่านำกระบวนล่อให้หลงว่า มาในกระบวนใหญ่ แล้วลงเรือเล็กตามมาข้างหลัง แรกๆ ก็งงอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็รู้จัก แตรนั้นออกจะไม่รู้สึกว่าเป็นการแห่เสด็จ เที่ยวไล่ตามสุ่มเอาตัวที่รู้จักด้วยรูปแหละเป็นที่ตั้ง เพราะรูปนั้นกันได้สารพัด ผีก็ไม่หลอก ไข้เจ้บก็รักษาได้ เสมาก็แช่น้ำกินหายเจ็บ ดูรู้จักทุกคนไม่มีใครจะเงอะงงเสียเลย จนต้องตกลงเลิกประพาศต้น เพราะดูก็น่าสงสารเที่ยวไล่ตามหาทุกหนทุกแห่ง เสมาไม่พอถึงไหนก็หมดที่นั้น ซื้อขายกันราคาแพงมาก น่าจะต้องสั่งเติมอีก

นึกถึงการงานที่บางกอก ได้ข่าวเรือถึงรูปถึงในวันนี้ หวังใจว่าการงานคงจะดำเนิน ไปดี

มาคราวนี้เหนื่อยอย่างเดียวแต่เรื่องนั่ง หาที่แผ่นดินช่างยากเสียจริงๆ เป็นน้ำไปเสียทั้งนั้น แต่ที่เหนื่อยก็ดีกินเข้าได้แลนอนหลับ ทีจะมีกำไร ฝนไม่สู้มากนัก แต่ไม่หมด ลมยังเป็นตวันตก พึ่งมีฝนตวันออกวันนี้ อากาศกำลังเย็นสบายดีไม่ร้อนไม่หนาว ขอจบไว้เท่านั้นที มีของฝากแต่ยังไม่บอกให้รู้

สยามินทร์

(๑) พี่ท่านเจ้าพระยายมราช    (๒) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์


วันที่ ๒๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
พระยาสุขุม

พึ่งรู้เดี๋ยวนี้เวลาสามยาม ว่าหีบแหวนซึ่งเป็นราคาหลายร้อยฤๅตั้งพันชั่งได้หายเมื่อเวลาขนของขึ้นมา .....................................................................................................................
.................................................................................................................................................
รู้จักแลเป็นผู้เคยหยิบแลเป็นผู้เอาไปเป็นหีบหนังดำย่อม ประแจเป็นกลห้ามในตัวไม่มีลูก ขอให้เร่งตามตัว ....................................... ไปไต่ถามแลรีบค้นโดยเร็ว

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๙ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

เรื่องคำจาฤกที่ได้วานให้ช่วยร่างไว้แต่แรก ร่างลงไปไม่ได้เป็นการแต่งอิตปิโสตัวเอง ครั้นเมื่อได้เห็นร่างซึ่งทำขึ้นไว้ มีใจความบริบูรณ์แล้ว แต่ถ้อยคำยังกระจัดกระจาย จึงได้รวบรวมข้อความเหล่านั้น ควรจะเรียกว่า ประพันธ์เข้าใหม่ไม่ให้ผิดความเดิม คำจาฤกเช่นนี้เป็นอย่างยาว จึงได้ลองเติมพระนามย่อลงให้สมกับเหตุการแลตามรูปหนังสือที่ยาวเช่นนี้ ถ้าที่ไม่พอตัดออกเสียก็ได้

ข้อซึ่งหมายบอกวรรคเป็นที่ ๑, ๒, ๓, ตามลำดับ เพราะเหตุที่ไทยๆ เราแบ่งวรรคไม่ใคร่เป็น ข้อซึ่งบอกตัวใหญ่ตัวเล็ก ตัวกลาง ตัวใหญ่นั้นเป็นที่หมายแห่งคำสำคัญ ตัวกลางบอกท้องเรื่อง ตัวเล็กเป็นพลความ ที่ท่าจะข้ามอ่านแต่ตัวใหญ่แลตัวกลางก็ได้ เวลาที่ทำน้อยอยู่หน่อย แลความจริงนั้น ถ้าจะใช้คำให้เลิศลอยไพเราะก็กระดากใจ ถ้าจะเรียงให้สั้นกว่านี้ลงอีกก็เรียงได้เพราะ แต่กลัวนักเรียนแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าจะอ่านไม่เข้าใจ เพราะตัวเป็นพระจุลจอมเกล้า แลความรู้เป็นนักเรียนแผ่นดินพระจอมเกล้า ผิดการผิดสมัย ทั้งจะต้องเรียงใหม่ด้วย จึงเห็นว่าเพียงเท่านี้ก็จะพอใช้ได้ เว้นไว้แต่ถ้าจะแก้ไขพลิกแพลงอักษรแลศัพท์ให้เพราะขึ้น ยังมีผู้อื่นที่สามารถจะทำได้จึงส่งมาให้ดูลองดูที

