สำเนาพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึง มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ถึง เมื่อครั้งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล นครศรีธรรมราช

รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ (ร.ศ. ๑๒๔) = พ.ศ. ๒๔๔๘
รัตนโกสินทรศก ตั้งต้นจาก ๑ เมษายน

สวนดุสิต
วันที่ ๑๕ ส.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

ถึง พระยาสุขุม

ได้รับรูปที่ส่งมาให้ ๔ รูปนั้นแล้ว ขอเตือนอย่างหนึ่งว่ารูปขนาดนี้ ถึงว่าได้ถ่ายด้วยกระจกโรลด์เปลตควรจะถือเอาที่งามเป็นสำคัญ ต้องตัดกระดาดที่เหลืออยู่โดยรอบนั้นออกเสียเพียงเท่าที่ด่างขาวรอบ แล้วปิดกระดาดชานให้กว้างจะงามขึ้นกว่านี้ รูปไม่ควรจะสงวนขนาดกลัวจะเล็กไป ถ้าหากว่ามีที่งามชัดเจนอยู่เพียงไร ควรจะตัดเอาแต่เพียงนั้น

ตามที่สัญญาไว้ บัดนี้ได้ส่งกล้องขนาด ๙ x ๑๒ ออกมาให้กล้องนี้เป็นของที่มีอยู่แล้ว ได้ไปดูเองถึงที่ห้างเลนซ์ก็ไม่มีดีกว่านี้จึงส่งกล้องเก่ามาให้ คำที่ว่าเก่านั้น คือได้ซื้อมาแล้วประมาณสัก ๖ เดือน ใช้ได้ทั้งชัดเตอน่าแลโฟเคอลเปลนข้างหลังด้วย ถ้าหากว่าเคยถือๆ ได้คล่อง เป็นลักษณะเดียวกันกับกล้องแดงไชยเชฐที่เราถือไปถ่ายอยู่ที่สงขลานั้น ม่านที่ใช้ตามสังเกตกล้องไชยเชฐถ้าเวลาเช้าทีเดียว ใช้ม่าน ๕๐ สปริง ๑ อัน แปลว่าเปิด ๑-๒๕ สตอบ ๖ สายลงมาขึ้นแต่สปริงเป็น ๖ แล ๑๒ ตามเวลา ถ้าเวลาตั้งแต่ ๓ โมงเช้าไปแล้ว เว้นไว้แต่มืดครึ้มม่าน ๓๐ เป็นใช้ได้ สปริงใช้ ๑๒ สตอบใช้ ๑๒ ขนาดนี้เป็นพื้น ถ้าตกเย็นแดดอ่อนลง ผ่อนใช้ม่าน ๔๐ ก็เคยใช้ ถ้ามืดลงไปก็ใช้เหมือนเวลาเช้า

ถ้าจะถ่ายตึกหรือเครื่องก่อสร้าง เช่นพระเจดีย์แลรูปคนคลายควงทั้ง ๔ ที่อยู่ข้างหลังออกสวิงไต้ เพื่อจะไม่ให้มีดิสตอชั่นใช้ได้เหมือนกล้องใหญ่ๆ

ขอให้ระวังอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเวลาจะเปลี่ยนม่าน ให้ขันม่านขึ้นไป จนแผ่นข้างบนเกือบจะถึงขอบข้างบน แล้วจึงกดสปริงข้างซ้ายมือหมุนม่านให้เดิน อย่าตั้งม่านในเวลาที่ยังอยู่ต่ำ ถ้าเวลาจะเก็บขอให้หย่อนสปริงแลปล่อยม่านลงไว้เสีย อย่าปล่อยขันขึ้นไว้ให้สปริงอ่อน มีความเสียดายที่มีสไล๊ท์เฉภาะแต่ ๓ อัน แลเชื่อว่ากระจกขนาดนี้จะไม่มีในสงขลา จะทดลองไม่ได้ทันใจจึงส่งกระจกออกมาให้ทดลองด้วย ๖ โหล กระจกอากฟา ๓ โหลเป็นกระจกอยู่ข้างจะช้า แต่เร็วกว่าออดินารี ถ้าถ่ายม่านตามที่บอกมาข้างต้น ถ่ายได้ กระจกมอนากนั้นเป็นกระจกเร็วกว่า อากฟาสักหน่อยหนึ่ง ถ้าถ่ายในเวลาเช้าเย็นที่แดดไม่สู้จัดคงใช้สตอบราวกันกับกระจกอากฟา การที่แนะนำกันด้วยหนังสือยากที่จะเข้าใจกัน แต่หวังใจว่าพระยาสุขุมจะเข้าใจอยู่บ้างแล้ว แลมีที่ปฤกษาหารือ พอทดลองให้รู้จักใจกล้องได้

