สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึง มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ถึง เมื่อครั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ (ร.ศ. ๑๒๕) = พ.ศ. ๒๔๔๙
รัตนโกสินทรศก ตั้งต้นจาก ๑ เมษายน

มณฑลนครสวรรค์
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๕

ถึงพระยาสุขุม

ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ ๑๒ สิงหาคมนั้นแล้ว มีความยินดีที่ได้ทราบข่าวว่าตลับ(๑) ยังชั่วถึงเดินได้ ขอให้ช่วยบอกขอบใจที่ฝากมะม่วงมาให้น่ากินจริงๆ การพระที่นั่ง(๒) นั้นยอมเชื่อเสียแล้วว่า เห็นจะแล้ว เพราะเอื้อถึงเพียงนี้ เรื่องท่อน้ำได้บอกให้ดุ๊ก(๓) รู้แล้วก็ติดอึ้งอยู่เหมือนกัน เรื่องระดับดินได้เอะอะกันแต่แรกว่าจะพาให้ต้องถมดินตามขึ้นไป แต่พระสถิตย์(๔) ว่าฝรั่งเขาไม่ยอม เผื่อพระที่นั่งจะซุดลง จึ่งยกขึ้นไว้ถึงคืบ ๑ การที่จะถมดินรอบนอกขึ้นมาหานั้นไม่ไหว จะสิ้นเงินมากไม่ใช่น้อย ทั้งหญ้าก็จะไม่ขึ้นทันเป็นอันขาด เพราะกว่าจะถมดินเสร็จก็พอตกน่าแล้ง ดุ๊กพุ่งจะให้เอนระดับลงไป ก็ได้ขัดคอกันว่าถ้าเช่นนั้นปลายท่อจะลงไปจมอยู่ในสระ เมื่อเช่นนั้นก็ยังนึกแก้อย่างไรไม่ออก ขอผัดไปตรึกตรอง เรื่องพัดลมนั้นได้ว่าเองว่ารกรุงรังนัก ถ้าขายคนถื่นไม่ได้ ขายกันเองในกระทรวงวังก็ได้ ได้เคยพูดกับกรมหลวงนริศ(๕) ไว้บ้างแล้วให้เริ่มหาพัดตั้งเสีย ถ้าไม่มีควรสั่งก็จะต้องสั่ง ช่างเขียนนั้นเห็นจะไม่สำเร็จ มันจะดูให้งามอย่างฝรั่ง คนไทยมันจะมีงามอย่างฝรั่งที่ไหน เรื่องที่เขียนนั้นก็เป็นเรื่องไทย แต่ให้มันเขียนตามความคิดฝรั่ง ลองว่ากันดูให้หมดท่า ถ้าเห็นไม่ได้จริงแล้วที่ควรจะเขียนเป็นลายก็เขียนเป็นลาย ที่ควรจะติดรูปภาพฉากฝรั่งก็เว้นไว้ติดรูปภาพฝรั่ง ให้ตกลงเสียดีกว่ารั้งรออยู่เช่นนี้ เรื่องวอเตอร์คลอเสตที่คิดจัดนั้นดี แต่ท่านพวกอินยิเนียเหล่านี้เดาทั้งนั้น ด้วยเมืองฝรั่งไม่เหมือนกับเมืองเรา แล้วประกอบไปด้วยทิฐิมานะกล้า ต่อผิดแท้ทีเดียวจึงจะยอมรับว่าใช้ไม่ได้ เขาก็ไม่ต้องเสียอะไร แต่เราเป็นผู้เสียเงิน ขอให้สังเกตในใจไว้ว่า ที่แผ่นดินสวนดุสิตนั้น ขุดลงไปคืบ ๑ ฤๅคืบเศษก็ถึงน้ำขอให้ป้องกันน้ำที่จะซึมเข้าและซึมออกให้จงดี

มีความยินดีที่ได้ทราบว่าการยารั่วเป็นอันสำเร็จ และหลังคามุขแล้วสำเร็จ ทั้งคิดเรื่องถังน้ำด้วยแล้วนั้น

มิสเตอร์ชอ(๖) กรมนเรศ(๗) จะต้องการก็ดีเราจะได้ไม่ต้องเปลืองเงินมาก  ..........................................................................................................................................................
..........................................................................................................................................................

กำหนดกลับนั้นจำกัดตัว คือจะได้หล่อพระพุทธรูปพระชนม์พรรษาในวันที่ ๓๑ เดือนนี้ สวดมนต์วันที่ ๓๐ คงจะต้องกลับลงไปถึงวันที่ ๓๐ ให้คิดกะใจว่าจะไปดูงานแห่งใดบ้างก็ขึ้นมาตามกำหนดวันให้พอแก่งาน คงเป็นวันได้ตามเสด็จกลับวันที่ ๓๐

การที่มานี้สนุกดี แต่ไม่ใช่อย่างโสมมเป็นต้นแท้เช่นครั้งก่อน เจือออฟิศเชียลอยู่บ้าง สังเกตได้ว่าร่างกายไม่ไวอย่างแต่ก่อนที่ว่านี้ไม่ใช่งุ่มง่ามหนักตัว คืออาการที่ไม่สบายเมื่ออยู่กับที่ เปลี่ยนที่เคยหายได้เร็วๆ ครั้งนี้ช้าไป ลางทีก็รื้อกลับแต่นับว่าได้กำไร การที่เป็นเช่นนี้ก็เห็นจะเป็นด้วยเครื่องจักรมันเก่าแก้ยากขึ้นทุกที

สยามินทร์

(๑) ท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม   (๒) พระที่นังอัมพรสถาน   (๓) กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ   (๔) พระยาประดิษฐอมรพิมาน (ม.ร.ว. ชิด อิศรศักดิ์)   (๕) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์   (๖) นายช่างไฟฟ้า  (๗) กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์


สวนดุสิต
วันที่ ๓ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

พระยาสุขุม
ได้รับหนังสือจรูญ(๑) ลงวันที่ ๓ เดือนก่อนว่า เฟอนิเชอร์พระที่นั่งอัมพรจะได้ลงเรือวันที่ ๑๙ งานที่ทำนั้นเขาได้ทำทั้งกลางวัน กลางคืน ของคงจะมาถึงเกินทัน ห้องที่จะต้องของๆ แกเองจะแล้วไม่ทัน ถ้าของมาถึงจะรับไว้ที่ไหนนึกดูเสียก่อนเถิด

สยามินทร์

(๑) พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร


สวนดุสิต
วันที่ ๑๑ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

ข่าวเจ้าพระยาสุรพันธ์(๑) ถึงอสัญกรรมพึ่งได้รับต่อบ่ายโมงหนึ่ง สองโมงทั้งสองราย เวลาบอกจากเพ็ชร์บุรีย่ำรุ่ง รับเช้า ๔ โมงกว่าจะวนตามเจ้าพนักงานไปเสียเป็นนาน พระยาสุขุมคงจะทราบว่าจะตกลงได้ไปรดน้ำเมื่อใดดีกว่าเรา ถ้าจะได้รดน้ำต่อพรุ่งนี้ ถ้ารถบ่ายพอจะส่งทัน ขอให้ซื้อน้ำแข็งส่งไปให้พระยาสุรินทรฤๅไชย(๒) รักษาศพ สำหรับลูกหลานจะได้โปรดน้ำ ให้พอที่จะรักษาไว้ได้ตลอดเวลา ให้มาคิดเงินที่กรมขุนสมมติ(๓) ถ้าจัดการตลอดได้จะขอบใจมาก เพราะเป็นการนอกน่าที่

สยามินทร์

(๑) พระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค)   (๒) พระยาสุรินทรฤๅไชย (เทียน บุนนาค)  (๓) กรมพระสมมตอมรพันธุ์


พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๕

ถึงพระยาสุขุม
ฤกษ์ขึ้นพระที่นั่งโหรหามาได้ดีทั้ง ๒ ฤกษ์ คือฤกษ์แรกวันที่ ๒๕ ธันวาคม จุดเทียนไชย ที่ ๒๘ ขึ้นพระที่นั่ง ไม่ใช่จะหาว่าพระยาสุขุมจะทำพระที่นั่งไม่ทันกำหนดนี้ แต่เขาให้อาบน้ำเวลาเช้าโมงเศษ น่าหนาวเลยหอบเสียจะเสียฤกษ์ จึงได้เลือกเอาฤกษ์ที่ ๒ คือวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ตรงกับวัน ๓ ฯ ๔ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก เช้า ๓ โมงจุดเทียนไชย วันที่ ๒๒ เช้าโมง ๑ สรง ๕ โมงขึ้นพระที่นั่งเสวตรฉัตรพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ๒ ทุ่มขึ้นพระแท่นพระที่นั่งอัมพร เห็นว่าฤกษ์นี้คงจะมีเวลาพอที่จะตกแต่งให้เรียบร้อยด้วย ขอให้ถือเอากำหนดหลังนี้เป็นแน่เถิด

สยามินทร์


พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
วันที่ ๖ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ ๓ เดือนนี้ เรื่องเปิดหีบเครื่องเฟอนิเชอร์พบกระจกตู้ห้องหลุยที่ ๑๕ แตกบานหนึ่ง ส่งกระดาษทำเทียมแพรกำมหยี่สำหรับปิดห้องต่างๆ มาให้ดู แลว่าจะสู้ประสมสีเขียนตามตัวอย่างกระดาษนี้ไม่ได้ เพราะปิดกระดาษแล้วจะชื้นนั้น ทราบแล้ว

กระดาษปิดฝามันก็เคยอยู่ได้นานๆ ใช้ทาพื้นเสียก่อนแล้วใช้แป้งเปียกประสมสารหนู ได้เคยเห็นอยู่ทนได้จนเดี๋ยวนี้นั้นที่พระที่นั่งปราโมทมไหสวรรยแห่งหนึ่งประมาณ ๔๓ ปีมา
แล้วที่ตำหนักเสด็จกรมพระปวเรศ(๑) ปิดเมื่อไรไม่รู้ แต่เห็นมาก็ปิดอยู่แล้ว อยู่จนสิ้นพระชนม์
ผนังเขียนบางแห่งไม่ทนสู้กระดาษได้เพราะถ้าจะชื้นแล้วชื้นได้เช่นเดียวกัน ถ้าจะเป็นได้เปรียบเสียเปรียบกันก็จะเป็นด้วยกระดาษจะเก่าได้ ถ้าน้ำยาสีไม่ชื้นแล้วเห็นจะไม่รู้เก่า ถ้ามีเวลาจะเขียนพอเขียนเสียทีเดียวก็ได้ เอากระดาษไว้ใช้อื่น ฤๅจะปิดกระดาษไว้ เมื่อเสียหายไปข้างหน้าจึ่งขูดกระดาษออกเขียนใหม่ก็ได้ ตามแต่จะสมัคร

สยามินทร์

(๑) สมเด็จพรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์


วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือฉบับเล็กลงวันที่ ๒๒ แล้ว มีความยินดีที่ได้ฟังคำบอกเช่นนี้ เป็นสำคัญว่ามือเจ้าได้จับน่าที่มันแล้ว การสอดส่องคนเป็นสำคัญกว่าที่จะตั้งตำแหน่ง การที่จะตั้งๆ ไปพลาดแล้วเปลี่ยนเสียนั้นไม่ยากอะไร แต่เสียการงานถอยหลังลงไป สู้ประคองไว้จนให้พบคนดีแล้วจึงตั้งไม่ได้

เรื่องเรือนั้นมีขึ้นมาอีกลำเช่นนี้ก็ดี เมื่อมีที่ไปจะได้อาไศรยใช้บ้าง การที่จะไปเที่ยวคราวหลังฤๅไม่ไปนั้นออกเคลือบแคลงไปเสียแล้ว เพราะร่างกายไม่บริบูรณ ไม่รู้ว่าผลที่ไปจะให้คุณฤๅให้โทษ เพราะเป็นฤดูหนาวมาเสียแล้ว หนาวร้อนของเมืองไทยเรามันไม่ยั่งยืน ในวันเดียวกันก็เปลี่ยนร้อนเปลี่ยนเย็นมากทั้งหนาวก็ไม่อยู่ได้กี่วัน ประเดี๋ยวก็กลับเป็นร้อน การเปลี่ยนร้อนเปลี่ยนหนาวรบัดรเบิดอยู่ข้างจะแสลงโรค ข้าเคยเจ็บมากๆมาก็นักหนาแต่ไม่เคยหนักใจเหมือนที่เจ็บน้อยๆ ครั้งนี้เลย เรื่องที่เป็นประกอบกับอายุมันไม่สู้ชอบกล กลัวจะเลยเป็นคนบอบแบบไปเสีย ทำราชการไม่ได้สดวก ตัวข้าเป็นคนที่รักราชการผูกพันมานาน ถ้าทำไม่ได้ดังใจฤๅต้องละวางก็คิดถึงเหมือนติดผู้หญิง เมื่ออาการมากขึ้นทำเข้าก็เกิดโทษ ไม่ทำก็ไม่มีความสบายใจ เห็นเอาตัวไม่รอดทั้ง ๒ ฝ่าย เวลานี้กำลังจัดการทดลองรักษาแลพิจารณาโดยกวดขัน แต่ยังไม่ถึงโรคสลักสำคัญแท้ เป็นแต่มีพื้นเพไม่สู้ดี ถ้ามีอาการใหญ่ๆมาจะรักษายาก จึงได้คิดที่จะป้องกันไว้เสียก่อน

สยามินทร์


พระที่นั่งไอสวรรย์ทิพยอาศน์, เกาะบางปะอิน
วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม

จดหมายมาด้วยเรื่องหลังคาห้องเครื่องนั้น ความคิดรอบคอบดี แต่การที่จะทำอย่างไรได้ลองเสนอดุ๊กดู ดุ๊กเห็นด้วยในเรื่องปลูกหญ้า ว่าดินฟุตหนึ่ง รดน้ำทุกวันงามได้ แต่มีข้อรังเกียจเรื่องเสากลาง ถ้าจะใช้เลี้ยงดูอะไรมันจะเกะกะ แกมีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่าถ้าทำปรำไม้เลื้อยเสียจะเป็นอย่างไร กันรั่วไม่ได้ แต่เข้าใจว่าจะกันร้อนได้ ขอผัดลงไปปฤกษากับพระยาสุขุมแลอาเล กรี(๑) ดูสักที เห็นว่าวันที่จะกลับก็ยังไม่กี่วันรอไว้ปฤกษากันเสียก่อนก็ได้

อนึ่งการที่จะกลับคราวนี้นึกว่าจะกลับทางเรือ สำหรับได้นอนไป แลนึกจะออกเมื่อไรก็ออกได้ เพราะได้เห็นโทษข้อที่ผูกใจว่าจะทำอะไรแล้วนอนไม่หลับ พระยาสุขุมเป็นอันไม่ต้องขึ้นมา ไว้พูดกันบางกอกทีเดียว

สยามินทร์

(๑) นายช่างกำกับงานโยธา


กรุงเก่า
วันที่ ๑๐ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

มีเรื่องหนึ่งซึ่งได้นึกแล้วแต่เมื่อเวลาอยู่บางกอก แต่เห็นงานของเจ้ายังมากจึ่งนิ่งเสีย ครั้นเมื่อมาตามทางดุ๊กพูดขึ้นว่าห้องนอนสองห้องติดกันที่หลังสามชั้นข้างตวันตกเฉียงใต้ ทางเดิรจะต้องลุยห้องนอนกัน จะขอกั้นฝาเตี้ยเสมอเพดานเตียงให้เป็นทางเดิรผ่านห้องกันทั้งสองห้อง ก็รู้สึกใจว่าห้องข้างตวันตกสว่างอยู่ แต่แคบไป ห้องข้างตวันออกไม่มีน่าต่างด้านใดเลย เว้นแต่ด้านเหนือสองช่อง ถ้ากั้นฝาสกัดเสียจะมืดด้วยแคบด้วย

ทางที่จะแก้ให้เป็นอย่างดีที่สุดที่จะทำได้นั้น ได้คิดพลาดไปเสียแต่ต้นมือ คือเฉลียงด้านเหนือที่เป็นเฉลียงโถง ไปหยุดไว้เพียงสี่ห้อง ถ้าได้ทำเป็นห้าห้องเสียแต่แรก ชั้นล่างใช้พื้นแต่สี่ห้อง ห้องที่ห้าให้เป็นหลังคากระใดที่มีอยู่เดิม ชั้นบนจึ่งใช้เป็นห้าห้องเต็ม เจาะประตูให้เดิรออกจากในตัวตึกตรงห้องที่ห้า ซึ่งข้างล่างเป็นกระใดนั้น ประตูข้างบนของตัวตึก ห้องข้างตวันตกอุดเป็นน่าต่างเสียช่องหนึ่ง ห้องข้างตวันออกอุดเป็นน่าต่างช่องหนึ่ง คงเป็นประตูช่องหนี่ง น่าต่างช่องหนึ่งคั่นกันไปเวลาจะเดิรขึ้นจากกระใดทบด้านหลัง เลี้ยวออกเฉลียงโถง เมื่อจะเข้าห้องตวันตกฤๅห้องตวันออกก็เข้าตรงประตูห้องนั้น ไม่ต้องเดิรลุยกันไม่มืด ห้องก็ไม่แคบเข้าไป