สยามินทร์

ป.ล.
ข้อที่ลงท้ายทฤฆายุศมศิริสวัสดินั้น เป็นแบบโบราณที่ลงทั่วไป ไม่เฉภาะเจ้าแผ่นดิน ในสุวรรณบัตรเจ้านายขุนนางก็ใช้ฟังดูเพราะดี แต่เลือนๆอยู่หน่อย ไม่ชี้ตัวว่าใคร ถ้าทีคายุโกโหตุมหาราชา ชี้ตัวตรงใช้เฉภาะเจ้าแผ่นดินองค์เดียวแต่อินจัดข้อที่ให้ลงท้ายเช่นนี้ เพราะจะให้ปรากฏว่าสร้างในเวลาเจ้าของรูปอยู่ ตรงกับที่จะให้ลงท้ายว่า ลองลิฟดิกิง จะใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้


สวนดุสิต
วันที่ ๒๙ ต.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

กลับขึ้นมาอ่านร่างจาฤก เห็นข้อความที่ควรแก้แลผิดบางแห่ง ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

ในวรรค ๕ คำที่กล่าวไว้ว่า บรมบพิตรท้ายภูมิบาล ในที่นี้ไม่ใช่แปลว่าพระองค์ บพิตรในที่นี้ ปวิตตะ แปลว่าเป็นที่ปลื้มใจ

คำว่าปฏิบัติน่าอธิฐานควรจะยกเสีย เพราะมีคำนี้ต่อไปข้างน่า เป็นพูดซ้ำซากไป ใช้ทรงลงแทน เป็นทรงอธิฐานพระราชหฤไทย

ข้อที่ว่า พระองค์ทรงทำความสุขสำราญแห่งประชาชนให้สำเร็จได้ เปลี่ยนเป็นประชาราษฎร์

ในวรรคที่ ๖ คำว่าบัลลุ เขียน บ.ล. ไม้ผัดเช่นนี้ผิด ให้ใช้ บ.ร. หันต บรรลุในศิริรัชกาลให้ยกเสีย ให้ใช้ว่า รัชมังคลาภิเศกสัมพัจฉรกาล

ท้ายคำซึ่งว่า อันได้พรรณามาแล้ว ให้เติมนั้นลงอีกคำหนึ่ง

ข้อที่ต้องแก้ไขที่คิดเห็นในเวลานี้มีเพียงเท่านี้ การที่มีหนังสือส่งมาเฉเช่นนี้ ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด มันนึกทลุขึ้นมาเช่นนั้น เห็นจะเป็นทางวินัยกรรม ว่าไม่ได้แต่งให้กรมหลวงดำรง

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๓๑ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

ที่แต่งสำเพ็งนั้นนึกอยากจะไป แต่กลัวจะไม่มีเวลา จะคิดอ่านผ่อนผันประการใด แลต้องเดินฤๅอย่างไร ถ้าเลยไปจนวันที่ ๑๔ น่าจะไปได้ แต่ว่าต้องคิดเรื่องจะไปอย่างไรเสียก่อน
สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒ พ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

ขอต่อว่าว่าแกมาเกณฑ์ให้ช่วยแก้ร่างคำจาฤกเป็นการผิดคราวผิดสมัยไม่มีผู้ใดอ่านเข้าใจ ฤๅอ่านเข้าใจแต่ไม่เป็นที่พึงใจทำนองหนังสือ เพราะมันเป็นเสียงคนแก่พูดไป