สยามินทร์


พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๔

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ได้เห็นรูปที่ส่งมาแล้ว รูปอ้ายคนัง(๑) กับรูปถนนบ้านหม้อเป็นดีกว่าอื่นหมด เข้าใจว่ารูปที่บ้าน ๒ แผ่นนั้นควรจะดี แต่ถ่ายเวลาที่แดดเผา จึงทำให้มัวไป ควรจะเลือกที่ ถ้าได้ที่แดดไม่เผาจะดีกว่านั้น

รูปคนสวยเมืองพัทลุงดีนักเหมือนกัน แต่เพราะตั้งกระจกตามยาว ถูกแสงแดดเป็น เฮอเลชันมาก ถ้าตะแคงเสียเข้าไปให้ใกล้ หน้าคนจะโตขึ้น ฟ้าจะน้อยลง จะดีกว่านี้ การที่ถ่ายรูปเวลาเปิดรถรางได้เท่านี้ก็นับว่าดีหนักหนา แต่เพราะต้องถ่ายสแนบชอต ควรจะตั้งใจว่า ถ้ารูปที่ไม่ไหวเป็นตึกรามฤๅแผนที่ แลคนซึ่งเราบังคับให้นิ่งได้ ไม่ควรจะถ่ายสแนบชอต เปิดช้าลงสตอปแรงดีกว่า

อนึ่งได้ส่งรูปเมืองสงขลาที่บอกไว้ว่าจะให้นั้นมาให้ แต่ที่จริงรูปเหล่านั้นมีดีน้อย เหตุว่าไม่มีเครื่องมือเหมือนเดี๋ยวนี้ ยืมกล้องเขามาใช้ เป็นกล้องไม้เลวเต็มที ไม้แห้งยืดเข้ายืดออกได้ เมื่อเวลาอยู่ในบางกอกดีอยู่ ครั้นออกไปทเล ถูกอาบน้ำแลอาบฝนเวลากลางคืน ถูกแดดที่เดินผ่าไปเวลากลางวันไม้หดเข้าไป สไล๊ท์รั่วบ้าง กล้องรั่วบ้างทั้งนั้น ถ้ารูปไหนถูกสไล๊ท์ดี ก็ได้ดี ถ้ารั่วเสียก็ชั่วไปหมด แต่เป็นรูปซึ่งได้ถ่ายยกใหญ่ ได้จัดมาให้ครบทุกอย่างตลอดจนบริเวณมลายู จะได้ไปทำกรอบติดที่ว่าการบ้าง ที่บ้านบ้าง ถ้าหากว่าได้กล้องของตัวเองเหมือนเดี่ยวนี้ เชื่อได้ว่าจะไม่เสีย นึกเสียดายเต็มที่ที่กล้องมาไม่ทัน

สยามินทร์

(๑)  นายคนัง มหาดเล็ก (ชาติเงาะ เมืองพัทลุง)


พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๔

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ด้วยอ้ายคะนังฝากรูปไปให้พี่น้อง ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว
ถ้ามีช่องที่ใครไปตรวจราชการถึงที่นั้น ขอให้นำไปส่งให้มันด้วย

สยามินทร์



สวนดุสิต
วันที่ ๑๔ ธ.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ได้รับหนังสือลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนนั้นแล้ว