ครั้นเมื่อดุ๊กลงไปดูการทำประตูห้องเล็กวันนี้ กลับขึ้นมาพูดถึงฝาฝ้าที่คิดจะทำ ก็ยังคิดเห็นอยู่ว่าคงจะทำให้เสียห้องไป เช่นกล่าวมาแล้ว แลทราบว่างานร่วมเข้ามาก จึ่งคิดอ่านลองบอกให้เจ้ารู้ดูสักที บางทีจะทำทัน ข้อสำคัญที่จะต้องทำใหม่นั้นก็เสาต้นเดียว เป็นเสาหล่อสิเมนอย่างเช่นที่ทำ แต่เป็นเสามุมจะต้องแข็งแรง จะต้องปูตรางลวดดาดสิเมนก็แต่ชั้นบนชั้นเดียว เพราะชั้นล่างคงเป็นบันใดอยู่ตามเดิม เลื่อนพนักสกัดออกไปช่องหนึ่ง เติมพนักขึ้นอีกช่องหนึ่ง น่าที่จะทำได้ทันจึ่งได้วานให้ดุ๊กเขียนลากเส้นมาเพื่อจะให้เข้าใจชัดดีกว่าหนังสือถ้าหากว่าเข้าใจแล้วควรจะปฤกษาช่าง ถ้าจะลงมือได้ ก็จะได้ลงมือทีเดียวไม่เสียเวลา ถ้ายังสงไสยอยู่ประการใด จึงให้ขึ้นมาหาพูดกันประเดี๋ยวเดียวก็เข้าใจ

สยามินทร์


กรุงเก่า
วันที่ ๑๒ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม
ได้รับจดหมายลงวันนี้ ว่าด้วยเรื่องที่จะต่อเฉลียง รับจะทำได้นั้นเป็นที่พอใจเป็นอันมาก ขึ้นมาอยู่ที่นี่ก็นึกเป็นห่วงงานไม่ใช่ห่วงที่ว่าจะเร่งงาน เพราะไว้ใจเจ้าได้แล้ว ห่วงเรื่องจะยังลืมอะไรๆ อยู่ เช่นเฉลียงทางเดินนี้ ได้เห็นรายงานในวังว่า พระยาวรพงษ์(๑) ได้เข้ามาขนของในวังออกไปบ้างแล้ว ถ้าของที่ใหญ่จะตั้งที่เสียทีเดียวได้ก็ให้ตั้ง เว้นแต่รูปภาพยังมีข้อลังเลอยู่บ้าง ว่าแผ่นใดควรจะติดที่แห่งใด ให้เทียบที่ไว้ให้ดูก่อนอย่าเพ่อติด มีความยินดีที่จะได้พบในวันที่ ๑๕

ขอบใจที่บอกข่าวไฟไหม้มาให้รู้ทันที ข้างเหนือนี้มีไฟทิ้งหลายครั้งแล้ว แต่ดับได้ ครั้งนี้ก็มีความสงไสยเป็นอันมากโปลิศรักษาการไม่มีพอ ได้สั่งกรมนเรศแล้วให้เติมขึ้นก็เห็นจะยังไม่ได้เติม ถ้าไม่ได้ตัวผู้ร้ายทิ้งไฟเสียสักคนหนึ่งแล้ว เห็นจะยังไหม้อีก ได้ว่ากับกรมนเรศแล้ว ว่าถ้าไฟไหม้อีกคราวนี้ จะต้องให้เสนาบดีกระทรวงเมืองเสียค่าอาญาไฟเสียบ้าง

สยามินทร์

(๑) เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา)


สวนดุสิต
วันที่ ๓๑ ม.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

พระยาสุขุม

วันนี้เข้าใจว่าเจ้าจะฟกเต็มทีจึงได้หายไป แต่ความจริงนั้นสามารถที่จะบอกได้ว่า งานที่เป็นหลักถานนับเป็นแล้วสำเร็จ ถึงชั้นติดรูปริทูกราฟแลโฟทูกราฟ ซึ่งกล่าวไว้ว่าเป็นที่สุดแห่งงานอื่นๆ ต่อนี้ไปจะต้องไปทำงานแต่วันละสักชั่วโมงหนึ่งฤๅ ๒ ชั่วโมงก็พอ เป็นอันสม ปราถนาที่จะได้หยุดพักไม่ให้เหน็จเหนื่อยฉาบน่างาน

แต่อีกฝ่ายหนึ่งในส่วนงานที่ต้องทำมาจากที่อื่นยังขาดค้างมากจนนึกหนักใจว่า ในเวลางานจะไม่พ้นจากจับอะไรเข้าเปียกเปื้อนสี มือเหนียวน้ำมันอย่างแต่ก่อนๆ มา กล่าวคือฝาขั้นห้อง ตู้ในภาคปรัศจิม กรอบรูป ซึ่งจะต้องซ่อมแลทำขึ้นใหม่เป็นต้น ซึ่งเป็นงานของดุ๊กมากกว่างานของเจ้า จำจะต้องช่วยกันพัดไว้ ด้วยใกล้ตรุศม์จีนเข้าไปทุกวัน ถ้านั่งเพลินๆ ไปถึงตรุศม์จีนถึงจะเฆี่ยนให้ตายเจ๊กก็ไม่ยอมทำ ถ้าตรุศม์จีนแล้วจึงได้มาติดมาตั้งเป็นไม่พ้นมือเปื้อนมือเหนียว

ข้อสำคัญ ๓ ประการ ซึ่งได้กำชับไว้ คือน้ำที่จะขึ้นไปบนพระที่นั่ง วันนี้ปรากฎแล้วว่าบนห้องเล็กชั้นบนไม่มีน้ำทั้งที่ได้นัดหมายกันไว้

ยังล่องแลถังกับทั้งท่อไม่เคยมีสมประดีในเมืองไทย อย่างเดียวกันกับไฟฟ้าหลังคาตัดเป็นข้อที่ ๒ กับหลังคาตัดเป็นข้อที่ ๓ ซึ่งได้รับอาญัตไว้นั้น ขอให้พิจารณาให้จงมาก

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๖ กุมภ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม

ในการที่จะไปยุโรปครั้งนี้มีความวิตกห่วงอยู่ด้วยครอบครัว ซึ่งจะอยู่ภายหลังที่สวนดุสิตนี้บ้าง อยู่ในพระบรมมหาราชวังบ้างในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ใกล้คนอยู่ ข้างน่ากับข้างในก็ใกล้กัน ใครๆก็มีสมบัติครอบครัวอยู่ในเมืองทั้งนั้น คงจะสมัครประจำซองรักษาในเมืองมากกว่าที่จะมาเอื้อเฟื้อทางสวนดุสิตนี้ ครั้นจะให้เข้าไปอยู่ในวังเสียให้หมด ผู้ที่ไม่ไข้เจ็บแลมีเย่าเรือนสบายก็จะดีอยู่ ผู้ที่ป่วยไข้ไม่สู้สบายแลที่มีเรือนอยู่ไม่ได้จริงๆ ทั้งเคยหลบตามเสด็จออกมาอยู่เสียสวนดุสิตในฤดูร้อนฤดูฝน ซึ่งเป็นเวลาไม่สบายเสียตั้ง ๙ ปีมาแล้ว กำลังร่างกายก็พลอยกำเริบทนทานที่ลำบากมากขึ้น จะต้องกักขังอยู่ถึง ๘ เดือน จะพากันเจ็บไข้ทรุดโทรมเป็นเครื่องห่วงไยอยู่เป็นอันมาก .........................................................................................................................
......................................................................................................................... เขาถือเป็นแง่ เป็นงอนกัน แต่เวลาเสดจอยู่เช่นนี้จะเรียกใครแต่ละที จะสั่งให้ไปทำอะไรไม่เกรี้ยวกราดก็ไม่ใคร่สำเร็จ ไม่มีกาเวินแมนต์ เพราะมีอยู่ไม่ทำ เป็นอย่างเสนาบดีแต่ก่อนไปหมด จะแก้ไขผลัดเปลี่ยนอะไรก็ยาก เพราะคนในวังไม่มีเลือกมากอย่างเช่นแต่ก่อน ทุกวันนี้ที่มีความสดวกสบายอยู่ที่สวนดุสิต ไม่ใช่แต่อากาศดีมีที่อยู่สบาย เพราะได้ใช้ผู้ชายทั่วไปไม่ว่าการข้างนอกข้างใน จนถึงในที่นอน มาอยู่ที่นี่ก็ต้องผู้ชายมานอนอยู่ด้วยเพราะผู้หญิงนั้นไม่มีที่ไว้วางใจได้เลย มีการเจ็บไข้อันใดเกิดขึ้นก็ฉโงกน่าต่างลงไปสั่งผู้ชายให้เอารถโมเตอร์คาร์ไปรับหมอได้ทันอกทันใจ

ในการเสด็จไม่อยู่นี้ กรมหลวงนริศจะจัดการอย่างใหม่ปิดเอากำแพงชั้นในเป็นข้างในหมด มหาดเล็กจะต้องออกไปอยู่ที่พระที่นั่งอภิเศก กรมหลวงนริศจะอยู่ที่บ้าน ถ้าเกิดเจ็บไข้อันใดขึ้น ไม่สู้จะกลัวตอนข้างน่า กลัวตอนข้างใน จะไปปลุกผู้หนึ่งผู้ใดให้ลุกขึ้นเดินไปนั้นแสนยากประดักประเดิด ข้อที่ผู้มีบรรดาศักดิจะลุกไปนั้นไม่ควรหวัง ยังอ้ายคนรับใช้ยังจะไม่ไปต่ออีก ไปถึงเข้าแล้วยังจะไม่มีประแจซึ่งจะไข ถ้าหากว่ามีอธิบดีอยู่ที่นี่ กว่าจะไปทูลข้าหลวงขอกุญแจ ต่ออาการหนักจึงจะได้ไปในกลางคืน แล้วจึงจะไปบอกมหาดเล็กๆ จะไปทูลกรมหลวงนริศ กว่ากรมหลวงนริศจะเสดจมา สั่งรถโมเตอร์คาร์หามหาดเล็กขับเป็นไม่มี โลๆเลๆ จน ๑๒ ชั่วโมงล่วงไปจึงจะได้หมอ ถ้าเป็นไข้ไม่สลักสำคัญแต่เสดจอยู่เช่นนี้ เจ็บกลางคืน รุ่งขึ้นเวลาบ่ายจึงได้หมอ อาการที่เจ็บนั้นก็ลงท้องด้วยยังเป็นได้ถึงเพียงนี้ ได้คิดอ่านที่จะแก้ไข แต่ข้อ ๑ ซึ่งจะให้ลัดตัดสั้นเท่านั้น อยากจะให้มีโทรศัพท์ฤๅรฆัง ออกไปจากในวังให้ถึงกรมหลวงนริศทีเดียว ถ้ามีเหตุอะไร จะตัดการเชือนแชเกียจคร้านในวังไปได้สัก ๖ ระยะ ขอให้คิดอ่านจัดการตั้งเสาพาดสายขึ้นเสียให้ทันก่อนเวลาไปนี้

อนึ่งเจ้ามีน่าที่ๆจะมาตรวจการพระที่นั่งได้เสมอเนืองๆ ใจข้าไม่ได้ถือว่าเจ้าเป็นแต่เสนาบดีสำหรับแผ่นดินข้าราชการฝ่ายนอกมารู้สึกในใจอยู่ว่าความรักใคร่ในใจข้ารู้สึกว่าเจ้าเป็นมิตรที่ควรวางใจคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าคงจะรู้สึกเหมือนกัน เพราะฉนั้นในเวลาที่ไม่อยู่นี้ ขอให้หมั่นมาตรวจตราดูการพระที่นั่งแลไต่ถามศุขทุกข์ช่วยอุปการแก่ผู้ซึ่งอยู่ในพระที่นั่งในการขัดข้องทั่วไป อย่าให้ได้ความยากลำบาก ซึ่งต้องกักขังอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล แลเสียงเบาปากสั้น ถ้าเจ้าอุปการได้เช่นนี้จะเป็นที่ขอบใจเป็นอันมาก ในการที่จะให้เข้ามาตรวจการได้ไม่เป็นเสือกเกินไปนั้น จะได้สั่งไว้โดยทางราชการให้ปรากฏแก่คนทั้งปวง ที่เขียนหนังสือมาบัดนี้เป็นพูดกันส่วนตัวให้รู้ไว้เสียก่อน ว่าคำสั่งซึ่งจะได้สั่งนั้นมีความประสงค์ประการใด

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม

การเรื่องนี้ก็ไม่ประหลาดอะไร แต่เป็นธรรมเนียมฝนตกเคยตรวจมาสำหรับได้แก้ไข หลวงศักดิ์(๑) ได้ขึ้นไปตรวจบนหลังคายื่นรายงานว่า ชั้น ๓ รั่วด้วยรางน้ำ ๖ แห่ง รั่วด้วยปูนแตก ๓ แห่ง

ชั้น ๒ รั่วด้วยรางน้ำ ๘ แห่ง รั่วด้วยปูนแตก ๒๑ แห่ง รั่วด้วยสายถูกไฟฟ้า ๒ แห่ง นี่ตรวจบนเพดาน ส่วนในห้องนั้นที่ห้องมุขหลังรั่วเฉลียงเหนือน้ำนองทีเดียว ไม่ใช่รั่วราง ห้อง เตอรกีรั่วกลางๆ เฉลียง มุขขวางรั่ว ๒ แห่ง ห้องสีชมภูสีฟ้าเฉลียงด้านเหนือลมเป่าสายฝนเข้ามาตามช่องเชิงฝาอย่างที่เล่าให้ฟังวันนี้ว่าปูเข้ามาได้ ช่องเช่นนี้โทษถึงต้องอุด ห้องสีน้ำเงินที่เฉลียงสายไฟฟ้าเปียก ไฟฟ้าไม่เดิน เรื่องไฟฟ้ากับน้ำฝนนั้นน่ากลัวอยู่หน่อยหนึ่ง เข้าใจว่าตามเฉลียงจะไม่มีท่อเหล็ก จะเป็นสายหุ้มไหม ถ้าเป็นสายหุ้มไหมแรกๆ ก็ไม่เป็นไร ถ้าสายผุไฟฟ้าอาจเดินได้ด้วยถูกน้ำอยู่ข้างรวังยาก ลมวันนี้เป็นตวันออกแลตวันออกเฉียงใต้ มุขในระหว่างมุขหลังแลมุขขวางยื่นออกไปมาก ข้างด้านตวันตกกลับไม่สาด ไปสาดปูเข้าตามเชิงฝาด้านเหนือ แต่ถ้าเป็นฝนฤดู มาทางตวันตกเห็นจะยิ่งกว่านี้มากจะต้องเตรียมตัวไว้คอยรับ

สยามินทร์

(๑) พระยาไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว. ลพ อรุณวงศ์)


สวนดุสิต
วันที่ ๒ มีนาคม รันตโกสินทรศก ๑๒๕

ถึง พระยาสุขุม

ด้วยการที่คิดจะเปลี่ยนเวลาไปเมืองสงขลาเข้ามาเสียก่อนเวลาเสด็จยุโรปนี้ดีนัก ถึงจะไม่มีพระที่นั่งอัมพร เวลาเสด็จไม่อยู่ทางไกลเพียงนั้นก็ไม่ควรจะละน่าที่ไป ในโต๊ะเสนาบดีมีคนที่จะมีปากเสียงพูดจาอะไรได้อยู่น้อย มีแต่ปลัดทูลฉลองเข้ามานั่งปรกเสียมาก การนั่งปรกในที่ประชุมบางทีคนอื่นเขาจะชอบใจ ถ้าตัวเราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้วชอบเสนาบดีที่มีปากมากกว่ามานั่งปรก บางทีถ้าคนที่พูดได้น้อยตัวไปได้เคยว้าเหว่ใจปรับทุกข์กับกรมดำรงมาไม่รู้ว่าเท่าใดต่อเท่าใด เพราะใจข้ารักคนทำงานแลคนคิด คนที่นอนๆนิ่งๆ เคยนึกว่าไม่มีคน นั่งกันอยู่เป็นกองเคยร้องว่าไม่มีใครก็มี

สยามินทร์


วันที่ ๓
ถึง เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ด้วยเมื่อณวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ฝนตกหนัก โทรศัพท์ ในระหว่างสเตชั่น หูเจ้าถนอม(๑) ไปถึงสเตชั่นหัวใจเดินไม่สะดวกได้บอกโทรศัพท์แต่วันที่ ๒ เวลาดึก จะเป็นกี่ทุ่มไม่ทราบแน่ เพราะนาฬิกาเดินไม่สะดวก ลูกตุ้มเบาไป พึ่งได้รับโทรศัพท์ต่อวันนี้เวลาบ่าย ๔ โมง เห็นว่าช้าเกินนัก ด้วยระยะทางแต่หูถึงใจ ถ้าหูซ้ายก็ไม่กี่เซนติเมเตอร์ ถ้าหูขวาก็ไม่ถึงครึ่งเมเตอร์จะว่าไฟฟ้าไม่เกินตลอดเวลาตีสายไม่ได้ก็ไม่ใช่ ถ้าจะไฟฟ้าไม่เดินก็คงเพียง ๘ ชั่วโมงหรือ ๙ ชั่วโมง คือตั้งแต่ ๘ ทุ่มจน ๔ โมง หรือ ๕ โมงเช้าไฟฟ้าคงจะเดิน สงไสยว่าจะเป็นด้วยบุรุษไปรษนีย์เกียจคร้านเสียไม่เดิน ในเท้าบุรุษไปรษนีย์ผู้นี้อยู่ข้างจะเชือนแชอยู่บ่อยๆ นายสเตชั่นส่งโทรเลขให้ไปแล้วก็ไม่เดินไปหลบหลีกนั่งนอนเสียในที่ใด จึงได้เกิดเหตุขึ้นดังนี้ จะควรแก้ไขโทรศัพท์ในระหว่างบางหูไปหาบางใจอย่างไรได้