อันลักษณที่กรมดำรงเรียงมานั้น เขาเรียกว่าผการาย อ่านจนตายก็จำไม่ได้ จึงได้แก้รัดเข้าเป็นร้อยแก้ว ซึ่งคนทุกวันนี้เห็นจะตั้งแต่กรมวชิรญาณ(๑) เข้าใจว่าเขียนลงไปว่ากระไรๆ เป็นภาษาข้างอิน เรียกธรรมวัติ ข้างคฤหัสถ์เรียกว่าร้อย ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ อติเรก ถวายพระพรลา ถวายพระพรก่อนเทศนา เหล่านี้เป็นร้อยแก้วทั้งนั้น ประการที่สำคัญๆ เช่นประกาศราชาภิเศกประกาศพิธีตรุสเป็นร้อยแก้วทั้งนั้น ร้อยแก้วนั้นคือมีสำผัศไม่กำหนดใกล้ชิด ใช้ถ้อยคำที่สละสลวยพลิกแพลง เรียกอะไรไม่ซ้ำเหมือนกันทุกที ยักเรียกอย่างนี้บ้างอย่างนั้นบ้าง ถ้าแต่งกล้ำกินความให้ได้กว้างยิ่งดี ผู้รู้แต่ก่อนท่านแต่งกันเช่นนี้ชมว่าดี เห็นแล้วว่าคนทุกวันนี้คงมีความรู้ไม่ถึง ฤๅไม่พึงใจกลายเป็นเร่อร่าใช้ภาษามคธมาแปลเป็นภาษาไทย พูดไทยให้ถูกภาษามคธ อย่างพูดไทยให้ถูกภาษาอังกฤษช่วยไม่ได้ กลายเป็นภาษาไพเราะของเมืองไทยในเวลานี้ ทั้งคำที่เคยถือว่าไม่ดี เช่นสามัคีรศ ซึ่งพระจอมเกล้าตัดสินไว้ว่าสำหรับเข้าห้องคู่กันกับสนมโอชารศสำหรับกล้องฝิ่น ก็มีมาแก้ เพราะฉนั้นจึงรู้สึกว่าพ้นจากน่าที่ เพราะทำนองหนังสือเรียงเป็นภาษามคธแปลเสียแล้ว ควรจะแก้ให้เป็นมคธแปลให้หมดจะรับเรียงไว้ใหม่ ถ้าเป็นร้อยแก้วบ้างไม่เป็นบ้างเช่นนี้ อายผีสรางเทวดา ถ้าหากว่ามนุษย์จะไม่รู้ คงจะมีผู้ที่มีความรู้ยิ้มเย้ยเยาะบ้างเป็นแน่ เพราะฉะนั้นขอให้กระจายกลอนเสียให้หมดให้จงได้ แลเติมด้วยแลอะไรๆ ลงไปให้บริบูรณ์ในภาษาจะดีเหมือนกัน ขอว่าสำนวนทำนองไหนให้เป็นทำนองนั้น ถ้าปนกันเลอะแล้วเห็นจะไม่เป็นการ

ขอต่อว่า ซึ่งให้กรมนเรศรมาถามออฟพิเชียรลิ ว่าจะยอมให้แก้ฤๅไม่เช่นนี้ ไม่ใช่น่าที่ที่ควรจะตอบกลายเป็นทรงร่างไปเท่านั้นเอง คราวนี้ถ้าถ้อยคำงุ่มง่ามอย่างไร เขาก็จะว่าเจ้าของท่านเรียงของท่านเอง เห็นไม่เป็นแก่นสาร แต่นี้อย่าได้ปฤกษาหารือกันต่อไป เลิกเท่านี้ที

สยามินทร์

(๑) สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส


สวนดุสิต
วันที่ ๒ พ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

รู้ฤๅไม่ว่าการก่อฤกษ์นั้นต้องมีคำจาฤกบรรจุ ถ้าจะนิ่งอยู่เช่นนี้ .............. คงจะไม่กระดิกเอง ถ้ากระดิกขึ้นมาเองเมื่อไรทีฝนจะตกมากน้ำจะท่วม ถึงจะไปเขย่าเข้าแล้วน่ากลัวจะไม่เรียงเองส่งถวาย

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

ได้ส่งร่างคำจาฤกบรรจุศิลาฤกษ์ อย่างตามบุญตามกรรมพอแล้วไปมาให้สำหรับเติมความตอนที่ว่าสร้างอย่างไร จะได้ย่นเวลาให้สั้นเข้า หาไม่กว่ากรมสมมตจะรอให้พบตัวพระยาสุขุมเข้าไปถึงในออฟฟิศ จะช้าโยเยต่อไป ต้นปลายนั้นมันไม่ยากบากอะไร ถ้าหากว่ากรมสมมตทำไม่ไหว ส่งกลับเข้ามาเรียงให้ก็ได้ เวลานี้กำลังเขียนอะไรที่สำคัญอยู่กว่านี้ จึงงดไว้ไม่ได้เรียงให้สำเร็จไปทีเดียว

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

พระยาสุขุม

หนังสือไปถึงช้าเกินประมาณ การซึ่งว่าแก้ไขตกลงแล้วจะเป็นประการใดเดาไม่ถูก มีภาษาฝรั่ง of เติมลงไปในคำจาฤกไม่ได้ทักท้วงไว้คำหนึ่ง ใจข้าถ้าจะพูดภาษาไทยก็ภาษาไทย ถ้าจะเรียนข้อความจากภาษามคธ ฤๅภาษาอังกฤษ ก็ต้องเรียนให้สนิทในทางความแจ่มแจ้งเป็นภาษาไทย ถ้าจะแปลภาษามคธ ฤๅภาษาอังกฤษลงเป็นภาษาไทย ก็ให้ถูกบทพยัญชนะแลลิลาศแห่งภาษา แต่เช่นกรมท่าแปลอังกฤษ กรมหลวงวชิรญาณแปลธรรมจักษุ จะกลับอ่านเป็นภาษาเดิมได้โดยง่ายเช่นนั้นจึงจะดี ถ้าคาบลูกคาบดอก พูดภาษาไทยใช้วิภัติปัจจัยมคธ เขียนภาษาไทยใช้ศัพท์อังกฤษไม่ใช่เพราะไม่มีคำเพราะจะให้ไพเราะเช่นนี้ ข้าเห็นเถนงุ่มง่ามฤๅโซ๊ดเต็มที แต่ข้อที่แต่งเป็นภาษาไทยแท้ มันก็ชวนจะเร่อร่า เพราะเหตุว่าคนทุกวันนี้ไม่ได้พูดภาษาไทย พูดฝรั่งบ้างเจ๊กบ้างลาวบ้างปนกันกับภาษาไทย เมื่อฟังไทยล้วนเข้าก็เร่อร่าเป็นธรรมดา จึงไม่ใคร่สมัคที่จะเรียงหนังสืออะไร เพราะเดินตามภาษาไม่ทัน