เรื่องนี้ตรงกันกับที่อ้ายคนังเล่า เดี๋ยวนี้เข้าใจภาษามากขึ้นไล่เลียงค่อยได้ความ ถามถึงเวลาที่จะเอามานั้นอย่างไร ให้การเชือนๆ ไปบ้าง เมื่อเวลาพูดถึงใดที่เกี่ยวข้องแก่เรื่องที่จะมาคงได้รูปว่า เมื่อแม่ตายแล้วนั้นตัวอยู่กับพี่ ไปเที่ยวป่ากับอ้ายไม้ไผ่ซึ่งเป็นเพื่อนเพื่อจะตัดกระบอก มีเสียงคนเอะอะไล่เข้าไปวิ่งหนีกันหกล้มหกลุก คืออ้ายยาง ซึ่งมันเรียกว่าอ้ายยัง ชวนให้มาดูโนราที่บ้านอ้ายยาง มันหายตกใจเลยมาดูโนรา อ้ายยางให้กินมะพร้าว แล้วมันหาวนอนๆหลับ อ้ายยางไปอุ้มทั้งหลับส่งให้คนคุณพ่อหลวง(๑) มันตื่นขึ้นถามว่าอ้ายยางทำพรือ(๒) อ้ายยางบอกว่าเขาจะเอาตัวไป เวลานั้นมันกำลังตกใจ ดิ้นรนเท่าไรเขาก็ไม่ปล่อย ได้ทำหอบรวนอะไรเต็มที่เหมือนอย่างที่มาทำเมื่อจะเข้ามาอยู่ในวัง แล้วเขาเอาไปใส่คุกไว้หลายคนด้วยกัน ภายหลังคุณพ่อหลวงจึงไปรับ ให้สนับเพลาให้นุ่ง

ข้อที่มันอยากพบพวกพี่น้องเหล่านั้น อยากจะถามว่า เมื่อเขาจับมัน พากันไปอยู่ที่ไหนเท่านั้น พูดถึงอ้ายยาง แสดงกิริยาไม่ชอบมาก ทั้งที่พูดว่าไม่ชอบใครไม่เป็น แต่สังเกตได้ จึงสันนิษฐานกันว่า ไนยหนึ่งอ้ายยางจะตกลงกับพี่ แต่ไม่บอกให้อ้ายคนังรู้ แต่สังเกตดูข้อที่ย้ายที่ไป น่ากลัวจะเป็นด้วยเข็ดบางทีจะไม่ได้บอกให้รู้ทีเดียว ก็เอาเป็นถูกตามที่ได้ข่าวนี้ เรื่องที่จะเอารูปไว้แห่งใดนั้น อ้ายคนังได้คิดแล้วเหมือนกัน มันคิดถึงแปลนบ้านเก่า ว่าจะเอาไว้ในทับไม่ได้ เปียกฝน จะต้องเอาไปไว้ที่ซอกหินในถ้ำ ซึ่งเป็นที่เคยหลบฝน การที่แสดงกิริยาเศร้าโศรกเวลาพูดถึงบ้านอย่างแต่ก่อนไม่มี ด้วยว่ารู้จักคนกว้างขวาง ตั้งแต่เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ลงไปจนถึงผู้น้อยทั้งข้างหน้าข้างในเขาแสดงความเมตตาปรานีเล่นหัวได้ทั่วไป อยู่ข้างจะเพลิดเพลินมาก อดนอน ก็ทน แลคุณสมบัติในส่วนตัวซึ่งได้สังเกตเห็นแต่แรกไม่มีเสื่อมทรามลงไป คือตาไวความคิดเร็ว จงรักภักดีฤๅกตัญญูมาก นับว่าเป็นเฟเวอริตของราชสำนักนี้ได้ ได้ถ่ายรูปแต่งตัวเป็นเจ้าเงาะละคอน สำหรับจะให้มันขายเองในงานวัด แล้วแบ่งเงินเป็น ๓ ส่วนๆ หนึ่งเป็นค่ากระดาษค่าน้ำยา ส่วนหนึ่งให้ทำบุญเข้าในงานวัด อีกส่วนหนึ่งจะเป็นทุนซึ่งคิดจะรวบรวมไว้ให้ เสียแต่อย่างไรๆ ก็ยังนับเงินไม่ถูกอยู่เช่นนั้นเอง หนังสือเห็นจะพอสอนง่ายกว่าเลข เลขนั้นดูเหมือนไม่มีกิฟสำหรับชาติของมันทีเดียว ได้ลองให้ขายของซ้อมกันอยู่หลายวันก็ยังรางๆ อยู่เช่นนั้น สาเหตุนั้นด้วยเรื่องมันไม่รู้จักรักเงิน ยังไม่รู้เลยว่าเงินมีราคาอย่างไรจนเดี๋ยวนี้