(๑) หม่อมเจ้าถนอม อุไร กำกับพนักงานชะวาลาและเฝ้าที่


วันที่ ๕
พระยาสุขุม

วันนี้เดินผ่านเฉลียงมุขหลังด้านข้างใต้ ฝนหยดลงมาถูกแขน จึงหยุดแลดูเห็นน้ำกองอยู่ที่พื้น รั่วประเภทเดียวกันกับเฉลียงด้านเหนือ เกี่ยวแก่หลังคาดาดหรือจะมีรางอะไรมาลงตรงนั้น รั่วตรงกันกับเฉลียงเหนือในที่แห่งเดียวกัน คงจะมีอะไรอยู่บนหลังคาที่ตรงนั้น เช่นกับรางที่ไหลลงจากปากรางทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งลงเฉลียงเหนือ ข้างหนึ่งลงเฉลียงใต้

ที่อื่นๆ ซึ่งรั่วหลวงศักดิได้จับไว้ชั้นบน ๗ แห่งชั้นกลาง ๑๗ แห่ง

เรื่องช่องพนักปรุใต้หน้าต่าง ฝนเช่นนี้ไม่มี ถ้าฝนตวันตกอย่างลมพัดน้ำฟูมาเห็นจะเข้าได้ ถ้าจะอุดตันประดักประเดิดติดกระจกทับข้างนอก ฤๅข้างในเสียจะกันฝนเป่าได้ แต่ที่จริงก็เป็นเฉลียงเป่าเข้ามาก็ถูกพื้นศิลาไม่เหมือนพระที่นั่งวิมานเมฆเป่าเข้ามาแล้วไหลซามลงไปข้างล่าง กลายเป็นรั่วใหญ่ เพราะเป็นเฉลียงพื้นกระดาน ฝนอย่างนั้นจะมีปีหนึ่งไม่เกิน ๖ ครั้ง โดยมากปีหนึ่งสัก ๓-๔ ครั้งก่อนเดือน ๙ ถ้าเดือน ๙ ถึงฝนใหญ่แล้วเป็นไม่มีเป่า เคยสังเกตมาเช่นนี้ เว้นไว้แต่ปีนี้มันแปลกอยู่จะเป็นอย่างไรไม่รู้

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๕ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือวันนี้แล้ว การพระที่นั่ง(๑) นี้ยังไรๆก็ไม่พ้นความรังเกียจของฝรั่งฤๅไทยบางคน ตามความจริงว่าเปลืองเงิน ไม่จำเป็นไม่ได้ประโยชน์ สุรุ่ยสุร่าย ให้การอื่นที่จะทำได้มากน้อยไป เป็นข้อรังเกียจ ๔ วิกัปเช่นนี้

วิกัปต้นที่ว่าเปลืองเงินนั้น เพราะคิดมันใหญ่โตหรูหราหนักไป เอาแต่พอควรก็จะใช้ได้ ตั้งสแตนดาดใจคนว่า พระที่นั่งอภิเศกดุสิตที่เห็นหรูกว่าต้องการแล้ว นี่จะหรูเกินไป ถ้าทำเสมออย่างพระที่นั่งอภิเศก คิดราคาขึ้นให้ ๑๐ เท่าล้านเดียวพอ

วิกัปที่ ๒ ที่ว่าไม่จำเป็นนั้น โดยจะทำงานใหญ่โตหลังคาไม่พอ ต่อหน้าต่อหลังพระที่นั่งอภิเศกออกไปยังไรก็ต่อได้ ที่เหลือถมไป ไม่ควรจะทำขึ้นใหม่ต่างหากทิ้งของเก่า

วิกัปที่ ๓ ที่ว่าไม่ได้ประโยชน์นั้น คือคำโปรฟิด เช่น สร้างตึกให้เขาเช่าได้ค่าเช่า สร้างที่อยู่ได้มีความสุข นี้ไม่มีประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง สร้างไว้เป็นที่สำหรับทำพิธีซึ่งแปลว่าเปลืองอันพิธีนั้นเองควรจะตัดเลิกอยู่แล้ว ยังไปสร้างที่ขึ้นไว้สำหรับทำให้เปลืองเงินอีกเป็นต้น

วิกัปที่ ๔ การที่ควรจะทำได้แต่พอเกลี้ยงๆ พอสบายไปทำให้วิจิตรพิศดารเหลือเกิน เกินถานานุรูปของทุนทรัพย์ เช่นกับว่าคนมีเงินซึ่งจะได้เป็นผลประโยชน์พอเลี้ยงตัวแลบุตรภรรยาบ่าวไพร่ เผยอยากจะสร้างตึกสู้เขม็ดแขม่ในการใช้จ่าย เอาไปสร้างตึก เป็นเหตุให้ในบ้านตัวเองควรจะบริบูรณ์กว่า ต้องลดความบริบูรณ์ลงไป คนอื่นที่เขาแลเห็นแลรู้ที่ได้ที่เสียของเราเขาก็จะนึกสงไสยฤๅนึกติเตียนอย่างเดียวกับเรานึกว่ากระไรในบ้าน ..................................... อยู่เดี๋ยวนี้

ข้อความ ๔ วิกัปนี้ไม่มีใครมาว่า แต่มันปรากฏในใจ จึงทำให้ย่อหย่อน ถ้าจะคิดประโยชน์ทางที่จะทำขึ้นน้อยกว่ากันมันเป็นเปอซอนแนลไปเสียทั้งนั้น เช่นกับไม่ต้องไปทำเฉลิมพระชนมพรรษาที่ในวัง ทำได้ที่นี่ เฉลิมฉัตรทำในวังเป็นต้น ในที่สุดอาวสานกาลอยากอยู่ที่นี้ มันเปรอะไปเสียเช่นนี้ จึงออกยอมๆว่า ถ้าเห็นว่าควรงดไว้ก็งด ไม่โกรธแลไม่เสียใจจริงๆ แต่เสียดายนั้นห้ามไม่ได้ .....................................................................................................................
.........................................................................................................................................................
........................................................................................................................................................
สยามินทร์

(๑) พระที่นั่งอนันตสมาคม


สวนดุสิต
วันที่ ๒๕ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕

พระยาสุขุม

ส่งแมกกาซินซึ่งจำเพาะมีเรื่องเมืองอนุราชเก่งอยู่ ขอบใจถ้าได้ไปพบอะไรเก่งๆ จะเล่าให้ฟัง

สยามินทร์

 


 

(รับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๑๒๖)
Dampfer Sachsen
Norddeutscher Lloyd, Bremen
วันที่ ๑๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ตั้งแต่มาได้รับโทรเลขบอกข่าวพระที่นั่งฉะบับหนึ่ง ได้เตรียมโทรเลขไว้สำหรับจะมีจากสุเอซ หรือปอรตเซตฉะบับหนึ่งหนังสือฉะนับนี้มีความมุ่งหมายที่จะอธิบายโทรเลขนั้นให้แจ่มแจ้งคือพระยาสุขุมจะนึกได้ว่ามีความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งค้างอยู่ช้านานว่าจะเอาเงินที่ข้าราชการเรี่ยรายในการทำบุญแซยิดอายุครบ ๕๐ อันมีเหลืออยู่นั้น ก่อสร้างเป็นซุ้มประตู ที่ต้นถนน เบญมาศ อันต่อกันกับถนนดวงตะวัน และถนนราชดำเนินนอก เพื่อจะให้เป็นซุ้มประตูสำหรับวังสวนดุสิต ความคิดอันนี้ได้คิดเมื่อครั้งพระยาสุริยา(๑) เป็นเสนาบดี มีหน้าที่สามคนร่วมกัน คือพระยาสุริยา กรมหลวงนริศร กรมดำรง(๒) ถึงได้วาดอย่างขึ้นดูบ้างแล้ว แต่ก็เลยติดค้างอยู่ตามเคย มาภายหลังพระสุริยาคิดเห็นว่าน่าจะหล่อพระบรมรูปขี่ม้าตั้งบนหลังซุ้มนั้น แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำรูป ก็ระงับมาอีก

ครั้นครั้งนี้เห็นว่าเป็นโอกาศที่จะหาเวลาอื่นอีกนั้นยาก จึ่งได้จดหมายสั่งจรูญ ให้คิดอ่านหาช่างแลสืบราคาเตรียมไว้

ครั้นเมื่อมาถึงเอเดน ได้รับหนังสือจรูญ ส่งเมมโมเรนดัมว่าด้วยราคารูปนั้นมาถาม ขอให้ตอบโดยโทรเลข เพื่อจะได้คอนแตรกตามราคาที่ได้กล่าวในเมมโมเรนดัม แต่เป็นการขัดข้องที่จะตอบไปไม่ได้ ด้วยเหตุว่าในเมมโมเรนดัมนั้นช่างหล่อเขาอยากจะรู้ส่วนสูงส่วนกว้างของซุ้ม ซึ่งเรายังไม่ได้กะไว้เลย เพราะเหตุฉะนั้น จึงได้คิดจะมีโทรเลขมาถาม แต่ก็คงจะกินเวลานานเหมือนกันกว่าจะได้รับคำตอบ เพราะจะต้องไปเรียกช่างเขามาคิดตัวอย่างขึ้นใหม่ เสร็จแล้วจึงจะบอกออกมาได้ แต่นึกว่าถ้าหากว่าบอกพุ่งขนาดกว้าง ซึ่งต้องอาไศรยถนนเป็นหลัก สูงก็ต้อง อาไศรยกว้างเป็นหลัก ออกมาแล้วอยากจะลองหาช่างให้เขาเขียนตัวอย่างซุ้มนั้น ทั้งรูปที่ตั้งทีเดียว บางทีก็จะได้ดี แต่จะไม่เข้าสไตลกันกับพระที่นั่ง อันจะสร้างขึ้นใหม่ ก็จะเป็นได้

การก็ไม่น่าจะร้อนรนอันใด เพราะถึงจะลงมือเดี๋ยวนี้ กว่าจะทำแล้วก็ตั้งปี แต่ความจริงที่ทำให้ต้องเร่งรัดอยู่นั้น ตรงที่จะปั้นโมเดล เราจะมีเวลานั่งให้เขาก็ในเดือนพฤษภาคม พ้นนั้นก็จะเที่ยวร่อนไปร่อนมา ฤๅเสียเวลาเที่ยวเตร่ จึ่งเป็นเหตุร้อนรนอยู่เท่านี้ ได้คัดเมมโมเรนดัม สอดมาให้ดูด้วยในซองนี้ ขอให้หาฤๅกรมหลวงนริศร กรมหลวงดำรง พระยาสุริยา ซ้ำดูอีกสักที แต่หน้าที่นั้นคงเป็นของพระยาสุขุม อย่าหวังต่ออะไรเลย

มีใจคิดถึงอยู่เนืองๆ จะจดหมายเข้าไปทักทายอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เบื่อด้วยช้านักกว่าจะได้ตอบ ยิ่งเป็นเวลาเดินทางอยู่ดังนี้ จะมีโทรเลขไป เหตุก็ไม่พอ คิดถึงพระที่นั่งอัมพรเหมือนคิดถึงครอบครัวที่อยู่ภายหลัง แต่ทุเลาที่วางใจได้ว่า การที่มอบหมายไว้จะไม่ผิด กลับไปจะไม่ได้รับความเสียใจอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยได้เห็นผลแห่งความละเลย ให้เป็นที่เสื่อมทรามไป เหมือนอย่างได้รับผลแห่งความละเลยให้ได้ความลำบากในเวลาเดินทาง อย่างที่มาข้างฝ่ายนี้ ทางที่ตั้งแต่มาจนบัดนี้ ไม่มีอันใดเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใจ ซึ่งจะเล่าสู่กันฟังได้จึงของดไว้เมื่อเห็นอะไรชอบกลจึงจะเล่าให้ฟัง

สยามินทร์

(๑) พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค)  (๒) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


วิลลาโนเบล ซันเรโม
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ ๑๑ เมษายนนั้นแล้ว ขอบใจที่รีบเขียนมา เป็นเวลาที่ออกจะเปลี่ยวเปล่าใจไม่ได้รับหนังสือบางกอกเลย ล่วงถึง ๔๓ วันแล้ว การซึ่งได้เอื้อเฟื้อเอาใจใส่การพระที่นั่ง แลได้เป็นธุระในเรื่องเจ้าสายนั้น เป็นที่พอใจเป็นอันมาก คิดถึงพระที่นั่งอัมพรเต็มที ยังไม่เห็นว่ามีที่ไหนดีกว่าเท่าที่ได้มาแล้ว มิสเตอร์อาเลกรีมาถึงแต่วานซืนนี้ พระสารสาตรมาบอกข่าว จึงยังไม่ตอบหนังสือในทันที วันนี้จึ่งได้พบได้ดูแผนที่ตัวอย่างนั้นแล้ว เป็นที่พอใจในรูปพรรณสัณฐานแลขนาด มีข้อที่ต้องพูดอยู่แต่เรื่องฝาประจันห้อง ซึ่งเขากะไว้เดี๋ยวนี้จะกั้นด้านตวันตก เพียงสุดมุขซึ่งเป็นจตุรมุขกลาง ถลำเข้ามาในแนวกำแพงเพราะจะให้เห็นสี่ขา เหมือนอย่างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นฝาฉากรดน้ำเสีย เหลือห้องข้างในแต่ห้องแบงเควต เอา โธรนไปตั้งมุขใต้เสมอแนวผนังในประธาน หลังโธรนเป็นห้องไปรเวต ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้ จะทำเฉลิมพระชนมพรรษา มีเลี้ยงแบงเควตด้วย เป็นที่ขัดขวาง ห้องข้างในคงจะต้องเป็นที่เลี้ยง แบงเควตฤๅเป็นที่ผู้หญิงเฝ้า ได้อย่างหนึ่ง ขาดอย่างหนึ่ง จึงมีความเห็นว่า ควรจะเอาโธรนไปตั้งในประธานหันหน้าตวันออก เลิกฝาสกัดมุขตวันตกเสีย ใช้โธรนเป็นฉากกั้นต่ำๆ เหมือนพระ มหาปราสาท เพราะจะกั้นสูงเขาเห็นว่าไปปิดขามุขเสียจะไม่งาม แต่ถ้าจะไปมีฝาตันตามที่เขียนไว้เดี๋ยวนี้ เอาห้องหลังโธรนเป็นห้องไปรเวต การที่จะเดินไปห้องแบงเควตก็จะต้องผ่านห้องไปรเวต จึงตกลงกันว่า ฝาสกัดจะงดไว้ก่อนเมื่อควรกั้นแห่งใดจึ่งจะกั้นต่อภายหลัง

ได้ชี้ให้อาเลกรีดูหลังคากระจกครอบอัฒจันท์ขึ้นวิลลาโนเบลนี้ ตรงกันกับความประสงค์ที่อยากจะให้มี ที่อัฒจันท์พระที่นั่งอัมพรตรงห้องงาด้านหลัง กับเฉลียงฝากระจกของเรือนนี้เหมือนกัน จะใช้ที่พระที่นั่งอัมพรไม่มีที่ แต่ถ้าใช้เรือนที่มีเฉลียงโถงซึ่งจะทำต่อไปภายน่าลักษณะเช่นเรือนมกุฏราชกุมาร(๑) เช่นนั้นแล้วละงามดี แต่จะต้องสั่งเหล็กแลกระจกไปจากนอก

การที่มาครั้งนี้นับว่าคิดถูก ไม่มีอะไรเสียเปรียบลงเลย มีแต่ฝ่ายข้างจะดีขึ้น แต่ถ้าหากว่าการปฏิบัติไม่ใช่ร้องว่าขาดกามคุณคือนวดฟั้นเอาใจใส่เอื้อเฟื้อดี จะสบายเร็วขึ้นกว่านี้เป็นอันมากความจริงกลับเลวไปกว่าครั้งก่อน เหตุด้วยเป็นเวลาอยู่ตัวเข้าด้วยกัน ความตะเกียกตะกายน้อย

แรกมาถึงออกจะรู้สึกหนาวมาก ด้วยโลหิตน้อย แต่ค่อยทนได้มากขึ้นทุกวัน ยังไม่เต็มที่ที่ควรจะทนได้ แลเป็นด้วยระวังตัวเสียมาก จะกล้าอวดดีไปกลัวเป็นกรมมหิศร(๒) บัดนี้ที่นี่ร้อนแล้ว แต่ทั้งร้อนเช่นนี้ ถ้าบ้านเราได้เย็นสักครึ่งหนึ่งนี้ก็จะนับว่าเป็นลาภอันอุดม อ้ายร้อนเหน็จเหนื่อยอยากกินน้ำมันหายไปหมด ถึงจะเดินเหนื่อยหยุดเสียประเดี๋ยวก็เหมือนกับได้กินน้ำ ฝรั่งเขาร้อนกัน แต่เราช่างรู้สึกพอดีจริงๆ ถ้าหากว่ามีรถไฟไปมาได้ ทางจนสามวันเป็นได้มาสร้างบ้านกันอยู่ริวาราแห่งใดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในกลางสวนดอกไม้ซึ่งเป็นที่พึงใจ ถึงถนนมีสายเดียวซึ่งต้องซ้ำบ่อยๆ ก็เที่ยวได้มากกว่าบ้านเราเสียเท่าหนึ่งเท่าไร เราจะเดือดร้อนอะไร บ้านเราซ้ำยิ่งกว่านี้ ที่จริงยังไม่สู้อยากจะไปจากที่นี้ แต่หมอแกสั่งให้ไปอาบน้ำที่เมืองบาเดนบาเดน ให้ไปต่อเดือนหน้า แต่เวลาเราจำกัด ด้วยเดือนกรกฎาคมจะต้องขึ้นไปโนรเวเสียทั้งเดือน จึ่งได้เอาย่นเข้ามาในเดือนนี้อยากจะไปซื้อปิกเชอที่วินิศแลฟลอเรนศ์ ครั้นจะรอไปซื้อต่อออตัมน์ เศรษฐีอเมริกันเขามาในฤดูซัมเมอก็จะกวาดเอาไปเสียหมด มาคราวก่อนเสียทีไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จึ่งต้องรีบไปกะเวลาให้ถึงบาเดนในปลายเดือนนี้ ต้นเดือนน่าตามคำหมอ ขาดทุนค่าเช่าที่นี้ต้องเสียเปล่ากว่าครึ่งเดือน