ข้อซึ่งว่า ................ รับว่าได้คำจาฤกที่จะบรรจุนั้น บัดนี้ได้ส่งเข้ามาแล้ว คือคำ จาฤกก่อฤกษ์พระที่นั่งวิมาณเมฆ แลพระที่นั่งอัมพร ถามว่าจะเอาอันไหน ถ้าหากว่าจะทำให้ใหม่ ก็ขอให้เรียงออกไป ประกาศตั้งกรม ๓ องค์ ตั้งเสนาบดีคนหนึ่ง ประกาศพระราชพิธีรัชมังคลา- ภิเศก พระฉบับหนึ่ง คฤหัฐฉบับหนึ่ง มันก็ตกลงอยู่ข้าเป็นตาอาลักษณสำหรับเรียง จะเอาดีมาแต่ไหน ซ้ำคำตอบแอดเดรสมกุฏราชกุมารก็อีกฉบับหนึ่ง ล้วนแต่ต้องเตือนทุกแห่ง จึงต้องส่งเข้ามาให้ทำ หาไม่ก็ทิ้งไว้พรุ่งนี้จะถึงงานจึงจะมาเรียกเอา เมื่อมันมีคนๆเดียว รับแต่ลูกยอเขาร่างร่ำไป การงานอะไรก็คั่งค้างไปหมดไม่มีเวลาจะทำ ใครๆเขานอนเล่นสบาย เจ้าแผ่นดินตกายไปคนเดียวเช่นนี้ ถ้าหากว่าตายเสียใครจะทำมันมิต้องประกาศว่าช่วยไม่ได้ฤๅ นี่จะทำอย่างไรกันอย่างนี้

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๕ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ได้รับหนังสือเรื่อง ผู้ ร้าย ตี ศีศะ แล แย่ง ชิงสิ่งของกับ เงิน มิสฟูล์ คนรับจ้างตัดเสื้อห้างแบดแมนมาเที่ยวที่ถนนสนามม้าสวนดุสิตนั้น ได้อ่านทราบความแล้ว ไม่ได้การอ้ายนี่ร้ายกาจยิ่งกว่าอื่นหมด กลัวมันจะสำส่อน อ้ายหัวไม้ฟันหัวตำรวจจะแอบเข้ามาเที่ยวอยู่ตามเหล่านี้ด้วยก็ไม่รู้ ถ้าปราบเรื่องนี้ไม่ลงเห็นจะเสียชื่อเมืองไทยแน่แล้ว

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่     รัตนโกสินทรศก

ถึง พระยาสุขุม

อยากจะอวดอาลักษณชาวบ้านคิดชื่อ ชาววัดที่อวดดีคิดไม่ได้ดอก อย่าถือท้ายชาววัดให้หนักไป ชื่อที่กรมขุนสมมตลงมาในประกาศนั้นดังนี้

เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร์ มหินธาราธิบดีศรีวิไชย ราชมไหสวริยบริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกาธิกรณ์ ทัณฑฤทธิธรชาติศวรสิงหพาหเทพยมุรธาธร มหานครบาลสมุหบดี อภัย-หิริยบรากรมพาหุ

ครั้งไปเจอว่าตกตาย จึงขอให้แปลชาติศวร แปลไม่ได้จึงไปค้นต้นฉบับตั้งเจ้าพระยายมราชครุธ ได้ความว่า ทัณฑฤทธาดิศวร สิงหพาหเทพยมุรธาธร ก็ยังไปซ้ำกลอน ถ้าหากว่า อ่านศร ถ้าอ่านศวรก็ไม่เข้ากลอน

อนึ่งฑัณฑฤทธาธิธรนี้เป็นตำแหน่งบังคับมหันตโทษ ผิดกาลผิดสมัย จึงเกิดอวดดีแก้ใหม่ ว่าดังนี้

เจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร มหินทราธิบดีศรีวิไชยราชมไหสวรรย์บริรักษ์ ภูมิพิทักษ์โลกาธิกรณ สิงหพาหเทพยมุรธาธร ราชธานีมหาสมุหประธาน สุขุมนัยบริหาร อเนก- นรสมาคม สรรโพดมสุทธิศุขวัฒนาธิการ มหานคราภิบาล อรรคมาตยาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ