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งนั้น ถ้าได้มาก็ดี ถ้าเด็กเสียทีเดียวดูเหมือนจะง่าย แต่นึกกลัวอยู่ว่าอ้ายพวกนี้จะเข็ดเสีย ขอให้คิดการให้ดี ถ้าจะไม่ชอกช้ำตกอกตกใจจึงค่อยเอามา แต่การเลี้ยงนั้นเห็นจะไม่เป็นไร อ้ายคนังตั้งแต่มายังไม่ได้เจ็บเลย เจ้าสาย(๓) นั้นรักหลงเหลือเกินทีเดียว เพราะมันไม่ไปเที่ยวข้างไหนเลย อยู่แต่บนเรือน ช่างประจบด้วยความรู้ประมาณตัวมีเองในสันดานทั้งที่ถือตัวว่าเป็นลูก ก็พูดอยู่เสมอว่าเป็นลูกข้า ไม่ได้ไว้ตัวเทียบเทียมเจ้านายลูกเธอ รักแลนับถือไม่เลือกว่าใคร ไว้ตัวของตัวเสมอหม่อมเจ้าไม่ได้มีใครสั่งสอนเลย

รูปน่าเทวดาที่ส่งมานั้นดี แต่มัวไปสักหน่อย หวังใจว่าคงจะได้ส่งรูปเข้ามาโชในครั้งนี้ เวลานี้กำลังชุลมุนกันไปทุกหนทุกแห่ง แต่ค่าปิดรูปทำกรอบ อ้ายเลนซ์(๔)เห็นจะรวยสักร้อยชั่งรูปที่ออกประมาณกันว่าจะถึง ๑๐๐๐ รูป แต่ฝรั่งยังมากกว่าไทย

สยามินทร์

(๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (๒) ภาษาชาวใต้ แปลว่า "อะไร"   (๓)  พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ  (๔) โรเบิตเลนซ์ ช่างถ่ายรูป


สวนดุสิต
วันที่ ๒๔ ธ.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

ถึง พระยาสุขุมนัยวินิต

ขอบอกข่าวรูปที่ออกโชครั้งนี้ ได้ลอกรูปเดิมตัดปลงลงเป็นรูปแคบิเนต ปิดกระดาดแขงกว้างเข้ากรอบใหม่ แต่งให้ดีขึ้นออกโชได้เหรียญรางวัล ยังมีผู้ต้องการรูปนั้น คือมิสเตอริเวต- คาแนก(๑) จะขอเอาให้ได้ บอกจำหน่ายว่าเป็นของพระยาสุขุม ก็ไม่ใคร่เข้าใจกัน ถึงว่าไม่เป็นรูปที่ วิเศสอันได้คอมโปสิชันแปลกปลาด ก็เป็นรูปเรียบๆ ไม่น่าอายใครเลย มีรูปที่เลวกว่าหลายร้อย เมื่อได้เหรียญเมื่อใดจึงจะส่งออกไปให้

บัดนี้ได้ส่งรูปอ้ายคนังที่ขายเมื่องานวัด(๒) มีคนชอบมาก เดิมพิมพ์ขึ้นไว้แต่ ๒๓๐ เร่งกันให้พิมพ์ในเวลางาน กระดาดเหลือเท่าใดก็ได้พิมพ์อีกสัก ๓๐-๔๐ รูปขายไม่ทัน ยังหาซื้อกันเรื่อยอยู่จนเดี๋ยวนี้ อีกรูปหนึ่งนั้นได้ถ่ายในวันก่อนเริ่มงาน ด้วยนึกว่าฝรั่งจะไม่เข้าใจเรื่องเงาะ จึงได้ถ่ายรูปแต่งธรรมดาก็ถูกต้อง ฝรั่งชอบรูปนั้นมากกว่ารูปที่แต่งเป็นเงาะ ขายในเวลางานแผ่นละ ๓ บาท ได้เงิน ๑๐๐๐ บาทเศษ แบ่งเป็นสามส่วน ให้วัดส่วนหนึ่ง เป็นค่ากระดาษค่าน้ำยาส่วนหนึ่ง เป็นของอ้ายคนังส่วนหนึ่งได้เงินส่วนอ้ายคนังเกือบ ๔๐๐ บาท เดี๋ยวนี้สมบัติของอ้ายคนังมีกว่า ๔๐๐ บาทขึ้นไปแล้ว ถ้าอยู่ไปจนเห็นจะมีเงิน เพราะมันไม่ได้ใช้

เสียดายที่รูปมาถึงไม่ทัน จะได้เห็นฝีมือว่ารูปที่ทำมาโชว์จะงามอย่างไรขึ้นบ้าง

สยามินทร์

(๑) ที่ปรึกษาราชการกระทรวงคลัง  (๒) งานวัดเบ็ญจมบพิตร์ ร้านหลวงมีการประกวดรูปถ่าย