การที่จะคอยฟังข่าวขอให้เข้าใจว่า จะไม่ใคร่จะได้ยินว่าผู้ใดได้รับรองเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะไม่ได้มุ่งหมายมาเช่นนั้น ต้องการรักษาตัวแลเที่ยวจริงๆ ถ้าคอยฟังข่าวเรื่องพระเกียรติยศแล้วจะเสียใจ ขอให้คอยฟังข่าวคราวแต่สบายไม่สบายเท่านั้น ในเวลานี้ขอบอกว่าตั้งต้นขึ้นสู่ทางสบาย แต่ยังไม่ลงร่องรอยเรียบร้อยดี เพราะทรุดโทรมเรื้อรังมาเสียนาน ทั้งชราลงมันก็ขึ้นช้าอยู่ด้วย แต่อย่ากลัวว่าจะมีอันตรายอันใดเช่นทนหนาวไม่ได้เป็นต้นนั้นเลย แต่โรคคิดถึงบ้านแก้ยากเห็นจะไม่มีหมอรักษา หมอก็ไม่ห้ามบอกว่าคิดถึงเถิด ดีไม่เป็นไร

สยามินทร์

(๑) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   (๒) กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย


ซาวอยโฮเตล เมืองฟลอเรนศ์
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต และพระยาวรพงษ์พิพัฒ

ด้วยในการที่มาเที่ยวเมืองอิตาลีครั้งนี้ ได้จัดซื้อรูปภาพสีน้ำมัน รูปตุ๊กกะตาศีลา แล ตุ๊กกะตาหล่อต่างๆ เป็นเครื่องสำหรับประดับพระที่นั่ง จากเมืองวินิศแลเมืองฟลอเรนศ์หลายอย่าง ได้สั่งให้เขาส่งเสนาบดีกระทรวงโยธา ด้วยเหตุว่าเชื่อในเสนาบดีว่าเป็นคนใจร้อน จะไม่ทิ้งให้รูปภาพไปตากฝนอยู่ที่โรงภาษีจนผุพังเสียไป จึ่งจะค่อยโซเซไปรับภายหลัง แต่การที่จะเปิดรูปภาพฤๅขนตุ๊กกะตาศีลาเช่นนี้ก็เป็นการสำคัญเหมือนกัน เรื่องรูปภาพเชื่อใจในพนักงานช่างเขียนกรมโยธา ว่าจะทำได้เรียบร้อย แต่เรื่องตุ๊กกะตาศีลา ที่ต้องอาไศรยแรงกุลีนั้นมีความวิตกมาก กลัวผู้ที่จะจัดการทำไม่เคยการ จะระวังไม่พอ ขอให้พระยาวรพงษ์พิพัฒเป็นเจ้าน่าที่ขนแลเปิดหีบตรวจทุกอย่าง รวบรวมไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ถ้าห้องแถวข้างล่างไม่รั่วไว้ในห้องแถวนั้นก่อนได้ แต่รูปภาพน่ากลัวอันตรายด้วยฝน ให้ทำขาอย่างตั้งไว้ที่ห้องเฝ้าถึงจะซ้อนกันเต็มทั้งห้องก็ไม่เป็นไร แล้วให้บอกให้เจ้าสายทราบจะดูก็ให้ดูได้ เมื่อได้รับสิ่งใดชำรุดทรุดโทรมที่ควรจะต่อว่า ก็ขอให้ทราบ แลให้ต่อว่ามาทางกงซุลผู้ส่งทางหนึ่ง ให้บอกมาให้ทราบด้วยอีกทางหนึ่ง เชื่อใจว่าเจ้าทั้งสองคนจะทำการได้เรียบร้อยไม่ให้ของเสีย

จุฬาลงกรณ์ ปร.


(รับวันที่ ๒๑ มิถุนา ๑๒๖)
Grand Hotel
Milano,
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

วันนี้ได้ไปดูร้านที่ทำกระจกสี อย่างที่เรียกว่าสเตนคลาศแต่ก่อนนั้น เดี๋ยวนี้เขาทำได้อย่างอื่นง่ายขึ้นแลราคาถูกลง มีวิธีที่ทำได้หลายอย่าง เป็นรูปภาพอย่างเก่า เป็นดอกไม้ แลเป็นสีหยกโมรา เป็นเหมือนอย่างประดับพลอยจะพรรณาก็จะยาวไปผเอินให้ตามหาอาเลกรี คิดจะมาพูดด้วยเรื่องทำเฉลียงเหล็กก็พอมาพบกันวันนี้ ได้ไปดูด้วยกัน ได้ขอตัวอย่างบรรดางานที่เขาทำได้อย่างไร อย่างละชิ้น ส่งเข้าไปสำหรับกระทรวงโยธา ได้ซื้อสิ่งของเป็นฉากแลตู้ ๔ อย่าง ราคาไม่มากเท่าใดนัก ได้มอบให้มิสเตออาเลกรีเป็นผู้ซื้อแลส่งเข้าไปยังกระทรวง ขอให้จ่ายเงินให้มิสเตออาเลกรีเป็นค่าสิ่งของเหล่านั้น

เรื่องกระจกสีนี้ ที่เป็นสำคัญคือปรารถนาจะใช้ในวัดเบ็ญจมบพิตร เช่นที่คอสองพระที่นั่งทรงธรรมอันได้คิดไว้นานแล้วว่าจะทำเป็นเฟื่องอุบะด้วยกระจกสี การค้างมาหลายปี เดี๋ยวนี้กรุอยู่ด้วยผ้าแดง ถ้าจะมีตัวอย่างแลวัดขนาดให้มิสเตออาเลกรีสั่งทำที่นี่คงจะแล้วสำเร็จได้โดยง่าย หนังสือฉะบับนี้ได้มอบให้มิสเตออาเลกรีส่งเข้ามาถึงกระทรวงพร้อมกับบาญชีเงินแลสิ่งของ

สยามินทร์


(รับวันที่ ๒๑ มิถุนา ๑๒๖)
Grand Hotel
Milano,
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ได้ซื้อตุ๊กกะตาทองบรอนซ์หลายตัว ที่เป็นชิ้นใหญ่งามอยู่ชิ้นหนึ่ง ยังคิดอยู่ว่าจะตั้งแห่งใดดี ไปเห็นที่ตั้งสามแห่งด้วยกัน คือที่ห้องชั้นบนตรงกะไดขึ้นมาสองแห่ง แลที่ชะลาข้างห้องทองแดง แต่ชะลานั้นเป็นกลางแจ้ง ตามปรกติเวลาที่นั่งห้องสูบบุหรี่ก็มักมีใครๆ ออกไปนั่งที่ชะลานั้น ถ้ามีหลังคาแลฝากระจกเสียได้ดูเหมือนจะดี ยังมีขัดข้องอยู่ที่ชะลานั้นกว้างมากไม่เป็นสี่เหลี่ยมชัด ด้วยอมเฉลียงห้องทองอยู่ มิสเตอร์อาเลกรีกำลังจะคิดว่าจะควรทำอย่างไร ถ้าคิดตัวอย่างตกลงแล้วอยากจะให้สั่งเครื่องเหล็กแลกระจกให้พร้อม เข้าไปคุมขึ้นในที่นั้น ความปรารถนาอยากจะให้แล้วสำเร็จทันก่อนกลับ แต่มิสเตอรอาเลกรีสงไสยว่าจะแล้วไม่ทัน ด้วยไม่รู้ขนาดกว้างยาวกว่าจะสืบสวนได้ขนาดแลคิดตัวอย่าง จะกินเวลาเข้าไปถึงเดือนหนึ่ง ยังจะทำเครื่องเหล็กประทุกส่ง ถึงจะได้เข้าไปพร้อมก็น่าที่จะไม่แล้ว ได้ยอมว่าถึงจะไม่แล้วสำเร็จค้างอยู่ก็ตาม เมื่อพร้อมเสร็จเมื่อไรก็ให้ได้ลงมือทำ ตัวอย่างนั้นมิสเตออาเลกรีจะให้ดูทางนี้ ถ้าพอใจแล้วจะอนุญาตให้เขาทำทีเดียว เรื่องเงินที่จะใช้ก็เป็นเงินพระคลังข้างที่ ตามที่เคยทำการพระที่นั่งนั้นมา หนังสือฉะบับนี้ได้มอบให้มิสเตอรอาเลกรีเป็นคำนำการที่ได้สั่งให้ทำนั้น

สยามินทร์


Le Grand Hotel
Hotel des Alpes
Territer, Suisse
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือที่ ๒ ลงวันที่ ๒๐ เมษายนนั้นแล้ว ข้อความที่บอกมาเป็นที่ถูกใจทุกประการแล้ว จะไม่ตอบรายข้อขอบอกถึงเรื่องที่มา ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่อยากรู้ การที่มาครั้งนี้หนังสือพระยาสุขุมเป็นฉะบับที่ ๓ คือได้รู้จากกรมดำรงแห่งหนึ่งพระยาศรี(๑) แห่งหนึ่ง นอกนั้นข่าวคราวแห้งแล้งเต็มที จนหนังสือในวังก็ไม่ใคร่จะได้ ความรำคานของผู้ที่มาไกลไม่ได้ข่าวบ้านนั้นอยู่ข้างจะเบียดเบียน แต่ก็เคยแล้ว เราอยู่บ้านก็ขี้เกียจเขียนหนังสือตอบคนที่มาเมืองนอก เพราะเขียนแล้วหายไปนานจนลืมก็ไม่ได้รับคำตอบ ชักให้เบื่อหน่าย ถ้าเป็นการในครอบครัวไม่รู้เสียเลยก็ดีไปอย่าง ความห่วงใยคิดถึงก็น้อยลง เหมือนเล่นเด็ดขาดกันเสียที ช่องที่จะได้รับหนังสืออีกทีหนึ่งก็ที่บาเดนบาเดน พ้นนั้นไปก็เห็นจะไม่ได้รับตั้งเดือน เพราะจะไปสุดหล้าฟ้าเขียวจริงๆ อีกสองดีกรีเศษจะถึงนอถโปล ต่อเดือนสิงหาคมกลับมาเบอลินจะได้รับอิกคราวหนึ่ง ต่อนั้นก็จวนเวลากลับ น่าที่หนังสือจะวิ่งตามกลับเข้าไปบางกอก

จะบอกความคิดที่จะไปอย่างไรเป็นรูป คือในเดือนมิถุนายนนี้ อยู่บาเดนบาเดนจนวันที่ ๑๙ แล้วไปปารีสลอนดอนข้ามออสเตนด์ไปกีล เดนมาก เดือนกรกฎาคม นอรเวทั้งเดือน สิงหาคมขึ้นลูเบ๊ก เบอลิน ปารีส สเปน กันยายนบาเวเรีย เวียนนา สวิตเซอแลนด์ เฉลิมพระชนมพรรษาที่สวิตเซอแลนด์ แล้วลงฟลอเรนศ์ โรม เนเปอล ไปขึ้นมัสเซนาไปเปอลารโม ออกจากมัสเซนาไปขึ้นอาเลกซ.านเดรีย ไกโร สุเอส แต่นั้นจะตั้งใจฉิวไปบางกอก ไม่แวะแห่งใดเลย เว้นไว้แต่เรือเมล์เขาหยุด

ขอให้แกทอดธุระ ว่าอย่างไรอย่างไรคงได้ชีวิตกลับไปบ้านดีกว่าเมื่ออยู่ในบางกอก แต่อ้ายเรื่องจะหายเป็นปรกตินั้นให้สงไสย แต่จะว่าล่วงน่าไปก่อนก็ไม่ได้ ไว้เมื่อไปบาเดนบาเดนแล้ว ได้ทำตามคำแนะนำหมอทุกอย่าง ดีร้ายอย่างไรคงจะได้รู้ มาเที่ยวคราวนี้คงจะมีเวลาที่อยู่ในเมืองครึ่งหนึ่ง บ้านนอกครึ่งหนึ่งฤๅกว่าครึ่ง เพราะเป็นที่เงียบสงัดสบายดีกว่าในเมือง ทั้งหนวกหูแลคนดูมาก หวังว่าราชการของแกจะไม่ขัดข้องเพราะเสด็จไม่อยู่ มีความคิดถึงอยู่เนืองๆ

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(๑) พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)


เมืองบาเดนบาเดน
วันที่ ๒ มิถุนายน ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม
ได้ให้ส่งรูปหล่อแลรูปเขียน ที่ซื้อจากเมืองบาเดนบาเดนเป็นรูปหล่อ ๓ รูป รูปเขียน ๙ รูป รูปฉาย ๑ รูป ขอให้รับไว้

สยามินทร์


วิลลาสตูร์ดซา เมืองบาเดนบาเดน
วันที่ ๙ มิถุนายน ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ด้วยได้รับหนังสือฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๖ ที่ ๔ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ส่งตัวอย่างเรือนชายอุรุพงษ์(๑) กับแปลนประตูสวนดุสิตมานั้น ได้ตรวจดูแล้วฯ เรือนชายอุรุพงษ์เข้าใจว่าหลังเตี้ยตอนข้างหน้านั้น เป็นที่พักขุนนาง หันน่าตะวันออก กระใดใหญ่ที่อยู่ในตัวเรือน คงจะหันข้างใต้ เพราะประสงค์จะให้ออกถนนมังกรหย่อม ไม่พอใจทั้งสองอย่าง เหตุด้วยหลังคาหลังเตี้ยมาบังหลังสูง สิ้นสบายไปเสียมาก ซ้ำมีหลังคาตัดในรหว่าง เพื่อจะไม่ให้หลังคาชนกัน ซึ่งพระอินทร์พระพรหมจะมาทำอย่างไรไม่ให้รั่วนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด อีกประการหนึ่ง กระใดใหญ่ถึงว่าจะได้ออกถนนก็จริง แต่อยู่เคียงกันกับห้องนอน ทางลมมาทางนั้นคงบังกันร้อน ใช้ไม่ได้เสียอีกกระทงหนึ่ง เห็นว่าทำขึ้นแล้วคงจะเป็นที่เสียใจเมื่อภายหลัง การที่จะแก้กระใดเปลี่ยนไปไว้เสียข้าง โรงรถ ไม่มีที่ขัดขวางอันใด เพราะถ้าจะเดินขึ้นเรือน คงจะไม่มีใครซอกเข้ามาเดินทางถนนนั้น เพราะเหตุที่ต่อกับข้างใน ควรจะหาทางเดินเข้ามาทางหลังโรงรถ สำหรับคนสนิทสนมขึ้นลง ถ้าเป็นแขก คงจะต้องขึ้นทางห้องรับแขกข้างหน้า ข้อขัดข้องสำคัญอยู่ที่ที่พักขุนนาง ข้างล่างก็ไม่ขัดอันใดนัก แต่หลังคาบังกันนั้นไม่ดีอย่างที่สุด เสียหลังสูงทั้งหมู่ จำจะต้องแก้ไขอย่างอื่นแท้ทีเดียว โดยจะผลักที่พักไปไว้เสียมุมข้างหนึ่ง ให้เรือนออกได้ แต่ครึ่งเดียวก็ยังดี ขอให้คิดใหม่ ถึงเสด็จกลับไปถึง ยังไม่แล้วก็ตามเถิดฯ เรื่องมอนยุเมนต์นั้นยังไม่อยากจะโต้เถียงด้วยดิไซนประการหนึ่งประการใดเลย เพราะอยู่ไกลกัน แต่เป็นที่พอใจที่แกไปพัดเอาความคิดกว้างแคบมาได้ เท่านี้ก็พอที่จะคิดเรื่องทำรูปอยู่แล้ว ได้ส่งไปให้จรูญเป็นหลักคิดฯ การที่มาอยู่เช่นนี้นึกว่าว่างเปล่าไม่มีราชการ ความจริงก็นานๆ จึ่งจะได้รับหนังสือเมล แต่ไม่มีเวลาว่างที่จะเรียกว่าไม่มีอะไรทำเลย มันช่างทำอะไรๆ เสียจริงๆ ไม่หยุดไม่หย่อน ยังค่ำ ยังค่ำ จนถึงเวลานอนหมู่นี้อยู่ข้างจะคั่งจัด รู้สึกร้อนใจหริ่งๆ ในกิจการซึ่งคั่งค้าง เหมือนอย่างอยู่บางกอกฯ ซึ่งให้ข่าวมาว่าเจ้าสายช่วยเร่งงานนั้นเป็นที่ยินดีมาก พอหวังใจได้ว่าในการบ้านเรือนจะไม่มีผู้ใดหยุดนอนฯ เสียดายอีจำปากอมาก แต่อ้ายคนังจะออกสบายเสียดอกกระมังเพราะอิจฉามากอยู่ฯ ความรู้สึกคิดถึงบ้านเบียดเบียนมาก แต่หากอยู่ได้ด้วยความตั้งใจ ในการคิดรักษาตัวเป็นที่ตั้งอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีสมาธิ อาจจะกลับให้กำเริบโรคได้ เช่นชายเพ็ญ(๒) เป็นที่น่าสงสัย ว่าในการที่มาจะมีคุณฤๅไม่ ดูช่างไม่สนุกไม่สบายเสียเลย มีความวิตกอยู่ในการที่มาประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในขันติธรรม แลสันโดษฐในที่บางสถานเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นส่วนกุศลอยู่ จึงขอให้ส่วนบุญ ได้อนุโมทนาในความประพฤตินี้ด้วยเทอญฯ

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(๑) ตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ ในพระราชวังดุสิต   (๒) กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม


วิลลาสตูร์ดซา เมืองบาเดนบาเดน
วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ได้ส่งของจากบาเดนบาเดน ซึ่งเป็นจำนวนส่วนขอให้กรมโยธารับนั้น คือหีบใหญ่หีบหนึ่งมีรูป ๑๔ แผ่น หีบเล็ก ๑ มีรูปสองแผ่น กับสมุดรูปเล่มหนึ่ง รูปบรอนซต่างๆ สามตัว ๑ หีบ ฐานตุ๊กกะตา ๑ หีบ ตุ๊กกะตาต่างๆ เล็กใหญ่รวม ๖ ตัว ๑ หีบ รูปถ่ายแต่งตัวฟรอกโก๊ตเป็นของชูมันน์ ซึ่งเคยเข้าไปกรุงเทพฯ ถ่ายที่บาเดนบาเดน เขาไปขยายใหญ่มาให้เป็นของกำนัน กับสมุดรูปนั้น ช่างถ่ายรูปที่ไฮเดลเบิรคผู้หนึ่ง ได้เที่ยวตามถ่ายเมื่อเวลาขึ้นไปดูคาเซอลไฮเดลแบร์ค รูปทั้งนี้ให้นำขึ้นให้มกุฎราชกุมารดู แล้วจึงส่งไปที่เจ้าสาย ถ้าหากว่าใครอยากจะเห็นจะตั้งไว้ที่ท้องพระโรงฤๅแห่งใดก่อนสองสามวันก็ได้

จุฬาลงกรณ์ ปร.