ฤๅจะว่าภาษามคธไม่ดีที่แห่งใดก็ให้แก้ แต่อย่าให้ถึงต้องเขียนด้วยหนังสือขอม

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

จดหมายมาเรื่อง ................. มาแจ้งความนั้นได้ทราบแล้ว กรมหลวงดำรงบอกค่ำวันนี้ ว่าดูเหมือนคิดอ่านจะมาหากรมหลวงดำรง กรมหลวงดำรงก็อยากจะพบ ได้ถามว่าเพื่อประโยชน์อย่างไร ก็มีความปรารถนาแต่จะฟังเสียงว่ามันจะคิดอย่างไร จึงได้บอกว่า การที่จะรู้ความคิดของคนเช่นนี้ก็น่ารู้อยู่ แต่กรมหลวงดำรงเหมือนตราพระราชสีห์ใหญ่ กรมหลวง เทววงษ์(๑) เหมือนตราบัวแก้วใหญ่จะประทับแห่งใดก็ต้องอ้างพระบรมราชโองการ คนเช่นนี้ได้มาหาก็เหมือนอย่างกับได้เฝ้า เห็นว่าไม่ควร เพราะประโยชน์ที่จะได้อย่างใดไม่มีเลย มีแต่ทางเสีย ถ้าจะว่าได้ก็แต่เพียงพอใจ ที่ได้รู้ความคิดเขาตามปราถนาอันอยากจะรู้ ให้คนอื่นไปฟังดีกว่ากรมหลวงดำรงวิตกไปว่า จะหาคนที่พอซักไซ้ไล่เลียงไม่ได้ จึงบอกว่าถ้าเพียงตราม้าเห็นจะพอ ที่จริงใจก็ยังไม่สู้รักอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นกรมเมืองแต่มิใช่ตัวเจ้าพระยายมราชก็จะดีกว่า ขอให้พูดกับกรมหลวงดำรงดู แล้วคิดอ่านอย่างไรรุนเอามันออกไปเสียให้พ้นเมืองเราได้จะดี คนที่เป็นหัวน่าความคิดคนมากๆ เช่นนี้ โดยจะไม่เกี่ยวข้องแก่เมืองเราเลย ..................... ก็จะคิดเลยไป จะได้ความร้อนใจ

สยามินทร์

(๑) สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ


สวนดุสิต
วันที่ ๔ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

ส่งน้ำคลองในวังมาให้ดู เหตุด้วยปิดไว้ในเวลาน้ำมาก น้ำจึงเป็นตัวดังนี้ ควรจะดูเป็นตัวอย่างว่าน้ำที่ขังอยู่ในท่อในบ่อในห้วงทั่วไปในบางกอกคงจะมากกว่านี้ จะไม่ให้มีโรคภัยไม่ให้มียุงอย่างไรได้ เป็นข้อที่ควรกรมศุขาภิบาลจะพิจารณาอย่างยิ่ง

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

ครัวที่จะทำกับเข้าในวันที่ ๑๑ เตรียมพร้อมหมดแล้ว ถ้วยชามที่จะบรรจุกับข้าวครัวใดครัวนั้นหาไป แต่จานซ่อมช้อนถ้วยแก้วมากด้วยกัน ครัวกรมเมืองจะรับไม่อยู่ ขอให้นัดหมายกับพระยาบุรุษย์(๑) แต่ต้องให้มีมหาดเล็กลงไปเลี้ยง

ข้อสำคัญนั้นคือของหวานต้องเป็นของเมืองสมุท ควรจะมีสิ่งเดียวแต่ขนมปิ้ง แลควรจะอันใหญ่ๆ อร่อยกว่าอันเล็กๆ ควรจะมีแต่อย่างเดียว มากจะฟั่นเฝือเกินไป

สยามินทร์

(๑) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)


เมืองปราจิณบุรี
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๗

ถึง เจ้าพระยายมราช

ได้รับหนังสือวันที่ ๑๗ นั้นแล้ว มีความยินดีที่ไม่ต้องบอกข่าวเรื่องเจ็บไข้อะไรเช่นครั้งก่อน แต่ยังไม่ได้เดินถึง ๖ ชั่วโมง เต็มตามความปราถนาที่จะลอง ๔ ชั่วโมงนั้นได้ลองแล้วเป็นที่ไว้ใจได้ ตั้งแต่มาพึ่งค่อยออกสนุกวันนี้ แต่วันก่อนๆจะว่าไม่สนุกก็ไม่ได้ เพราะกรมดำรงจะคอยปรับบาทหนึ่งตามที่ได้เอาสัญญาไว้แต่แรก ว่าถ้าใครว่าไม่สนุกจะปรับบาทหนึ่ง การแจกที่นี่เขาอยู่ข้างจะคึกคัก กรมมรุพงษ์(๑) แจกทุกวัน ซ้ำวันนี้เจ้าศรีใส(๒) ก็แจกด้วย แต่อย่ารู้เลยว่าแจกอะไร จะได้ประมูลให้ดีกว่าทางนี้

มีเรื่องที่คิดจะเล่าไปให้ฟังเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ฤกษ์ที่จะเขียนหนังสือก็นิ่งไว้เสียที เรื่องราวนั้นดังนี้

กรมอดิศร(๓) เป็นผู้กล่าวว่านาที่ตั้งพิกัดเก็บเงินค่านานั้น บางแห่งที่เป็นนาดีจริงค่านาขึ้นไปสูง เจ้าของนาต้องลดค่าเช่าลงให้แก่ผู้เช่านาๆ เสียทั้งค่านาเสียทั้งค่าเช่าแล้วยังได้ผลประโยชน์พอ แต่บางแห่งที่เทียบอัตราเสมอกัน แต่นาได้ผลน้อย เจ้าของนาก็จะเรียกค่าเช่าเท่ากับนาที่ได้ผลมาก ค่านาก็เสียเท่ากับนาที่ได้ผลมาก ผู้เช่านาอพยบด้วยเหตุนี้มี ฟังดูข้อที่ว่านี้ก็ดูเป็นมีเหตุอย่างเดียว แต่ด้วยอัตราค่านา กำหนดชั้นนาจะยังไม่ถูกกับภูมิที่ ซึ่งฝ่ายมหาดไทยได้ขอเลื่อนขึ้นเลื่อนลงอยู่เสมอยังไม่ลงร่องมณฑลกรุงเทพฯ ควรจะตรวจตราเสียอีกสักคราวหนึ่ง

อีกข้อหนึ่งนั้นว่านาตามแถบคลองรังสิต บรรทุกเข้าออกง่ายนาในคลองซอยจะบรรทุกเข้าออกได้แต่ฤดูน้ำ ฤดูแล้งก็เสมอเข็นเข้าออกมาทางบก เสียโสหุ้ยผิดกัน แต่ค่านาเก็บเท่ากันความข้อนี้พูดในอินเตอเรสต์ของเจ้าของนาแลชาวนา เราควรจะพิจารณาไต่สวนดูสักหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร จะควรผ่อนผันฤๅไม่ควรไว้วินิจฉัยภายหลัง

จะคัดรายงานที่จดหมายมาให้มกุฏราชกุมารมาให้รู้ก็ไม่ทันจะเล่าใหม่ว่าไปไหน แห่งไรก็ป่วยการ จึงขอจบไว้เพียงเท่านี้ทีนอนหลับกินได้สบายดี ตัวแมลงมีมาก แต่ไม่ยิ่งกว่ากรุงเทพฯ ยุงไม่มีเลย

สยามินทร์

(๑) กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์    (๒) นายพลตรี หม่อมเจ้าศรีใส   (๓) กรมหลวงอดิศรอุดมเดช


สวนดุสิต
วันที่ ๒ ม.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

ได้ไปดูเครื่องเฟอนิเชอร์ที่มาใหม่นั้น เห็นมีตู้เหล็กอยู่ในใต้ตู้กระจก จึงให้เกิดความสงไสยขึ้นมาเป็นอันมาก ว่าตู้เหล็กที่มาครั้งก่อน ๒ ใบ มันจะสำหรับก้นตู้อย่างนี้นี่เอง แต่ของที่สั่งดุ๊กก็จำไม่ได้ว่าสั่งอะไร ไม่มีแบบมีแผนอะไรเป็นหลักสักอย่างเดียวไม่รู้สึกว่าสำหรับบรรจุใต้ตู้ ก็รับเอาลอยๆ ว่าตู้นั้นซื้อมาต่างหากตามแบบ ................. เพราะฉนั้นมันจึงได้เหมือนกันนักกับใบที่มาใหม่แลมีมา ๒ ใบ เป็นพยานว่าเฟอนิเชอร์ ครั้งก่อนได้สั่ง ๒ สำรับ แต่ตู้มันหายไปใบ ๑ กับอะไรๆหายอีกบ้าง แล้วร่มเสียไม่ยอมติดตามตู้ ๒ ใบนั้น เดี๋ยวนี้อยู่บนพระที่นั่งใบหนึ่ง อยู่ราชฤทธิ์ใบหนึ่ง ซึ่งเอามาใช้ก็เพราะเหตุที่ว่ามันมาเปล่าๆ ทิ้งอยู่เปล่าๆ ถ้าจะเข้าก้นตู้ได้ควรจะให้ไปเข้าก้นตู้เสียตามเรื่องราวของมัน ว่างๆ ขอให้เดินไปดูบนราชฤทธิ์ลองเทียบกันดูกับที่มาใบใหม่สักที แต่การที่จะต่อว่าไต่ถามกับดุ๊กนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะจำไม่ได้สักนิด ยิ่งพูดก็เหมือนยั่วให้ขี้ปด เราคลำเอาเองดีกว่า