พระราชโทรเลข ส่งจากลอนดอน เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗ (ร.ศ. ๑๒๖)
Sukhum
Bangkok
Telegram received wish you success.

Siamindr.


พระราชโทรเลขส่งจากเมือง Brevik เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ (ร.ศ. ๑๒๖)
(คำแปลจากโค๊ต)
Sukhum
Bangkok

Your Telegram received. I congratulate you upon the success of your mission. According to the report at hand it appears that the tiles at the Ambara Palace are quite useless in which case architects should be consulted what kind of tiles should be used and to have them ready to replace the old ones in the dry season,

(M.R.) Siamindr


เรืออัลเบียน
วันที่ ๒ สิงหาคม ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

หนังสือฉะบับนี้เขียนมาเพื่อจะขอษมาลาโทษที่ได้หมิ่นประมาทแก ว่าแกคงจะยังไม่ได้กลับไปถึงบางกอกเร็ว ด้วยออกไปตรวจราชการ จะเขียนไปก็ป่วยการเวลาข้างนี้ ซึ่งอยู่ข้างคับแคบขัดสน ด้วยตั้งแต่ไปคริสเชียเนียแล้ว ไม่ได้ค้างแห่งใดถึงสองคืนสักแห่งเดียว ถ้าว่าจะพูดถึงมาแต่บาเดนบาเดน ไม่ได้ค้างแห่งใดเกินสามคืนแต่สักแห่งเดียว เดินทางเรื่อยไปทุกเมื่อเชื่อวันในนอรเวทั้งเดือน เดินทางไม่ผิดกันกับบางกอก ใช้รถม้าความเหน็ดเหนื่อยมากกว่าเดินทางอย่างฝรั่งมาก การที่แกไปราชการบอกว่าจะต้องไปห้าวีก ความรู้สึกว่ามันช่างนานเสียจริงๆ จนทอดธุระไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับ เพราะเรานับวันของเรา ๕ วีกนั้น อึดในใจไม่อยากนัก แต่ครั้นมาได้รับโทรเลขว่ากลับแล้ว รู้สึกว่าประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ออกอิจฉาว่าทำไม วันของเรามันไม่เร็วเหมือนวันของแกบ้าง ความรู้สึกมันเป็นเช่นนี้ จึงชักให้เหลวไหลมิใช่จะไม่ยินดีที่ได้รับหนังสือ ที่จริงเป็นของต้องการอย่างยิ่งขอบใจที่ไม่ได้ตอบก็ไม่โกรธ คราวนี้จะดำเนินเรื่องตอบเลหลังใหญ่

ฉบับที่ ๕ คำแปลโค๊ตโทรเลขของแกผิดอยู่นิดหนึ่ง แต่เป็นที่เข้าใจกันแล้ว ไม่ต้องว่ากะไรต่อไป เรื่องพระที่นั่งรั่ว ได้จดหมายไปด้วยเรื่องเปลี่ยนกระเบื้องนั้นแล้ว ขออำนวยพรในการที่ใช้รถมอเตอร์คาร์ได้แล้ว เรื่องสพานรถไฟได้ทราบแล้ว ในราชการของแกดำเนินดีขึ้น ขออนุโมทนา

ฉบับที่ ๖ ว่าด้วยเรื่องรูปที่จะตั้งกลางถนนนั้น ได้ตกลงกันตามแบบหลังเป็นดีแล้ว กลับไปถึงปารีสคราวนี้จะได้รู้เป็นแน่นอนตกลงว่าช่างเขาจะทำอย่างไร จะบอกไปให้ทราบ

เรื่องใช้หนี้นายชิดสถิตย์(๑) คิดการผ่อนผันนั้น เป็นการดีแล้ว

ฉบับที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องมีหนังสือ ได้กล่าวไว้ข้างต้นหนังสือนี้แล้ว มีความยินดีที่ได้ทราบการพระที่นั่งจักรกรีและพระที่นั่งอัมพร แลเรื่องคิดทำอิฐนั้น จะประมาทแกไม่ได้ว่าแกจะทำไม่สำเร็จ จึ่งยอมอนุโมทนา

ฉบับที่ ๘ ว่าด้วยเรื่องรูปที่จะตั้งหน้าประตู ซึ่งเป็นการตกลงเสร็จแล้ว แลยินดีที่ได้ทราบข่าวการงานที่สวนดุสิต ทั้งขอบใจที่ได้ดื่มให้พรในการเลี้ยงนั้น

ฉบับที่ ๙ ว่าด้วยเรื่องรูปนั้นอีก แลส่งหนังสือพิมพ์ตัดสยามฟรีเปรส ไม่เป็นเหตุที่จะต้องตอบในเวลานี้

ฉบับที่ ๑๐ ว่าด้วยเรื่องรับรูป แลเรื่องการพระที่นั่งกับเรื่องจิระ(๒) เจ็บ รูปได้ส่งไปให้อีก หวังว่าจะได้รับก่อนหนังสือนี้ จิระนั้นเป็นที่น่ารำคานเต็มที กลับไปจะได้คิดอ่านต่อไป

ฉบับที่ ๑๑ ลงชื่อกับพระยาวรพงษ์ ตอบคำสั่งให้รับตุ๊กกะตาแลรูปภาพ เป็นเคราะห์ดีที่ของส่งช้าจนได้รับหนังสือก่อน หาไม่คำแปลโค๊ตผิดจะทำให้เข้าใจเลอะได้บ้าง

คราวนี้หมดเรื่องตอบแล้ว หนังสือแกก็เห็นจะไม่มีมาอีก เพราะจะเป็นเวลาไม่อยู่ จึงขอพูดส่วนตัวต่อไป ในเรื่องพระที่นั่งอัมพร ตั้งแต่มาคราวนี้ ยังไม่พบแห่งใดที่ว่าแปลนเรือนขนาดนั้นจะดีไปกว่า ยังพอใจอยู่นั้นเอง ถ้าจะขาดก็ขาดลักเชรี ไม่ใช่เนสเซสซารี เว้นไว้แต่พื้นที่ ซึ่งได้ตั้งเรือนลงไปผิดนั้น รู้แล้วแต่แรก มาเดี๋ยวนี้ยิ่งคิดเห็นมากขึ้น ทางที่จะคิดแก้ก็ได้คิดไว้แล้ว แต่ยังเสียดายเงินจึ่งได้รออยู่ น่าที่จะต้องทำ คือพระที่นั่งเดี๋ยวนี้ ไม่มีที่สงัดซึ่งจะเที่ยวเล่นแต่ลำพังได้ ลงกระไดลงมาก็เป็นข้างหน้า ออกจากกำแพงไปก็ฝรั่งมาถึง เราควรจะมีสวนข้างในซึ่งเที่ยวได้ตามลำพัง ยิ่งมาเห็นพวกเจ้าแผ่นดินฝรั่งถือลูกประแจสวนหลายคนเข้า ยิ่งคิดถึงสวนที่นึกไว้ว่าจะทำมากขึ้น ต้องขยายกำแพงออกไปจนถึงถนนตพานทอง เอาสวนหลังวังเข้าไว้ในวัง การที่จะย้ายสวนที่ฤดูเป็นการจำเป็นยิ่งขึ้น จึงขอรีบบอกมาให้รู้ว่า แบบตำหนักพระราชินีนั้น ควรจะแล้วสำเร็จ ถ้ากะไรจะได้สั่งทางโทรเลขให้ขยายกำแพงตามที่กะไว้ ถึงสวนสี่ฤดูจะค้างอยู่อีกปีหนึ่งเศษก็ไม่เป็นไร ด้วยงานในสวนยังมีมากที่จะทำได้ ถ้าแกจะสงเคราะห์สักอย่างหนึ่ง ให้ช่างในกรมโยธา ฤๅถ้าไม่มีตัว น่าจะต้องให้สุขาภิบาลช่วยคิด ทำแปลนสวนหลังพระที่นั่งให้แล้วสำเร็จไว้ ไปถึงได้ดูแก้ไข จะย่นเวลาได้ถนัดทีเดียว

ที่ซึ่งจะทำนั้นดังนี้ ก่อกำแพงวังด้านหลังขึ้นใหม่ ยืนไปตามถนนใบพรแลถนนซางฮี้ จนถึงถนนตพานทอง ขยายถนนตพานทองให้ใหญ่ขึ้นเท่าถนนซางฮี้และถนนใบพร เอาถนนดวงดาวเข้าไว้ในวัง รถรางที่เดินอยู่เดี๋ยวนี้ ให้เดินไปจนกระทั่งถนนตพานทองแล้วจึงค่อยเปลี่ยนก็ได้ ในสวนก็ลงมือทำไป กำแพงก็ก่อไป รถรางเมื่อจะย้ายได้เมื่อไรจึ่งย้ายไป สวนที่ฤดูเมื่อจะย้ายได้เมื่อไรจึงย้าย กำแพงเดิมด้านหลังที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้คงไว้ไม่ต้องรื้อ กำแพงใหม่ให้เป็นแต่แถวนอก เมื่อแล้วสำเร็จพร้อมหมด อยากจะรื้อกำแพงเสียสักครึ่งหนึ่งก็รื้อได้ ที่ในบริเวณกำแพงชั้นนอกนี้คิดจะกันไว้เป็นสวนหลังพระที่นั่ง เสมอแนวถนนบ๋วยฟากข้างห้องเรื่อง เรือนสวนบัวอยู่ในสวนหลังพระที่นั่ง แปลนซึ่งจะเขียนสวนตามที่ขอให้เขียนนั้น เขียนเพียงแนวใต้ถนนบ๋วย คงจะต้องชักถนนบ๋วยนั้นยาวออกไปจนจดกำแพงข้างนอก เพราะฉนั้นจะได้ที่สวนหลังพระที่นั่งเท่ากันกับด้านหน้า จะเป็นห้าเส้นสี่เหลี่ยม ฤๅห้าเส้นเศษ อยากจะวางเรือนสวนลงไว้หลังหนึ่ง ให้เดินทางตพานหลังพระที่นั่งตรงไปถึงเรือนสวนนั้นได้ ถ้ากะไรจะมีตพานอีกตพานหนึ่งข้ามเหล่าๆ ตรงสวนสี่ฤดู เข้าไปในนั้นให้ซึ้ง ปลูกต้นไม้เป็นป่าบังข้างทิศตวันตก เป็นสวนอย่างป่าๆ ให้รู้สึกเงียบสงัดในที่นั้น การเรื่องทำสวนนี้ บางทีช่างเขาจะหรู แต่ไม่เป็นไร แก้ไขง่าย ให้วางเค้าลงไว้เสียให้ได้ก่อนว่าถนนจะไปอย่างไร ควรจะมีสระในนั้น ที่จะเอาดินขึ้นถมท้องล่องให้ใช้น้ำอยู่ในล๊อกเดียวกันกับล๊อกเดิม ต้องการให้แลเห็นซึ้งจากหลังพระที่นั่ง ตัวเรือนในสวนนั้นต้องให้บังมิด ลับจากถนน ลับจากพระที่นั่ง ไม่ต้องโตใหญ่ ขนาดสักเท่าพระที่นั่งราชฤดีจะพอดี แต่ต้องเป็นที่มีห้องสำหรับเป็นที่ลับบ้าง เช่นเว็จเป็นต้น ให้บังฝนได้ จะว่ามากไปกว่านี้ก็ทีจะฟั่นเฝือ จึงบอกเค้าไว้เท่านั้นที ส่วนฟากถนนบ๋วยข้างเหนือคิดจะเอาไว้เป็นที่ปลูกเรือนสำหรับลูกผู้หญิง ซึ่งจะต้องอยู่ในวังไปภายหน้าด้วยการที่จะกลับไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังออกจะเป็นการลึกซึ้งไม่ใคร่มี ถ้าจะต้องเข้าไปก็เป็นการถูกเกณฑ์ บางคนก็จะชอบใจ บางคนก็จะเดือดร้อน ที่ซึ่งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแต่ที่อาไสย ถ้าเป็นการจำเป็นต้องไป จะเป็นที่รหกรเหินมาก แต่การนั้นเอาไว้คิดภายหลังได้ ทิ้งเปล่าไว้เสียครึ่งซีก ถ้าจะคิดก็เป็นการจำเป็นอย่างเดียวแต่เรื่องน้ำ ถ้าเรือนจะขึ้นไปอยู่ในดอนเช่นนั้นจะเกิดขัดน้ำขึ้น น่าจะต้องมีห้วยคลองอไรต่อไปจากสระ ซึ่งจะทำสวนทางนี้ ให้มีน้ำใช้ได้ตลอดอีกสายหนึ่ง ขอให้แลดูในข้อนั้นด้วย

ถ้าหากว่าเผลอไม่นับเวลาได้ ให้แลเห็นเร็วเหมือนพระยาสุขุมไปราชการก็จะดี นี่มันนึกไปไม่ได้ ช่างเห็นช้าเสียจริงๆ ขอจบความไว้เพียงเท่านี้ที

จุฬาลงกรณ์ ป.ร.

(๑) พระยาประดิษฐ์อมรพิมาน (ม.ร.ว. ชิต อิศรศักดิ์)   (๒) กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช


(รับวันที่ ๒ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖)
เมืองฮอมเบิค
วันที่ ๔ กันยายน ร. ศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ด้วยได้รับหนังสือฉบับที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕ ไม่ได้ตอบช้าไปเพราะไม่ว่าหนังสือใครเวลานี้ค้างหมด พึ่งจะมาสางกันได้ที่นี่ นึกว่าแกจะโกรธฤๅอย่างไร หายไปหลายเมล ไม่เห็นมีมาอีก อย่าโกรธหนา จะเป็นคนใจน้อย

ฉบับที่ ๑๒ เป็นการปรากฏความเอื้อเฟื้อ เป็นที่พอใจเป็นอันมาก

เรื่องตุ๊กกะตาศีลา ได้ข่าวตัวเล็กๆ ของลูกแตกหลายตัวก็เกิดหวาดหวั่นขึ้น ถ้าหากว่าตุ๊กกะตาตัวใดร้านใดแตก เราต่อว่าให้เปลี่ยนได้ เพราะสัญญากันไว้เช่นนั้น ขออย่างให้นิ่งเสีย

ขอแสดงความยินดีในการที่จับสลากได้รถมอเตอคาร์ แต่ขอเตือนให้ระวังให้มาก อาเลกรีเองแกขี่ แกช้าไม่ได้ ต้องพุ่งปราดๆ ถ้าไปขับเองมันไม่สู้ชอบกล

เรื่องเรือนอุรุพงษ์นั้น ขอเชื่อว่าคงจะเหนดีแล้ว จึ่งได้ทำ

ฉบับที่ ๑๕ เขียนในเรือบุ๊ก เป็นเวลาออกจากบางกอกแล้ว ชี้แจงมาด้วยเรื่องคิดจะทำรากพระที่นั่งนั้น ขอชมว่ามีสติสัมปชัญดีมาก ข้อที่หนังสือขาดไปก็คงเป็นเวลาที่ไม่อยู่ ซึ่งพ้อตัดมาข้างนั้นเป็นการหยอกเล่น

เวลานี้รู้สึกว่าธุระปะปังอะไรเป็นอันสำเร็จหมด ยังเหลืออยู่แต่การรักษาตัว ที่จะอยู่ให้เต็มตามกำหนดหมอแล้วก็จะได้กลับกัน แต่อยู่นิ่งๆ ก็ออกเบื่อ อยากจะใคร่กลับ เวลานี้จวนงานเฉลิมพระชนมพรรษา พองานแล้วเสรจก็จะได้ออกเดินทาง นับว่าเป็นขากลับแท้ เวลานี้เปลี่ยนฤดูเป็นออตัมน์แล้ว เป็นฤดูซึ่งอยู่ที่ไหนที่ไหนก็ไม่สบาย ในเวลานี้ก็ไม่สู้สบายนัก แต่ไม่ได้เป็นอะไรมากนอกจากท้องขึ้นเท่านั้น ยังนับว่าดีกว่าที่เคยเป็นในกรุงเทพฯ ทราบจากหนังสือกรมดำรงว่ากลับไปถึง หวังว่าเมลน่าคงจะได้รับหนังสือ

จุฬาลงกรณ์ ปร.