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

ซึ่งได้พยานแน่นอนว่าตู้ชนิดเดียวกับที่ราชฤทธิ์เป็นตู้สำหรับตู้กระจก ทำให้เห็นนึกเสียดายของที่สั่งมาคราวก่อน ซึ่งเหมือนกันทั้ง ๒ ห้อง แต่หายไปเสียหลายสิ่งจนต้องสั่งใหม่นั้นเป็นอันมาก เพราะมันมีพยานว่าตู้ ๒ ใบจริงๆ ตู้เล็กมันจึงได้มาถึง ๒ ใบ อ้ายเปลือกไม้ข้างนอกมันพลัดไปเสียข้างไหน ถ้าหากว่าได้ติดตามเสียแต่ต้นมือ ก็น่าจะได้ ป่านนี้มันคงกลายไปเป็นของใครทิ่สิงคโปร์ฤๅฮ่องกง แต่การมันล่วงเลยมาเสียตั้งปีแล้ว ก็ขอกรวดน้ำอธิษฐานให้ไกลร้อย
โยชน์แสนโยชน์อย่าให้หัวผุเหลวไหลเหมือนอย่างเช่น ..................................................................

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๒ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

คำแปลหนังสือพิมพ์จีนนั้นอยากจะกล่าวว่าใช้ไม่ได้ ผู้แปลไม่เข้าใจภาษาไทย ฤๅอ่านภาษาจีนรัวๆ รางๆ ด้วยอีกซ้ำหนึ่ง ข้อที่สงไสยอธิบายภาษาไทยก็ไม่พอ คำแปลหนังสือพิมพ์ที่โต้ตอบกัน ๒ ฉบับ ก็ไปไหนมาสามวาสองศอก แปลหนังสือฉบับหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง แล้วแปลฉบับที่ออกตอบอ้างท้าวความถึงฉบับที่แปลมาแล้ว ดูเขาเข้าใจอย่างอื่นผิดกันกับที่แปลออก ถ้าไปเชื่อถือยึดเอาเป็นทางพิจารณา อาจจะเข้าใจผิดได้ไกลๆ จะหาคนที่รู้ภาษาดีกว่านี้ไม่ได้ฤๅ ถึงจะเสียเงินมากขึ้นก็จะเป็นไรไป โดยจะหาคนดีกว่านี้ไม่ได้ ตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะตรวจคำแปลให้มีสติสมประฤๅดี สอบถามคนแปลให้ชี้ว่าคำที่เขาตอบเช่นนี้ เพราะหนังสือฉบับโน้นกล่าวว่าเช่นนั้น ถ้าจับใจความยันกันเข้า จะช่วยแรงคนแปลที่นึกภาษาไม่ออก เขียนลงไปตามบุญตามกรรมได้เป็นอันมาก ถ้าให้แต่เสมียนเหมือนเครื่องจักรคอยจดอยู่เท่านั้นเห็นจะไม่ได้ความ ที่แปลนี้เลวกว่าแปลภาษาฝรั่งที่เรียกว่าข่าวต่างประเทศเป็นอันมาก

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

ด้วยจดหมายส่งปลาเทโพมาให้นั้นได้รับแล้ว วันนี้ได้แกงเลี้ยงกัน แต่มีความเสียใจที่ข่าฤๅอะไรอันเป็นเครื่องแกงในห้องเครื่อง กลิ่นแรงจัดเหมือนผ้านุ่งห่มชาววังน่าแต่ก่อน เข้าไป
เหม็นฟุ้งอยู่ในน้ำพริก ได้เคยเกิดความกันมาตั้งแต่ไปเที่ยวครั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันชัดเจน ทำให้เสียรศไปหน่อยหนึ่ง อยากจะทราบด้วยว่าใครเป็นผู้สั่งให้ทอดแหปลาเทโพ จะหลบเหมือนเรื่องฆ่าหมาฤๅไม่ ตลับได้นำกล้วยตากมาให้ ได้ทดลองพร้อมกันดิแคลร์ว่าอร่อยดีเป็นอันมาก

ตรุศจีนปีนี้สังเกตุดูร่วงโรยไปไม่สู้ครึกครื้นอย่างแต่ก่อน ได้ขึ้นรถไปเที่ยวดูเห็นหนาแน่นอยู่แต่ที่เสมียนหวย บ่อนไพ่ข้างทางเงียบ เห็นจะเป็นด้วยขัดสนเรื่องเงินข้างเจ๊กจะไม่บริบูรณ์ พอนึกขึ้นมาอย่างนี้ ความคิดก็แล่นไปถึงเรื่องผูกปี้ ว่าพอตรุศจีนแล้วออกประกาศไป มันจะครางกันร่นเสียดอกกระมัง