วันที่ ๒๔ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือฉบับที่ ๑๖ ส่งรายงานเมืองไทรที่ได้ลงไปตรวจได้อ่านตลอดแล้ว เห็นว่าจรูญเป็นผู้ได้เคยลงไปอยู่เมืองไทรถึงเดือนหนึ่ง คงจะรู้การอะไรซอกแซก จึ่งได้ไต่ถามประกอบรายงานนี้ จรูญเห็นแตกต่างไป ในเรื่อง ......................... เป็นผู้ซึ่งปรากฏชัดว่าเป็นหัวน่าฝ่ายข้างขัดขวาง และมีเขี้ยวมีเล็บด้วยเขาออกจะทำนายว่าจะไม่สำเร็จ ยังไม่ทันที่จะเขียนหนังสือตอบด้วยหาเวลาไม่ได้ ก็พอได้รับข่าวจากพระยาศรีว่ามีท่าทางออกความคิดอย่างใหม่ขึ้น จึ่งมีความร้อนใจอยากให้กรมหลวงดำรงลงมาจัดเอง

แต่ข้อที่ได้ไปเยี่ยมเมืองเฟรเดอเรเตด มเลย์สเตตส และได้เห็นได้คุ้นเคยพวกกรมการเหล่านั้นไว้ดีมาก สำหรับจะได้พูดโต้ตอบถึงแต้มกันได้บ้าง

ขอบใจที่อุสาหะตรวจการ แต่เรื่องสายโซ่ล้าระย้าตกน่ากลัวเต็มที หวังใจว่าแกจะได้ตรวจหมดแล้ว จะไม่มีใครตายในกองระย้าต่อไปภายน่า จะตั้งใจคอยดูรายงานซึ่งจะไต้ส่งต่อไปข้างน่าอีก

รูปที่ส่งมาให้นั้น เห็นว่าพอจะยืมตราแมวดำกรมดำรงตีได้ แต่ถ้าจะให้ดีรับเอามาเสียทีเดียว เพราะกรมดำรงควรจะเลื่อนยศขึ้นเป็นแมวขาวหรือแมวเทาได้แล้ว มีแกมะราอัน ๑ มาฝากหวังว่าแกจะทำได้ดีต่อไปภายน่า

จุฬาลงกรณ์ ปร.


วันที่ ๒๔ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือฉบับที่ ๑๗, ๑๘, ๑๙ นึกทอดธุระว่าจะไม่ตอบกว่าหนังสือจะไปถึงก็เกือบจะได้พบกัน แต่มาบัดนี้ก็นอนอยู่เปล่าๆ ทั้งมีช่องที่จะส่งหนังสือเข้าไปถึงก่อนได้ จึ่งต้องเขียน

ของที่ส่งช้าไป เพราะเหตุที่เราไปเลือกๆ แล้วก็ไปจากที่นั้น การที่จะบรรทุกส่งไม่ใช่ของง่าย เมื่อไปถึงแล้วการที่จะแบ่งว่าสิ่งใดควรจะอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ควรจะอยู่สวนดุสิตและอยู่บางปะอิน จะต้องส่งทบทวนถ่ายเทกันจะกินเวลาไม่น้อยกว่า ๓ เดือน เพราะเหตุที่เราแต่งพระที่นั่งครั้งนี้ ไปเที่ยวรื้อมาจากอื่น ที่เก่าดูร้างไปหมด ถ้าเป็นแขกบ้านค้านเมืองมีมา แต่งโดยด่วนจะได้ความร้อนใจอย่างยิ่ง สู้คลำออดๆ ให้แล้วสำเร็จเสียก่อนไม่ได้

พูดถึงการรับเสด็จและพูดถึงการซื้อของมีความเจ็บใจเป็นอันมาก แต่ความเจ็บใจอันใด จนถึงเขาหาว่าเป็นผู้จะทำลายแผ่นดินสยามก็ไม่มีความเสียใจเท่าที่ได้เห็น ปรากฎว่า ............... เป็นผู้มีความอิจฉาโดยจะไม่เกิดในสันดารเอง ก็ได้ถูกด้วงแมลงล้วงไส้พรอนภายในมาเสียนานแล้ว ความรู้สึกเหมือนอย่างมีผู้บอกว่ากรมหลวงวชิรญาณ(๑) หยอกผู้หญิง แกจะคิดเห็นว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ข้าเองจะเป็นผู้ไม่เชื่อคำบอกนี้ก่อนคนอื่นหมด ฉันใดถ้ามีผู้มาบอกเรื่อง .............. เช่นนี้จะไม่เชื่อเหมือนกัน แต่นี่เข็ดหลาบที่หนังสือมันมาโดนในตาเอง โดยไม่มีผู้ใดจงใจเอามาให้เวลาออกจากเมืองโรมได้แยกเป็นขบวนน้อย ............... ไม่ได้มาในขบวนนั้น จรูญได้รับหนังสือเมล์บางกอกที่ปาเลอโม ก็นำมาส่งได้ดูหนังสือนั้นเห็นว่าเป็นรายงานประชุมเสนาบดีหรือเป็นหนังสือซองเล็กซึ่งจะเป็นส่วนบุคคล ได้สั่งให้จรูญเอาคืนส่งไปให้กรมสมมตที่เยนัว .................
.......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................
.................................................................. แต่ครั้งนี้ไม่ได้แตะต้องเงินแผ่นดินสักอัฐเดียว ด้วยเห็นว่าเป็นแต่การออกมารักษาตัวไม่ใช่มาราชการ ถ้าจะว่าด้วยซื้อของให้ลูกเมียญาติมิตรก็เงินซึ่งยกให้เป็นส่วนข้าแล้ว ข้าจะให้กันจะเป็นอะไรไป ถึงจะไม่ไปให้ใครเงินนั้นก็ไม่ไปเพิ่มภูลในราชการแผ่นดิน ถ้าจะกำตัวเงินส่งให้ผู้ใดไปเสียเงียบๆ ใครจะเป็นผู้มาว่าว่าไม่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน ถ้าจะว่าซื้อของสำหรับตกแต่งพระที่นั่งหรือเครื่องใช้สอยแผ่นดินกลับได้เปรียบเสียอีก ถ้าข้าจะทิ้งเสียไม่ซื้ออะไรเลย ไม่แต่งอะไรเลยจะผิดร้ายอะไร ใครจะเป็นผู้บังคับ ว่าให้ชักเงินของตัวออกซื้อออกแต่ง เมื่อซื้อของไปแต่งพระที่นั่งแล้วก็ตกเป็นของแผ่นดิน กลับเป็นผู้ซึ่งทำผิด เช่นนี้ก็เป็นการหนักเต็มทีที่ลงโทษ แต่ก็ไม่สู้เดือดร้อน เพราะเป็นกองกิเลศอันหนึ่งซึ่งรักดีรักงามไม่สันโดด แต่เซนเตนสที่ลงโทษต่อไปข้างท้ายเห็นว่าควรจะร้องอุทธรณ์คำตัดสินนี้ได้ คำตัดสินนั้นดังนี้ "เห็นจะไม่พ้นเป็นขี้ค่าฝรั่งเป็นแน่ หรือจะเป็นชะตาของบ้านเมือง ที่หากจะให้เป็นไป จึ่งเป็นได้ดังนี้" ความอันนี้อ่านไม่ออกว่าได้ทำอะไรซึ่งสมควรจะเป็นขี้ค่าฝรั่ง จะว่าเพราะใช้ ................... จึ่งจะต้องเป็นค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะว่าเพราะใช้เงินพระคลังข้างที่มากจึ่งจะต้องเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะมีได้ก็แต่พระราชอิริยาบถปรวนแปรนั้นต้องแปลให้แรงขึ้นว่าเป็นบ้า การที่จะให้เป็นขี้ค่าฝรั่งนั้นต้องอาไศรยเหตุสองประการ คือทำให้ผิดหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างแรง คือจับเอาฝรั่งมาตัดหัวเป็นต้น หรือไปทำหนังสือยอมอยู่ในโปรเตกชัน หรือทำหนังสือยอมยกเมืองโดยวิลล์ให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใด ถ้าหากว่าความเห็นของคนว่าข้าจะเป็นเช่นนั้นได้แล้ว ไม่มีอย่างอื่นที่จะควรทำยิ่งกว่าให้ออกเสียจากราชสมบัติเพื่อจะรักษาแผ่นดินไว้ ถ้าอีกอย่างหนึ่งจะว่าการที่ออกมายุโรปนี้ต้องใช้เงินแผ่นดินเปลือง ดูก็ไม่ผิดกันกับมิชันอะไรๆ ที่แต่งออกไปประชุมต่างๆ ซึ่งรู้ได้ว่าผู้ที่ไปประชุมนั้นไม่มีความคิดหรือถ้อยคำที่จะไปคัดค้านเรโซลูชันของประเทศใหญ่ๆ ได้แต่สักอย่างเดียว เช่นไปประชุมเฮค ไปประชุมกากะบาทแดงเป็นต้น หรือการเอกซิบิเชน ที่จำต้องไปช่วย เสียเงินมากมายเท่าใดก็รู้กันอยู่ นี่จะนึกว่าเอาเจ้าแผ่นดินออกมาโชสักครั้งหนึ่งไม่ได้หรือและได้กุศลที่ทำให้อายุยืนยาวไป ดูไม่ควรจะดุร้ายถึงเพียงนี้เว้นไว้แต่ถ้าเขาเห็นว่าปรวนแปรนั้นถึงเป็นบ้า อย่างเช่นกล่าวมาข้างต้นนั่นเป็นการไม่ควรจะปล่อยให้ออกมาจริงๆ

เดี๋ยวนี้ชาวบางกอกเห็นเช่นนี้หมดแล้วหรือ ถ้าชั้นผู้ใหญ่จะไม่เห็น ข้าราชการผู้น้อยชั้นนี้จะมีความคิดอย่างเดียวกันเป็นพวกมากน้อยสักเท่าใด เป็นที่น่าสงไสยอยู่มาก การที่จะจัดรับรองอันใด ขอให้เหลียวดูอ้ายคนพวกชั้นนี้ว่ามันมีอยู่มากน้อยเท่าใด มันจะเอาอ้ายความฉิบหายของการรับรองนี้ ไปขายให้แก่คนต่างประเทศ ให้เห็นว่าคนในเมืองเราร้าวราญไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะไม่ชอบเจ้านายของตัว อ้ายศัตรูมันจะย่องตามเข้าไปทางนั้นมากกว่า น่าที่ข้าจะฆ่าฝรั่งหรือจะยอมยกเมืองให้ ...............................................................................................................

รวมใจความว่า ................... ไม่มีความพอใจทั้งเจ้าแผ่นดินและทั้งที่ประชุม เซนเซอร์การปกครองแผ่นดินสยามในเวลานี้ ซึ่งเขาจะมีความคิดอย่างอื่นอย่างไรอยู่ ความคิดมนุษย์ชั้นนี้จะมีมากสักเท่าไร ทำไฉนเราจะรู้

ที่เขียนเรื่องนี้เข้ามาให้ยืดยาวอยากจะให้รู้ไว้จริงๆ สักคนหนึ่ง เผื่อจะพูดกันเข้าใจผิดไปประการใดในที่ประชุมหรือที่แห่งใด แกจะได้ชี้แจงได้ตามความจริง แต่ที่เป็นสำคัญนั้นคือแกอิน(๒) ควรจะพิจารณาว่า คนอินเป็นได้ถึงเพียงนี้ จะมีความสลดใจมากกว่าผู้อื่น

ความคิดของ ................... ข้าไม่เดือดร้อนอันใด เพราะพูดไม่มีที่จบอยู่เพียงไหน ถ้าจะเอาเรโซลูชันเข้าก็จนเท่านั้น นี่เสียใจที่สิ่งซึ่งไม่คาดว่าจะเป็นมาเป็นขึ้น เป็นของที่จะเปลื้องให้ลืมเสียได้ยากอย่างยิ่ง

มีความยินดีที่จะได้พบกันเร็วแล้ว แต่อย่านึกว่าจะอ้วนพีบริบูรณ์ เห็นเข้าจะเสียใจ ไปโทรมเสียที่ฮอมเบิคคราวนี้เดือนหนึ่งพึ่งจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อกลับลงทเล แต่คงจะดีกว่าเมื่อแรกมาไม่ต้องเสียใจ

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(๑) สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส   (๒) คนแก่วัด


เรือซักเซน
วันที่ ๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือฉบับที่ ๒๒ และ ๒๓ แล้ว มีความยินดีที่ได้ทราบการซ่อมแซมพระ- ที่นั่ง ได้ทำอยู่เสมอ กลับไปจะได้เห็นความบริบูรณ์ทันที การเลี้ยงอย่างอารามที่ศาลาอันเตนั้นสนุกมาก

มีความรำคาญใจที่ได้ทราบว่า .................................................................................
.................................................................................................................................................
...................................................................................................... ขอให้เร่งเร้าในใจไว้ให้มาก

มีความเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่ได้ไปเมืองอนุราธ ขอให้พิเคราะห์ดูเถิดเพียงระยะ ๗ เดือน กลายเป็นงมงายไปได้ เมื่อพูดกับเซอร์เฮนรีเบลก แกเก็บเอาเรื่องที่แกขึ้นไปกับดุ๊กออฟ- คอนอตปีกลายนี้มาเล่า เราก็ละเมอตามว่ารถไฟยังไม่ไปถึง จะต้องขึ้นรถม้าไปอีกตอนหนึ่ง จึ่งต้องกะเวลาให้ลังกาถึง ๕ วัน ครั้นมาคราวนี้หลวงสุนทร(๑) เขาขึ้นไป เขาบอกว่าระยะทางรถไฟ ๖ ชั่วโมงถึงอนุราธทีเดียว แต่โฮเตลยังไม่แล้ว มีเรสตเฮาสของรัฐบาล ถ้าหากว่าเราจะไปจริง ๒ วันเป็นพอ วัน ๒ วันนี่เราอาจจะตัดจากเมืองโรม เมืองเนปลส์ เมืองซิซีลี และมลตามาใช้ได้เหลือพอ เวลานั้นเรารู้ว่าอยู่เปล่าๆ ป่วยการด้วยซ้ำไป แต่ถ้าหากว่าเราจะรู้ว่าไปง่ายเช่นนี้ เราจำจะต้องรู้ที่ฮอมเบิค จะได้จัดกับเรือเมล์ได้ นี่มารู้ภายหลัง ไม่มีท่าจะแก้ไขอย่างไร หาไม่จะได้เอาเรื่องอื่นๆ อะไรไปเล่าให้ฟัง หลวงสุนทรขึ้นไปความรู้แกมันอยู่เสมอไกดบุก แต่ไกดบุกก็จำไม่ได้ เพราะไม่รู้ท้องเรื่องเสียเลย เรื่องนี้อยู่ข้างจะเสียดายมาก

หวังใจว่าคงจะได้รับหนังสือที่ปินังอีก จึ่งยังไม่ผนึกซองภายนอก เพราะเชื่อว่าแกจะอดไม่ได้ แต่ว่าจะหยุดเพียงฉบับที่ ๒๒ ยังเล็ดออกมาได้เป็นฉบับที่ ๒๓ เพราะฉนั้น จึ่งจะตั้งหน้าคอยไปกว่าจะพบตัวกัน

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(๑) พระยาปฏิพัทภูบาล (คอยู่เหล ณระนอง)


วันที่ ๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
พระยาสุขุม

พระยารัษฎา(๑) เอาหนังสือฉบับที่ ๒๐, ๒๑ มาลืมเสีย พึ่งมาส่งก่อนน่าไปถึงปินัง จะเป็นกี่ชั่วโมงแน่ไม่รู้ เพราะเป็นภาษาเยอรมัน เขาพูดไม่ใคร่แน่นอน แต่เห็นจะไม่เกิน ๖ ชั่วโมง