อนึ่งได้ทราบจากพระยารองเมือง(๑) ว่าอดิเตอร์หนังสือพิมพ์ จีนโนออกไปสิงคโปร์ ว่าจะไปหาที่ทำงาน ถ้าได้แล้วจะกลับมาพาครอบครัวไป จะคิดล่าหนังสือกีหนำเสียฤๅอย่างไร

อนึ่งมีเรื่องขันกฎหมายกรุงเก่า ๕๕ เล่ม ที่ .............. อวดอ้างนั้น กรมหลวงดำรงแต่งให้หลวงจันทร(๒) กับหลวงประเสริฐ(๓) ไปดูเจ้าของนัดให้ไปดูกลางคืน จะเป็นด้วยเห็นหลวงจันทรเขลาๆ จึงเอาออกมาให้ดู เห็นปรากฏว่ารอยขูดหางศักราชเลข ๖/๑๑๖๖ เปลี่ยนเป็นสูญให้เหลือแต่ ๑๐๐๖ จึงปฤกษามดถ่อหมอความเห็นว่าเป็นหนังสือหลวงควรจะไปเคลมเอาได้ แต่งให้พระยารองเมืองไปเคลม พอมันเห็นพระยารองเมืองนึกว่าพระยามัจจุราชมา ยอมสเรนเดอร์หมดบอกถวายทั้งไลเบอรี พระยารองเมืองได้ดูมีกฎหมาย ๒ เล่ม ศักราช ๑๐๐๖ ทั้ง ๒ เล่ม พงษาวดารมีเล่มเดียวเหมือนกับที่มีอยู่ในหอสมุด เป็นหนังสือเก่าแต่ได้แก้ไขเสียแล้ว พระยารองเมืองถามว่าไหนแกว่ามีมาก รับว่าผมหลอกเขาจะให้คนมาดู พระยารองเมืองไปนึกฉงนขึ้นมาว่าพงษาวดารจะเอาฤๅไม่ กลับมาหากรมดำรง กรมดำรงห้ามไม่ให้เอาพงษาวดารมา ครั้นกลับไปรับสมุดได้แล้ว เอามาถวายน่าพระที่นั่งอภิเศก ศักราชกลายเป็น ๑๑๖๖ ไปหมด รอยขูดสูญเติมหางเลขหก มันไวถ้าปล่อยเข้ามาเป็นรอยขูดแก้ศักราช จะถูกเข้าว่าแก้พระราชบัญญัติอีกกะทงหนึ่ง เห็นใกล้คุกนัก จึงได้หลบเอาซึ่งๆ หน้า พระยารองเมืองเสียทีไปหน่อยหนึ่ง

การทั้งปวงเป็นที่เรียบร้อยดีอยู่

สยามินทร์

(๑) เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์)   (๒) หลวงจันทรามาตย์   (๓) พระยาประฏิญัติธรรมธาดา (แพ)


สวนดุสิต
วันที่ ๑๒ มินาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

เขาบอกข่าวเดี๋ยวนี้ว่ากรอบเพดานห้องพระพุทธรูป คือห้องตรงนางเอื้อนขึ้นมานั้น ร้าวและลั่น น่าสงไสยว่าจะชำรุดถึงรากเสียดอกกระมัง เหตุไฉนจึงเป็นเหมือนกันทั้ง ๒ ชั้น ห้องนั้นเป็นห้องที่มีพนักงานอยู่จึงได้รู้เหตุ ขอให้ตรวจดูเสีย สิ่งซึ่งสำหรับจะแตกได้ก็มี ถ้าว่าเห็นจะไม่อยู่เอาลงเสียก่อน

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๕ มินาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

เจ้าพระยายมราช

มีความยินดีที่ได้ทราบว่าอาการนับว่าหายจนจะไปเที่ยวได้ คิดถึงนั่นแหละมากเต็มที คิดถึงทั้งในส่วนราชการแลในเฉภาะตัว อยากจะไปหาที่บ้าน แต่กลัวเจ้าจะต้องเอะอะตระเตรียมมากจะเลยไม่สบายไป จึงได้รั้งรอเสีย บัดนี้อาการคลายขึ้นมากแล้ว แต่กำลังยังน้อยอยู่ ถ้าจะมาหาเห็นจะเหนื่อยมากในทันทีไข้กลับไปจะเป็นที่เสียใจ เวลาเย็นๆ ลงเรือเล่นขอแวะไปหาที่บ้านเถิด ใครๆเขาเยี่ยมกันเมื่อเจ็บ ให้ข้าเยี่ยมเมื่อหายเมื่อได้ไปทเลมีกำลังขึ้นอาการคงจะฟื้นเร็วขึ้นอีก จึงอนุญาตให้ไปขอให้รักษาตัวให้ดี

สยามินทร์