ข้อความในฉบับที่ ๒๐ ว่าด้วยเรื่องรถไฟของอังกฤษในแหลมมะลายู และคำสนทนากับเจ้าเมืองสิงกโปร์ ก็เป็นการดีตลอดรอดฝั่ง แต่ที่ไม่พูดถึงทางรถไฟของเรา ไม่แต่สิงกโปร์ ในอิงแลนด์ก็ยังไม่มีใครนึก น่าปลาดเต็มที ว่าอ้ายความอยากขัดขวางในเรื่องรถไฟนี้มันมาแต่แห่งใดแน่ เพราะหัวใจกระทรวงต่างประเทศมันอยู่ที่ ............................. ได้พูดกันแล้ว ความปรารถนาที่แท้จริงของรัฐบาลอังกฤษ อยากจะป้องกัน ..................... เข้าไปเป็นเจ้าของได้ในภายน่า อย่างเดียวเท่านั้น มันจึ่งเกิดสาขะคดี ว่าจะทำฉันใดจึ่งจะป้องกันเช่นนั้นได้ จึ่งตั้งต้นรังเกียจ ..........................................................................................................................................................
...................................................................................................... ความคิดอันนี้มันพึ่งจะเกิดลามๆ ขึ้นในบางกอกกับสิงกโปร์นี่เอง มันเริ่มแต่เวลาเสด็จยังอยู่ แต่ดิเวลบ์ไม่ได้จนกระทั่งเสด็จไม่อยู่ ขาดรอไปต้นหนึ่งน้ำจึ่งได้ไหลเชี่ยวขึ้น อันอินฟลวนซของ .................. ข้าเคยกลัวและเข็ดหลาบยิ่งกว่า ................. เป็นอันมาก เหมือนยังกับน้ำที่เซาะใต้ทราย ไม่มีรออันใดจะตั้งรับอยู่ ได้เคยเป็นเสาต้นเดียวถูกสายน้ำพัดสั่นดกๆ อยู่ในกลางแม่น้ำมาหลายหนแล้ว เชิงเรื่องนี้มันจะเป็นเช่นนั้น จะบอกให้รู้ไว้ ถ้าต้องเป็นเช่นนี้เมื่อใดแล้ว ก็พึงรู้เถิดว่าอำนาจเรามีอยู่เพียง ...............
ซึ่งเคยถูกปล็อกเคดครั้งหนึ่งนั้น .................................................... ซึ่งเขายังแลไม่เห็นว่าจะสำเร็จ แต่มีผู้รับอาษาว่าจะสำเร็จ เขาจึ่งคิดเห็นว่าอย่าวุ่นด้วยอีกขาหนึ่งเลยจะดีกว่า เขาจึ่งได้นิ่งเสีย ความคิดอันนี้มันอยู่ในระหว่าง .......................................................................................................
........................................ และเห็นแน่ใจว่าจะได้ ถ้าทำขึงๆ สักหน่อย การมันเป็นเช่นนี้เขาถึงไม่พูดกับแก พูดไม่น่าเชื่ออยู่หน่อยหรือไม่ แต่อีกหน่อยหนึ่งจะเห็นความจริง ขอจบไว้เท่านี้ก่อน

เรื่องสายโทรเลขที่คิดจัดการนั้นดีแล้ว ดูดูบาญชีรถไฟก็ออกจะปลื้มใจอยู่ เพราะเหตุที่การรถไฟมันทำไม่ขาดทุนเสียจริงๆ .............................................................................................
................................................................................................................................ เพราะเขามีงานฉะเพาะหน้าที่จะทำ พวกปลายแหลมมันไม่มีอะไรจะทำ อยู่ตัวเสียแล้ว อยากแต่จะขยายออกไปอีกอย่างเดียว ขอจบหนังสือตอบฉบับที่ ๒๐ ไว้แต่เพียงเท่านั้น

จุฬาลงกรณ์ ปร.

(๑) พระยารัษฎานุประดิษฐ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)


วันที่ ๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

คราวนี้จะตอบฉบับที่ ๒๑ ของที่ไปถึงโดยเรียบร้อยเป็นที่พอใจมาก ในการที่จะปลด จะติดรื้อ และตั้ง น่าที่มันจะกินเวลาเราตั้ง ๓ เดือน ของเราที่แต่งอยู่เดี๋ยวนี้ เรายืมเขามาทั้งนั้น จะต้องเลือกที่ไหนไม่ต้องการปลดไปคืนที่เดิม เมื่อไปคืนแล้วจะไปกองสุมไว้ไม่ได้ ต้องไปตกแต่งที่เดิมนั้นด้วย ของใหม่ที่เหลือจากพระที่นั่งอัมพรต้องไปหาที่ติดที่แต่งที่อื่น เพราะเหตุที่เรามีเมียรับแขก ๓ คน ดังเช่นเคยพูดอยู่เนืองๆ เราจะต้องแบ่งไปแต่งพระที่นั่งจักรกรี พระที่นั่งอุทยาน เพราะเดี๋ยวนี้โหรงเหรง ดูไม่ได้ทั้ง ๒ แห่ง เหตุด้วยของไม่พอแต่ง จึ่งจะต้องยกให้เดือนละแห่ง การขนย้ายถ่ายเทจะหนักมืออยู่ การที่ซื้อของเข้าไปก็ถูกด่าแล้ว ยังแต่แกกับพระยาวรพงษ์จะด่าอีก ว่ารื้อและจัดไม่รู้แล้ว จะเป็นขี้ค่าฝรั่ง แต่ถ้าของดีๆ เอาเข้าไปทิ้งสุมสุมไว้เอาเข้าไปทำไมถึงแกจะด่าก็จะจัด

การแต่เรือนอุรุพงษ์นั้น ไว้แต่งเมื่อเวลากลับไปถึงดี จะได้มีการขึ้นเรือน เฟอรนิเชอซื้อไว้พร้อมแล้ว

ได้ทายไว้แล้วว่าผู้ที่จะออกมารับคราวนี้ น่าที่จะเกณฑ์ให้แกมา ออกเห็นไม่ต้องการ สู้ไว้ให้ทำงานทางบางกอกไม่ได้ การซึ่งขอตัวนั้นดีแล้ว กลับไปจะได้อยู่เรือนสบาย

สังเกตดูไข้บางกอกปีนี้อยู่ข้างจะชุมเต็มที ได้ข่าวแต่ไข้ร่ำไปเราหวังว่าไอ้คะนังคงออกมาได้ ทั้งจับไข้ก็ไม่เป็นไร

จุฬาลงกรณ์ ปร.

 


 

สวนดุสิต
วันที่ ๒๕ พ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

รูปเขียนยังมีอีกมากซึ่งรอไว้ยังไม่โชเวลานี้ เพราะจะคอยรูปให้เข้ามาถึง กับเรื่องตุ๊กตาศิลานั้นได้สอบบาญชีมีมาเท่าใดสังเกตดูว่าน้อยไปกว่าที่ได้ซื้อ แต่จะกำหนดแน่ไม่ได้ เหตุด้วยเวลาที่อยู่ฟลอเรนศ์น้อยนัก ไปเลือกๆ ไว้แล้วให้ดุ๊กไปคัดอีกโดย กำหนดวงเงินให้ ...............
............................................ แต่ถ้าไปทักว่าจำไม่ได้ก็โกรธ จะพาให้เสียราชการไป ......................
.........................................................................................................................................................
.........................................................................................................................................................

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๖ พ.ย. รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

ข้อซึ่งเป็นห่วงด้วยการสร้างพระที่นั่ง ตรงกันกับความห่วงใยที่เกิดขึ้น ซึ่งมอบให้เจ้าทำ ไม่ได้มอบให้เสนาบดีทำ ในใจนึกว่ามอบให้มหาปั้น(๑) ทำ ถึงจะเป็นอะไรๆ ไปก็ไม่เปลี่ยนจากมหาปั้นข้อที่นึกขึ้นมาถึงยันกันเช่นนี้ก็ด้วยความจงใจไมตรีเฉภาะตัว

การโยธาวังมีแบบอยู่ว่า การงานทั้งปวงเป็นน่าที่ของโยธาวัง เว้นไว้แต่งานแห่งใดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดทำผู้นั้นทำงานตรงต่อโยธาวัง เหมือนกับกองโยธาวัง

ในการทำพระที่นั่งนี้มันขวางอยู่นิดหนึ่ง ..............................ไม่อยู่ในคอนโตรลของโยธาวัง จะคิดอ่านหาวินัยกรรมอย่างไรให้เป็นที่สดวกแลเรียบร้อยสมควรขอให้แกตรึกตรองดูสักหน่อย

สยามินทร์

(๑) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)


วันที่     เดือน     ร.ศ. ๑๒๖

พระยาสุขุม

ได้รับรูปทองแดงเปลือยผ้าโพกแต่ศีศะขัดสมาดเพ็ชน่าตักประมาณสักคืบเศษ ซึ่งเป็นของรังสิต(๑) ถ่ายจากรูปใหญ่ ซึ่งแกรนดุ๊กออฟเฮสสร้าง ส่งจากโน่นราวปลายเดือนพฤษภาคม ฤๅต้นเดือนมิถุนายน ควรจะถึงกรุงเทพในเดือนกรกฎาคม ฤๅควรจะมาถึงพร้อมกันกับรูปวิลาโนเบล ที่มิสเตอรปโรดีให้รูปนั้นได้มาถึงฤๅไม่ ถ้าไม่มาถึงเป็นหาย เพราะนานเกินประมาณนักแล้ว อยากทราบจะได้ติดตาม ถานศิลาแท่งสูงเป็นสีเกร

สยามินทร์

(๑) กรมชุนชัยนาทนเรนทร


สวนดุสิต
วันที่ ๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

วันนี้ได้รับโทรเลขจรูญฉะบับ ๑ ว่ารูปสเตชูนั้นขนาดดังนี้ โดยยาว ๑-๙๐ เมเตอร์ กว้าง ๑-๒๕ สูงเกือบ ๕ เมเตอร์ น้ำหนัก ๖๐๐๐ กิโลแกรม อยากจะทราบว่าดาบนั้นจะให้มือเกาะฤๅจะห้อยอยู่กับสาย แลอยากจะทราบขนาดของที่ตั้งโดยเร็วที่สุดดังนี้

การที่ว่าเช่นนี้เพราะเหตุที่ผู้ทำนั้น ช่างปั้นรูปคนนายหนึ่งช่างปั้นม้านายหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจึงจะถึงช่างหล่อ ยังไม่ได้คิดไปถึงถานซึ่งเป็นงานของช่างก่อช่างศิลาเลย แต่รูปถานฤๅขนาดถานก็ยังไม่ได้นึก

แต่ข้างฝ่ายเราออกจะนึกไม่ใคร่เป็น เกี่ยงให้เขาคิดหมายใจว่าเขาจะทำเป็นสเตชูแล้วเสร็จมาเหมือนตุ๊กตาทองแดงที่ซื้อๆกันตัวหนึ่ง แต่ที่จริงการมันต่างกันหมด ถ้าจะให้เขากะมาให้เสร็จ จะบอกไปถึงจรูญให้หาช่างกะ เมื่อกะส่วนตัวแลถานได้กันแล้วให้จ้างเขาทำศิลาเสียให้เสร็จจะเป็นช่าง ๓ คน ๔ คน อย่างไรก็ตาม สุดแต่ให้เขามอบหมายกันเข้ามาคุมให้สำเร็จเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งทั้งถานก็ทำได้ เพราะเราจะกะจะทำอย่างไรก็ต้องไปเอาศิลาฝรั่งมาทำทั้งนั้น

เดี๋ยวนี้ขัดข้องข้อเดียวที่เรื่องซุ้ม ถ้าหากว่าเขากะมาส่วนสูงซุ้มของเราต่ำไปจะเป็นความลำบากแก้ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องซุ้ม และซุ้มนั้นจะใช้ศิลาบ้างฤๅไม่ศิลาจะต้องเหมือนกันกับถานฤๅไม่ ช่างเราจะต้องคิดแลตัดสินเสียให้ตกลงก่อนจรูญก็เร่งจี๋นักขอให้ตอบโดยเร็วที่สุดซึ่งจะตอบได้ เพราะฉะนั้นขอให้คิดอ่านปฤกษามิสเตอรตามาโย(๑) เอาความตกลงให้ได้โดยเร็วที่สุด จะได้โทรเลขตอบข้อสำคัญที่เขาถาม แล้วจึงจะเขียนหนังสือต่อไป

สยามินทร์

(๑) นายช่างแบบแผน


วันที่ ๖ เดือนธันวาคม ร.ศ. ๑๒๖

พระยาสุขุม

ไม่รู้ว่าจะยื่นรายงานต่อบุคคลผู้ใด ในเรื่องพระที่นั่ง จึงลองปรับทุกข์ยื่นมาดูที รู้สึกความไม่บริบูรณ์ในเรื่องวอเตอรโคลซเซสอยู่เสมอ ตั้งต้นแต่กระเดื่องที่สำหรับชัก ไม่กลับขึ้นที่ จะเป็นด้วยถ่วงน้ำหนักไม่พอฤๅอย่างไร เวลาชักลงมาแล้วเลยจมอยู่เช่นนั้น ไปกตุกๆ โซ่ให้กเทือนหน่อย จึงจะกลับขึ้นไป เมื่อแรกไม่เป็นครั้นกลับมาคราวนี้เห็นเป็นเช่นนั้นทั้งชั้นบนชั้นกลาง จะเป็นด้วยตไคร่จับฤๅอย่างไรจึงฝืดไป

อีกอย่างหนึ่งนั้นไปพบท่อที่ห้องชั้นกลางเสียทีเดียว แปลว่าเว็จชั้นล่างใช้ไม่ได้ ไม่ทันรู้ปล่อยลงไปก็ค้าง
รวบรวมใจความทั้งหมดอันเป็นที่น่าเสียใจแท้นั้นคือ หม้อต้มน้ำแลถังอาบน้ำแก่เกินประมาณ ที่จะหาแห่งใดในประเทศยุโรปไม่ได้แล้วในเวลานี้ จะว่าเมเปิลมันโกงเลหลังส่งมาให้เราก็ว่าได้แต่ความจริงมันน่าแคลงอยู่หน่อยว่า จะเป็นด้วยเราสั่งมันเก่าเกินไป หากพระที่นั่งไม่แล้วเองก็จะว่าได้ รวบรวมเข้าอันน่าขายเครื่องอาบน้ำนี้เสียทั้งสำรับ แต่จะขายใครในเมืองไทยก็ไม่ได้ไม่มีใครเขาใช้ ทำไมจึงจะขายไปให้ ................ ได้ นั่นจะเหมาะดีกว่าทุกแห่ง รู้สึกความรำคาญในเรื่องเติมน้ำอาบ เพราะมันขยับขึ้นลงไม่ได้ ด้วยข้างไทยๆ อาบน้ำร้อนไม่เป็น ยิ่งเวลา-หนาวเช่นนี้ แรกอาบให้ร้อนผ่อนให้เย็นตอนปลายฤๅเย็นไปจะเติมให้ร้อนเปิดได้ง่าย ชั้นชั่วอย่างซันเรโมไม่ได้มีกลไกอะไรเลยมีกระทะต้มฝิ่นลึกๆ ใบหนึ่ง มีไฟแก๊สอยู่ใต้นั้น ก่อนเวลาอาบน้ำเจ้าพนักงานเขาก็ไปติดไฟไว้ให้ เวลาเราเข้าไปอาบก็ดับไฟเสีย มีกระทะน้ำร้อนที่ต้มแล้วเสร็จอยู่ในนั้นใบหนึ่ง นึกจะไขน้ำเมื่อไรเท่าใดไขได้ตามชอบใจ ไม่ต้องมีใครไปโง่อยู่ในรหว่างกลางเท่านั้นก็สบาย อีหม้อต้มตำรานี้มันไม่เคยสำเร็จเรียบร้อย ตั้งแต่เวลาไปยุโรปคราวก่อนแล้ว เขาเลิกเสียไม่ใช้ก็มี จึงได้หาว่าเมเปิลมันแกล้งเอาของที่ขายไม่ได้ส่งมาให้ต้มน้ำด้วยหม้อตั้ง แลขยุกขยิกเพียงนี้เป็นสุดวิไสยที่คนไทยจะทำได้ ไอ้นี่แลขายไม่ออกเป็นอันขาด โทษต้องทิ้งทีเดียว..............
ก็เห็นจะไม่เอา ความเคยบริบูรณ์ทำให้เกิดความรำคาญได้จริงเช่นนี้ ไม่รู้จะบ่นเอากับใครจึงได้ปรับทุกข์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๒ ธ.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม
ในการที่จะส่งของซึ่งเคยพูดกันแล้วไปยังกรมหลวงนเรศ ให้รู้สึกขัดข้อง เพราะจะต้องเล่ากันยืดยาว จึงขอส่งทางเก่าให้ช่วยส่งต่ออีกที กระจกรูปเด็กที่เขียนหลังหีบว่าของหลวงอย่าให้เปิดนั้น เป็นแผ่นที่ได้ไปดูเวลาเขาทำ แต่ครั้นเปิดขึ้นก็แตกมาแล้ว กับกระดาดเขียนลวดลายอีกมากด้วยกัน พึ่งค้นพบวันทั้งสิ้น จึงขอส่งมายังกรมโยธาสำหรับเป็นตัวอย่าง มิสเตอร์อาเลกรีรู้เรื่องราวเลอียดแล้วทั้งสิ้น

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑๕ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม
เจ้าพระยาเทเวศร(๑) ว่าหมอคาทิวได้รักษา อาการถูกต้องอยากจะได้ให้รักษาต่อไปนั้น ให้สั่งหมอคาทิวให้รักษาเจ้าพระยาเทเวศรแลไปมาตรวจตราอย่างแต่ก่อน

สยามินทร์

(๑) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร)


สวนดุสิต
วันที่ ๓๐ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

เรือที่อ้างว่าชื่ออานัมแบร์นั้นจะเรียกตามภาษาฝรั่งเศษดังอ้อแอ้ออกไปอย่างไร แต่ที่แท้ก็เรืออานัมนั่นเอง เรืออิสเอเซียติกใช้ชื่อประเทศฝ่ายตวันออก เช่นสยาม พม่า ลำนี้ก็อานัม เรืออิสเอเซียติกไม่ได้เดินเป็นเรกกูลาร์เมล์ การค้าขายเขาเหมาะที่ไหนเขาหยุดที่นั่น จรูญเคยชอบพูดถึงเสมอ เหตุด้วยเรือลำนั้นเข้ามาถึงบางกอกทีเดียว รถกรมหลวงนเรศก็ได้เคยอวดว่าได้ส่งเรืออิสเอเซียติก จึงได้ล้อกันว่ามาอ้อมเคป จะรู้ได้ก็ต้องไปถามอิสเอเซียติก
สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

ส่งบาญชีของที่วินิศมานั้นได้รับแล้ว ของรายนี้จะต้องสอบสวนที่บริพัตร(๑) แห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้จดบาญชี กับที่ดุ๊ก ไม่ใช่แต่ของหลวง ของตัวเขาเองซื้อปนมาด้วย เรื่องใช้เงินเคยทำกันมาอย่างไร จะต้องคิดอ่านให้ดี

สยามินทร

(๑) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต


สวนดุสิต
วันที่ ๔ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ที่เรือนชายอุรุพงษ์นั้น อยากจะให้มีกำแพงกั้นด้านหลังบังตา ตอนต่อกับข้างในกำแพงนั้นยืนมาแต่โรงรถ จนถึงมุมถนนแล้วเลี้ยวมาตามแนวต้นโศก จนถึงมุมเรือนมุขใต้ สกัดเข้าไปหาเรือน สำหรับที่จะลงมาเล่นได้ในพื้นที่ไม่ต้องแลเห็นกันกับข้างใน ไม่ต้องใช้กำแพงสูง เพียงเสมอรั้วอีกฟากหนึ่งนั้นพอแล้วเป็นกำแพงตันแต่ต้องทำให้แบบบางงาม จะไว้ต้นโศกนอกกำแพงก็ได้

อนึ่งด้านหลังโรงรถต่อกับลานเรือนนั้น ควรจะมีที่ครัวฤๅไว้ของบ่าวไพร่อยู่หันหลังออกหาโรงรถต่ำๆ ชั้นเดียว ตลอดมาจนกระทั่งถึงหลังเรือน ซึ่งถ้าหากว่ามีแขกบ้านค้านเมืองจะต้องเลี้ยงในที่นั้น จะได้เป็นที่อุ่นของแล้วขึ้นทางห้องแปนตรีหลังเรือนได้กำแพงนี้น่าจะทำเสียให้แล้วทันกันกับเรือน ขอให้ช่วยคิดอ่านให้ตลอดด้วย บัดนี้ครูฝรั่งที่จะมาสอนหนังสือก็จะมาถึงอยู่แล้ว อยากจะให้เรือนแล้วเสียในเดือน ๔ จะได้ให้มาสอนในที่นั้นทีเดียวในรหว่างนี้จะให้สอนที่อื่นไปพลาง

อนึ่งประตูในรหว่างโรงรถที่เป็นประตูรั้วเหล็กอยู่นั้น เมื่อได้ก่อกำแพงเช่นนี้แล้วจะกรุเสียให้ตันก็ควร ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นบานไม้ ใช้บานเหล็กนี้เองแต่กรุตามช่องที่โปร่งๆ นั้นเสีย

อนึ่งขอให้ตามาโยเขียนแปลนพื้นที่ให้เป็นสวนแต่อย่าให้ซุกซิกมาก จะวางถนนรนแคมอย่างไรให้เขาลองขีดๆ มาให้ดู ไม่ต้องเขียนอย่างดีเลอียดอะไรก็ได้ เมื่อตกอย่างแล้วจะวานพระยามหาเทพเขาทำถนนเล็กๆ ที่สำหรับเดินในลานบ้านนั้นเสีย

อนึ่งรย้าโคมไฟเข้าใจว่าจะยังไม่มี ของที่ปลดเปลื้องลงไปจากพระที่นั่งจะมีอะไรเหลืออยู่บ้าง ถ้าหากว่าไม่พอคิดอ่านชักถอนที่เรือนสุขุมาล แลพระที่นั่งวิมาณเมฆไฉล่ไกล่เกลี่ยกันก็จะเกือบพอ เพราะที่เหล่านั้นไม่ต้องใช้โคมที่งดงามอะไรนัก ต้องการแต่แสงสว่าง ที่เรือนนี้เป็นที่จะรับแขก ควรจะผ่อนเอารย้าดีๆ มาใช้ให้เอาพระยาวรพงษ์เข้าคิดด้วย แล้วขึ้นไปดูบนพระที่นั่งวิมาณเมฆ รย้าแก้วแลรย้าทองมีพอใช้ทีเดียว จะต้องหาเพิ่มเติมบ้างก็แต่เล็กน้อย ไม่ต้องสั่งใหม่ ของใหม่หาไปเปลี่ยนพระที่นั่งวิมาณเมฆอย่างเลวๆ ก็ได้ ถ้าถึงเวลาจะแขวนได้ขอให้แขวนรย้าแลติดสายขึ้นไว้เสียก่อน เพราะเป็นการประดักประเดิดรุงรังกินเวลามาก

เครื่องเฟอนิเชอร์ได้ความจากดุ๊ก ว่าซื้อมาแต่ ๓ ห้อง คือห้องเรียกว่า ดรออิงรูม ต้องเข้าใจว่าจะจัดที่พักข้าราชการคงไม่พอ คงจะเป็นเฟอนิเชอร์ห้องซิตติงรูมชั้นบน ห้องนอนเป็นอันมีแล้วตรงกัน ห้องกินเข้าเข้าใจว่าคงจะเป็นเครื่องเล็กกว่าห้องข้างหลังซึ่งควรจะเป็นเครื่องกินเข้าใหญ่เดี๋ยวนี้ แต่มีเครื่องเฟอนิเชอร์ห้องโปโลโปเลของดุ๊ก ซึ่งนึกในเวลานั้นแลลืมเสียแล้วต้องนึกใหม่อีกหลายสำรับ เห็นจะพอเก็บจัดได้ เหตุด้วยเครื่องเฟอนิเชอร์เหล่านี้ไม่มีเวลาจะเลือกเอง ชี้ไว้แต่ว่าชอบชนิดนั้นๆ แล้วให้ดุ๊กอยู่จัดการต่อไป จะเลือกจะจัดมาเป็นห้องอย่างไรไม่รู้ ถามก็ไม่ได้ความ คงต้องเป็นความกัน ไว้ดูสิ่งของทีเดียวดีกว่า แต่สิ่งที่ซื้อนั้นคือสำหรับเปลี่ยนของพระที่นั่งภานุมาศคืนโดยมาก ผู้หญิงไม่ใช้เก้าอี้ แลของพระที่นั่งภานุมาศก็ไม่จำเป็นต้องคืนนัก กักเฟอนิเชอร์ทั้งปวงไว้แต่งเรือนนี้เสียให้พอก่อน แล้วจึงค่อยจำหน่ายเรือนอื่นๆ ดุ๊กแจ้งความจะแน่นอนฤๅไม่แน่ไม่รู้ เพราะเล็ดออกมาทีละเล็กละน้อย แล้วจึงได้แต่งรูปเป็นเรื่องเข้าคงได้รูปความว่าได้พบแซมสันซึ่งเป็นเอเยนต์ของห้างเมปล อันได้มาพบประมาณ ๑๕ วันมาแล้วบอกว่า ของที่ห้างนั้นได้ออกมาหมดแล้ว เขาได้บิลออฟเลดิงมา ดุ๊กจึงประมาณว่าอีกเดือนหนึ่งของนั้นจะมาถึง ที่ว่าดังนี้เพื่อจะให้ตัวเลขตรงว่าอย่างช้า ๒ เดือนครึ่งของคงจะมาถึง จะเชื่อเอาแน่ไม่ได้ทุกหลักคเนทั้งนั้น แต่เป็นการงามใกล้ข้างน่าจะจริง จึงสัณนิฐานใจเอาว่าของคงจะมาถึงก่อนเดือนสี่ ด้วยได้ให้เวลาทิ้งไว้เดือนหนึ่งเป็น ๓ เดือนครึ่ง

อนึ่งเรือนหลังนี้ให้เรียกว่า ตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ แทนราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ในรัชชกาล ที่ ๔ ซึ่งรื้อเสีย

หอสูงที่เขาดินในส่วนแง่เต๋งให้เรียกว่า หอภูวดลทัศไนย แทนภูวดลทัศไนยในรัชกาลที่ ๔

สยามินทร์

(?)


สวนดุสิต
วันที่ ๑๐ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือว่าด้วยเรื่องของจะมาถึง กิริยามันไม่บอกว่ารูปภาพ ซึ่งให้คนคอยรับนั้นดีแล้ว

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

พระยาชลยุทธส่งบิลออฟเลดิง หีบต้นไม้มาด้วยเรืออีสเอเซียติก ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ของคงจะมาด้วยเรือลำนี้อีกบ้าง ขอให้ช่วยรับต้นไม้ทั้งปวงนี้มาให้ด้วย

สยามินทร์


เมืองฉะเชิงเทรา
วันที่ ๒๖ มกราคม ร.ศ. ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับหนังสือลงวันที่ ๒๕ บอกเรื่องจับตัวผู้ร้ายลักเงินกรมเก็บได้นั้น เป็นที่พอใจเป็นอันมาก ส่องให้เห็นความสามารถแลพยายาม ซึ่งเพาะปลูกขึ้นใหม่ในกระทรวงนครบาลปรากฏดีนัก

อนึ่งขอบอกความลับในเรื่องที่มาเที่ยวคราวนี้ เข้าใจว่าที่เมืองนี้สบายมาก จะประกอบด้วยฤดูดีเป็นที่ตั้งนั้นอย่างหนึ่งด้วย แต่ถึงว่ายกเสียแล้วความดีอื่นยังมี คือรู้สึกโปร่งอากาศเบา ถ้าจะเทียบได้กับปฐมเจดีย์ แต่เข้าใจว่าดีกว่าปฐมเจดีย์ ยุงที่ว่ามีบ้างมีแต่วันแรกต่อมาไม่มี รู้สึกสบายขึ้นมาก คิดว่ามรืนนี้เสร็จการทั้งปวงหมดแล้ว จะลงมือเที่ยวต้นลองดู น่าเล่นเพราะคนไม่รู้จักวันนี้ได้เข้าลอคไปดูคลองท่าไข่ การกักน้ำนั้นสักเซสจริง น้ำสูงกว่านอกลอคถึง ๒ ศอกเศษ ดูน่าเที่ยว ทางนี้ยังไม่เคยเห็นเลยอยากจะเที่ยวหลายหนแต่ไม่เหมาะ ครั้งนี้เห็นเรือแพมาอยู่พร้อมแล้ว จึงอยากจะกลับทางเรือ กำหนดว่าจะออกจากนี่ไปนอนเมืองมินในวันที่ ๓๐ จะไม่บอกให้รู้ก็จะว่าไม่ไว้ใจ แต่การที่จะไปนั้นอยากจะไปอินคอกนิโต อย่างที่เรียกว่าประพาศต้น ใช้แต่เรือเล็กๆ เช่นเรือมาด แจวไม่ใช้เรือไฟลาก นึกจะหยุดที่ไหนก็จะหยุดที่นั่น เรื่องนี้กรมดำรงคงจะได้บอกเข้ามาอีกทางหนึ่ง ขออย่าให้เป็นการโกลาหลจนเที่ยวไม่สนุก อยากจะเห็นความปรกติของคลองนี้ ไม่ใช่จะหาเกียรติยศเช่นเสด็จกฐิน ขอให้จัดการผ่อนผันให้ดี อย่าให้ความ เซงแซ่มากไป

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

ดินข้างคลองเม่งเสงนั้นให้นึกเสียดาย เพราะอยู่ใกล้สวนซึ่งเราคิดว่าจะขยายออกไปใหม่ ถ้าขนมาที่สวนจะพูนขึ้นเป็นเนินเล่นได้สูงอยู่ การที่จะขุดสระคงจะต้องขุดแล้วถมร่องไป ถ้าเปลี่ยนเอาดินนี่ไปถมร่องขุดสระพูนเป็นโคกจะเบาแรงนักหนา แต่ความคิดเรื่องขยายวังเรายังไม่ตลอดไป จะทำอย่างไรดีขอให้ช่วยนึกสักหน่อย ความปรารภอีกเรื่องหนึ่งเนื่องกันจากนี้ คือเวลาเย็นๆ ออกไปเที่ยวตามในสวน หาที่ปริเวซีไม่ได้ มีเจ๊กมีแขกมาเที่ยวยุ่มย่ามอยู่เสมอ ครั้นจะห้ามเสียฤๅเราก็เคยใจดีมาแล้ว จะไปเกิดใจร้ายขึ้นก็ไม่เสมอต้นเสมอปลาย มีท่าทางที่จะแก้ได้อยู่แต่เปิดป๊ากให้ออกไปเที่ยวกันเสียข้างนอก ในนี้ปิดเป็นไปรเวตออกไปเดินไปนั่งเล่นได้ แต่การที่จะทำเช่นนั้นเกี่ยวด้วยเงินเป็นอันมาก จะนานเวลาเต็มทีกว่าจะปิดเป็นข้างในได้ แต่ครั้นเมื่อกลับมานึกถึงที่จะขยายข้างหลังนี้ ก็มีเรื่องเกะกะอยู่มาก เป็นต้นว่าเรือนแม่เล็ก(๑) จะต้องทำให้แล้ว เมื่อวานซืนนี้ก็เร่งว่าเรือนเดี๋ยวนี้ซวดเซทรุดโทรมลง กว่าจะทำให้แล้วอ้ายเงินก็จะหมดเสียที่เรือนนั้น สวนนั้นก็คงค้างไปอีก มันอึดอัดใจอยู่ดังนี้ จึงได้นิ่งไม่วินิจฉัยลงไปได้ว่ากระไร ช่วยนึกดูทีว่าจะมีท่าทางอย่างไรบ้าง

สยามินทร์

(๑) พระตำหนัก ของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ


สวนดุสิต
วันที่ ๒๒ มีน รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

ที่ห้องไว้ของชั้นต่ำพระที่นั่งอำภรตอนข้างนางเอื้อน(๑) มีปลวกเพราะที่นั่นเป็นห้องน้ำชื้นเย็นแลมืด เรื่องนี้น่าที่จะแก้ยากยิ่งกว่าอื่น ที่เรือนแม่กลาง(๒) ในวังเคยมีสระอยู่ใต้ถุน สระนั้นเต็มไปด้วยปลวก จะแก้ไขถมเสียแล้วอย่างไรก็ไม่หายปลวก เหตุด้วยไปอยู่ในใต้ชลาที่มืด ได้เกิดปลวกเสียครั้ง ๑ แล้ว ถึงไม่ชื้นก็แก้ไม่หาย เลยลามไปกินอะไรอื่นๆ เลอะด้วย ข้อที่เกิดปลวกขึ้นเช่นนี้ เป็นอันต้องธรณีสารอยู่ จะคิดแก้ไขได้อย่างไร ขอให้คิดให้เต็มที่

สยามินทร์

(๑) เจ้าจอมเอื้อน ในรัชชกาลที่ ๕  (๒) พระตำหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


สวนดุสิต
วันที่ ๒๘ มินาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

ซึ่งเอาใจใส่จนถึงได้ยินบ่นก็เอาไปคิดนั้นขอบใจนักหนา พึ่งจะได้สังเกตคราวนี้ว่าการร้อนใต้หลังคานั้นแรงสาหัศ ถ้าเอาสิ่งไรซึ่งเป็นของลุกได้เข้าไปไว้ ได้ลุกกันเป็นแน่ ทางแก้ ๒ อย่างมันก็มีทีเสียอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง หลังคาของเราอะไรไปแตะต้องเข้าเป็นต้องรั่ว แก้ร้อนจะกลายเป็นรั่วนะแหละรวังให้ดี เรื่องเปิดช่องรังไก่ มีข้อร้ายกาจอยู่ ถ้าปิดไว้ก็ไม่มีประโยชน์อไร เจาะฤๅไม่เจาะก็เหมือนกัน ถ้าเปิดไว้เป็นรังนกเค้าแมว พระที่นั่งเก่าๆฤๅวัดเปิดไว้ใช้ลวดขึง เวลาฝนตกสาดเทโกรกเข้าไปทางนั้นกลายเป็นรั่วก็ได้ เรื่องน่าต่างมันดีแต่หมั่นปิดหมั่นเปิด ข้อที่จะไปปิดเปิดบนหลังคานี้เห็นลึก โดยจะตั้งเจ้าพนักงานไว้สำหรับปิดเปิดก็เปล่า นี่แหละจะคิดอ่านอย่างไรขอให้ตรึกตรองให้ดี แต่เรื่องปลวกถ้าตรวจ ๗ วันครั้งหนึ่งแล้วเป็นไว้ใจว่าไม่มี

สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๒๙ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖

พระยาสุขุม

นางเอื้อนถูกเป็นนายพลตระเวน แลต้องมีคนใช้คนหนึ่งจำต้องเป็นพลตระเวน ตัวนายเข้าใจว่าพระยาสุขุมรู้จักอยู่แล้วเป็นเสื้อขนาดอย่างสูงในไทยๆ แต่พลตระเวรที่เป็นคนใช้นั้น จะขนาดอายุ ๑๖-๑๗ ปี ขอให้จัดหาเครื่องแต่งตัวพร้อม ตลอดจนกระบี่แลหมวก สายคันชีพ ให้นำไปส่งในพระบรมมหาราชวัง วันที่ ๓๐ เวลากลางวันฤๅบ่าย พอมีเวลาแก้ไขฤๅผลัดเปลี่ยนใช้เป็นเสื้อเต็มยศขาวจะค่อยง่าย มีเสื้อเตรียมไปสัก ๒-๓ ขนาด พอเลือก

สยามินทร์